
ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่เอกสารชี้แจงผลการประชุม กกต.วันนี้ ว่า กกต.พิจารณาเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคพึงมี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ,พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 แล้ว โดย กกต.ทั้ง 7 คน มีมติเอกฉันท์ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า “กกต.จะคำนวณหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 128 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งจะมีผลทำให้พรรคการเมืองที่มีจำนวนส.ส.ที่จะพึงมี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน ได้รับการจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 1 คนนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่”
โดย กกต. พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว มีความเห็นแม้การคำนวณหาส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา 91 วรรคที่ 3 ของรัฐธรรมนูญประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.นั้น จะมีหลายพรรคการเมืองที่มีผลการคำนวณจำนวน ส.ส. พึงมีได้เบื้องต้นต่ำกว่า 1 คน สามารถได้รับการจัดสรรส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน และสามารถจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ก็ตาม แต่การคำนวณตามมาตรา 128 (5) ดังกล่าวมีผลขัด หรือ แย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (2) (4) เนื่องจากมีผลทำให้พรรคการเมืองที่มีจำนวนส.ส.พึงมีได้ต่ำกว่า 1 คน สามารถได้รับการจัดสรรให้มี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน จึงอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคมีจำนวน ส.ส. เกินกว่าจำนวน ส.ส. พึงมีได้ ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญตาม 91 (4) แต่หากคำนวณหาจำนวนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 จะไม่สามารถจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน อีกทั้งหากไม่นำจำนวนส.ส.ที่จะพึงได้ต่ำกว่า 1 คน ไปคิดคำนวณต่อ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (5) ก็ไม่สามารถคิดคำนวณจัดสรรได้ครบ 150 คน เช่นกัน จึงไม่มีวิธีการใดที่จะนำมาคิดคำนวณให้มีจำนวนส.ส.ได้ 150 คน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 83 ได้
กกต.จึงเห็นว่าเป็นปัญหาเรื่องของอำนาจหน้าที่ จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (1) (2) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 วรรคที่ 1 และวรรคที่ 2 ว่าเมื่อกกต.จะคำนวณหาจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามวิธีการดังกล่าวแล้ว ไม่มีวิธีใดที่จะทำให้ได้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบ 150 คน ดังนั้นกกต.จะคำนวณตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 วรรคที่ 3 ประกอบมาตรา 128 แห่ง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งการคิดคำนวณดังกล่าว อาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคที่มีจำนวน ส.ส. พึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน กกต.จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาตรา 91 หรือไม่
ด้านนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ได้รับคำร้องจากกกต.แล้วเมื่อช่วงเย็น คาดว่าจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญหลังสงกรานต์
[pdf-embedder url=”https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2019/04/กกต-ศาลรัฐธรรมนูญ.pdf” title=”กกต ศาลรัฐธรรมนูญ”]