จากการที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” เดินหน้าเปิดขายซองประมูลเพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการรายเดียว เข้ารับสิทธิบริหารสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 1-18 เมษายน 2562 โดยไม่รอผลการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ “คณะกรรมการ PPP” ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ใช้บังคับกับโครงการร่วมลงทุนฯ ที่อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เป็นประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนให้ความสนใจ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยเฉพาะในเรื่องการท่องเที่ยวและการเดินทางที่มีผู้มาใช้สนามบินปีละประมาณ 36 ล้านคน ซึ่งอาจจะเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง การดำเนินงานของ ทอท. ดังกล่าว จึงเป็นที่วิพากษ์ว่าถูกต้องตามกระบวนการและขั้นตอนที่ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ฉบับใหม่บัญญัติไว้หรือไม่
“ไทยพับลิก้า”ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังนี้ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 บอร์ด ทอท.มีมติแยกสัมปทานในท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท.ออกเป็น 3 สัญญา คือ สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี (duty free), สัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ (retail, F&B, service และ bank) และสัมปทานจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร (duty free pick-up counter) นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ด ทอท.ยังมีมติเห็นชอบหลักการคัดเลือกผู้รับสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วย
ส่วนสัมปทานจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร บอร์ด ทอท.ยังไม่มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคัดเลือก เพียงแต่มอบนโยบายให้ฝ่ายบริหารของ ทอท.ไปพิจารณา โดยให้เน้นเปิดกว้าง และมีการแข่งเสรี ให้ผู้ประกอบการในเมืองใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร
เปิดขายซองประมูล 19 มี.ค. – ไม่รอคณะกรรมการPPP ออก กม.ลูก
ทั้งนี้หลังจาก พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2562 และมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป วันรุ่งขึ้น 11 มีนาคม 2562 ทางทอท.ออกประกาศ 2 ฉบับ ฉบับแรก เชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบินนานาชาติ ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ, ภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ ทั้งนี้จะคัดเลือกนิติบุคคลไทยเพียงรายเดียวทั้ง 4 สนามบิน และฉบับที่ 2 ประกาศเชิญชวนประมูลสิทธิสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดขายซองวันที่ 19 มีนาคม – 1 เมษายน 2562
ปรากฏว่ามีนักกฎหมายหลายคนตั้งข้อสังเกต กรณี ทอท.เปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบินและพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตามกระบวนการของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่หรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ฉบับใหม่ วรรคที่ 1 ระบุว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการร่วมลงทุนในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะดังต่อไปนี้ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ และใน (3) มีกิจการท่าอากาศยาน การขนส่งทางอากาศรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ ในวรรคสุดท้ายของมาตรา 7 ยังระบุว่า “กิจการตามวรรคที่ 1 ให้รวมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่องจำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี”
ทันทีที่ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ มีผลบังคับใช้ ทอท.ก็ออกประกาศขายซองโดยที่คณะกรรมการ PPP ยังไม่ได้จัดประชุมพิจารณายกร่างประกาศกำหนดเรื่องกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น จึงเกิดประเด็นข้อสงสัยว่าการดำเนินโครงการร่วมลงทุนดังกล่าวอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ หรือไม่ นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะหน่วยงานที่รักษากฎหมายฉบับนี้ ก็ยังวินิจฉัยไม่ได้ว่ากรณีที่ ทอท.เปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ เข้าข่ายปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่หรือไม่ เพราะคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนยังไม่ได้วินิจฉัย
“บิ๊กตู่-อาคม” สั่งทบทวนรูปแบบสัมปทาน – ทำเรื่องหารือคลัง
การดำเนินการของ ทอท.ดังกล่าวนี้ จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งรูปแบบการให้สัมปทานดิวตี้ฟรี รวบ 4 สนามบินให้สัมปทานเพียงรายเดียว และประเด็นข้อกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจนว่าโครงการดังกล่าวอยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ หรือไม่
ช่วงเช้าของวันที่ 15 มีนาคม 2562 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกแถลงข่าว ขอให้ ทอท.ทบทวนรูปแบบการให้สัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน เนื่องจากมีข้อท้วงติงจากสังคมในเรื่องการผูกขาด
ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข่าว ขอให้ ทอท.ชะลอการประมูลโครงการดังกล่าวออกไปก่อน โดยให้ ทอท.ทำหนังสือถามกระทรวงการคลังว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ รวมทั้งทบทวนรูปแบบการให้สัมปทานอีกครั้ง ทั้งนี้ ให้ ทอท.คำนึงถึงความเหมาะสม โปร่งใส มีการแข่งขันที่เป็นธรรม เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด และสามารถชี้แจงเหตุผลต่อสาธารณชนได้

