ThaiPublica > เกาะกระแส > 10 ปีเกษตรกรไทยอยู่ตรงไหน? ปลูกอะไร? – งานวิจัยสถาบันป๋วยชี้ “เกษตรกรไทย” ยังเน้นปลูกพืชเชิงเดี่ยว “ความเสี่ยงสูง-ผลตอบแทนต่ำ”

10 ปีเกษตรกรไทยอยู่ตรงไหน? ปลูกอะไร? – งานวิจัยสถาบันป๋วยชี้ “เกษตรกรไทย” ยังเน้นปลูกพืชเชิงเดี่ยว “ความเสี่ยงสูง-ผลตอบแทนต่ำ”

27 มิถุนายน 2019


เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2562 สถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยแพร่ผลวิจัย “พลวัตการทำเกษตรไทยและนัยต่อผลตอบแทนและความเสี่ยงของครัวเรือนเกษตร: ทำไมเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงเลือกทำเกษตรที่เสี่ยงสูงแต่ผลตอบแทนต่ำอยู่?” ซึ่งเป็นซีรีส์งานวิจัยที่มุ่งเข้าใจภาคเกษตรไทยผ่านฐานข้อมูลเกษตรหลายชุด โดยงานศึกษานี้มุ่งเข้าใจพลวัตการทำเกษตรของไทยโดยใช้ข้อมูลการเพาะปลูกรายแปลงของเกษตรกรทั่วประเทศกว่าหนึ่งทศวรรษมาสะท้อนถึงจำนวน ความหลากหลาย และการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมเกษตร ทั้งในภาพรวมของประเทศซึ่งจะทำให้เข้าใจถึงการกระจุกตัวหรือกระจายตัวในเชิงพื้นที่และเวลา และภาพย่อยในระดับครัวเรือนซึ่งจะทำให้เข้าใจถึงความหลากหลายของการเลือกทำเกษตรและการบริหารจัดการความเสี่ยงของเกษตรกร บทความนี้ยังฉายภาพให้เห็นถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงตลอดถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจทำเกษตรในแบบต่าง ๆ ของครัวเรือนเกษตรไทย เพื่อนำไปสู่นัยเชิงนโยบาย

ทั้งนี้ บทความนี้ยังคงอาศัยจุลทรรศน์จากข้อมูลขนาดใหญ่เหมือนกับบทความก่อนหน้าในชุด โดยได้ใช้ฐานข้อมูลทั้งหมด 3 ฐานมาเติมเต็มกันและกันทั้งในมิติความกว้าง (ตัวแปร) และในมิติความยาว (เวลา) ซึ่งประกอบด้วย

(1) ข้อมูลสำมะโนเกษตรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2546 และ 2556 ครอบคลุมทุกครัวเรือนเกษตรรวมทั้งสิ้น 5.8 และ 5.9 ล้านครัวเรือน ตามลำดับ

(2) ข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2558-2560 ครอบคลุม 5.9 ล้านครัวเรือนในปีล่าสุด ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 90 ของครัวเรือนเกษตรไทย

และ (3) ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนและแรงงานเกษตรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรายปี ตั้งแต่ 2549-2560 ซึ่งครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของเกษตรกรของทั้งประเทศ (National Representative) จำนวนเฉลี่ยปีละ 9,333 ครัวเรือน

1 ทศวรรษ โครงสร้างไม่เปลี่ยนยังปลูกพืชกระจุกตัว

ในระดับประเทศ ผลการศึกษาประเด็นแรกพบว่า กิจกรรมเกษตรของไทยกระจุกตัวในข้าวและพืชเศรษฐกิจหลักเพียงไม่กี่ชนิด โดยหากดูสัดส่วนของเนื้อที่ทำเกษตรในรายกิจกรรมจะพบว่าความเข้มข้นของการเพาะปลูกข้าวตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา โดยเนื้อที่เกษตรของไทยเกินกว่ากึ่งหนึ่งเป็นเนื้อที่ปลูกข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ขณะที่เนื้อที่เกษตรอื่น ๆ ประมาณ 1 ใน 3 เป็นการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ เพียงแค่ 5 ชนิด ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย ซึ่งเป็นพืชไร่ กับยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชยืนต้น

