ThaiPublica > คนในข่าว > 67 ปี “ปชป.” ใต้ปีกอำมาตย์? ความหนักใจ “ปู่มารุต” คำสั่งสู้ถึงสุภาพบุรุษ “อภิสิทธิ์”

67 ปี “ปชป.” ใต้ปีกอำมาตย์? ความหนักใจ “ปู่มารุต” คำสั่งสู้ถึงสุภาพบุรุษ “อภิสิทธิ์”

4 เมษายน 2013


“…ผมเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านในเรื่องสำคัญเหมือนกัน อย่างตอนฟอร์มรัฐบาล บางครั้งฟอร์มในวิถีทางที่ไม่ถูกต้อง ก่อนปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 เคยมี ฟอร์มรัฐบาลที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก ซึ่งผมก็เคยทักท้วง แต่เมื่อที่ประชุมไม่เห็นด้วย ก็แล้วกันไป…”

 นายมารุต บุนนาค ที่มาภาพ : http://www.debsirin.ac.th
นายมารุต บุนนาค ที่มาภาพ : http://www.debsirin.ac.th

“พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)” ภาคภูมิใจในความเป็นสถาบันทางการเมืองของประเทศ

ตลอด 67 ปีที่ผ่านมา สามารถส่ง “หัวหน้าพรรค” ขึ้นดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ได้ถึง 4 คน จากทั้งหมด 28 คน

ได้เข้า “ร่วมรัฐบาล” 12 ชุด ตกที่นั่ง “ฝ่ายค้าน” 18 ครั้ง จาก “คณะรัฐมนตรี (ครม.)” ทั้งสิ้น 60 ชุด

ทว่ามีเพียง 2 ยุคที่ “พรรคสีฟ้า” กำชัยชนะในการเลือกตั้ง-ยึดที่นั่งในสภาได้สูงสุดคือ ในปี 2518, 2519 ภายใต้การนำของ “ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช” หัวหน้าพรรคคนที่ 2 และในปี 2529 ภายใต้การนำของ “พิชัย รัตตกุล” หัวหน้าพรรคคนที่ 4

การสัมผัสชัยชนะครั้งสุดท้ายเมื่อ 27 ปีก่อน ทำให้ “คน ปชป.” คิดหาหนทางออกจากรัตติกาลด้วยการจุดกระแสปฏิรูปพรรคทั้งด้านนโยบาย-คน-โครงสร้าง เพื่อให้ “พรรคเก่าแก่” ธำรงอยู่อย่างมั่นคงในสังคมประชาธิปไตย ทว่าอีกด้านหนึ่ง ปชป. ถูกโจมตีว่าได้ดีทุกครั้งที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร

ในขณะที่ “เลขาธิการพรรคคนที่ 15” ประกาศ 15 ยุทธศาสตร์สานฝันชนะเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ “หัวหน้าพรรคคนที่ 7” กลับบอกว่า “ปชป. ไม่ได้อยู่เพื่อชนะการเลือกตั้ง แต่อยู่เพื่อสังคม”

“สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” จึงชวนคนเก่าคนแก่ของ ปชป. นาม “ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค” อดีตประธานรัฐสภา อดีตรัฐมนตรี 3 กระทรวง และอดีตเลขาธิการพรรค ซึ่งแม้ประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว แต่ยังนั่งเป็น “กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค” มาร่วมสนทนา-หาหนทางพา “พลพรรคประชาธิปัตย์” ออกจากก้าวย่างที่สับสนและอับแสง

ไทยพับลิก้า : อะไรทำให้คน ปชป. ลุกขึ้นมาพูดถึงการปฏิรูปพรรคในช่วงนี้

คนที่อยู่ ปชป. ก็มี 2 ประเภท นะ คือประเภทที่เข้ามาเป็นทางผ่าน แล้วประสบความสำเร็จบ้าง ผิดหวังบ้าง ก็แยกย้ายไปบ้าง กับประเภทที่เหลืออยู่ ซึ่งน่าจะมั่นคง มีสัจจะกับพรรค จะเห็นว่า ปชป. เป็นสถาบันทางการเมือง สร้างนักการเมืองดีๆ มาเยอะแยะ ในพรรคอื่นมีคน ปชป. เยอะ เคยอยู่ เคยย่ำทองมา แล้วก็ออกไป แต่ส่วนใหญ่ท่านดีนะ ไปแล้วก็ไม่ได้ให้ร้ายพรรค นอกจากบางคนที่อาจมีความคับแค้นใจบางอย่าง ก็เจาะจงวิจารณ์ แต่เป็นการวิจารณ์ตัวบุคคล ไม่ได้โจมตีพรรค

