ThaiPublica > คอลัมน์ > จับชีพจรเงินเฟ้อไทย อะไรทำให้เงินเฟ้อต่ำมานาน? – แล้วจะกลับสู่เป้าหมายได้หรือไม่?

จับชีพจรเงินเฟ้อไทย อะไรทำให้เงินเฟ้อต่ำมานาน? – แล้วจะกลับสู่เป้าหมายได้หรือไม่?

11 กันยายน 2018


ธนันธร มหาพรประจักษ์ เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
นุวัต หนูขวัญ เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
วรินทิพย์ วรศักดิ์ เศรษฐกร ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
อัญชลี ศิริคะเณรัตน์ ผู้ตรวจสอบอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบ 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อโลกและไทยที่ปรับลดมาอยู่ในระดับต่ำถือเป็นประเด็นสำคัญที่สร้างความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation targeting) ในการดำเนินโยบายการเงินซึ่งรวมถึงไทยด้วย และทำให้เกิดหลายคำถามตามมาว่า “อะไรทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับต่ำในช่วงที่ผ่านมา ในระยะต่อไปอัตราเงินเฟ้อไทยจะเป็นอย่างไร และจะกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ทางการประกาศได้หรือไม่”

I สาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน

หลังปี 2557 เป็นต้นมา อัตราเงินเฟ้อไทยลดต่ำลงมากจากค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2553-2557 ที่ร้อยละ 2.8 มาอยู่ที่ร้อยละ -0.9 และ 0.2 ในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ และแม้ช่วงปลายปี 2559 ต่อเนื่องถึงปี 2560 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อที่ไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน) ยังคงทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง (ภาพที่ 1)

อัตราเงินเฟ้อไทยที่อยู่ในระดับต่ำนั้น มีสาเหตุมาจากทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักร[1] (cyclical factor) และปัจจัยเชิงโครงสร้าง[2] (structural factor) (ตารางที่ 1) โดยปัจจัยเชิงวัฏจักรที่สำคัญคือภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าและขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพในช่วงที่ผ่านมา ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์มีจำกัด รวมถึงราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงตามอุปสงค์โลกตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2557 ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านต้นทุนปรับลดลง และแม้อัตราเงินเฟ้อโลกจะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2560 ตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้นแต่อัตราเงินเฟ้อไทยยังเผชิญกับปัจจัยลบจากราคาอาหารสดในประเทศที่หดตัวเนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย (ภาพที่ 1)

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้าง ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นพร้อมกับต้นทุนที่ถูกลง เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำมัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำและโอกาสที่ราคาน้ำมันจะเปลี่ยนแปลงเร็วและแรงเหมือนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีน้อยลง ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบอัตราเงินเฟ้อโดยเฉพาะราคาหมวดพลังงาน นอกจากนี้ การทำปศุสัตว์ระบบปิดที่ช่วยป้องกันผลผลิตจากโรคระบาดหรือการเปลี่ยนของสภาพอากาศ และการพัฒนาระบบชลประทานที่ช่วยบรรเทาผลกระทบด้านลบในช่วงที่เผชิญกับภัยแล้ง มีส่วนกดดันอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดให้อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ราคาพลังงานและอาหารสดที่ลดลง นอกจากจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงโดยตรงแล้ว ยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงราคาสินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อพื้นฐาน ผ่านต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวในระดับต่ำ

ขณะเดียวกัน กระแสโลกาภิวัตน์ทางการค้า(globalization) ถือเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลง เนื่องจากโลกาภิวัตน์ทำให้การค้าระหว่างประเทศเกิดการขยายตัว ซึ่งก่อให้เกิด (1) การแข่งขันด้านราคาระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศมีอำนาจน้อยลงในการขึ้นราคาสินค้า (2) ต้นทุนการผลิตถูกลง เนื่องจากโลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงในรูปแบบของห่วงโซ่อุปทานโลก หรือ global value chain ทำให้ผู้ผลิตสามารถเข้าถึงวัตถุดิบได้ง่ายและมีราคาถูกลง และ (3) เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตระหว่างประเทศ ทำให้ผลิตภาพในการผลิตเพิ่มขึ้นและมีต้นทุนต่อหน่วยลดลง

