ThaiPublica > คอลัมน์ > เราควรเริ่มทบทวนทิศทางบทลงโทษกรณียาบ้ากันหรือยัง

เราควรเริ่มทบทวนทิศทางบทลงโทษกรณียาบ้ากันหรือยัง

13 กรกฎาคม 2016


ณัฐเมธี สัยเวช

ดัดแปลงภาพจาก: เว็บไซต์เทเลกราฟ (http://goo.gl/8NQU06)
ดัดแปลงภาพจาก: เว็บไซต์เทเลกราฟ (http://goo.gl/8NQU06)

เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2558) ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุม “จากวาทกรรมยาเสพติดสู่การผลิตซ้ำ…สื่อมวลชนกับทางออกปัญหาคนล้นคุก” ซึ่งจัดโดยโครงการกำลังใจ สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กระทรวงยุติธรรม ณ โรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชันเซ็นเตอร์ อุดรธานี ซึ่งเนื้อหาหลักของประชุมนั้นเป็นการพูดถึงปัญหาความรุนแรงของโทษทางกฎหมายที่มีต่อยาบ้า รวมทั้งพาไปเยี่ยมชมสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำกลางอุดรธานี ดังที่เคยได้นำมาเล่าให้ฟังไปแล้วในบทความชุด “ออกไปในคุก” ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2

ต่อมา ในเดือนที่แล้ว (มิถุนายน 2559) ก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ผศ. ดร. นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.คาร์ล ฮาร์ต (Carl Hart) ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับประเด็นเรื่องของความพยายามลดความเป็นอาชญากรรมของยาบ้า (ที่คนมักเข้าใจว่าคือการทำให้ค้าขายได้เสรี ซึ่งไม่ใช่นะครับ) ดังได้เล่าไว้ที่นี่

จากโอกาสในสองวาระนั้น เมื่อกลับมามองไปรอบๆ ตัว สิ่งที่ชัดเจนที่สุดที่ผมพบก็คือ ทั้งที่ในระดับสากลยังคงมีการถกเถียงถึงโทษของยาบ้า (หรือพูดให้ถูกต้องก็คือ ยาที่มีส่วนผสมของเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นสารอนุพันธ์อันสกัดได้จากแอมเฟตามีนอีกทีหนึ่ง) แต่สังคมไทยยังคงมีความเข้าใจเกี่ยวกับยาบ้าไปในทางร้ายอย่างสุดโต่งแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวนั้นเกิดจากการเห็นภาพข่าวของคนที่คุ้มคลั่งจากการเสพยาบ้าจนสร้างความเสียหายต่อตนเองและผู้อื่น ไหนจะการเปลี่ยนชื่อจากยาม้ามาเป็นยาบ้า รวมทั้งบทลงโทษทางกฎหมายที่รุนแรงมากๆ เหล่านี้กลายเป็นกระบวนการที่ทำให้ยาบ้าอยู่ในฐานะปีศาจเชิงวาทกรรมทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ จนส่งผลให้สังคม (อาจจะส่วนใหญ่) หวาดกลัวจนปิดใจไม่รับรู้ เมื่อมีใครพูดถึงยาบ้าในมุมมองที่แตกต่างจากเดิมไปในทางที่ค่อนข้างตรงกันข้ามหรือลดทอนความน่ากลัวลง

การพยายามใช้ความกลัวควบคุมประชาชนผ่านการ “แบนจนหมดจด” เช่นนี้ แม้จะไม่ใช่กับยาบ้า แต่ก็เคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อช่วงปี ค.ศ. 1919 (พ.ศ. 2462) ในตอนนั้นมีการประกาศใช้กฎหมายโวลสเตด (Volstead Act) ซึ่งสาระสำคัญหนึ่งของกฎหมายดังกล่าวเป็นการทำให้การผลิต, นำเข้า และกลั่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยตัวเองเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทั้งที่ก่อนหน้านี้เป็นธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมายท้องถิ่น ผลที่เกิดขึ้นก็คือ แก๊งอาชญากรรมต่างๆ ได้เข้ายึดกิจการเหล่านั้น และต่อสู้กันอย่างรุนแรงเพื่อแย่งชิงตลาด (มาเฟียอเมริกันชื่อดังอย่าง อัล คาโปน ก็อยู่ในตลาดนี้กับเขาด้วย) แก๊งอาชญากรรมทั้งหลายเติบโตร่ำรวยด้วยกิจการเหล่านี้ และการปราบปรามก็เป็นไปได้ยากเพราะแก๊งเหล่านี้ร่ำรวยเพียงพอจะติดสินบนเจ้าหน้าที่รวมทั้งสามารถจ่ายเงินมากๆ เพื่อจ้างทนายมือดี