ในยุคนี้เป็นยุคของคนหนุ่ม ผมเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนหัวหน้าพรรค (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) อย่างน้อยการประชุมครั้งสุดท้ายหลังการเลือกตั้งปี 2554 ผมได้ยืนยันเสนอท่านอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคต่อไป เพราะถือว่ายังทำหน้าที่ไม่เสร็จ ซึ่งที่ประชุมก็เห็นด้วยเป็นเอกฉันท์ เพราะท่านมีความตั้งใจดี ส่วนเรื่องนโยบายหรือผลงานของพรรค ในฐานะที่มีประสบการณ์และอาจจะเป็นคนรุ่นเก่าที่ติดตามการทำงานของคนรุ่นใหม่ บางอย่างผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง บางอย่างก็ไม่เห็นด้วยบางส่วน แต่ผมมีวิธีเสนอข้อแนะนำไปโดยตรงเป็นการภายใน ผมถือหลักว่าผมจะไม่มีวันไปสัมภาษณ์สื่อให้ร้ายพรรค ต้องช่วยกันประคับประคองพรรค

ไทยพับลิก้า : ในส่วนของนโยบาย มองว่าการที่ ปชป. เดินตามรอยประชานิยมของพรรคไทยรักไทย หรือจัดตั้งทีวีสีฟ้าเหมือนกับที่ฝ่ายตรงข้ามมีทีวีจอแดง เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับยุคสมัยหรือไม่

คือ…เอาอย่างนี้ดีกว่า ผมจะไปโต้แย้งทุกอย่างคงไม่ได้ เพราะเราไว้วางใจว่าให้เขาทำไป บางอย่างถ้ารู้สึกว่ามันจะแรงไปหรืออ่อนไป ผมจะทักท้วงให้เขาเห็น แต่ไม่ตินโยบายเขาล่ะ ถือเป็นสิทธิ ถ้าผมเป็นหัวหน้าพรรค ผมอาจมีนโยบายที่คนอื่นไม่เห็นด้วยก็ได้ ผมเองเกือบได้เป็นหัวหน้าพรรคนะ เกือบไปเหมือนกัน เสียวเหมือนกัน (หัวเราะ)

ไทยพับลิก้า : การหาเสียงด้วยการโจมตีคู่แข่ง เช่น หยุดกินรวบประเทศ เผาบ้านเผาเมือง จำลองพาคนไปตาย ฯลฯ แม้หลายครั้งประสบความสำเร็จ แต่ทำให้สังคมติดภาพเล่นการเมืองไม่สร้างสรรค์ คิดว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางหรือไม่

นั่นเป็นรายละเอียด เป็นวิธีการหาเสียง ซึ่งในการหาเสียงเลือกตั้ง จุดสำคัญคือมีการทุจริตหรือไม่ ซื้อเสียงหรือไม่ ซึ่ง ปชป. ไม่ได้ทำอย่างนั้น เรื่องวิธีการหาเสียงนี่ ในทางการเมืองมันถือกันไม่ได้หรอก ทุกประเทศน่ะ แม้แต่บารัค โอบามา (ประธานาธิบดีสหรัฐฯ) ยังถูกกล่าวหาหนักมากในช่วงเลือกตั้งว่าไม่ใช่คนอเมริกันแต่เป็นคนแอฟริกัน มันมีทุกที่ทั่วโลก มีใครครับที่หาเสียงจะไม่ขุดคุ้ยความบกพร่องของฝ่ายตรงข้าม ผมลงเลือกตั้งมา 10 ครั้ง แรกๆ ผมก็ไม่มีข้อบกพร่อง แต่หลังๆ ฝ่ายตรงข้ามบอกว่าอย่าไปเลือกอาจารย์มารุตเพราะแก่ กลายเป็นข้อบกพร่องไป ผมเลยตอบกลับว่าคนแก่ยังไปทำงานได้ ไม่ได้ไปแบกหาม แล้วคนที่พูดนี่ ต่อไปก็แก่ (หัวเราะ) ดังนั้นมันไปถือสากันไม่ได้เวลาหาเสียง มันแล้วแต่เหตุการณ์

