ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “นพปฎล เดชอุดม” เป้าหมายความยั่งยืนเครือซีพีกรุ๊ป ( 1) : “รับมือ – สะสาง – เลิกแก้ตัว” ลงมือแก้ปัญหาวิกฤติความเชื่อมั่น

“นพปฎล เดชอุดม” เป้าหมายความยั่งยืนเครือซีพีกรุ๊ป ( 1) : “รับมือ – สะสาง – เลิกแก้ตัว” ลงมือแก้ปัญหาวิกฤติความเชื่อมั่น

2 เมษายน 2019


นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนในองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)

การประกาศเจตนารมย์ของ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2563 ของเครือซีพี หรือ “CP Group Sustainability Goals 2020” ว่า “เป้าหมายนี้จะทำให้เครือซีพีอยู่ในระดับโลก (worldclass) ด้านความยั่งยืนภายในปี 2563 โดยเราวางไว้ว่าภายใต้โรดแมป 10 ปีจากนี้เราอยากให้เครืออยู่ใน TOP10-TOP20 ด้านความยั่งยืนของโลก”

การประกาศในครั้งนั้นใช้จังหวะก้าว หลังจากบริษัทธุรกิจหลักและเครือซีพีได้รับการยอมรับจาก 4 สถาบันจาก 3 ทวีป เช่น การได้เป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices, การเป็นสมาชิกความยั่งยืน FTSE4Good Emerging Index การได้รับการประเมินที่ดีจากสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ World Business Council on Sustainable Development (WBCSD) และการได้ CG 5 ดาวจากโครงการ CGR2560 ของสถาบันกรรมการบริษัทไทย

  • “ศุภชัย เจียรวนนท์” ปักธงพาเครือซีพีขึ้น TOP 10 บริษัทที่ยั่งยืนที่สุดในโลก
  • ประกาศผล DJSI 2018 บริษัทไทยท็อปฟอร์มขึ้นที่ 1 “บริษัทยั่งยืน” ของโลก ใน 6 อุตสาหกรรม
  • ถัดจากนั้น ปี 2561 บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ 3 ราย ประกอบด้วยบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ บริษัทซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indice ดัชนีวัดความยั่งยืนระดับโลก โดยซีพีเอฟซึ่งเป็นบริษัทหลักในกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารได้รับเลือกประเภทตลาดเกิดใหม่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ส่วนซีพีออลล์ซึ่งเป็นบริษัทหลักในกลุ่มการตลาดและการจัดจำหน่าย ได้รับเลือกประเภทตลาดเกิดใหม่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และได้รับการคัดเลือกในกลุ่ม World Index เป็นปีแรก ขณะที่ทรู บริษัทหลักในกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม ได้รับเลือกประเภทตลาดเกิดใหม่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

    นั่นเป็นจุดตั้งต้น เพื่อเริ่มก้าวที่ยั่งยืนแท้จริง

    ประกาศ “รับมือ-สะสาง” วิกฤติความเชื่อมั่น

    นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวกับไทยพับลิก้า ถึงความคืบหน้าของการขับเคลื่อนความยั่งยืนของเครือซีพีว่า ” เครือซีพีตั้งสำนักงานความยั่งยืนขึ้นเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเครือซีพีเป็นหนึ่งในบริษัทที่ประสบวิฤติความเชื่อมั่น เรื่องแรกที่ตูมขึ้นมาคือเรื่องปลาป่น การค้าแรงงานทาส และการเผาทำลายป่าเพื่อปลูกข้าวโพด พูดง่ายๆตั้งแต่ภูเขายันทะเล และยังมีเรื่องธรรมาภิบาลของเครือที่ต้องดูแล ตอนนั้นท่านประธานธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ท่านจัดตั้งเรื่องสำนักงานความยั่งยืนขึ้นมา เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล”

    “บริษัทเราอยู่มาถึงปีนี้ก็ 98 ปี โฟกัสในการทำธุรกิจตามแนวความคิดพื้นฐานเรียกว่า 3 ประโยชน์ ที่พนักงานและผู้บริหารทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะต้นกำเนิดของเครือซีพีมาจากคุณพ่อของท่านประธานธนินท์ ท่านอพยพมาจากเมืองจีน มาตั้งร้านเมล็ดพันธุ์ผักที่ทรงวาด ท่านก็สอนลูกสอนหลานว่าต้องทำประโยชน์ให้ประเทศไทย แม้จะมาจากเมืองจีน รวมทั้งทำประโยชน์ให้คนไทยและบริษัท เรื่องที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ ท่านเป็นคนนำเรื่องของวันหมดอายุมาใช้เมื่อสมัยประมาณ 100 ปีที่แล้ว เขียนด้วยมืออยู่บนซอง วันที่บรรจุซอง เพื่อจะให้ชาวนาชาวไร่ที่มาซื้อได้รู้ว่าเมล็ดพันธุ์สดแค่ไหน แล้วก็รับเปลี่ยนคืนด้วย สมัยนั้นยังไม่มีใครทำ แต่ยุคนั้นเป็นยุคที่เขียนวันหมดอายุอยู่บนซอง เริ่มมาจากตรงนั้น” นายนพปฎลกล่าว

    แนวคิดการขับเคลื่อนความยั่งยืนของเครือซีพีมาจาก ปรัชญา 3 ประโยชน์ อันประกอบด้วย ประเทศ สังคม และองค์กร ที่ปฏิบัติต่อเนื่องมาเกือบ 100 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท รวมทั้งการยึดหลักการรักษาสมดุลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้สามารถขยายไปประเทศอื่นได้ ขณะที่บริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่ เวลาเขาจะไปทำประโยชน์ในประเทศใหม่ เมื่อมีผลประโยชน์เกิดขึ้นก็จะส่งกลับบริษัทแม่ ส่งกลับประเทศตัวเอง แต่ของเครือซีพีจะไม่ใช่อย่างนั้น ไปอยู่ประเทศไหน ก็เป็นบริษัทประเทศนั้น

