ThaiPublica > เกาะกระแส > เลือกตั้ง “กรรมการแพทยสภา” ชุดใหม่ กับ 40 ปัญหาวงการแพทย์ ที่ยังรอการแก้ไข

เลือกตั้ง “กรรมการแพทยสภา” ชุดใหม่ กับ 40 ปัญหาวงการแพทย์ ที่ยังรอการแก้ไข

11 ธันวาคม 2018


ที่มาภาพ : https://www.tmc.or.th/

วงการแพทย์กำลังจับตาการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาชุดใหม่วาระ พ.ศ. 2562-2564 หลังกรรมการแพทยสภาจากการเลือกตั้งชุดปัจจุบันกำลังจะหมดวาระสิ้นเดือนมกราคม 2562  โดยครั้งนี้มีผู้สนใจรับสมัครเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 117 คน และจะมีการลงคะแนนเลือกตั้งในรูปแบบเดิมคือทางไปรษณีย์  ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 29 คนแรก จะเข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมการแพทยสภาร่วมกับกรรมการแพทยสภาโดยตำแหน่ง

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาได้จัดส่งเอกสารและบัตรเลือกตั้งไปให้สมาชิกตามที่อยู่ในฐานข้อมูลแพทยสภาตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2561 กำหนดปิดรับบัตรลงคะแนนเลือกตั้งวันที่ 7 มกราคม 2562 และจะนับคะแนนในวันที่ 8 มกราคม 2562 ที่อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้มีสมาชิกแพทยสภาเสนอให้มีการเลือกตั้งผ่านระบบออนไลน์ แต่ในที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภามีมติเสียงข้างมากให้ดำเนินการเลือกตั้งแบบเดิมคือทางไปรษณีย์ต่อไป โดยชี้แจงเหตุผลจากมติการประชุมหารือของคณะอนุกรรมการเลือกตั้งฯ วาระ พ.ศ. 2562-2564 ที่ระบุว่าการเลือกตั้งระบบออนไลน์ยังมีข้อจำกัดและความไม่พร้อมใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1. ระบบการยืนยันตัวบุคคล 2. การป้องกันการสวมสิทธิ์ 3. การรักษาความลับ และ 4. ระบบป้องกันการออกเสียงซ้ำซ้อน

จนถึงขณะนี้ คณะอนุกรรมการเลือกตั้งฯ เห็นด้วยกับระบบการลงคะแนนเลือกตั้งออนไลน์ แต่ด้วยข้อจำกัดและความไม่พร้อมในประเด็นต่างๆ ที่กล่าวถึงด้านบน ในการเลือกตั้งคณะกรรมการแพทยสภา วาระ พ.ศ. 2562-2564 นี้ คณะอนุกรรมการเลือกตั้งฯ จึงยังคงดำเนินการเลือกตั้งในรูปแบบส่งทางไปรษณีย์

อย่างไรก็ตามที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาจึงมีมติให้ดำเนินการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา (วาระ พ.ศ. 2562-2564) ตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการเลือกและการเลือกตั้งกรรมการ พ.ศ. 2525 ที่ดำเนินการไปแล้ว ต่อไป ทั้งนี้ มีมติเพิ่มเติมให้มีการปรับปรุงแก้ไขและให้มีการดำเนินการเลือกตั้งด้วยวิธีออนไลน์ในการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาในวาระ พ.ศ. 2564-2566 โดยจะต้องมีการแก้ไขข้อบังคับแพทยสภาในเรื่องการเลือกตั้งให้สอดคล้องกับวิธีการออนไลน์เสียก่อน

แพทย์ใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย-ไม่ได้รับบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์

นับแต่แพทยสภาก่อตั้งมา 50 ปี (2511-2561) มีการเลือกตั้งผ่านทางไปรษณีย์มาโดยตลอด แต่ช่วงหลังพบว่าแพทย์ใช้สิทธิ์เลือกตั้งกรรมการแพทยสภาน้อยลง โดยมีการใช้สิทธิ์ราว 20-30% จากจำนวนแพทย์ทั้งหมดซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 6 หมื่นคน ทั้งนี้ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้แพทย์ใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยคือการไม่ได้รับบัตรเลือกตั้งในระบบไปรษณีย์จำนวนมาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนที่อยู่หรือเคลื่อนย้ายที่ทำงานบ่อยครั้ง โดยเฉพาะแพทย์ใช้ทุนจบใหม่