และเมื่อวัดจากดัชนีการกระจุกตัว Herfindahl-Hirschman ที่วัดจากผลรวมของสัดส่วนพื้นที่ของพืชแต่ละประเภท จะพบว่าการกระจุกตัวของกิจกรรมการผลิตที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ต่อปี และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.2 ต่อปี ในช่วงปี 2558-2561 เป็นผลมาจากสัดส่วนของเนื้อที่ปลูกข้าว ซึ่งขยายตัวเข้าไปทดแทนเนื้อที่พืชหลักอื่น ๆ โดยสัดส่วนเนื้อที่ปลูกข้าวเจ้าและข้าวเหนียวรวมกันในปี 2558 ได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 57.7 เป็นร้อยละ 63.7 ในปี 2560 สวนทางกับพืชเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำในช่วงดังกล่าว โดยเฉพาะมันสำปะหลังและยางพาราที่สัดส่วนพื้นที่ทำเกษตรลดลงจากร้อยละ 26.3 เหลือเพียงร้อยละ 19.01 ภายใน 2 ปี (รูปที่ 1a)

ประเด็นที่ 2 นอกจากการกระจุกตัวในมิติกิจกรรมเกษตรแล้ว การทำเกษตรของไทยยังกระจุกตัวในเชิงพื้นที่ (รูปที่ 1b) โดยพื้นที่ปลูกข้าวร้อยละ 36 อยู่ในภาคอีสานตอนล่าง และร้อยละ 10 กระจุกตัวอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่นเดียวกันกับพื้นที่ปลูกยางพาราร้อยละ 53 กระจุกตัวอยู่แทบทุกจังหวัดในภาคใต้ และเราพบว่าลักษณะการกระจุกตัวในเชิงพื้นที่ข้างต้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักจากอดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าการกระจุกตัวในเชิงพื้นที่ของบางกิจกรรมเกษตรอาจจะได้รับผลดีจากการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) โดยเฉพาะการใช้เครื่องจักรกลตลอดกระบวนการทำเกษตร

ในทางกลับกัน ผลผลิตทุกชนิดในกลุ่มพืชไร่หลักของไทยได้ออกสู่ตลาดอย่างกระจุกตัวทั้งในเชิงพื้นที่และในเชิงเวลา โดยเฉพาะผลผลิตข้าวซึ่งร้อยละ 44 ออกมาพร้อมกันจากภาคอีสานในเดือนพฤศจิกายน การกระจุกตัวที่สูงมากดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดอันนำมาซึ่งราคาผลผลิตตกต่ำ (รูปที่ 2)

ประเด็นที่ 3 คือพลวัตรหรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของไทยมีค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ตัวอย่างเช่นในช่วง 1990 ธนาคารโลกได้แนะนำให้ประเทศผู้ปลูกข้าวเข้มข้นในเอเชียกระจายชาวนาออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตที่ล้นตลาด ซึ่งกดดันราคาข้าวให้ต่ำในช่วงก่อนหน้า โดยเวียดนามซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ รวมถึงมาเลเซียได้ลดเนื้อที่ปลูกข้าวลง และหันไปปลูกพืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น และพืชพลังงานเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2543-2554 ขณะที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ แม้ว่าเนื้อที่ปลูกข้าวเพิ่มขึ้นอยู่บ้าง แต่เนื้อที่ปลูกพืชอื่นๆ รวมกันได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเนื้อที่ปลูกข้าว รวมถึงกระจายตัวไปในพืชทุกกลุ่มอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดี เราพบว่าสัดส่วนเนื้อที่ของการทำเกษตรจากกิจกรรมรองได้เพิ่มขึ้นแทบจะทุกหมวดในช่วงปี 2558-2560 โดยเฉพาะไม้ผล รวมถึงพืชผักและสมุนไพร ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าภาคเกษตรไทยอาจจะกระจายเนื้อที่การทำเกษตรในภาพรวมได้ในอนาคตเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

เจาะลึกรายครัวเรือน อยู่ที่ไหน ปลูกอะไร?

