ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 5-11 ม.ค. 2562
เล็งเลื่อนเลือกตั้ง – วิษณุแจง เพื่อไม่กระทบพระราชพิธีฯ แต่ไม่เกิน 9 พ.ค.

ที่มาภาพ: เว็บไซต์บีบีซีไทย (http://bbc.in/2iVEZVZ)
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2562 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงประเด็นการเลื่อนเลือกตั้งว่า การหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันนี้จะหารือแนวทางการดำเนินกิจกรรมการเลือกตั้งอย่างไรไม่ให้ทับซ้อนกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เนื่องจากพระราชพิธีฯ จะอยู่ในห้วงเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้นจึงจะหารือกับ กกต. ว่ากำหนดวันเลือกตั้งยังคงเป็นวันที่ 24 ก.พ. 2562 หรือไม่ แต่หากจะต้องขยับวันเลือกตั้ง ก็ต้องพิจารณาความเหมาะสมว่าจะขยับวันอย่างไร ซึ่งต้องสอดคล้องกับขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญและขั้นตอนตามพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยข้อสรุปทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับ กกต. พิจารณา
“ต้องจัดตารางกิจกรรมการเมืองให้ลงล็อก ไม่ให้กระทบงานพระราชพิธี ซึ่งกระบวนการหลังการเลือกตั้งเดิมจะกระทบกับพระราชพิธี เช่น 24 ก.พ. เลือกตั้ง จะทำให้ 24 เม.ย. ประกาศผลจะตรงกับพระราชพิธีบางอย่าง” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนจะขยับวันเลือกตั้งไปในช่วงใดนั้นขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ แต่ยืนยันต้องดำเนินการภายใน 150 วันตามกรอบกฎหมาย ซึ่งต้องไม่เกินวันที่ 9 พ.ค. นี้ และไม่สามารถจัดการเลือกตั้งหลังงานพระราชพิธีฯได้ เพราะจะเกินกรอบ 150 วัน
ทั้งนี้ไม่ว่าจะกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันใดก็ตาม จะต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน และหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ต้องเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฏรภายใน 15 วัน
“ต้องดูว่ากิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ไปตรงล็อคกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือไม่ ถ้าตรงล็อคเราขยับพระราชพิธีไม่ได้ แล้วเราก็ขยับวันเวลากิจกรรมการเมืองไม่ได้ เพราะเดินหน้าไปแล้ว เพราะฉะนั้นอาจจะต้องยกวันเลือกตั้งออกไปจากเดิม เพื่อคำนวณกิจกรรมหลังจากนั้น ไม่ให้ไปทับซ้อน เราจะทำแบบนี้ได้คือต้องเอาปฏิทินการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์มาวาง แล้วไล่เรียงดูว่าหลังวันเลือกตั้งแล้วต้องทำกิจกรรมการเมืองอย่างไรและเมื่อใด ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นไม่ใช่กิจกรรมกำหนดเองส่งเดช แต่เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ทั้งสิ้น ตอนนั้นกำหนดโดยไม่มีพระราชพิธีฯวันนี้ต้องเอาปฏิทินพระราชพิธีฯลงไป แล้วคุณจะเห็นความทับซ้อนขึ้นทันที เพราะฉะนั้นจึงอาจจำเป็นต้องมีปฏิทินแผ่นที่ 3 ว่าหากขยับแล้ว วันใดเป็นวันที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งเราต้องการเร็วที่สุดและต้องไม่ทับซ้อนเท่านั้นเอง” นายวิษณุกล่าว
#SaveRahaf – สาวซาอุฯ หนีครอบครัวกดขี่ถูกกักตัวในไทย – ออสเตรเลียอนุมัติคำขอลี้ภัยแล้ว

#SaveRahaf กลายเป็นแฮชแท็กที่ร้อนแรงของโลกออนไลน์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อนางสาวราฮาฟ โมฮัมเหม็ด มุตลัก อัลกุนุน หญิงชาวซาอุดีอาระเบียวัย 18 ปี ถูกจับกุมตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากไม่มีเอกสารเดินทาง
นางสาวราฮาฟหนีจากครอบครัวขณะเดินทางไปยังประเทศคูเวต ส่วนสาเหตุนั้นก็เนื่องจากถูกครอบครัวกดขี่ตามความเชื่อทางศาสนา โดยจากรายงานของวอยซ์ทีวีนั้น ราฮาฟเล่าว่า เธอถูกครอบครัวขังอยู่ในห้องนานถึง 6 เดือน เพียงเพราะเธอไปตัดผม โดยครอบครัวเธอมองว่า การตัดผมเป็นการทำผิดหลักศาสนา เพราะผู้หญิงไม่ควรตัดผมเหมือนผู้ชาย และนอกจากนี้ เธอยังถูกพี่ชายทำร้ายร่างกาย ขณะเดียวกัน เธอได้เลิกนับถือศาสนาอิสลามแล้ว แต่ครอบครัวของเธอไม่พอใจอย่างมาก และบังคับให้เธอสวมฮิญาบต่อไป เธอจึงตัดสินใจหลบหนีจากครอบครัวมาขณะเดินทางไปคูเวตพร้อมกับครอบครัว โดยเธอซื้อตั๋วเครื่องบินไปประเทศออสเตรเลียซึ่งต้องมาเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศไทย แต่ก็ถูกจับกุมเสียก่อน
ส่วนสาเหตุที่ถูกจับกุมที่สนามบินสุวรรณภูมิเพราะไม่มีเอกสารเดินทางนั้น เนื่องจากครอบครัวของเธอแจ้งความเรื่องเธอหลบหนีออกจากบ้านไว้ ทำให้ทางการซาอุดีอาระเบียยึดพาสปอร์ตของเธอเมื่อเดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งนั้นทำให้เธอเดินทางต่อไปยังประเทศออสเตรเลียไม่ได้ แม้จะมีวีซ่าแล้วก็ตาม
ราฮาฟขอความช่วยเหลือผ่านโซเชียลมีเดีย และนั่นทำให้แฮชแท็ก #SaveRahaf ร้อนแรงขึ้นมาในโลกออนไลน์ จนกลายเป็นข้อสังเกตหนึ่งว่า การเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลไทยอาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความตื่นตัวของสังคมออนไลน์นี้ เพราะทีแรกนั้น พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะไม่มีการส่งต่อนางสาวราฮาฟไปยังประเทศที่สาม แต่จะส่งตัวกลับประเทศซาอุดีอาระเบีย
อย่างไรก็ดี ล่าสุด เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานการเปิดเผยของ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ว่า ประเทศออสเตรเลียได้อนุมัติคำร้องขอลี้ภัยของนางสาวราฮาฟแล้ว โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อยู่ระหว่างการประสานงาน
นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานว่า ประเทศแคนาดา ก็ยินดีที่จะรับนางสาวราฮาฟ ให้เดินทางเข้าประเทศในฐานะผู้ลี้ภัยเช่นกัน โดยแจ้งให้นางสาวราฮาฟ ได้รับทราบแล้ว และอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่า จะลี้ภัยไปยังประเทศใด ซึ่งขณะนี้นางสาวราฮาฟยังคงพักอยู่ในประเทศไทย โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้การดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด ซึ่งเว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า นางสาวราฮาฟ ได้ตัดสินใจจะเดินทางไปประเทศแคานาดา ด้วยเที่ยวบินเวลา 23.15 น. ของคืนวันที่ 11 ม.ค. 2562
กรุงเทพคริสเตียนทดลองให้นักเรียนแต่งไปรเวท – สพฐ. ยัน “ขัดระเบียบ” – สช. ร่อนหนังสือจี้ทบทวน

- โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนทดลองให้นักเรียนสามารถแต่งกายชุดไปรเวทไปเรียนได้ในทุกวันอังคาร
- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีหนังสือแจ้งให้ทบทวนความเหมาะสมของเรื่องดังกล่าว
- สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยืนยันว่า ไม่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานกับโรงเรียนของรัฐได้ เนื่องจากขัดกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการเรื่องเครื่องแบบนักเรียน
- ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนยอมรับว่าจะทบทวน แต่ยังไม่ยกเลิก
