ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk
วันนี้ผมขอถือโอกาสมาเขียนถึงสาเหตุสำคัญสามประการที่ทำให้การใช้โซเชียลมีเดียเยอะๆ สามารถส่งผลที่ไม่ดีต่อสุขภาพจิตของเรานะครับ
1) คนเราส่วนใหญ่มักจะชอบนำเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นในที่ทำงาน หรือในห้องเรียน แต่โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่ boost อัตราการเปรียบเทียบที่เราทำในแต่ละวัน (พูดง่ายๆ ก็คือทุกครั้งที่ log in) ลองนึกดูนะครับ ในชีวิตของเราตอนที่ยังไม่มี Facebook หรือ Instagram นั้น โอกาสที่เราจะนำเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราออกไปพบเจอกับคนที่อยู่ใน reference group ของเราข้างนอกบ้าน (ซึ่งก็คือเพื่อนบ้าง คนข้างบ้านบ้าง) แต่พอมีโซเชียลมีเดียขึ้นมา ทีนี้การเปรียบเทียบสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะนอนเล่นอยู่ที่บ้าน หรือตอนที่เรากำลังนั่งส้วมอยู่ก็ตาม
2) ในโลกแห่งความเป็นจริงของเรานั้นมีดัชนีแห่งความสำเร็จหลายอย่างที่เราสามารถเลือกนำมาใช้ยืนยันในสิ่งที่เราทำเพื่อที่จะทำให้เรารู้สึกดีกับสิ่งที่เราเลือกทำได้ อย่างเช่นการตัดสินใจเลือกอาชีพสักอาชีพหนึ่ง ถึงแม้ว่ารายได้ของอาชีพนั้นจะไม่ดี แต่เราอาจจะบอกกับตัวเองได้ว่า “อย่างน้อยเราก็ทำในสิ่งที่เรารัก” ซึ่งการได้ทำในสิ่งที่เรารักก็เป็นดัชนีแห่งความสำเร็จตัวหนึ่งที่เราสามารถนำมา rationalise ในการเลือกของตัวเองได้
แต่ในโซเชียลมีเดียนั้น มิติของดัชนีแห่งความสำเร็จถูกทำให้ลดลงจากที่เคยมีอยู่หลายมิติจนเหลือแค่เพียงไม่กี่มิติ อย่างเช่นการกดไลก์ การแชร์ หรือจำนวนคนดู ซึ่งการมีตัววัด หรือ metric ที่ค่อนข้างจะพื้นฐานอย่างนี้สามารถทำให้คนเราตัดสินความสำเร็จของสิ่งที่เราทำ หรือสิ่งที่เราเป็นแค่ในมิติของการไลก์ การแชร์ และจำนวนคนดูเท่านั้น ซึ่งก็ทำให้การหาเหตุผลของการที่เรา fail ในมิติพวกนี้นั้นทำได้ยากกว่าการไม่มี metric พวกนี้เป็นตัววัดของความสำเร็จมาก
ยิ่งไปกว่านั้น การมี metric ที่มีตัวเลขในการบ่งบอกความสำเร็จอย่างชัดเจน (“โพสต์นี้มีคนไลก์กี่คน คนแชร์กี่คน”) ก็ยิ่งทำให้เรากลายเป็น bean counter (คนนับถั่ว) ไปโดยปริยาย พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เรา fail เราก็จะเห็นความ fail นั้นชัดเจนมากกว่าถ้าตัววัดความสำเร็จไม่มีตัวเลขบ่งบอกอย่างชัดเจน
3) ชีวิตของคนอื่นที่เราเห็นบนโซเชียลทุกคนไม่ใช่ชีวิตของเขาจริงๆ มันเป็นเพียงแค่เสี้ยวชีวิตแค่เสี้ยวเดียวที่เขาอยากให้คนอื่นๆ เห็นเท่านั้น ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ทุกๆ คนที่ใช้โซเชียลต่างก็รู้กันดีว่ามันเป็นสิ่งที่ตัวเองทำ แต่ปัญหาก็คือ ถึงแม้ว่าต่างคนต่างรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองเขียน หรือสิ่งที่ตัวเองโพสต์เกี่ยวกับตัวเองเป็นเพียงแค่ small sample ของตัวเขาเองจริงๆ แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่คิดว่านั่นเป็นสิ่งที่คนอื่นๆ เขาก็ทำเหมือนกัน กลับเป็นว่า คนส่วนใหญ่กลับคิดว่าคนอื่นๆ ที่เขาดูมีความสุขตลอดเวลาบน Facebook พวกเขามีความสุขตลอดเวลาจริงๆ (ซึ่งไม่ใช่ความจริงเลย) ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคนเราแต่ละคนรู้ว่าแท้จริงตัวเองกำลังทำอะไรอยู่มากกว่ารู้ว่าแท้จริงคนอื่นเขากำลังทำอะไร