ThaiPublica > คนในข่าว > “ศึกใน – ศึกนอก” 13 ปี เก้าอี้หัวหน้าพรรคของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” #MakeMyMark ร่วมสร้างใหม่ไปกับมาร์ค

“ศึกใน – ศึกนอก” 13 ปี เก้าอี้หัวหน้าพรรคของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” #MakeMyMark ร่วมสร้างใหม่ไปกับมาร์ค

18 ตุลาคม 2018


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะพบปะพี่น้องประชาชน สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่หอประชุมโรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ14 ต.ค.2561 ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/Abhisit.M.Vejjajiva/photos/

“เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย”

อมตะวาจาจาก นายหัวชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค ซึ่งสามารถสะท้อนข้อเท็จจริงภายในพรรคเก่าแก่อายุกว่า 70 ปีแห่งนี้ ได้อย่างชัดเจน เหตุผลที่ว่า “ไม่ยาก” ก็เพราะใครๆ ก็สามารถเป็นหัวหน้าพรรคได้ แม้แต่ลูกแม่ค้าอย่างท่านก็เป็นได้ ส่วนที่ “ไม่ง่าย” ก็เพราะพรรคนี้สมาชิกมีความเป็นอิสระสูง ไม่ใช่หัวหน้าพรรคจะไปสั่งซ้ายหันขวาหันได้

แน่นอนว่าคงจะไม่มีใครเข้าใจประโยคนี้ได้ดีกว่าไปกว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนที่ 7 ซึ่งดำรงตำแหน่งมาแล้ว 13 ปี นับจากวันที่ 5 มี.ค.2548 ถือเป็นหัวหน้าพรรคที่ครองตำแหน่งยาวนานที่สุดเป็นอันดับสอง เป็นรองแค่ พันตรีควง อภัยวงศ์หัวหน้าพรรคนแรกที่ทำหนาที่ยาวนานกว่า 22 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2489-2511 ขณะที่ นายหัวชวน เป็นหัวหน้าพรรค 12 ปี ตั้งแต่ ม.ค. 2534- พ.ค.2546 และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค 11 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2511- 2522

ที่สำคัญ อภิสิทธิ์ เป็นบุคคลที่ผ่านเวทีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มามากที่สุดรวม 5 ครั้ง และ อยู่ระหว่างการลงสนามครั้งที่ 6 โดยจะชี้ขาดสุดท้ายกันในวันที่ 11 พ.ย. นี้ ซึ่งความแตกต่างของครั้งนี้อยู่ตรงที่จะเปิดให้ สมาชิกพรรคได้เข้ามามีส่วนร่วมหยั่งเสียงเบื้องต้น (ไพรแมรีโหวต) อันจะเป็นปัจจัยที่ที่ประชุมใหญ่พรรคจะต้องนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจเลือกหัวหน้าพรรคตามข้อบังคับใหม่

แต่ว่ากันว่านี่อาจเป็น “ศึกใน” ที่หนักที่สุดสำหรับอภิสิทธิ์ แม้หลายฝ่ายจะฟันธงล่วงหน้าไว้แล้ว อย่างไรเสีย อภิสิทธิ์ ก็คงกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเป็นสมัยที่ 5 ท่ามกลางเสียงสนับสนุนจากผู้หลักผู้ใหญ่ภายในพรรค ในวันที่ คู่แข่ง อย่าง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต สส.พิษณุโลก ที่มีฐานสนับสนุนจากฝั่ง กปปส. และ อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค ซึ่งอาจยังไม่โดดเด่นหรือมีเสียงสนับสนุนเพียงพอจะมาท้าชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค

จากสถิติการลงสนามที่ผ่านมา 5 ครั้ง อภิสิทธิ์ ชนะ 4 ครั้ง แพ้ 1 ครั้ง แต่ทว่า 4 ครั้งที่ชนะนั้น เป็นการแข่งขันที่อาจจะเรียกได้ว่าชนะบายคือไม่มีคู่แข่งทั้ง 4 ครั้ง ทำให้ครั้งนี้จะเป็นหนที่สองซึ่งอภิสิทธิ์จะมีคู่แข่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ยกแรก อภิสทธิ์ แพ้คะแนน ผลัดใบ พ่าย ทศวรรษใหม่