    “ผมยกตัวอย่างที่เวียดนาม สมัยก่อนคุณสุขสันต์ (เจียมใจสว่างฤกษ์) เป็นซีอีโอซีพีอยู่ที่เวียดนาม ท่านอยู่ที่นั่น 10 ปี ท่านเป็นคนที่ตื่นเช้าขึ้นมาต้องมายืนร้องเพลงและชักธงชาติไทยกับธงเวียดนาม ยืนเคารพ เปิดเพลงชาติเวียดนาม แล้วคนทั้งเวียดนามเขาก็ trust เราว่ามาอยู่ประเทศเขาไม่ใช่ไปกอบโกย แต่ไปทำประโยชน์ให้กับประเทศเขา เพราะฉะนั้นจะสังเกตได้ว่าเครือซีพีจะมี unique point คือ ส่วนใหญ่ประเทศที่เราไป รัฐบาลเขาเชิญให้ไป ถามว่าทำไมรัฐบาลเขาเชิญให้ไป เพราะพิสูจน์แล้วว่าเราไปประเทศไหน เราก็เป็น corporate citizen ของประเทศนั้น” นายนพปฎลกล่าว

    “ที่ผมต้องพูดเรื่องนี้เยอะก็เพราะว่า สิ่งนี้เป็น foundation จากการขยายเมล็ดพันธุ์ผักที่อยู่ห้องแถวหนึ่งห้อง จนวันนี้เรามีฐานการผลิตอยู่ 20 ประเทศทั่วโลก อยู่ครบเกือบทุกทวีป ยกเว้นขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ และส่งผลิตภัณฑ์ไปขายกว่า 120 ประเทศทั่วโลกได้ เพราะว่าเริ่มมาจาก 3 ประโยชน์ ที่ท่านประธานเน้นย้ำทุกครั้งที่เจอผู้บริหาร พนักงาน” นายนพปฎลกล่าว

    นายนพปฎลกล่าวว่า การดำเนินในสิ่งต่างๆ ของเครือซีพี และก่อนการตัดสินใจ ต้องวัดก่อนว่า สิ่งที่จะทำนั้น 1. มีประโยชน์กับประเทศนั้นไหม 2. มีประโยชน์กับประชาชนในประเทศนั้นไหม และ 3. มีประโยชน์กับองค์กรไหม ถ้าดีทั้ง 3 ด้าน ก็ทำเลย แต่หากดีเพียงด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ดีต่อองค์กร แต่ไม่ดีกับประเทศ ก็จะไม่ทำ เพราะจะทำให้เครือซีพีเสียหลักการ ตรงนี้จึงเป็นปรัชญาเริ่มมานานแล้ว และทำให้สามารถขยายไปยังนานาประเทศที่ยินดีต้อนรับ

    วิกฤติปลาป่นสู่นวัตกรรม “พัฒนาอาหารกุ้งจากโปรตีนพืช”

    แน่นอนว่าการทำธุรกิจถูกสอนคือการสร้างมูลค่าให้ผู้ถือหุ้น สมัยที่เรียนไม่มีวิชาความยั่งยืน ทางเราดำเนินธุรกิจโดยดูเรื่อง 3 ประโยชน์มาตลอด มาถึงจุดที่เรามีปัญหา อย่างปัญหาเรื่องการค้าแรงงานทาส การจับปลาที่ผิดกฏระเบียบติดลูกปลามาด้วย ด้วยเครือซีพีไม่ได้ทำธุรกิจประมง มาหาว่าเราไปเกี่ยวกับธุรกิจประมง แต่เราเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อปลาป่น

    พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า ปลาป่นสมัยก่อนคือขยะของปลา เมื่อเรือประมงแยกปลาขนาดใหญ่ไปขายแล้ว แต่ขยะที่เหลือหรือปลาเล็กปลาน้อย ขายไม่ได้ก็นำไปป่น เครือซีพีซื้อมาเพื่อผลิตเป็นอาหารกุ้ง เพราะปลาป่นเป็นโปรตีนสำคัญสำหรับกุ้ง และยอมรับว่าเครือซีพีเป็นลูกค้ารายใหญ่ ซื้อจากหลายโรงงานในประเทศไทย

    แต่หลังปี 2000 เรื่องความยั่งยืน เขาให้เรารับผิดชอบทั้ง supply chain ทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ แต่ช่วงแรกเครือซีพียังไม่เข้าใจนัก เพราะมองว่าปัญหาบางด้าน เช่น การค้าทาส บริษัทใดบริษัทหนึ่งไม่สามารถผลักดันได้ เพราะการค้าทาส ค้าแรงงาน ต้องใช้กำลังจากภาครัฐในการจัดการ

    เครือซีพีได้เข้าไปสืบสวนสอบสวนก็พบว่ามีปัญหาอยู่จริง ประกอบกับช่วงนั้น ประเทศไทยก็โดนใบเหลืองเรื่องการประมงผิดกฎหมายที่ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) จึงได้เริ่มเข้าไปศึกษา เนื่องจากไม่ได้อยู่ในธุรกิจนั้นเลย และไม่รู้เรื่องมาก่อน แต่พยายามที่จะแก้ โดยเริ่มจากการประมวลว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นใครบ้าง มีหน่วยงานใดที่รับผิดชอบอยู่ มีองค์กร NGO ไหนที่รู้เรื่องนี้ รวมทั้งได้เข้าไปพบภาครัฐด้วยให้ช่วยเป็นกำลังเสริม ซึ่งภาครัฐตอนนั้นก็ขยับที่จะทำอย่างจริงจัง เพราะหากไม่ทำจะมีปัญหากันทั้งประเทศ จนในที่สุดก็สามารถผลักดันให้มีการแก้ไขและยกระดับขึ้นมาได้