ในระดับครัวเรือน จากข้อมูลเพาะปลูกรายแปลงที่สะท้อนถึงจำนวนกิจกรรมเกษตรและลักษณะการผสมผสานของการทำเกษตรรายครัวเรือน ซึ่งสามารถพิจารณารูปแบบการผสมผสานของกิจกรรมเกษตรรายครัวเรือนที่ละเอียดในระดับชนิดพืชที่ปลูกหรือชนิดสัตว์ที่เลี้ยง อนึ่ง แนวทางการศึกษาของงานวิจัยนี้มีความพิเศษ เนื่องจากที่ผ่านมางานวิจัยในปัจจุบันยังไม่พบการศึกษาที่ระบุส่วนผสมของพืชที่ปลูกอย่างชัดเจน และมักจะระบุกลยุทธ์การทำเกษตรแบบกว้างๆ เช่น รูปแบบปลูกพืชอาหารกับเลี้ยงสัตว์ทั่วไป รูปแบบปลูกไม้ผลกับเลี้ยงสัตว์อีกกลุ่มการทำเกษตรเชิงเดี่ยว การทำเกษตรหลากหลายแบบดั้งเดิม แบบใหม่ในตลาดใหม่ แบบใหม่ในกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม

ผลการศึกษาประเด็นแรกพบว่า 2 ใน 3 ของครัวเรือนเกษตรในปัจจุบันทำเกษตรเชิงเดี่ยว (Monoculture) โดยครัวเรือนที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวส่วนใหญ่ร้อยละ 27 อาศัยอยู่ในตอนล่างของภาคอีสาน และร้อยละ 9 อยู่ในภาคใต้ตอนล่าง ขณะที่ส่วนน้อยเพียงร้อยละ 32 ทำเกษตรหลากหลายหรือ 2 ชนิดขึ้นไป (หรือมีการทำ On-farm diversification) ทำให้ค่าเฉลี่ยของกิจกรรมเกษตร ต่อครัวเรือนของไทยอยู่ที่เพียงแค่ 1.4 กิจกรรม (รูปที่ 3a) และในมิติของเวลาพบว่าจากข้อมูลสำมะโนเกษตรและทะเบียนเกษตรกร จำนวนกิจกรรมของครัวเรือนทำการเกษตรที่ 1.4 กิจกรรม ได้ลดกิจกรรมเกษตรลงเกือบกึ่งหนึ่งแล้วจากปี 2546 ซึ่งเคยอยู่ที่ 2.4 กิจกรรม

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าจำนวนกิจกรรมเกษตรต่อครัวเรือนลดลงในทุกจังหวัด โดยล่าสุดภาคอีสานและเหนือมีสัดส่วนครัวเรือนที่ลดจำนวนกิจกรรมเกษตรสูงสุด (รูปที่ 3b และ 3c) โดยหากมองการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น หากติดตามครัวเรือนเดิมในทะเบียนเกษตรกรจากปี 2558/2559 – 2560/61 และพบว่าภาคอีสานและเหนือมีสัดส่วนครัวเรือนที่ลดจำนวนกิจกรรมสูงสุด เฉลี่ยร้อยละ 15 แตกต่างจากภาคกลาง (เฉลี่ยร้อยละ 8) และภาคใต้ (เฉลี่ยเพียงร้อยละ 5) ในขณะเดียวกันที่มีประมาณร้อยละ 8 ของครัวเรือนที่มีการเพิ่มจำนวนกิจกรรม แต่หากมองการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวขึ้นจากสำมะโนเกษตรในช่วงปี 2546-2556 ก็พบว่าจำนวนกิจกรรมก็ลดลงในทุกจังหวัดของประเทศเช่นเดิม และลดลงมากที่สุดในภาคใต้ ซึ่งผลการศึกษาทั้งหมดก็สอดคล้องกับการศึกษาที่ใช้ข้อมูล Townsend Thai Data ของเชาวนา เพชรรัตน์ และคณะ (2562) ซึ่งพบว่าครัวเรือนเน้นทำเกษตรเฉพาะอย่างมากขึ้นในช่วงปี 2549-2555

ในเชิงคุณภาพ การผสมผสานของกิจกรรมเกษตรของครัวเรือนแตกต่างกันไปตามพื้นที่ หากมองความหลากหลายของกิจกรรมเกษตรที่ครัวเรือนทำในหนึ่งปี ผลการศึกษาพบว่าโดยทั่วไปจะเป็นชาวนาที่นอกจากปลูกข้าวแล้วยังปลูกพืชหลักอื่นๆ ด้วย 1-2 ชนิด โดยรูปแบบที่พบมากที่สุด 7 อันดับแรกซึ่งครอบคลุมครึ่งหนึ่งของจำนวนเกษตรกรที่ไม่ได้ทำเกษตรเชิงเดี่ยว ประกอบด้วย (1) ข้าวเจ้ากับข้าวเหนียว ร้อยละ 27.0 (2) ข้าวเจ้ากับมันสำปะหลัง ร้อยละ 6.1 (3) ข้าวเหนียวกับยางพารา ร้อยละ 4.5 (4) ข้าวเหนียวกับอ้อย ร้อยละ 3.4 (5) ข้าวเจ้ากับยางพารา ร้อยละ 3.4 (6) ข้าวเหนียวกับมันสำปะหลัง ร้อยละ 3.1 และ (7) ข้าวเหนียวกับข้าวโพด ร้อยละ 2.8 และสำหรับความแตกต่างของรูปแบบการทำเกษตรของครัวเรือนในเชิงพื้นที่ จากรูปที่ 4 ประกอบด้วย (1) ข้าวเจ้ากับข้าวเหนียวพบได้มากที่ภาคอีสานตอนบน (2) ข้าวเจ้ากับมันสำปะหลังพบที่ภาคกลาง (3) ข้าวเหนียวกับข้าวโพดพบที่ภาคเหนือ และ (4) ปาล์มน้ำมันกับยางพาราที่ภาคใต้