“นิตินัย” ยันไม่ใช่การผูกขาด
วันที่ 18 มีนาคม 2562 นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ว่า รูปแบบการให้สัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบินแก่ผู้ประกอบการรายเดียว ยืนยันไม่ใช่การผูกขาด แต่เป็นการคัดเลือกผู้ที่แข็งแรงที่สุดไปแข่งในเวทีโลก พร้อมกับชี้แจงเหตุผลที่ ทอท.ไม่เลือกรูปแบบการให้สัมปทานแยกตามหมวดหมู่สินค้า (category) เนื่องจากท่าอากาศยานมี contact gate หรือ “งวงช้าง” ที่ผู้โดยสารใช้เดินผ่านเข้า-ออกจากสนามบิน (flow ของผู้โดยสาร) มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เกรงว่าจะกระทบกับยอดขายของผู้รับสัมปทานในกรณีมีการเปลี่ยนแปลง contact gate ที่อาจไม่มีผู้โดยสารเดินผ่านพื้นที่บริเวณนั้น
AOT เลื่อนขายซองประมูล
ส่วนประเด็นข้อกฎหมาย นายนิตินัยเข้าใจว่าการเปิดประมูลโครงการดังกล่าวไม่น่าเข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่ โดยเฉพาะวรรคสุดท้ายของมาตรา 7 ที่ระบุ “ให้รวมถึงกิจกรรมเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการดังกล่าว” ประเด็นนี้ต้องพิจารณาว่าถ้าตัดกิจกรรมบางอย่างออกไปแล้วยังบรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินการท่าอากาศยานได้ กรณีนี้ก็ไม่ควรถือเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นตามที่กฎหมายได้บัญญัติ หลังจากที่นายนิตินัยชี้แจงเหตุผลของ ทอท.ในการตัดสินใจเลือกรูปแบบการให้สัมปทานและประเด็นข้อกฎหมายทั้งหมดแล้ว นายนิตินัยได้ประกาศเลื่อนการขายซองประมูลในวันที่ 19 มีนาคม 2562 ออกไปก่อน ระหว่างนี้จะรอฟังเหตุผลของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย หากไม่สามารถหาเหตุผลมาหักล้างได้ ทอท.จะเดินหน้าเปิดประมูลต่อไป

ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย
“วรวุฒิ” กางผังสนามบินชั้นนำในเอเชียโต้ประตูเข้า-ออกเปลี่ยน ไม่กระทบยอดขาย
วันที่ 20 มีนาคม 2562 นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยการนำแผนผังร้านค้าปลอดอากรในสนามบินชั้นนำของเอเชีย 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินชางฮี ประเทศสิงค์โปร์, สนามบินอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ และสนามบินเช็กแล็บก็อกของฮ่องกง อธิบายการจัดวางร้านค้าปลอดอากรในสนามบินชั้นนำของเอเชีย ซึ่งมีผู้รับสัมปทานดิวตี้ฟรีหลายราย แยกตามหมวดหมู่สินค้า กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ควบคุมขาออก หลังจากที่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจะมีร้านค้าปลอดอากร ทั้งตรงกลาง ปีกซ้าย และปีกขวา ไม่ว่าการจราจรทางอากาศ หรือ contact gate จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นายวรวุฒิมั่นใจว่าไม่มีผลกระทบต่อผู้รับสัมปทาน
แนะ ทอท.หารือ “กฤษฎีกา-สคร.-คณะกรรมการ PPP” ชี้ขาด
ส่วนประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่า โครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบิน อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่หรือไม่นั้น นายวรวุฒิกล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่การตีความมาตรา 7 วรรคสุดท้าย ซึ่งกำหนดให้นับรวมกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการท่าอากาศยานด้วย ซึ่ง ทอท.ไม่ควรตีความเอง แต่ควรจะมอบให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เป็นผู้วินิจฉัย เท่าที่ตนได้สอบถามนักกฎหมายหลายคน บอกว่าให้ไปดูนิยามของคำว่า “กิจการท่าอากาศยาน” ในพระราชกฤษฎีกา กำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2545 มาตรา 3 ได้ให้นิยามคำว่า “กิจการท่าอากาศยาน” หมายถึง “กิจการจัดตั้งสนามบิน หรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของท่าอากาศยาน การจัดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ การให้บริการลานจอดอากาศยาน การให้บริการช่างอากาศ และการใช้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวกับอากาศยาน ผู้ประจำหน้าที่ สินค้าพัสดุภัณฑ์ ผู้โดยสาร และลูกจ้างของผู้ประกอบธุรกิจในการเดินอากาศ รวมตลอดถึงการให้บริการ หรือสิ่งอำนวยความสะดวก อันเกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับกิจการดังกล่าว” และในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 777/2548 ก็เคยวินิจฉัยว่า “ลานจอดรถในท่าอากาศยาน ถือเป็นส่วนหนึ่งของท่าอากาศยาน” ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จึงขอเสนอให้ ทอท.ควรทำหนังสือไปสอบถามหน่วยงานที่มีอำนาจในการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมาย เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงานคณะกรรมนโยบายรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการ PPP เป็นต้น

ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/
นายกฯ เปิดประชุมบอร์ด PPP นัด ตั้งอัยการสูงสุดเคลียร์ปม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
สัปดาห์ถัดมาพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ครั้งที่ 1/2562 วันที่ 29 มีนาคม 2562 พิจารณาโครงการร่วมลงทุนของกระทรวงคมนาคม ทั้งระบบขนส่งทางบก ทางเรือ และอากาศ โดยคณะกรรมการ PPP มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายที่มีอัยการสูงสุดเป็นประธาน เร่งยกร่างประกาศ คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่องกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น พ.ศ. …. เพื่อเสนอคณะกรรมการ PPP ส่งให้ ครม.ผ่านความเห็นชอบ ตามที่ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มาตรา 7 วรรคสุดท้ายได้บัญญัติไว้
ทอท.ไม่รอประกาศคณะ ก.ก. PPP – เดินหน้าขายซอง 1 เม.ย.
