ThaiPublica > คอลัมน์ > เรือนจำเปลี่ยนชีวิต

เรือนจำเปลี่ยนชีวิต

30 ธันวาคม 2018


ณัฐเมธี สัยเวช

ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

เมื่อวันที่ 13-14 ธันวาคม 2561 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ (Thailand Institute of Justice) ได้จัดการศึกษาดูงาน เรื่อง เรือนจำเปลี่ยนชีวิต จังหวัดระยอง โดยเป็นการพาสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ระดับสูงจากนานาประเทศไปเยี่ยมชมการดำเนินงานตามแนวทางของข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ณ แดนหญิงของเรือนจำกลางระยอง รวมทั้งเยี่ยมชมเรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว ซึ่งเป็นเรือนจำเปิดที่ทำหน้าที่ในการเป็นจุดปรับตัวเพื่อให้ผู้ต้องขังที่ใกล้จะพ้นโทษได้เตรียมความพร้อมในการกลับสู่สังคม

เรือนจำกลางระยอง แดนหญิง

ข้อกำหนดกรุงเทพนั้นให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสิทธิให้ผู้ต้องขังหญิง ดังนั้น สิ่งสำคัญหลักๆ ก็คือ มาตรการในการควบคุมดูแลต้องเป็นไปในลักษณะที่มีความละเอียดอ่อนต่อเพศสภาพ (gender sensitive) กล่าวคือ ต้องมีการคำนึงถึงความจำเป็นต่างๆ ที่มีเฉพาะในเพศหญิง และเป็นความต้องการตอบสนองที่ต่างจากเพศชาย ซึ่งทำให้การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแก่ผู้ต้องขังแบบรวมๆ โดยไม่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศสภาพนั้นอาจไม่ครอบคลุมเพียงพอ และนี่คือความท้าทายประการหนึ่งของเรือนจำความมั่นคงสูงอย่างเรือนจำกลางระยอง ซึ่งเรือนจำแห่งนี้ก็สามารถทำได้สำเร็จ และได้รับเลือกให้เป็นเรือนจำต้นแบบของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากโครงการเรือนจำต้นแบบที่ TIJ ได้นำร่องไว้

การดูแลเรื่องเด็กในความดูแลของผู้ต้องขัง

สถานที่รองรับผู้ต้องขังที่มีเด็กในความดูแล
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

แดนหญิงของเรือนจำกลางระยองมีความจุทางการ (ความสามารถในการรองรับผู้ต้องขัง) อยู่ที่ 1,000 คน มีผู้ต้องขังหญิง 984 คน โดยเป็นผู้ต้องขังในดียาเสพติด 801 คน หรือคิดเป็นประมาณ 81.4 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ในแดนหญิงแห่งนี้นั้น ยังมีเด็กในความดูแลของผู้ต้องขัง หรือเด็กติดผู้ต้องขัง (เด็กอายุไม่เกิน 3 ปีซึ่งอยู่ในความดูแลของผู้ต้องขังและติดมายังเรือนจำด้วย หรือเด็กที่คลอดระหว่างมารดาถูกคุมขังในเรือนจำและยังอายุต่ำกว่า 3 ปี) อยู่ 13 คน (เด็กชาย 6 คน เด็กหญิง 7 คน) และขณะนี้แดนหญิงของเรือนจำกลางระยองมีผู้ต้องขังที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ 5 คน ซึ่งหมายความว่า ในอนาคต จำนวนเด็กในความดูแลของผู้ต้องขังก็อาจจะเพิ่มขึ้นจากตอนนี้

ผู้ต้องขังหญิงท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ในช่วงแรก เด็กจะได้อยู่กับแม่ตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลาที่ต้องเข้าเรือนนอน (ที่ที่ผู้ต้องขังทุกคนเข้าไปนอนรวมกันในตอนกลางคืน) โดยในเวลากลางวันนั้นแม่และเด็กจะอยู่ด้วยกันในห้องที่ทางเรือนจำกลางระยองจัดไว้ให้โดยเฉพาะ ส่วนในตอนที่ต้องกลับเข้าไปในเรือนนอนนั้น แม้จะอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังท่านอื่นๆ แต่ก็จะมีการกั้นพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วนไว้ให้ผู้ต้องขังที่มีลูก การอยู่ด้วยกันของแม่ลูกแบบตลอดเวลานี้มีระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้น ผู้ต้องขังต้องสมัครเข้ากองงาน หรือก็คือการเข้าทำงานฝึกอาชีพประเภทต่างๆ ในช่วงกลางวันก่อนเข้าเรือนนอน ส่วนลูกหรือลูกๆ ของตัวเองนั้น จะมีผู้ต้องขังที่ได้รับคัดเลือกจากเรือนจำมาเป็นผู้ดูแลให้