ลงสนามครั้งแรก อภิสิทธิ์ ถูกมองว่าเป็นทายาททางการเมืองของ นายหัวชวน ซึ่งหมดวาระการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และเปิดให้มีการแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ แถมยังภาษีเหนือกว่าคนอื่นในพรรคเวลานั้น อีกทั้งด้วยคุณสมบัติจบการศึกษาสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (PPE) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เคยผ่านงานการเมืองในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายรัฐมนตรี

แต่ทว่า “จุดอ่อน” ด้านวัยวุฒิซึ่ง อภิสิทธิ์ มีอายุเพียง 41 ปี ในช่วงลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ทำให้หลายคนในพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าอาจยังเร็วเกินไปจะให้คนหนุ่มมาบริหารพรรคเก่าแก่ในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับศึกใหญ่ในการแข่งขันกับพรรคไทยรักไทย ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาในช่วงเวลานั้น

การหาเสียงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคช่วงนั้นเป็นไปอย่างเข้มข้น ระหว่าง “กลุ่มประชาธิปัตย์ผลัดใบ” ของ อภิสิทธิ์ ซึ่งได้ สุเทพ เทือกสุบรรณ มาช่วยเป็นกำลังหลักในการหาเสียง ซึ่งจะต้องขับเคี่ยวกับ “กลุ่มทศวรรษใหม่” ซึ่งสนับสนุน บัญญัติ บรรทัดฐาน ขึ้นมาแข่งขัน โดยมี ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นทีมงานคนสำคัญ พร้อมกับทางเลือกตรงกลาง คือ อาทิตย์ อุไรรัตน์ ซึ่งเสนอตัวเป็นคู่แข่งขันในสนามนี้ด้วย

ผลสุดท้ายในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2546 ที่ประชุมได้ลงคะแนนเลือก บัญญัติ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ด้วยคะแนนรวมร้อยละ 48.05 ชนะ เฉือนเอาชนะ อภิสิทธิ์ ที่ได้คะแนนรวมร้อยละ 45.26 ส่วนอันดับสาม อาทิตย์ ได้คะแนนรวมร้อยละ 4.75

ตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค 9 ตำแหน่ง ที่ประชุมได้ลงคะแนนเลือก อภิสิทธิ์ , ไพฑูรย์ แก้วทอง, โพธิพงษ์ ล่ำซำ, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช, นิพนธ์ พร้อมพันธุ์, เอนก เหล่าธรรมทัศน์ , ไตรรงค์ สุวรรณคีรี, สุทัศน์ เงินหมื่น และ เลือก ประดิษฐ์ เป็นเลขาธิการพรรค

บัญญัติ ประกาศหลังรับตำแหน่งว่า จะทำให้พรรคเข้มแข็งและใหญ่ขึ้น โดยจะทำให้พรรคมีจำนวน สส.เพิ่มขึ้น และหากผลการเลือกตั้งครั้งหน้าแพ้พรรคไทยรักไทย จะขอลาออกจากตำแหน่ง

อภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคคนที่ 7 หวังสร้างปชป.เป็นสถาบันการเมือง

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2548 พรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร ชนะไปแบบถล่มทะลายกวาด 375 ที่นั่ง ขณะที่การนำทัพของ บัญญัติ ลงสนามเลือกตั้งครั้งแรก ประชาธิปัตย์ได้เพียง 96 ที่นั่ง ลดลงจากเดิมถึง 32 ที่นั่งทำให้ บัญญัติ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

คล้อยหลังได้เดือนเดียว เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2548 พรรคประชาธิปัตย์ จัดประชุมใหญ่วิสามัญที่ห้องบางกอก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แทนชุดเดิมที่ลาออกไป โดยมีสมาชิกที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 281 คน

