ThaiPublica > เกาะกระแส > โรดแมป ข้อตกลงอาเซียน “ปลอดหมอกควัน Haze-Free ปี 2020”

โรดแมป ข้อตกลงอาเซียน “ปลอดหมอกควัน Haze-Free ปี 2020”

4 เมษายน 2019


การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังอาเซียนครั้งที่ 23 (23rd ASEAN Finance Ministers’ Meeting) หรือ 23rd AFMM กับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนครั้งที่ 5 (5th ASEAN Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting) หรือ 5th AFMGM โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 เมษายน ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งกำลังตกอยู่ในสถานการณ์หมอกควันรุนแรงได้เริ่มขึ้นแล้วนั้น

ช่วงเวลาเดียวกัน ได้มีการประชุมคณะทำงานด้านเทคนิคเกี่ยวกับมลพิษหมอกควันข้ามประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 14( 14th Meeting of the Technical Working Group on Transboundary Haze Pollution in the Mekong Sub-Region :TWG Mekong) ที่กัมพูชา ซึ่งเริ่มขึ้นวันที่ 1 เมษายนและสิ้นสุดในวันที่ 7 เมษายน 2562

ขณะที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือของไทยประสบกับปัญหาหมอกควันที่กระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างหนัก จึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่าการประชุมคณะทำงานด้านเทคนิคเกี่ยวกับมลพิษหมอกควันข้ามประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 14 จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างยั่งยืนหรือไม่ และสามารถขับเคลื่อนบรรลุเป้าหมายอาเซียนปลอดหมอกควัน Haze-Free 2020 ได้อย่างชัดเจนหรือไม่

ในวันที่ 3 เมษายน คุณภาพอากาศทั้งในเชียงรายและเชียงใหม่ยังอยู่ในระดับอันตราย โดยค่า AQI ที่เชียงรายอยู่ที่ 204 และเชียงใหม่อยู่ที่ 177

ที่มาภาพ: https:// www. airvisual.com/thailand/chiang-rai
ที่มาภาพ: https:// www. airvisual.com/thailand/chiang-mai

จุดความร้อนรอบไทยใน CLMV

ปัญหาหมอกควันนี้เกิดทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยแผนที่ข้อมูลจุดความร้อน(Hotspot) ที่พบบนภาพถ่ายดาวเทียมในระบบ VIIRS ซึ่งบ่งชี้ตำแหน่งของจุดที่มีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณโดยรอบและคาดว่าน่าจะมีการเผาไหม้ ในวันที่ 2 เมษายน 2562 ที่เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบว่า จุดความร้อนในเมียนมา มีจำนวน 4,844 จุด ลาว 2,380 จุด เวียดนาม 452 จุด กัมพูชา 124 จุดส่วนจุดความร้อนใน 9 จังหวัดของไทยมีจำนวน 215 จุด

ที่มาภาพ: http://fire. gistda.or.th/fire/y2019/FR82_special/maps_allthai_npp/5_Thai_20190402_0000.jpg
ที่มาภาพ: http://fire. gistda.or.th/fire/y2019/FR82_special/maps_9prv/9_Prov_20190402.jpg

มกราคม-มีนาคมฤดูไฟป่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration:NASA) หรือนาซ่า ระบุว่า ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมของทุกปีจะเป็นฤดูไฟป่าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ โดยจะมีไฟป่าจุดเล็กๆเกิดจำนวนมากในพื้นที่ชนบทของเอเชียตะวันออกฉียงใต้ เนื่องจากช่วง 3 เดือนนี้เป็นช่วงที่อากาศเย็นสบายและแห้ง ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่ทำให้ไฟลุกง่าย

ในปี 2561 มีอยู่วันหนึ่งในกัมพูชาที่เกิดไฟป่ามากกว่าประเทศอื่นที่ใกล้เคียงโดยข้อมูลจุดความร้อนที่พบบนภาพถ่ายดาวเทียมในระบบ VIIRS มีสูงถึง 1,868 จุด ขณะที่พบในลาว 185 จุด เมียนมา 77 จุด ในไทย217 และเวียดนาม 114 จุด

ที่มาภาพ: https:// earthobservatory.nasa.gov/images/91771/its-fire-season-in-southeast-asia

