เมื่อโลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ทั้งสภาพภูมิอากาศ โรคระบาดที่สร้างความเสียหาย และความต้องการที่ไม่เพียงพอ
ทุกประเทศต่างต้องการความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร ที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีการใช้และทำลายทรัพยากรมากขึ้นๆ ทำอย่างไรที่จะผลิตให้มากขึ้น ปลอดภัยจากโรคระบาดและต้นทุนถูกลง และที่สำคัญทำอย่างไรที่จะนำไปสู่ขบวนการเติบโตอย่างยั่งยืน
โดยเฉพาะจีนที่มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน มีปัญหามลพิษมากมาย จำเป็นต้องเปลี่ยนนโยบายการทำเกษตรใหม่ ไปพร้อมกับนโยบายการลดมลพิษและดูแลสิ่งแวดล้อม ทำให้จีนต้องหาพาร์ตเนอร์ผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่ทันสมัยเพื่อตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงทางอาหารและการเติบโตอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันจีนเป็นประเทศใหญ่แต่มีพื้นที่การเกษตรไม่มากนัก ยิ่งเมืองใหญ่ๆ มีการพัฒนา จำเป็นต้องนำที่ดินภาคเกษตรมาพัฒนาในรูปแบบอื่น จึงต้องหาที่ดินอื่นมาชดเชยพื้นที่เกษตรผืนนั้นแทน เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่เกษตรลดลง
การถมทะเลเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จีนเลือกใช้ รวมทั้งวิธีการให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ รวบรวมที่ดินเป็นผืนใหญ่เพื่อทำเกษตรแบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่
ประเทศจีนเคยใช้ระบบคอมมูน ต่อมายกเลิกเปลี่ยนมาเป็นการเกษตรที่ต่างคนต่างทำ ซึ่งเกษตรกรแต่ละคนมีที่ดินไม่มากนักเช่นเดียวกับประเทศไทย บางรายต้องเช่า ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง แต่วันนี้จีนกำลังปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่มาเป็นเกษตรอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ใช้ระบบการทำเกษตรแปลงใหญ่อีกครั้ง และมาพร้อมเงื่อนไขการลดมลพิษ
ด้วยการทำเกษตรแบบสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิต เป็นอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้เครือซีพีได้รับการพิจารณาให้เข้าบริหารโครงการไก่ไข่ครบวงจรที่จังหวัดผิงกู่ ใกล้นครปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งเป็นฟาร์มไก่ไข่ 3 ล้านตัวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนและในเอเชีย ยุโรป ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่มีประมาณ 6-7 ล้านตัวต่อฟาร์ม
นายสมภพ มงคลพิทักษ์สุข รองประธานกรรมการกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ดูแลธุรกิจซีพีในมาเลเซียและจีน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการผิงกู่กล่าวว่า โครงการผิงกู่เกิดจากรัฐบาลจีนตระหนักถึงจำนวนประชากรที่มีอยู่กว่า 1,300 ล้านคน การผลิตอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศถือเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ในหลายๆ ปีที่ผ่านมาจีนมีปัญหาเรื่องอาหารที่ไม่ได้คุณภาพ ปัจจุบันรัฐบาลจีนไม่ได้ห่วงว่าอาหารจะไม่เพียงพออย่างเดียว แต่ห่วงเรื่องความปลอดภัยของอาหารด้วย
