
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานประชุมนักวิเคราะห์ หรือ Analyst Meeting ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4 ของปีและเป็นครั้งที่ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 เพื่อสื่อสารและตอบข้อสงสัยกับนักวิเคราะห์และสื่อมวลชนในการตัดสินใจนโยบายการเงินและการปรับประมาณการณ์ที่ผ่านมา
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่าการดำเนินนโยบายการเงินหลายคนอาจจะคิดว่าธปท.หรือกนง.จะอดทนต่อความเสี่ยงในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงิน หรือเงินเฟ้อแค่ไหน เช่น เมื่อตัวชี้วัดใดลดลงถึงระดับใดแล้วธปท.จะต้องออกมาดำเนินการทันที แต่ธปท.จะพิจารณาจากเหตุปัจจัยของสถานการณ์ต่างๆมากกว่าว่าสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นอย่างไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร กระทบไทยอย่างไร กี่ช่องทาง แต่ละช่องทางกระทบไทยเพียงใด ดังนั้นเมื่อสถานการณ์และเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน ช่องทางแตกต่างกัน ธปท.ต้องใช้นโยบายที่แตกต่างกันตามกลไกเครื่องมือที่มีอยู่
“มาตรการของธปท.ในระยะที่ผ่านมาถ้าสังเกตุจะเห็นว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัย เราจะไม่ดำเนินนโยบายแบบเหวี่ยงแห แต่จะมุ่งเป้าหมายจากการศึกษาเชิงลึกของธปท.ในแต่ละเรื่อง อย่างมาตรการ LTV ที่ออกมาล่าสุดจะเห็นผลว่าตัวสัญญาเงินที่มากกว่า 2 สัญญาขึ้นไปเริ่มชะลอตัว หรือถ้าเป็นสัญญาที่ 2 จะต้องมีระยะเวลาห่างจากการผ่อนสัญญาแรกพอสมควร ซึ่งลดการเก็งกำไรและสะท้อนอุปสงค์ของบ้านที่แท้จริงได้ ดังนั้นการเกณฑ์เอาไว้มันก็จะเป็นลักษณะไม่ยืดหยุ่นในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” ดร.วิรไท กล่าว
หรือเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากในเดือนนี้ หากดูปัจจัยพื้นฐานจะพบว่าเกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่มากกว่าเงินทุนไหลเข้าไปยังหลักทรัพย์ของไทยค่อนข้างมากจะทำหน้าที่เป็นเหมือนลมใต้ปีกของค่าเงิน ขณะที่เงินทุนที่ไหลเข้าออกในตลาดการเงินของไทยจะเป็นส่วนที่สร้างความผันผวนของค่าเงิน เป็นเหมือนท่อที่เติมความผันผวนเข้ามาในค่าเงิน และเมื่อประกอบกันจะทำให้ค่าเงินเวลาแข็งค่าเทียบกับกรณีอ่อนค่ามีลักษณะไม่สมดุลกันด้วย กล่าวคือเวลาเงินไหลเข้ามาเมื่อหนุนด้วยการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะทำให้ค่าเงินแข็งค่าแรงและเร็ว แต่ในทางกลับกันเมื่อมีเงินไหลออก แต่เมื่อบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลหนุนอยู่ ค่าเงินบาทก็จะอ่อนค่าได้ช้ากว่า
ดังนั้น ถ้าไม่ดูให้รอบด้านว่าเงินไหลเข้ามาอย่างไรแบบนี้อาจจะตั้งโจทย์ผิดแต่แรกและเครื่องมือที่ใช้ก็จะผิดไปด้วย การออกมาตรการที่ลดวงเงินประมูลพันธบัตรของธปท. การลดยอดคงค้างในบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทของต่างชาติในไทย และการรายงานชื่อผู้ถือครองตราสารหนี้ของไทย จึงเป็นมาตรการที่ตรงจุด มีเป้าหมายเพื่อไปลดขนาดท่อเหล่านี้ของเคลื่อนย้ายเงินทุนที่จะทำให้ค่าเงินผันผวนโดยตรง ซึ่งถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่แรง ค่าเงินบาทก็อ่อนค่าลงไปและยืนระยะได้มาต่อเนื่อง
