ThaiPublica > คอลัมน์ > การเดินทางในเมืองหลวง (2): แท็กซี่

การเดินทางในเมืองหลวง (2): แท็กซี่

30 ธันวาคม 2013


ณัฐเมธี สัยเวช

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่เคยเจ็บช้ำน้ำใจกับการถูกปฏิเสธจากโชเฟอร์แท็กซี่ น่าจะกลางปีที่แล้ว (พ.ศ. 2555) น่ะครับ ที่สยาม ฝั่งสยามสแควร์ เรียกเท่าไหร่อย่างไรก็ไม่มีใครยอมไป (เรียกมาแถวบางขุนนนท์ เป็นย่านหนึ่งในเส้นถนนจรัญสนิทวงศ์น่ะครับ อันนี้จำเป็นต้องบอก เพราะหลายคนมักเข้าใจว่าแถวนนทบุรีทุกทีไป ซึ่งคนละโยชน์กันเลย) จนผมลองนับดูว่าผมถูกปฏิเสธไปกี่ครั้งกี่คัน ซึ่งรวมแล้วก็นับได้ 21 คัน และสุดท้าย ผมก็ต้องนั่งรถเมล์มาลงแถวโรงพยาบาลกลางก่อน แล้วจึงเรียกแท็กซี่ใหม่ ซึ่งจากจุดนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร ไปอย่างไม่มีข้อแม้ แต่ก็รู้สึกเจ็บใจ บริการจากแท็กซี่กลายเป็นสินค้าที่ต่อให้มีปัญญาจ่ายก็ซื้อไม่ได้เสียอย่างนั้น

ในช่วงหน้าฝนที่ผ่านมา (พ.ศ. 2556) จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ฝนจะตกในช่วงเวลาเลิกงานของทุกวัน สิ่งที่ได้พบก็คือ ปริมาณการบ่นจนกระทั่งด่าหรือถึงขนาดแสดงความเคียดแค้นต่อแท็กซี่ที่ปฏิเสธผู้โดยสารก็ปรากฏขึ้นมาเต็มเฟซบุ๊กเพื่อนๆ ของผมเต็มไปหมด แต่ทว่า เมื่อสิ้นเสียงฝน พ้นช่วงพีคของฤดูกาล ก็คล้ายเสียงบ่นเหล่านั้นก็จะเจือจางลงไปด้วย แง่หนึ่งก็อาจะเพราะปริมาณความจำเป็นต้องใช้งานนนั้นลดลงไปแล้ว และอีกส่วนหนึ่งก็อาจเพราะการเข้มงวดกวดขันของผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการร้องเรียนผ่านสายด่วน 1584

แต่จะอย่างไรก็ดี ผมคิดว่าปัญหาเรื่องความขัดแย้งกันระหว่าง “สิทธิ” ของผู้โดยสารกับผู้ให้บริการนี้ก็ไม่เคยได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันอย่างจริงจังสักครั้งหนึ่ง จะมีก็เพียงการพยายามให้ความเห็นจากแต่ละฝ่ายออกมาประปราย โดยยังไม่เคยนำไปสู่การหาวิธีจัดสรรทางออกที่ลงตัวสำหรับทุกฝ่าย

สิทธิที่ฝั่งผู้โดยสารหรือผู้ใช้บริการอ้างนั้น ก็จะเป็นสิทธิที่อยู่บนฐานของพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 93 ที่มีใจความว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร เว้นแต่การบรรทุกนั้นน่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนหรือแก่คนโดยสาร ในกรณีที่ผู้ขับขี่รถแท็กซี่มีความประสงค์จะไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร ให้แสดงป้ายงดรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร วิธีการแสดงป้ายและลักษณะของป้ายงดรับจ้างบรรทุกคนโดยสารให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยรถยนตร์” โดยผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 152 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

แต่แน่นอนละครับว่า โดยทั่วไปคนคงคุ้นแค่ว่า ถ้าไม่รับโดนปรับนะ (ปรับเท่าไหร่นี่ก็อาจไม่รู้ด้วยซ้ำ) แต่ไม่ได้รู้ว่ากฎหมายนั้นก็มีข้อยกเว้นว่าสามารถปฏิเสธการรับผู้โดยสารได้ในบางกรณีดังที่เห็นกันไป (อนึ่ง ก็เลยอยากให้ลองไปอ่านกันครับ ว่าข้อบังคับทางกฎหมายต่อแท็กซี่นั้นมีอะไรกันบ้าง ไม่ใช่น้อยนะครับ มีแม้กระทั่งห้ามบีบแตรไล่รถคันอื่น อ่านดูได้ที่นี่ครับ http://www.trafficpolice.go.th/law14.php)

