ThaiPublica > บล็อก > ครบรอบ 3 ปี ไทยพับลิก้า – เปิดตัวเว็บจับเท็จ พัฒนา Data Journalism ยกระดับการจัดระบบข้อมูลและรูปแบบนำเสนอข่าว

ครบรอบ 3 ปี ไทยพับลิก้า – เปิดตัวเว็บจับเท็จ พัฒนา Data Journalism ยกระดับการจัดระบบข้อมูลและรูปแบบนำเสนอข่าว

27 กันยายน 2014


น.ส.บุญลาภ ภูสุวรรณ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า
น.ส.บุญลาภ ภูสุวรรณ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

นางสาวบุญลาภ ภูสุวรรณ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิกา สรุปผลงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาว่า มียอดผู้ชมกว่า 8.3 ล้านเพจวิว ในจำนวนนี้มีผู้อ่านประจำ 35% ผู้อ่านใหม่ 66% สำหรับเฟซบุ๊กของไทยพับลิก้า มียอดไลก์ปัจจุบัน 134,400 ราย เป็นผู้หญิง 44% ผู้ชาย 55% ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน

จากจำนวนที่พบจะเห็นว่ามาก แต่เมื่อไปเทียบกับเว็บไซต์อื่นอาจจะน้อย เพราะในแต่ละวันเราเอาข่าวขึ้นน้อย วันละแค่ 2-4 ข่าว เราเป็นเว็บข่าวทางเลือกและเป็นข่าวเจาะ การทำงานต้องใช้เวลาหาข้อมูลในแต่ละเรื่องค่อนข้างมาก เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรกับข้อมูล และคนอ่านเข้าใจได้มากที่สุด

“ประเด็นข่าวที่เราทำส่วนหนึ่งก็เป็นที่เราเลือกเอง ส่วนหนึ่งมาจากเบาะแสที่คนข้างนอกชี้มา เช่น กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐว่ามีความไม่โปร่งใสอย่างไร เราก็ไปคุยกัน แล้วหาข้อมูลมาประกอบ ส่วนซีรีส์อื่นๆ ที่ทำและค่อนข้างเป็นที่รู้จักมากขึ้น คือเรื่องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งเรื่องนี้เราถูกฟ้องร้องด้วย ประเด็นนี้เราได้มาจากการแจ้งเบาะแสจากภายนอก นอกจากนั้นก็มีซีรีส์การเมืองเรื่องข้าว จับตา คสช. เป็นต้น”

ขณะเดียวกันเราได้ร่วมกับโอเพ่นดรีม (Opendream) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญไอทีเพื่อช่วยกันพัฒนาข้อมูลออกมาเป็นอินโฟกราฟฟิค และกราฟฟิคที่ผู้อ่านมีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้ (interactive graphic) เรื่อง เงินเราเขาเอาไปทำอะไร เรื่องอดีต ปัจจุบัน มาบตาพุด เอาข้อมูลที่เราทั้งหมดมีหมดมาทำงานร่วมกัน ทำอย่างไรให้คนเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งเป็นการพัฒนาการทำงานของนักข่าวกับนักไอที เพื่อนำเสนอข่าวในรูปแบบใหม่ๆ

“เราพยายามทำให้เป็นนักข่าววารสารศาสตร์ข้อมูล เพื่อทำให้ข่าวเจาะมีความครบ กว้าง ผู้อ่านสามารถเข้าใจเรื่องได้ทั้งหมด และการเปิดตัวเว็บไซต์จับเท็จดอตคอมก็เป็นอีกก้าวหนึ่งของการทำข่าววารสารศาสตร์ข้อมูล”