ในที่ประชุม บัญญัติ ได้เสนอชื่อ อภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคขณะนั้นขึ้นเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรค ซึ่งที่ประชุมได้รับรองและไม่มีใครเสนอชื่อเพิ่ม อภิสิทธิ์ จึงเป็นหัวหน้าพรรคโดยเอกฉันท์ นอกจากนี้ที่ประชุม เลือก อภิรักษ์ โกษะโยธิน วิฑูรย์ นามบุตร จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี วิทยา แก้วภราดัย อลงกรณ์ พลบุตร สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นรองหัวหน้าพรรค

ส่วนตำแหน่ง เลขาธิการพรรคนั้น กรณ์ จาติกวนิช ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร และ นิพนธ์ บุญญามณี ซึ่งได้รับการเสนอชื่อทั้งสามคนได้ขอถอนตัว ทำให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคโดยไม่ต้องมีการลงคะแนน และมี กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นเหรัญญิกพรรค

อภิสิทธิ์ กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมใหญ่ว่า “ สี่ปีข้างหน้าเราจะคิดแต่เพียงว่า เราเป็นฝ่ายค้านไม่ได้ เราต้องคิดว่าเราเป็นสถาบันการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง และเราต้องพิสูจน์ว่าสถาบันการเมืองนี้ในอีกไม่เกิน สี่ปีข้างหน้าพร้อมที่จะกลับมารับใช้พี่น้องประชาชนในฐานะฝ่ายบริหารของประเทศ”

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2550 แม้จะแพ้การเลือกตั้ง แต่ อภิสิทธิ์ ก็สามารถนำทัพประชาธิปัตย์ คว้าเก้าอี้ ส.ส.ได้ถึง 165 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 69 ที่นั่ง และ ได้คะแนนบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นจากประมาณ 4 ล้านคะแนนมาเป็น 14 ล้านคะแนน

หัวหน้าพรรคสมัยที่สอง นายกรัฐมนตรีคนที่ 27

ในช่วงที่กระแสยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคกำลังมาแรง หลายพรรคการเมืองแก้ลำด้วยการลดจำนวนกรรมการบริหารพรรคลงเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในส่วนของประชาธิปัตย์ ได้จัดประชุมใหญ่วิสามัญ ในวันที่ 15 ก.ค.2551 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ซึ่งข้อบังคับพรรคปรับลดจำนวนจาก 49 คน เหลือ 19 คน ประกอบด้วย หัวหน้าพรรค 1 คน รองหัวหน้าพรรค 8 คน เลขาธิการพรรค 1 คน รองเลขาธิการพรรค 3 คน เหรัญญิกพรรค 1 คน โฆษกพรรค 1 คน นายทะเบียนพรรค 1 คน และ กรรมการการบริหารพรรคอีก 3 คน

องอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น กล่าวว่า การลดจำนวนกรรมการบริหารพรรคไม่ใช่เป็นไปเพื่อหลีกหนีคดียุบพรรคอย่างที่ถูกกล่าวหา การแก้ไขข้อบังคับพรรคครั้งนี้ เป็นไปด้วยการดำริของ อภิสิทธิ์ ตั้งแต่ปี 2548 ช่วงเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ฉับไวในการทำงานมากยิ่งขึ้น สามารถเรียกประชุมและตัดสินใจปัญหาต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที

ที่ประชุม มีมติเลือก อภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรคสมัยที่สอง ด้วยคะแนนร้อยละ 98.34 เลขาธิการพรรคคือ สุเทพด้วยคะแนน ร้อยละ 98.72 ขณะที่ รองหัวหน้าพรรคในสัดส่วนของหัวหน้าพรรค 3 คน คือ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ และ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ส่วนรองหัวหน้าพรรคอีก 5 คนที่แบ่งตามภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ภาคอีสาน ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ภาคกลาง เฉลิมชัย ศรีอ่อน ภาคใต้ วิทยา แก้วภราดัย และ กทม. กรณ์ จาติกวณิช ขณะที่ ตำแหน่ง โฆษกพรรค ที่ประชุมมีมติเลือก นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ ซึ่งเอาชนะ ศิริโชค โสภา