ส่วนสิทธิที่ฝั่งแท็กซี่อ้างนั้น ก็คงกล่าวได้ว่าเป็นไปในลักษณะสิทธิเสรีภาพของปัจเจกในการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไร โดยมีวางการตัดสินใจไว้บน “ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ” ซึ่งก็แน่นอนละครับ ฟังดูมีเหตุมีผล ออกจะเป็นมนุษย์มนาธรรมดาปรกติ ถ้าเราทำงานรับจ้าง เราก็ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าเพื่อตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่ แต่ก็นั่นแหละครับ มาตรา 93 ของ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ เขาไม่ได้รองรับให้ขนาดนั้น มันก็เลยเป็นปัญหาขึ้นมา

การถูกปฏิเสธ 21 ครั้งในคราวนั้นพลิกผันทัศนคติผมไปพอสมควร จากที่เคยไม่ใส่ใจการปฏิเสธของแท็กซี่ ไม่มีความขัดใจแม้แต่เล็กน้อย ซึ่งก็เพราะคิดเรื่องสิทธิในการเลือกนั่นแหละครับ (มันดูสมเหตุสมผลจะตาย คนเราก็ต้องทำอะไรที่ตัวเองคิดว่าคุ้มค่าสิ) ผมก็กลายเป็นรู้สึกว่าแบบนี้มันไม่ถูกต้อง จะมาทำตัวเอาแต่ใจโดยไม่เคารพกฎได้ยังไง มันคล้ายๆ กับตอนสอบใบขับขี่ก็น่าจะได้รู้ใช่ไหม ว่าต้องหยุดรถที่ทางม้าลายถ้ามีใครรอข้าม พาตัวไปอยู่ในกติกาแล้วก็ต้องเคารพมันสิ ยิ่งไปกว่านั้น ถนนนั้นเป็นสินค้าสาธารณะ ถึงจะไม่ได้เป็นสินค้าสาธารณะโดยสมบูรณ์ก็เถอะ แต่ก็เพราะไม่สมบูรณ์นี่แหละ การใช้งานถนนด้วยรถยนต์ของคนคนหนึ่งย่อมหมายถึงความสามารถในการใช้ที่น้อยลงของคนอื่นๆ (อันนี้เขาเรียกว่ามีความเป็นปฏิปักษ์หรือ rivalness ในการบริโภค) คุณเบียดบังพื้นที่สาธารณะไปใช้เป็นที่ทำมาหากินส่วนตัวแล้วยังไม่เคารพกฎเกณฑ์อีก แถมยังเป็นกฎเกณฑ์ที่คุณต้องรู้และยอมรับเมื่อมาประกอบอาชีพนี้ด้วย

ทีมาภาพ : http://taxiservice.igetweb.com
ทีมาภาพ : http://taxiservice.igetweb.com

โกรธแล้วใจมันก็ไปอย่างสารพัดน่ะครับ ไปเสียจนไม่มีหัวจิตหัวใจอย่างเวลาอารมณ์ปรกติ ใจนี่คิดแต่จะหาทางเล่นงานบีบบังคับด้วยกฎที่มีอยู่ท่าเดียว เอาตั้งแต่ต่อจากนี้จะร้องเรียนให้หมด จะจดทะเบียนไปประจานในอินเทอร์เน็ต ทั้งยังพาลต่อไปถึงความไม่มีระบบระเบียบในการรอแท็กซี่ ทำนองว่าบางทีเรายืนรออยู่ดีๆ ก็มีคนมาตัดหน้าเรียกไปเสียก่อน ก็เลยทำให้คิดขึ้นว่า หรือสิ่งที่เราต้องการจริงๆ จะไม่ใช่จุดเรียกแท็กซี่อัจฉริยะ (ที่ก็ไม่เห็นว่าใครจะใช้กัน) แต่คือป้ายแท็กซี่ที่ทำงานคล้ายๆ ป้ายรถเมล์นี่แหละ ใครจะเรียกแท็กซี่ก็ต้องมาเรียกตรงป้ายนี่ ต่อคิวกันไป แท็กซี่ก็ต้องห้ามจอดรับคนนอกป้าย ผู้โดยสารก็ห้ามเรียกนอกป้าย แล้วที่ป้ายก็มีกล้องวงจรปิด จะได้เห็นกันจะๆ ในกรณีที่เกิดการปฏิเสธผู้โดยสาร จะได้ติดตามเอาผิดกันง่ายๆ