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเชิงโครงสร้างที่สำคัญอีก 2 ปัจจัยที่นักวิชาการทั่วโลกให้ความสนใจและมีการถกเถียงกันมากในระยะหลังเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบต่ออัตราเงินเฟ้อ คือ (1) การขยายตัวของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย e-commerce ทำให้ต้นทุนการขายสินค้าของผู้ประกอบการต่ำลง ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็มีทางเลือกในการบริโภคมากขึ้น และสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าในตลาดได้ง่ายขึ้น (price transparency) ทำให้ผู้ประกอบการปรับราคาสินค้าได้ยาก ซึ่งในกรณีของไทย แม้ว่าการวัดผลกระทบของปัจจัยด้าน e-commerce ต่ออัตราเงินเฟ้อจะยังมีข้อจำกัด เนื่องจากตะกร้าเงินเฟ้อไทยในปัจจุบันยังมีรายการสินค้าที่ซื้อขายผ่าน e-commerce อยู่ค่อนข้างน้อย

แต่คาดว่าธุรกิจ e-commerce ไทยที่เร่งตัวอย่างรวดเร็ว จะส่งผลทางอ้อมและเป็นแรงกดดันด้านลบต่ออัตราเงินเฟ้อไทยผ่านการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น และ (2) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อต่ำลงในอนาคตผ่านการบริโภคและการลงทุนที่ลดลงตามศักยภาพการผลิตของประเทศ โดยกรณีของไทยคาดว่าการเป็นสังคมผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะทำให้การบริโภคโดยรวมลดลง เนื่องจากประชากรวัยทำงานอาจบริโภคลดลงเพื่อเก็บออมไว้รองรับการเกษียณอายุ ขณะที่ผู้สูงอายุอาจมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในยามเกษียณ อีกทั้ง เบี้ยยังชีพที่จัดสรรให้ผู้สูงอายุยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับผู้สูงอายุต้องพึ่งพึงรายได้จากผู้อื่นสูงโดยเฉพาะจากลูกหลาน[3] ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุอาจเป็นปัจจัยเพิ่มเติมที่มีผลลดทอนกำลังซื้อของประชากรวัยทำงาน

II การเปลี่ยนแปลงของพลวัตอัตราเงินเฟ้อไทยในปัจจุบัน

หลังจากได้ทราบถึงปัจจัยเชิงวัฏจักรและปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อไทยแล้ว ในส่วนนี้จะนำเสนอผลการวิเคราะห์พลวัตของอัตราเงินเฟ้อไทย ซึ่งจะช่วยให้ท่านผู้อ่านเข้าใจการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อไทยมากขึ้น โดยจากการศึกษาพบว่าพลวัตของอัตราเงินเฟ้อไทยในปัจจุบันมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตใน 2 มิติสำคัญ คือ 

มิติที่ 1: อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะกลับสู่เป้าหมายนโยบายการเงินได้ช้าลง เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อน้อยลง หรือศัพท์ในวงการเศรษฐศาสตร์จะเรียกว่าเหตุการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจในประเทศและอัตราเงินเฟ้อปรับลดลง (flattening Phillips curve) ซึ่งจุดสีแดงในภาพที่ 2 สะท้อนให้เห็นว่าเส้นความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจไทยกับอัตราเงินเฟ้อไทย หรือเส้น Phillips curve ของไทย ในระยะหลัง (ช่วงปี 2555-2560) มีความชันค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอดีตในช่วงปี 2543-2554 (จุดสีฟ้าในภาพที่ 2) ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกับกรณีของต่างประเทศเช่นกัน

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจในประเทศมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อน้อยลงมาจากการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศที่มากขึ้น ทั้งจาก Globalization และ e-commerce ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในประทศอาจไม่ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมากเหมือนในอดีต หรือต้องใช้เวลาในการส่งผ่านผลบวกของเศรษฐกิจมายังอัตราเงินเฟ้อนานขึ้น ทำให้ระยะเวลาที่อัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมายนโยบายการเงินอาจต้องใช้เวลานานกว่าในอดีต