รัฐบาลจีนจึงมีนโยบายนี้ โดยทำผ่านโครงการเกษตรสมัยใหม่ เขาระบุเลยว่าโครงการเกษตรสมัยใหม่ต้องใช้เทคโนโลยีและการจัดการแผนใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เมื่อนโยบายรัฐบาลกลางออกมาอย่างนี้ รัฐบาลท้องถิ่นก็ต้องเอานโยบายของรัฐบาลกลางไปดำเนินการ คือหาผู้ร่วมทุน แต่ปัจจุบันเกษตรกรของจีนมีที่ดินน้อยมาก โดยเฉลี่ยประมาณ 3-4 หมู่หรือ 1-2 ไร่ แล้วยังขาดวิชาการ ขาดเงินทุน ในขณะที่ธนาคารมีเงินแต่ไม่รู้จะปล่อยกู้อย่างไร เกษตรกรไม่สามารถกู้เงินได้เลยเนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
“จากปัญหานี้คุณธนินท์ (เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์) ได้มีแนวคิด “4 ประสาน” คือมีภาครัฐบาล เกษตรกร ธนาคาร และเครือซีพี มาร่วมกันทำโครงการนี้ คุณธนินท์เสนอโครงการนี้ต่อรัฐบาลจีนไปตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 ปัจจุบันจีนมีแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 แล้ว ในแผนเขียนไว้ชัดเจนว่าจีนจะเปลี่ยนจากโรงงานของโลกมาเป็นตลาดของโลกแทนที่จะเป็นผู้ผลิตมาเป็นผู้ทำตลาด ดังนั้น การที่จะทำตลาดได้ต้องจัดหาเทคโนโลยีการผลิตที่ดีเพื่อให้ต้นทุนต่ำลง สามารถต่อสู้กับตลาดได้ ซึ่งโครงการที่เครือซีพีเสนอ รัฐบาลจีนอนุมัติแล้ว เช่น โครงการไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัวที่ผิงกู่ นครปักกิ่ง โครงการไก่เนื้อ 100 ล้านตัวต่อปี หมู 1 ล้านตัวต่อปี และโครงการเกษตรผสมผสานโดยการปลูกข้าวและปลูกพืชน้ำมัน Rapeseed ในลักษณะผสมผสานที่ฉือซี นครเซี่ยงไฮ้” นายสมภพกล่าว(คลิ๊กขยายรูป)
อย่างไรก็ตาม โครงการที่ผิงกู่เป็นโครงการเกษตรหมุนเวียนทันสมัย เป็นโครงการที่รักษาสิ่งแวดล้อม มีโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิดจำนวน 18 หลัง มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงงานแปรรูปไข่ โรงงานผลิตปุ๋ยคาดว่าเสร็จสิ้นปีนี้ ดังนั้นขี้ไก่ที่ออกมาทั้งหมดพอแห้งแล้วเอาไปทำปุ๋ย เอาปุ๋ยไปปลูกผักออร์แกนิก ซึ่งรัฐบาลจีนเสนอให้นำไปปลูกท้อ เพราะพื้นที่แถบนี้ปลูกท้อที่ดีที่สุดของจีน โดยซีพีได้ว่าจ้างนักวิชาการมาพัฒนาปุ๋ยให้เหมาะสมสำหรับกับความต้องการของต้นท้อ ขณะเดียวกันซีพีได้รับอนุมัติตั้งโรงงานบรรจุท้อในบริเวณใกล้เคียงด้วยแล้ว
“ปุ๋ยที่ทำจะมีทั้งปุ๋ยแห้งและปุ๋ยน้ำ ส่งไปตามท่อ ในปีแรกจะให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยฟรี ปีที่สองอาจจะขายในราคาต่ำ แล้วค่อยๆ ขยับขึ้นในปีถัดไป ตอนนี้โครงการไก่ไข่ผิงกู่ครบวงจรยังกลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่คนจีนให้ความสนใจแวะมาเยี่ยมชมโครงการเกือบทุกวัน ด้วยโครงการผิงกู่เป็นฟาร์มเดียวที่ใช้เทคโนโลยีสูงสุด แม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกายังไม่ทันสมัยเท่าที่ผิงกู่ เพราะในฟาร์มควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ใช้คนดูแลน้อยมาก เราศึกษาเทคโนโลยีจากหลายประเทศ รวมทั้งการเอาหุ่นยนต์มาเลี้ยงไก่ ในโลกนี้ยังไม่มีคนทำ รวมทั้งไข่ไก่ที่ออกมาจะวิ่งไปตามสายพาน มีการคัดแยกไข่ตามสี ตามขนาด โดยไม่ต้องใช้คน” นายสมภพกล่าว
