ThaiPublica > คอลัมน์ > กลยุทธ์เข้าเรียนมหาวิทยาลัย

กลยุทธ์เข้าเรียนมหาวิทยาลัย

7 เมษายน 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://www.prep4collegenow.com/demonstrated-interest-what-is-it-and-why-is-it-important/#iLightbox[gallery6566]/0

การจะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ และการจะวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมนั้นต้องรู้ว่าผู้คัดเลือกเขาทำอย่างไรกัน ผู้เขียนขอเล่าวิธีการหนึ่งในปัจจุบันในการพิจารณารับผู้สมัครเข้าเรียนในต่างประเทศ เรื่องที่เล่าอาจมีแง่คิดสำหรับผู้สมัครและผู้พิจารณารับในบ้านเรา ตลอดจนถึงเรื่องการสมัครงานด้วย

ขอกล่าวถึงมหาวิทยาลัยในต่างประเทศก่อน ปัจจุบันมีผู้สมัครเข้าเรียนในคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมากจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เรื่องที่ยากก็คือจะคัดเลือกหาผู้เหมาะสมได้อย่างไร

หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกโดยปกติก็คือคะแนน Attitude Test (ชื่อบอกว่าเป็นว่าสอบวัดทัศนคติแต่จริง ๆ ก็คือสอบ IQ กลาย ๆ) คะแนนภาษาอังกฤษ ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ ฯลฯ ตลอดจนวิชาเฉพาะ จดหมายรับรองจากผู้เชื่อถือได้ ประวัติชีวิต (การทำงาน การเสียสละให้สังคม ประสบการณ์ชีวิต) คะแนนตอนเรียนชั้นมัธยม หรือขั้นปริญญาตรี (แล้วแต่กรณี) และประการสำคัญการได้แสดงออกว่ามีความสนใจในมหาวิทยาลัยที่สมัครอย่างแท้จริง (demonstrated interest)

กลยุทธ์ที่สำคัญก็คือการเตรียมตัวที่จะมีหลักฐานเอกสารแสดง portfolio ที่งดงามและอยู่บนความจริง (ไม่แตกต่างไปจากชีวิตหรอก อยากได้สิ่งดี ๆ ในชีวิตก็ต้องเตรียมตัวให้ดี มีพื้นฐานการศึกษา และอุปนิสัยที่ดี หลีกหนีสิ่งที่จะทำให้เสียชื่อเสียง พยายามมี personal capital ที่สูง)

ในต่างประเทศ portfolio ที่ดีมิได้หมายความว่าต้องชนะการแข่งขันอะไรต่าง ๆ นานา ร้องเพลงเก่ง เล่นดนตรีเก่ง โกนหนวดสิงห์โตได้ ฯลฯ เสมอไป เขาต้องการคนที่มีหลักฐานของการกระทำสิ่งซึ่งแสดงออกถึงการมี human values (คุณค่าของความเป็นมนุษย์ เช่น การมีจิตใจที่ดี มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบ มีความสุภาพ น้ำใจนักกีฬา ฯลฯ)

คะแนนต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้อย่างไม่มีความลำเอียง ส่วนเรื่องการตัดสินคุณลักษณะที่เป็นบวกของผู้สมัครดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องใช้วิจารณญาณและค้นหาความจริงว่าบรรยายไว้เกินความจริงไปมากน้อยเพียงใด

ผู้คัดเลือกต้องการได้ “คนเก่งและดี” เข้าเรียน ต้องมั่นใจว่าเขาเรียนได้จบ อีกทั้งจะเชิดชูโครงการตลอดจนสร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยในเวลาต่อไป การกลั่นกรองจึงทำอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ดีปัญหาหนึ่งที่ปวดหัวก็คือเมื่อรับเข้าเรียนแล้วจะมาเรียนในโครงการจริงหรือไม่ เพราะ “คนเก่งและดี” นั้นน่าจะสมัครเข้าเรียนหลายมหาวิทยาลัย และน่าจะมีหลายมหาวิทยาลัยที่รับเข้าเรียนด้วย ทุกโครงการต้องการได้สัดส่วนของจำนวนผู้เข้าเรียนจริงกับจำนวนผู้รับเข้าเรียนสูง เพราะเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของชื่อเสียงของโครงการของมหาวิทยาลัย ตัวอย่างเช่นรับ 100 คน แต่มาเรียนจริงเพียง 10 คน ก็ไม่น่าจะเป็นโครงการที่น่าเรียนในสายตาของคนทั่วไป เพราะถ้ามันดีคงไม่มีคนปฏิเสธมากขนาดนั้น

ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยชี้ว่าเมื่อรับเข้าเรียนแล้วจะมาเรียนจริงหรือไม่ก็คือหลักฐานของการแสดงออกของนักศึกษาผู้สมัครว่ามีความสนใจในโครงการนั้น ๆ ของมหาวิทยาลัยนจริงจังมากน้อยเพียงใด ถ้ามีการแสดงออกมาว่าสนใจสูงก็จะช่วยชี้ว่ามีโอกาสสูงที่จะมาเรียนจริง
ในสหรัฐอเมริกาปัจจุบันจึงมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาเพื่อติดตามตัวผู้สมัครว่ามี demonstrated interest ในมหาวิทยาลัยมากน้อยเพียงใด เช่น อ่านเมล์ที่มหาวิทยาลัยส่งไปหรือไม่ ช้าเร็วเพียงใด เข้าดูเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยบ่อยเพียงใด อ่านมากน้อยแค่ไหน และเริ่มเข้าชมเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยครั้งแรกเมื่อกี่ปีมาแล้ว ซอฟต์แวร์ตัวนี้มีชื่อว่า Slate ปัจจุบันใช้อยู่กันกว่า 850 มหาวิทยาลัย

บางมหาวิทยาลัยให้คะแนนรวมสำหรับ demonstrated interest ระหว่าง 1 ถึง 100 โดยรวบรวมมาจากตัวชี้วัด 80 ตัว ซึ่งหลายตัวได้กล่าวถึงแล้ว ตัวอื่น ๆ ก็ได้แก่เปอร์เซ็นต์การเข้าร่วมงานของมหาวิทยาลัยที่เชิญไป บทบาทเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยก่อนที่จะสมัครเข้าเรียน การมีจดหมายขอบคุณหลังจากที่ได้รับเชิญไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยแล้ว ฯลฯ

สำหรับบางมหาวิทยาลัยนั้นใช้เกณฑ์ demonstrated interest เฉพาะกับนักเรียนที่อยู่ในเขตคาบเส้นของการรับว่ากันว่าการเพียงมีจดหมายขอบคุณมหาวิทยาลัยในการเชิญไปชมอาจเป็นตัวตัดสินก็เป็นได้

สำหรับการรับนักศึกษาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทย การรับในรอบแรกที่เรียกว่า TCAS1 (ทั้งหมดมีถึง TCAS5 ซึ่งเป็นการรับรอบท้ายสุดซึ่งเสมือนการรับตามใจชอบของแต่ละมหาวิทยาลัย) นั้นคือการพิจารณา portfolio ว่าตั้งแต่เป็นเด็กจนถึงตอนสมัคร มีประวัติการเรียน การทำกิจกรรมสร้างสรรค์ การชนะรางวัล ฯลฯ เป็นอย่างไร บางคณะของบางมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงก็เข้มงวดที่ขั้นตอน TCAS1 นี้มาก (บางมหาวิทยาลัยก็ปล่อยวางโดยรับกันสนุกสนาน) นักเรียนจำนวนมากที่ตั้งใจเข้าเรียนคณะนั้นอย่างแท้จริง แต่ portfolio ไม่งามเพราะทำไม่เป็น หรือไม่มีเงินทำให้สวยงามก็หมดโอกาส ผู้เขียนเห็นว่า demonstrated interest น่าจะเป็นตัววัดอีกตัวที่น่าสนใจ และสามารถใช้ Slate เป็นตัววัดอย่างละเอียดและเป็นรูปธรรมได้

ผู้เขียนมีประสบการณ์ว่าคนที่อยากเรียนในคณะหนึ่งอย่างมุ่งมั่นตั้งใจจริงแต่แรก มักเรียนได้ดีและไปได้สวยในอนาคตเพราะความมีใจรัก นักเรียนพวกนี้มักอยู่ในกลุ่ม TCAS1 ซึ่ง Slate จะช่วยในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

สำหรับการสมัครงาน การติดตามดูผู้สมัครในการเยี่ยมชมเว็บไซต์ขององค์กรและลักษณะอื่น ๆ อันเป็นหลักฐานทางออนไลน์ของ demonstrated interest ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งในการคัดเลือกคนที่ประสงค์จะเข้าทำงานในองค์กรจริง ๆ

พฤติกรรมของคนนั้นเป็นหลักฐานที่สำคัญกว่าคำพูด อย่ามัวฟังหรืออ่าน vision ของผู้สมัครแต่เพียงสถานเดียว ประวัติของพฤติกรรมในอดีตที่ผ่านมาเป็นเครื่องชี้อนาคตที่แม่นยำกว่ามาก

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 26 ก.พ. 2562