ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > เลขายูเอ็นชี้เป้า SDGs 17 ข้อ คืบหน้าน้อย จี้ยกระดับความทุ่มเทอย่างเร่งด่วน หวังบรรลุเป้าหมายปี 2030

เลขายูเอ็นชี้เป้า SDGs 17 ข้อ คืบหน้าน้อย จี้ยกระดับความทุ่มเทอย่างเร่งด่วน หวังบรรลุเป้าหมายปี 2030

18 พฤษภาคม 2019


เลขาธิการองค์การสหประชาชาติเผยแพร่รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามเป้าหมายความยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ประจำปีฉบับพิเศษ ซึ่งได้จำแนกประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนว่า 1) ผู้นำทางการเมือง 2) ความเร่งด่วน และ 3) การยกระดับการดำเนินการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเปลี่ยนโลกไปอยู่ในวิถีที่จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ภายในปี 2030

รายงานพิเศษมีชื่อว่า Special Edition: Progress towards the SDGs: Report of the Secretary-General เป็นฉบับเบื้องต้นก่อนที่จะมีการวิเคราะห์ในเชิงลึกในเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-level Political Forum on Sustainable Development – HLPF) ที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2562 นี้

รายงานของเลขาธิการองค์สหประชาชาติจะมีการเผยแพร่ทุกปีเพื่อให้สมาชิกองค์การสหประชาชาติเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมเวที HLPF ที่จัดโดยคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN Economic and Social Council – COSOC)

ความคืบหน้า 7 เป้าหมาย

รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตาม SDGs ประจำปี 2019 พบว่า มีความคืบหน้าในการดำเนินการตาม SDGs ในบางข้อและเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ใน 4 ปีที่ผ่านมา ดังนี้

เป้าหมายข้อ 1 ขจัดความยากจน พบว่า ความยากจนข้นแค้นลดลงต่อเนื่อง

เป้าหมายข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี พบว่า อัตราการการเสียชีวิตของทารกยังคงลดลง และมีความคืบหน้าในการป้องกันไวรัสตับอักเสบ

เป้าหมายข้อ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ พบว่า มีการจัดสรรงบประมาณที่คำนึงถึงมิติหญิง-ชายเพิ่มขึ้น

เป้าหมายข้อ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ ประเทศที่ยากจนที่สุดมีการเข้าถึงไฟฟ้าได้มากขึ้น และประสิทธิภาพพลังงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เป้าหมายข้อ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่า อัตราการว่างงานได้ลดลงไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนวิกฤติการเงิน ขณะที่ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น

เป้าหมาย ข้อ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน พบว่า สัดส่วนประชากรในเขตเมืองที่อาศัยอยู่ในสลัมลดลง

เป้าหมายข้อ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล พบว่า ผืนน้ำในเขตอำนาจแห่งชาติของรัฐที่จัดว่าเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่านั้บตั้งแต่ปี 2010

หลายเป้าหมายดำเนินการช้า

รายงานฉบับพิเศษนี้ยังแสดงให้เห็นว่า การดำเนินการในอีกหลายเป้าหมายมีความคืบหน้าน้อย ทั้งนี้ ในปี 2030 ได้ตั้งเป้าว่าความยากจนข้นแค้นจะลดลงมาที่ระดับ 6% แต่คาดว่าจะทำไม่ได้เป้า

ขณะที่เป้าหมายข้อ 2 ขจัดความหิวโหย ปรากฏว่ามีความหิวโหยเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 3 และมีเด็กจำนวนหลายล้านประสบกับภาวะโภชนาการต่ำ ได้รับอาหารไม่เพียงพอ

เป้าหมายข้อ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม มีเด็กและเยาวชนจำนวน 262 ล้านคนต้องออกจากโรงเรียนในปี 2017 ขณะที่เด็กและวัยรุ่นมีทักษะด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

เป้าหมายข้อ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล พบว่า มีประชากรหลายพันล้านคนขาดแคลนน้ำสะอาด ขาดระบบสุขาภิบาล และขาดแคลนเครื่องใช้ในการทำความสะอาดมือ อีกทั้งข้อมูลยังบ่งชี้ว่าโลกจะต้องเพิ่มความพยายามผลักดันความคืบหน้าเป็น 2 เท่า เพื่อให้มีการเข้าถึงสุขาภิบาลขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง

เป้าหมายข้อ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้น

เป้าหมายข้อ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล

เป้าหมายข้อ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก พบว่า ความหลากหลายทางชีวภาพหายไปในอัตราที่อันตรายอย่างยิ่ง โดยหนึ่งล้านชนิดพันธุ์กำลังจะสูญพันธุ์ ซึ่งชนิดพันธุ์จำนวนมากจะสูญพันธุ์ในไม่กี่ทศวรรษนี้ ขณะที่การลักลอบค้าสัตว์ป่าและชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุนแรงเกินกว่าความพยายามในการคุ้มครองและฟื้นระบบนิเวศและชนิดพันธุ์จะรับมือได้

ส่วนความคืบหน้าในเป้าหมายข้อ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก ก็มีความแตกต่างกัน โดยประชากรหลายล้านคนขาดความมั่นคงและถูกจำกัดสิทธิ