จากปัญหาดังกล่าว มีสมาชิกแพทยสภาเสนอให้มีการศึกษาวิจัยว่าเหตุใดสมาชิกแพทยสภาไม่สนใจเลือกตั้งแพทยสภา จนกระทั่งเมื่อสองปีที่แล้วแพทยสภาจัดให้มีโครงการวิจัย “การศึกษาเหตุที่ผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาต่ำมากและแนวทางแก้ไข” เพื่อนำมาปรับปรุงการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา ผู้วิจัยคือ ดร.ศิริวรรณ ศิริบุญ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ โครงการวิจัยมีวัตถุประสงค์ 5 ประการ คือ 1. ศึกษาพฤติกรรมการใช้สิทธิ 2. เหตุผลของการใช้สิทธิและไม่ใช้สิทธิ 3. ข้อเสนอแนะเพื่อให้สมาชิกใช้สิทธิเลือกตั้งสูงขึ้น 4. ความคิดเห็นที่มีต่อบทบาทแพทยสภา และ 5. ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาแพทยสภา

ส่วนวิธีการศึกษาวิจัย ใช้ระเบียบวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยส่งแบบสอบถามไปยังสมาชิก 7,622 คน ตอบกลับมา 1,338 คน และสอบถามเชิงลึก 19 คน ประกอบด้วย สมาชิกแพทยสภา กรรมการแพทยสภา เจ้าหน้าที่แพทยสภา และที่ปรึกษา

ที่มาภาพ : https://tmc.or.th/News/News-and-Activities/523

ผลวิจัยพบไม่ได้รับบัตรเลือกตั้งร้อยละ 28 – คนสมัครหน้าเดิมๆ

จากผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่ไม่ใช้สิทธิในการเลือกตั้งให้เหตุผลว่าเป็นเพราะไม่ได้รับบัตรเลือกตั้ง ร้อยละ 28.1, ไม่มีเวลา ร้อยละ 27.1, เลือกไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ร้อยละ 23.6, คนสมัครหน้าเดิมๆ ร้อยละ 14.9, ลืมส่งบัตรเลือกตั้ง ร้อยละ 14.3,  ทำบัตรเลือกตั้งหาย ร้อยละ 12.6, ไม่ระบุเหตุผล-แพทยสภาไม่น่าเชื่อถือ ร้อยละ 5.8

สำหรับการใช้สิทธิเลือกกรรมการแพทยสภาก่อน พ.ศ. 2558  ผู้ให้ข้อมูลร้อยละ 41.5 ระบุว่าใช้สิทธิเลือกตั้งทุกครั้ง, ร้อยละ 27.4 ระบุว่าใช้สิทธิเกือบทุกครั้ง, ร้อยละ 12.6 ระบุว่าใช้สิทธินานๆ ครั้ง, และร้อยละ 13.8 ระบุว่าไม่เคยใช้สิทธิเลย

นอกจากนี้ ผู้ให้ข้อมูลเสนอความเห็นเพื่อเพิ่มการใช้สิทธิเลือกตั้งไว้หลายประเด็น ได้แก่ ควรจะประชาสัมพันธ์หลายๆ ครั้ง/บ่อยๆ ร้อยละ 54, ควรกระตุ้นผ่านระบบไอที ร้อยละ 48.8, ควรให้เลือกตั้งผ่านระบบไอทีที่มีการรักษาความลับ ร้อยละ 44

ส่วนข้อเสนออื่นๆ คือ ควรมีหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่หรือมีหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่อื่นๆ, ควรให้มีกรรมการที่มีโควตาจากระดับจังหวัด, ควรมีทางเลือกในการใช้สิทธิได้ทั้งใช้บัตรเลือกตั้งและใช้สิทธิผ่านระบบไอที, และฐานข้อมูลสมาชิกต้องได้รับการปรับปรุงให้มีความครบถ้วนและทันสมัย

