ThaiPublica > คนในข่าว > “สมชัย สัจจพงษ์” เดินหน้ากองทุนการออม “แรงงานนอกระบบ” หาสมาชิก 1 ล้านคน การันตีผลตอบแทน เกษียณมีเงินเดือน 7-8 พันบาท/เดือน

“สมชัย สัจจพงษ์” เดินหน้ากองทุนการออม “แรงงานนอกระบบ” หาสมาชิก 1 ล้านคน การันตีผลตอบแทน เกษียณมีเงินเดือน 7-8 พันบาท/เดือน

3 พฤษภาคม 2012


นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ถูกผลักดันโดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงที่ กรณ์ จาติกวณิช เป็น รมว.คลัง มีเป้าหมายสร้างสวัสดิการให้กับแรงงานนอกระบบ 35 ล้านคนที่ไม่อยู่ในระบบกองทุนสวัสดิการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือ กองทุนประกันสังคม ให้มีหลักประกันรายได้หลังเกษียณอายุ 60 ปี ด้วยการสะสมเงินร่วมกับภาครัฐ

แนวทางที่วางไว้คือ ให้แรงงานนอกระบบสมัครเป็นสมาชิกกองทุน โดยจ่ายเงินสมทบได้ตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไป แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี โดยรัฐบาลจะจ่ายสมทบเพิ่มตามอายุของสมาชิก คิดอัตราแบบขั้นบันไดประกอบด้วย สมาชิกอายุ 15 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี รัฐบาลสมทบ 50% ของเงินสะสมแต่ไม่เกิน 600 บาทต่อปี

ขณะที่สมาชิกอายุ 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี รัฐบาลสมทบ 80% ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 960 บาทต่อปี และ สมาชิกอายุ 50 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี รัฐบาลสมทบ 100% ของเงินสะสมแต่ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี โดยเมื่อประชาชนอายุ ครบ 60 ปี ก็มีสิทธิจะได้รับเงินบำนาญไปจนตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้ามารับงานกองทุน กอช. ต่อจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ก็ถูกมองว่าใส่เกียร์ว่าง ไม่ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้เท่าที่ควร โดยได้มีการตัดงบประมาณการดำเนินการของ กอช. ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ตั้งไว้ 1,000 ล้านบาท เหลือเพียง 225 ล้านบาท ทำให้ไม่เพียงพอต่อการลงทุนวางระบบเทคโนโลยีและบริหารบุคลากร

ซ้ำร้าย “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ยังไม่เซ็นคำสั่งแต่งตั้งเลขาธิการ กอช. อย่างเป็นทางการ ทั้งๆ ที่ กอช. ต้องเปิดรับสมาชิกออมเงินในวันที่ 8 พ.ค. 2555 ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ที่ให้รับสมาชิกหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ 1 ปี

“สมชัย สัจจพงษ์” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรักษาการเลขาธิการ กอช. ยอมรับว่าแผนเดิมที่วางไว้ว่าจะเปิดรับสมาชิกคงต้องเลื่อนออกไปก่อน เพราะ กอช. ยังไม่มีความพร้อม แต่ยืนยันว่าการสร้างหลักประกันทางรายได้ของแรงงานนอกระบบยังคงต้องเดินหน้าต่อไปแม้จะมีปัญหาและอุปสรรค โดยมั่นใจว่าจะมีผู้สมัครถึง 1 ล้านราย

ไทยพับลิก้า : กอช. จะดำเนินการอย่างไรให้รับสมาชิกได้ทันตามกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ

กอช. คงไม่สามารถเปิดรับสมาชิกได้ทันวันที่ 8 พ.ค. เพราะมีปัญหาเรื่องความพร้อมด้านระบบไอที เนื่องจากการประมูลรอบแรกมีผู้มาสมัครเพียงรายเดียว ทำให้ต้องล้มการประมูลไป ต้องเปิดประมูลรอบใหม่ มีผู้มาสมัคร 2 ราย และเพิ่งเลือกผู้ชนะได้แล้ว ทำให้การรับสมาชิก กอช. รายแรก ที่เดิมกำหนดไว้ในเดือน พ.ค.นี้ ต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือน ก.ค. หรือเลื่อนออกไป 2 เดือน

เรื่องของระบบไอทีที่ติดตั้งล่าช้า ส่วนหนึ่งเพราะระบบต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อตรวจสอบว่าคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิกครบถ้วนหรือไม่ เช่น สมาชิกอายุขั้นต่ำ 15 ปี ระบบของเราก็ต้องเชื่อมโยงข้อมูลไปที่กระทรวงมหาดไทยเพื่อยืนยันว่าผู้เข้าร่วมอายุไม่น้อย 15 ปีจริงๆ