    นายนพปฎลเล่าว่า …Necessity is the mother of invention ความจำเป็นคือแม่ของการคิดค้นประดิษฐ์ของใหม่

    ในช่วงแรกเครือซีพีได้ทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ แต่ยังไม่มีผลใดๆ เกิดขึ้น จึงหาทางออกไว้ 2 ทาง คือ

    หนึ่ง หาแหล่งโปรตีนใหม่ให้กับกุ้ง เนื่องจากอุตสาหกรรมปลาป่นได้เปลี่ยนไป จากเดิมที่ใช้ขยะปลาหรือปลาเล็กปลาน้อย มาเป็นการจับปลาเล็กเพื่อผลิตปลาป่นโดยตรง ซึ่งในวงการเรียกกันว่า by catch มีเรือออกไปจับปลาเล็ก ตั้งใจไปจับปลาเล็ก เครือซีพีจึงปรับไม่ซื้อปลาป่นที่ผลิตจาก by catch รวมทั้งปลาป่นที่ผลิตจากเศษปลา หรือที่เรียกว่า by product ที่เหลือจากการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ที่ใช้เฉพาะตัว แต่ หัว หรือครีบ ไม่ได้ใช้ในการผลิต

    “ช่วงที่ปรับธุรกิจ เรายากลำบากมาก เพราะประเทศไทยไม่มีองค์กรไหนยอมรับรองปลาป่นให้เลยว่าต้องเป็นแรงงานถูกต้อง เป็นปลาที่ถูกต้อง by product ไม่ใช่ by catch เครือซีพีจึงไปหาองค์กร “IFFO RS Standard” เพื่อหาข้อมูลว่า มีแหล่งใดบ้างที่จะซื้อปลาป่นที่ผลิตอย่างถูกต้อง ก็พบว่ามีที่เวียดนาม เครือซีพีจึงนำเข้าจากเวียดนาม ยอมเสียภาษีทุกอย่างแพงหมดเลย ยอมมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แม้คุณภาพก็ด้อยว่าการใช้ปลาเล็ก แต่เครือซีพีก็นำมาแปรรูป” นายนพปฎลกล่าว

    แนวทางที่สอง ได้มอบหมายให้นักวิทยาศาสตร์คิดค้นโปรตีนจากถั่วเหลือง แล้วนำมาผสมกัน ทำเป็นอาหารกุ้งใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จหลังจากใช้เวลานานเป็นปี ทดลองใช้เลี้ยงกุ้ง เพื่อให้ได้น้ำหนัก การเจริญเติบโตไม่ต่ำกว่าการใช้อาหารกุ้งที่ทำจากปลาป่นโดยตรง จากนั้นจึงนำอาหารกุ้งที่ผลิตจากถั่วเหลืองไปขายทั้งหมดทดแทนอาหารกุ้งที่ผลิตจากปลาป่นและหยุดซื้อปลาป่นในประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง แต่ซื้อจากแหล่งที่มีการรับรองคือ เรือถูกต้อง ขนาดแหถูกต้อง มีการตรวจสอบตั้งแต่เรือมาเทียบท่าว่าจับอะไรมาได้บ้าง ซึ่งทำให้เครือซีพีสามารถที่จะแก้ปัญหาและดำเนินการตามแนวทางความยั่งยืนได้ทั้ง chain

    นายนพปฎลกล่าวว่า “ผมอยากจะแชร์ว่ามันไม่ง่ายอย่างที่คิด อาหารกุ้งที่ผลิตจากถั่วเหลืองของเครือซีพีขายไม่ออก เราก็แปลกใจมากทั้งที่ใช้ชื่อแบรนด์เดิม เนื่องจากเป็นอาหารกุ้งที่ไม่กลิ่น ต่างจากอาหารกุ้งเดิม ที่ผลิตโดยใช้ปลาป่นที่กลิ่นแรงมาก คนเลี้ยงกุ้งรู้ว่ามีการเปลี่ยนสูตร อาหารกุ้งไม่มีกลิ่น จึงไม่ซื้อ บอกว่ากุ้งไม่กิน ธรรมชาติของกุ้งถือว่าเป็น bottom feeder กินขยะ กินซากศพของปลาและอาหารที่เน่าแล้ว ส่งผลให้การขายอาหารกุ้งของเครือซีพีตกลง ขณะที่ผู้ผลิตอาหารกุ้งรายอื่นยังซื้อปลาป่นเมืองไทย ปลาป่นในไทยไม่ได้ลดลง ยังเหมือนเดิมในช่วงนั้น ธุรกิจของเครือซีพีจึงปั่นป่วน”

    พร้อมเล่าต่อว่า“การปรับเปลี่ยนพวกนี้ ตอนนั้นก็ถูกบีบหลายๆ ส่วน ยอดขายก็ตก คนก็ไม่ยอมซื้อ ต้องออกไปให้ความรู้ว่า สินค้าตัวนี้ดีกว่าอย่างไร คือ เริ่มนำเรื่องความยั่งยืนไปให้เขาคิด ว่าประมงไทยจะเดือดร้อนกันหมด ถ้าจับลูกปลามาทำปลาป่นหมด จะเหลืออะไรให้จับ โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านเดือดร้อนกันมาก ซึ่งเราใช้เวลาประมาณ 6 เดือนกว่ายอดขายจะเริ่มกลับมา pick up แต่ยอดขายก็ตกไปเยอะมาก เป็นเรื่องของความเชื่อ ลบยาก ใช้เวลานาน แต่ตอนนี้ผมแฮปปี้แล้ว เพราะทุกคนก็มีความเชื่อว่ากินแบบนี้ก็เหมือนเดิม กุ้งน้ำหนักก็ได้ อะไรก็ได้ เนื้อก็ยังอร่อย คุณภาพไม่ได้ต่างกัน ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม แล้วเราก็ใช้แหล่งที่ certify แล้วนักวิทยาศาสตร์เราก็เก่งขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถใช้โปรตีนทดแทนได้เกือบทั้งหมด อีกหน่อยใช้โปรตีนจากพืชได้ แต่ต้องไปทำหลายขั้นตอน” นายนพปฎลกล่าว