วันเดียวกันนั้น “ทอท.” ได้ออกประกาศ 2 ฉบับ เชิญชวนเอกชนเข้ามาประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีและสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามมติบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 เปิดขายซองในวันที่ 1-18 เมษายน 2562 โดยที่ไม่รอคณะกรรมการ PPP เสนอ ครม.ออกประกาศกำหนดเรื่องกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น
“สมคิด” คาดอนุกรรมการ PPP เคลียร์ประเด็นกฎหมายจบใน 14 วัน
ด้านดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายที่มีอัยการสูงสุดเป็นประธาน กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาสัมปทานดิวตี้ฟรีเข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่ คาดว่าจะพิจารณาเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งของการทำงานสามารถทำคู่ขนานไปกับการเปิดขายซองประมูลได้ หากคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายวินิจฉัยว่าเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น ก็ต้องกลับมาปฏิบัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ แต่ถ้าไม่เข้าข่ายกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น ทอท.ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ทันที
ขณะที่ “ประภาศ คงเอียด” ผู้อำนายการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะผู้รักษากฎหมายร่วมลงทุนฯฉบับนี้ กล่าวกับไทยพับลิก้า โดยกล่าวย้ำว่า “การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ เป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการเท่านั้น ในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย, อดีตหัวหน้าคณะผู้พิพากษา ศาลภาษีอากรกลางและศาลอาญา ไม่ใช่ความเห็น หรือ คำวินิจฉัย ของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย หรือ คณะกรรมการ PPP แต่ประการใด” (อ่านรายละเอียดข่าวประกอบ)
กาง TOR ดิวตี้ฟรี ให้คะแนนด้านเทคนิค 80% เสนอผลตอบแทน 20%
ส่วนนายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย โพสต์ข้อความบน “เฟซบุ๊ก” ส่วนตัว เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 ว่า “สิ่งที่ผมกังวล ก็เป็นจริง..TOR ดิวตี้ฟรี ใช้เกณฑ์ประเมินแบบนี้จนได้ โดยให้น้ำหนักคะแนนด้านเทคนิค 80% คะแนนด้านผลตอบแทนประเทศ 20% เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เข้าประมูลที่ให้ผลตอบแทนประเทศชาติสูงๆ ก็จะแพ้ผู้เข้าประมูลที่ให้ผลตอบแทนต่ำๆ ตัวอย่างเช่น แม้จะมีผู้เข้าประมูลที่อยากจะให้ผลตอบแทนประเทศชาติ 40%ของยอดขาย ก็จะแพ้ผู้เข้าประมูลที่ให้ผลตอบแทนประเทศแค่ 20% ได้ง่ายๆ เพราะคะแนนด้านผลตอบแทนที่ให้กับประเทศชาติ มีน้ำหนักแค่ 20% ในการพิจารณาเท่านั้น ประเทศชาติจะต้องสูญเสียประโยชน์ปีหนึ่งหลายหมื่นล้าน ตลอดอายุสัมปทาน 10 ปี คิดเป็นเงินนับแสนล้าน..TOR ลักษณะนี้ ง่ายต่อการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เข้าประมูลบางรายอย่างชัดเจน”
นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ปฏิบัติการเร่งรัดเปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ สนามบินสุวรรณภูมิ โดยไม่รอคณะกรรมการ PPP ประกาศกำหนด กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น พ.ศ. … เป็นประเด็นที่จะต้องติดตามกันต่อไปว่าโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้และดิวตี้ฟรีเป็นธุรกิจที่สร้างแรงจูงใจนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้เข้าประเทศ จะเข้าข่ายกิจการเกี่ยวเนื่องจำเป็นหรือไม่