 เปิดตัวwww.jabted.com โดยน.ส.สฤณี อาชวานันทกุล (กลาง) ผู้ร่วมก่อตั้งและคณะบรรณาธิการ นายปฏิพัทธ์ สุสำเภา (ซ้าย)กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด ดำเนินรายการโดยน.ส.อิศรินทร์ หนูเมือง บรรณาธิการข่าว สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า
เปิดตัวwww.jabted.com โดยน.ส.สฤณี อาชวานันทกุล (กลาง) ผู้ร่วมก่อตั้งและคณะบรรณาธิการ นายปฏิพัทธ์ สุสำเภา (ซ้าย)กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด ดำเนินรายการโดยน.ส.อิศรินทร์ หนูเมือง บรรณาธิการข่าว สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

หลังจากสรุปผลงานแล้ว มีการเปิดตัวเว็บไซต์ “จับเท็จดอตคอม” โดยมีนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและคณะบรรณาธิการ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า นายปฏิพัทธ์ สุสำเภา กรรมการผู้จัดการ บริษัทโอเพ่นดรีม จำกัด และนางสาวอิศรินทร์ หนูเมือง บรรณาธิการข่าว สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

อิศรินทร์: ตามที่คุณบุญลาภได้กล่าวข้างต้น ไทยพับลิก้าต่างจากข่าวอื่นตรงที่ ในการทำข่าวแบบธรรมดา คนทำจะเมามัน คนถูกเขียนข่าวถึงจะเดือดร้อน แต่ถ้าเป็นข่าวเจาะแบบไทยพับลิก้า เราเมามันร่วมกันทั้งคนอ่านและคนทำ หากเข้ามาที่ไทยพับลิก้าจะเห็นข้อมูลเชิงลึก เชิงกว้าง จะครบทุกมิติทั้งเก่าและใหม่ ซึ่งการทำข่าวบนแนวคิด “วารสารศาสตร์ข้อมูล” หรือ Data Journalism นั้น ต่างจากข่าวแบบอื่นอย่างไร คุณสฤณีจะเป็นคนเล่าให้ฟัง

สฤณี: วันนี้มาในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เป็นคนอยู่ระหว่างรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ ยังทันยุคจอคอมพิวเตอร์จอเขียวๆ อยู่ มีโอกาสได้ไปดูงานที่สหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว และสนใจติดตามอ่านเรื่อง Data Journalism รวมทั้งอินโฟกราฟิกอยู่ จริงๆ แล้วไทยพับลิก้ามีชีวิตอยู่บนเว็บ เราเป็นสำนักข่าวออนไลน์ ไม่มีกระดาษ เราอยากจะตามให้ทันพรมแดนของ Data Journalism ว่าไปถึงไหนกันแล้ว

อย่างที่ทราบตอนนี้นิวมีเดีย เราทุกคนเสพข่าวผ่านเครื่องมือสื่อสารต่างๆ จากหน้าจอเป็นหลักแล้ว การเสพข่าวจากกระดาษน้อยลงมาก สิ่งที่เรียกว่าข่าวคืออะไร วันนี้เราตื่นมา หลายท่าน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ตื่นมาก็เปิดหน้าจอไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ มีทั้งคนที่เรารู้จักและไม่รู้จัก หรือว่าเป็นคนที่ไม่ได้เป็นนักข่าวเขียน หรือนักข่าว ทุกคนมาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน อันนี้คือลักษณะข่าวสมัยนี้ จะเป็นแบบนี้ จึงอาจจะทำให้มีความยากขึ้นในการแยกแยะ ว่าอะไรเป็นอะไร

และสังเกตเห็นว่า แน่นอนเวลาพูดถึงโซเชียลมีเดีย วันนี้คงไม่มีมีสื่อค่ายไหนที่ไม่ใช้โซเชียลมีเดีย ทุกคนใช้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานและมีพื้นที่ สื่อทุกคนมีพื้นที่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์