แต่กว่าอะไรแบบนั้นจะเกิดขึ้นได้ ก็คงอาศัยเวลานาน ทั้งยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงไหม นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่าหากเกิดขึ้นจริงแล้วจะมีประสิทธิภาพประสิทธิผลเพียงไหนเลย

เพราะฉะนั้น อย่างเบาะๆ เบาๆ ที่ตั้งใจจะทำในตอนนั้นก็คือ ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนั้นอีก ผมก็จะโทรรัองเรียนตามช่องทางที่มีไว้นั่นแหละครับ ผมเลือกที่จะทำอะไรอย่างต่างฝ่ายก็จงเรียกร้องปกป้องรักษาผลประโยชน์ตัวเองให้ถึงที่สุดด้วยตนเองภายใต้ช่องทางที่มี ซึ่งทำให้ผมคิดต่อไปว่า ถ้าผู้ให้บริการขับรถแท็กซี่ไม่พอใจกฎระเบียบที่มีอยู่ รู้สึกว่าอัตราค่าโดยสารที่เป็นอยู่นั้นไม่เป็นธรรม สิ่งที่ควรทำก็คือรวมตัวกันทำเรื่องหรือส่งตัวแทนมาพูดคุยเจรากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยากได้อะไรยังไงก็มาคุยกัน ไม่ใช่มาฝ่ามาฝืนเอาเองตามใจ และที่สำคัญ ผมคิดว่าก็ต้องมีตัวแทนจากฝั่งผู้ใช้บริการที่สามารถสะท้อนเสียงของผู้ใช้บริการได้จริงมาร่วมพูดคุยด้วย

ที่อยากให้เป็นแบบนั้น ก็เพราะรู้สึกว่าอยากให้กฎยังมีอำนาจน่ะครับ แต่ก็เป็นอำนาจแบบป้องปราม ระงับยับยั้ง เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ขัดแย้งกันเกินไป เรียกร้องผลประโยชน์ตัวเองได้โดยประนีประนอมกับผลประโยชน์ของคนอื่น หรือก็คือเป็นกฎที่ดำรงตนอยู่อย่างไม่เลยเถิดไปข่มขืนใจใครที่อยู่ภายใต้กฎระเบียบเหล่านั้น

ผมคิดว่าคนเราควรมีสิทธิ์เรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรม ยิ่งรายได้ของแท็กซี่นั้นเป็นอัตราที่ถูกกำหนดจากทางการ ผู้ให้บริการก็ย่อมควรมีสิทธิ์เรียกร้องหาอัตราที่จะทำให้พอสมควรแก่การดำรงชีพของตัวเองได้ด้วย และแน่นอน ฝั่งผู้ใช้บริการ จะมากดอัตราไว้ในอยู่แต่ในระดับที่ตัวเองพอใจนั้นย่อมไม่ได้ ก็ต้องมาสู้กัน หาทางออกร่วมกัน

เท่าที่พูดคุยกับแท็กซี่มา และหาดูตามสื่อต่างๆ ค่าเช่าแท็กซี่สำหรับการวิ่งรถในแต่ละกะนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 450-600 บาทนะครับ พี่คนขับให้ข้อมูลว่ามากน้อยนั้นแล้วแต่สภาพรถ (และไม่ลืมที่จะบอกว่าแล้วแต่อู่ไหนจะ “ขูดรีด” หรือไม่ด้วย) และต้นทุนอีกส่วนก็คือ ค่าเติมก๊าซให้เต็มถังก่อนจะนำรถไปส่งคืนให้อู่หรือสหกรณ์ที่ให้เช่าแท็กซี่ขับ โดยส่วนนี้จะมากน้อยก็แล้วแต่ใช้ไปแค่ไหน ซึ่งพี่แท็กซี่บอกว่ากลางคืนจะดีกว่า เพราะรถไม่ติด ไม่ค่อยเปลืองก๊าซ แต่โดยสรุปแล้ว เท่าที่พูดคุยมา ต้นทุนค่าเช่ารวมกับค่าก๊าซแล้วจะอยู่ประมาณกะละ 600-900 บาทต่อวัน กะหนึ่งก็ใช้เวลา 12 ชั่วโมง ลองคิดดูว่า ด้วยต้นทุนแบบนั้น จะต้องวิ่งให้ได้เงินสักเท่าไหร่ ที่รายได้สุทธิถึงจะเพียงพอต่อปากต่อท้อง เรียกว่าถ้าพูดกันถึงขอบบนสุดของต้นทุนคือ 900 บาท จะสิ่งให้ได้รายได้เทียบเท่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เดือนหนึ่งก็อาจะต้องวิ่งทุกวัน และได้เงินวันละ 1,200 บาท ซึ่งนั่นหมายความเฉลี่ยแล้วต้องมีรายได้ชั่วโมงละ 100 บาท เพื่อให้สุดท้ายมีรายได้ต่อเดือนได้ถึง 9,000 บาท

