ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > มองผ่านโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม Café Amazon for Chance สาขาพิเศษของ “Café Amazon” ที่สร้างงานอย่างยั่งยืนให้ผู้พิการ

มองผ่านโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม Café Amazon for Chance สาขาพิเศษของ “Café Amazon” ที่สร้างงานอย่างยั่งยืนให้ผู้พิการ

30 เมษายน 2019


จากสถิติ ทุกวันนี้มีคนพิการที่อยู่ในวัยทำงานเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีงานทำ โดยข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พ.ศ. 2559 ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการ 1.6 ล้านคน มีอายุอยู่ในวัยทำงาน 7.5 แสนคน แต่มีงานทำเพียง 2 แสนคน คิดเป็น 27% ของผู้พิการในวัยทำงาน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 เท่านั้น

มากกว่าปัญหาพื้นฐานเรื่องการศึกษาที่ทำให้ผู้พิการไม่สามารถเข้าถึงอาชีพ แม้จะมีกฎหมายสนับสนุนการทำงานของผู้พิการ ปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้ยังอยู่ที่ความพร้อมของนายจ้าง ตลอดจนสถานประกอบการที่จะรองรับผู้พิการเข้าทำงาน

การเติบโตของ Café Amazon for Chance สาขาพิเศษของร้าน Café Amazon จึงเป็นโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมที่น่าสนใจ ในการออกแบบธุรกิจเพื่อรองรับการมีงานทำของผู้พิการและตอบโจทย์ปัญหาการพัฒนาอาชีพของผู้พิการ ที่ต้องใช้ความละเอียด ความใส่ใจ และมีการนำเทคโนโลยีและวิธีการใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการออกแบบสถานที่และกระบวนการทำงานให้เหมาะสม เพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยิน สามารถทำงานได้ โดยยังรักษาประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานและรักษาคุณภาพการให้บริการได้ในแบบมาตรฐานของร้าน Café Amazon

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) อธิบายถึงโมเดลต้นแบบ Café Amazon for Chance โมเดลธุรกิจเพื่อสังคม ภายใต้ บริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ว่า

จากความสำเร็จของร้าน Café Amazon ที่มีมากกว่า 2,300 สาขาทั่วประเทศในวันนี้ จึงได้นำแนวทางการดำเนินธุรกิจมาปรับใช้ใน โครงการ Café Amazon for Chance โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการผ่านการจัดอบรมและฝึกฝนให้สามารถเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการเป็นบาริสต้า (Barista) ตามมาตรฐานของ Café Amazon

“ผู้พิการทางการได้ยิน ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้พิการที่มีมากเป็นอันดับ 2 รองจากผู้พิการทางร่างกาย แต่กลับเป็นกลุ่มผู้กลุ่มผู้พิการที่หางานประกอบอาชีพได้ยากที่สุด และมักได้รับการจ้างงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษา รวมทั้งไม่มีการอบรมพัฒนาความสามารถในสายอาชีพนี้อีกด้วย” นางสาวจิราพรกล่าว

ออกแบบใหม่เพื่อรองรับการทำงานผู้พิการ

ในร้าน Café Amazon for Chance มีการปรับเปลี่ยนกรรมวิธีการทำงานด้วยการนำนวัตกรรมใหม่ อย่าง Hybrid Machine เครื่องบดบดกาแฟแบบดิจิทัลมาใช้เพื่อความแม่นยำในเรื่องรสชาติและระบบการสั่งซื้อแบบ Duo Screen POS เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน จนทำให้ผู้พิการสามารถเป็นบาริสต้ามืออาชีพในร้าน Café Amazon ได้สำเร็จ

“ความพิเศษของสาขา Café Amazon for Chance เราจะใช้เครื่องบดกาแฟแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นเครื่องบดที่ลดภาระการตวงกาแฟ ทำให้รสชาติของกาแฟมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการลดปัญหาความคลาดเคลื่อนในการเตรียมเครื่องดื่ม และทำให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ การออกแบบกระบวนการทำงานใหม่ ช่วยแก้ปัญหาซึ่งเป็นอุปสรรคในการทำงานของบาริสต้าที่เป็นผู้พิการทางการได้ยิน อีกด้วย

“แต่ก่อนน้อง ๆ บาริสต้า ผู้พิการนั้นจะเตรียมเครื่องดื่มช้ากว่าคนปกติเนื่องจากต้องเสียเวลาเพื่อใช้ในการสื่อสาร โดยเครื่องบดนี้จะชดเชยเวลาที่เสียไปให้สามารถเตรียมเครื่องดื่มได้รวดเร็วเท่ากับร้านปกติ และการสั่งเครื่องดื่มโดยใช้ Duo Screen POS เป็นการลดการ order ผิดเพราะทางลูกค้าสามารถตรวจสอบรายการของตนเองได้ทันที หากเกิดข้อผิดพลาดในการจด Order” นางสาวจิราพร กล่าว

ปัจจุบันร้าน Café Amazon ที่ดำเนินการโดยผู้พิการทางการได้ยินมีอยู่ 4 สาขาได้แก่ สาขาสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาหอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา สาขา Skylane Bikelane สุวรรณภูมิ และเตรียมจะเปิดเพิ่มอีก 3 สาขาภายในปี 2562 นี้ โดยรายได้จากร้าน Café Amazon ที่ดำเนินงานโดยผู้พิการทางการได้ยิน จะนำไปเป็นกองทุนในการพัฒนาอบรมและฝึกอาชีพให้แก่ผู้พิการต่อไป

สำหรับผู้พิการ นอกจากการมีงานทำจะช่วยให้พวกเขามีรายได้ สิ่งเหล่านี้ยังมีความหมายมากกว่าปากท้อง เพราะอาชีพนั้นยังช่วยสะท้อนคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้พิการอีกด้วย