ThaiPublica > เกาะกระแส > เศรษฐีใจบุญจีนบริจาคการกุศลปี 2018 กว่า 4 พันล้านเหรียญ ระบุ “การให้” เป็นไลฟ์สไตล์-วัฒนธรรมของชาวจีน

เศรษฐีใจบุญจีนบริจาคการกุศลปี 2018 กว่า 4 พันล้านเหรียญ ระบุ “การให้” เป็นไลฟ์สไตล์-วัฒนธรรมของชาวจีน

13 มิถุนายน 2019


ในปี 2018 ยอดบริจาคเงินเพื่อการกุศลจากเศรษฐีจีนละธุรกิจของจีนรวมสูงถึง 27.63 พันล้านหยวนหรือราว 4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 50% จากปีก่อน และสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

ข้อมูลจาก China Philanthropy Times ระบุว่า ยอดเงินบริจาคมาจากเศรษฐีใจบุญ 274 รายและธุรกิจอีก 744 แห่ง เฉพาะยอดบริจาคจากเศรษฐีรวม 9.53 พันล้านหยวน หรือเฉลี่ย 34.81 ล้านหยวนต่อคน

รายชื่อเศรษฐีใจบุญของจีนได้จัดอยู่ใน China Philanthropy List นับตั้งแต่ปี 2004 โดยเก็บข้อมูลรายบุคคลและธุรกิจที่บริจาคเงิน 1 ล้านหยวนขึ้นไป แหล่งข้อมูลมาจากระบบกิจการพลเรือน ผู้บริจาค องค์กรการกุศล และรายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียน รายงานข่าวของสื่อมวลชนและข้อมูลของ China Philanthropy Times

China Philanthropy Times อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงกิจการพลเรือน และต้องปฎิบัติตามสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งจีน เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการทำการกุศล นับตั้งแต่ก่อตั้งปี 2001 ได้ส่งเสริมแนวคิดการทำการกุศล และมีเป้าหมายต้องการที่จะสนับสนุนการพัฒนาการทำการกุศลในจีนผ่านการสื่อสารและความร่วมมือของสังคม

สำหรับเศรษฐีใจบุญที่บริจากเงินสูงสุด 10 อันดับแรกได้แก่

ยอดเงินบริจาคเพิ่มขึ้น 4 เท่า

รายงาน Asian Venture Philanthropy Network ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์รายงานว่า ภาคการกุศล (Philanthropy)ของจีนขยายตัวขึ้นถึง 4 เท่านับตั้งแต่ปี 2009 เป็น 23.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2017 หรือมีการเติบโต 20% ปีต่อปีและมีกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)จดทะเบียนเพิ่มขึ้น 17% ในช่วงปี 2017-2018 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันการบริจาคของธุรกิจมีสัดส่วนถึง 65% ของการให้โดยรวมในปี 2016 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการกุศลของจีนได้มีพลังที่จะพัฒนาต่อไปได้อีก เพราะไม่เพียงสร้างระบบนิเวศที่ทำให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจที่มีผลต่อจิตสำนึก แต่ยังดึงคนที่มีความสามารถและสร้างความไว้วางใจในภาคสังคมนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคนที่สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงไป

ที่มาภาพ:https://www.rockefellerfoundation.org/blog/chinas-philanthropic-growth-drives-worlds-next-big-impact-powerhouse/

รายงาน AVPN เป็นรายงานที่จัดข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐีที่บริจาคเงิน รูปแบบการกุศลในจีน รวมไปถึงแนวโน้มสำคัญ โอกาสและความท้าทายทั้งของจีนและระดับสากล เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

ในช่วงเดือนเมษายน 2017 ถึงเดือนมีนาคม 2018 ยอดบริจาคจากเศรษฐีใจบุญ 100 รายแรก มีจำนวน 3.3 พันล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 33% จากปีก่อน และการบริจาคเงินส่วนใหญ่ยังอยู่ในการศึกษา การบรรเทาความยากจน สุขอนามัย สวัสดิการสังคมและการบรรเทาภัยพิบัติ

จีนมีเศรษฐีพันล้านจำนวน 891 คน มากที่สุดในโลก และยังเป็นเศรษฐีที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรร มาภิบาล จึงยังมีโอกาสอีกมากของการกุศลในจีน

AVPN ยังคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีเงินราว 500 พันล้านดอลลาร์ไหลเข้าสู่องค์กรการกุศล เนื่องจากโลกมีความมั่งคั่งมากขึ้น โดยเฉพาะความมั่งคั่งของเอเชีย

แม้จีนจะเพิ่งเริ่มเข้ามาอยูู่ในเวทีการกุศลโลก โดยความสนใจที่จะบริจาคเงินเพิ่มขึ้นมากในปี 2008 ที่เกิดแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวน การบริจาคเงินเพื่อการกุศลของจีนจึงมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นหลัก