อภิสิทธิ์ กล่าวในที่ประชุมว่า จะนำพรรคภายใต้กรรมการบริหารชุดใหม่เข้าไป เป็นรัฐบาลที่ดีของคนไทยให้ได้ภายในวาระการดำเนินงานของคณะกรรมการ ชุดนี้ วิถีทางที่ไปสู่จุดนั้น ต้องเป็น อุดมการณ์ของเรา บนวิถีทางรัฐสภา ไม่มีวิธีอื่น และต้องได้รับการสนับสนุนเสียงจากผู้แทนฯ หรือได้รับเสียงข้างมากจากประชาชน เป็นการเมืองที่บริสุทธิ์ ไม่มี แนวทางอื่นเด็ดขาด

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง ภายใต้การประสานงานของ สุเทพ ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนพลิกขั้วกลับมาสนับสนุนอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 โดยเอาชนะ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ในการโหวตของที่ประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2551 ก่อนที่เขาจะต้องมาเผชิญกับมรสุมการเมืองลูกใหญ่อย่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในเวลาต่อมา

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/Abhisit.M.Vejjajiva/photos/

อภิสิทธิ์ รีเทิร์น ดึง “เฉลิมชัย” นั่งเลขาฯ ตั้งเป้าเพิ่มที่นั่งสส.ภาคกลาง

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 เกิดขึ้นหลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2554 การเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคเพื่อไทย นำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งกวาดเก้าอี้สส.ไปได้ 265 ที่นั่ง ทิ้งห่างประชาธิปัตย์ซึ่งได้เพียง 159 ที่นั่ง ลดลงจากการเลือกตั้งปี 2550 ไป 14 ที่นั่ง คะแนนบัญชีรายชื่อลดลงเหลือ 11,433,762 ทำให้ อภิสิทธิ์ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ทว่า ท่าทีของคนในพรรคประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งเห็นว่าควรสนับสนุน อภิสิทธิ์ กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกรอบเพื่อความต่อเนื่อง ขณะที่บางส่วนเห็นว่าควรจะใช้โอกาสนี้ปรับเปลี่ยนผู้บริหารชุดใหม่เพื่อความสง่างามและเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต่อไป แต่ท้ายที่สุด คนในพรรคเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าควรจะสนับสนุนอภิสิทธิ์กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคต่ออีกสมัย

บัญญัติ แสดงความเห็นในตอนนั้นว่า ส่วนตัว อภิสิทธิ์ยังมีความเหมาะสมในการกลับเข้ามาทำหน้าที่ ตรงนี้ถือว่าเป็นความต่อเนื่องในการทำ งานในฐานะเคยเป็นรัฐบาลมาก่อน เมื่อเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายค้านย่อมมองเห็นว่ารัฐบาลใหม่ควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร เชื่อว่า อภิสิทธิ์จะเห็นความบกพร่องได้ชัดเจนกว่าคนอื่น

ความน่าสนใจอยู่ที่ ตำแหน่งเลขาธิการพรรค เพราะ สุเทพ ประกาศชัดเจนว่าจะไม่กลับมารับตำแหน่งอีกรอบเพื่อแสดงความรับผิดชอบในการทำให้ประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้ง ท่ามกลางกระแสข่าวว่าจะผลักดัน อภิรักษ์ โกษะโยธิน ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคคนต่อไป แต่ทว่ามีกระแสต่อต้านด้วยเหตุผลเรื่องคดีรถดับเพลิง ทำให้เริ่มมีรายชื่อแคนดิเดตเพิ่มมากขึ้นทั้ง อัญชลี วานิช เทพบุตร คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กรณ์ จาติกวณิช วิทยา แก้วภราดัย

สุดท้ายที่ประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2554 มารุต บุนนาค ในฐานะผู้อาวุโสของพรรค ได้เสนอชื่อ อภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคอีกสมัย โดยไม่มีผู้อื่นเสนอชื่อแข่ง ซึ่งตามข้อบังคับต้องได้เสียงรับรอบจากสมาชิกเกินกึ่งหนึ่ง โดยที่ประชุมครั้งนั้น มีผู้มาใช้สิทธิ 330 คน เลือก อภิสิทธิ์เป็นหัวหนาพรรค ร้อยละ 96.30 ทำให้อภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรคสมัยที่ 3 ขณะที่เลือก เฉลิมชัย เป็นเลขาธิการพรรค ด้วยคะแนนร้อยละ 72.89 ถึงจะเกินกึ่งหนึ่ง แต่ก็พบว่ามีคะแนน “โนโหวต” ประมาณร้อยละ 30%