ประเด็นที่ 2 ของผลการศึกษาในระดับครัวเรือนพบว่าจากข้อมูลที่สามารถแยกแยะลักษณะการผสมผสานของการทำกิจกรรมเกษตรในช่วงเวลาเดียวกันออกจากการทำเกษตรหมุนเวียน (Crop rotation) โดยครัวเรือนเกษตรที่ทำเกษตรหมุนเวียน ส่วนใหญ่มักจะทำกิจกรรมหลากหลายชนิด โดยเมื่อพิจารณาถึงลักษณะการผสมผสานต่างรอบการปลูกในข้อมูลทะเบียนเกษตรกรด้วย เราพบว่าเพียงร้อยละ 6.6 ของครัวเรือนมีการปลูกพืชมากกว่าหนึ่งรอบในแต่ละปีการเพาะปลูก ซึ่งอาจจะไม่ได้แสดงถึงข้อเท็จจริงนัก เนื่องจากครัวเรือนมักไม่ได้ไปลงทะเบียนการเพาะปลูกรอบที่สองหรือสาม แต่ในจำนวนครัวเรือนที่มีการลงทะเบียนปลูกมากกว่าหนึ่งครั้งกว่าร้อยละ 6.6 เราพบว่าร้อยละ 3.8 ปลูกพืชหลากหลายชนิด และร้อยละ 2.8 ปลูกเชิงเดี่ยว

โดยรูปที่ 5 แสดงให้เห็นถึงลักษณะกิจกรรมเกษตรแบบหมุนเวียนที่สำคัญ ได้แก่ การปลูกข้าวโพดหลังนาข้าวและหรือข้าวเหนียว ซึ่งพบได้มากในพื้นที่ภาคเหนือ และการปลูกข้าวเจ้าสลับกับข้าวเหนียว ซึ่งพบได้มากในพื้นที่ภาคอีสาน ขณะที่พื้นที่ชลประทานภาคกลาง แม้ว่าโดยทั่วไปจะสามารถทำเกษตรได้ตลอดทั้งปี แต่ครัวเรือนส่วนใหญ่จะปลูกพืชชนิดเดียว โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปีและข้าวนาปรังต่อเนื่องกัน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 88 ของครัวเรือนที่ทำเกษตรเพียงกิจกรรมเดียวแบบหมุนเวียน

เกษตรกรไทยน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่มาใช้?

ประเด็นที่ 3 ของผลการศึกษาในระดับครัวเรือนพบว่าภายหลังพระราชดำรัสของในหลวงรัชการที่ 9 ได้จุดประกายการทำเกษตรหลากหลายและยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2542 อย่างไรก็ตาม ผ่านไป 20 ปี ครัวเรือนที่ทำการเกษตรด้วยแนวทางทฤษฎีใหม่ยังไม่แพร่หลายมากนัก เช่นเดียวกันกับแนวทางการทำเกษตรยั่งยืนอื่น ๆ รูปที่ 6 แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนที่ทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ยังมีไม่ถึงร้อยละ 0.2 ของทั้งหมด แม้แต่จังหวัดที่มีโครงการนำร่อง เช่น กาฬสินธุ์ นครราชสีมา ราชบุรี และนครสวรรค์ เป็นต้น ยังมีสัดส่วนครัวเรือนที่ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมด

