ThaiPublica > เกาะกระแส > “โจโก วิโดโด” ชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซียสมัยที่ 2

“โจโก วิโดโด” ชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซียสมัยที่ 2

21 พฤษภาคม 2019


ที่มาภาพ: https://www. thejakartapost.com/news/2019/05/21/kpu-names-jokowi-winner-of-election.html

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (General Elections Commission หรือ Komisi Pemilihan Umum – KPU) ของประเทศอินโดนีเซีย ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในเช้าวันอังคารหลังเสร็จสิ้นการนับคะแนนการเลือกตั้งทั่วประเทศว่า นายโจโก วิโดโด ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 17 ของประเทศอินโดนีเซีย

ผลการนับคะแนนรอบสุดท้ายปรากฏว่า นายโจโก วิโดโด หรือที่เรียกกันว่า โจโกวี กับนายมารุฟ อามิน ผู้สมัครรองประธานาธิบดี ได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนน 85 ล้านเสียงหรือราว 55.5% ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ขณะที่คู่ชิงสำคัญอดีตนายทหารระดับสูงปราโบโว ซูเบียนโต กับนายซานดิเอกา อูโน ได้คะแนน 68 เสียงหรือ 44.5%

เลขาธิการ KPU อารีฟ บูดิมัน กล่าวว่า ผู้ที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งและต้องการขอดูผลการนับคะแนนสามารถยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ภายใน 3 วันนับตั้งแต่การประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ และหากไม่มีผู้ใดยื่นคำร้องตามกฎหมาย คณะกรรมการ KPU ในวันศุกร์จะประกาศชื่อ นายโจโก วิโดโด และนายมารุฟ อามิน ว่า ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีสำหรับการทำหน้าที่ระหว่างปี 2019-2024

ทางด้านค่ายผู้สมัครอดีตนายทหารระดับสูง ปราโบโว ซูเบียนโต กล่าวว่าจะไม่รับผลการเลือกตั้ง เพราะมีการโกงการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบในวงกว้าง

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ที่ปรึกษาการเลือกตั้ง (Election Supervisory Agency – Bawaslu) ปัดตกรายงานการโกงการเลือกตั้ง โดยระบุว่าฝ่ายนายพลปราโบโวขาดหลักฐานที่เพียงพอ

นายฟาดลี ซอน จากพรรค Gerindra กล่าวว่า ฝั่งนายพลปราโบโว จะไม่นำกรณีขัดแย้งการเลือกตั้งเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีประโยชน์ กลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มคนรักปราโบโว กล่าวว่า จะออกมาประท้วงผลการเลือกตั้งบนท้องถนน ซึ่งทำให้เกิดความวิตกว่าอาจจะความรุนแรงเกิดขึ้นได้

การประกาศผลการเลือกตั้งของ KPU มีขึ้นท่ามกลางการจัดให้มีการรักษาความปลอดภัยทั่วกรุงจาการ์ตาด้วยกำลัง 32,000 นาย

ขณะที่นายพลปราโบโบ ในวัย 67 ปี ยังไม่ยืนยันว่าจะยื่นฟ้องผลการเลือกตั้งต่อศาลหรือไม่ แม้ก่อนการนับคะแนนรอบสุดท้ายได้กล่าวว่า มีการโกงเลือกในวงกว้าง และเตือนว่าอาจจะมีประชาชนออกมาประท้วง

ในปี 2014 นายพลปราโบโวเคยฟ้องศาลมาแล้วหลังแพ้การเลือกตั้งให้กับนายวิโดโด แต่ก็แพ้ในศาล

การลงคะแนนในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้มีการหาเสียงเลือกตั้งด้วยแนวคิดศาสนาเป็นหลัก แต่ผู้สังเกตการณ์อิสระมีความเห็นว่า การหาเสียงค่อนข้างแฟร์และเสรี

นายอาซิส ซูเบะติ จากทีมหาเสียงของนายพลปราโบโว ซึ่งเห็นเหตุการณ์ ยืนยันว่าจะไม่ลงนามรับผลเลือกตั้งและกล่าวว่า จะไม่ยอมแพ้ต่อความไม่ยุติธรรม การโกง การโกหกและการกระทำที่ขัดแย้งต่อความเป็นประชาธิปไตย

หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบและเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อรับมือกับความตึงเครียดที่เกิดขึ้น

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้เข้าประจำการบริเวณหน้าสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง พร้อมปืนฉีดน้ำและล้อมรั้วตาข่าย

ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ตำรวจได้จับกุมผู้ต้องสงสัยการก่อการร้ายที่เชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายไอเอส ซึ่งบางคนมีแผนที่จะวางระเบิดกลุ่มคนที่ออกมาประท้วงในช่วงการประกาศผลเลือกตั้ง ในวันเดียวกัน สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำอินโดนีเซียได้ออกประกาศเตือนนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ ให้หลีกเลี่ยงการเดินขบวนและการรวมกลุ่มทางการเมือง

การหาเสียงของทั้งสองฝ่ายเน้นไปที่เศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานและการคอร์รัปชัน ขณะที่ประเด็นทางศาสนาเป็นประเด็นหลัก แม้อินโดนีเซียไม่มีการประกาศศาสนาประจำชาติอย่างเป็นทางการ แต่สิทธิในการเลือกนับถือทางศาสนาได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยที่ 80% ของประชากรเป็นมุสลิม

กลุ่มมุสลิมอนุรักษนิยม เริ่มมีสิทธิมีเสียงมากขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีทั้งสองรายต่างพากันเน้นไปที่ความเป็นมุสลิมของตัวเอง

ในปี 2016 นายบาซุกิ ทจาฮาจา เปอร์นามา ผู้ว่าการจาการ์ตา หรือรู้จักกันในชื่ออาฮก ซึ่งเป็นลูกครึ่งจีนที่นับถือศาสนาคริสต์ ถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นชาวมุสลิม หลังจากมีการเดินขบวนประท้วงรุนแรง นายอาฮกถูกสั่งจำคุกเป็นเวลา 2 ปี

สำหรับนายโจโก วิโดโด มีวัย 57 ปี ได้รับการรับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 2014 หลังจากมีชัยชนะเหนือนายพลปราโบโว ด้วยบุคคลที่ถ่อมตัวและเน้นการหาเสียงไปที่การเป็นคนของประชาชน

โจโกวีเป็นที่จับจ้องของนานาชาติจากการทำหน้าที่เป็นผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาในปี 2012 ภายใต้การทำหน้าที่ประธานาธิบดีของโจโกวี เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวต่อเนื่อง แต่ทำให้ผู้สนับสนุนกลุ่มหนึ่งผิดหวังเพราะไม่ได้ดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนตามที่ได้หาเสียงไว้ และยังเชิญชวนนักลงทุนจีนจำนวนมากให้เข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหลายฝ่ายในประเทศไม่เห็นด้วย

เรียบเรียงจาก jakartapost, bbc