อนึ่ง ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์แล้วนั้น เด็กจะสามารถอยู่กับแม่ได้จนถึงอายุสามปี แต่ด้วยสภาพความเป็นจริงทั้งในแง่จำนวนประชากรผู้ต้องขังที่มีลูกอ่อน และพัฒนาการของเด็กที่จะมีผลต่อการรับรู้อันจะกลายเป็นความทรงจำติดตัวไป รวมทั้งความสัมพันธ์ที่ต้องมีกับสังคมภายนอก เด็กจะได้อยู่กับแม่เพียงหนึ่งปีเท่านั้น หลังจากนั้น หากมีญาติก็ต้องให้ญาติมารับไป แต่ถ้าไม่มีญาติ ก็ต้องประสานให้สถานสงเคราะห์มารับไป

เอลิซาเบท ซีวี (Elizabeth Sivi) ผู้บัญชาการเรือนจำ จากกรมราชทัณฑ์ประเทศเคนยา ได้ให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนเรื่องเด็กในความดูแลของผู้ต้องขังว่า ที่เรือนจำในประเทศของเธอนั้น ลูกๆ ของผู้ต้องขังสามารถอยู่ในเรือนจำกับแม่ได้นานถึงสี่ปี และเพราะอายุสี่ปีนั้นเป็นช่วงเวลาที่การรับรู้ของเด็กๆ เริ่มพัฒนาขึ้นมาแล้ว จึงมีการให้ลูกๆ ของผู้ต้องขังหญิงได้ออกไปใช้ชีวิตร่วมกับเด็กอื่นๆ ซึ่งเป็นลูกของผู้คุมที่นอกเรือนจำด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เด็กๆ นั้นได้เรียนรู้และปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่นอกเรือนจำ

ซีวีบอกด้วยว่า ที่เคนยามีโครงการการเป็นผู้ปกครองทางไกลและวันเปิดคุก (Remote Parenting and Prison Open Days) ซึ่งเป็นการเปิดให้ครอบครัวของผู้ต้องขังเข้าเยี่ยมพบเจอกันได้ในที่เปิดโล่ง โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กๆ ที่จะได้รับคำแนะนำในเรื่องต่างๆ จากผู้ต้องขังในฐานะที่เป็นพ่อหรือแม่

ส่วนไอวี โสะห์ (Ivy Soh) รองผู้อำนวยการส่วนทัณฑปฏิบัติ จากกรมราชทัณฑ์ประเทศสิงคโปร์ มองว่า การที่เรือนจำอนุญาตให้ผู้ต้องขังสามารถใช้เวลากับลูกๆ ของตนเองได้ รวมทั้งการจัดหาพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลในตอนที่ต้องเข้าประจำในกองงานนั้น จะช่วยสร้างความช่วยเหลืออย่างไม่เป็นทางการที่ช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (maternity blue) ได้

การฝึกอาชีพของผู้ต้องขัง

การฝึกอาชีพนวดแผนไทย
ที่าภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

การฝึกอาชีพในเรือนจำกลางระยองนั้นก็เช่นเดียวกับเรือนจำอื่นๆ คือจะเกิดในส่วนที่เรียกว่ากองงาน เงื่อนไขในการสมัครเข้ากองงานคือต้องเป็นนักโทษเด็ดขาด (คือศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วมีโทษจำคุก) และรับโทษอยู่ในเรือนจำมาอย่างน้อย 3 เดือนแล้ว ผู้ต้องขังสามารถเลือกสมัครเข้ากองงานต่างๆ ได้ตามที่ตนต้องการ ซึ่งหากมีที่ว่างอยู่ก็จะได้เข้าฝึกอาชีพในกองงานนั้น แต่หากยังไม่มีที่ว่าง ก็จะได้รับการจัดสรรให้ไปฝึกอาชีพในกองงานอื่นๆ ก่อน