    อเมริกาชวนทำฟาร์มกุ้ง – จับมือ Seafood Task Force ทำประมงยั่งยืน

    นายนพปฎลกล่าวว่า เชื่อว่าเครือซีพีเป็นรายแรกของโลกที่พัฒนาอาหารกุ้งจากโปรตีนพืช เพราะนักวิทยาศาสตร์ของเครือซีพีคิดขึ้นเอง และประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง จนรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของอเมริกา นายวิลเบอร์ รอสส์ ที่มาประชุมกับรัฐบาลไทย ได้มาพบกับนายศุภชัย (เจียรวนนท์) เพื่อชวนไปทำฟาร์มกุ้งที่สหรัฐอเมริกา

    “อเมริกานำเข้ากุ้งมากที่สุดในโลก เป็นตลาดใหญ่ แต่ที่อเมริกาไม่มีฟาร์มกุ้งเลย เนื่องจากเดิมคำนึงสิ่งแวดล้อม จึงไม่ได้สนับสนุนการทำฟาร์มกุ้ง แม้จะมีพื้นที่เหมาะสมในแถบนิวออร์ลีนส์ ลุยเซียนา ฟลอริดา รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของอเมริกาบอกว่ามีข้อมูลว่า เครือซีพีมีเทคโนโลยีครบถ้วนทุกอย่าง แล้วเป็นฟาร์มระบบปิด เพราะฉะนั้นไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม แล้วสามารถบริหารเรื่องต้นทุนได้ดี เพราะใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการ ซึ่งเครือซีพีตอบรับคำเชิญ โดยขณะนี้เริ่มช่วยอเมริกาพัฒนาเพราะต้องปรับหลายอย่าง น้ำไม่เหมือนกัน นี่จึงเป็นโอกาสที่มาจากวิกฤติ ช่วงที่เครือซีพีไปอเมริกา ได้รับการยกย่องจากมหาวิทยาลัย”

    นายนพปฎลกล่าวต่อว่า เครือซีพีเป็นผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ที่สุดในโลก เพราะฉะนั้นเป็นโอกาสในปัจจุบัน แต่เครือซีพีไม่ได้หยุดการดำเนินการเพื่อความยั่งยืน แม้ประเทศไทยหลุดจากเรื่องของใบเหลืองแล้ว โดยเครือซีพีได้เข้าร่วม Seafood Task Force ของโลก เป็นแกนสำคัญอันหนึ่ง ขณะนี้กำลังพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ อุปกรณ์ติดตามเรือ VMS (vessel monitoring system) สำหรับการติดตามเรือทุกลำ ที่สามารถบอกได้ว่า เรือใช้อวนขนาดไหน จากความเร็วของเรือหากใช้อวนถี่ที่ลากน้ำ จะมีผลต่อความเร็วของเรือ สามารถทำการจับกุมได้ทันที รวมทั้งเรือที่ใช้ลากกับพื้นที่ทำลายปะการัง

    Seafood Task Force เป็นความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตกับลูกค้า เช่น คอสโก้ วอลมาร์ท มาร์คแอนด์ สเปนเซอร์ ธุรกิจค้าปลีกระดับโลกที่มาช่วยกัน รวมทั้งเครือซีพีที่ร่วมกับนานาชาติราว 30-40 บริษัท และ NGO คือ WWF เพื่อที่จะหาทางออกเกี่ยวกับการประมงอย่างยั่งยืน

    “เครื่องมือนี้ออกแบบและจะผลิตในเมืองไทย แล้วจะส่งขายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งขณะนี้อยู่หว่างทดลองการใช้งาน แต่จะเมื่อนำออกใช้จริงจะร่วมกับ Seafood Task Force ไม่ว่า อินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม เพื่อทุกประเทศจะได้ใช้แบบเดียวกันหมด จะได้ไม่มีใครได้เปรียบใคร” นายนพปฎลกล่าว

    อุปกรณ์ติดตามเรือ VMS นี้นอกจากจะช่วยเรื่องการใช้อวนแล้ว ยังช่วยเรื่องการป้องกันใช้แรงงานทาสด้วย เพราะติดตามได้ว่าเรือออกไปนานแค่ไหน หากมีการเปลี่ยนถ่ายแรงงานไปขึ้นเรือเรียกว่าเรือผี แล้วเรือกลับเข้าฝั่งโดยไม่มีคน

    นายนพปฎลกล่าวว่า เมื่อศึกษาลึกลงไปพบว่า การประมงเมืองไทยมีการจับสัตว์น้ำมากเกินไป (over fishing) อันที่จริงปัญหานี้เกิดขึ้นทุกที่ในโลก แต่อังกฤษ ยุโรป ได้มีการจัดการเรื่องนี้ไปเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว และถึงเวลาที่คนรุ่นปัจจุบันจะต้องรับผิดชอบกับอนาคตลูกหลาน ซึ่งเมื่อหยุด over fishing ได้ ประมงพื้นบ้านไทยได้ประโยชน์มหาศาล เพราะปลาขนาดโตขึ้น มีจำนวนมากขึ้น ปลาของประมงพื้นบ้านขายได้ราคาดีกว่าประมงพาณิชย์