โรงเลี้ยงหนึ่งโรงมีไก่ 1.7 แสนตัว ใช้คนงานดูแล 1 คน คนดูแลทำงาน 8 ชั่วโมงเพราะทุกอย่างถูกตั้งแบบอัตโนมัติ โรงเลี้ยงมีทั้งหมด 8 ชั้น อุณหภูมิอยู่ที่ 21 องศาเซลเซียส การเลี้ยงไก่ต้องควบคุมด้วยแสง ไก่จะกินอาหารตลอด จะหลับตอน 19.00-04.00 น. โดยปิดไฟให้ไก่หลับพร้อมกัน ไก่จะออกไข่ช่วงเวลาประมาณ 04.00-12.00 น. โดยช่วงที่ออกไข่มากที่สุดเวลา 9.00-10.00 น. ไก่จะออกไข่ตัวละฟองต่อวัน ใน 1 ปีก็จะได้ 365 ฟองต่อไก่ 1 ตัว การเก็บไข่จะมีสายพานให้ไข่ไหลออกมา เป็นระบบอัตโนมัติ ไข่จะไหลมารอที่โรงคัด ของไทยใช้คนเก็บไข่ใส่ถาด แต่ที่นี่ใช้สายพานทำให้ลดต้นทุนฟองละ 25 สตางค์ และคนไม่ได้สัมผัสไข่ก็ทำให้อาหารปลอดภัย และเครื่องคัดไข่ชั่วโมงหนึ่งคัดได้ 180,000 ฟอง
“สำหรับเคล็ดลับในการเลือกกินไข่ คุณธนินท์บอกว่าเวลากินให้กินไข่ฟองเล็ก ในสหรัฐอเมริกากินไข่ฟองเล็ก เพราะเป็นไข่จากแม่ไก่สาว เป็นไก่ที่มีฮอร์โมนมากที่สุด คุณค่าทางอาหารจะสูงสุด และการเก็บไข่ให้อยู่ได้นานต้องเก็บในห้องเย็นอุณหภูมิ 9 องศา C จะเก็บได้นาน 150 วัน”นายสมภพกล่าว
ในโรงเลี้ยงหนึ่งโรงมีหุ่นยนต์ 1 ตัวทำหน้าที่ดูว่าแต่ละกรงมีไก่ตายหรือไม่ เพราะถ้าคนเดินไปกลับแต่ละแถว ดูทุกชั้น วันหนึ่งต้องเดิน 12 กิโลเมตร แต่หุ่นยนต์มีเซ็นเซอร์ชี้ไปที่ไก่แต่ละกรง ถ้าพบไก่ตายก็จะรายงานไปว่ากรงที่ 18 แถวหน้า 5 มีไก่ตาย 1 ตัว หุ่นยนต์รู้เพราะอุณหภูมิไก่ปกติประมาณ 104 องศาฟาเรนไฮต์ แต่ถ้าอุณหภูมิลดลงเหลือ 80 กว่า แสดงว่าไก่ตาย
นอกจากนี้ อาหารสัตว์ยังส่งตรงจากท่อไปที่เล้าโดยตรง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ที่ผิงกู่เป็นที่แรกของเครือซีพีที่อาหารสัตว์ส่งจากคลังผ่านท่อไปที่เล้า โดยมีตาชั่งบอกจำนวนว่าอาหารไหลเข้าไปจำนวนเท่าไรแล้ว ดังนั้นด้วยระบบการบริหารจัดการแบบนี้ทำให้รู้ข้อมูลทั้งหมด เล้าไหนมีปัญหา เล้าไหนกินอาหารน้อยกินอาหารมาก การทำงานสามารถติดตามได้หมด หากมีปัญหาเกิดขึ้นก็ส่งข้อความเข้ามือถือให้คนมาแก้ไขได้ทันท่วงที ถ้าเราไม่มีเทคโนโลยีเราไม่สามารถบริหารจัดการได้ นี่เป็นจุดเด่นของซีพี
สำหรับโครงการผิงกู่เป็นโครงการนำร่อง ขณะนี้มีอีก 3-4 มณฑลยื่นข้อเสนอให้ซีพีไปทำ แต่เนื่องจากไม่มีกำลังคน อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เครือซีพีลงทุนไปประมาณ 728 ล้านหยวน คาดว่าจะคุ้มทุนประมาณ 10 ปี
นายสมภพกล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลจีนต้องการจากโครงการนี้คือ 1. ความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น โครงการนี้เกี่ยวข้องกับคนประมาณ 1,608 ครอบครัว หรือประมาณ 5,000 คน โดย 852 คนเป็นเจ้าของที่ดิน อีก 756 คนเป็นทหารพิการ คนพิการที่อยู่ในพื้นที่ที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินสนับสนุนช่วยเหลือ เมื่อมีโครงการนี้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายแล้วเพราะคนเหล่านี้มีเงินจากโครงการนี้ในการดำเนินชีวิต
โครงการผิงกู่มีเกษตรกรซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินรวมตัวกันตั้งสหกรณ์ มีรัฐบาลเขตผิงกู่และเครือซีพีร่วมทุนก่อตั้งบริษัทในชื่อ “บริษัทกู่ต้า” โดยรัฐบาลปักกิ่ง เครือซีพี ถือหุ้นฝ่ายละ 15 % ที่เหลืออีก 70% เป็นของเกษตรกรซึ่งรวมตัวกันถือหุ้นในนามสหกรณ์การเลี้ยงสัตว์ในเขตพื้นที่สีเขียวของเมืองปักกิ่ง สหกรณ์ได้กู้เงินจากธนาคารมาดำเนินการและโครงการนี้รัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยให้ จากปกติรัฐบาลต้องเอาเงินไปช่วยเหลือคนพิการเหล่านี้อยู่แล้วในแต่ละปี เมื่อมีโครงการนี้รัฐบาลก็เอาก้อนนี้ไปจ่ายเป็นดอกเบี้ยแทน ขณะที่เครือซีพีเช่าที่ดินจากเกษตรกรภายใต้สหกรณ์จำนวน 380 ไร่