ทั้งนี้ การฝึกอาชีพในแดนหญิงของเรือนจำกลางระยองแบ่งเป็น 6 กองงาน คือ 1. นวดแผนไทย 2. เสริมสวย 3. ทำเบเกอรี่ 4. อาหารและเครื่องดื่ม 5. ซักรีดและซ่อมเสื้อผ้า 6. งานฝีมือ

ร้านกาแฟและเครื่องดื่มต่างๆ ภายในเรือนจำกลางระยองที่ชงโดยฝีมือผู้ต้องขัง
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช
มุมสบายบนสนามหญ้าข้างร้านกาแฟ ที่ผู้ต้องขังก็สามารถมาใช้ได้
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช
ขนมไทยฝีมือผู้ต้องขัง
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

ผู้ต้องขังหญิงที่เป็นพลเมืองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวท่านหนึ่งเล่าว่า การฝึกอาชีพเป็นช่างเสริมสวยและช่างทำผมทำให้เธอรู้สึกมีความหวัง การฝึกอาชีพนี้ทำให้เธอมั่นใจว่าตนเองทำสิ่งไม่ผิดกฎหมายเพื่อหาเลี้ยงชีพได้ และเมื่อพ้นโทษไปเธอจะใช้ทักษะที่ได้มานี้ไปประกอบอาชีพ

เอลิซาเบท ซีวี ผู้บัญชาการเรือนจำ จากกรมราชทัณฑ์ประเทศเคนยา เห็นว่าการมีกองงานฝึกฝนอาชีพนั้นเป็นโครงการที่ดี เนื่องจากช่วยให้ผู้ต้องขังได้ยุ่งกับงานจนไม่มีเวลาไปฟุ้งซ่านกับเรื่องอื่น และการทำงานที่สอดคล้องกับโลกภายนอกนั้นก็เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแก่ผู้ต้องขังด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การที่ผู้ต้องขังได้รับเงินปันผล (จะอธิบายต่อไป) ยังทำให้ผู้ต้องขังมีทุนในการใช้จ่ายภายในเรือนจำและตามโลกได้ทัน

การกินอยู่ของผู้ต้องขัง

ในเรื่องการกินการอยู่ของผู้ต้องขังนั้น โดยพื้นฐานแล้วเรือนจำกลางระยองก็เช่นเดียวกับเรือนจำอื่นๆ คือ ผู้ต้องขังจะได้รับอนุญาตให้มีเงินสะสมในบัญชีสำหรับค่าใช้จ่ายภายในเรือนจำเดือนละไม่เกิน 9,000 บาท และจะนำเงินมาใช้จ่ายได้ไม่เกินวันละ 300 บาท

การใช้จ่ายเงินของผู้ต้องขังในเรือนจำกลางระยองใช้ระบบสแกนนิ้ว เมื่อวางนิ้วลงบนเครื่องสแกน ข้อมูลต่างๆ รวมทั้งเงินที่ใช้ได้ของผู้ต้องขังจะปรากฏขึ้นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพียงผู้ต้องขังที่เป็นผู้ซื้อระบุสินค้าที่ตนต้องการให้ผู้ต้องขังที่ทำหน้าที่แคชเชียร์กรอกรหัสลงไปก็จะสามารถซื้อของได้ ทั้งนี้ ผู้ต้องขังสามารถซื้อสินค้าต่างๆ ได้จากร้านสวัสดิการผู้ต้องขัง ร้านกาแฟฝีมือผู้ต้องขังภายในเรือนจำ และในกรณีที่ไม่อยากรับประทานอาหารที่ทางเรือนจำจัดไว้ให้ ผู้ต้องขังสามารถซื้ออาหารอื่นที่มีขายที่โรงสูทกรรมหรือโรงประกอบอาหารของเรือนจำได้