    แต่ส่วนที่มีปัญหาคือ ประมงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเรือที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีใบอนุญาตครบทุกลำ จากเดิมที่ใช้ใบอนุญาตเดียวกับเรือทุกลำ เมื่อต้องจอดเรือเพื่อหยุดจับปลาตามกติกา ก็มีปัญหาทางการเงิน ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญหาสังคมได้ เพราะมีคนจำนวนมากที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการไม่มีรายได้ชำระหนี้ที่เกิดจากการลงทุนซื้อเรือ และเพื่อการเลี้ยงชีพได้

    “ผมก็ลงไปดูเอง ลงไปคุยกับครอบครัวเขา(ประมงพาณิชย์) ต้องหาวิธีไปแก้ตรงนั้นต่อเข้าไปอีก เพราะการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง ไปกระทบอีกปัญหาหนึ่ง แล้วปัญหานี้เป็นของจริง ว่าจะช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้อย่างไร ” นายนพปฎลกล่าว

    “passion + มาตรการเฉียบขาด” แก้ปัญหาปลูกข้าวโพดทำลายป่า

    อย่างเรื่องภาคเหนือ เครือซีพีโดนโจมตีมาก กรณีข้าวโพด พันธุ์ 888 ที่บอกว่าเอาเท้าเขี่ยๆมันก็ขึ้นแล้ว มันขึ้นที่ไหนก็ได้ แต่ว่าอันนี้…จริงครึ่งเดียว ที่คนไม่รู้เลยว่า หากคนเลือกได้เขาจะไม่เลือกที่จะปลูกข้าวปลูกบนภูเขา เพราะไม่มีชลประทาน ผลผลิตจะต่ำกว่า มันยากกว่าเยอะ

    เครือซีพีก็โดนโจมตีมากว่าซีพีให้ทำลายป่า และจากการลงพื้นที่หาข้อมูล พบว่ามีการทำการตลาดแข่งกัน และซีพีมีส่วนแบ่งทางการตลาดในภาคเหนือของไทยอยู่ประมาณ 25% ของการขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด แต่เป็นเพราะมีชื่อซีพี ทุกคนก็เลยคิดว่า 100% มาจากซีพี และซีพีปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะมีส่วนแบ่งจริง 25% นอกจากนี้ยังได้ศึกษาถึงสาเหตุของการทำลายป่า ซึ่งพบว่ามีการเข้าไปยึดครองพื้นที่จนตั้งเป็นหมู่บ้าน

    “การปลูกข้าวโพดบนภูเขาให้ผลผลิตต่ำมาก ภูเขาไม่มีระบบชลประทาน ผลผลิตจะต่ำกว่าที่ราบ โดยได้ผลผลิตเพียง 1/3 ต่อไร่ อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูง ต้องใช้รถบรรทุกวิ่งขึ้นเขา คุณศุภชัยไปด้วยตัวเอง พาผมไปด้วย ไปเห็นเอง ไปทำเอง ไปคุยเอง ผู้ใหญ่บ้านก็พาคุณศุภชัยขึ้นไปบนภูเขา พบว่าอยู่กันหลายร้อยครัวเรือน พอขึ้นไปถึงก็บอกว่าลูกเพิ่งเข้าเรียนราชภัฏได้ ปีนี้ก็ต้องทำอีกสามหุบเขานี้ นั่นคือป่าเลยนะอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ถึงจะไปซื้อมอเตอร์ไซค์ จ่ายค่าเล่าเรียนลูกที่ไปเรียนในกรุงเทพฯ ” นายนพปฎลกล่าว

    ข้อมูลที่ได้รับจากผู้ใหญ่บ้านเล่าว่า ชาวบ้านซึ่งเดิมเป็นคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เข้ามาทำกินในพื้นที่นี้ตั้งแต่สมัยคอมมิวนิสต์ปี 1960 มาล้อมเมืองไทย รัฐบาลไทยในยุคนั้นมีมาตรการสร้างพื้นที่กันชน จึงนำคนที่ไม่มีทรัพย์สิน ไม่มีรายได้เข้าไปทำกินบนภูเขา เพื่อไม่ให้พวกคอมมิวนิสต์เข้ามา พร้อมกับสัญญาว่าจะออกกรรมสิทธิ์ที่ดินออกโฉนดให้ แต่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนรัฐบาลหลายครั้งจนไม่มีใครจำข้อมูลนี้ได้

    ต่อมาเมื่อมีการทำแผนที่โดยใช้ดาวเทียม ส่งผลให้พื้นที่อุทยานครอบพื้นที่ทำกินเดิม ชาวบ้านจึงมีปัญหาและถามว่าเขาผิดตรงไหน รัฐบาลใหม่ก็ไม่ยอมรับว่ามีการดำเนินการในลักษณะนี้มานาน จึงส่งผลให้กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม การแก้ปัญหาจึงขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกแก้ด้านใดก่อน

    “ตอนนั้นเข้าไปเจอแต่ละเรื่อง ยากกว่าที่เราคิดไว้เยอะเลย แต่ต้องยอมรับ และเข้าไปเรียนรู้ ผมเรียนเลยว่าถ้าคุณศุภชัยไม่มี passion เรื่องนี้ ทำไม่สำเร็จ เพราะเป็นเรื่องที่ธุรกิจเขาไม่ทำกัน ไม่ได้สร้างกำไรอะไรเลย แต่เราเข้าไปก็คิดแบบธุรกิจว่าทำยังไงให้คนอยู่กับป่าได้” นายนพปฎลกล่าว

