ThaiPublica > คอลัมน์ > “คน” ต้องมาก่อน “เทคโนโลยี” (12) ปัญหาการจัดการกับ “ข่าวปลอม” ในไทย

“คน” ต้องมาก่อน “เทคโนโลยี” (12) ปัญหาการจัดการกับ “ข่าวปลอม” ในไทย

26 พฤศจิกายน 2018


สฤณี อาชวานันทกุล

ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงฐานข้อมูล “โฆษณาทางการเมือง” หรือ political ads ที่ปล่อยช่วงหาเสียงเลือกตั้งบนเฟซบุ๊กกับกูเกิล ซึ่งไม่เพียงแต่รวบรวมสื่อหาเสียงมาไว้ที่เดียวกันเท่านั้น แต่ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดมาตรฐานชุมชน (community standards) ของเนื้อหาเหล่านี้ด้วย โดยโซเชียลมีเดียยักษ์ทั้งสองเจ้าหวังว่าฐานข้อมูลนี้จะช่วยให้ผู้ใช้ ในฐานะผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง มีข้อมูลมากขึ้นในการตัดสินใจ และความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้นนี้ก็น่าจะช่วยสร้างแรงกดดันเชิงบวกให้นักการเมืองและผู้ทำทำแคมเปญหาเสียงแข่งกันสร้างเนื้อหาที่ไม่ละเมิดแนวปฏิบัติชุมชน ซึ่งประเด็นหลักๆ ที่เฟซบุ๊กกำหนดเป็นมาตรฐานชุมชนมีอาทิ การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เนื้อหาลามกอนาจารโจ๋งครึ่ม การสร้างบัญชีผู้ใช้ปลอม (fake accounts) ข้อความยั่วยุให้เกิดความรุนแรง (hate speech) เป็นต้น

นอกจากจะทำฐานข้อมูลโฆษณาทางการเมือง เฟซบุ๊กยังออกรายงาน “การบังคับใช้มาตรฐานชุมชน” (Community Standards Enforcement Report) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานชุมชน ซึ่งมาตรฐานนี้ก็ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องให้ทันกับสถานการณ์ และเสียงเรียกร้องจากผู้ใช้

นอกจากปัญหา hate speech และเนื้อหาอื่นๆ แล้ว โซเชียลมีเดียยังเผชิญมรสุม “ข่าวปลอม” หรือ fake news ซึ่งหมายถึงเนื้อหาเท็จที่ผู้สร้างเจตนาทำให้คนเข้าใจผิดว่า เป็น “ข่าว” จาก “สำนักข่าว” ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เช่น อยากได้เงินค่าโฆษณา หรือหวังผลทางการเมือง

วันนี้การหาวิธีจัดการกับ “ข่าวปลอม” ได้กลายเป็นวาระเร่งด่วนสำหรับโซเชียลมีเดียทุกบริษัท ในคอลัมน์นี้ผู้เขียนเคยเขียนไปหลายตอนแล้วเรื่องความพยายามที่จะรับมือกับปัญหา “ข่าวปลอม” ด้วยโค้ดคอมพิวเตอร์ (code) และธรรมเนียมปฏิบัติ (norms) อย่างเช่นมาตรฐานชุมชน ซึ่งทำได้ในทางที่ไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงออก หรือเปิดช่องให้ผู้มีอำนาจใช้กฎหมายกลั่นแกล้งประชาชน

ผู้เขียนเคยยกตัวอย่างการใช้โค้ดกับธรรมเนียมปฏิบัติจัดการกับข่าวปลอมไปแล้ว เช่น เฟซบุ๊กประกาศไม่อนุญาตให้สำนักข่าวปลอมรับโฆษณา เพื่อขจัดแรงจูงใจทางเศรษฐกิจของการทำข่าวปลอม ส่วนกูเกิลก็ออกแอพพลิเคชั่น Google News เวอร์ชั่นใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) เข้ามาช่วยให้ผู้ใช้แยกแยะ “ข่าวปลอม” ได้ดีขึ้น โดยโค้ดของกูเกิลจะแสดงผลข่าวตามพิกัดของผู้ใช้ และรายงานความคืบหน้าของข่าวต่างๆ ที่เราติดตามอยู่ นอกจากนี้ เมนูจะมีฟังก์ชั่น “Full Coverage” เทียบให้เราเห็นว่า ข่าวเรื่องเดียวกันนั้นสื่อแต่ละค่ายรายงานแตกต่างกันอย่างไร ทั้งเนื้อหาที่เป็นข้อเขียน คลิปวีดีโอ และสื่ออื่นๆ ซึ่งคัดกรองเนื้อหาเฉพาะจากสื่อที่กูเกิลจัดว่าน่าเชื่อถือ ดังนั้นทุกคนจะมองเห็นเนื้อหาเดียวกันหมด

สำหรับฤดูเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในประเทศไทย ผู้เขียนคิดว่าเครื่องมือและนโยบายของเฟซบุ๊กกับกูเกิลดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนั้น สามารถนำมาใช้กับการจัดการ “ข่าวปลอม” และโฆษณาทางการเมืองแย่ๆ ในโลกออนไลน์ไทย ที่ละเมิด Community Standards ได้เช่นกัน

สำนักข่าวมืออาชีพในไทยควรรวมตัวกันจับมือกับกูเกิล เฟซบุ๊ก และไลน์ โซเชียลมีเดียสามค่ายใหญ่ที่คนไทยนิยมใช้ ในการติดตามตรวจสอบเนื้อหาข่าวที่น่าสงสัยว่าเป็น “ข่าวปลอม” และแสดงผลให้ผู้ใช้ตระหนักอย่างชัดเจน ส่วนในฝั่งของผู้ใช้ ผู้เขียนเห็นว่าก็สามารถรวมตัวกันเรียกร้องโซเชียลมีเดียเหล่านี้ให้ลบเนื้อหาที่ชัดเจนว่าเป็นข่าวปลอม หรือละเมิด Community Standards ของค่ายได้อยู่แล้ว