เครื่องสแกนนิ้ว
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

ที่หน้าโรงสูทกรรมนั้น จะมีเมนูที่แตกต่างกันไปในแต่ละวันอยู่ ผู้ต้องขังสามารถมาเลือกสั่งซื้ออาหารตามเมนูเหล่านั้นได้ ยิ่งไปกว่านั้น ในการศึกษาดูงานครั้งนี้ มีเมนูพิเศษกลุ่มหนึ่งที่ระบุว่าเป็นเมนูสำหรับการฉลองปีใหม่ ที่น่าสนใจคือ อาหารบางรายการนั้นมีสนนราคาเกินกว่า 300 บาท ซึ่งสูงกว่าจำนวนเงินที่ผู้ต้องขังได้รับอนุญาตให้ใช้ในแต่ละวัน และเมื่อสอบถามกับผู้ต้องขังที่ทำหน้าที่อยู่ก็ได้รับคำตอบว่า หากต้องการซื้ออาหารที่มีราคาสูงกว่า 300 บาท ก็ต้องสแกนมากกว่า 1 ครั้งและมากกว่า 1 วัน (เรียกว่าสแกนสะสมได้ การสแกนสะสมเช่นนี้เกิดขึ้นกับกรณีของร้านเสริมสวยที่บางบริการมีมูลค่าสูงกว่า 300 บาทเช่นกัน) หรือจะร่วมกันสแกนกับเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันแล้วนำสินค้าไปแบ่งกันก็ได้ ทั้งนี้ จะมีการกำหนดว่าแต่ละครั้งนั้นต้องสแกนเป็นมูลค่าเท่าไหร่ เช่น ถ้าอาหารนั้นราคา 500 บาท ก็อาจกำหนดให้สแกนครั้งละ 250 บาท

เมนูอาหารเทศกาลปีใหม่
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช
เมนูอาหารที่ผู้ต้องขังเลือกซื้อรับประทานได้หากไม่ต้องการรับประทานอาหารของเรือนจำ
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

รายได้จากการทำงานของผู้ต้องขัง

ตามระเบียบราชทัณฑ์แล้ว ผู้ต้องขังไม่มีสิทธิ์รับรายได้จากงานที่ตัวเองทำ แต่จะได้รับรางวัลหรือเรียกกันว่าปันผล โดยรายได้ที่เกิดจากกองงานต่างๆ นั้นจะถูกแบ่งเข้าเรือนจำครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนั้นจะกระจายเป็นปันผลให้แก่ผู้ต้องขังในกองงานนั้น สำหรับเกณฑ์ในการแบ่งในหมู่ผู้ต้องขังประจำกองงานนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ต้องขังคนใดทำงานไปมากน้อยเพียงใด แต่จะแบ่งตามลำดับชั้นของผู้ต้องขัง โดยผู้ต้องขังชั้นเยี่ยมจะได้รับส่วนแบ่งมากที่สุด ส่วนชั้นอื่นๆ ที่รองลงมาก็ได้ส่วนแบ่งลดหลั่นกันไป

ผักและผลไม้แกะสลักฝีมือผู้ต้องขัง
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

ผู้ต้องขังหลายท่านในกองงานเสริมสวยยืนยันว่า พวกเธอมีรายได้จากเงินปันผลของกองงานนี้หลายพันบาท หรือต่อให้เดือนไหนไม่ได้เยอะขนาดนั้น ก็ยังทำให้มีเงินพอจะใช้ซื้อสิ่งของจำเป็นไว้ใช้ได้ ซึ่งนั่นก็นำมาซึ่งคำถามว่า แล้วหากเป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้อยู่ในกองงาน เช่น ยังไม่เป็นนักโทษเด็ดขาด หรือเป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากทางบ้าน หรือกระทั่งเป็นผู้ต้องขังในกองงานแต่ได้ส่วนแบ่งจากปันผลไม่เพียงพอ จะทำอย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้รับจากผู้ต้องขังหลายๆ ท่านก็คือ ในกรณีเช่นนั้น ทางเรือนจำจะมีสวัสดิการเครื่องใช้จำเป็นมูลค่า 200 บาทให้ขอได้