ในเวลาต่อมา ได้มีการนำผลวิจัยดังกล่าวมารายงานในที่ประชุมกรรมการแพทยสภา และสมาชิกแพทยสภาเสนอให้มีการเลือกตั้งแบบออนไลน์ โดยให้เหตุผลว่าปัจจุบันเป็นยุคไทยแลนด์ 4.0 ประกอบกับสภาเภสัชกรรมได้มีการเลือกตั้งแบบออนไลน์แล้วเช่นกัน  แต่ในที่สุดก็มีมติให้เลือกตั้งแบบเดิมคือทางไปรษณีย์ไปก่อน

ปัญหาวงการแพทย์รอการแก้ไข

มีการวิเคราะห์จากสมาชิกแพทยสภาจำนวนหนึ่งมองว่า จากปัญหาแพทย์ไม่ได้รับบัตรเลือกตั้งจำนวนมาก และส่งผลให้มีการใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อย จะทำให้แพทย์ไม่มีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง และอาจส่งผลให้ได้กรรมการแพทยสภาที่ไม่ใช่ผู้แทนที่แท้จริงของแพทย์ส่วนใหญ่ ขณะที่ปัญหาวงการแพทย์จำนวนมากซึ่งเป็นหน้าที่ของแพทยสภาต้องแก้ไข ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะตัวแทนแพทย์ไม่ใช่ผู้แทนที่แท้จริงนั่นเอง

เมื่อไม่นานมานี้ มีการประชุมสมาชิกแพทยสภาที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งสมาชิกได้ร่วมกันเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาในวงการแพทย์มากกว่า 40 ข้อ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

    1. สวัสดิการและสวัสดิภาพของสมาชิก
    2. บทบาทแพทยสภาที่มีต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุข
    3. ปัญหากฎหมายที่มีผลต่อสมาชิกแพทยสภา

สำหรับข้อเสนอของสมาชิกที่เกี่ยวกับสวัสดิการและสวัสดิภาพของแพทย์ เช่น แพทยสภาควรกำหนดระยะเวลาการทำงานของแพทย์ในภาคราชการไม่ให้มากเกินไป  ควรให้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคมเมื่อมีปัญหาแพทย์ถูกกล่าวหาร้องเรียนในสื่อสังคม  การแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนจำนวนมาก รวมถึงปัญหาโรงพยาบาลรัฐขาดทุน

ทั้งนี้มีข้อเสนอจากสมาชิกว่า แพทย์ควรจะทำงานสัปดาห์ละไม่เกิน 80 ชั่วโมง ทั้งในและนอกเวลาราชการจากปกติ 40 ชั่วโมง แต่ก็ยังมีหลายโรงพยาบาลระบุว่าทำไม่ได้ บางโรงพยาบาลบอกว่าทำมากกว่า 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนแพทย์และพยาบาล

จากปัญหาเหล่านี้ สมาชิกจึงเสนอให้แพทยสภาในฐานะองค์กรวิชาชีพจะต้องให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในเรื่องปัญหาการแพทย์และสาธารณสุข ตามวัตถุประสงค์แพทยสภามาตรา 7(5)

ส่วนบทบาทแพทยสภาที่มีต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุข สมาชิกมีข้อเสนอให้แพทยสภามีการปฏิรูประบบการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (ดูแลตนเองก่อนป่วย) รวมทั้งกระตุ้นรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลสุขภาพก่อนป่วย ไปจนถึงการตรวจคัดกรองและการให้ความรู้แก่ประชาชนในการรักษาตนเองเบื้องต้นได้อย่างถูกต้องตามมาตรา 7(4) (5)

ขณะเดียวกันยังเสนอให้แพทยสภาส่งเสริมการวิจัยเพื่อให้มีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในทางการแพทย์ และควรมีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมให้แพทย์มีความรู้ความสามารถในด้านการแพทย์แผนไทย รวมทั้งการใช้ตำรับยาไทยที่เคยมีมาแล้วในอดีต

