ThaiPublica > คนในข่าว > ปรากฏการณ์แตกขั้ว “ตระกูลการเมือง” เมื่อคนในครอบครัวเป็นทั้งเครือข่าย พันธมิตร และคู่แข่ง

ปรากฏการณ์แตกขั้ว “ตระกูลการเมือง” เมื่อคนในครอบครัวเป็นทั้งเครือข่าย พันธมิตร และคู่แข่ง

27 ตุลาคม 2018


ปรากฏการณ์ตระกูลการเมือง “แตกขั้ว” สมาชิกภายในครอบครัวกระจายตัวกันไปสังกัดพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน พร้อมเตรียมลงสนามเลือกตั้งแข่งขันกันเอง กำลังกลายเป็นเรื่องปกติที่มีให้เห็นในหลายพื้นที่เวลานี้

ต่างจากในอดีตซึ่งส่วนใหญ่แล้วแต่ละ “ตระกูลการเมือง” มักจะผนึกกำลัง สังกัดอยู่ในพรรคเดียวกันเพื่อสร้างพลังและเพิ่มความแข็งแกร่งในพื้นที่ หรือหากจะย้ายพรรคก็มักจะยกกันไปทั้งครอบครัว หลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้ง และการเผชิญหน้าในพื้นที่

แต่ล่าสุด ด้วยสถานการณ์การเมืองปัจจุบันและกฎกติกาใหม่ ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้ยากที่จะมีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้การสร้างแนวร่วมและหาพันธมิตรต่างพรรคการเมืองดูจะเป็นอีกทางออกที่เกิดขึ้น

อีกด้านหนึ่งยังมีเหตุผลเรื่องการ “แทงกั๊ก” เนื่องด้วยไม่อาจเทน้ำหนักเลือกข้างใดข้างหนึ่งได้ ด้วยความเป็นห่วงกลัวจะตกขบวนพลาดพลั้งหลุด “ขั้วอำนาจ” อันจะไม่เป็นผลดีในทางการเมืองต่อไป

ยังไม่นับเหตุผลสำคัญซึ่งเวลานี้คนการเมืองกล้าเปิดหน้า เปิดเผยจุดยืน และอุดมการณ์ทางการเมือง ตลอดจนแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันภายในครอบครัว อันถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญทางการเมืองในปัจจุบัน

“โสณกุล” 3 พ่อลูก 3 ขั้วการเมือง

การเบนเข็มเข้าสู่ถนนการเมืองแบบเต็มตัว ของม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือคุณชายเต่า อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ด้วยการเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ในวัย 75 ปี ถือเป็นอีกตัวอย่างที่สำคัญของตระกูลการเมืองที่ไม่จำเป็นต้องอยู่พรรคเดียวกัน

ม.ร.ว.จัตุมงคล ยืนยันว่าไม่ได้เป็นเพียงแค่ “เงา” ของนายสุเทพ เทือกสุบรรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค รปช. แต่มีแนวคิดให้ทุกพรรคการเมืองร่วมมือกันทำงาน โดยเปลี่ยนทัศนคติจากการที่มีสองฝ่ายคือรัฐบาลและฝ่ายค้าน ให้กลายเป็นรัฐบาลกับเสียงข้างน้อยร่วมกันทำงาน ต่อรองเพื่อให้ได้โครงการที่ดีที่สุด แต่ไม่ได้หมายความเป็นการฮั้วกันจนทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุล

ขณะที่ ม.ล.อภิมงคล โสณกุล ลูกชาย ได้เริ่มเข้ามาทำงานการเมืองก่อนหน้านี้กับพรรคประชาธิปัตย์ โดยได้รับเลือกเป็น ส.ส. กทม. มาแล้ว 3 สมัย ตั้งแต่ปี 2548

แม้ ม.ร.ว.จัตุมงคล จะเป็นหัวหน้าพรรค รปช. แต่ก็ไม่ได้ดึงลูกชายไปร่วมงานกับ พรรค รปช. ด้วย โดย ม.ล.อภิมงคลยังทำงานร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป

ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าวถึงการที่ ม.ล.อภิมงคลยังอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ว่า “การเมืองไม่ใช่เรื่องที่จะคิดแค่ว่ากระโดดลงไปแล้วจะจมน้ำตายหรือเปล่า แต่ยังต้องคิดว่ากระโดดลงไปแล้วเป็นถนนหรือเป็นบ่อด้วย เนื่องจากตลอด 4 ปีที่ผ่านมาหาเสียงในนามพรรคประชาธิปัตย์ทุกวัน จะให้อยู่ดีๆ ปีที่ 5ไปลงพรรคอื่นก็คงไม่รอด”

ส่วน ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล หรือเต่านา ลูกสาวของ ม.ร.ว.จัตุมงคล แม้จะไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่ได้คาบเกี่ยวข้องแวะกับแวดวงการเมืองในหลายครั้ง ด้วยจุดยืนที่สนับสนุนอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะที่เจ้าตัวระบุว่า “ไม่เคยเลือกพรรคนายกฯ ทักษิณ และก็จะไม่มีวันเลือกด้วย”

ล่าสุด หลังการเปิดตัวของ ม.ร.ว.จัตุมงคล เป็นหัวหน้าพรรค รปช. ม.ล.มิ่งมงคลออกมาระบุว่า

“ท่านหัวหน้าพรรค รปช คนใหม่..กล่าวว่าตอนเลือกตั้งครั้งหน้า..ยังไม่รู้เลยว่าะจะมีเพื่อไทยหรือเปล่า?..ก็ระวังคำพูดหน่อยก็ดีค่ะท่านหัวหน้าพรรคคนใหม่..พรรคใคร ใครเขาก็รัก อยากปรองดอง อยากยืดหยุ่น ก็อย่า..ไปเหยียบย่ำหัวใจของคนรากหญ้าเขาให้ มากนักค่ะ.”

โดย ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การที่บุตรทั้งสองจะไม่สนับสนุนพรรค รปช. นั้น ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะบุตรของตนของ 2 คนก็ชอบการเมืองแตกต่างกัน โดย ม.ล.มิ่งมงคล ชอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่วน ม.ล.อภิมงคล ยืนยันที่จะอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์

“ผมก็ไม่เคยถาม เพราะยอมรับการตัดสินใจของลูก จึงไม่คิดว่าเป็นปัญหาที่ ม.ล.มิ่งมงคลประกาศไม่หนุนพรรคที่ผมเป็นหัวหน้าพรรค แต่สังคมควรมองว่าเป็นเพราะผมเลี้ยงลูกดีมีความคิดเป็นของตัวเองมากกว่า”

“จึงรุ่งเรืองกิจ” 3 คน 2 ขั้ว อา-หลาน

ชื่อของสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.อุตสาหกรรม ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กลับมาปรากฏในแวดวงการเมืองอีกครั้ง หลังเงียบหายไปตั้งแต่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเมื่อครั้งยุบพรรคไทยรักไทย

ครั้งนี้ สุริยะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งในฐานะแกนนำ “กลุ่มสามมิตร” เจ้าของปฏิบัติการดูดที่สั่นคลอนหลายพื้นที่การเมือง โดยมีสัญญาใจที่จะลงเรือลำเดียวกันกับพรรคพลังประชารัฐ ผลักดัน พล.อ. ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย

แม้ตัวเองจะยังไม่เข้ามาทำหน้าที่ในพรรคพลังประชารัฐโดยตรงในเวลานี้ แต่ก็ส่งหลานชาย อย่าง นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC เข้ามานั่งเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ เป็นที่เรียบร้อย

ส่วนหลานชายอีกคนอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เจ้าของฉายา “ไพร่หมื่นล้าน” ที่วางมือจากตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหาร ไทยซัมมิท กรุ๊ป มาลุยงานการเมืองเต็มตัวในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กับจุดยืนทางการเมืองไม่เอาปฏิวัติรัฐประหาร ประกาศตัวพร้อมเป็นนายกฯ ที่จะเข้าไปรื้อมรดก คสช. และสร้างอนาคตใหม่ให้เกิดขึ้น

ไล่ย้อนดูความสัมพันธ์ในตระกูล “จึงรุ่งเรืองกิจ” มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน สรรเสริญ จุฬางกูร เป็นพี่ชายคนโต ตามมาด้วย พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ, โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และอิสริยา จึงรุ่งเรืองกิจ

โดยรุ่นลูก ธนาธร เป็นลูกคนที่ 2 จากทั้งหมด 5 คนของพัฒนาและสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ขณะที่พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นลูกชายของโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ทั้งคู่จึงมีสถานะเป็นลูกพี่ลูกน้องกันและเป็นหลานของสุริยะทั้งคู่

ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ อา-หลานจากตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองอยู่คนละขั้วต้องมาแข่งขันกันเอง

“อมรวิวัฒน์” สมพงษ์ -จุลพันธ์ พ่อลูกต่างพรรค

การเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อธรรมในระยะหลังถูกจัดว่าเป็นพรรคสำรองของพรรคเพื่อไทย ในกรณีหากเกิดการยุบพรรค พร้อมเป็นทางเลือกให้กับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ที่ไม่มีที่ลงได้ขยับขยายมายังพรรคเพื่อธรรม ท่ามกลางเสียงปฏิเสธจากบรรดาแกนนำพรรคว่าไม่ใช่พรรคสำรองแต่ประการใด

ล่าสุดที่ประชุมใหญ่พรรคเพื่อธรรม มีมติเลือก สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรค โดยประวัติ สมพงษ์เคยได้รับตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก่อนจะถูกตัดสิทธิการเมือง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งสมพงษ์ดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนขณะนั้น

ส่วนลูกชาย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เวลานี้ก็ยังเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ย้ายมาพรรคเพื่อธรรมตามบิดาแต่อย่างไร โดยสมพงษ์ชี้แจงว่า “ให้อิสระทางความคิดและการเมือง แต่อาจมาร่วมงานกันภายหลังได้ หากเขาเลือกตั้งมีผู้สมัครของเพื่อไทยเต็มพื้นที่แล้ว”

“เทียนทอง” ศึกสาม 3 เส้า สระแก้ว

การเลือกตั้งในพื้นที่ จ.สระแก้ว รอบนี้ส่อเค้าจะดุเดือดขึ้นมาทันที เมื่อ ฐานิสร์ เทียนทอง อดีต ส.ส. เขต 1 และ ตรีนุช เทียนทอง อดีต ส.ส. เขต 2 จากพรรคเพื่อไทย หลานชายและหลานสาวของ ป๋าเหนาะ-เสนาะ เทียนทอง แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้ลาออกจากพรรคเพื่อไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

ขณะที่พรรคเพื่อไทยเหลือเพียงป๋าเหนาะ และสรวงศ์ เทียนทอง ลูกชาย ที่จะต้องลงสนามแข่งขันกับคนกันเอง โดยฐานิสร์ออกมาชี้แจงว่า การเลือกตั้งรอบนี้ตนจะไม่ลงสมัคร ส.ส. ทั้งระบบบัญชีรายชื่อและระบบเขต แต่จะรับผิดชอบเป็นหัวหน้าทีมในการส่งคนลงเลือกตั้งให้กับพรรคพลังประชารัฐ

อีกด้านหนึ่งหนึ่ง ทรงยศ เทียนทอง นายก อบจ.สระแก้ว เวลานี้มีข่าวว่าเตรียมขยับขึ้นไปลงแข่งในสนามใหญ่ ในสังกัดของพรรคภูมิใจไทย โดยทรงยศเป็นบุตรชายคนโตของ วิทยา เทียนทอง น้องชายของป๋าเหนาะ

ทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าในพื้นที่สระแก้ว จึงน่าจะเป็นการแข่งขันกันระหว่างตระกูลเทียนทองที่กระจายอยู่ตามพรรคต่างๆ

“เทือกสุบรรณ” (พร้อมพันธุ์) รปช. vs ปชป.

