พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 อายุ 99 ปี
สำหรับบทบาทและผลงานในด้านเศรษฐกิจที่สำคัญอีกด้านหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือการวางโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะความมั่นคงทางด้านพลังงาน
พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 สมัยในช่วงปี 2523-2531
การบริหารประเทศในห้วงที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะแทบจะมืดทั้งประเทศ ในช่วงปี 2523-2527 เพราะน้ำมันแพงและขาดแคลนน้ำมัน รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ต้องลดค่าเงินบาทถึง 3 ครั้ง
แต่ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ ก็ยังมีแสงสว่างปลายอุโมงค์ ในยุคสมัยพล.อ.เปรมเราจึงได้ยินคำว่า “โชติช่วงชัชวาล” เมื่อมีการค้นพบก๊าซธรรมชาติและสามารถนำก๊าซมาใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้า ทดแทนการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการพึ่งพาพลังงานด้วยตัวเอง
พล.อ.เปรมได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ในสมัยที่2 พล.อ.เปรมได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมตำแหน่งกรรมการ ในคณะกรรมการปตท.ชุดแรก
ต่อมาในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรมได้นั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการปตท.ในช่วงเดือนมีนาคม 2524 -มีนาคม 2526
ในตอนหนึ่งของหนังสือปตท.พล.อ.เปรมได้เคยกล่าวไว้ว่า…“ในช่วงที่ผมเป็นกรรมการชุดแรกของปตท.และมีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นประธานกรรมการนั้น จำได้ว่าภาระหนักของ ปตท.คือการช่วยรัฐแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์น้ำมันขาดแคลน และยังมีราคาสูงมาก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาล แม้ว่าจะเป็นหน้าที่โดยตรงของปตท. แต่ที่ว่าหนักก็เพราะช่วงนั้นปตท.เพิ่มเริ่มก่อตั้ง เพิ่งจะมีผู้ว่าการ ขาดความพร้อมทั้งด้านบุคลากร การเงิน รวมทั้งความชำนาญต่างๆ บริษัทน้ำมันต่างชาติในช่วงนั้นก็ให้การสนับสนุนรัฐไม่ได้เต็มที่ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจที่เขาคงอยากส่งไปในที่ที่ขายได้ราคาสูงกว่า เพราะเรายังใช้นโยบายควบคุมราคาขายปลีกอยู่ ดังนั้นการนำเข้าน้ำมันจึงลดลงกว่าปกติอย่างมาก…
…อย่างไรก็ดี โชคดีที่ตอนนั้นก่อตั้งปตท.แล้ว และสามารถช่วยบรรเทาปัญหาไปได้ โดยพยายามหาน้ำมันส่วนที่ขาดเข้ามาทดแทน เรียกได้ว่าปตท.ทำหน้าที่อย่างน่าชมเชย”
และอีกตอนหนึ่งได้กล่าวว่า…“ผมจำได้ว่าในช่วงที่ผมเป็นประธานกรรมการปตท. เป็นช่วงที่ปตท.กำลังเริ่มวางท่อก๊าซธรรมชาติ และเตรียมการสำหรับโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 …ผมดีใจมากที่โครงการต่างๆสำเร็จด้วยดีตามแผน ทำให้นโยบายของรัฐที่จะนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ทดแทนน้ำมันนำเข้าเป็นไปตามเป้าหมาย… ส่วนตัวผมคิดว่าเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ปตท.ได้ทำหน้าที่เป็นองค์กรของรัฐ ในฐานะบริษัทน้ำมันแห่งชาติอย่างครบถ้วน…”
ต้องไม่ลืมว่าสถานะของประเทศไทยในช่วงบุกเบิกกิจการก๊าซธรรมชาตินั้น รัฐบาลและเศรษฐกิจในภาพรวมยังสะบักสะบอมต่อเนื่องมาจาก “ออยล์ช็อก” ช่วงปี 2522-2524
ในตอนนั้นปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจเพิ่งเริ่มก่อตั้งใหม่ ต้องกู้เงินสำหรับก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ที่มาบตาพุต จ.ระยอง(หน่วยที่1) ด้วยมูลค่าลงทุนสูงถึง 7,360 ล้านบาท แต่ก็สามารถจัดหาเงินกู้ได้สำเร็จ
วันที่ 12 กันยายน 2524 วันที่พล.อ.เปรมเดินทางไปทำพิธีเปิดวาล์วส่งก๊าซธรรมชาติ ณ สถานีส่งก๊าซชายฝั่ง จ.ระยอง ถือเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่พลิกโฉมหน้าประเทศไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งในด้านการพัฒนาพลังงานและการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ
วลีที่เป็นคำจำกัดความอันมีความหมายลึกซึ้งจากพล.อ.เปรมที่ว่า “…นับจากนี้ไปประเทศไทยจะพัฒนาก้าวหน้าและ “โชติช่วงชัชวาล” ซึ่งพล.อ.เปรมได้อธิบายความว่า…“ที่ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่แห่งความ ‘โชติช่วงชัชวาล’ เพราะเป็นการสร้างความหวังใหม่ให้เกิดขึ้นแก่ประเทศไทย… ขณะนั้นไทยประสบปัญหาเรื่องน้ำมันแพงและขาดแคลน รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ต้องลดค่าเงินบาทในระยะต่อมา”
นอกจากนี้…”จุดเปลี่ยนของบทบาทรัฐจริงๆ คือการได้โรงกลั่นบางจากกลับมาดำเนินการ (เดิมบริหารโดยบริษัทซัมมิท อินดัสเตรียล คอร์ปอเรชั่น(ปานามา)มีปัญหาการส่งมอบน้ำมันไม่ตรงเวลา ส่งมอบน้ำมันคุณภาพต่ำกว่าที่ตกลงกัน) โดยฯพณฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้เอาโรงกลั่นบางจากมาดำเนินการ”…จากคำกล่าวของนายศิววงศ์ จังคศิริ (อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และอดีตรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม)
ในเรื่องนี้พล.อ.เปรมได้กล่าวไว้ว่า…“อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากกล่าวถึงคือ การเอาโรงกลั่นบางจาก ซึ่งบริษัทซัมมิทฯเช่าอยู่ คืนก่อนกำหนด เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ผมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ความจริงโรงกลั่นบางจากเป็นของรัฐอยู่แล้ว เพียงแต่ให้บริษัทซัมมิทฯซึ่งเป็นเอกชนเช่าไปโดยมีเงื่อนไขอย่างชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง คือต้องให้การสนับสนุนรัฐในกรณ๊ที่ประชาชนเดือดร้อนมากกว่าโรงกลั่นอื่นๆ แต่เมื่อบริษัทซัมมิทฯไม่ทำตามเงื่อนไข ทำให้กระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างมาก รัฐจึงต้องเอากลับมาทำเสียเองและผมคิดว่าเราเหนื่อยกันมามากกว่าจะเอาคืนมาได้ แต่ขณะนี้คงเห็นแล้วว่าเราได้กระทำในสิ่งที่ถูกต้องและคุ้มกับความเหนื่อยยาก”
นี่เป็นอีกส่วนหนึ่งของพล.อ.เปรมที่มีบทบาทในการวางพื้นฐานความมั่นคงทางด้านพลังงานของไทย