ที่มาภาพ : http://www.democrat.or.th/th/news-activity
ที่มาภาพ : http://www.democrat.or.th/th/news-activity

ทีนี้ ทาง ปชป. เท่าที่ดูนะ เขาก็ไม่ได้ไปกล่าวหาใคร เขาแค่ไปพูดความจริงว่าบ้านเมืองเกิดอะไรขึ้น ใครทำผิด ไม่ได้บอกว่าผู้สมัครเผาบ้านเผาเมือง เพียงแต่เล่าให้ฟังว่ามันเกิดอะไรขึ้น มันถึงวุ่นวาย เราจะสู้ต่อไปอย่างไร และทำอย่างไรไม่ให้มีเหตุการณ์แบบนี้อีก

ไทยพับลิก้า : แต่ชัยชนะที่ได้จากการใช้นโยบายโจมตีคู่แข่ง มันเคลมไม่ได้ว่าคนเลือก ปชป. เพราะนิยมผู้สมัคร หรือฝักใฝ่อุดมการณ์พรรค เพราะบางส่วนอาจเลือกเพื่อแสดงการต่อต้านพรรคตรงข้าม

อันนี้เราไปรู้ใจเขาไม่ได้หรอก ตั้งแต่ผมเข้าการเมือง ไปพบปะชาวบ้าน ผมนี่เป็นหัวคะแนนคุณชาย (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม.) นะครับ ชาวบ้านเขาบอกว่าที่เลือกพรรคนี้เพราะเห็นว่าเป็นสถาบันทางการเมือง ไม่อยากให้ล้มหายตายจากไป เพราะพรรคการเมืองทั้งหลายที่ตั้งมา มันมีตัวอย่างเยอะที่ขึ้นมาโดยผู้มีอำนาจการเมือง มีบารมี พอท่านสิ้นไปพรรคก็ล้ม เช่น พรรคท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พรรคเสรีมนังคศิลา) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พรรคชาติสังคม) จอมพลถนอม กิตติขจร (พรรคสหประชาไทย) ตั้งกันมาแล้วก็เลิกกันไป หรืออย่างพรรคที่เราเห็นชัดๆ ที่เป็นความหวังว่าจะคู่เคียงกับ ปชป. ได้คือพรรคกิจสังคมของอาจารย์คึกฤทธิ์ (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) ใครจะไปคิดครับว่าพรรคที่มีนโยบายดีต้องสลายไป แต่ ปชป. นี่ไม่มีทางสลายครับ มันเป็นสถาบันทางการเมืองไปแล้ว

ไทยพับลิก้า : เหตุที่ไม่สลายเป็นเพราะเสียงประชาชน หรือมี “อำนาจพิเศษ” ช่วยให้พรรคแคล้วคลาดทุกครั้งทั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากมาย

หมายถึงช่วงไหน

ไทยพับลิก้า : ทุกช่วง อย่างปี 2551 ก็รอดพ้นจากคดียุบพรรคมาได้

โอ้ย! นั่นเป็นการสู้ตามข้อกฎหมาย เราสู้ตามข้อเท็จจริง ผมไม่ได้อยู่ในทีมกฎหมายนะ แต่ผมตามดูอยู่ ทีมกฎหมายแข็ง คุณบัณฑิต (ศิริพันธุ์ หัวหน้าทีมต่อสู้คดียุบ ปชป.) เก่ง ต้องชม และการเตรียมงานของลูกทีมก็ดีมาก ท่านชวน (หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษา ปชป.) ลุกขึ้นแถลงด้วยวาจาต่อศาล นั่นเป็นตัวอย่างที่ดี คนก็ได้เห็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง มันเป็นชั้นเชิงในการสู้ทางกฎหมาย ส่วนใหญ่ที่เห็นคือจะมากล่าวว่าความกันผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ของจริงต้องให้ศาล ให้อยู่ในประเด็น

ไทยพับลิก้า : แต่การหลุดเดี่ยว-รอดตายพรรคเดียว ยิ่งตอกย้ำวาทกรรมฝ่ายตรงข้ามที่ว่ามี “ผู้มีบารมี” หนุนหลังหรือเปล่า