    นายนพปฎลกล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาได้ใช้การวางแผนธุรกิจ นำมาจัดการพื้นที่ป่าตามระดับความสูงโดยป่ามี 3 ชั้น ชั้นสูงสุดคือป่าต้นน้ำ อย่างจังหวัดน่าน มีความสำคัญเพราะจะต้องมีป่าดงดิบอยู่บนเขา มิฉะนั้นประเทศจะมีปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งป่าต้นน้ำนี้ห้ามเข้าใช้ประโยชน์อย่างเด็ดขาด ส่วนป่าในชั้นความสูงรองลงมาเรียกว่า belt เป็นป่าใช้สอยได้ คือ เข้าไปเก็บผลิตภัณฑ์ป่ามาใช้ได้ แต่ห้ามตัดไม้ ขณะที่ชั้นล่างสุด ให้ใช้ประโยชน์ได้ ให้คนอยู่ได้ แม้ไม่ถูกต้อง ไม่มีโฉนด แต่คนที่จะเข้ามาทำกินต้องดูแล ถือเป็นหน้าที่ หากทำให้พื้นที่ป่าเสียไป 1 ไร่ จะถูกเอาพื้นที่คืน 3 ไร่

    แนวทางการแก้ไขปัญหานี้ได้รับความสนับสนุนจากมูลนิธิปิดทองหลังพระ ที่จัดระบบชลประทานให้กับชาวบ้านที่ลงมาทำกินในป่าชั้นล่างสุด ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ประสบความ สำเร็จ เพราะแม้พื้นที่ทำกินข้างล่างจะลดลงจากพื้นที่ภูเขา แต่ด้วยระบบชลประทาน ประกอบกับเทคโนโลยีของซีพีที่จะช่วยทำให้ผลผลิตสูงถึง 3 เท่าของพื้นที่บนภูเขา เป็นการรับรองรายได้ว่าจะมากกว่าพื้นที่บนภูเขา และซีพีรับซื้อผลผลิตทั้งหมด

    ในช่วงแรกของการใช้โมเดลนี้เข้าไปจัดการไม่มีการตอบรับมากนัก เพราะความเชื่อเปลี่ยนได้ยาก ดังจะเห็นจากการเผาไร่ข้าวโพด ที่เกษตรกรไทยเชื่อว่าส่งผลดีกับดิน ทั้งที่ไม่เป็นความจริง การเผาทำให้ความชื้นบนผิวดินหาย เมื่อเกษตรกรยังมีการใช้ปุ๋ยเคมี ก็ยิ่งส่งผลเสียมากขึ้น ทั้งที่จริงการไถกลบทำให้ดินร่วน ไม่ต้องใส่ปุ๋ย แต่ไม่ทำกัน ไม่ว่าจะโน้มน้าวอย่างไรเกษตรกรก็ไม่เชื่อ ต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง โดยใช้พื้นที่ป่าในส่วน belt

    จากการที่ทรูมีการก่อตั้ง True Coffee ทำให้มีทางแก้ไข โดยใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าตรง belt หรือป่าใช้สอยได้ ให้เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟ เพราะมีระดับความสูงประมาณ 700 เมตร เหมาะสมกับการปลูกกาแฟพันธุ์ดี และแนวทางนี้ยังมีโอกาสสูง เนื่องจากข้อแรกตลาดกาแฟขยายตัวทั่วโลก ข้อสอง กาแฟปลูกได้ดีในช่วงเส้นศูนย์สูตร ประเทศไทยเองตั้งอยู่บนเส้นศูนย์สูตร ข้อสาม คือ กาแฟต้องปลูกในที่ร่ม ถึงจะเติบโตได้ดี

    นายนพปฎลเล่าต่อว่า “คุณศุภชัย พร้อมทีมงาน ได้เดินทางไปที่หมู่บ้านสบขุ่น อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่กลางอุทยานแห่งชาติ มีการทำลายป่า มีชาวบ้านอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน เพื่อนำเสนอแนวคิดการปลูกกาแฟให้กับชาวบ้าน วันที่เราไป ชาวบ้านเผาข้าวโพดเสร็จพอดี เหมือนทะเลทรายเลย เป็นสีน้ำตาล เผาจนเรียบ เตรียมดินแล้ว เหมือนทะเลทรายกลางน่าน คุณศุภชัยบอกว่าเรามาโปรโมททำอันนี้ จะทำให้เป็นกาแฟมีชื่อของน่านเลย แล้วก็จะให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของทั้งหมด จะตั้งโรงงานกาแฟให้ เราจะซัพพลายเมล็ดต้นกล้า ก็มีคนมานั่งฟังเกือบร้อยคน ถามว่าใครจะทำกับเราบ้าง มีผู้หญิงคนหนึ่งยกมือเป็นคนแรก โดยรวมแล้วครั้งแรกมีชาวบ้านร่วมโครงการประมาณสิบกว่าคน”

    เลิกแก้ตัว ลงมือแก้ปัญหา

    นายนพปฎลกล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้จากการกลับไปเยี่ยมโครงการหลังจากเริ่มมาได้ 3 ปี ผู้หญิงคนแรกที่ยกมือเข้าโครงการได้ชวนนายศุภชัยไปดูพื้นที่ของเขา ซึ่งมีป่าขึ้นมามีต้นไม้สูงมากกลายเป็นพื้นที่สีเขียวในเวลา 2 ปี พร้อมกับบอกว่าป่าไม่ต้องไปทำอะไรหรอก มีอยู่ในดินอยู่แล้ว เพียงแต่อย่าเผาท่านั้น แล้วในพื้นที่นั้นก็มีต้นกาแฟ ซึ่งเก็บได้แล้ว