หรือนโยบายดอกเบี้ยของประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มทยอยลดลงแล้ว แต่นโยบายของกนง.ยังไม่ลดดอกเบี้ยลง ถ้าย้อนดูช่วงก่อนหน้านี้ประเทศเหล่านี้ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปในช่วงต้นปี 2561 ที่มีการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อสกัดเงินทุนเหล่านั้น ขณะที่ประเทศไทยไม่ได้เผชิญสถานการณ์ลักษณะเดียวกัน กนง.ตัดสินใจว่ายังไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในขณะนั้น เพราะอยากเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างเข้มแข็ง และพอจีดีพีของไทยกลับมาเติบโตได้ระดับ 4% ซึ่งสอดคล้องกับศักยภาพในช่วงปี 2561 กอปรกับธนาคารกลางของประเทศหลักเริ่มตึงนโยบายการเงินอีกครั้ง กนง.ในช่วงสิ้นปีจึงตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี เพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้น พอต่อมาสภาพเศรษฐกิจเริ่มกลับขั้วอีกครั้ง ประเทศเพื่อนบ้านที่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปก่อนหน้านี้จึงจำเป็นต้องกลับมาเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายไม่ให้สูงเกินไป เพื่อดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศตนเอง
“ดังนั้นนโยบายการเงินจะต้องตอบโจทย์ของประเทศ ไม่ใช่ว่าทุกคนขึ้นดอกเบี้ยแล้วเราต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม แต่ต้องดูบริบทให้สอดคล้องกันด้วย นอกจากนี้ ธปท.ยังให้ความสำคัญกับการผสมผสานนโยบาย ซึ่่งเริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศก็เริ่มให้ความสำคัญว่าแต่ละปัญหาอาจจะไม่ได้แก้ได้ด้วยเครื่องมือเพียงอย่างเดียว เหมือนแต่ก่อนที่จะมีระบุเครื่องมือว่าแต่ละอย่างใช้ทำอะไร เรื่องไหนบ้าง แต่ถามว่าในอนาคตถามว่าจะมีมาตรการอื่นๆหรือไม่ ธปท.ก็พ้อมจะปรับปรุงตามข้อมูลและเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นตามกลไกเครื่องมือที่มีอยู่” ดร.วิรไท กล่าว
เตรียมรับมือเศรษฐกิจชะลอตัว เริ่มกระทบการจ้างงาน
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. และเลขานุการ กนง. กล่าวสรุปการตัดสินใจนโยบายว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปรับลดลงจากปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้การส่งออกของไทยหดตัวใน 5 เดือนแรกที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การหดตัวยังถือว่ายังน้อยกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคแม้ว่าจะเผชิญสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าค่อนข้างมาก ยกเว้นเวียดนามที่อาจจะมีปัจจัยเฉพาะของประเทศ ส่วนหนึ่งสะท้อนจากการปรับตัวย้ายฐานการผลิตของประเทศต่างๆที่เป็นผลจากสงครามการค้าในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงการกระจายตัวของภาคส่งออกที่ค่อนข้างดีของไทย และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะกลับมาขยายตัวเป็นเติบโตได้อีกครั้ง แต่คงไม่เพียงพอที่จะทำให้การส่งออกทั้งปีกลับมาเติบโตได้
ด้านการท่องเที่ยวเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง การหันกลับมาเที่ยวภายในประเทศ และการที่จีนเริ่มย้ายไปเที่ยวในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่อ่อนไหวต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น สำหรับภาครัฐยังมีความเสี่ยงจากการตั้งรัฐบาลล่าช้าจนส่งผลต่อการผ่านงบประมาณประจำปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2563 แทน นอกจากนี้ โครงการลงทุนของรัฐต่างๆเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงบ้างในบางโครงการจากปัจจัยต่างๆ เช่นการเข้าพื้นที่ ด้านการบริโภคเริ่มเห็นสัญญาณการจ้างงานชะลอลง โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่เกี่ยวกับการส่งออก ในระยะต่อไปต้องติดว่าจะกระทบต่อการบริโภคของเอกชนมากน้อยเพียงใด
ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อยังใกล้เคียงกับการประเมินครั้งก่อนหน้า ทั้งนี้หากแยกเป็นปัจจัยที่กำหนดเงินเฟ้อในระยะปานกลางที่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานต่างๆและการคาดการณ์เงินเฟ้อและระยะสั้นที่สอดคล้องกับภาวะหรือวัฎจักรเศรษฐกิจ พบว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าพื้นฐาน เช่นการพัฒนาเทคโนโลยี การเข้ามาของ e-Commerce และการขุดน้ำมันจากชั้นหิน (Shale Oil) ยังกดดันให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับการคาดการณ์เงินเฟ้อผ่านการตั้งราคาและค่าจ้างอยู่ในระดับต่ำลง ขณะที่ความสัมพันธ์ระยะสั้นพบว่าอำนาจการตั้งราคาตามวัฎจักรเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ไม่สามารถส่งผ่านไปที่การขึ้นราคาได้ รวมไปถึงอำนาจแรงงานที่ลดลงทำให้แม้ว่าเศรษฐกิจจะปรับดีขึ้นแต่ก็ไม่สามารถต่อรองค่าจ้างเพิ่มได้มากนักและเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อเอาไว้
ดร.วิรไท กล่าวเสริมว่าเรื่องของการคาดการณ์เงินเฟ้อที่ต่ำลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสำเร็จของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ของโลกหันมายึดเป็นเป้าหมาย แล้วพอธนาคารกลางส่วนใหญ่บรรลุเป้าหมายได้ก็ทำให้มีความน่าเชื่อถือตามมาต่อสาธารณชนว่าธนาคารกลางพร้อมจะดำเนินนโยบายให้เข้ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ระบบเศรษฐกิจหรือสาธารณชนก็คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบที่ต่ำ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศที่เคยเผชิญเงินเฟ้อสูงมาก่อน
สำหรับประเทศไทยแม้ว่าจะไม่เคยเผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูงแบบหลายประเทศ แต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างยังมีผลต่อเงินเฟ้อในระยะปานกลางค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่นเรื่องของสังคมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นจะทำให้รูปแบบการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปอีกค่อนข้างมาก หรือเรื่องเทคโนโลยีที่ถูกลงมาก เมื่อนำมาคำนวณในดัชนีราคาผู้บริโภคก็จะเป็นตัวที่ถ่วงให้เงินเฟ้อต่ำลงมาก ขณะที่ในชีวิตประจำวันประชาชนอาจจะไม่ได้ซื้อสินค้าเหล่านี้บ่อยๆ จึงทำให้เกิดปรากฎการณ์ว่าเงินเฟ้อต่ำแต่คนยังรู้สึกว่าข้าวของอื่นๆแพง ดังนั้นในมุมหนึ่งอาจจะต้องหาหรือปรับตัวชี้วัดเงินเฟ้อที่สะท้อนต้นทุนของประชาชนหรือคุณภาพชีวิตของประชาชนมากขึ้น
“เรื่องของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อธปท.มีการทบทวนตลอด โดยธปท.จะหารือกับกระทรวงการคลังในทุกปี ช่วงที่ผ่านมาก็มีการปรับเงินเฟ้อจากเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นเงินเฟ้อทั่วไป มีการให้น้ำหนักของปัจจัยอื่นๆอย่างเช่นเรื่องของเสถียรภาพระบบการเงิน นอกเหนือไปจากเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว เป็นต้น อีกเรื่องคือเรื่องกำหนดเงินเฟ้อเป็นปีปฏิทันในปัจจุบันในความเป็นจริงคือเงินเฟ้ออาจจะไม่ใช่ว่าพอสิ้นปีแล้วก็จบ ขึ้นปีใหม่ก็เริ่มใหม่ แต่มันมีลักษณะที่ต่อเนื่องกัน อาจจะทำเป็นกรอบแบบเคลื่อนที่ หรือ Rolling Windows ให้สะท้อนเงินเฟ้อในระยะปานกลางหรือไม่ เป็นต้น” ดร.วิรไท กล่าว
แจงบาทแข็งจากเกินดุล “บัญชีเดินสะพัด” สูงเป็นหลัก
สำหรับประเด็นค่าเงินที่กนง.แสดงความกังวลค่อนข้างชัดเจนในการประชุมครั้งที่ผ่านมา นายทิตนันทิ์ กล่าวว่าค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เริ่มต้นแต่ปัจจัยภายนอกคือธนาคารกลางในประเทศหลักของโลกกลับมาดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายอีกครั้ง ซึ่งส่งผลให้มีเงินทุนไหลกลับมายังภูิภาคเอเชีย รวมไปถึงประเทศไทยอีกครั้ง ขณะที่ปัจจัยภายในเริ่มจากบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง, สถานการณ์การเมืองในประเทศที่มีเสถียรภาพขึ้น, นักลงทุนมองเงินบาทในฐานะ Regional Safe-Heaven จากปัจจัยพื้นฐานที่ดีเชิงเปรียบเทียบและผลกระทบจากสงครามการค้าที่อาจจะน้อยกว่าประเทศอื่น และการปรับน้ำหนักหุ้นหรือพันธบัตรไทยในตลาดการเงินของต่างประเทศ ทำให้มีเงินไหลเข้ามาในตลาดการเงินไทยมากขึ้น