สำหรับการทำเกษตรยั่งยืนด้วยแนวทางอื่น ๆ เช่น เกษตรธรรมชาติ หรือวนเกษตร แม้ว่าพบได้จากครัวเรือนเพียงร้อยละ 8 ของทั้งหมด แต่ก็รุดหน้าไปกว่าทฤษฎีใหม่อยู่พอสมควร จากหลักการที่ยืดหยุ่นและอาจจะไม่ตายตัวมากนัก ทำให้การทำเกษตรยั่งยืนในบางพื้นที่รุดหน้าไปได้ โดยเฉพาะสมุทรสงคราม สมุทรสาคร ระยอง และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าครัวเรือนประมาณกึ่งหนึ่งทำการเกษตรด้วยแนวทางยั่งยืนแล้ว

การทำเกษตรทฤษฎีใหม่และยั่งยืนแน่นอนว่าจะต้องประกอบด้วยกิจกรรมเกษตรที่หลากหลาย โดยการทำเกษตรทฤษฎีใหม่จะมีความหลากหลายที่สุด รองลงมาเป็นการทำเกษตรยั่งยืนอื่น ๆ โดยหากควบคุมจำนวนรอบการทำเกษตร จะพบว่าในพื้นที่ที่ทำเกษตรครั้งเดียวต่อปี ครัวเรือนที่ทำเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรยั่งยืนจะทำเกษตรอยู่ที่ 3.4 และ 2.7 กิจกรรม ซึ่งสูงกว่าการทำเกษตรในรูปแบบอื่น ๆ 1.5 และ 1.2 เท่า ตามลำดับ สอดคล้องกับงานศึกษาก่อนหน้านี้ ซึ่งพบว่าการทำเกษตรและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนส่งผลอย่างยิ่งต่อการทำเกษตรผสมผสานของเกษตรกร

พืชเชิงเดี่ยว VS พืชผสมผสาน

คำถามสำคัญต่อไปคือเมื่อครัวเรือนไทยหันมาทำเกษตรเชิงเดี่ยวมากขึ้น คำถามที่น่าสนใจก็คือ การทำเกษตรเชิงเดี่ยวได้ผลตอบแทนและมีความเสี่ยงเป็นอย่างไร? และการทำเกษตรหลากหลาย หรือผสมผสานมักจะต้องแลกผลตอบแทนที่ลดลงกับความสามารถในการกระจายความเสี่ยงเสมอไปจริงเหรอ? เกษตรกรไทยเลือกรูปแบบการทำเกษตรที่เหมาะสมแล้วหรือยัง?

งานวิจัยในต่างประเทศหลายงานได้ศึกษาลักษณะการกระจายความเสี่ยง (Diversification) ของเกษตรกร และพบว่าในบางบริบทการทำเกษตรแบบหลากหลายเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงต้องแลกมาซึ่งการลดลงของผลตอบแทน ซึ่งก็เป็นผลมาจากการลดลงของความชำนาญเฉพาะทาง (Specialization) และการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) แต่ในบางบริบท การบริหารจัดการความเสี่ยงโดยการทำเกษตรหลากหลายในบางรูปแบบกลับเป็นวิถีการทำเกษตรที่สามารถให้ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่สูงกว่าได้เช่นกัน งานวิจัยในต่างประเทศ เช่น Babatunde and Qaim (2009) พบว่าครัวเรือนที่ทำเกษตรผสมผสานจะมีรายได้ที่มากกว่าครัวเรือนที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว

เราพยายามตอบคำถามเหล่านี้โดยอาศัยแนวคิด Modern Portfolio Theory ของ Markowitz (1952) ซึ่งมีสมมุติฐานว่าความพึงพอใจของคนทั่วไปจากการลงทุนมาจากทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยง ดังนั้นการวัดประสิทธิผลของการลงทุนจึงต้องคำนึงถึงความเสี่ยงควบคู่กับผลตอบแทน และนักลงทุนควรเลือกการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงสุดในแต่ละระดับความเสี่ยง

โดยงานวิจัยจะวัดผลตอบแทนของแต่ละรูปแบบการทำเกษตรจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อทรัพย์สิน (Return on Asset หรือ ROA) ซึ่งคำนวณจากค่าเฉลี่ยของรายได้สุทธิจากการทำเกษตรหารด้วยมูลค่าทรัพย์สินในการทำเกษตร เช่น ที่ดิน ยุ้งฉาง คอกสัตว์ บ่อน้ำ และเครื่องจักรกล เป็นต้น และวัดความเสี่ยงจากค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของผลตอบแทนของการทำเกษตรรูปแบบนั้น ๆ โดยใช้ข้อมูล 10 ปีของครัวเรือนตัวอย่างจากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนและแรงงานเกษตรในช่วงปี 2549-2560 ซึ่งเก็บโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

โดยสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้การทำเกษตรสุทธิเป็นบวกแสดงว่ามีผลตอบแทนเป็นบวก เช่นเดียวกันกับครัวเรือนที่ขาดทุนการทำเกษตรสุทธิจะมีผลตอบแทนเป็นลบ โดยขนาดของผลตอบแทนจะสะท้อนความสามารถในการทำการเกษตรให้ได้กำไร รวมถึงประสิทธิภาพของการใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ของครัวเรือน โดยรูปที่ 7 ฉายภาพผลตอบแทนและความเสี่ยงของกลุ่มครัวเรือนที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวในรายกิจกรรม (7a) และเปรียบเทียบผลตอบแทนและความเสี่ยงของการทำเกษตรเชิงเดี่ยวกับการทำเกษตรผสมผสานในระดับจังหวัด (7b)

ในภาพรวมผลตอบแทนของกิจกรรมเกษตรไทยมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงในทิศทางเดียวกัน จากรูปที่ 7a กลุ่มตัวอย่างกิจกรรมเกษตร 132 ชนิด แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง มักจะให้ผลตอบแทนที่สูง เช่น ถั่วลันเตาและปลาทับทิม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงเป็นลำดับที่ 1 และ 4 มีผลตอบแทนที่สูงเป็นลำดับที่ 4 และ 1 ตามลำดับ ในทางกลับกัน 5 ใน 10 กิจกรรมที่มีความเสี่ยงเป็นลำดับสุดท้าย จะให้ผลตอบแทนอยู่ใน 10 ลำดับสุดท้ายเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับพืชไร่ที่นิยมปลูกเช่น อ้อย ข้าวโพด และข้าวเหนียวกลับมีความเสี่ยงสูงแต่ให้ผลตอบแทนต่ำ สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ที่ยังคงทำเกษตรที่ให้ผลตอบแทนต่ำแต่มีความเสี่ยงสูง อาจยังไม่ได้เลือกรูปแบบการทำเกษตรที่เหมาะสมนัก

ขณะที่การทำเกษตรแบบหลากหลายสามารถเพิ่มผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงได้ ซึ่งหากพิจารณาจากผลลัพธ์ระดับจังหวัด รูปที่ 7b แสดงให้เห็นว่า ณ ระดับความเสี่ยงไม่มาก การทำเกษตรผสมผสานจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเล็กน้อย และเมื่อพิจารณาผลลัพธ์ในแต่ละรูปแบบการทำเกษตรผสมผสานและเชิงเดี่ยว จากรูปที่ 8 เราก็จะพบว่าเกษตรผสมผสานหลายรูปแบบให้ผลตอบแทนสูงกว่าในระดับความเสี่ยงเดียวกับเกษตรเชิงเดี่ยว แสดงว่าครัวเรือนที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะอ้อย ข้าวโพด ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า และปาล์มน้ำมัน หากทำการเกษตรหลากหลายขึ้น โดยแบ่งเนื้อที่ไปเพาะปลูกพืชหลักอื่น ๆ หรือเพาะปลูกสลับกัน อาจจะได้รับผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงสูงขึ้นกว่าการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ส่วนการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ให้ผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงที่สูงอยู่แล้วในกลุ่มพืชหลัก เช่น ยางพารา แม้ว่าการทำเกษตรให้หลากหลายขึ้นจะให้ผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ดี สามารถเป็นทางเลือกให้กับครัวเรือนปรับเปลี่ยนระดับความเสี่ยงทั้งเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามที่ต้องการได้

ตัวอย่างเช่น ในกรณีของข้าวเมื่อพิจารณาเฉพาะครัวเรือนที่ปลูกข้าวพบว่าการทำเกษตรแบบหลากหลายจะให้ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงสูงกว่าการปลูกข้าวอย่างเดียวในเกือบทุกพื้นที่ โดยรูปที่ 9 แสดงให้เห็นทางเลือกต่าง ๆ ของชาวนาทั่วประเทศ พบว่าจังหวัดร้อยละ 92 การปลูกข้าวร่วมกับพืชหลักอื่น ๆ ให้ผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงสูงกว่าการปลูกข้าวเชิงเดี่ยว และจังหวัดร้อยละ 60 การปลูกข้าวเชิงเดี่ยวเป็นทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงที่ต่ำที่สุด โดยหากเทียบผลตอบแทนต่อ 1 หน่วยค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานแล้ว ครัวเรือนที่ปลูกข้าวเชิงเดี่ยวจะได้รับผลตอบแทนเพียงร้อยละ 0.34 ขณะที่ทางเลือกอื่นๆ เช่น ข้าวกับอ้อย และข้าวกับข้าวโพด ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอยู่ที่ร้อยละ 0.58 ทั้ง 2 ทางเลือก

แล้วรัฐบาลจะออกนโยบายอย่างไร?