วิธีจัดการกับประเด็น “ข่าวปลอม” ที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าเป็นห่วงมากกว่านี้มาก คือ การปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ IO (ไอโอ ย่อมาจาก Information Operations) ในโซเชียลมีเดีย ของคณะเผด็จการทหารซึ่งปัจจุบันครองอำนาจทางการเมืองในไทย และสมาชิกคณะหลายคนก็เตรียมตัวจะลงสนามเลือกตั้งด้วย ประกอบการกลั่นแกล้งปิดปากผู้ที่ออกมาวิจารณ์ผู้มีอำนาจทางการเมืองโดยใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ ด้วยการใช้คำว่า “ข่าวปลอม” อย่างเลือกข้างและสร้างความเข้าใจผิด

ไอโอ (IO) หมายถึง การปฏิบัติการทางทหารที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดการข้อมูลข่าวสารทั้งของฝ่ายตนเองและฝ่ายตรงข้ามให้เป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบในการทำ ‘สงคราม’ เพื่อพยายามพิชิต ‘ฝ่ายตรงข้าม’

ในเมื่อเป้าหมายของไอโอคือการสร้างความได้เปรียบในการทำ ‘สงคราม’ ดังนั้นเมื่อกองทัพใช้ไอโอ ย่อมแปลว่าต้องมี ‘ฝ่ายตรงข้าม’ ทำให้น่าคิดต่อไปว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ใครคือ ‘ฝ่ายตรงข้าม’ ของกองทัพไทยกันแน่ เพราะเราไม่ได้สู้รบกับประเทศไหนมานานแล้ว ใช่หรือไม่ว่า ‘ฝ่ายตรงข้าม’ ของไอโอกองทัพคือพรรคการเมืองขั้ว พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกยึดอำนาจโดยรัฐประหาร รวมถึงฐานมวลชนที่สนับสนุนพรรค รวมไปถึงประชาชนคนทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใด แต่กล้าออกมาล้อเลียนและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเผด็จการทหารด้วย?

ไอโอคือปฏิบัติการทางทหาร มีเป้าหมายชัดเจนว่าเพื่อพิชิตฝ่ายตรงข้าม เป้าหมายไม่ใช่การสื่อสารความจริงเหมือนกับวิชาประชาสัมพันธ์ ดังนั้น ในบางวาระ ไอโอจึงอาจเลือกที่จะบิดเบือนข้อเท็จจริง พูดความจริงครึ่งเดียว สร้างความเข้าใจผิด หรือแม้แต่สร้าง “ข่าวปลอม” เสียเองก็ได้ ถ้าคิดว่ามันจะช่วยบรรลุเป้าหมาย

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องลักลั่นขัดแย้งไม่น้อยที่เจ้าหน้าที่ด้านไอโอของกองทัพบก “มีประชุมคณะทำงานกับกองประชาสัมพันธ์ทุกสัปดาห์” ตามรายงานข่าวของจุลสารราชดำเนินออนไลน์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ความตอนหนึ่งว่า “หากมาดูในกรอบของกองทัพบกพบว่า หน่วยงานทางด้านไอโอนั้นอยู่ในส่วนงานของกรมยุทธการของเหล่าทัพ มีประชุมคณะทำงานกับกองประชาสัมพันธ์ทุกสัปดาห์ โดยจะกำหนด “ธีม” การให้ข้อมูลข่าวสารการประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับภารกิจ ผลงาน ภาพลักษณ์ และสนับสนุนจากของ คสช.-รัฐบาล เป้าหมายหลักคือให้ข่าวสารเพื่อสร้างการรับรู้ และเชิญชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมและงานด้านความมั่นคง โดยกองประชาสัมพันธ์จะไปคิดวิธีการนำเสนอเอง”

ในขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 เราก็ได้เห็นการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากผู้วิจารณ์รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยที่หลายกรณีเจ้าหน้าที่อ้างว่า เป็น “ข่าวปลอม” หรือ fake news ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง สร้างความตื่นตระหนก ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เลย เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นทั่วๆ ไป หรือล้อเลียนผู้มีอำนาจ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้สัมภาษณ์สื่อว่า “ข่าวปลอม” หรือ fake news ในโลกออนไลน์ “…มีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น …ซึ่งเฟคนิวส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองและความมั่นคง มีความร้อนแรงมากกว่าเฟคนิวส์ประเภทอื่นๆ เนื่องจากมีความพยายามสร้างข่าวลวง เพื่อทำลายชื่อเสียงรัฐบาลทหารที่กำลังบริหารงานประเทศอยู่ในขณะนี้ โดยกลุ่มที่หวังผลทางการเมือง และกลุ่มที่หวังผลเป็นรายได้จากยอดผู้เข้าชมและแชร์” ซึ่ง ปอท. ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการข่าวหรือไอโอ ขึ้นมาต่อต้านเฟคนิวส์โดยเฉพาะ “ทำหน้าที่ติดตามข้อมูลอันเป็นเท็จที่ถูกปล่อยเข้ามาในระบบคอมพิวเตอร์ …นอกจากนี้ ยังมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นในการปราบปราม ดำเนินคดีเจ้าของเฟสบุ๊ค เพจ เว็บไซต์ และบุคคลที่เข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ หลายคดี”

ผลการดำเนินงานของ ปอท. เป็นอย่างไร ทำไมผู้เขียนถึงมองว่าเป็นปัญหาใหญ่?

โปรดติดตามตอนต่อไป.