อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คือนักเศรษฐศาสตร์ นักการศึกษา ที่มีบทบาทในสังคมไทยตั้งแต่ปี 2492-2519 ในอดีตอาจารย์ป๋วยเคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ทำงานควบคุมทั้งนโยบายด้านการเงิน การคลังและงบประมาณของประเทศ นอกจากนี้อาจารย์ป๋วยยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงนับได้ว่าเป็นหนึ่งใน “ปูชนียบุคคล” สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกล มุ่งหวังจะเห็นคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย การมีรัฐสวัสดิการพื้นฐาน ไปจนถึงการประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างข้าราชการผู้ยึดมั่นในเกียรติยศ ศักดิ์ศรี จนมีผู้ยกย่องว่าอาจารย์ป๋วยเป็น “คนที่ซื่อสัตย์พอที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นซื่อสัตย์ตามได้”
ในวันที่อาจารย์ป๋วยได้รับ รางวัลแมกไซไซ สาขาการทำงานในภาครัฐคนแรกของประเทศเมื่อปี 2508 คณะกรรมการฯ ได้ประกาศเกียรติคุณอาจารย์ป๋วยไว้ว่า “การปฏิบัติงานของ ดร.ป๋วย เป็นเครื่องยืนยันว่า บุคคลเพียงผู้เดียวเท่านั้น ก็สามารถจะเป็นกำลังสำคัญในอันที่จะนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศตนได้ แม้กระทั่งในยามที่มีการทุจริตในวงราชการเกิดขึ้นอยู่เสมอในประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศ”
ครั้นเมื่ออาจารย์ป๋วยมีชาตกาลครบ 100 ปี ทางองค์การ UNESCO ได้ประกาศให้ท่านเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พร้อมยกย่องให้ท่านเป็น “บิดาแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจไทยยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งเป็นนักการศึกษาและข้าราชการที่โดดเด่น มีจริยธรรมอย่างหาที่ติมิได้”
จากมุมมองของอาจารย์ป๋วย ว่าด้วย “คุณภาพชีวิต” ตลอดช่วงอายุคนเรานั้น นับว่ามีความหมายอย่างยิ่งสำหรับคนไทย สำคัญมากเท่าๆ กับการพัฒนาคุณภาพของระบบการศึกษา นอกจากการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้แล้ว การมีพื้นที่สีเขียว มีสวนสาธารณะก็จำเป็นสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของทุกคนด้วย เช่นที่อาจารย์ป๋วยเขียนในบทความ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ว่า “ผมจำเป็นต้องมีเวลาว่างสำหรับเพลิดเพลินกับครอบครัว มีสวนสาธารณะที่เขียวชอุ่ม สามารถมีบทบาทและชมศิลปะ วรรณคดี นาฏศิลป์ ดนตรี วัฒนธรรมต่างๆ เที่ยวงานวัด งานลอยกระทง งานนักขัตฤกษ์ งานกุศลอะไรได้พอสมควร”
และประโยคที่บอกว่า “ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ” ที่เขียนไว้ในบทความ ‘คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ตั้งแต่ปี 2516 ยังถูกนำมาโพสต์และแชร์กันอย่างกว้างขวางในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัด เผชิญปัญหากับมลพิษ PM 2.5
จะเห็นว่าแม้เวลาผ่านมาเนิ่นนานเกือบ 50 ปีแล้ว แต่ข้อเขียน ความคิด และความหวังของอาจารย์ป๋วยยังคงร่วมสมัยอยู่เสมอ เฉกเช่นเดียวกับงานด้านต่างๆ ที่อาจารย์ป๋วยริเริ่มไว้ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งท่านเป็นผู้วางรากฐาน ก็ยังคงสานต่อมาอย่างไม่ขาดสาย
จดหมายส่วนตัวของอาจารย์ป๋วยชิ้นหนึ่ง ที่เขียนไปถึง นายปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2513 ระหว่างที่อาจารย์ป๋วยทำงานเป็นศาสตราจารย์รับเชิญ มหาวิทยาลัยปรินสตัน รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา
อาจารย์ป๋วยแสดงความประสงค์ที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ร่มรื่น มีพื้นที่สีเขียวมากพอเพื่อสร้างบรรยากาศรื่นรมย์ นับเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาและเหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของทุกคนด้วยเช่นเดียวกัน
“มหาวิทยาลัยและเมืองที่นี่สวยงาม ร่มรื่นดี มีต้นไม้สนามหญ้ามากน่าดู ทำให้ผมนึกว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ท่าพระจันทร์ คงจะทำอย่างนี้ไม่ได้ แต่ที่ใหม่ที่จะไปสร้างที่รังสิต (โดยยังเก็บท่าพระจันทร์ไว้) คงจะทำได้”
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงนับเป็นสถานศึกษาที่เต็มไปด้วยความรัก ความผูกพัน และเกี่ยวข้องกับอาจารย์ป๋วยมาเกือบตลอดทั้งชีวิต เพราะท่านไม่เพียงเป็นศิษย์เก่า เป็นอาจารย์ เป็นคณบดี และยังเป็นอธิการบดีอีกด้วย
แม้บั้นปลายชีวิต อาจารย์ป๋วยจะต้องเดินทางไปพำนักอยู่ในประเทศอังกฤษ ด้วยปัญหามรสุมทางการเมืองช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่ลูกศิษย์และผู้คนในสังคมที่ยึดมั่นอุดมการณ์และศรัทธาในปูชนียบุคคลต้นแบบ ยังคง ขับขาน สานต่อ แนวความคิดของอาจารย์ป๋วย ไม่เพียงจัดระบบการศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิตเป็นมนุษย์ที่ดี เป็นพลเมืองดี เป็นผู้มีความสามารถในการประกอบวิชาชีพเท่านั้น และในโอกาสที่อาจารย์ป๋วยครบรอบ 100 ปีชาตกาล เมื่อปี พ.ศ. 2559 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้มีโครงการสร้างอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี บนพื้นที่ 100 ไร่ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้เป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่พักผ่อนของประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่และลานสำหรับออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ ของทั้งเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุแล้ว ยังมีลู่วิ่ง เส้นทางจักรยาน เส้นทางเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และประชาธิปไตย อยู่ภายในสวนอีกด้วย
สำหรับพื้นที่ก่อสร้าง “สวนป๋วย” อยู่ติดถนนพหลโยธิน อยู่ระหว่างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติและศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ การออกแบบเน้นเปิดกว้างสำหรับประชาชนที่มาใช้บริการโรงพยาบาลและศูนย์ประชุม พร้อมเชื่อมโยงผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านรังสิต สามารถเข้ามาใช้พื้นที่สวนสาธารณะแห่งนี้ร่วมกันนักศึกษาและประชาคมธรรมศาสตร์ ดังเจตนารมณ์ของอาจารย์ป่วยที่ปรารถนาจะสร้างคุณภาพชีวิตและความเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน…ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
‘สวนป๋วย’ สวยได้ด้วยน้ำใจของทุกคน
การก่อสร้าง “สวนป๋วย” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดให้มีการระดมทุน โดยมีเป้าหมายที่ 150 ล้านบาท และเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ป๋วย 9 มีนาคม 2562 (ครบ 103 ปีชาตกาล) จึงขอเชิญชวนท่านที่สนใจร่วมสมทบทุนสร้าง “สวนป๋วย” ได้ทาง E-Donation ผ่าน QR Code นี้ สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โครงการระดมทุนจัดสร้าง “สวนป๋วย” โทรศัพท์ 0-2613-2045, 08-3331-6000 อีเมล [email protected] หรือไลน์ pueypark