ข้อมูลลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอในรอบหลายปีที่ผ่านมาและข้อมูลที่สำรวจโดยดาวเทียมยังพบว่าเพิ่มขึ้น 4-5 เท่าในกัมพูชา เวียดนามและไทยระหว่างเดือนสิงหาคม 2559 ถึงกุมภาพันธ์ 2561 ขณะที่จุดความร้อนในลาวเมื่อเปรียบเทียบแล้วก็มีจำนวนที่มากกว่า

องค์การนาซาให้เหตุผลของการเผาไฟในเอเชียตะวันเฉียงใต้ไว้หลายข้อ ในพื้นที่ป่าบางแห่ง เกษตรกรรายย่อยมักใช้วิธีฟันพืชผล หรือต้นไม้ทิ้งให้แห้งแล้วเผา เพื่อเตรียมดินทำการเกษตร บางส่วนเผาเพื่อไล่ให้สัตว์ป่าออกมา บางส่วนเผาเพื่อเก็บเห็ด ส่วนในพื้นที่ที่ไม่ใช่ป่า เกษตรก็ใช้วิธีเผาตอไม้หรือตอซังฟางข้าวหลังจากเก็บเกี่ยว หรือบางครั้งเกิดจากความมักง่ายของคนที่ทิ้งก้นบุหรี่ลงพื้น

อินโดนีเซียเกิดซ้ำซาก

ปัญหาหมอกควันในอาเซียนปีนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะที่ประเทศไทย เพราะในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จังหวัดรีอาวบนเกาะสุมาตราประกาศ ภาวะฉุกเฉิน ในเป็นเวลานาน 8 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควัน

สำนักงานบริหารจังหวัดประกาศภาวะฉุกเฉินในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นาย วัน ธัมริน ฮัสอิมกล่าวว่า ไฟที่เกิดในป่าพรุได้กระจายพื้นที่ในวงกว้างช่วง 2-3 สัปดาห์นี้

นาย ซูโตโป ปูร์โว นูโกรโฮ โฆษกสำนักงานบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ National Disaster Mitigation Agency กล่าวว่า ไฟในป่าพรุเกิดจากการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ ทำให้เกิดหมอกควันปกคลุมทั่วไป

เกษตรกรยังคงใช้วิธีการตัดแล้วเผาซึ่งผิดกฎหมาย เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกปาล์มน้ำมันและยูคาลิปตัสเพื่อป้อนอุตสาหกรรมกระดาษและเยื่อกระดาษ

ไฟป่าในจังหวัดรีอาวได้กระจายออกไปเมืองใกล้เคียงกินพื้นที่ราว 1,700 เฮกตาร์ หมอกควันจึงปกคลุมหลายพื้นที่เช่นกัน

ในปี 2561 เดือนกุมภาพันธ์ ผู้วาราชการจังหวัดรีอาวได้ประกาศภาวะฉุกเฉินจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม ก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม 2559 ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินมาแล้วจากปัญหาหมอกควันจากไฟป่าเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ปี 2558 อินโดนีเซียประสบปัญหาหมอกควันปกคลุมเกาะสุมาตราและกลิมันตันมาแล้ว ที่จังหวัดรีอาวเช่นกัน ส่งผลกระทบเศรษฐกิจถึง 16.5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.9% ของจีดีพี รวมทั้งยังมีผลต่อสิ่งแวดล้อมเพราะไฟป่าเผาพื้นที่เพาะปลูกและป่า 2.6 ล้านเฮกตาร์ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนราว 1.75 พันล้านตันมากกว่าการปล่อยมลพิษของญี่ปุ่นและเยอรมนีรวมกันอีก ตลอดจนมีผลให้มีการสั่งปิดโรงเรียนและประชาชนเป็นโรคทางเดินหายใจทั่วภูมิภาคและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจำนวนมาก 100,000 คน เพราะหมอกควันยังลอยไปถึงประเทศไทย สิงคโปร์และมาเลเซีย

ข้อมูลจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ปี 2559 ระบุว่า จุดความร้อนในประเทศลดลงจาก 70,971 ในปี 2558 มาที่ 9,245 จุดในปี 2561

ที่มาภาพ:https:// www.straitstimes.com/asia/se-asia/fire-burns-almost-1700-hectares-of-land-forests-in-riau-as-haze-spreads