ผมว่าอย่าไปถือสาเวลาหาเสียง ล่าสุด ปชป. ก็โดน จะเลือกผู้ว่าฯ กทม. เที่ยวนี้ก็โดน อย่าไปเลือก ปชป. พรรคนี้สั่งฆ่าคน มันก็โดนทั้งนั้นแหละ แล้วจะไปถือสาอะไร มันเป็นเรื่องวิธีหาเสียง สำคัญคือทุจริตในการเลือกตั้งหรือไม่ และอย่าให้รุนแรงเกินไปเกินความจริง หากคนไหนจะเอาเรื่องก็ต้องฟ้องกันไป สังเกตไหมครับนักการเมืองในอดีตด่ากันยับเยิน เลือกตั้งเสร็จไม่มีการฟ้องเลย สำคัญคือนักการเมืองทุกฝ่ายรวมถึง ปชป. ด้วย ต้องมีน้ำใจเป็นนักกีฬา แพ้แล้วก็แพ้ อย่าอาฆาต การเมืองก็ถือเป็นเกม ดังนั้นคนที่เล่นกีฬาต้องรู้ และต้องยอมรับความพ่ายแพ้

ไทยพับลิก้า : แต่ ปชป. ไม่ชนะการเลือกตั้งมา 20 กว่าปีแล้ว เรื่องนี้คนในพรรคพูดเอง สะท้อนว่าความพ่ายแพ้เป็นเรื่องยากต่อการทำใจยอมรับหรือไม่

นั่นความเห็นผมเอง ทางภาคใต้นี่เราแน่นอน ยิ่งคุณชวนยังแข็งแรงอยู่อย่างนี้ก็เป็นหลัก ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ น่ะ กทม. อยู่ที่กระแส ถ้ากระแสดี ทำดี ก็ดีไป ถ้าทำพลาดก็ถูกลงโทษ ภาคกลางก็ไม่ยากเย็นเข็ญใจอะไร ภาคเหนือเราก็มีบางส่วน แต่ภาคอีสานขาดไปเลย นี่คือสิ่งที่ต้องแก้ไข ร้อยกว่าเสียงนี่ไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะอีสานตั้งใหญ่โต แต่เรามีรองหัวหน้าพรรคคนเดียว ผมเคยแสดงความคิดเห็นไว้นานแล้วว่า การทำงานอีสาน ต้องทำเป็นคณะกรรมการพัฒนาการเมืองภาคอีสาน ตอนนี้เรามีสภาพรรคพร้อมอยู่แล้ว อยู่ที่การประสานงานว่าจะร่วมกันอย่างไร อีสานเหนืออีสานใต้จะให้ใครดู ดังนั้นมันต้องปรับ นี่เป็นความเห็นของคนรุ่นเก่า ซึ่งเขาก็น่าจะเห็นด้วย แต่อาจจะยังขัดข้องบางอย่าง นี่ก็ดีใจที่ได้คุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ (อดีตเลขาธิการอาเซียน) มาช่วย พอเห็นฝีมืออยู่ นี่แหละเพชร เป็นเพชรน้ำหนึ่งของพรรค เขาใช้ได้

ไทยพับลิก้า : ใน ปชป. มีเพชรน้ำหนึ่งกี่เม็ด

มีหลายเม็ด แต่นี่เม็ดใหญ่ (หัวเราะ)

ไทยพับลิก้า : เป็นเพราะนายสุรินทร์เจิดจนทำให้เกิดกระแสปรับเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคหรือไม่

ผมบอกอะไรอย่าง ไม่เอ่ยชื่อนะ ผมเห็นดาวรุ่งในการอภิปราย เห็นว่าอนาคตไกล แต่ดูแล้วโอกาสเป็นหัวหน้าพรรคยาก เพราะขาดมนุษยสัมพันธ์ ไม่เอ่ยชื่อนะ ไม่อยากให้เขาเสียหาย บางคนก็ถูกกล่าวหาว่าใกล้ชิดกับสมาชิกบางกลุ่มเท่านั้น สมาชิกกลุ่มอื่นรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เลยเกิดความขัดแย้งในใจ

ไทยพับลิก้า :ในความเห็นอาจารย์คือ หัวหน้า ปชป. ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ และเข้าถึงสมาชิกทุกกลุ่ม