แต่ประเด็นคือว่ามันก็มีข้อจำกัด หากมองจากมุมของคนที่สนใจข้อมูล สนใจข่าว โดยเฉพาะข่าวเชิงลึก เชิงข้อมูล มีข้อจำกัดอะไรบ้าง มันจัดการข้อมูลไม่ได้ มันสืบค้นอะไรไม่ได้ จัดระบบระเบียบอะไรไม่ได้ อย่าลืมว่าจริงๆในมุมมองของโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่ คนใช้คือเรา คือทั้งคนโพสต์และคนอ่านเป็นสินค้าของเขา เพราะเขาเอาข้อมูลส่วนตัวเราไปขายให้กับสปอนเซอร์ เพราะฉะนั้นมันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้จัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้น จากประสบการณ์ที่หลายๆท่านคือไปค้นเฟซบุ๊กเก่าๆของเพื่อนสัก 2 ปีย้อนหลัง ก็ยากที่จะค้นโพสต์เก่าๆขึ้นมา

และโซเชียลมีเดียก็ยังเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการฟังความข้างเดียวได้ ภาษาทางวิชาการเขาเรียกว่า echo chamber effect เพราะแนวโน้มเราก็จะไปตามแต่คนที่เราชอบหรือเปล่า ไปไลค์เฟซบุ๊กเพจที่เราชอบหรือเปล่า จนทำให้วันๆ เรารับข้อมูลด้านเดียว ไม่ได้เห็นอีกฝั่งหรือข้อมูลของฝ่ายอื่นๆ เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งในแง่คนเสพข้อมูล และมีความเสี่ยงในการกระจายข้อมูลเท็จ ปลอมแปลงต่างๆ เหล่านี้คือความเสี่ยง

แน่นอนว่าโซเชียลมีเดียลมีประโยชน์มากมาย แต่เหล่านี้คือความเสี่ยงและข้อจำกัดในมุมของการสร้างข้อมูล

วันนี้ก็เลยเป็นเหตุผลว่า ทำไมสื่อหลายๆเจ้า โดยเฉพาะสื่อที่มีชีวิตในโลกออนไลน์เป็นหลัก หรือที่เรียกว่าดิจิทัลมีเดีย เริ่มมาสนใจ Data Journalism มากขึ้น เพราะมองว่าเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยยกระดับการทำข่าวในทางที่อาจจะช่วยเรื่องความอยู่รอดด้วย

อธิบายง่ายๆ คืออะไร คือการทำข่าวด้วยข้อมูลเป็นหลัก ซึ่งไทยพับลิก้าทำมาตลอด 3 ปี แต่เราพยายามยกระดับขึ้นไปอีกด้วยพรมแดนเรื่องเทคโนโลยี สื่อมวลชนทำงานร่วมกับประชาชน ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านไอที

มาดูประโยชน์ของมันมีเยอะแยะ อยู่ที่ว่าเราจะทำอะไรกับข้อมูลที่เราได้มามหาศาล เราจะประมวลผล จะจัดการกับมันอย่างไร ถ้าเราสามารถโค้ด เขียนโปรแกรมขึ้นมา มันก็จะช่วยเราในการวิเคราะห์ข้อมูลได้เอง ในบางกรณีก็จะทำให้ข่าวมีหางยาวกว่าปกติ คือไม่ตกกระแส เพราะมันกลายเป็นฐานข้อมูลที่มีประโยชน์ และมีโอกาสในการเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอ แทนที่เราจะเขียนข่าวเป็นซีรีส์ยาวๆ อย่างเดียว ยังสามารถพลิกแพลง นำเสนอในรูปแบบกราฟิกหรือกราฟให้คนเห็นประเด็นชัดขึ้น

เดี๋ยวนี้มีทิศทางหรือกระแสในการปล่อยข้อมูล บางทีบางค่ายปล่อยข้อมูลออกไปเลยแล้วให้ประชาชนช่วยเขาวิเคราะห์ อีกอันก็เป็นการสร้างความแตกต่างกับคู่แข่ง และอาจจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของสื่อ ตรงนี้ก็มีตัวอย่างสั้นๆ ที่ทำให้เห็นความชัดขึ้น