นอกจากนี้ ต้องเช็คว่าผู้สมัครสมาชิก กอช. ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม ก็ต้องเชื่อมกับระบบของสำนักงานประกันสังคมอีก ต้องมีการเชื่อมข้อมูลหลายหน่วยงาน จึงดำเนินการไม่ทันต้องขอเลื่อนรับสมาชิกออกไป

ส่วนสำนักงาน กอช. จัดตั้งเรียบร้อยแล้ว ได้เช่าพื้นที่ของธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ชั้น 22 ขณะที่พนักงาน กอช. ก็ได้ว่าจ้างเรียบร้อยแล้ว ประมาณ 10 คน เริ่มทำงานตั้งแต่ 1 พ.ค. นี้ สำหรับเลขาธิการ กอช. ก็เลือกได้แล้ว พร้อมที่จะทำงานได้ทันที แต่ต้องรอ รมว.คลัง ลงนามเห็นชอบ

ไทยพับลิก้า : หาก รมว.คลังไม่เห็นชอบตั้งเลขาธิการ กอช. กองทุนจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

หาก รมว.คลัง ไม่เห็นชอบ ก็คงต้องมีเหตุผล เพื่อที่จะได้ดำเนินการหาคนใหม่ แต่ถึงไม่มีเลขาธิการ กอช. กองทุนก็ยังเดินหน้าต่อได้ เพราะผู้อำนวยการ สศค. เป็นผู้รักษาการเลขาธิการ กอช. โดยตำแหน่งอยู่แล้ว

ไทยพับลิก้า : มีคนมองว่าเป็นปัญหาการเมืองทำให้ กอช. เดินหน้ารับสมาชิกไม่ทัน เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลประชาธิปัตย์ เมื่อมาถึงรัฐบาลนี้ก็ไม่อยากสนับสนุนต่อ

หน้าที่ของ สศค. ต้องทำให้กองทุน กอช. เกิดให้ได้ เพราะเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้แล้ว แม้ไม่มีกฎหมายลงโทษอะไรหากทำไม่ได้ตามที่เขียนไว้ แต่สังคมก็จะถามหาว่ากองทุนนี้ไปถึงไหน โดยเฉพาะเวลาไปชี้แจงกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ ทางกรรมาธิการของพรรคประชาธิปัตย์ก็จะถามเรื่องนี้ไปถึงไหน ทำไม สศค. ถึงดำเนินการล่าช้า

ไทยพับลิก้า: หากไม่มองปัญหาเรื่องการเมือง มองในแง่ของการดำเนินการของ กอช. เองก็มีปัญหาจะทำให้เดินหน้าได้ก็ยาก เช่น สมาชิกไม่มีหลักแหล่งที่แน่นอน อาจจะมีการส่งไปแล้วก็ไม่ส่งต่อ ไม่เหมือนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นพนักงานมีที่อยู่หลักแหล่งชัดเจน

เราไม่กลัว หากสมาชิกไม่ส่งรัฐบาลก็ไม่สมทบ หากส่งต่อรัฐบาลก็สมทบต่อ สมาชิกหยุดตรงไหนก็หยุดตรงนั้น หากคุณไม่ลาออกจากการเป็นสมาชิกเงินก็ยังอยู่ที่เรา หากลาออกจากสมาชิกก็จะได้เงินส่วนของที่ส่งมาคืนไปเท่านั้น ส่วนที่รัฐบาลสมทบก็ไม่ได้ จะได้ของรัฐบาลตอนเกษียณอายุเท่านั้น

ปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากกว่าอยู่ที่ว่า กองทุนจะหาผลตอบแทนให้กับสมาชิกได้ตามสัญญาหรือไม่ เพราะมีการการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ 5 แห่ง และแบงก์รัฐอีก 2 แห่ง คือ ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมเป็น 7 แบงก์ ตรงนี้สำคัญกว่า หากทำไม่ได้ กองทุนต้องชดเชยผลตอบแทนให้กับสมาชิก แต่เชื่อว่าไม่อยาก

ไทยพับลิก้า : แล้วเรื่องงบประมาณของกองทุน

ที่ผ่านมา กอช. ได้รับจัดสรรงบประมาณ 225 ล้านบาท และอยู่ระหว่างดำเนินการขอเพิ่มเติมอีก 250 ล้านบาท เพื่อมาติดตั้งระบบ และบางส่วนใช้ดำเนินการจ่ายค่าเช่าสำนักงานและเงินเดือนพนักงาน