ใช่ และต้องมีน้ำใจด้วยนะ ต้องเป็นผู้ให้ มีความเอื้อเฟื้อแก่สมาชิก และต้องเสียสละ

ไทยพับลิก้า : วันนี้ถึงเวลาที่พรรคต้องสละนายอภิสิทธิ์หรือยัง เพราะปัญญาชนบางส่วนบอกว่าคดี 91 ศพ ทำให้ยากจะไปต่อในทางการเมือง

ต้องให้ท่านสู้ไป ถ้ายังสู้ได้ก็สู้ไป ผมไม่อยากให้มาทำอะไรให้รู้สึกตอนนี้ ให้ท่านสู้ไป ท่านเป็นคนมีความสามารถ ยังไปได้ และท่านก็พยายามแก้ เดี๋ยวนี้ท่านรับฟังมากขึ้นเยอะ ที่คนเขาหาว่าท่านฟังเฉพาะคนนั้น บางทีท่านฟังนะ ผู้หลักผู้ใหญ่ ท่านชวน ท่านบัญญัติ (บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษา ปชป.) ท่านฟังนะ

ไทยพับลิก้า : แม้มีคนรักเยอะ แต่คนชังก็มาก คนเลยมองว่า ปชป. กำลังใช้ทั้งพรรคอุ้มคนคนเดียวหรือเปล่า

ผมคงไม่ไปวิจารณ์ถึงคนอื่น แต่อยากบอกว่า ปชป. ต้องอดทน ต้องทำอะไรให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมอย่างสุภาพบุรุษ เราไปทางนั้นดีกว่า อย่าไปเล่นเกมแรง เรื่องเกมแรงมันต้องมีบ้างในระหว่างหาเสียง แต่ต้องสู้กันในเกมนะ

นายมารุต บุนนาค
นายมารุต บุนนาค

ไทยพับลิก้า : หากคนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 คิดว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายผิด เป็นคนสั่งฆ่าประชาชน สุภาพบุรุษตัวจริงควรรับผิดชอบต่อกรณีนี้อย่างไร

ชี้แจง… (หยุดคิดพักหนึ่ง) ผมยกตัวอย่างหนึ่งให้ฟัง ตอนท่านสมัคร (สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี) ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. แล้วมีนักการเมืองอีกพรรคท้าท่านดีเบต มาตอแยท่านอยู่เรื่อย แต่ท่านพิจารณาแล้วไม่คุ้ม ก็เลยหาเสียงของท่านไป นี่ผิดจากลักษณะเดิมของท่านเลยนะ ตอนเป็น ส.ส. ท่านด่าแหลกเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่พออายุเยอะแล้วท่านกลับปั๊บเลย ท่านบอกว่าถ้าไปเล่นเกม ไปด่าคู่แข่งซึ่งอายุน้อยกว่า และเป็นสุภาพสตรีด้วย มันไม่เหมาะ ท่านไม่เอาด้วย บางทีท่านอาจจะเอาอย่างอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ได้นะ

ผมยกตัวอย่างเรื่องอาจารย์คึกฤทธิ์ให้ฟัง มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งตีท่านทุกวัน ผมถามท่านว่าอาจารย์ปล่อยให้เขาตีข้างเดียว ไม่โต้เขาเลยหรือ ท่านบอกว่าเรื่องอะไรผมจะไปตอบ เขาจะเอาผมเป็นกระไดหาเสียง ผมเหมือนภูเขาทอง หมาเยี่ยวแล้วเดี๋ยวก็แล้วกันไป เดี๋ยวมันเงียบไปเองแหละ คอยดูสิ สรุปหนังสือพิมพ์นั้นเขียนตีท่านอยู่สักเดือน พอท่านไม่ตอบ ก็เลิกไป นี่แหล่ะบางสิ่งบางอย่างต้องศึกษาจากคนเก่า ซึ่งความรู้สึกอันนี้อาจจะไม่ใช่นโยบายคนรุ่นหนุ่ม ก็แล้วแต่ แม้แต่ท่านชวนนะ ท่านมีความเห็นว่าสิ่งใดที่เขาว่าต้องรีบโต้ตอบ ดังนั้นท่านชวนจะว่าลูกพรรคเสมอ ทำไมไม่รีบตอบไป เฉยทำไม อันนี้ก็แล้วแต่ความเห็นของแต่ละบุคคลนะ

