ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้โลกยุค VUCA ระวังอาการ “ความชะล่าใจของผู้ร่วมตลาด” อันตรายสุด เสี่ยงเกิด “sharp market correction”

ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้โลกยุค VUCA ระวังอาการ “ความชะล่าใจของผู้ร่วมตลาด” อันตรายสุด เสี่ยงเกิด “sharp market correction”

22 กุมภาพันธ์ 2018


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา “Credit Spotlight on Thailand: The Link to Continental Southeast Asia” จัดโดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และ S&P Global Ratings

ดร.วิรไทกล่าวว่าสถาบันจัดอันดับเครดิตเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของระบบการเงิน เพราะเป็นสถาบันที่ประเมินคุณภาพของการก่อหนี้ ช่วยลดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูลระหว่างผู้ต้องการระดมทุนและผู้ต้องการลงทุน ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนทางการเงินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ที่ต้องการระดมทุน นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงความยั่งยืนในระยะยาวของผู้ระดมทุนและเชื่อมโยงกับเสถียรภาพของระบบการเงินในภาพรวมอีกด้วย จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่สถาบันจัดอันดับเครดิตต้องประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบและรอบด้าน

ในภาวะปัจจุบัน การประเมินความเสี่ยงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น เนื่องจากเราอยู่ในโลกที่มีความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือหรือที่เรียกกันว่าโลก VUCA (Volatility Uncertainty Complexity และ Ambiguity) นอกจากนี้ ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจหลายอย่างที่ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่เราคุ้นเคยไม่สามารถอธิบายได้ดีเหมือนในอดีต เช่น เงินดอลลาร์กลับอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ ทั้งที่ธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาหลายครั้ง หรืออัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างที่คาด ทั้งที่ตลาดแรงงานตึงตัวมากขึ้น เป็นต้น

ประเด็นเหล่านี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็น puzzle ที่ทำให้การประเมินความเสี่ยงยากมากขึ้นเนื่องจากความสัมพันธ์ของตัวแปรทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปด้วยหลายเหตุผล มีความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนมากขึ้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายเรื่องอาจไม่ยั่งยืนและเสี่ยงต่อการปรับตัวอย่างรวดเร็วหรือที่เรียกกันว่า sharp market correction

ในสภาวการณ์แบบนี้สิ่งที่จะเป็นอันตรายที่สุดคือ ความชะล่าใจของผู้ร่วมตลาด ซึ่งบางครั้งการที่สภาวะตลาดนิ่งและดูดีอาจจะเป็นสภาวะช่วงคลื่นลมสงบก่อนที่จะเกิดพายุใหญ่ก็ได้ ถ้าผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่มีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันโดยเฉพาะมุมมองที่อาจจะไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ ซึ่งในปัจจุบัน การใช้โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลที่เหมือน ๆ กัน ใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน มักจะให้ผลวิเคราะห์ออกมาคล้ายกัน นำไปสู่พฤติกรรมมองตามกันไปในทิศทางเดียวได้ จนในบางครั้งเกิดความไม่สอดคล้องกันระหว่างมุมมองหรือความคาดหวังของตลาด (market expectation) กับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

ซึ่งความไม่สอดคล้องหรือ mismatch ดังกล่าว จะไม่สามารถยั่งยืนได้นานและเมื่อถูกกระทบด้วยปัจจัยบางอย่าง อาจจะนำไปสู่การปรับตัวของตลาดที่รวดเร็วและรุนแรงได้ปรากฏการณ์ market correction ที่กล่าวถึงนี้ได้แสดงตัวอย่างขึ้นแล้วทั่วโลกในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลง หรือผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับขึ้นเร็ว หลังจากที่ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ บางตัวออกมาต่างไปจากที่ตลาดคาดไว้ market correction ที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องดีที่ตลาดเริ่มปรับตัวเองก่อนที่ mismatch ระหว่างมุมมองของตลาดกับปัจจัยพื้นฐานจะมีขนาดใหญ่กว่านี้และอาจจะนำไปสู่การปรับตัวรุนแรงได้ในอนาคต