การจะได้รายได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 100 บาทในเมืองหลวงที่รถติดสาหัสนี่ไม่น่าจะใช่เรื่องง่ายๆ เลยนะครับ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากแท็กซี่จะไม่อยากไปในที่ที่รถติดมหาศาล เพราะย่อมไม่คุ้มกับค่ารถที่ตนจะได้รับ

เพราะฉะนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารนี่ ผมคิดว่าลำพังจะไปเคร่งครัดเรื่องการบังคับใช้กฎหมายนี่ไม่พอนะครับ เราควรมีการศึกษาโครงสร้างรายได้-รายจ่ายของผู้ให้บริการแท็กซี่ด้วย เพื่อได้นำมาสู่การออกกฎที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย มันจะคล้ายๆ เรื่องรถเมล์ที่ผมพูดไปคราวที่แล้วน่ะครับ ว่าจะเอากฎมากดกันแต่อย่างเดียวนั้นไม่ได้

ในส่วนข้ออ้างหรือเหตุผลยอดนิยมที่แท็กซี่ใช้ในการปฏิเสธ ก็คงไม่พ้นเรื่องของการ “ส่งรถไม่ทัน” เรื่องนี้นี่ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ไม่ใช่แค่ข้ออ้าง ก็เป็นสิ่งที่น่าเห็นใจอยู่นะครับ เพราะแท็กซี่ที่เช่ามาขับนั้น จะต้องถูกส่งต่อให้คนที่มาเช่าต่อในกะต่อไป ถ้าส่งคืนช้า ทางอู่หรือผู้ให้เช่าก็จะปรับเงินเป็นรายชั่วโมง โดยอัตราที่ได้ยินมาก็คือชั่วโมงละ 200 บาท และอย่างที่บอกว่าเวลาส่งก็ไม่ใช่ขับไปคืนเฉยๆ ต้องเติมก๊าซก่อน แล้วบางที ต่อคิวเติมก๊าซกันเป็นสิบคัน ก็กินเวลาเข้าไปอีก

จริงๆ ปัญหาข้ออ้างเรื่องส่งรถนี่ ผมคิดว่ามันแก้ได้ง่ายๆ และประหยัดๆ ด้วยการทำป้ายนะครับ ขึ้นโชว์เลยว่ารถคันนี้กะไหน ต้องส่งกี่โมง ส่งที่ไหน จะได้รู้กันว่าสามารถวิ่งไปทางไหนได้บ้าง

ปัญหาเรื่องแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารด้วยเหตุผลทางด้านรายได้นั้น หลายคนถึงขั้นเสนอว่า ก็กลับไปใช้ระบบต่อรองค่าโดยสารปากเปล่ากันแบบเดิมไปเลย จะได้ว่ากันด้วยความอยากได้ของแท็กซี่และความเต็มใจจะจ่ายของผู้โดยสาร ให้ตกลงกันเอง ซึ่งแง่หนึ่งผมก็เห็นด้วยนะครับ เพราะทุกวันนี้ ผมคิดว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทุกคนเกิดความหงุดหงิดเมื่อถูกปฏิเสธก็เพราะมันมีกฎที่ให้อำนาจการควบคุมแก่ผู้โดยสารอยู่ แต่กฎนั้นกลับไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งานจริง