ปลดล็อกแพทย์ติดคุกคดีอาญา เพราะรักษาผู้ป่วย

ส่วนข้อเสนอต่อปัญหากฎหมายที่มีผลต่อสมาชิกแพทยสภา เป็นเรื่องที่มีการหารือกันมาก เพราะปัจจุบันเรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบกับคนในวิชาชีพแพทย์จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกรณีแพทย์รักษาคนไข้แต่ถูกฟ้องคดีอาญาจนติดคุก

ทั้งนี้ มีสมาชิกแพทยสภาเสนอความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวหลายข้อ ยกตัวอย่างเช่น  เฝ้าระวังการเสนอกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อแพทย์ก่อนที่จะมีการออกมาใช้บังคับ, เสนอแก้ไขกฎหมายเดิมที่ไม่เป็นธรรมต่อแพทย์ เช่น กฎหมายสถานพยาบาล กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค

รวมทั้งแก้ไขกฎหมายไม่ให้การรักษาผู้ป่วยต้องเป็นคดีอาญา หรือต้องติดคุกเพราะรักษาคน โดยเสนอให้ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ พ.ศ. …. ซึ่งมีเนื้อหาไม่แตกต่างจากคดีผู้บริโภค และไม่ปรากฏว่าได้กำหนดให้ศาลต้องรับฟังความคิดเห็นพยานผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และยังลงโทษให้แพทย์ถูกจำคุกได้อีก เป็นต้น

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา

ผลกระทบจากแพทย์-พยาบาลขาดแคลน

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา ให้ความเห็นต่อเรื่องสวัสดิการและสวัสดิภาพของสมาชิกที่มีการเสนอ เช่น แพทยสภาควรกำหนดระยะเวลาการทำงานของแพทย์ในภาคราชการไม่ให้มากเกินไป  ควรให้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคมเมื่อมีปัญหาแพทย์ถูกกล่าวหาร้องเรียนในสื่อสังคม ไม่นับรวมการแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนจำนวนมาก รวมถึงปัญหาโรงพยาบาลรัฐขาดทุน

“จากปัญหาหมอไม่พอ เช่น ในห้องฉุกเฉินมีหมอหนึ่งคน พยาบาลอีก 3-4 คน แต่มีคนไข้มารอจำนวนมาก เวลาคนไข้ป่วยหนักมา คนที่รอคิวก็ต้องรอไว้ก่อน หมอก็มาดูแลคนไข้ที่หนักกว่า ก็เกิดเรื่องโต้เถียงกับหมอ เพราะมีความรู้สึกว่ารอนานเกินไป จนเกิดกรณีคนไข้เครียดทำร้ายหมอ”

พญ.เชิดชูยกตัวอย่างอธิบายต่อว่า “อีกเรื่องหนึ่งคือหมอเครียดต่อว่าคนไข้ ยกตัวอย่างเคยมีหมอคนหนึ่งบอกว่าโรงพยาบาลไม่ใช่ 7-11 ขณะที่หมอที่จังหวัดมุกดาหารคนหนึ่งบอกว่าโรงพยาบาลที่เขาอยู่ยิ่งกว่า 7-11 เพราะมีหมอแค่คนเดียว แต่อยู่รอดได้เพราะมีพยาบาลคอยช่วย แต่ปัจจุบันพยาบาลก็ขาดแคลน”

จากการประชุมสมาชิกแพทยสภา ได้มีข้อเสนอว่าแพทย์ควรจะทำงานสัปดาห์ละไม่เกิน 80 ชั่วโมงทั้งในและนอกเวลาราชการจากปกติ 40 ชั่วโมง แต่ก็ยังมีหลายโรงพยาบาลบอกว่าทำไม่ได้ และทำมากกว่า 120 ชั่วโมง  เนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนแพทย์และพยาบาล