อภิสิทธิ์ กล่าวในที่ประชุมว่า ระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่มีใครเหน็ดเหนื่อยเท่ากับ สุเทพ อยากให้พวกเราแสดงความขอบคุณ แม้จะไม่รับตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค แต่ตั้งใจเข้าไปลุยงานทางการเมืองอย่างเต็มที่ และเป็นกำลังสำคัญของพรรคต่อไป ส่วนที่เสนอ เฉลิมชัยเป็นเลขาธิการ เพราะเป็น ส.ส.มากว่า 10 ปี ทำงานในพื้นที่ช่วงชิงคือภาคกลาง ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีกว่า 10 เขตที่แพ้เลือกตั้งแบบเฉียดฉิว และมีโอกาสพลิกกลับมาชนะได้ในอนาคต

หัวหน้าพรรคสมัยที่ 4 ยุคปฏิรูปพรรค

ในช่วงการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการเสนอให้ปรับโครงสร้างพรรค กรรมการบริหารพรรคและสส. พรรค เห็นควรให้ขยายจำนวนกรรมการบริหาร จากเดิม 19 คนเป็น 35 คน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาบริหารพรรคมากขึ้น เช่น เพิ่มจำนวนรองหัวหน้าพรรค รองเลขาธิการพรรค ตัวแทนจากสาขาพรรค ตัวแทนจากสมาชิกสภาหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งกรรมการบริหารพรรคที่เลือกจากที่ประชุมใหญ่และเพิ่มวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคจาก 2 ปี เป็น 4 ปี ประกอบกับ เฉลิมชัย ได้ขอลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค หลังเสร็จงานการปฏิรูปพรรค

ทำให้ อภิสิทธิ์ ต้องเข้าสู่กลไกการเลือกหัวหน้าพรรคเป็นรอบที่ 5 โดยที่ประชุมใหญ่วิสามัญ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2556 ได้ลงมติเลือก อภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง ตามที่ บัญญัติ เป็นผู้เสนอชื่อโดยไม่มีคู่แข่ง ซึ่งตามข้อบังคับพรรคจะต้องมีการลงคะแนน โดยอภิสิทธิ์ได้คะแนนร้อยละ 98 จากผู้มีสิทธิ 328 คน จากนั้น อภิสิทธิ์ได้เสนอชื่อ จุติ ไกรฤกษ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคให้มารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคนใหม่ โดยที่ประชุมลงคะแนนให้ร้อยละ 91.51

ผลพวงจากการปรับโครงสร้างพรรค ประชาธิปัตย์ได้ผุดคณะกรรมการเพิ่มขึ้นมา 2 ชุด คือ 1. คณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ 2 คณะกรรมการปฏิบัติการเขตพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันทางการเมืองในพื้นที่ โดยแบ่งโซนรับผิดชอบ ตั้งแต่ หาผู้สมัคร สำรวจความเห็นของประชาชน ดูแลสนับสนุนการทำงานของบุคลากรในพื้นที่ มีหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค กำกับอีกชั้นหนึ่ง

ขณะที่โจทย์ใหญ่ของ อภิสิทธิ์ และกรรมการบริหารพรรคในเวลานั้นอยู่ที่การจะต้องตัดสินใจว่าจะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งใน การเลือกตั้งทั่วไป 2 ก.พ. 2557 หรือไม่ ในช่วงที่สถานการณ์การเมืองเวลานั้นอยู่ระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งเก่าและใหม่ อดีตส.ส.วันเสาร์ที่ 21 ธ.ค.2556 เพื่อพิจารณาและมีมติเกี่ยวกับการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57 หรือไม่ เพราะไม่ว่าจะตัดสินใจลงสมัครหรือไม่ ล้วนแต่ส่งผลต่อพรรค ถือเป็นเรื่องที่น่าหนักใจที่สุดเพราะเจ็บทุกทาง พรรคอาจจะเจ็บหรือพิการแต่หากทำแล้วประเทศไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเราก็ต้องยอม