มีตัวอย่างการทำซีรีส์ในสหรัฐฯ คือ ซีรีส์ที่ชื่อว่า“Do No Harm” โดย Las Vegas Sun เป็นสื่อที่ลาสเวกัส สิ่งที่เขาทำคืออะไร เขาใช้กฎหมายขอข้อมูลข่าวสาร เหมือนพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของเราเอาบิลโรงพยาบาลของทั้งเมืองกว่า 2.5 ล้านชิ้นในปี 2010 แล้วก็เอามาวิเคราะห์ แยกประเภท ว่ามีกรณีไหนจากบิลที่ผู้ป่วยจ่ายว่าเป็นโรคที่ป้องกัน เช่น การติดเชื้อ หรือสถิติการรับตัวผู้ป่วยใหม่ (readmit) ซึ่งอาจจะบ่งชี้ความผิดพลาดของทางโรงพยาบาลเอง รวมถึงข้อผิดพลาดในการผ่าตัด เขาเจอว่าใน 2.5 ล้านชิ้น มี 3,600 กรณี เป็นความผิดพลาดที่น่าจะป้องกันได้ โดยใน 3,600 กรณี มี 300 คนที่ตาย

สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร ข่าวในซีรีส์นี้มีทั้งข้อเขียน กราฟิก แยกตามสถานที่ต่างๆ ในลาสเวกัส และสามารถแยกประเภทของอาการโรคต่างๆ มีแผนที่ เส้นเวลา (timeline) มีเนื้อหาทั้งหมดอยู่ในที่เดียวกัน นำเสนอให้คนอ่านเข้าใจ หลังจากที่ตีพิมพ์ไม่นาน ไม่ถึงหนึ่งปี สภาของรัฐเนวาดาก็ออกกฎหมายใหม่ 5 ฉบับ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในโรงพยาบาล นี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้นชัดเจนจากการทำข่าวแบบการประมวลวารสารศาสตร์ข้อมูล Data Journalism

อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นตัวอย่างจากรัฐเท็กซัส โดยเท็กซัสทริบูน ทำข่าวที่ชื่อว่าฐานเงินเดือนข้าราชการ ใช้วิธีการทำข่าวคือการใช้กฎหมายขอข้อมูล รวบรวมข้อมูลขึ้นมาให้คนเข้าไปอ่านได้ว่า หากอยากรู้ว่าข้าราชการรัฐนี้ใครเงินเดือนสูงสุด อยู่ที่ไหนทำงานอะไร ข้าราชการในรัฐนี้ชื่อใดเงินเดือนเท่าไหนก็สามารถดูฐานเงินเดือนได้ มีบางคนติดต่อมาขอให้เอาชื่อออกได้ไหม เวลาไปคนกูเกิลแล้วเจอชื่อเขา กองบรรณาธิการพยายามอธิบายว่ามันเป็นประโยชน์สาธารณะอย่างไร ตอนนี้เท็กซัสทริบูนก็กลายเป็นค่ายที่มีความโด่งดังค่นข้างมากในเรื่อง Data Journalism เขาเล่าให้ฟังว่า โครงการแบบนี้ รวมทั้งหน้าเว็บด้วย ประมาณกว่า 50 โครงการ ทั้งหมดนี้ทำให้คนเข้ามาอ่านเขามากกว่าหน้าอื่นๆ มันกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีวันหมดอายุ เพราะฐานข้อมูลราชการอย่างไรคนก็อยากรู้