“เพราะฉะนั้น ปัญหาเหล่านี้แพทยสภาในฐานองค์กรวิชาชีพควรจะมีส่วนเสนอให้รัฐบาลได้รับรู้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขทั้งเรื่องคน งบประมาณ มาตรฐาน คุณภาพ และชั่วโมงการทำงาน ตามวัตถุประสงค์แพทยสภามาตรา 7(5) ก็คือแพทยสภาจะต้องให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในเรื่องปัญหาการแพทย์และสาธารณสุข”

ในส่วนบทบาทแพทยสภาที่มีต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุข พญ.เชิดชูระบุว่า มีข้อเสนอให้แพทยสภามีการปฏิรูประบบการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (ดูแลตนเองก่อนป่วย) รวมทั้งกระตุ้นรัฐบาลให้ให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลสุขภาพก่อนป่วย ไปจนถึงการตรวจคัดกรองและการให้ความรู้แก่ประชาชนในการรักษาตนเองเบื้องต้นได้อย่างถูกต้องตามมาตรา 7(4) และ (5)

ขณะเดียวกัน แพทยสภาควรส่งเสริมการวิจัยเพื่อให้มีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในทางการแพทย์ เช่น การใช้เสต็มเซลล์ การรักษาด้วยการแพทย์รีเจเนอเรทีฟ (regenerative medicine) หรือการใช้กัญชาทางการแพทย์ และควรมีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมให้แพทย์มีความรู้ความสามารถในด้านการแพทย์แผนไทย รวมทั้งการใช้ตำรับยาไทยที่เคยมีมาแล้วในอดีต

ส่วนปัญหากฎหมายที่มีผลต่อสมาชิกแพทยสภา พญ.เชิดชูบอกว่า ปัจจุบันเรื่องกฎหมายการแพทย์มีปัญหากับแพทย์อย่างมาก โดยเฉพาะกรณีแพทย์รักษาคนไข้แต่ถูกฟ้องคดีอาญาจนติดคุก ทั้งที่จริงๆ แล้วในทุกประเทศทั่วโลก การรักษาคนไข้ไม่นับเป็นคดีอาญา ยกเว้นจงใจทำร้ายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

ทั้งนี้ ในที่ประชุมสมาชิกมีการเสนอความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวหลายข้อ ได้แก่ เฝ้าระวังการเสนอกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อแพทย์ก่อนที่จะมีการออกมาใช้บังคับ, เสนอแก้ไขกฎหมายเดิมที่ไม่เป็นธรรมต่อแพทย์ เช่น กฎหมายสถานพยาบาล กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค

แก้ไขกฎหมายไม่ให้การรักษาผู้ป่วยต้องเป็นคดีอาญา ไม่ให้ติดคุกเพราะรักษาคน โดยเสนอให้แพทยสภายับยั้งร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ พ.ศ. ….  ซึ่งมีเนื้อหาไม่แตกต่างจากคดีผู้บริโภค และไม่ปรากฏว่าได้กำหนดให้ศาลต้องรับฟังความคิดเห็นพยานผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และยังลงโทษให้แพทย์ถูกจำคุกได้อีก เป็นต้น

พญ.เชิดชูกล่าวว่า ทุกวันนี้แพทย์ทำงานไปแต่ก็ต้องระวังตัวเองไม่ให้ถูกฟ้อง ซึ่งหนึ่งในวิธีการระวังคือส่งตัวคนไข้ไปหาผู้เชี่ยวชาญหรือโรงพยาบาลใหญ่ที่มีบุคลากรและเครื่องมือแพทย์ที่พร้อมกว่า ยกตัวอย่างกรณีศึกษา เช่น แพทย์คนแรกที่ถูกศาลตัดสินจำคุก 4 ปีไม่รอลงอาญาก่อนหน้านี้ ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