นอกจากนี้ เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อนั้น ผู้ดำเนินนโยบายจะใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้ผลของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งการบริโภคและการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลต่อเนื่องไปยังอัตราเงินเฟ้ออีกทอดหนึ่ง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ลดลง ทำให้การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลส่งผ่านไปถึงอัตราเงินเฟ้อได้น้อยลงกว่าในอดีต

ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ การใช้ยาที่เรียกว่านโยบายการเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นนั้น ธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องเพิ่มขนาดหรือขยายระยะเวลาการให้ยากระตุ้นให้มากขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวแรงและส่งผลไปยังอัตราเงินเฟ้อได้ตามที่คาดหวังไว้ ซึ่งนี่คือสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินในปัจจุบันยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับเงินเฟ้อที่น้อยลงแล้ว การศึกษานี้พบว่า การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อไทยยังมีการปรับตัวช้ากว่าเดิม หรือศัพท์ในวงการเศรษฐศาสตร์เรียกว่าอัตราเงินเฟ้อมีความหนืด (persistence) มากขึ้น ถือเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานและส่งผลให้ในระยะต่อไปอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะกลับสู่เป้าหมายนโยบายการเงินได้ช้าลง

ความหนืดของอัตราเงินเฟ้อนั้นเป็นตัวสะท้อนความสามารถในการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการ ซึ่งสามารถอธิบายผ่านพฤติกรรมการตั้งราคาของผู้ประกอบการ อัตราเงินเฟ้อที่มีความหนืดสูงสะท้อนว่าในการพิจารณาขึ้นราคาสินค้าและบริการในปัจจุบัน ผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของราคาในอดีตมากกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางกำหนด ทำให้ราคาสินค้าไม่แตกต่างจากอดีตมากนัก อัตราเงินเฟ้อจึงอยู่ในระดับเดิมเป็นเวลานานและทำให้ปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบเงินเฟ้อจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อนานขึ้น

ความหนืดของอัตราเงินเฟ้อไทยที่เพิ่มขึ้นในระยะหลัง คาดว่าเป็นผลจากปัจจัยวัฏจักรและปัจจัยเชิงโครงสร้างต่างๆ ที่กล่าวไว้ในส่วนที่หนึ่ง ได้กดดันอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การศึกษาพบว่า ขนาดและทิศทางของ shock ที่เข้ามากระทบเงินเฟ้อในระยะหลังปี 2557 มีขนาดเล็กลงและมักเป็นปัจจัยด้านอุปทานที่สร้างแรงกดดันด้านลบต่ออัตราเงินเฟ้อ ยกตัวอย่างเช่น ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงจากการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต shale oil และราคาอาหารสดที่อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ซึ่งลักษณะของ shock ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ขาดปัจจัยบวกที่จะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้นเช่นในอดีต ความหนืดของอัตราเงินเฟ้อในระยะหลังจึงเพิ่มขึ้น ซึ่งความหนืดของอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและปัจจัยด้านอุปทานเป็นความท้าทายต่อการดำเนินนโยบายการเงิน เนื่องจากนโยบายการเงินมีประสิทธิผลค่อนข้างจำกัดในการจัดการกับปัจจัยอื่นนอกเหนือจากอุปสงค์และการคาดการณ์เงินเฟ้อ

มิติที่ 2:แนวโน้มเงินเฟ้อ (trend inflation) ในระยะยาว มีโอกาสลดต่ำลงจากอดีต ซึ่ง trend inflation ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ธนาคารกลางใช้ประกอบการตัดสินใจกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อของประเทศ บทความนี้ได้คำนวณ trend inflation ในระยะยาว และพบว่ามีโอกาสสูงที่ trend inflation จะมีค่าต่ำกว่าในอดีต ซึ่งสาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต่างๆ ที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในหลายหมวดสินค้าต่ำลงจากอดีตตามที่ได้วิเคราะห์ไว้ก่อนหน้า ประกอบกับพลวัตเงินเฟ้อไทยที่มีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายนโยบายการเงินได้ช้าลงจากความหนืดที่สูงขึ้น และผลบวกจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศต่ออัตราเงินเฟ้อที่มีน้อยลง รวมถึงประสิทธิผลของนโยบายการเงินที่มีค่อนข้างจำกัดในการรับมือกับเงินเฟ้อต่ำจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและปัจจัยด้านอุปทาน