    “คุณศุภชัยถามว่าเป็นยังไงบ้างครับ มาทำอันนี้ เขาร้องไห้เลยนะ เขาบอกว่าเขาเกิดที่หมู่บ้านนี้ แล้วเขาลืมไปเลยว่าจริงๆ มันมีนก มีอะไรเยอะมากๆ แต่ตอนนี้เขาตื่นมา เขาได้ยินเสียงนกที่เดียวเลยในหมู่บ้านนี้ คือได้ยินเสียงนกแล้วร่มรื่น แล้วเขาก็เก็บกาแฟได้ เขาบอกว่าไม่เคยคิดว่าจะกลับมาได้ แล้วเขาก็อยู่ได้ รายได้ก็ไม่ได้น้อยไปกว่าเดิม ชีวิตก็ดีขึ้น แล้วที่สำคัญที่สุด เขาบอกว่าไม่ต้องใช้พวกเคมีที่ทำให้มือของเกษตรกรมีปัญหาจากการใช้มือหยิบสารเคมี ปุ๋ยเคมี สารพัดอย่าง ยาฆ่าแมลง ที่นี่เขาไม่ต้องทำเลย เพราะปลูกกาแฟ แล้วมีป่ามาคลุมอยู่ เพราะฉะนั้นเวลามองจะไม่เห็นกาแฟ เห็นเป็นป่าธรรมดา แต่เขาเก็บกาแฟ เอามาคั่ว แล้วขายส่ง ตอนนี้ราว 60% ของหมู่บ้านเอาด้วยหมด อีกหน่อยก็จะกลับมาเป็นป่าเหมือนเดิม” นายนพปฎลกล่าว

    สำหรับแนวทางการสร้างรายได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ชาวบ้านปลูกถั่วมะแฮะนำไปขาย อีกทั้งพื้นที่ข้าวโพดไม่ได้เลิกทั้งหมดในครั้งเดียว ยังมีพื้นที่เหลือส่วนหนึ่ง แต่ต้องให้สัญญาว่าจะเลิก ไม่ขยายต่อ เมื่อกาแฟปลูกเต็มพื้นที่ ก็สามารถมีรายได้จากการขายกาแฟเต็ม 100%

    “ในระหว่างนั้นเราต้องใช้มาตรการแบบเฉียบขาด ซึ่งตรงนี้ก็จะคล้ายๆ ภาคใต้ ในปีแรกคุณศุภชัยถอนการขายและซื้อทั้งหมดออกจากจังหวัดน่าน แล้วแบนเลยว่าถ้าใครไปซื้อในเครือเรา เราจะลงโทษซัพพลายเออร์ ห้ามเมล็ดพันธุ์ซีพีเข้าไปในจังหวัดน่านเลย ถ้าจับได้ว่าขนเข้าไปขาย เราก็ตัดดิสทริบิวเตอร์คนนั้นเลย อันนี้ทำตั้งแต่แรกๆ เลย แล้วก็ไม่ซื้ออะไรที่มาจากจังหวัดน่าน เพราะจังหวัดน่านมีพื้นที่ราบแค่ 15% ตอนนั้นก็โดนแรงเสียดทานเยอะมากๆ”นายนพปฎลกล่าว

    “เมื่อเราประกาศว่าไม่ซื้อ ก็เอาคอมพิวเตอร์มาตรวจทุกล็อตตั้งแต่ปีนั้น แต่หากจะซื้อเมล็ดข้าวโพดต้องมาพร้อมโฉนด แล้วตรวจสอบโฉนดกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเครื่องจะบอกเลยว่าผลิตได้กี่ตัน เครือซีพีก็จะซื้อเท่าที่ได้ข้อมูลจากเครื่อง ที่เหลือไม่ซื้อให้เอากลับไป ตอนนั้นก็โดนเยอะ เราบอกก็ไม่เชื่อว่าไม่ซื้อ ทางฝั่งการซื้อก็ว่าเรามาก ส่วนเกษตรกรก็ว่า พอเราไม่ซื้อ เขาก็ไปขายแบบถูกๆ ให้พ่อค้าคนกลาง เป็นปัญหาสังคมจริงๆ ตอนนั้น แต่สุดท้ายคุณศุภชัยเลิกแก้ตัวว่าไม่เกี่ยว แล้วกระโดดลงไปแก้ปัญหาๆ แต่เราต้องทำในสิ่งที่ถูก พยายามให้เดินกันไปได้ ถ้าทางราชการรับรองว่ามาจากพื้นที่ แม้ไม่มีโฉนด แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามรับรองว่าเป็นพื้นที่จัดสรรให้ทำอย่างนี้ เราก็ซื้อหมด บางทีซื้อแพงกว่าตลาดด้วย คือสร้างแรงจูงใจ” นายนพปฎลกล่าว

    นายนพปฎลกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดน่าน ถือว่ามีความคืบหน้า พอใจกับผลที่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้ทำเป็นตัวอย่างหรือกระบะทรายทดลอง แต่ทำแบบจริงจัง เป็นโครงการกาแฟรักษ์ป่าน่าน รับซื้อกาแฟทั้งหมดในจังหวัดน่าน และได้ขยายโครงการไปที่บ่อเกลือ น้ำพาง ซึ่งที่น้ำพางยังอยู่ระหว่างการฟื้นฟู นอกจากนี้ยังมีโครงการที่แม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

    ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน ปี 2561 โครงการกาแฟรักษ์ป่าน่านทำไปแล้ว 420 ไร่ จากเป้าหมายทั้งหมด 1,000 ไร่ เฉพาะบ้านสบขุ่น มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการ 67 ราย แล้วก็จะขยายผลไปอำเภอต่างๆ ในจังหวัดน่าน

    นายนพปฎลกล่าวต่อว่า ปัญหาการเผาทางเมียนมากำลังจะเจอเหตุการณ์เหมือนไทย เครือซีพีจึงไปเมียนมา ไปให้ข้อมูลกับรัฐบาล โดยเอาบทเรียนไร่ข้าวโพดไปขยายผล เพื่อจะไปหยุดไม่ให้เผา เพื่อไม่ให้เกิดการทำลายป่า ให้เก็บป่าต้นน้ำไว้ ซึ่งได้เริ่มทำไปแล้ว ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิปิดทองหลังพระที่เข้าไปดำเนินโครงการในเมียนมาด้วย