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เป็นเรือนจำที่มีพื้นที่กว้างขวางถึง 1,661 ไร่ 3 งาน 24.42 ตารางวา โดยมีความจุทางการที่ 200 คน และมีผู้ต้องขัง 149 คน เป็นผู้ต้องขังชายทั้งหมด ควบคุมดูแลโดยเจ้าหน้าที่ 13 คน นอกจากนี้ เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้วยังเป็นเรือนจำเปิด นั่นก็คือ ในตอนกลางวัน จะปล่อยให้ผู้ต้องขังออกมาทำงานเกษตรและปศุสัตว์ในพื้นที่โล่งกว้างที่ดูเหมือนที่ทำการเกษตรขนาดใหญ่ไร้รั้วล้อมมากกว่าที่ฝึกงานในโอบล้อมการคุมขัง และยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการร่วมมือกับสุภัทราแลนด์ สวนผลไม้ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ในจังหวัดระยอง เพื่อให้ผู้ต้องขังออกไปทำงานจริงในสุภัทราแลนด์ในช่วงเวลาทำงานปรกติก่อนจะกลับเข้าเรือนจำหลังเลิกงาน โดยผู้ต้องขังที่จะได้ไปทำงานในสุภัทราแลนด์นี้จะต้องเป็นผู้ต้องขังชั้นดี ซึ่งเกณฑ์ในการพิจารณาก็คือมีจำนวนโทษน้อย มีพฤติการณ์ที่มีความประพฤติดี ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ต้องขังจากเรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้วไปทำงานที่สุภัทราแลนด์ 22 คน นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่เรียกว่าโครงสร้างเบา คือบริษัทที่มารับเหมาทำเรือนจำ และมาติดต่อกับทางเรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้วเพื่อให้ผู้ต้องขังไปเป็นแรงงาน โดยมีผู้ต้องขังไปทำงานในสิ่งที่เรียกว่าโครงสร้างเบานี้อยู่ 17 คน

ด้วยความที่เป็นเรือนจำเปิด และสถานที่ในการฝึกงานก็ดูไม่ได้มีความเข้มงวดในการควบคุมนัก การจำกัดพื้นที่ก็ใช้การระบุเขตว่าผู้ต้องขังสามารถไปที่มดได้บ้าง ไม่ได้มีกำแพงสูงหนาที่ยอดเป็นลวดหนามล้อมไว้อย่างเรือนจำทั่วไป ประเด็นที่เหล่าผู้เข้าร่วมดูงานสงสัยกันมากจึงเป็นเรื่องที่ว่า เคยมีผู้ต้องขังพยายามหลบหนีจากเรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้วบ้างหรือไม่ มีวิธีควบคุมอย่างไรไม่ให้เกิดการหลบหนี

นายกิตติพงษ์ ละชั่ว รองผู้บัญชาการและผู้อำนวยการส่วนควบคุม เรือนจำกลางระยอง
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

ต่อประเด็นดังกล่าว นายกิตติพงษ์ ละชั่ว รองผู้บัญชาการและผู้อำนวยการส่วนควบคุม เรือนจำกลางระยอง ได้ตอบว่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีกรณีที่ผู้ต้องขังพยายามหลบหนีจากเรือนจำแห่งนี้ แต่อย่างไรก็ดี ด้วยจำนวนโทษที่น้อยนั้น ก็ทำให้สำหรับผู้ต้องขังแล้วการหลบหนีเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่าถ้าจะทำ และยิ่งไปกว่านั้น นายกิตติพงษ์ได้เน้นย้ำถึงหลักการเดียวกันกับที่ใช้ในเรือนจำกลางระยอง นั่นก็คือ การให้ความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกับผู้ต้องขังทุกคน การอยู่กันด้วยลักษณะความสัมพันธ์ที่ให้ความเป็นพี่น้องแก่ผู้ต้องขังเป็นหลักมากกว่าการเป็นผู้คุม เหล่านี้คือหัวใจสำคัญที่ช่วยลดความตึงเครียดจากการต้องโทษคุมขัง และช่วยให้ผู้ต้องขังไม่คิดที่จะหลบหนีออกจากเรือนจำไป

นอกจากนี้ เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้วยังเปิดให้ญาติของผู้ต้องขังมาเยี่ยมแบบถึงตัวได้ทุกวัน ซึ่งนายกิตติพงษ์เชื่อว่า นี่เป็นอีกจุดสำคัญหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ต้องขังในเรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้วไม่คิดหลบหนี

