ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > สายการบินแควนตัสเปิดเที่ยวบินปลอดขยะไฟลต์แรกของโลก – ยกเลิกพลาสติกใช้แล้วทิ้ง 100 ล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2020

สายการบินแควนตัสเปิดเที่ยวบินปลอดขยะไฟลต์แรกของโลก – ยกเลิกพลาสติกใช้แล้วทิ้ง 100 ล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2020

13 พฤษภาคม 2019


ที่มาภาพ: https://www.finder.com.au/qantas-first-zero-waste-flight

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา สายการบินแควนตัสประสบความสำเร็จในการเปิดเที่ยวบินนำร่องปลอดขยะในเส้นทางพาณิชย์

ไฟล์ท QF 739 ซึ่งบินขึ้นจากซิดนีย์ไปสู่แอดิเลด เป็นเที่ยวบินแรกภายใต้โครงการลดขยะที่มีเป้าหมายลดขยะพลาสติกลง 100 ล้านชิ้นทุกปีไปจนถึงสิ้นปี 2020 และกำจัดขยะให้ได้ 75% ภายในสิ้นปี 2021 และเป็นเที่ยวบินแรกของโลกที่ปลอดขยะ

นายแอนดรูว์ เดวิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภายในประเทศของแควนตัสแอร์เวย์กล่าวว่า ในการขนผู้โดยสารจำนวน 50 ล้านคนทุกปี แควนตัสและเจ็ทสตาร์ได้สร้างขยะในปริมาณที่สามารถใส่ไว้ในเครื่องบินโบอิ้ง 747 จัมโบ้เจ็ท แบบเต็มลำได้ถึง 80 ลำ

โดยปกติแล้วไฟล์ท QF 739 จะมีปริมาณขยะราว 34 กิโลกรัม ทำให้ขยะแต่ละปีสูงถึง 150 ตัน แต่ไฟลท์จากซิดนีย์ไปแอดิเลดภายใต้โครงการนี้ไม่มีขยะแม้แต่ชิ้นเดียว ไม่ว่าจะเป็นขยะที่สามารถย่อยสลายได้ หรือขยะที่รีไซเคิลได้และขยะที่นำไปกลับไปใช้ใหม่ได้

พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้งจำนวนราว 1,000 ชิ้นได้ถูกแทนที่ด้วยวัสดุทางเลือกอื่นที่ยั่งยืน เช่น กล่องบรรจุอาหารที่ทำจากชานอ้อย มีดที่ทำจากแป้งที่สกัดได้จากพืช (starch) ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ผลิตบริษัทไบโอแพคในซิดนีย์ รวมทั้งยังยกเลิกแจกครีม vegemite สำหรับทาขนมปังขนาดมินิ (ของโปรดของชาวออสเตรเลีย) และนมสด

ที่มาภาพ: http://wastemanagementreview.com.au/qantas-and-suez-operate-worlds-first-zero-waste-flight/

นอกเหนือจากการตั้งเป้าที่จะยกเลิกการใช้พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้งราว 100 ล้านชิ้นต่อปีไปจนถึงสิ้นปี 2020 แล้ว สายการบินแควนตัสและเจ็ทสตาร์ยังนำแก้วน้ำที่ทำด้วยวัสดุอื่นที่สร้างความยั่งยืนมาใช้แทนแก้วพลาสติกจำนวน 45 ล้านใบ ใช้มีดหั่นอาหารทำด้วยวัสดุอื่นที่สร้างความยั่งยืนแทนมีดพลาสติกจำนวน 30 ล้านเล่ม และใช้แก้วกาแฟทำด้วยวัสดุอื่นที่สร้างความยั่งยืนจำนวน 21 ล้านใบ และใช้ผ้าคลุมเบาะตรงบริเวณศรีษะ (headrest cover) ที่ใช้วัสดุอื่นที่สร้างความยั่งยืนจำนวน 4 ล้านชิ้น

กฎหมายกำหนดให้สายการบินต้องกำจัดขยะบางประเภทอย่างถาวร เช่น อาหารที่ห้ามนำเข้าจากเที่ยวบินระหว่างประเทศ แควนตัสจะทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์และรัฐบาลเพื่อลดปริมาณขยะเหล่านี้

นอกเหนือจากการลดขยะจากอาหารแล้ว ลูกเรือในเที่ยวบินภายใต้ชื่อกรีนทีมจะเก็บบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดกลับไปเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ กลับไปรีไซเคิล และไปผ่านกรรมวิธีย่อยสลาย ตามกระบวนการกำจัดขยะ โดยเฉพาะวัสดุที่ย่อยสลายได้จะนำไปใช้กับสวนหรือฟาร์มทั่วออสเตรเลีย

นายแอนดรูว์กล่าวว่า เที่ยวบิน QF 739 นี้ เป็นการทดลองผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงกระบวนการกำจัดขยะและทดสอบการตอบสนองจากลูกค้า
เที่ยวบิน QF 739 ยังเป็นก้าวแรกของแคมเปญบริษัทในการลดปริมาณขยะ ซึ่งเป็นความริเริ่มของโครงการที่ชื่อว่า Bowerbird Project หลังจากที่นกในออสเตรเลียทำรังด้วยพลาสติกชิ้นเล็กๆ

โครงการ Bowerbird Project มีเป้าหมายที่จะลดขยะทุกประเภทและทุกด้านจากการเดินทาง ซึ่งครอบคลุมการออกบอร์ดดิ้งพาสแบบดิจิทัลให้กับลูกค้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ป้ายติดกระเป๋าหรือสัมภาระที่โหลดใต้เครื่องจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์แทนการติดสติกเกอร์ นอกจากนี้เลาจน์ผู้โดยสารที่สนามบินในประเทศซิดนีย์ก็ยังปรับให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีทิศทางเดียวกับเที่ยวบิน

เที่ยวบินปลอดขยะนี้ยังชดเชยคาร์บอนได้ 100% สายการบินแควนตัสยังบริหารโครงการกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (carbon offset) ที่ใหญ่ที่สุดในวงการสายการบินออสเตรเลีย โดยผู้โดยสารชดเชยคาร์บอนจากเที่ยวบินทุกๆ นาที และนับตั้งแต่กลางปี 2019 นี้ ลูกค้าจะได้รับคะแนนสะสม 10 คะแนนสำหรับเงินทุก 1 ดอลลาร์ออสเตรเลียที่จ่ายไปเพื่อชดเชยคาร์บอนจากการเดินทางในออสเตรเลีย ซึ่งนับว่าเป็นโครงการที่มีมาตรฐานสูงที่สุดในการรับคะแนนสะสมจากโปรแกรมสะสมไมล์ (frequent flyer)

นายแอนดรูว์กล่าวว่า “เราต้องการที่จะมอบบริการให้กับลูกค้าในระดับที่น่าพอใจเหมือนเดิม ในขณะเดียวกันก็ไม่มีขยะทิ้งสักชิ้นเดียว”