    แนวคิดโมเดล Mega Farm พัฒนาอีสาน

    นายนพปฎลกล่าวว่า เครือซีพีได้รับการชักชวนจากมูลนิธิปิดทองหลังพระไปดำเนินโครงการที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเครือซีพีมีเทคโนโลยีและความชำนาญด้านการตลาด ซึ่งจะช่วยเสริมงานของมูลนิธิฯ ที่มีพันธมิตรในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ระดับโลก ได้รอบด้านขึ้น

    ปัญหาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่เหมือนที่อื่น เพราะเป็นพื้นที่ราบ อายุเฉลี่ยของเกษตรกรคือ 58 ปี เด็กรุ่นใหม่ไม่มีใครยอมรับมรดก เพราะต้องการมาทำงานในเมือง เป็นค่านิยมของเด็กยุคนี้ เป็นกระแสการพัฒนาเมือง หรือ urbanization ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่ทำให้เด็กรุ่นนี้เห็น และย้ายเข้ามาในเมือง ทิ้งการเกษตร ซึ่งหากไม่แก้ปัญหา อีกไม่นานก็จะไม่มีคนทำการเกษตร

    “ตรงนี้เป็นเรื่องยากและเป็นประเด็นอ่อนไหวของคนไทยมาก ผมคิดว่าเป็นความท้าทายใหม่ วิธีแก้มี ตอนนี้ต้องหาวิธีที่จะทำยังไงให้เดินไปได้ ให้คนไทยเข้าใจ” นายนพปฎลกล่าว

    นายนพปฎลกล่าวว่า สิ่งที่มีค่าที่สุดของเกษตรกร คือ ที่ดิน ซึ่งเกษตรหวงมาก นับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเป็นมรดกสืบทอด แต่สิ่งที่เกษตรลืมไปคือ ขนาดที่ดินเล็กลง ต่างจากสมัยก่อนที่ที่ดินเป็นแปลงใหญ่ซึ่งสามารถทำกินได้และเลี้ยงชีพได้ ปัจจุบันที่ดินมีการแบ่งซอยย่อยแบ่งให้กับลูกหลาน แล้วยังมีการสร้างคันนาเพื่อแบ่งเขต ยิ่งมีผลให้ที่ดินเล็กลงไปอีก การผลิตจึงไม่ได้ขนาด ที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า economies of scale ทำให้ไม่สามารถสร้างผลผลิตจำนวนมากได้ จุดนี้ยังไม่มีใครคำนึงถึง

    นายนพปฎลให้ข้อมูลว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว กลับทำในสิ่งที่ตรงข้ามกัน เนื่องจากเกษตรกรลดน้อยลง เช่น สหรัฐอเมริกา จำนวนเกษตรกรเหลือเพียง 1% แต่พื้นที่ที่ใช้ประกอบกิจการมีขนาดมหาศาล โดยใช้แนวคิด mega farm

  • ซีพีกับโมเดลเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่: ฟาร์มไก่ไข่ 3 ล้านตัวที่ผิงกู่ เทคโนโลยีทันสมัยที่สุดในโลก-ใช้หุ่นยนต์เลี้ยงไก่
  • เครือซีพีได้ใช้โมเดล mega farm และประสบความสำเร็จมาแล้วที่ประเทศจีน ที่ผิงกู่ โครงการผิงกู่ เลี้ยงไก่ไข่ เพราะมีปัญหาคล้ายกัน คือ เป็นเกษตรกรรายย่อยมีที่ดินผืนเล็ก เมื่อที่ดินผืนเล็กไม่สามารถไปกู้เงินจากธนาคารได้ เพราะฉะนั้นบริษัทก็เข้าไปในดำเนินการฟาร์มไก่ไข่ มีธนาคารเข้ามาร่วม โดยธนาคารจะเข้ามาร่วมเมื่อมีการเข้าไปสนับสนุนเกษตรกร เอาที่ดินแปลงเล็กๆ มารวมกันเป็นแปลงใหญ่ เพื่อสามารถไปจำนองได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็สนับสนุน เนื่องจากที่ดินเมืองจีนเป็นของรัฐบาล

    “โครงการผิงกู่ประสบความสำเร็จ แล้วคนพวกนั้นกลายเป็นคนที่เก็บค่าเช่าที่แทน เพราะเราไปเช่าที่เขาตรงนั้น แล้วเขาก็ส่งคนงานมาปลูกเองด้วย คือพิสูจน์แล้วว่าทำได้จริง” นายนพปฎลกล่าว

    แนวคิดของ mega farm คือการรวมที่ดินแปลงเล็กให้เป็นแปลงใหญ่แล้วใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปมากจนสามารถพยากรณ์สภาพอากาศแต่ละช่วงได้ ช่วยให้สามารถวางแผนการผลิตได้อย่างเหมาะสม ตั้งแต่การเลือกพันธุ์พืชปลูกสลับกัน แทนการปลูกพันธุ์เดียวตลอด ไปจนถึงการเก็บผลผลิต และยังช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อเก็บผลผลิตเสร็จแล้วมีการไถกลบเป็นปุ๋ย ไม่ต้องใช้สารเคมี

    แนวทางนี้มีความเป็นไปได้ เนื่องจากประเทศไทยเริ่มมีธุรกิจเพื่อสังคมเกิดขึ้น หาแนวทางให้ธุรกิจเพื่อสังคมเข้ามาร่วมและอาจจะเป็นเจ้าของ ขณะที่ผลิตภัณฑ์สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตได้ เพราะวิธีการผลิตใช้เทคโนโลยีทั้งหมด แต่ทั้งนี้ต้องทำให้เกษตรกรเข้าใจประโยชน์ของการผลิตบนพื้นที่ขนาดใหญ่ก่อนถึงจะดำเนินการได้ เพราะขณะนี้ตลาดพร้อม สถาบันการเงินพร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุน

    อ่านต่อตอนที่2