ไทยพับลิก้า : อย่างข้อหา 91 ศพ เป็นเรื่องรุนแรง ควรตอบโต้อย่างไร

ผมว่าบางเรื่องท่านอภิสิทธิ์ก็ทำถูกนะ บางเรื่องพูดเอง แต่บางเรื่องไม่ต้อง ก็มีไง ชวนนท์ (อินทรโกมาลย์สุต โฆษก ปชป.) ไง คอยตอบโต้ ถ้าหัวหน้าพรรคลงมาเล่นทุกเรื่องก็ไม่ต้องมีโฆษกสิ

ไทยพับลิก้า : สรุปแล้วเหตุผลเดียวที่จะทำให้นายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคต่อไม่ได้คือ บรรดาก๊อดฟาเธอร์ไม่เอา

ใครคือก๊อดฟาเธอร์

ไทยพับลิก้า : บรรดาผู้อาวุโสในพรรค โดยเฉพาะนายชวน

ท่านชวนท่านก็ยังช่วยอยู่นะ ยังเชียร์อยู่นะ ท่านไม่ทิ้งหรอก ท่านก็ดูแลอยู่ ให้เกียรติ ท่านให้เกียรติทุกคน

ไทยพับลิก้า : ถึงวันนี้ยังเชื่อมั่นว่า ปชป. ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์มีโอกาสครองเสียงข้างมากในสภา ตามยุทธศาสตร์ 15 ด้าน ที่ประกาศในวงประชุมสามัญใหญ่ประจำปีของพรรค

ผมไม่ได้ดูรายละเอียดทุกข้อ แต่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ทำได้ ในหลายประเทศ พรรคเก่าแก่ก็ได้กลับมา เช่น ในญี่ปุ่น หายไปนาน เขาก็กลับมาได้

ไทยพับลิก้า : จำเป็นต้องเคลียร์ภาพลักษณ์พรรคที่ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในสภาของ “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ก่อนหรือไม่

ไม่ต้อง

ไทยพับลิก้า :ไม่ต้องเคลียร์ หรือโดยความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

(หยุดคิดพักหนึ่ง) สรุปว่าในฐานะคนเก่าแก่ยังเชื่อมั่นในการบริหารงานของคณะบริหารงานชุดปัจจุบัน เชื่อว่าทำได้ เพราะมีคนเก่งคนดีหลายคน นอกจากท่านอภิสิทธิ์แล้วคนเก่งๆ เยอะ แต่ที่สำคัญคือ ถ้าตกลงอะไรกันแล้วก็ควรปฏิบัติตามที่ตกลงกัน อย่าไปสัมภาษณ์ว่ากล่าวกันข้างนอก นี่ผมไม่ได้ว่าใครนะ แต่อยากบอกว่ามันไม่ควรทำ ในอดีตผมไม่เห็นด้วยตั้งเยอะ ในพรรคน่ะ ไม่เอาด้วยก็ตั้งเยอะ แต่ถ้าเขาไม่เอาด้วย เราก็ยอม

ไทยพับลิก้า : แต่วันนี้เสียงคนในวิจารณ์กันเองไม่รุนแรงเท่าเสียงคนนอกพรรค

นั่นมันเกมแล้ว

ไทยพับลิก้า :เวลาได้ยินคนวิจารณ์ว่า ปชป. ได้ดีเพราะอยู่ใต้ปีกเผด็จการ อำมาตย์ ฟังแล้วรู้สึกอย่างไร

ก็เป็นข้อกล่าวหาที่เอ่อ…น่าหนักใจนะ ที่ต้องแก้ไข เพราะเหตุที่เป็นรัฐบาลจากการ…มันเป็นเหตุบังเอิญทั้งนั้น

ไทยพับลิก้า : ต้องเริ่มแก้ไขและปฏิรูปกันอย่างไร

คือบางเรื่องเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะพูดเสียทีเดียว ผมเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านในเรื่องสำคัญเหมือนกัน อย่างตอนฟอร์มรัฐบาล บางครั้งฟอร์มในวิถีทางที่ไม่ถูกต้อง ก่อนปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 เคยมีฟอร์มรัฐบาลที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก ซึ่งผมก็เคยทักท้วง แต่เมื่อที่ประชุมไม่เห็นด้วยก็แล้วกันไป ผมก็ไม่อะไร แต่อย่าพูดเลย ข้างในมันจะเสียใจกันเปล่าๆ

ไทยพับลิก้า : อย่างในคราวพลิกขั้วตั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เมื่อปี 2552 อาจารย์เป็นฝ่ายทักท้วงหรือสนับสนุน