ล่าสุด ลุงกำนัน สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส. 10 สมัย ซึ่งทิ้งอดีต 39 ปีในพรรคประชาธิปัตย์ วางมือทางการเมืองในระบบไปขับเคลื่อนการเมืองข้างถนนร่วมกับมวลมหาประชาชน ก่อนจะผันตัวมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ซึ่งมี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นหัวหน้าพรรค

การออกไปตั้งพรรค รปช. ของสุเทพ ส่งผลสั่นคลอนต่อฐานเสียงของประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อคนพี่น้องเทือกสุบรรณ ทั้งธานี เทือกสุบรรณ และเชน เทือกสุบรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ย้ายออกไปอยู่กับพรรค รปช.

แต่ทว่า ลูกเลี้ยงซึ่งอยู่บ้านเดียวกันอย่าง เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ แถมยังเป็นคนสนิทที่คอยติดตามในช่วงเคลื่อนไหวทางการเมืองพร้อม ทำหน้าที่เป็นโฆษก กปปส. เมื่อในเวลานั้น แต่เวลานี้ยังยืนยันจะสวมเสื้อประชาธิปัตย์ ลงสนามเลือกตั้งไม่ย้ายไป รปช. แต่อย่างใด

“ปุณณกันต์” พุทธิพงษ์-ดนุพร พี่น้องต่างขั้ว

ถัดมาคือ ตระกูล “ปุณณกันต์” ในฐานะพี่ชาย บี-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และเคยได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม และรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ต่อมา พุทธิพงษ์ได้ออกไปร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่ม กปปส. ล่าสุดตอนนี้กลับเข้าสู่ถนนการเมืองอีกรอบในบทบาทเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ดูแลงานด้านโซเชียลมีเดียให้กับ พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งหวังหว่าจะสามารถขยายช่องทางการสื่อสารเข้าถึงประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น

แถมพ่วงตำแหน่งเป็น 1 ใน 25 กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ที่น่าจะเป็นกำลังสำคัญท่ีถูกวางตัวให้เข้ามาแข่งขันในพื้นที่ กทม. ฐานที่มั่นเก่าด้วย

ส่วนน้องชายแท้ๆ บรู๊ค-ดนุพร ปุณณกันต์ ซึ่งอยู่กันคนละขั้วมาแต่แรก โดยดนุพรเร่ิมงานการการเมืองตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงพรรคพลังประชาชนเขาได้รับตำแหน่งโฆษกคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร และยังคงมีบทบบาททางการเมืองเรื่อยมาจนถึงพรรคเพื่อไทย

แม้เวลานี้พุทธิพงษ์จะเปลี่ยนค่าย แต่การเลือกตั้งในสนามหน้า ทั้งพุทธิพงษ์และดนุพรก็ยังยืนกันอยู่คนละขั้วการเมืองเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

“เวชชาชีวะ” ตำนานความต่างตระกูลการเมือง

นับเป็นอีกตำนานสำคัญทางการเมือง ที่ลูกพี่ลูกน้องที่นามสกุลเดียวกันยืนอยู่คนละฝั่งของขั้วการเมือง เมื่ออภิสิทธ์ เวชาชีวะ เริ่มงานการเมืองและไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 7 และดำรงตำแหน่งมานานถึง 13 ปี โดยอยู่ระหว่างการลงแข่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรครอบใหม่ที่จะชี้ขาดกันต้นเดือนหน้า