“หากดูว่าอะไรกดดันค่าเงินบาทจากเงินที่ไหลเข้ามาระหว่างเดือนมกราคม-เดือนพฤษภาคม 2562 ในแต่ละช่องทางคือบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลจากการส่งออกมากกว่านำเข้าและมีเงินต่างประเทศไหลเข้ามา การไหลเข้ามาลงทุนในตลาดการเงิน หรือ Portfolio และการเข้ามาลงทุนโดยตรง หรือ FDI พบว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมีมูลค่าถึง 13,498 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินทุนไหลเข้า Portfolio เป็นเพียงส่วนน้อย 1,379 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การลงทุนโดยตรงคิดเป็นมูลค่า 3,802 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เงินทุนที่ไหลเข้ามาใน Portfolio ยังมีความผันผวนค่อนข้างมาก มีลักษณะเข้าๆออกๆและกระจุกตัวในบางช่วงเวลา และทำให้ค่าเงินบาทผันผวนตามไปด้วยอย่างในช่วงล่าสุดที่เห็ฯนเงินไหลเข้ามาค่อนข้างมากในเดือนกรกฎาคมและไปกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา”
นายทิตนันทิ์ กล่าวต่อไปว่าธปท.จึงออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดในช่วงที่ผันผวน เห็นได้จากเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจากประมาณ 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมไปถึงมาตรการลดวงเงินการประมูลพันธบัตรธปท.และลดวงเงินของต่างชาติที่จะพักเงินไว้ในบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทของต่างชาติในประเทศไทยจาก 300 ล้านบาทเหลือ 200 ล้านบาท รวมไปถึงให้ทำรายงานย้อนหลังตามมาถึงยอดคงค้างการถือครองตราสารหนี้ไทยของต่างชาติในระดับชื่อผู้ได้รับประโยชน์ที่แท้จริงด้วย (Ultimate Beneficial Ownership: UBO)
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนของการดูแลค่าเงินของธปท.คือความเสี่ยงที่อาจจะทำให้ไทยเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงินของตัวเอง หรือ Currency Manipulator และอาจจะกระทบต่อการค้ากับสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งล่าสุดได้ปรับเกณฑ์ต่างๆให้เข้มงวดขึ้นและไทยก็เข้าข่ายในหลายเกณฑ์แล้ว เช่นมีมูลค่าการค่ากับสหรัฐอเมริกามากกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (จากเดิมที่นับแค่คู่ค้าหลัก 12 อันดับแรก), เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 2% ของจีดีพี (จากเดิมที่ 3%) ซึ่งประเทศเกิดมานานตั้งแต่ก่อนสงครามการค้าแล้ว เป็นต้น
ชี้ “ดอกเบี้ยที่แท้จริงไทย” ต่ำสุดในกลุ่มประเทศคล้ายกันแล้ว
นายทิตนันทื์ กล่าวต่อไปว่าเมื่อหันกลับมาดูภาวะการเงินของไทย ดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยถือว่าต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศที่มีความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกันแล้ว โดยอยู่ที่ 0.88% (ณ ดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75%) ต่ำกว่าประเทศอย่างเวียดนามที่ 4.09% (ณ ดอกเบี้ยนโยบายที่ 6.25%), ต่ำกว่าประเทศอินเดียที่ 3.3% (ณ ดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.75%), ต่ำกว่าประเทศมาเลเซียที่ 2.8% (ณ ดอกเบี้ยนโยบายที่ 3%), ต่ำกว่าประเทศอินโดนิเซียที่ 2.72% (ณ ดอกเบี้ยนโยบายที่ 6%) และประเทศฟิลิปปินส์ที่ 1.8% (ณ ดอกเบี้ยนโยบายที่ 4.5%) เป็นต้น นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยของประเทศเหล่านี้ในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากช่วงก่อนหน้านี้ที่ได้ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อปกป้องค่าเงินของตัวเองในช่วงที่เกิดภาวะเงินไหลออก ขณะที่ประเทศไทยแทบไม่ได้รับผลกระทบในลักษณะแบบเดียวกันจึงคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ตลอดช่วงเวลาเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ก่อนจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา เมื่อการเติบโตของเศรษฐกิจเริ่มกลับมาสู่ระดับศักยภาพ เพื่อดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน
อนึ่ง ระบบเสถียรภาพระบบการเงินของไทยในปัจจุบันโดยรวมยังไม่ได้ลดลงและมีบางจุดทีสะสมความเปราะบาง เริ่มจากประเด็นแรกคือหนี้ครัวเรือนที่เริ่มเร่งตัวในทุกหมวดสินเชื่อ โดยเฉพาะในหมวดรถยนต์ โดยในไตรมาสแรกของปี 2561 เติบโต 6.3% เทียบกับปีก่อนหน้า สอดคล้องกับการเติบโตของสินเชื่อที่ขับเคลื่อนจากธนาคารพาณิชย์และบริษัทลีสซิ่งเป็นหลัก และพบว่ามีมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อที่ผ่อนปรนมากขึ้น
ประเด็นที่ 2 คือภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ภายหลังการบังคัใช้มาตรการ LTV การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นไปตามเป้าหมาย สะท้อนจากการเก็งกำไรที่ชะลอลงและมาตรฐานการพิจารณาที่รัดกุมมากขึ้น โดยแม้ว่าการเติบโตของบัญชีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนพฤษภาคม 2562 จะยังขยานตัวถึง 14.8% แต่เนื่องจากเป็นการเร่งโอนหรือซื้อขายก่อนมาตรการจะบังคับใช้ และถ้าเจาะดูเฉพาะช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2562 พบว่าหดตัวลง 4.6% และเป็นการหดตัวของการกู้สัญญาที่ 2 ขึ้นไป -36% แบ่งเป็นแนวราบหดตัวไป -21.9% และแนวสูงที่หดตัวถึง -45.3% ขณะที่การกู้สัญญาแรกขยายตัวเพียง 0.2% โดยแนวราบยังขยายตัวได้ 6.3% และแนวสูงที่หดตัวไป -11.7% สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ที่แท้จริงที่ชัดเจนขึ้น แต่ทั้งนี้ยังต้องติดตามอุปทานคงค้างที่เหลืออยู่ต่อไป
“ในมิติอื่นๆ ค่าเฉลี่ยของ LTV ลดลงอย่างชัดเจนในกรณีของสัญญาที่ 2 เป็นต้นไป ขณะที่สัญญาแรกยังทรงตัวและลดลงเล็กน้อย เช่นเดียวกับเงินโอนจากต่างชาติเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในไทยทยอยมีแนวโน้มลดลง แต่ยังต้องติดตามต่อไปอีกระยะ นอกจากนี้จะเป็นเรื่อของพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน หรือ Search for yield ที่ยังมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะพฤติกรรมการลงทุนที่กระจุกตัวของกองทุนรวมและธุรกิจขนาดใหญ่ และความเสี่ยงจากสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังมีความล่าช้าในการออกกฎกระทรวงที่จะมากำกับดูแลตามกฎหมายสหกรณ์ใหม่” นายทิตนันทิ์ กล่า
ดร.วิรไท กล่าวเสริมว่ากรณีของพฤติกรรมการลงทุนที่กระจุกตัวปัจจุบันธปท.เห็นว่ามีกองทุนหรือธุรกิจขนาดใหญ่ไปลงทุนในผู้ออกตราสารหนี้ที่เป็นหน้าเดิมๆค่อนข้างมาก ซึ่งในแต่ละประเทศในแต่ละผู้ออกตราสารก็มีมาตรฐานที่แตกต่างกัน กองทุนรวมที่ไปลงทุนก็มีการประเมินที่แตกต่างกัน ธปท.ก็อยากให้บริหารความเสี่ยงให้ดีรอบคอบขึ้น ขณะที่เรื่องของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์บางคนถามต่อว่าจะทำอะไรต่อ แต่ความจริงคือควรจะเน้นที่ภาพรวมของระบบการเงินคือความสามารถในการชำระหนี้ของคนมากกว่า เพราะเวลาไปปิดอันหนึ่งมันก็จะไปโผล่อีกที่หนึ่ง
นายทิตนันทิ์ กล่าวต่อว่านโยบายการเงินเพื่อดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจและเสถียรภาพของระบบการเงิน ยังต้องดำเนินการอย่างผสมผสานโดยพิจารณาผลดีและผลกระทบทางเลือกเชิงนโยบายต่างๆอย่างเหมาะสมด้วย ทำให้กนง.มีความเห็นว่านโยบายการเงินปัจจุบันผ่อนคลายในระดับที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อ ขณะที่การลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในช่วงต่อไปยังจำเป็นต้องดูแลด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และค่าเงินบาทจะยังมีทิศทางแข็งค่าไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยต่อไปและต้องิติดตามการไหลเข้าของเงินทุนอย่างใกล้ชิด