“อีก 20 ปีข้างหน้าทรัพย์สินนี้จะตกเป็นของสหกรณ์ที่เกษตรกรเป็นเจ้าของ โดยที่ซีพีเป็นลูกจ้างรับบริหาร ซึ่งเป็นธุรกิจที่ซีพีถนัด แม้จะมีความเสี่ยงเรื่องการเลี้ยง การตลาด แต่เป็นความเสี่ยงที่เราควบคุมและจัดการได้ ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ แบงก์ก็ปลอดภัยที่จะให้กู้ เกษตรกรก็สามารถชำระหนี้ได้เพราะซีพีจ่ายผลตอบแทนและค่าเช่าปีละ 350 ล้านบาท หรือ 70 ล้านหยวน จากเดิมที่เกษตรกรกลุ่มนี้มีรายได้รวม 12 ล้านหยวนต่อปี ส่วนรัฐบาลก็เอาเงินที่ควรช่วยเหลือเกษตรกร คนพิการ มาช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ยแทนเกษตรกร และในอนาคต รัฐบาลยังเก็บภาษีได้อีก ที่สำคัญธุรกิจไม่เกิดแค่ธุรกิจเดียว ยังมีธุรกิจขนส่ง ธุรกิจรับจ้าง ธุรกิจบริการ ทั้งหมดเป็น 4 ประสานที่ทุกคนได้ประโยชน์”
ด้าน Mr.Wn Lian Jiang รองผู้ว่าเขตผิงกู่ กล่าวว่า โมเดล 4 ประสานเกิดจากการคิดให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ รัฐบาล ชาวนา บริษัท และธนาคาร ชาวนาเป็นเจ้าของที่ดิน ไม่มีความรู้ ไม่มีเงินลงทุน ทางบริษัทมีเทคโนโลยี มีความรู้ มีตลาด มีความพร้อม ทางรัฐบาลมีความคิดว่า อยากเพิ่มรายได้ให้กับเกษตร แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ธนาคารมีความต้องการพัฒนาเกษตรแต่ไม่สามารถให้กู้ได้ ทั้ง 4 หน่วยงานจึงประสานความร่วมมือกันสร้างโปรเจ็กต์ ก็คิดเอา 4 ประสานโมเดลมาไว้ที่เดียวกัน สร้างด้วยกัน
โครงการไก่ไข่ครบวงจรผิงกู่เป็นนวัตกรรมใหม่ในการทำเกษตรคือชาวนาร่วมเป็นเจ้าของบริษัท คนบริหารบริษัทเป็นลูกจ้างของชาวนา ชาวนามอบหมายให้บริษัททำ บริษัทนำรายได้กลับไปให้ชาวนา ชาวนาได้ผลประโยชน์จากโครงการนี้ โดยชาวนาให้บริษัทเช่าที่ดิน ผลประโยชน์ต่างๆเป็นของชาวนาและสูงกว่าที่เขาเคยได้รับ ส่วนรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริม เพราะฉะนั้นการทำโมเดลใหม่นี้เหมาะสมกับสถานการณ์ประเทศจีนในปัจจุบัน ได้ประโยชน์ทั้งชาวนาและรัฐบาลจีน และผู้นำปักกิ่งให้ความสนใจโครงการนี้มาก
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามเกษตรกรรายหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า ก่อนจะเข้าร่วมโครงการมีการประชุมกันหลายรอบ ใช้เวลาคิดนาน เพราะก่อนหน้านี้ปลูกข้าวสาลีตั้งแต่รุ่นปู่ ทำต่อกันมาเรื่อยๆ จึงไม่ค่อยมีความเชื่อว่าโครงการนี้จะทำได้ ตั้งแต่โครงการนี้เกิดขึ้น ชีวิตก็เปลี่ยนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อน
“รายได้ของเกษตรกรมาจากการให้เช่าที่ดิน หากคิดเป็นรายคนได้ค่าเช่าคนละ 400 หยวนต่อปี โบนัสจากสหกรณ์ 1,500 หยวนต่อปี และรายได้จากค่าจ้าง โดยค่าแรงขั้นต่ำในปักกิ่งอยู่ที่ 1,500 หยวน แต่โครงการนี้จ้าง 3,000 หยวน ถ้าครอบครัวไหนมีหลายคน รายได้รวมก็มากขึ้น ถ้ามีรายได้ 7,000-8,000 หยวนต่อปี หรือเฉลี่ย 500 หยวนต่อเดือน ก็มีความเป็นอยู่ใช้ชีวิตสบาย”นายสมภพกล่าว