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้วนั้นมีโปรแกรมฝึกอาชีพต่างๆ 12 โปรแกรม คือ 1. กองงานยางพารา 2. กองงานผักไฮโซ 3. กองงานบ้านชายทุ่ง 4. กองงานไร่พอเพียง 5. กองงานรักสัตว์ 6. กองงานเงาะป่า 7. กองงานพัฒนาเรือนจำ 8. กองงานสารพัดช่าง 9. กองงานกองกลาง 10. กองงานชาวสวน 11. โครงสร้างเบา 12. สุภัทราแลนด์

เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้วนั้นมี 4 ฐานหลักที่เป็นแหล่งรายได้เข้าสู่เรือนจำ นั่นก็คือ 1. การปศุสัตว์และประมงน้ำจืด 2. เกษตรอินทรีย์ 3. ผักปลอดสารพิษ 4. ศาสตร์พระราชาเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยจะมีแม่ค้าที่มารับผลผลิตจากกิจกรรมการผลิตต่างๆ เหล่านี้ไปขายในงานจังหวัดเคลื่อนที่ งานประชารัฐ รวมทั้งส่งเข้าแดนหญิงของเรือนจำกลางระยอง

หมูหลุมในโครงการฝึกอาชีพของเรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

ในส่วนของการทำงานที่สุภัทราแลนด์และในโครงสร้างเบานั้น ทางผู้ประกอบการจะมอบค่าแรงผู้ต้องขังให้เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้วในอัตราตามกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำที่คนละ 300 บาทต่อวัน ซึ่งเรือนจำก็จะนำรายได้ส่วนนี้มาแบ่งสรรในรูปปันผลเช่นเดียวกับในเรือนจำกลางระยอง คือเข้าเรือนจำครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งกระจายไปในหมู่ผู้ต้องขังที่ไปทำงาน แต่ด้วยความที่จำนวนผู้ต้องขังที่ไปทำงานในสุภัทราแลนด์และโครงสร้างเบามีน้อย ปันผลที่แต่ละคนได้นั้นจึงมีส่วนแบ่งที่ค่อนข้างมาก

ไอวี โสะห์ รองผู้อำนวยการส่วนทัณฑปฏิบัติ จากกรมราชทัณฑ์ประเทศสิงคโปร์ เล่าให้ฟังว่าที่ประเทศของเธอนั้นมีโครงการที่มีชื่อว่าริบบินสีเหลือง (Yellow Ribbon Project) โครงการนี้เล็งเห็นว่าแม้ผู้ต้องขังจะพ้นโทษออกไปแล้ว แต่นั่นมักกลายเป็นการเริ่มต้นของการถูกคุมขังครั้งที่สอง และครั้งเป็นการคุมขังไว้หลังลูกกรงล่องหนแห่งความเคลือบแคลงสงสัย ความไม่ไว้วางใจ และการเลือกปฏิบัติ ซึ่งล้วนเกิดจากการที่สังคมไม่ยอมรับและไม่ให้โอกาสแก่ผู้ที่เคยต้องโทษคุมขังมาก่อน ซึ่งโครงการริบบินสีเหลืองของสิงคโปร์มีวัตถุประสงค์ในการทำให้สังคมยอมรับและให้โอกาสอดีตผู้ต้องขังเหล่านี้

บทสรุป

หากพูดถึงสิ่งไม่พึงปรารถนาอันดับต้นๆ ในชีวิตของแต่ละคน คงมีน้อยคนที่จะนึกถึงเรือนจำ เพราะในการใช้ชีวิตโดยทั่วไป หากไม่ได้มีกิจกรรมอันใดให้สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายร้ายแรง ก็คงไม่มีจังหวะความคิดใดพาดผ่านไปถึงคำว่าเรือนจำกันนัก และหากต้องนึกถึงเรือนจำขึ้นมา โดยเฉพาะเมื่อจินตนาการว่าตนเองต้องกลายเป็นผู้ต้องขัง ก็คงน้อยคนนักที่จะนึกถึงเรือนจำอย่างอยากเข้าไปอยู่ คงมีไม่กี่คนนักที่คิดว่าหากต้องไปอยู่ก็ไม่เป็นไร และก็คงไม่ค่อยจะมีใครคิดว่าการไปอยู่ในนั้นจะดีกว่าอยู่ข้างนอกนี้ (แต่ก็มี เพราะผู้ต้องขังบางรายที่เคยพบนั้นบอกว่าอยู่ในเรือนจำดีกว่าอยู่ข้างนอก เนื่องจากมีเพื่อนๆ มากมาย)