(ยิ้ม) โอ้ย! พอทีๆ บางอย่างมันพูดไม่ได้หรอก ถ้าอาจารย์มารุตพูด กระเทือนพรรค ไม่ได้เลย

ไทยพับลิก้า :ในปีที่ 67 ปชป. รู้สึกโดดเดี่ยวหรือไม่

ไม่โดดเดี่ยว เรามีเพื่อนเยอะแยะ

บันทึกคุณปู่

นายมารุต บุนนาค
นายมารุต บุนนาค

เพราะเทียบเชิญจาก “ผู้ใหญ่ที่เคารพ” อย่าง “ดำรง ลัทธพิพัฒน์” เลขาธิการพรรค “ชวน หลีกภัย” รองหัวหน้าพรรค และ “เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์” ที่ปรึกษาพรรค ทำให้ “มารุต บุนนาค” ไม่ลังเลในการตัดสินใจทิ้งอาชีพ “ทนายความ” ในปี 2521 ก่อนเดินเข้าสู่การเมืองเต็มตัว-สังกัด “พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)”

เขาได้เป็น “รัฐมนตรี” ก่อนเป็น “ส.ส.” โดยประเดิมจากตำแหน่ง “รมว.ยุติธรรม” ในรัฐบาล “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ก่อนเป็นเจ้ากระทรวงอื่นอีก 2 กระทรวง

และยังเป็น “ประธานสภา” ผู้นำรายชื่อ “ชวน หลีกภัย” ขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น “นายกรัฐมนตรี” ด้วย

ในช่วงเป็น “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” นี้เอง ที่ทำให้ “มารุต” ต้องปะทะกับ “เพื่อนร่วมพรรค” กลางสภาบ่อยครั้ง เนื่องจากเจ้าตัวประกาศงดย่างกายเข้าพรรคเพื่อรักษาความเป็นกลางในการทำหน้าที่ โดยระบุว่า “ต้องทำตนให้เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะนักการเมืองไม่ใช่ข้าราชการหรือบริษัทห้างร้านที่จะปกครองในระบบผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องปกครองด้วยเสียงข้างมาก”

เป็นผลให้ “พลพรรค ปชป.” ประชดใส่ เขียนแผนที่ส่งให้ว่าถ้าจะไปพรรคให้ไปตามแผนที่นี้

2 ปี 8 เดือน (กันยายน 2535-พฤษภาคม 2538) บนบัลลังก์ประธานสภา จึงทั้งยากและลำบากสำหรับชายชื่อ “มารุต”

ไหนจะบรรยากาศในสภาที่อภิปรายกันดุเด็ดเผ็ดร้อน จากความแรงของเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”

ไหนจะถูก “ส.ส.อาวุโส” ลองของ “ประธานอ่อนพรรษาการเมือง”

ไหนจะต้องควบคุมเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลถึง 4 ครั้ง

ไหนจะกระแส “ธงเขียว” แก้รัฐธรรมนูญ จนกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาแก้ไขปัญหารัฐธรรมนูญ ต้องประชุมรวม 6 นัด

“ผมต้องใช้ขันติธรรมและความอดกลั้นในการไกล่เกลี่ยแก้ไขเหตุการณ์ บางครั้งก็ต้องแปรเปลี่ยนให้เกิดอารมณ์ขัน และหลายครั้งผมก็ถูกสบประมาทและกล่าวหาจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน หรือแม้แต่จากรัฐบาลบางคน… หลายคนก็ถามว่าแล้วทำไมผมไม่โต้กลับ ผมตอบว่าผมเป็นผู้ใหญ่พอ”

ทั้งหมดนี้คือบางส่วนจากก้นบึ้งของจิตใจที่ “มารุต” บันทึกไว้ใน “บันทึก…อดีตแห่งความทรงจำ” หลังประกาศวางมือการเมืองในปี 2549

มาถึงในปี 2556 แม้ “คนบนบัลลังก์” ไม่ใช่คน ปชป. ทว่าความยากและลำบากในการทำหน้าที่ไม่ต่างกัน

เกมในสภาคงไม่น่าอิดหนาระอานักในทัศนะคนนอก หาก “คนหนุ่ม” รู้จักถอดบทเรียนจาก “ผู้อาวุโส” ทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง และเข้าใจการปกครองด้วยเสียงข้างมาก!!!