คำถามต่อมาคือปัจจัยอะไรบ้างที่กระทบต่อการตัดสินใจปลูกพืชของเกษตรกร เพื่อตอบคำถามดังกล่าวงานศึกษาสร้างสมการถดถอยขึ้นมาเพื่อศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยจาก 4 กลุ่มคือ (1) ปัจจัยจากตัวและครัวเรือนเกษตรกรเอง (2) ปัจจัยเชิงพื้นที่ซึ่งรวมถึงภูมิประเทศและภูมิอากาศ (3) ปัจจัยจากตลาด และ (4) ปัจจัยที่เกิดจากนโยบายภาครัฐ โดยเน้นไปที่พืช 5 ชนิดได้แก่ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เทียบกับการเลือกปลูกพืชที่มีผลตอบแทนสูง เช่น ผักผลไม้ สมุนไพรและไม้ดอกไม้ประดับ และ ต่อการเลือกทำเกษตรแบบหลากหลาย โดยพบว่าปัจจัยทางนโยบายส่งผลมากที่สุดและมีนัยสำคัญต่อการเลือกทำเกษตรรูปแบบต่าง ๆ ของครัวเรือนเกษตร เช่น โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดทำให้เกษตรกรปลูกข้าวมากขึ้น แต่ลดการทำเกษตรหลากหลายลง การทำนโยบายภาคเกษตรจึงควรต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจสร้างแรงจูงใจผิด ๆ ทำให้เกษตรกรไม่เลือกทำเกษตรในรูปแบบที่มีประสิทธิผลที่สุด

ปัจจัยด้านตลาดก็มีความสำคัญ โดยเราพบว่าราคาผลผลิตมีผลต่อการเลือกปลูกพืชมหาชนอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับการลงทุนในพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง

ความเสี่ยงทั้งจากความผันผวนของราคาผลผลิตหรือจากฝนฟ้าอากาศ ก็ทำให้ครัวเรือนเลือกทำเกษตรหลากหลายมากขึ้น ซึ่งก็อาจสะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรอาจใช้การเกษตรหลากหลายในการบริหารจัดการความเสี่ยง แต่ผลการศึกษาก็ยังชี้ให้เห็นว่าความเสี่ยงสูงก็อาจเป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้งในการลงทุนในกิจกรรมเกษตรที่ให้ผลตอบแทนสูง

สำหรับปัจจัยเชิงพื้นที่ เราพบว่าการเข้าถึงการชลประทานส่งผลให้ครัวเรือนทำเกษตรหลากหลายน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในพื้นที่ที่ทำเกษตรได้ครั้งเดียว ครัวเรือนที่ไม่มีแหล่งน้ำจะทำเกษตรแบบหลากหลายกว่าครัวเรือนที่ใช้น้ำชลประทานถึง 1.6 เท่า ขณะที่กลุ่มที่ทำเกษตรแบบหลากหลายที่สุดยังคงเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงแหล่งน้ำสาธารณะ แต่บรรเทาด้วยการใช้บ่อน้ำ ครัวเรือนกลุ่มนี้จะทำการเกษตรเฉลี่ยสูงถึง 2.5 กิจกรรม ในทางกลับกัน กลุ่มที่มีจำนวนกิจกรรมเกษตรต่ำสุดกลับเป็นครัวเรือนในเขตชลประทาน ซึ่งมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตอย่างมาก โดยในช่วงปี 2538-2544 Ahmad and Isvilanonda (2005) พบว่าการทำเกษตรในเขตชลประทานมีโอกาสทำกิจกรรมเกษตรได้มากกว่าการทำเกษตรนอกเขตชลประทานร้อยละ 37-57 แต่ในปัจจุบัน ครัวเรือนในเขตชลประทานจะทำการเกษตรเชิงเดี่ยวมากกว่าการทำเกษตรแบบหลากหลายไปแล้ว

กรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินทำกิน และอายุของหัวหน้าครัวเรือนและแรงงานเกษตรเป็นสองปัจจัยจากครัวเรือนเองที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเลือกทำเกษตร โดยเกษตรกรไทย 1.5 ล้านครัวเรือนเช่าที่ดินทำการเกษตร และร้อยละ 60 ของกลุ่มนี้ถือครองที่ดินทำการเกษตรส่วนตัวไม่ถึงร้อยละ 20  ทำให้เผชิญกับข้อจำกัดในการทำเกษตรให้หลากหลายมากขึ้นอยู่พอสมควร ทั้งด้านการลงทุนและด้านกรรมสิทธิ์ในการปรับปรุงที่ดิน เช่น การขุดพื้นดินเพื่อทำการเกษตรอื่นๆ นอกเหนือจากลักษณะเดิม ครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนสูงวัยจะไม่ค่อยทำเกษตรหลากหลายมากนัก และการมีแรงงานอายุน้อยในครัวเรือนก็มีผลต่อการลงทุนในพืชที่มีผลตอบแทนสูง

ผลการศึกษานี้ค่อนข้างแตกต่างจากต่างประเทศที่มักพบว่าปัจจัยจากครัวเรือนเกษตรกรเองที่ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถทำเกษตรในรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดได้ เช่น เกษตรกรในประเทศอินเดียคิดว่าสินทรัพย์และเงินทุนเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดต่อการทำเกษตรแบบหลากหลาย หรือที่นอร์เวย์ พบว่าเนื้อที่ทำเกษตรส่งผลต่อการทำเกษตรแบบหลากหลายมากที่สุด

ผลการศึกษาข้างต้นนำไปสู่นัยเชิงนโยบาย โดยผู้กำหนดนโยบายควรจะกำหนดทิศทางการทำเกษตรให้หลากหลายขึ้น ร่วมมือกับทุกภาคส่วนจัดทำเป้าหมายการผลิตสินค้าเกษตรแต่ละชนิดให้สอดคล้องกัน และควรเลิกใช้มาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่บิดเบือนตลาด ซึ่งอาจบิดเบือนแรงจูงใจและหน่วงรั้งเกษตรกรไม่ให้ปรับตัวไปสู่การทำเกษตรที่มีผลตอบแทนสูงขึ้น และผู้กำหนดนโยบายควรเปลี่ยนรูปแบบการช่วยเหลือมามุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรเข้มแข็งขึ้นและพึ่งตนเองได้ จนสามารถเลือกทำการเกษตรที่มีผลิตภาพสูงและได้ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้ในที่สุดโดยการส่งเสริมการใช้ข้อมูล เทคโนโลยีและตลาดที่ยั่งยืน เช่น

(1) การใช้ประโยชน์จากการกระจุกตัวเชิงพื้นที่ของการทำกิจกรรมเกษตร ในการลดต้นทุนและสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น เช่น การสนับสนุนsharing economy ผ่านการส่งเสริมตลาดเช่าซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น (2) การส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการผลผลิต และกระจายออกไปขายในแต่ละช่วงเวลามากขึ้น โดยการจัดทำข้อมูลสินค้าเกษตรแต่ละชนิด ทั้งในด้านอุปทานซึ่งแสดงให้เห็นภาพรวมการเพาะปลูกในเชิงพื้นที่และในภาพรวมแบบ real time และในด้านอุปสงค์ซึ่งแสดงผลการพยากรณ์ความต้องการตลาดและราคาสินค้าในแต่ละช่วงเวลา เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจดังกล่าวของเกษตรกร รวมถึงส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางในพื้นที่ที่ปรับความชื้นได้ ทั้งในระดับครัวเรือน และในระดับชุมชน เช่น กลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจะชะลอการออกสู่ตลาดของผลผลิต โดยเฉพาะข้าว ข้าวเหนียว และข้าวโพด และ (3) การส่งเสริมตลาดประกันภัยพืชผลและตลาดซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าที่ยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรได้มีเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงขนาดใหญ่เกินที่จะจัดการได้ผ่านการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตร

นอกจากนี้ ผู้กำหนดนโยบายควรจะส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสานควบคู่กันไป โดยประยุกต์ใช้แนวทางการทำเกษตรยั่งยืนและการทำทฤษฎีใหม่ให้มากขึ้น และพิจารณาการช่วยลดข้อจำกัดของเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการทำเกษตร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ที่ดินมากขึ้น และเพิ่มการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้เองมากขึ้น และสามารถเลือกทำการเกษตรให้ได้ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้ในที่สุด