“นี่เป็นตัวอย่างของประโยชน์ของวารสารศาสตร์ข้อมูล ซึ่งประเทศไทยมีประเด็นเยอะแยะมากมายที่เราทำได้ในไทย ในลักษณะนี้ อย่างเช่นที่ไทยพับลิก้าทำไปแล้ว อย่างเรื่องการใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ภาครัฐนี้ และอาจจะช่วยเรื่องจรรยาบรรณได้ด้วย ตอนนี้บางคนอาจจะมองว่าเป็นปัญหาเรื่องนักข่าวลอกข่าวกัน มีเว็บไซต์หนึ่งชื่อว่า Churnalism เป็นเว็บที่ให้เราเอา text ก้อนเนื้อหาไปแปะ แล้วมันก็จะรันผลออกมาให้ว่ามันเหมือนกับค่ายอื่นๆ ที่ไหนบ้าง แล้วก็เรียงตามวันที่ให้ เพราะฉะนั้นใครที่เขียนข่าวก่อนก็น่าจะเป็นแหล่งที่คนอื่นก็อปมา อันนี้เป็นตัวอย่างเกี่ยวกับวารสารศาสตร์ข้อมูล”

อิศรินทร์ : ในประเทศไทยก็มีปรากฏการณ์ที่ว่า ใครทำเรื่องไม่โปร่งใสเอาไว้ มีชื่อในเว็บไทยพับลิก้า เวลามีคนไปค้นหาในกูเกิลจะพบตลอด เป็นปัญหาการใช้ชีวิตของเขาเหมือนกัน เขาพยายามติดต่อมาขอให้เอาชื่ออกได้ไหม เราก็มีวิธีการแก้ปัญหาด้วยการสัมภาษณ์ใหม่ เราก็บันทึกข้อมูลใหม่ว่าอย่างไร แต่ให้เอาชื่อออกคงไม่ได้ เว็บเราก็ถูกขอโดยตรง

www.jabted.com
www.jabted.com

วันนี้เรามีการเปิดตัวเว็บลูกของเรา ซึ่งจะใช้เป็นเครื่องมือเชิงวารสารศาสตร์ข้อมูล ว่าต่อไปนี้เวลาเราดูเฟซบุ๊กคนดังต่างๆ ที่พูดอะไรไว้ว่าจริงหรือเท็จอย่างไร หรือเวลาเราฟังข่าวบุคคลสำคัญพูดในที่สาธารณะ และเราต้องการรู้ว่าพูดเรื่องทำไม มีความเป็นมาอย่างไร เกิดผลอย่างไรบ้าง และที่พูดไว้นั้นจริงหรือเท็จอย่างไร นั่นคือเว็บไซต์ jabted.com ซึ่งคนที่ทำเครื่องมือนี้คือโอเพ่นดรีม

ปฏิพัทธ์ : ผมเป็นคนนอกอุตสาหกรรมสื่อ แต่สิ่งที่สนใจคือว่าจะใช้เทคโนโลยีช่วยผลักดันในประเด็นต่างๆ ได้ อุตสาหกรรมสื่อก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ผมสนใจ อยากร่วมทำกับไทยพับลิก้า ว่าจะพาสื่อไปยังพรมแดนของ Data Journalism ได้อย่างไร

ตัวเว็บไซต์จับเท็จดอตคอม โดยพื้นฐานแล้วตัวเองอยู่ในฐานะมวลชนทั่วไปที่รับข่าว เราจะเห็นว่าช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมามีการอ้างอิงคำพูด หรือวิธีการแปะข่าวว่าคนนั้นพูดแบบนั้น คนนี้พูดแบบนี้ คนนั้นเลว คนนี้เลว สิ่งที่เทคโนโลยีช่วยได้คือการทำให้เว็บไซต์จับเท็จ ให้เป็นฐานข้อมูลของคำพูดบุคคลสาธารณะต่างๆ