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/Abhisit.M.Vejjajiva/photos/p.10156315347611144/10156315347611144/?type=1&theater

ศึกชิงหัวหน้าพรรคครั้งที่ 6 ร่วมสร้างใหม่ไปกับมาร์ค

ภายหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีคำสั่งห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหวมาร่วม 4 ปี ก่อนจะทยอย “คลายล็อค” เพื่อให้พรรคการเมืองได้จัดประชุมและเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 อภิสิทธิ์ จึงต้องก้าวเข้าสู่สนามเลือกหัวหน้าพรรคเป็นครั้งที่ 6 ในชีวิต

ความพิเศษของครั้งนี้อยู่ตรงที่การชี้ขาดเลือกคนที่จะมาทำหน้าที่หัวหน้าไม่ได้ขึ้นอยู่กับที่ประชุมใหญ่เหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไป แต่ขึ้นกับเสียงของสมาชิกพรรค ทำให้ผู้สมัครทั้ง 3 คน เริ่มเดินสายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำเสนอแนวคิดและแนวนโยบายของตัวเองในการอาสาตัวเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

อภิสิทธิ์ เจ้าของ แคมเปญในโลกออนไลน์ “#MakeMyMark ร่วมสร้างใหม่ไปกับมาร์ค” โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “ไม่ว่าคุณเป็นใคร จะมีประสบการณ์หรือไม่ ก็ไม่สำคัญ เพียงคุณมีจุดหมายและอุดมการณ์เดียวกันกับผม เชื่อมั่นในประชาธิปไตย อยากเปลี่ยนแปลงประเทศไทยของเราให้ดีกว่าเดิม เริ่มต้นง่ายๆ ตั้งแต่วันนี้ มาร่วมมือกับผม เป็นทีมอภิสิทธิ์ เพราะทุกพลังของคุณ สามารถเปลี่ยนเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ขับเคลื่อนประเทศได้แน่นอนครับ”

ขณะที่ นพ.วรงค์ ชูนโยบาย “กล้าเปลี่ยน เพื่อประชาชน” โดยจะเปลี่ยนพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคที่ทำมากกว่าพูด เปลี่ยนเป็นพรรคที่เป็นทีมเวิร์ก เปลี่ยนเป็นกระจายอำนาจ สร้างบทบาทประธานสาขา เปลี่ยนการเมืองให้เป็นที่พึ่ง พรรคประชาธิปัตย์จะต้องเปลี่ยนจากฝ่ายค้านผูกขาด เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ลดทะเลาะเบาะแว้ง แบ่งแยกประชาชน ส่วน อลงกรณ์ ระบุว่า ประชาธิปัตย์โดยการนำของเขาจะ ไม่ขัดขวางหรือคว่ำบาตรการเลือกตั้ง และไม่ยอมรับนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก เพราะจะเป็นชนวนก่อวิกฤติการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่

สุดท้ายทั้งหมดอยู่ที่สมาชิกพรรคจะโหวตให้ใคร ผ่านการหยั่งเสียง 2 วิธี คือ 1 ลงคะแนนผ่านแอพลิเคชั่น ระหว่างวันที่ 1-5 พ.ย. และ 2. ลงคะแนนผ่านหน่วยเลือกตั้งที่พรรคจัดไว้ทั่วประเทศวันที่ 5 พ.ย. และพรรคจะจัดประชุมใหญ่ในวันที่ 11 พ.ย. เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคทั้ง 41 คนอย่างเป็นทางการ

เส้นทาง 13 ปีเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ของ อภิสิทธิ์ ต้องฟันฝ่า “ศึกใน” กับการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคที่กำลังจะเกิดขึ้นดูจะไม่ใช่งานยากในเวลานี้ แต่ยังมี “ศึกนอก” กับโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายจะทำอย่างไรให้ประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง