ThaiPublica > เกาะกระแส > “สมาคมดิวตี้ฟรี-ค้าปลีก” จี้นายกฯ ทบทวนหลักเกณฑ์ประมูลรอบใหม่ เน้นเปิดเสรี ดึงประโยชน์เข้ารัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วย

“สมาคมดิวตี้ฟรี-ค้าปลีก” จี้นายกฯ ทบทวนหลักเกณฑ์ประมูลรอบใหม่ เน้นเปิดเสรี ดึงประโยชน์เข้ารัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วย

18 มกราคม 2019


เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย และนายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ยื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อีกครั้งหลังจากได้เคยยื่นหนังสือข้อเสนอแนะไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา เพื่อให้ทบทวนหลักเกณฑ์การให้สัมปทานธุรกิจร้านค้าปลอดอากร(duty free) การจัดตั้งจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะในสนามบิน และการลดอัตราอากรขาเข้า ย้ำการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง

สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยและสมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ร่วมศึกษาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับให้สัมปทานธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในประเทศไทย เพื่อให้มีความโปร่งใสมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐและประชาชน หากประเทศไทยยกเลิกการผูกขาดธุรกิจร้านค้าปลอดอากรทั้งในสนามบินและในตัวเมืองเปิดเสรีจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะในสนามบิน รวมถึงปรับอัตราภาษีนำเข้าให้แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ประเทศไทยมีโอกาสมหาศาลที่จะเพิ่มรายได้จากอุตสาหกรรมการค้าปลีกท่องเที่ยวคิดเป็นจำนวนเงินถึง 270,000 ล้านบาทต่อปี เทียบแล้วเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 3 ของรายได้จากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน ทั้งนี้ จะส่งผลให้ภาครัฐได้รับประโยชน์สุทธิรวมกว่า 32,000 ล้านบาทต่อปี

“ปัจจุบันหลักเกณฑ์การประมูลหรือ TOR ใหม่ คาดว่าจะออกมาในช่วงสิ้นเดือนมกราคม แล้วที่ผ่านมาก็มีสถาบันการศึกษาและนักวิชาการออกมาท้วงติงเรื่องการผูกขาด เรื่องการเสียผลประโยชน์ของชาติ หรือเรื่องกรอบเวลาประกาศ TOR ที่ชอบออกกระชั้นชิดจนบางรายก็ไม่สามารถเตรียมการได้ทัน ซึ่งเรื่องพวกนี้มาตรฐานสากลอยู่แล้ว เราก็มาร้องเรียนประเด็นเหล่านี้กับนายกรัฐมนตรีว่าควรทำตามให้ได้มาตรฐานเพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติ” นายวรวุฒิกล่าว

ทั้งนี้ เนื้อหาในหนังสือประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1) ยกเลิกระบบผูกขาด ปัจจุบันบริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้ดำเนินการให้สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ซึ่งเป็นสนามบินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศใช้ระบบสัมปทานรายเดียว หรือ master concession อันถือเป็นการผูกขาดและไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ส่งผลให้ความหลากหลายของสินค้าและคุณภาพของการบริการมีจำกัด

จึงขอเสนอให้พิจารณาปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการเปิดประมูลสัมปทานที่สนามบินสุวรรณภูมิที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ โดยให้เปลี่ยนจากระบบสัมปทานรายเดียวมาใช้ระบบสัมปทานหลายรายตามหมวดหมู่สินค้า (concession by category) แทน เช่น หมวดเครื่องสำอาง หมวดสุราและบุหรี่ หมวดสินค้าแฟชั่น เป็นต้น เนื่องจากระบบสัมปทานประเภทนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากประเทศชั้นนำทั่วโลก เช่น สนามบินอินชอน สาธารณรัฐเกาหลีใต้, สนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ และสนามบินฮ่องกง เป็นต้น ได้ใช้ระบบสัมปทานตามหมวดหมู่สินค้า ซึ่งมีความโปร่งใสมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ให้สัมปทานและผู้ให้บริการสนามบิน

“การผูกขาดที่เกิดขึ้นทำให้รัฐเสียประโยชน์ อย่างเปรียบเทียบกับสนามบินอินชอนที่มีผู้ประกอบการ 12 รายตามประเภทสินค้า เขามีรายได้มากกว่าไทย 6 เท่า ทั้งที่นักท่องเที่ยวประมาณ 30 ล้านคนเท่ากัน หรือเทียบกับสัญญาสัมปทานของไทยที่ให้ระยะเวลานานกว่าประเทศอื่น แต่กลับเก็บผลประโยชน์ต่ำแค่ 14-19% เทียบกับที่อื่นๆ เก็บกัน 30-40% ซึ่งไม่ควรจะเป็นแบบนั้น เพราะธุรกิจดิวตี้ฟรีแทบไม่ต้องลงทุน อย่างถ้าเราจะทำค้าปลีกเราต้องสร้างห้าง ต้องทำการตลาด แต่สนามบินรัฐสร้างให้ การตลาดก็ไม่ต้องลงทุนเพราะสนามบินเป็นจุดหมายอยู่แล้ว ดังนั้นรัฐก็ควรได้ผลตอบแทนส่วนนี้คืนมากกว่านี้ อีกด้านคือประโยชน์ของประชาชน นักท่องเที่ยวก็ขาดความหลากหลาย บางรุ่นบางสีไม่มี ถ้าเราเพิ่มการแข่งขันบนหลักการที่ถูกต้องมากขี้นก็จะช่วยเรื่องเหล่านี้” นายวรวุฒิกล่าว

2) จัดให้มีจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะในสนามบิน ในปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองมีจุดส่งมอบสินค้าในสนามบินสำหรับผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมือง หรือดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรี เพียงรายเดียว ถือเป็นการผูกขาดเช่นกัน จึงขอเสนอแนะว่าจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะในสนามบินนานาชาติทุกแห่งที่อยู่ในกำกับดูแลของ ทอท. ต้องจัดให้มีขึ้นตามกฎหมายศุลกากรโดยไม่เปิดให้มีสัมปทาน แต่ให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากรสามารถเช่าพื้นที่พร้อมระบบตรงกับ ทอท.

3) พิจารณาหย่อนอากรขาเข้าสำหรับสินค้านำเข้าที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ปัจจุบันอากรขาเข้าของประเทศไทยสำหรับสินค้าที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทย เช่น เครื่องสำอาง เสื้อผ้า กระเป๋า และรองเท้า อยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย จีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งได้ปรับยกเว้นหรือลดอากรขาเข้าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาสินค้าปลีกลดลงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น นอกจากนี้ มาตรการยกเว้นหรือลดอากรยังส่งผลให้คนในประเทศลดการใช้จ่ายในต่างประเทศ อีกทั้งยังลดการซื้อขายในตลาดของหิ้ว หรือ grey market ให้น้อยลงอีกด้วย

จึงขอเสนอแนะว่าควรพิจารณาลดเงินอากรขาเข้าสำหรับสินค้าประเภทที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และประเภทที่นักท่องเที่ยวไทยนิยมซื้อจากต่างประเทศ เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นในระดับภูมิภาค และสร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายทั้งทางภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องพิจารณาและทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