แม้จะเรียกว่าเรือนจำ แต่เรือนจำก็กลับไม่ได้อยู่ในความทรงจำของใครต่อใครเท่าไรนัก เพราะนอกจากเหตุผลดังกล่าวไปข้างต้นแล้ว ภาพจำประการสำคัญที่มีต่อเรือนจำคือเป็นสถานที่รวบรวมความชั่วร้าย เนื่องจากเป็นที่กักขังอาชญากรน้อยใหญ่ทางคดีมากมาย หน้าที่หนึ่งของเรือนจำจึงคือการกีดกันเอาคนที่กฎหมายตัดสินว่าเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยออกไปจากสังคม เป็นสถานที่เอาความกลัวของสังคมไปกักขังเอาไว้ เช่นนั้นแล้ว เรือนจำจึงยิ่งเป็นสถานที่ที่ไม่มีใครอยากเอามาใส่ไว้ในความทรงจำมากขึ้นไปอีก

ทว่า ประเด็นสำคัญก็คือ ต่อให้การใช้โทษประหารชีวิตจะดำรงอยู่ต่อไปจนชั่วกัลปาวสาน แต่โทษนั้นก็ไม่ได้ลงแก่ผู้ต้องขังทุกคนที่อยู่ในเรือนจำ ความหมายของเรื่องนี้ก็คือ จะเร็วจะช้า วันหนึ่งคนในเรือนจำที่สังคมไม่อยากจำหรือไม่อยากรับรู้ถึงการดำรงอยู่ก็จะกลับออกมาอยู่ร่วมสังคมกับทุกคนอยู่ดี ในแง่นี้แล้ว ไม่ว่าผู้ต้องขังจะมีอายุเท่าไหร่ แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้ว พวกเขาก็คือวัยรุ่นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสิ่งมีชีวิตชีวิตที่เรียกว่าสังคม และเรือนจำจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดทิศทางว่า วัยรุ่นทางสังคมหรือผู้ต้องขังเหล่านี้ จะเติบผ่านการพ้นโทษไปในทางไหน จะสามารถยืนหยัดอย่างคนปรกติแล้วเติบโตต่อไป หรือล้มลงในแบบเดิม (หรือยิ่งกว่า) จนต้องกลับมาอยู่ในเรือนจำอีกครั้ง

ด้วยเหตุผลดังกล่าว และด้วยการพัฒนาของสังคมโลกซึ่งเป็นไปในทางที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้เกิดแก่ทุกคนไม่เว้นแม้กระทั่งผู้ที่กระทำผิดต่อสังคม การที่สังคมไม่ให้พื้นที่ความทรงจำแก่เรือนจำและคนที่อยู่ในนั้น (ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง) จึงเป็นอันตรายต่อหน้าที่สำคัญประการหนึ่งซึ่งควรเป็นหน้าที่ประการหลักของเรือนจำ นั่นก็คือการคืน “คนดี” สู่สังคม

ในความหมายอย่างกว้างที่สุด คนดีในบริบทเช่นนี้ย่อมหมายถึงผู้ที่ไม่กระทำผิดต่อสังคมตามกฎหมาย ไม่ก่อความเสียหายจนถึงขั้นที่กฎหมายระบุโทษได้ถึงขั้นคุมขัง สิ่งที่เรือนจำในฐานะหัวเลี้ยวหัวต่อทางสังคมระหว่างชีวิตปรกติกับชีวิตที่ผิดพลาดต้องมีจึงคือวิธีที่จะทำอย่างไรไม่ให้คนที่พ้นโทษไปแล้วหันเหกลับสู่เส้นทางอย่างเดิมอีก ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น ทั้งสังคมและกฎหมายดูจะมองไปในทางเดียวกันคือการให้ แรงสนับสนุนทางลบ (negative reinforcement) แก่ผู้ต้องขัง นั่นก็คือการกำหนดกฎหมายให้ผู้ต้องขังได้รับโทษหนักๆ ด้วยการจำคุกหลายๆ ปี และให้ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในขณะรับโทษ เพื่อจะได้เกิดความเข็ดหลาบ และไม่กระทำผิดซ้ำเมื่อพ้นโทษออกไปสู่สังคมภายนอกแล้ว