ส่วนสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ซึ่งมีฐานะเป็นพี่ชายแต่ก็เข้าสู่ถนนการเมืองทีหลัง อภิสิทธิ์ โดยสรุนันทน์ได้รับหน้าที่เป็นโฆษกพรรคไทยรักไทย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายก ในรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า สุรนันทน์จะยังคงทำงานการเมืองต่อไปในสมัยนี้หรือไม่ แต่ปรากฏว่า ทายาทอีกคนจากตระกูล “เวชชาชีวะ” อย่าง ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ ได้ตัดสินใจเข้าสู่สนามการเมือง ตาม “อา” ทั้งอภิสิทธ์ิและสุรนันทน์ โดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธปัตย์เป็นที่เรียบร้อย พร้อมมีส่วนเข้ามาช่วยงานของพรรคไปแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนจะได้ลงสมัคร ส.ส. หรือไม่อยู่ที่พรรคจะพิจารณาอีกครั้ง

ทั้งนี้ พริษฐ์เป็นลูกชายของศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ และศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อลิสา วัชรสินธุ (ซึ่งเป็นพี่สาวคนโตของอภิสิทธิ์ ) ขณะที่สุรนันทน์เป็นบุตรชาย ของนิสสัย เวชชาชีวะ พี่ชายของอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ บิดาของอภิสิทธิ์ ซึ่งจะทำให้เป็นอีกสายเลือดเวชชาชีวะที่เข้าสู่ถนนการเมืองในสังกัดประชาธิปัตย์อีกคนหนึ่ง

“วิภูศิริ” พ่อลูกต่างพรรค ปชป.-พปชร.

ถัดมาที่ตระกูล “วิภูศิริ” เบื้องต้นในเวลานี้ อัศวิน วิภูศิริ ยังคงรับหน้าที่เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ท่ามกลางแรงดูดที่ถาโถมอย่างหนักและต่อเนื่อง ในฐานะคนสนิทของ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ และย้ายมาสังกัดกับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ปี 2554

ในครั้งนั้นได้ส่ง ชาญวิทย์ วิภูศิริ ลูกชายลงแข่งในพื้นที่ กทม. เขต 17 แต่แพ้วิชาญ มีนชัยนันท์ จากพรรคเพื่อไทย ไปประมาณ 3 พันคะแนน

แต่ล่าสุด ชาญวิทย์ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ และเปิดตัวในฐานะ 1 ใน 25 กรรมการบริหารพรรคเป็นที่เรียบร้อย แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในพื้นที่ใดหรือไม่

ทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้า คู่พ่อลูกจากตระกูล “วิภูศิริ” ต้องแยกกันอยู่คนละพรรค

“ธนาคมานุสรณ์” พี่น้องต่างพรรค ปชป.-พปชร.

เส้นทางการเมืองของพี่น้องจากตระกูล “ธนาคมานุสรณ์” ดูจะมีส่วนที่ทับซ้อนคาบเกี่ยวกับในบางช่วงบางตอน แต่กับการเลือกตั้งล่าสุด ทั้งชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ และโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ต้องยืนอยู่คนละพรรคการเมือง

เร่ิมจากชัยวุฒิ ซึ่งเดิมเป็น ส.ส.สิงห์บุรี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ปี 2544 ก่อนจะย้ายมาสังกัดพรรคชาติไทยและได้เป็น ส.ส.สิงห์บุรี ปี 2550 ก่อนจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2551 ปัจจุบัน ชัยวุฒิกลับเข้าสู่ถนนการเมืองอีกครั้งในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ

ส่วนโชติวุฒิ เข้าสู่ถนนการเมืองในช่วงพี่ชายถูกตัดสิทธิ์การเมือง โดยสวมเสื้อประชาธิปัตย์ลงสนามเลือกตั้ง และสามารถเอาชนะ พายัพ ปั้นเกตุ อดีต ส.ส. 3 สมัยจากพรรคเพื่อไทย แม้พี่ชายจะเป็นกรรมการบริหารพรรค พปชร. แต่เจ้าตัวยังยืนยันจะอยู่กับประชาธิปัตย์ต่อไป ทำให้พี่น้องจะต้องมาแข่งกันเองในเลือกตั้งครั้งหน้า