โดยเมื่อเราเข้ามาเว็บนี้จะพบข้อมูลที่นักข่าวไทยพับลิก้าหามา จะพบคำพูด บริบท การวิเคราะห์คำพูดเหล่านั้น มีการอ้างอิงข้อมูลที่เป็นชิ้นเป็นอันที่เป็นสาธารณะ สามารถตรวจสอบย้อนได้ว่าข้อมูลนี้มาจากไหน และรวบรวมประเด็นทั้งหมดมา จากนั้นมีสรุปให้ข้างล่างว่าคำพูดที่พูดนั่นจริงหรือเท็จ มีการสรุปให้ว่าจริง เท็จ นี่เป็นชั้นหนึ่ง

อีกชั้นหนึ่งของข้อมูลคือ เมื่อรวบรวมได้มาก เราจะเห็นภาพใหญ่ของบุคคลสาธารณะในไทย ว่าใครพูดอะไรไว้บ้าง แล้วก็มีความเป็นจริง เท็จ หรือก้ำกึ่งอย่างไร

สฤณี : แน่นอนว่าไม่ใช่คำพูดทุกอย่างในโลกนี้ที่สามารถนำมาจับเท็จได้ เพราะเวลาบุคคลพูดอาจจะเป็นการพูดเชิงให้ความเห็น คำพูดเชิงสัญญา คำพูดเหล่านั้นเราไม่เอามาจับเท็จ แต่จะใช้เฉพาะคำพูดที่เห็นว่ามีมูลความจริงอยู่ในนั้นที่เราเอามาดูได้

เราจะแบ่งคำพูดออกเป็น 4 ประเภท คือ “จริง” หมายถึง ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดแล้วว่าจริง “เท็จ” หมายถึงตรวจสอบแล้วว่าทั้งหมดเป็นเท็จ “ก้ำกึ่ง” หมายถึง ไม่แน่ เป็นความจริงครึ่งเดียว หรือว่าบอกไม่หมด หรือบางทีจริงแต่ในบริบท มันอาจจะไม่ใช่ ก็ถือว่าก้ำกึ่ง และ “ยังพิสูจน์ไม่ได้” หมายความว่าเราต้องเปิดใจว่าจริงๆแล้ว ทั้งหมดเราไม่พยายามบอกว่าเว็บไซต์นี้มันเป็นอะไรที่จะจดจารึกไว้ หรือข้อมูลต้องบอกเราได้ทุกอย่าง ซึ่งบางทีเรายังหาคำตอบไม่ได้ เพราะความจริงยังไม่ปรากฏ ดังนั้นคำพูดบางอย่างเราก็ใช้คำว่า”ยังพิสูจน์ไม่ได้” แต่คาดหวังของเราก็คือว่าเมื่อไหร่ที่มีข้อมูลมากพอแล้ว เราก็จะอัปเดตสถานะ มันก็อาจจะกลายเป็นเท็จหรือกลายเป็นจริง หรือก้ำกึ่ง นี่คือวิธีคิดเบื้องหลังของประเภทคำพูดต่างๆ ของเว็บจับเท็จดอตคอม

ปฏิพัทธ์ : เมื่อลองพิจารณาถึงแต่ละชั้นของข้อมูล เราจะพบว่า จับเท็จดอตคอมมีโอกาสที่จะกลายเป็นข่าวที่ไม่มีวันหมดอายุได้ ถ้าไปที่หน้าเว็บ หน้าผู้คน เราจะเห็นประวัติของบุคคลที่เรานำมาพูดถึง เห็นคำพูดที่คนคนนี้เคยพูดไว้ หรือที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลชุดนี้ ทำให้เราสามารถเป็นเว็บข่าวที่เราอ่านได้ไม่รู้จบ เราอ่านคนนี้ทะลุไปประเด็นอื่นได้ ทำให้ข้อมูลที่นักข่าวทำมา สามารถประยุกต์ไปใช้กับประเด็นอื่นๆได้ดีขึ้น วันหมดอายุยาวขึ้น โยงไปถึงคำพูดชุดอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อรวบรวมข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ หากถึงจุดหนึ่งเทคโนโลยีจะช่วยวิเคราะห์ได้ว่า คนนี้เวลาพูดถึงประเด็นนี้จะพูดไปในทางก้ำกึ่งเสมอ แต่ถ้าเป็นประเด็นนี้พูดจริงเสมอ เป็นการขยายงานด้านสื่อสารมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สฤณี : นี่คือความหมายของการทำให้ข่าวมีหางยาวกว่าเดิม พูดง่ายๆคือทำให้ข่าวมีองค์ประกอบ ทำให้มันเป็นลักษณะของประโยชน์เชิงการศึกษามากขึ้นกับคนอ่าน ถ้าหากเราทำข่าวเจาะ ทำไปเรื่อยๆ แต่ว่าทุกขั้นเราอยากทบทวนตลอดเวลา ว่าตรงนี้เรารู้อะไร เราไม่รู้อะไร เราอยากให้คนอ่านรู้ไปกับเรา

