ThaiPublica > คอลัมน์ > คำเเนะนำเกี่ยวกับการทำการวิจัยฟรีๆที่ไม่ต้องเสียเงิน

คำเเนะนำเกี่ยวกับการทำการวิจัยฟรีๆที่ไม่ต้องเสียเงิน

28 ธันวาคม 2018


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

เห็นมีเพื่อนอาจารย์หลายคนโพสต์ในโซเชี่ยลมีเดียถึงบริษัทรับจ้างให้คำเเนะนำเกี่ยวกับการทำวิจัยที่เมืองไทย ว่าบริษัทนี้เเนะนำเคล็ดลับการทำวิจัยให้กับคนที่กำลังทำวิทยานิพนธ์เเลกกันกับค่าจ้าง มีทั้งการช่วยเก็บข้อมูลบ้าง ช่วยเกลาตัววิทยานิพนธ์บ้างโดยส่วนตัวเเล้วผมมองว่านี่เป็นปัญหาความล้มเหลวทางการตลาด (market failure) ที่คนซื้อไม่รู้คุณค่าจริงๆของสินค้าที่เขากำลังจ่ายเงินเพื่อซื้อมา

อีกอย่าง มันก็เป็นปัญหาของค่าปริญญาที่เฟ้อ (academic หรือ degree inflation) ที่ทำให้คนต้องการเรียนเพื่อให้ได้แค่ปริญญาเท่านั้น ความรู้ หรือทักษะที่ควรจะได้มาจากการใช้เวลาค้นหา จากการใช้เวลาทำงานวิจัยด้วยตัวเองนั้นไม่ใช่สิ่งที่สำคัญอีกต่อไป

ผมคิดว่าคำเเนะนำเกี่ยวกับงานวิจัยส่วนใหญ่นั้นควรที่จะมาจากอาจารย์ที่ปรึกษาของตนมากกว่านะครับ (ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ได้มันมาเลย)

เเต่ถ้าคุณไม่มีอาจารย์ปรึกษาที่ดีล่ะก็ ผมขอทิ้งเคล็ดลับเกี่ยวกับการทำวิจัยง่ายๆ เเละที่สำคัญ “ฟรี” ไว้ดังนี้

หาเรื่องที่ตัวเองชอบก่อน ถ้าเราสามารถหาเรื่องที่เราชอบได้ (คืออาจจะไม่ต้องเป็นถึงหัวข้อวิจัยก็ได้ ขอเเค่รู้ว่าเราชอบเรื่องอะไรก็พอ) เเละเรารู้ว่ามันสำคัญ อย่างน้อยก็สำคัญกับตัวของเรา มันจะช่วยทำให้การทำงานวิจัยง่ายขึ้นไปเกือบ 80%

ถ้าหาเรื่องที่ชอบไม่ได้ ก็ลอง search งานล่าสุดสามสี่งานของอาจารย์ที่ปรึกษาที่เราอยากจะทำงานด้วย แล้วพยายามหาเรื่อง หรือหาหัวข้อที่อาจารย์คนนั้นชอบ เพราะอย่างน้อยถ้าเราทำงานวิจัยในเรื่องที่อาจารย์สนใจ เขาก็จะให้ความใส่ใจกับตัวเราเป็นพิเศษเมื่อเทียบกักับเราทำเรื่องที่เขาไม่มีความสนใจเลย

พยายามดูว่าหัวข้อวิจัยที่เราเลือกไปเคยมีคนทำไปเเล้วหรือยัง (ลองค้นหา keywords ใน google scholar ดู) ถ้ามี เราก็ควรตั้งคำถามว่าเเล้วมีอะไรบ้างที่เราสามารถต่อยอดได้ อาจจะเป็นคำถามเล็กๆที่เปเปอร์อื่นๆอาจจะยังไม่เคยถามก็ได้ เพราะการทำวิจัยทุกสายเป็นเพียงเเค่การเอาอิฐก้อนเล็กบ้างใหญ่บ้างนำไปต่อๆกันเพื่อสร้างบ้านเท่านั้น เราเเค่ตรวจสอบให้แน่ใจว่าอิฐของเราเป็นอิฐที่สามารถนำไปต่อยอดกับอิฐที่ถูกวางลงไปเเล้วเท่านั้นก็พอ

พยายามดูสไตล์ของการวางโครงสร้างของงานวิจัยที่เคยถูกตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำเเล้วนำโครงสร้างเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ให้ได้ โครงสร้างของเปเปอร์(ที่เป็น empirical) ส่วนใหญ่มีเเค่ introduction, background literature, data, empirical strategy, results, discussion and conclusion ซึ่งอาจจะแตกต่างจากสายหนึ่งไปอีกสายหนึ่ง เเต่ส่วนใหญ่จะมีโครงสร้างที่เป็นอย่างนี้ในสายของตัวเองนะครับ

พยายามให้อาจารย์ที่ปรึกษาอ่านงานเราบ้าง เสนองานของเรากับคนอื่นบ้าง ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนธรรมดาของการทำวิจัยนะครับ ผิดบ้าง fail บ้างเป็นเรื่องธรรมดา (ปัจจุบันผมมีงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศมากกว่า 40 ผลงาน มีหนังสืออีกสี่เล่ม เเต่สิ่งที่หลายๆคนที่รู้จักงานของผมไม่ทราบก็คือผมเคยเจอวารสารต่างๆนาๆปฏิเสธมาเเล้วมากกว่า 300 ครั้งด้วยกัน เเต่การถูกปฏิเสธเยอะๆเหล่านี้มันเป็นเรื่องปกตินะครับ มันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้และยิ่งถูกปฏิเสธเยอะ โอกาสที่เราจะเรียนรู้จากประสบการณ์ก็จะเยอะตามๆกันไปด้วย อย่าลืมนะครับว่าประสบการณคือสิ่งที่เราได้เวลาที่เราไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ

ที่จริงเคล็ดลับก็มีอยู่เเค่นี้นะครับ เเต่ถ้าคุณกำลังคิดว่ามันยังยากเกินไป ไม่คุ้มกับการทน ผมว่างานวิจัยไม่เหมาะกับคุณจริงๆ (ซึ่งก็เป็นอะไรที่โอเคนะครับ เพราะคนเราไม่จำเป็นที่จะต้องเก่งไปในทุกเรื่อง เเค่เราเลือกทำในสิ่งที่ชอบก็พอ เเต่ถ้าคุณชอบการทำวิจัย ผมก็คิดว่าคุณก็ไม่ต้องการการบริการนี้ตั้งเเต่เเรกเเล้ว)

Happy researching นะครับ 🙂