มาเลเซียไหม้กระจายหลายจุด

สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม 2562 ได้เกิดไฟป่าที่ตรังกานู ของมาเลเซียที่กินพื้นที่เกือบ 300 เฮกตาร์ และใช้เวลากว่า 2 สัปดาห์ในการดับไฟ ขณะที่รัฐยะโฮร์ ติดชายแดนสิงคโปร์มีไฟไหม้เกิดขึ้น 1,443 จุด ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ สำนักงานดับเพลิงของยะโฮร์ระบุว่า 141 จุดเป็นไฟป่าแต่อีก 879 เป็นไฟจากพุ่มไม้ นอกจากนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ยังเกิดไฟป่าพรุรัฐปาหังในเนื้อที่ราว 40 เฮกตาร์ ขณะที่ปี 2559 รัฐปาหังประสบกับไฟป่าพรุในเนื้อที่ 70 เฮกตาร์มาแล้ว ส่วนรัฐกลันตันประสบปัญหาไฟป่าเช่นกัน

เหตุการณ์ไฟป่าทำให้ค่าคุณภาพอากาศ(Air Pollutant Index:API) ในมาเลเซียสูงขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้อำนาจผู้บริหารโรงเรียนในการสั่งปิดหรือจำกัดกิจกรรมในพื้นที่โล่ง

Haze-free ASEAN 2020 Roadmap

ปัญหาหมอกควันในภูมิภาคจากไฟป่าที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและประชากรในอาเซียน โดยเฉพาะสถานการณ์ที่รุนแรงในปี 2558 จากการเผาสวนปาล์มในอินโดนีเซียที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศอื่นๆ ทำให้ในเดือนสิงหาคม 2559 ได้เห็นชอบแผนความร่วมมือป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน หรือ Roadmap เพื่อขับเคลื่อนบรรลุเป้าหมายอาเซียนปลอดหมอกควัน ในปี 2563 หรือ Haze-Free 2020 หลังจากที่ปี 2545 ได้ลงนามในข้อตกลงการป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน( ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution :AATHP) ไปแล้ว

Roadmap ฉบับนี้เป็นกรอบการดำเนินงานที่จะดึงความร่วมมือการปฏิบัติงานร่วมกันของประเทศสมาชิกในการควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน โดยกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า อาเซียนปลอดหมอกควัน ในปี 2563 หรือ “Transboundary Haze-Free ASEAN by 2020” ที่ครอบคลุมมลพิษจากไฟป่าหรือการเผาพื้นที่ทำกิน โดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน คือ

    1.จำนวนวันที่คุณภาพอากาศดีต้องเพิ่มขึ้นหรือค่า AQI ค่าฝุ่น PM2.5 PM10 ต้องอยู่ในระดับ Moderate ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 2.ลดจำนวนจุดความร้อนลงให้ต่ำกว่าการเตือนระดับ 2 ตามเกณฑ์ของมาตรฐานวิธีปฏิบัติของอาเซียน(ASEAN SOP)
    3.ลดพื้นที่ที่ได้รับมลพิษจากหมอกควัน
การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนมห้ความเห็นชอบ Haze-free Roadmap 2020 ที่มาภาพ:http://haze.asean.org/2016/08/12th-meeting-of-the-conference-of-the-parties-to-the-asean-agreement-on-transboundary-haze-pollution/?share%3Demail

สำหรับยุทธศาสตร์ของโรดแมปนี้มี 8 ข้อหลัก คือ

หนึ่ง ขับเคลื่อนข้อตกลงการป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดทำความตกลงก่อตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียนสำหรับการควบคุมหมอกควันข้ามพรมแดนอย่างเต็มรูปแบบ (the Establishment Agreement and Host Country Agreement of the ASEAN Coordinating Centre for Transboundary Haze Pollution Control: ACC THPC)

สอง บริหารและป้องกันไฟจากพื้นที่ป่าพรุอย่างยั่งยืน ข้อนี้เสริมยุทธศาสตร์การบริหารป่าพรุอย่างยั่งยืนปี 2549-2563 (ASEAN Peatland Management Strategy(APMS) 2006-2020 และ โครงการบริหารระบบนิเวศป่าพรุอย่างยั่งยืนปี 2557-2563(ASEAN Programme for Sustainable Management of Peatland Ecosystems :APSMPE) 2014-2020

ตัวชี้วัดของยุทธศาสตรข้อนี้คือ จำนวนจุดความร้อนที่ลดลงในพื้นที่ป่าพรุ พื้นที่ป่าพรุที่ไฟไหม้ลดลง ลดการเผาที่ได้รับอนุญาตลง เพิ่มพื้นที่ป่าพรุที่ได้รับการคุ้มครองมากขึ้น และเพิ่มจำนวนป่าพรุที่ไม่มีการเผาไหม้ให้มากขึ้น โดยความร่วมมือของธุรกิจและชุมชน