รายงานพบว่าแม้การทำการกุศลในจีนยังเพิ่งเริ่มต้น แต่ยอดเงินบริจาคเพื่อสังคมก็เพิ่มขึ้น 4 เท่าและยังเป็นการทำการกุศลที่พัฒนารูปแบบใหม่อีกด้วย โดยเดิมทีการบริจาคมักเน้นไปที่การศึกษา การบรรเทาความยากจน และสุขอนามัย แต่การบริจาคเงินแบบใหม่คำนึงถึงองค์กรหรือส่วนงานที่มีงบประมาณน้อย ตัวอย่างเช่น มูลนิธิพัฒนาเยาวชนและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่ต้องการการจัดการเงินยั่งยืนเพื่อให้เกิดผลในวงกว้าง รวมทั้งได้นำเทคโนโลยีซึ่งเป็นจุดแข็งของตัวเองมาใช้เพื่อสร้างรูปแบบใหม่ของการให้

เช่น มูลนิธินาราดา และมูลนิธิอี้ฟาง ที่ใช้เครื่องมือลงทุนเพื่อสังคมรูปแบบใหม่และเน้นไปที่การบริหารงานแบบกิจการเพื่อสังคม ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมจากการโมเดล

บริจาคออนไลน์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่

นอกจากนี้เศรษฐีใจบุญยังใช้เทคโนโลยีนำสมัยและบริการดิจิทัลที่เป็นจุดแข็งของตัวเองมาใช้เพื่อสร้างรูปแบบใหม่ของการให้ มาจุดประกายความสนใจจากสาธารณชนในด้านการกุศล ซึ่งเป็นแนวทางที่สร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือ เป็นการสร้างความไว้วางใจและประสิทธิภาพ

ในปี 2016 จีนได้ผ่านกฎหมายการกุศล ซึ่งมีประสิทธิภาพในการทำให้การกุศลเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและมีการจัดการแบบมืออาชีพ เพราะกฎหมายให้แนวทางสำหรับองค์กรที่จะแสดงสถานะการกุศลอย่างชัดเจน รวมทั้งเพิ่มความโปร่งใสด้วยการกำหนดให้องค์กรการกุศลต้องเปิดเผยข้อมูล

เทนเซนต์ (Tencent) ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ระดมเงินบริจาคออนไลน์รายใหญ่ในจีน ได้ก่อตั้งองค์กรระดมเงินสาธารณะเพื่อยืนยัน ตรวจสอบ และดูแลแพลตฟอร์ม ซึ่งคนทั่วไปสามารถเข้ามาอ่านรายงานประจำปีและรายงานทางการเงินได้ในแพลตฟอร์มออนไลน์

เฉิน อี้ต้าน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเทนเซนต์กล่าวว่า “จีนเข้าสู่ยุคทองของการทำการกุศล ภาวะแวดล้อมในจีนเอื้อต่อการพัฒนาการทำการกุศล เพราะประเทศมีกฎหมายและกติกาที่ชัดเจนและดีขึ้น และการที่คนรุ่นใหม่เข้าร่วมมากขึ้น ทำให้การกุศลในจีนกลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์และวัฒนธรรมในจีน”

เทคโนโลยีที่พัฒนาทำให้การบริจาคเงินเพื่อการกุศลเพิ่มขึ้น เพราะสามารถบริจาคเงินได้ง่ายขึ้น สะดวกมากขึ้น และมีความหลากหลายจากเดิม

บนระบบอาลีเพย์ แพลตฟอร์มชำระเงินออนไลน์ผ่านมือถือ ผู้ใช้สามารถบริจาคเงินการกุศลได้หลากหลาย ทั้งการบริจาคสิ่งของใช้แล้ว การบริจาคเลือด หรือร่วมปลูกป่า ซึ่งที่ผ่านมามีการร่วมกันปลูกต้นไม้ 55 ล้านต้นจากคนราว 400 ล้านคนที่ร่วมกิจกรรมการกุศลออนไลน์ที่อาลีเพย์ริเริ่มขึ้น

ในปี 2016 โครงการการกุศลที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนโครงการแรกได้เริ่มขึ้นด้วย แพลตฟอร์มการกุศลของอาลีเพย์ ทำให้ระดมทุนได้เร็วกว่าเดิม 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม หยาง ฟางฟาง อาจารย์มหาวิทยาลัยเซียะเหมินให้ความเห็นว่า แพลตฟอร์มบริจาคเงินออนไลน์ต้องปรับปรุงระบบตรวจสอบและการจัดการแบบมืออาชีพ เสริมความเข้มแข็งของความร่วมมือกับแพลตฟอร์มด้วยกัน เพื่อป้องกันวิกฤติจากความไว้วางใจจากประชาชน

ที่มาภาพ: https://www.rockefellerfoundation.org/report/philanthropy-in-china/

เรียบเรียงจาก chinadaily,china.org,avpn