นอกจากนี้ market correction ที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้ประเมินความเสี่ยงว่า อย่าชะล่าใจเมื่อเห็นตลาดผันผวนน้อยหรือมีความเสี่ยงต่ำ เหตุการณ์ market correction แสดงให้เห็นว่า การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานยังเป็นสิ่งที่สำคัญเสมอ และจะต้องพิจารณาปัจจัยพื้นฐานในบริบทของความคาดหวังของตลาดที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วด้วย เพราะทั้งสองส่วนมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน

“ในวันนี้ ผมจะขอยกตัวอย่าง puzzle ที่เกิดขึ้นสักสามเรื่อง ก่อนที่จะเกิด market correction ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา”

เรื่องแรกคือ การเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันในตลาดโลก เราคงจำกันได้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเคยอยู่ในระดับสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็นเวลานานกว่า 3 ปีระหว่างปี 2554 – 2557 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงแรงและมาอยู่จุดต่ำสุดที่ประมาณ 35 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในต้นปี 2559 ส่วนสำคัญเป็นเพราะความอ่อนแรงของเศรษฐกิจโลกและการเข้ามาของ shale oil ที่มีศักยภาพจะเพิ่มอุปทานพลังงานในตลาดโลกได้อีกมาก ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า ราคาน้ำมันจะปรับขึ้นเหนือ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลได้อีก

แต่ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว ราคาน้ำมันในตลาดโลกกลับปรับเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่หลายคนคาด มาอยู่สูงกว่า 70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในช่วงต้นปีนี้ ก่อนที่จะปรับลดลงบ้างในช่วง 2 – 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นเร็วนี้ ฐานะการซื้อสุทธิหรือ net long position ของผู้ค้าน้ำมันที่ไม่ใช่ผู้ค้าเชิงพาณิชย์ทั่วไป เช่น hedge fund และนักลงทุนที่เก็งกำไร ก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ด้วย ทำให้ราคาน้ำมันผันผวนและออกห่างจากปัจจัยพื้นฐานมากขึ้นในบางช่วงเวลา

เรื่องที่สอง คือ อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และประเทศอุตสาหกรรมหลักอื่น ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่ได้ถูกกดดันจากสภาวะตลาดแรงงานที่ดีขึ้นเหมือนในอดีต ในช่วงปีที่ผ่านมา อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ซึ่งต่ำว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตการเงินโลกปี 2551 และต่ำกว่าอัตราการว่างงานระยะยาวที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประเมินไว้ที่ร้อยละ 4.6

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำประมาณร้อยละ 1.5 – 2.0 ตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าทฤษฎี Phillips Curve ที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงานยังคงใช้ได้อยู่หรือไม่ ตัวแปรทั้งสองควรแปรผกผันกัน แต่ในช่วงหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ความสัมพันธ์นี้ดูจะลดลงมากหรือเลือนหายไป และปรากฏการณ์นี้ไม่ได้
เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ยุโรปและญี่ปุ่น ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายอย่างเปลี่ยนไป ทั้งเรื่อง shale oil ในสหรัฐฯ บทบาทของ e-commerce การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดแรงงาน โครงสร้างประชากร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการที่เศรษฐกิจโลกเปิดกว้างเชื่อมโยงกันมากขึ้น ส่งผลให้การผลิตสินค้ามีต้นทุนถูกลงและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะตลาดแรงงานและอัตราเงินเฟ้อเปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทฤษฎี Phillips Curve กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจากที่ค่าจ้างรวมทั้งอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ในเดือนมกราคมปรับสูงขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อเงินเฟ้อและแนวโน้มการปรับขึ้น
อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จนเกิดภาวะ market correction ในตลาดทุนและตลาดเงินทั่วโลกในหลายมิติต่อไป