ส่วนแนวปฏิบัติและกรอบการดำเนินการ คือ

    1. สำรวจรวบรวมป่าพรุในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและฟิลิปปินส์ และมีการจัดทำแยกข้อมูลพื้นที่ที่ชัดเจนรวมทั้งประเมินสภาพ ส่วนในอาเซียนตอนใต้นั้นให้ประเมินสภาพป่าพรุให้เสร็จสมบูรณ์

    2 นำแผนของประเทศและแนวความร่วมมือระดับภูมิภาคไปปฏิบัติใช้สำหรับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและฟิลิปปินส์ ส่วนอาเซียนตอนใต้ให้ปฏิบัติตามแผนของประเทศและรายงานความคืบหน้า

    3. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและป่าพรุแบบองค์รวม

    4. เร่งลดการเผาป่าพรุให้เป็นศูนย์และควบคุมการอนุญาตให้เผาตามที่จำเป็น

    5. เพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองทรัพยากรที่ลดลงรวดเร็วและดับไฟป่าให้เร็ว

    6.ฟื้นฟูป่าที่ถูกเผาไหม้ ด้วยการมุ่งที่สาเหตุของการเกิดไฟไหม้

    7. ให้ความสำคัญกับป่าพรุ

สาม บริหารพื้นที่เกษตรกรรมและป่าขนาดใหญ่ หรือการป้องกันไฟป่า

การป้องกันพื้นที่เกษตรกรรมและป่าจากไฟต้องมีกลไกบริการพื้นที่เกษตรและป่าแบบยั่งยืน กฎเกณฑ์ต้องมีประสิทธิภาพในทุกระดับ รวมทั้งต้องมีการวางแผนเพื่อนำไปใช้ ดังนั้นต้องมีการส่งเสริมไม่ให้มีการเผาและควบคุมการเผาพื้นที่เกษตรกรรมและป่าและต้องผลักดันอย่างเข้มแข็ง นอกจากนี้อาจจะต้องให้สิทธิประโยชน์สำหรับแนวปฏิบัติที่ทำให้ไม่มีการเผาเลยหรือมีไม่มีมลพิษหมอกควัน มาตรการป้องกันต้องประเมินจากต้นเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟป่าและพื้นที่ในวงกว้าง

สำหรับตัวชี้วัดได้แก่ จำนวนจุดความร้อนที่ลดลง พื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ลดลง ลดการเผาในพื้นที่เกษตรและป่า จำนวนกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นหรือการให้สิทธิประโยชน์แก่แนวปฏิบัติจูงใจไม่ให้เผา และการนำกฎระเบียบไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อจูงใจไม่ให้มีการเผา

กรอบในการปฏิบัติ ได้แก่

    1. ประเมินต้นเหตุและจัดทำมาตรการป้องกันตามลำดับความสำคัญ
    2.จัดทำแผนอนุรักษ์และคุ้มครองป่าอย่างยั่งยืนและนำแผนไปปฏิบัติ
    3. เสริมการป้องกันไฟป่าและไฟในพื้นที่ขนาดใหญ่
    4.ควบคุมการลุกไหม้ของไฟด้วยการตรวจสอบ
    5. ส่งเสริมและสนับสนุนไม่ให้มีการเผาและควบคุมการจัดการกับการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม
    6. พัฒนาและส่งเสริมแนวทางการควบคุมการเผา โดยเฉพาะแรงงานที่รับเก็บเกี่ยวผลผลิตและเกษตรกรรายย่อย
    7. ส่งเสริมแนวทางที่เหมาะสมในการทิ้งหรือใช้ขยะเกษตร เช่นการพัฒนาตลาดสำหรับการใช้ชีวมวล

สี่ เสริมความเข้มงวดของนโยบาย กฎหมาย กฎเกณฑ์และการนำไปปฏิบัติ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ห้า เสริมความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลและเทคโนโลยี เพิ่มความเข้มแข็งให้สถาบันทุกระดับ

หก เสริมการรับรู้ของสาธารณชนและทุกภาคส่วน และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย

เจ็ด การมีสรรพกำลังที่เพียงพอจากผู้มีส่วนได้เสียหลายกลุ่ม เพื่อป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน

แปด ลดความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมและปกป้องสิ่งแวดล้อมโลก

เรียบเรียงจาก environmentalpaper,jakartapost,straitstimes,malaysianinsight,aseanpost,
,