ทว่า มาตรการในเชิงรักวัวให้ผูก รักลูกให้ตีเช่นนั้นได้ละเลยเรื่องสำคัญไปประการหนึ่ง นั่นก็คือ การที่แรงสนับสนุนทางลบจะให้ผลเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่พึงประสงค์ได้นั้นเป็นเรื่องระยะยาว รวมทั้งเป็นเรื่องขนาดกว้างด้วย ซึ่งระยะยาวที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงให้เอาไปขังไว้แล้วปรับทัศนคติกันยาวๆ แต่คือเป็นเรื่องยากที่การให้แรงสนับทางลบอย่างเดียวไม่อาจสร้างได้อย่างยั่งยืน เพราะต้องอาศัยความกว้างด้วย นั่นก็คือ ต้องมีปัจจัยทางสังคมหลายประการที่เปิดโอกาสให้แรงสนับสนุนทางบวก (positive reinforcement) มาส่งเสริมให้ความตั้งใจจะเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นดำรงอยู่ต่อไปได้เมื่อมีการทำพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนั้นเกิดขึ้นจริงๆ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เราต้องทำให้เกิดสภาพสังคมที่ทำดีได้ดี ไม่ใช่ทำดีเท่าไหร่ก็ไม่ได้ดีอยู่ร่ำไป และการทำดีไม่ได้ดีนี้นี่เองที่เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งผลักให้หลายคนต้องหันเหสู่วิถีที่พาตัวเองเข้าสู่เรือนจำในที่สุด

ผู้ต้องขังที่เคยพ้นโทษไปแล้วแต่กระทำผิดซ้ำจนกลับมาอยู่ในเรือนจำอีกจะได้รับการฝึกวินัยแบบทหาร
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

ดังนั้น การจะทำให้เรือนจำสามารถคืนคนดีสู่สังคมได้จริง จึงไม่ใช่การปล่อยให้เรือนจำทำหน้าที่มอบแรงสนับสนุนทางลบให้แก่ผู้ต้องขังเพียงอย่างเดียว แต่สังคมเองก็ต้องพร้อมจะให้แรงสนับสนุนทางบวกแก่อดีตผู้ต้องขังด้วย และในขณะเดียวกัน เรือนจำก็ต้องให้แรงสนับสนุนทางบวกควบคู่ไปกับการให้แรงสนับสนุนทางลบด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นไปในทางที่ว่าทำดีเสมอตัว ทำชั่วไม่เหลืออะไรเลย

ยิ่งไปกว่านั้น สถิติจำนวนผู้ต้องขังที่อยู่ในสภาพล้นคุกดังที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นตัวอย่างอันดีในการบอกว่า การใช้โทษทัณฑ์อันรุนแรงทางกฎหมายเป็นแรงสนับสนุนทางลบนั้นไม่สามารถให้ผลเป็นการป้องปรามไม่ให้คนกระทำความผิดได้ อีกทั้งท่าทีของกฎหมายที่ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้กระบวนการยุติธรรมทำอะไรได้มากกว่าเอะอะก็คุกนักนั้นก็ยิ่งบั่นทอนประสิทธิภาพในการคืนคนดีสู่สังคมของเรือนจำด้วย เพราะเมื่อจำนวนผู้ต้องขังอยู่ในระดับที่มากเกินกว่าความสามารถในการรองรับของเรือนจำ ก็ย่อมไปบั่นทอนประสิทธิภาพของมาตรการต่างๆ ที่จะนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่เป็นแรงสนับสนุนทางลบหรือทางบวกก็ตาม

เรือนจำกลางระยอง และเรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว จึงอาจเป็นตัวอย่างที่ดีของการพยายามสร้างสมดุลให้กับการใช้แรงสนับสนุนทั้งทางลบและทางบวกประกอบกัน เพื่อทำให้เรือนจำนั้นสามารถคืนคนดีสู่สังคมได้อย่างแท้จริงในสักวันหนึ่ง