สหรัฐฯ ใช้กฎหมายโวลสเตดอยู่นาน 13 ปีก็ต้องเลิกไปในที่สุด เพราะในขณะที่แก๊งอาชญากรรมเติบโต ตำรวจคอร์รัปชันขนานใหญ่ ปริมาณความต้องการและการเสพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ไม่ได้ลดลง

ที่นี้ กลับมาดูยาบ้าในบ้านเรา ด้วยความที่นี่ก็ พ.ศ. 2559 แล้ว ก็ต้องขอย้อนความทรงจำกันหน่อยว่า ก่อนจะถูกเรียกว่ายาบ้า เจ้าสิ่งนี้เคยมีชื่อว่า “ยาม้า” หรือ “ยาขยัน” มาก่อน ซึ่งในส่วนของชื่อยาม้านั้นก็สันนิษฐานว่าเพราะเมื่อสมัยยังสามารถนำเข้าโดยถูกกฎหมายนั้น มีการนำเข้ายานี้มาใช้ในม้าแข่ง จึงเรียกกันว่ายาม้า ส่วนยาขยันนั้นก็เป็นชื่อตามสรรพคุณ คือกินแล้วมีกำลังวังชา ทำงานติดต่อกันได้เป็นเวลานานโดยไม่หลับไม่นอน

การเปลี่ยนชื่อมาเป็นยาบ้านั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2539 โดยวัตถุประสงค์นั้นก็เพื่อให้คนหวาดกลัว ทำนองว่าเสพแล้วจะเป็นบ้าคุ้มคลั่ง ดังที่มักได้เห็นกันตามข่าว และพร้อมกันนั้น ก็ได้มีการยกระดับยาบ้าขึ้นมาเป็นสารเสพติดประเภท 1 ในบัญชียาเสพติด หรือก็คือขึ้นมาเป็นระดับเดียวกับเฮโรอีน ห้ามซื้อ ห้ามเสพ ห้ามขาย ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก โดยโทษสูงสุดสำหรับการจำหน่ายนั้นคือประหารชีวิต (เคยได้ยินสโลแกนที่ว่า “คนกินตาย คนขายติดคุก” ไหมครับ)

และในปี พ.ศ. 2545 ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 อีกครั้ง คือ มีการกำหนดให้การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัมขึ้นไป ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ในขณะที่เฮโรอีนต้องมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 3 กรัมขึ้นไป จึงจะถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นผลให้โทษของสารกระตุ้นในกลุ่มแอมเฟตามีนสูงยิ่งกว่าเฮโรอีนเป็นครั้งแรก และเป็นประเทศเดียวในประวัติศาสตร์โลก

ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อทั้งป้องกันและปราบปรามยาบ้าอย่างตลอดกระบวนการ…

ทว่า ผลที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อมีการปราบอย่างหนักจนทำให้ปริมาณสินค้าลดน้อยลง ราคาก็ยิ่งสูงขึ้น กำไรต่อหน่วยก็เพิ่มขึ้น กลายเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตยิ่งปรารถนาจะผลิตมากขึ้นเพื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น แถมยังเพิ่มลูกเล่นด้วยการผสมสารต่างๆ ลงไปเพื่อให้มีฤทธิ์รุนแรงขึ้นและเกิดการเสพติดได้ง่ายขึ้น (แต่เราไม่ต้องพูดกันต่อนะครับว่าเดี๋ยวพอผลิตมากๆ ก็จะราคาถูกลงเป็นวงจรไป เพราะเราไม่ได้พูดเรื่องราคา แต่พูดในเชิงกลไกว่า ไม่ได้ทำให้การผลิตและการเสพลดลงแต่อย่างไร)

อนึ่ง เพื่อหวังจะเพิ่มผลในเชิงป้องปราม ก็ยังมีการเพิ่มเติมการลงโทษทางทรัพย์สินด้วยการลงโทษปรับผู้กระทำผิด โดยมีโทษปรับได้สูงสุดถึงห้าล้านบาท แต่เอาเข้าจริง นอกจากจะปรามกันไม่ได้แล้วยังทำให้คนยากคนจนที่โดนคดียาบ้าต้องติดคุกนานขึ้นเพราะไม่มีเงินค่าปรับอีกด้วย ซึ่งในการประชุมที่กล่าวไปข้างต้นก็ได้มีการเปิดเผยว่า ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ต้องโทษในคดีครอบครองเพื่อจำหน่าย ล้วนแล้วแต่เป็นคนยากจนทั้งนั้น และผู้ต้องโทษล้วนเป็น “ปลายน้ำ” ที่ต่อให้จับเท่าไหร่ก็คงไม่สามารถสร้างแรงกระทบกระเทือนไปถึง “ต้นน้ำ” ได้ ทั้งยังเป็นการซ้ำเติมคนที่จำเป็นต้องเข้าสู่เส้นทางนี้เพราะไม่มีหนทางอื่นใดในการทำมาหากิน ยิ่งต้องติดคุกแล้วเมื่อกลับออกไปก็ยิ่งยากจะหาหนทางทำกิน สุดท้ายก็อาจต้องกระทำผิดซ้ำ กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่วนเวียนซ้ำซากเรื่อยไป