“โดยแพทย์คนนี้ให้คนไข้ดมยาสลบทางไขสันหลัง เนื่องจากทำการผ่าตัดไส้ติ่ง แต่ปรากฏว่าคนไข้เกิดรีแอคชั่นที่ผิดปกติและช็อก แพทย์จึงเลิกผ่าตัดแล้วรีบส่งไปโรงพยาบาลใหญ่ แต่ในที่สุดคนไข้เสียชีวิต ญาติฟ้องแพทย์ในคดีอาญา ศาลตัดสินจำคุก 4 ปี ทั้งที่ตั้งใจรักษาคนไข้ ศาลบอกว่าหมอไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญดมยา เพราะฉะนั้นจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นตัดสินจำคุก 4 ปี แต่คำถามคือในประเทศไทยมีหมอดมยาทุกโรงพยาบาลมั้ย ไม่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลชุมชนไม่มีหมอดมยาเลย ไม่มีผู้เชี่ยวชาญดมยาอย่างที่ศาลต้องการ อย่างไรก็ดี คดีนี้ศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องคดีดังกล่าวแล้ว ทำให้แพทย์คนดังกล่าวไม่มีความผิด”

หลังจากกรณีนี้ทำให้โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศซึ่งเคยมีห้องผ่าตัด เคยทำผ่าคลอดได้ ผ่าทำหมันได้ เลิกทำผ่าตัดหมด เรามีห้อง มีเครื่องมือ แต่ไม่ผ่าตัด ทุกคนส่งไปที่โรงพยาบาลใหญ่หมด คนไข้ก็ไปแออัดอยู่ที่โรงพยาบาลใหญ่ เพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถจัดสรรแพทย์ดมยาให้แก้โรงพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาล

กระนั้นก็ตาม พญ.เชิดชูกล่าวว่า “ก่อนหน้านี้มีการอบรมเป็นพยาบาลวิสัญญี แต่ตอนนี้ถึงแม้จะมีพยาบาลวิสัญญี หมอที่ผ่าตัดคนไข้ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นหมอ เพราะฉะนั้นหมอไม่ผ่าดีกว่า เพื่อรักษาตัวเองไม่ให้ถูกติดคุก และเพื่อให้คนไข้ปลอดภัยอย่างที่ศาลต้องการ แต่ปรากฏว่าปัจจุบันอัตราไส้ติ่งแตกสูงขึ้นระหว่างทางไปโรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งก็ยังไม่ได้มีการแก้ไขเรื่องนี้”

พญ.เชิดชูกล่าวต่อในประเด็นนี้ว่า “พ.ร.บ.สถานพยาบาล ซึ่งจะบังคับโรงพยาบาลเอกชนว่าต้องมีหมอดมยา แต่โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขไม่จำเป็น เพราะไม่มีคน บุคลากรแพทย์รับผิดชอบตัวเอง ฉะนั้น การมี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เอาผิดทางอาญา หมอก็เกิดปัญหาต้องส่งต่อคนไข้ไป วิธีการนี้เรียกว่า defensive medicine คือป้องกันตัวเอง ฉันอยากรักษาคน แต่ก็ต้องระวังด้วยว่าจะไม่เดือดร้อนซะเอง”

พญ.เชิดชูกล่าวว่า ดังนั้น การเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาครั้งนี้อยากให้แพทย์มีส่วนร่วมในการจะเข้ามาเป็นเจ้าของแพทยสภา เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาวงการแพทย์โดยลุกขึ้นมาออกเสียงเลือกตั้ง เพราะปัญหาแพทย์แต่ละเรื่องต้องมีทีมขึ้นมาศึกษา ไม่ว่าเรื่องชั่วโมงการทำงานของแพทย์หรือการวิจัยเพื่อพัฒนาใหม่ๆ รวมทั้งเรื่องกฎหมายที่มีผลต่อสมาชิกแพทยสภา

“อยากจะให้ทุกคนสนใจว่าองค์กรแพทยสภาควรจะเป็นผู้นำสังคมในเรื่องมาตรฐานคุณภาพทางการแพทย์ แล้วการคุ้มครองแพทย์ก็เพื่อคุ้มครองประชาชน เพราะถ้าแพทย์มีเวลาทำงานที่มีมาตรฐาน แพทย์มีความรู้ที่ดี ก็ไม่ต้องมาหวั่นวิตกกับการจะถูกติดคุก เขาก็จะทำได้เต็มร้อย” พญ.เชิดชูกล่าว