อิศรินทร์: ให้คนที่ติดตามข่าวที่สนใจข้อมูล มีมิติในการติดตามมากขึ้น อย่างเช่น ถ้าติดตามไทยพับลิก้าก็จะได้ข้อมูลเชิงลึก เชิงกว้าง เก่า ใหม่ และมีความหมาย แต่ถ้าเราอยากตรวจสอบคำพูดของคนอย่างมีมิติก็จะเข้ามาที่จับเท็จดอตคอม มีมิติเก่า ใหม่ จริง เท็จ พิสูจน์ไม่ได้ ก้ำกึ่ง หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่าเล่นลิ้น

ในช่วงแรกจะเป็นธีมเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี และเฟสต่อไปตามด้วยบุคคลสาธารณะ ถ้าเข้ามาดูจะเห็นว่าใครพูดเรื่องไหน มีที่มาที่ไปอย่างไร และผลของการพูดเป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นอกาลิโก คือมีเวลาพิสูจน์ตลอดกาล

ปฏิพัทธ์ : พอเราพูดถึงวิธีการจัดการข้อมูลให้เป็นโครงสร้างแบบนี้ เอามารวบรวมอย่างเป็นระบบและเป็นฐานข้อมูลแบบนี้ พอถึงจุดหนึ่งมีข้อมูลมากพอ เทคโนโลยีสามารถช่วยได้อีก วิเคราะห์ได้ลึกไปอีกว่าคนคนนี้พูดในประเด็นใดประเด็นหนึ่งเขามักจะพูดก้ำกึ่งเสมอ หรือถ้าเป็นประเด็นแบบนี้คนนี้พูดจริงเสมอ จึงมีศักยภาพที่สามารถขยายงานสื่อสารมวลชนใช้เทคโนโลยีได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เจว็ด  สัญญลักษณ์ จริง-เท็จ-ก้ำกึ่ง-ยังพิสูจน์ไม่ได้
เจว็ด สัญญลักษณ์ จริง-เท็จ-ก้ำกึ่ง-ยังพิสูจน์ไม่ได้

เจว็ด

อิศรินทร์ : ทำไมคนที่มาจับเท็จหน้าตาเหมือนท่านขุนโบราณ

ปฏิพัทธ์ : อันนี้เราคุยในทีมเยอะแยะ แต่ว่าสุดท้ายออกมาเป็นรูปแบบนี้ จริงๆ ท่านเป็นเจว็ด คือรูปปั้นที่อยู่ในศาลพระภูมิ พยายามให้เห็นว่ามาจากอดีต ไม่เกี่ยวกับปัจจุบัน ที่จะบอกว่าคำพูดที่นำมาเสนอนั้น จริง เท็จ ก้ำกึ่ง ยังพิสูจน์ไม่ได้

อิศรินทร์ : นี่คือตัวอย่างของเว็บไซต์จับเท็จ ที่ทำให้นักข่าวทำข่าวที่เป็นวารสารศาสตร์ข้อมูลมากขึ้น นี่คือ“่jabted.com”