วันที่ 8 มกราคม 2562 เป็นวันแรกที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยอนุญาตให้นักเรียนสามารถแต่งกายด้วยชุดไปรเวทมาเรียนอาทิตย์ละหนึ่งวัน (วันอังคาร) ซึ่งได้สร้างสีสันเป็นกระแสข่าวขึ้นในโลกออนไลน์ ทั้งในแง่ที่สนับสนุนและในทางคัดค้าน
เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ในวันดังกล่าว นายศุภกิจ จิตครองทรัพย์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ออกมาชี้แจงกฎกติกาการแต่งชุดไปรเวทให้กับเด็กนักเรียนที่หน้าเสาธง รวมถึงอธิบายเหตุผลให้เด็กได้เข้าใจ เพื่อไปชี้แจงผู้ปกครองบางคนที่ยังไม่เข้าใจ และไม่เห็นด้วย อีกทั้งบอกเหตุผลกับผู้สื่อข่าวที่ให้ความสนใจมาทำข่าว ว่า การอนุญาตให้เด็กชั้นมัธยมใส่ชุดไปรเวทมาเรียนหนังสือ ทางโรงเรียนหารือร่วมกันนานกว่า 10 ปี โดยอ้างอิงงานวิจัยที่รายงานต่างประเทศ ว่า ชุดไปรเวทจะทำให้เด็กลดแรงกดดัน และกล้าแสดงออกมากขึ้น จึงทำการวิจัยเรื่องดังกล่าวว่าจริงหรือไม่ อีกทั้งอยากให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนแห่งความสุข และให้เด็กได้เรียนรู้ความเหมาะสมของการอยู่ร่วมกันในสังคม และการปฏิบัติตัวให้เป็นที่ยอมรับในสังคม
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้มีหนังสือแจ้งไปยังโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ขอให้โรงเรียนทบทวนเรื่องดังกล่าวว่ามีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด ถึงแม้โรงเรียนได้ชี้แจงว่าเป็นการทดลองทำวิจัยเรื่องการแต่งเครื่องแบบนักเรียน แต่ สช. ก็ห่วงใยเรื่องความมีระเบียบ วินัย เรียบร้อย ผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง การดูแลเด็กของครู บริบทของสังคมไทย และปัญหาสังคมที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งโรงเรียนต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้และดูความเหมาะสมด้วย
ส่วนเว็บไซต์ PPTVHD36 รายงานว่า จาก ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ที่ระบุชัดเจนว่าโรงเรียนสังกัดรัฐบาลกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบที่โรงเรียนกำหนดเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ตามมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ หากจะใช้เครื่องแบบเป็นอย่างอื่น เช่น ชุดลำลอง ชุดไทย ต้องได้รับอนุญาตจากศึกษาธิการจังหวัดก่อนจึงจะสามารถทำได้ นายอัมพร พินะสา ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุว่า เมื่อระเบียบกำหนดไว้เช่นนี้ โรงเรียนของรัฐจึงไม่สามารถทำเช่นเดียวกับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
อย่างไรก็ดี ตามรายงานของของ Workpoint News – ข่าวเวิร์คพอยท์ นายศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ยอมรับว่าจะมีการทบทวนในเรื่องดังกล่าว แต่จะยังไม่ยกเลิก
นอกจากนี้ ต่อข้อกังวลที่ว่าชุดไปรเวทจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้นั้น นายศุภกิจ ได้ตอบคำถามกับทาง Workpoint News ไว้ดังนี้
“โรงเรียนมันเป็นที่ฝึกคน เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่สถานในฝันที่จะมีต้องมีแต่สิ่งที่ดีเท่านั้น ที่ฝึกคนแปลว่าคนที่เข้ามาไม่ว่าจะเป็นคนรูปแบบไหนก็ตาม โรงเรียนมีหน้าที่ที่จะพัฒนาขัดเกลาเค้าให้ออกไปเป็นเพชรของสังคม นั่นหมายความว่า ยิ่งถ้าเกิดเรามีข้อมูลว่ามันมีความเหลื่อมล้ำ เกิดความเหลื่อมล้ำ เราก็จะได้เอาข้อมูลเหล่านั้นมาสอนเด็กมาฝึกเด็กให้เค้าเรียนรู้ว่า ความรวยกับความจนเป็นสิ่งที่ไม่ได้มาจากเค้า แต่เค้าต้องเคารพที่จะเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันได้”