ในเป้าหมายข้อ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ รายงานพบว่า มีความคืบหน้าช้ามาก และเตือนว่าประเทศที่เปราะบางที่สุดและประชาชนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ความแตกต่างระหว่างเมืองและชนบทยังคงมีอยู่ เช่น อัตราการออกจากโรงเรียนระบบการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมในเขตชนบทยังสูงกว่าในเมือง

รายงานย้ำอีกด้วยว่า ความไม่เท่าเทียมทางเพศยังคงมีอยู่ และเตือนว่าไม่มีทางที่โลกจะประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมาย SDG 17 ข้อ หากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการสร้างความเท่าเทียมทางเพศและเสริมความเข้มแข็งให้กับสตรีและเด็กผู้หญิง

เรียกร้องให้ทุ่มเทมากขึ้น

รายงานยอมรับว่า มีการทุ่มเทในดำเนินการ มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง จากรัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวาระ 2030 อย่างไรก็ตามก็ได้ย้ำว่า โดยรวมแล้วการตอบสนองของทั้งโลกไม่มากพอ

รายงานยอมรับข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการเข้าร่วมติดตามและทบทวนผลในระดับชาติ โดยสมัครใจ (Voluntary National Review – VNR) ที่แสดงให้เห็นถึงการตอบสนองใกล้ระดับสากลและความเป็นเจ้าของประเทศที่เข้มแข็ง รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเป้าหมาย SDGs โดยได้นำไปบรรจุไว้ในแผนและนโยบายของประเทศ รวมทั้งจัดทำข้อตกลงสถาบันเพื่อสนับสนุนการดำเนินการและติดตามความคืบหน้า

นอกจากนี้รายงานยังระบุว่า รัฐบาลระดับภูมิภาค ระดับเมือง ภาคประชาสังคม ประชากรวัยหนุ่มสาว นักวิชาการและภาคเอกชน ได้จำแนกจุดเริ่มต้นในการดำเนินการให้สอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อให้มีความคืบหน้า

ขณะเดียวกัน ระบบพัฒนาของสหประชาชาติกำลังอยู่ระหว่างการปฏิรูปในเชิงลึกมากในรอบหลายสิบปี เพื่อที่จะทำให้สามารถตอบสนองต่อการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในเป้าหมายหลักของวาระ 2030

แม้มีสัญญานบวกในหลายด้านของความคืบหน้า รายงานให้ข้อสังเกตว่า การปรับเปลี่ยนแนวทางพัฒนาซึ่งมีความจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายภายในปี 2030 ยังไม่คืบหน้าเร็วและมากเท่ากับที่กำหนด

รายงานยังได้นำเสนอข้อกังวลหลายข้อที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามเป้าหมาย SDGs ทั้งการติดตามและการทบทวน รวมทั้งเวลาที่มี ข้อมูลที่ไม่รวมศูนย์ทั่วประเทศ เป้าหมายและตัวชี้วัด

สำหรับความท้าทายอื่นที่ระบุไว้ในรายงาน ได้แก่ ความท้าทายด้านความร่วมมือในลักษณะพหุภาคี ความขัดแย้งและความไร้เสถียรภาพที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งมีผลให้ความคืบหน้าชะงักงัน และยังเพิ่มความท้าทายจากภัยพิบัติ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เปราะบาง

รายงานเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกสะท้อนอย่างซื่อสัตย์และตรงไปตรงมาต่อทิศทางของเราขณะนี้ในเดือนกันยายน 2019 และยังย้ำว่า ความมุ่งมั่นที่มากขึ้นและการดำเนินการอย่างเร่งด่วนมีความจำเป็นและสำคัญต่อ SDGs โดยเฉพาะการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ climate change

รายงานเตือนว่า ความล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสด้าน climate change จะมีผลต่อโดยตรงการที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs ข้ออื่นๆ

รายงานส่งเสริมให้ทุกประเทศและพันธมิตรดำเนินการให้มากขึ้นและเร็วขึ้น เพื่อลดช่องว่างของทั้งระบบ พร้อมเสนอแนะแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้

    1) ให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อกลุ่มเปราะบางเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
    2) ทำให้มั่นใจว่ามีเงินทุนเพียงพอและจัดสรรให้ถูกต้องเหมาะสม
    3) เสริมความเข้มแข็งให้กับสถาบัน และทำให้สถาบันมีส่วนร่วมมากขึ้นและมีประสิทธิภาพ
    4) ส่งเสริมการดำเนินการในประเทศเพื่อให้มีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
    5) สร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีความยืดหยุ่น
    6) ปรับปรุงการเก็บข้อมูล การเข้าถึงและการใช้ข้อมูลสำหรับ SDGs
    7) นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้โดยให้เน้นการนำดิจิทัลมาปรับใช้ให้มากขึ้นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

รายงานพิเศษฉบับนี้จัดเตรียมโดยความร่วมมือจากคณะทำงาน UN System Task Team ของ เวที HLPF ซึ่งมีสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN Department of Economic and Social Affairs – DESA) และ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(UN Development Programme – UNDP) ร่วมเป็นประธาน