ผู้กระทำผิดเหล่านี้เป็นเหมือนมนุษย์ใช้แล้วทิ้งสำหรับเหล่าผู้ผลิตและผู้ค้ารายใหญ่…หรืออาจจะของสังคมด้วยซ้ำไป

นอกจากนี้ จากสถิติในปัจจุบันของกรมราชทัณฑ์และกรมคุมประพฤติพบว่า กว่าร้อยละ 90 ของผู้ถูกจับกุม ดำเนินคดี และต้องโทษจำคุกในคดียาเสพติดนั้นเป็นความผิดเกี่ยวกับสารกระตุ้นในกลุ่มแอมเฟตามีน ซึ่งนี่หมายความว่า แม้จะมีโทษรุนแรงถึงขนาดนี้ แต่ปริมาณความต้องการใช้ก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนจำนวนผู้กระทำผิดที่อยู่ในระดับเกือบทั้งหมดของคดียาเสพติด

ทั้งนี้ ในคลิปวิดีโอ “ดราม่ายาบ้า : 20 ปี วาทกรรมยาเสพติดไทย” ของโครงการกำลังใจ (สามารถคลิกชมได้ที่ตอนท้ายของบทความ) นอกจากจะบอกเล่าถึงภาพรวมคร่าวๆ ของประวัติศาสตร์ท่าทีของรัฐต่อยาเสพติดทั้งกรณีของไทยและของต่างประเทศแล้ว ยังได้สรุปถึงปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมของการใช้กฎหมายที่รุนแรงในคดียาบ้าไว้ 7 ข้อ โดยเล่าเรื่องผ่านผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ ซึ่งดูแล้วผมคิดว่าปัญหาสำคัญก็คือเรื่องของบทลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนต่อการกระทำผิด การพิจารณาโทษที่ไม่มีความยืดหยุ่น รวมทั้งไม่ละเอียดละออต่อพฤติกรรมการกระทำผิดที่มีหลากหลายระดับมากกว่าแค่ผู้ซื้อหรือผู้ขาย เช่น กรณีของผู้ต้องขังหญิงคนหนึ่งที่ซื้อยาบ้าจากฝั่งลาวติดตัวมาเม็ดครึ่ง แต่ด้วยตัวบทกฎหมายที่มีอยู่นั้นทำให้เมื่อสิ้นสุดกระบวนการแล้วเธอต้องติดคุกถึง 25 ปี (มีค่าปรับอีกราวห้าแสนบาท แน่นอน เธอไม่มีจ่าย) ด้วยข้อหานำเข้ามาภายในราชอาณาจักร หรือกรณีผู้ต้องขังหญิงอีกท่านหนึ่ง ที่ยอมทำตามขอร้องของผู้ซื้อคือพาไปหาผู้ขายโดยที่ตัวเธอเองไม่ได้จำหน่าย แต่ได้รับโทษในฐานครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย เป็นผลให้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วนะครับ ที่เราจะมาปรับทัศนคติตัวเองที่มีต่อยาบ้ากัน เริ่มจากลองคิดกันแบบง่ายๆ ว่า ในขณะที่ตอนนี้มีปัญหานักโทษล้นคุกเพราะคดียาเสพติด ซึ่งถ้าเยอะจนล้นแบบนั้นก็หมายความว่าต้องมีจำนวนเยอะมากๆ แต่ที่ผ่านมาเราเห็นข่าวคนเสพยาบ้าจนคุ้มคลั่งนี่เป็นจำนวนมากขนาดไหนกันล่ะครับ ผมคิดว่ามันน้อยจนเราน่าจะต้องตั้งคำถามเลยว่า การเสพยาบ้าแล้วคุ้มคลั่งนี่เป็นเรื่องปรกติธรรมดาที่จะเกิดกับผู้เสพทุกคน หรือเป็นแค่กรณีพิเศษที่จะเกิดขึ้นเฉพาะในบางคนเท่านั้น ซึ่งถ้าเกิดขึ้นแค่ในบางคน ยาบ้านี่เป็นอันตรายในระดับที่เรารู้สึกจริงๆ หรือจริงๆ คืออันตรายแต่ก็ไม่ได้ขนาดที่เราถูกความเป็นปีศาจเชิงวาทกรรมของมันหลอกหลอน เรากำลังหวาดกลัวจนตัวเองกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายๆ คนต้องได้รับโทษทัณฑ์ที่ล้นพ้นเกินกว่าความผิดที่เขาได้กระทำลงไปหรือเปล่า

ผมว่า…เราต้องเริ่มคิดแล้วล่ะครับ

คลิป ดราม่ายาบ้า : 20 ปี วาทกรรมยาเสพติดไทย