“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นั่งประธานบริษัทคุมท่าเรือซัวเถา

ที่มาภาพ: https://goo.gl/ttnWqU
เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า วันที่ 8 ม.ค. 2561 เว็บไซต์ ไค่ซินโกลบอล รายงานจากแหล่งข่าวแวดวงธุรกิจจีนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของไทย ดำรงตำแหน่ง ประธาน และผู้แทนโดยชอบธรรมของ บริษัท ซัวเถา อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัลส์ จำกัด (Shantou International Container Terminal) หรือ เอสไอซีที บริษัทบริหารท่าเรือในเมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศจีน
ด้านเว็บไซต์เดอะเปเปอร์ระบุเพิ่มเติมว่า ข้อมูลธุรกิจของบริษัทเอสไอซีทีมีการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้แทนโดยชอบธรรมของบริษัท จากเดิมคือนายหลิน ต้าฉี เป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 12 ธ.ค. 2561 โดยเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นก่อน นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางไปเยี่ยมญาติฝั่งบิดาที่เมืองซัวเถา เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา
กษัตริย์มาเลเซียสละราชสมบัติ
เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า สมเด็จพระราชาธิบดีมูฮัมหมัดที่ 5 ประมุขแห่งรัฐมาเลเซีย ทรงประกาศสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 6 ม.ค. โดยมีผลในทันที หลังจากทรงครองราชย์ได้ 2 ปี ถือเป็นครั้งแรกที่กษัตริย์มาเลเซียประกาศสละราชสมบัติก่อนถึงวาระครบกำหนด 5 ปี
สมเด็จพระราชาธิบดีมูฮัมหมัดเพิ่งกลับมาทำหน้าที่ประมุขอีกครั้ง หลังจากที่พระองค์ทรงใช้เวลาสองเดือนเพื่อดูแลสุขภาพ เมื่อเดือนธันวาคม โซเชียล มีเดียเผยแพร่ภาพของพระองค์ขณะเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับอดีตนางงามชาวรัสเซียในรัสเซีย ซึ่งทางสำนักพระราชวัง ฯ มิได้ตอบคำถามเกี่ยวกับภาพเหล่านั้นแต่อย่างใด
ในแถลงการณ์ที่ออกมาในวันนี้ของสำนักพระราชวังมาเลเซียระบุว่า สมเด็จพระราชาธิบดีมูฮัมหมัดที่ 5 ทรงรู้สึกขอบพระทัยในโอกาสที่ได้รับจากสภาประมุขของผู้ปกครองรัฐ และนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ของพระองค์เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ไม่ได้มีการแจ้งถึงสาเหตุถึงการตัดสินใจครั้งนี้แต่อย่างใด
ตำแหน่งประมุขแห่งรัฐมาเลเซียเป็นการหมุนเวียนการดำรงตำแหน่งกันระหว่างสุลต่านจาก 9 รัฐของมาเลเซียโดยมีวาระกำหนดครองราชย์คราวละ 5 ปี
นสพ. The New Straits Times ในมาเลเซียรายงานว่า มีสภาวะตึงเครียดระหว่างกษัตริย์มาเลเซียและนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ที่ท้าทายสถาบันกษัติย์เมื่อเขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวาระที่แล้ว เป็นระยะเวลา 22 ปี
เขาเพิ่งเขียนลงบล็อกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า คนทุกคน “ตั้งแต่สุลต่าน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ไปจนถึงข้าราชการ และประชาชนธรรมดาทั่วไป” ต่างก็อยู่ภายใต้กฎหมาย แต่ก็ไม่ได้เขียนอธิบายถึงข้อความดังกล่าวเพิ่มเติมแต่อย่างใด
เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถตกลงกันได้และเกิดภาวะชะงักงันระหว่างกันไปถึง 2 สัปดาห์ในประเด็นแต่งตั้งอัยการสูงสุดคนใหม่ที่ไม่ได้เป็นคนเชื้อสายมาเลย์ แต่ในที่สุดกษัตริย์มาเลเซียก็ทรงอนุมติการแต่งตั้ง และเรื่องนี้ก่อให้เกิดความตึงเครียดเรื่องเชื้อชาติขึ้นในมาเลเซีย