puzzle ที่สามคือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องและผลตอบแทนหรือ yield curve ของพันธบัตรสหรัฐฯ ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก ทั้ง ๆ ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาแล้ว 4 ครั้งตั้งแต่ปลายปี 2559 จากร้อยละ 0.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ในปัจจุบัน ถ้าถอยหลังกลับไปสักสองปีที่แล้วตลาดส่วนใหญ่คาดว่า เมื่อธนาคารกลางของสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยต่อเนื่องแล้ว จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบกับเงินสกุลต่าง ๆ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้ามเพราะเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินในกลุ่มเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเยน ยูโร หรือปอนด์สเตอร์ลิงอีกด้วย หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า คือ สภาพคล่องที่ล้นตลาดการเงินโลกจากการทำนโยบาย Quantitative Easing ของธนาคารกลางหลายประเทศ แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้ง แต่สภาพคล่องส่วนเกินก็ยังอยู่ในระดับสูงมาก

สภาพคล่องส่วนเกินเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่สามารถส่งผ่านไปยัง yield curve ได้ดีเหมือนในอดีต อีกสาเหตุหนึ่งคงเป็นเพราะตลาดมีอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ต่ำด้วยเพราะเชื่อว่าความสัมพันธ์ Phillips Curve เปลี่ยนไปดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การที่ yield curve ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากตาม Fed funds rate ส่งผลให้แรงกดดันที่จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นนั้นมีน้อยกว่าในอดีต

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะ market correction ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาได้เริ่มส่งผลกระทบต่อ yield curve ระยะยาวของพันธบัตรสหรัฐฯ แรงกว่าที่ตลาดคาดไว้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.9 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 4 ปี และจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลและภาคเอกชนได้โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ฐานะทางการเงินไม่เข้มแข็ง

puzzle ทั้งสามเรื่องที่กล่าวมานี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่แฝงอยู่ เมื่อเกิด mismatch ระหว่างการคาดการณ์ของตลาดกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า market correction ที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาจะนำไปสู่การปรับตัวของตลาดที่ใหญ่กว่าหรือไม่และจะเกิดขึ้นเมื่อใด ผู้ประกอบการและนักลงทุนจึงต้องระมัดระวังและตระหนักถึงความเสี่ยงเหล่านี้

นอกจากนี้ ต้องตระหนักว่าการคาดการณ์ของตลาดอาจจะเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยอื่นนอกจากมุมมองเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจได้ด้วยไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางและคาบสมุทรเกาหลี หรือแม้แต่ภัยธรรมชาติที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เป็นต้น ปัจจัยทั้งหมดนี้อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินและตลาดทุน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยระยะยาว และต้นทุนทางการเงินที่จะกระทบต่อคุณภาพของหนี้และความยั่งยืนของผู้ประกอบการด้วย

“แม้ว่าตลาดเงินและตลาดทุนโลกอาจจะต้องเผชิญกับ market correction ที่แรงกว่าที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ผมเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีกันชนหรือความสามารถที่จะรองรับความผันผวนจากตลาดการเงินโลกได้ดีระดับหนึ่ง เนื่องจากภาคการเงินไทย
โดยรวมมีปัจจัยพื้นฐานที่เข้มแข็งหลายประการ”

ประการแรก เศรษฐกิจไทยพึ่งพาหนี้ต่างประเทศในระดับต่ำ โดยล่าสุดหนี้ต่างประเทศของทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่เพียงร้อยละ 36 ต่อ GDP1 ถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเกณฑ์สากลส่วนสภาพคล่องด้านเงินตราต่างประเทศของไทยยังถือว่าดีมาก สะท้อนจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลสูงถึงร้อยละ 10.8 ต่อ GDP ในปี 2560 จากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการที่ดี

นอกจากนี้ เงินสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง โดยปัจจุบันเงินสำรองระหว่างประเทศสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นถึง 3.3 เท่าและสูงกว่าหนี้ต่างประเทศทั้งหมดถึง 1.4 เท่า แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีกันชนรองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ดี

ประการที่สอง ฐานะทางการเงินของสถาบันการเงินไทยยังแข็งแกร่ง และมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยลงได้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนเงินสำรองสำหรับหนี้เสียที่มีต่อเงินสำรองพึงกันตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยในระดับสูง ถึงร้อยละ 171.9 ขณะที่สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 18.2

ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทยได้เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลสถาบันการเงินหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการดำรงแหล่งที่มาของเงินให้สอดคล้องกับการใช้ไป หรือ Net Stable Funding Ratio เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถรับมือกับภาวะสภาพคล่องตึงตัวเป็นระยะเวลานานได้ดีขึ้น หรือหลักเกณฑ์การกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสถาบันการเงินรวมถึงหลักเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาลและการตรวจสอบความเสี่ยงที่เกิดจากวัฒนธรรมองค์กรอีกด้วย

ประการที่สาม ในภาพรวมระดับการก่อหนี้ของภาคธุรกิจไม่ได้สร้างความเปราะบางต่อเสถียรภาพระบบการเงิน โดยหนี้ภาคธุรกิจต่อ GDP ล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 76.7 ถือว่าไม่ได้สูงมากและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีสัดส่วนดังกล่าว อยู่ที่ร้อยละ 98.7 ขณะที่หนี้กว่า 3 ใน 5 เป็นหนี้ระยะยาว และหนี้สกุลต่างประเทศของภาคธุรกิจส่วนหนึ่งเป็นของธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อการลงทุนในต่างประเทศ ทำให้ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนมีจำกัด

อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจบางกลุ่มยังมีฐานะทางการเงินเปราะบาง ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs ยังน่ากังวล ความสามารถในการทำกำไรและสัดส่วนกำไรต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทขนาดเล็กบางกลุ่มยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ของธุรกิจ SMEs จะเริ่มปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น แต่ระดับ NPL ยังอยู่สูงเมื่อเทียบกับช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ในอนาคตธุรกิจ SMEs จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่จะกระทบกับรูปแบบของธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEsอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ เราต้องติดตามฐานะการเงินของภาคครัวเรือนอย่างใกล้ชิด เพราะครัวเรือนหลายกลุ่มมีฐานะการเงินเปราะบาง เนื่องจากการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนยังไม่ได้กระจายตัวอย่างทั่วถึง รายได้ครัวเรือนส่วนหนึ่งถูกกระทบจากโครงสร้างตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป นอกจากประเด็นเรื่องรายได้แล้ว ภาคครัวเรือนยังเผชิญกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ได้ปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 78.3 แต่ภาคครัวเรือนยังต้องใช้เวลาปรับโครงสร้างทางการเงินอีกระยะหนึ่ง

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มการขยายตัวที่ชัดเจนมากขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น รวมทั้งภาคการเงินมีกันชนที่ดีระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกันชนด้านต่างประเทศ แต่พวกเราต้องไม่ประมาท ไม่ชะล่าใจ อย่างที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่าเราอยู่ในยุค VUCA ที่มีความผันผวนสูง ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ รวมทั้งเศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงกันสูงขึ้น และที่สำคัญสภาพคล่องส่วนเกินที่ยังมีอยู่มากในระบบการเงินโลก จะส่งผลให้เกิด mismatch ระหว่างการคาดการณ์ของตลาดกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะทำให้เกิด market correction แบบรุนแรงได้

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การประเมินความเสี่ยงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น การตระหนักถึงความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบด้านจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนประสบความสำเร็จและมีภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น สามารถรองรับกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นได้ดีซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันจัดอันดับเครดิตจะต้องมีส่วนสำคัญในการช่วยประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบและรอบด้าน และต้องสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างฐานะการเงินของผู้ระดมทุน การคาดหวังของตลาด ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อราคาสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ตลอดจนเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม

หมายเหตุ : 1 สัดส่วนหนี้ต่างประเทศของไทยเคยสูงถึงร้อยละ 72 ในปี 2542 (เป็นตัวเลขประมาณการ ซึ่งในขณะนั้นไม่ได้มีฐานข้อมูลตามมาตรฐานสากลเหมือนในปัจจุบัน) สำหรับค่าเฉลี่ยของหนี้ต่างประเทศต่อ GDP ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะอยู่ที่
ร้อยละ 51