แต่อีกแง่หนึ่ง ในกรณีที่ข้อมูลข่าวสารไม่สมมาตรกัน ไม่เท่ากัน เช่น ผู้โดยสารไม่เคยไปยังที่แห่งนั้นมาก่อนเลย ไม่รู้เลยว่าค่ารถไปยังที่แห่งนั้นนั้นควรจะเป็นเท่าไร โอกาสที่จะต้อง “จ่ายเกินจริง” ก็ย่อมมีอยู่ แน่ล่ะว่ามันก็อาจจะเป็นความเต็มใจจะจ่าย แต่พอเกิดบนข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์แล้ว มันก็ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นมานะครับ ลองจินตนาการถึงคนต่างจังหวัดที่เพิ่งเคยเข้ามากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ไม่รู้อะไรเลยแต่จำเป็นต้องใช้บริการรถแท็กซี่ ก็อาจจะถูก “โกง” ได้ง่ายๆ และอาจจะ “เนียนๆ” ด้วย เรียกค่าโดยสารเยอะๆ แล้วก็ขับวนๆ อ้อมๆ ให้รู้สึกว่าไกล หรือลองคิดในอีกทางหนึ่ง ทางที่อาจไม่เป็นธรรมกับแท็กซี่ เราเรียกไปที่หนึ่ง คนขับไม่รู้ว่าที่นั่นรถติด ซึ่งทำให้พอขับไปจริงแล้วไม่คุ้มแก่ราคาที่ตกลงกันไว้ กรณีแบบนี้ จะมีผู้โดยสารสักกี่คนที่เห็นใจและเพิ่มค่ารถให้ล่ะครับ ซึ่งเพราะปัญหาแบบนี้นี่แหละ ที่ทำให้ผมคิดว่ามิเตอร์ยังมีความจำเป็นอยู่ แต่สิ่งที่ต้องมาคุยกันคือเรื่องอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรม

อีกวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการต่อรองกับแท็กซี่ที่อิดออด ไม่ยอมไปตามที่เรียก ที่ผมเห็นหลายคนใช้แล้วได้ผล นั่นก็คือ “เอาเงินฟาด” ครับ บอกไปเลยว่าเดี๋ยวเพิ่มให้จากมิเตอร์อีกเท่าไหร่ก็ว่าไป แต่ผมไม่แนะนำวิธีนี้นะครับ เพราะตราบใดที่มันยังมีกฎระเบียบอยู่ ผมถือว่านี่เป็นการคอร์รัปชันแบบหนึ่ง ในทางจริยธรรมแล้วผมคิดว่ามันไม่ต่างอะไรกับการเสียเงินร้อยสองร้อยให้ตำรวจแทนการไปเสียค่าปรับจำนวนมากกว่านั้นที่สถานี พูดจริงๆ ผมก็คิดว่ามันเรื่องเล็กนะครับ แต่ก็มีความใหญ่อยู่ในตัว เพราะมันคือการทำให้กฎ “เสื่อม” อำนาจบังคับใช้ไป

ผมอยากให้ลองเข้าไปอ่าน พ.ร.บ.การจราจรฯ ตามลิงก์ที่ให้ไว้นะครับ เราจะเห็นว่าตัวกฎหมายนั้นให้อำนาจคุ้มครองผู้โดยสารค่อนข้างมาก แต่ในความเป็นจริง บางเรื่องเราจะกล้าร้องเรียนแท็กซี่สักแค่ไหน เรื่องปฏิเสธนั้นคงทำได้ง่ายๆ แต่ว่า ถ้าเป็นเรื่องกิริยามารยาทล่ะ หรือเรื่องของท่าทีแบบคุกคามเราล่ะ เราจะกล้าร้องเรียนสักแค่ไหน ในเมื่อเราก็รู้อยู่แก่ใจว่าแท็กซี่อาจจะจำได้ว่าเราเป็นใคร อยู่ที่ไหน เพราะอย่างไรเสีย ในการจะตัดสินลงโทษ ก็ต้องมีการสืบสวนสอบสวนกันก่อนตามกระบวนการ เราจะมั่นใจได้แค่ไหนว่าตัวเราในฐานะ “ผู้เป่านกหวีด” หรือ whistle blower นั้นจะมีความปลอดภัยหลังจากส่งเสียงเรียกร้อง “ความถูกต้อง” ออกไปแล้ว

เพราะฉะนั้น ที่สุดแล้ว ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนี้ ผมยืนยันว่าทุกฝ่ายต้องหาตัวแทนมาพูดกันอย่างจริงจังครับ เพื่อจะได้สร้างกฎที่เป็นธรรม อันจะทำให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีฝ่ายใดต้องลำบากหรือถูกกดทับจนเกินไปเพื่อความสบายของใครที่ไม่ใช่ตัวเอง