ไทยพับลิก้า : จะเชิญชวนให้คนมาเป็นสมาชิกอย่างไร

จะมีการเน้นทำประชาสัมพันธ์ให้มากว่าที่เป็นอยู่ การเป็นสมาชิก กอช. ถือว่าเป็นการออมการลงทุนที่คุ้มค่ามาก เพราะใส่เงินมา 100 บาท รัฐบาลสมทบ 50 บาท ถือว่าได้ดอกเบี้ยถึง 50% ฝากธนาคารไม่ได้เท่านี้เลย ตรงนี้เราจะใช้เป็นจุดขายอธิบายเพื่อดึงแรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิกมากที่สุด

ไทยพับลิก้า : สมาชิกส่งเงินแล้วหยุดส่งไป ถือว่าการเป็นสมาชิกขาดหรือไม่

ไม่ถือว่าขาดการเป็นสมาชิก ไม่จำเป็นต้องจ่ายทุกเดือน เพราะกฎหมายบอกว่าจ่ายอย่างน้อย 50 บาท ซึ่งสุดท้ายอายุ 60 ปี สมาชิกส่งเท่าไรก็ได้เท่านั้น รวมที่ส่งมากับเงินสมทบของรัฐบาลและดอกผลที่เกิดระหว่างทาง

นอกจากนี้ กรณีที่เป็นสมาชิกอยู่แล้วได้งานใหม่ เช่น รับข้าราชการ ไปเป็นสมาชิก กบข. หรือทำงานเอกชน เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็สามารถคงการเป็นสมาชิก กอช. ไว้ได้ แต่ส่งเงินเพิ่มไม่ได้ และหากออกจากข้าราชการก็ยังกลับมาส่ง กอช. ต่อได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ แรงงานที่อยู่นอกระบบควรรีบออมเงินตั้งแต่อายุน้อย โดยการเป็นสมาชิก กอช. หากอายุ 15 ปี ควรเป็นสมาชิกทันที ซึ่งการส่งเงินแค่กำหนดว่าการชำระต่อครั้งห้ามต่ำกว่า 50 บาท แต่ส่งทั้งปีห้ามเกิน 13,200 บาท สมาชิกคนไหนจะจ่ายที่เดียวปีละ 13,200 บาท ก็ทำได้ด้วย

ไทยพับลิก้า : สมาชิกจะได้เงินหลังเกษียณอายุ 60 ปี เดือนละเท่าไร

หากเริ่มส่งเงินตั้งแต่อายุ 15 ปี ส่งปีละ 13,200 บาท จะได้เงินหลังเกษียณจะได้เงินเดือนละ 7,000-8,000 บาท ยังไม่รวมค่าเบี้ยยังชีพของรัฐบาลอีกเดือนละ 600-1,000 บาท น่าจะเพียงพอสำหรับการดำรงชีพหลังเกษียณอายุ

ไทยพับลิก้า : สมาชิกจ่ายเงินได้ช่องทางไหนบ้าง หลังจากสมัครเป็นสมาชิก

เริ่มต้นจะให้จ่ายเงินผ่านธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และธนาคารกรุงไทย เป็นจุดรับสมาชิกและจ่ายเงินของสมาชิก กอช. ในอนาคตจะเพิ่มช่องทางจ่ายผ่านร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ต่อไปก็ให้จ่ายที่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) จะมีการขยายไปเรื่อยๆ เพื่อให้สมาชิกมีต้นทุนต่ำที่สุดในการจ่ายเงิน เพราะการจ่ายเงินครั้งละ 50 บาท ต้องเดินทางมาไกลจะไม่คุ้ม

ไทยพับลิก้า : ตั้งเป้าสมาชิกไว้เท่าไร

ตอนนี้มีแรงงานในระบบ 35 ล้านคน ปีนี้ตั้งเป้าให้ได้ 500,000 ราย ปีหน้าทำเพิ่มให้ได้อีก 1 ล้านราย ซึ่งอาจจะทำได้มากกว่านั้น ซึ่งแนวทางของ กอช. เป็นการสร้างสวัสดิการฐานรากแบบการมีส่วนร่วม อีกทั้งรัฐบาลให้เงินสมทบด้วย แต่มีข้อแม้ว่าประชาชนต้องออมเงิน ถือเป็นการสร้างสวัสดิการสังคมที่ยั่งยืนในระยาว