trend inflation ที่ลดลง นำมาซึ่งความท้าทายต่อการดำเนินโยบายการเงินที่มีภารกิจในการนำอัตราเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายนโยบายการเงินในระยะปานกลาง และมีนัยต่อการกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าที่อาจต้องคำนึงถึงแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะยาวมากขึ้น เพื่อให้เป้าหมายอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจ ไม่เป็นข้อจำกัดในการตัดสินนโยบายจนส่งผลลบต่อการรักษาเสถียรภาพด้านอื่นๆ

III ความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้พลวัตของอัตราเงินเฟ้อไทยที่เปลี่ยนแปลงไป

ก่อนจะอธิบายความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงิน ต้องขออธิบายหลักการในเบื้องต้นก่อนว่า ประเทศไทยดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (flexible inflation targeting) ซึ่งให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ควบคู่ไปกับการดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน การดำเนินนโยบายจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจด้านอื่นๆ นอกเหนือจากเสถียรภาพด้านราคาเพียงอย่างเดียว

ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบัน การดำเนินนโยบายการเงินอยู่ในลักษณะผ่อนคลายมากเป็นระยะเวลานานพอสมควร เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการรักษาเสถียรภาพด้านราคา โดยช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทยอยปรับเพิ่มขึ้นเข้าสู่เป้าหมาย ในขณะที่เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำในปัจจุบันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายมากต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและการเงินได้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานอาจทำให้ประชาชนนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ซึ่งหากผู้ลงทุนมีความรู้และมีวิธีบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่หากผู้ลงทุนขาดความรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์ที่ตนไปลงทุน ไม่เข้าใจว่าสินทรัพย์ที่ลงทุนนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลขาดทุนและทำให้เงินที่ตนเองไปลงทุนนั้นหมดไปได้ แล้วหากผู้ลงทุนเกิดขาดทุนขึ้นมาจริงๆ ก็อาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของประชาชน และกลายเป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในอนาคตได้

จากประเด็นข้างต้น ในระยะหลังจึงมีการพูดถึงการทำนโยบายการเงินให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ (policy normalization) แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น จำเป็นต้องดำเนินในช่วงเวลาที่เหมาะสม และจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในระบบเศรษฐกิจปรับเพิ่มขึ้น แม้ด้านหนึ่งจะช่วยให้ผู้ฝากเงินได้ผลตอบแทนมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจปรับสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอาจกระทบต่อเศรษฐกิจและแรงส่งเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ในภาพรวม จนส่งผลให้การกลับสู่เป้าหมายของอัตราเงินเฟ้อล่าช้าออกไปอีก ดังนั้น การตัดสินนโยบายในระยะต่อไปจึงต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการดูแลอัตราเงินเฟ้อให้กลับสู้เป้าหมายกับการจัดการความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินตลอดจนการดูแลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวสอดคล้องกับศักยภาพ

จากที่กล่าวไว้ใน 2 ส่วนข้างต้น อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายได้ช้าลงและมีโอกาสที่ในระยะยาวอัตราเงินเฟ้ออาจอยู่ในระดับที่ต่ำลงจากที่เคยประเมินไว้อดีต ถือเป็นประเด็นที่สร้างความท้าทายต่อการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายในระยะปานกลางถึงระยะยาว เนื่องจาก

1) อัตราเงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงินเป็นเวลานานและมีแนวโน้มกลับเข้าสู่เป้าหมายได้ช้าลง อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของนโยบายการเงิน ซึ่งความเชื่อมั่นถือเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากหากประชาชนไม่เชื่อมั่นว่าธนาคารกลางจะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ได้ประกาศไว้ได้ การดำเนินนโยบายการเงินก็จะไม่สามารถประสบผลสำเร็จได้

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายนโยบายการเงินที่ตั้งไว้ เครื่องมือหลักที่ธนาคารกลางทั่วโลกต่างใช้กัน คือ การสื่อสารของตัวธนาคารกลางเอง โดยธนาคารกลางต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบัน สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย สาเหตุของการตัดสินนโยบาย รวมถึงต้องชี้แจงแนวทางการดำเนินนโยบายในระยะต่อไปให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะสามารถกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสมได้

2) แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวที่ต่ำลงจากในอดีต มีนัยต่อการกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะข้างหน้า เนื่องจากเป้าหมายที่อยู่ในระดับสูงเกินไปอาจเป็นปัจจัยลดทอนความน่าเชื่อถือของนโยบาย และส่งผลให้นโยบายการเงินอาจต้องผ่อนคลายมากและนานเพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อจนอาจส่งผลลบต่อเสถียรภาพด้านอื่นๆ ได้

อย่างไรก็ดี แม้การปรับเป้าหมายนโยบายการเงินจะช่วยให้สอดคล้องกับพลวัตเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย แต่การลดเป้าหมายนโยบายการเงินเองก็มีต้นทุนต่อเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน โดยในระยะสั้น อาจทำให้ตลาดการเงินคาดการณ์ว่านโยบายการเงินจะลดการผ่อนคลายเร็วกว่าคาด เนื่องจากเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง สะท้อนว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายจะใช้เวลาสั้นลง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสามารถปรับขึ้นได้เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับเป้าหมายเดิม ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับเร็วขึ้นจะทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินและธนาคารพาณิชย์ปรับสูงขึ้นเร็ว และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้หากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่เข้มแข็งเต็มที่

เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่ำเกินไปยังส่งผลกระทบในระยะยาวอีกด้วย คือ เพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะเงินฝืด (ภาวะราคาสินค้าและบริการในประเทศปรับลดลงต่อเนื่อง) เนื่องจากการลดเป้าหมายเงินเฟ้อจะทำให้โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ใกล้ศูนย์มีมากขึ้น ซึ่งภาวะเงินฝืดนั้นมีความน่ากลัวไม่แพ้ภาวะเงินเฟ้อสูง เพราะสามารถส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงและยืดเยื้อได้ โดยความน่ากลัวของภาวะเงินฝืดคือระดับราคาสินค้าและบริการที่ลดลงต่อเนื่องทำให้ประชาชนชะลอการบริโภคออกไป รวมถึงบั่นทอนแรงจูงใจในการผลิตและการลงทุนของภาคเอกชน จนนำไปสู่ปัญหาการจ้างงานและการหดตัวของเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศ

นอกจากนี้ การปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อลงต่ำเกินไป จะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับดุลยภาพ (อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง ณ จุดที่เศรษฐกิจเติบโตตามศักยภาพและอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่เป้าหมายนโยบายการเงิน) ปรับลดลงตาม ซึ่งการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับดุลยภาพเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ดำเนินนโยบายต้องคำนึงถึง เนื่องจากโดยปกติแล้ว ธนาคารกลางไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจโดยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำกว่าศูนย์ได้ การที่ดอกเบี้ยนโยบายดุลยภาพปรับลดลง จึงส่งผลให้โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเข้าใกล้ศูนย์ (zero lower bound) มีมากขึ้น

ทำให้เมื่อเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคต ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) หรือการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในยามวิกฤติ จะมีข้อจำกัดมากขึ้น เปรียบเสมือนกับธนาคารกลางมีกระสุนเก็บไว้คอยป้องกันตัวเองยามเกิดวิกฤติลดลง เมื่อเทียบกับกรณีไม่ปรับลดเป้าหมายนโยบายการเงินนั่นเอง

ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของคณะกรรมการนโยบายการเงินในการพิจารณากำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินที่เหมาะสมในอนาคต ซึ่งต้องคำนึงถึงผลกระทบต่างๆ อย่างรอบคอบเพื่อให้นโยบายการเงินสามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ การเจริญเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนของเศรษฐกิจ

[1] เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อเพียงระยะเวลาหนึ่ง โดยผลจะค่อยๆ ลดลงเมื่อปัจจัยเหล่านั้นคลี่คลายหรือนโยบายการเงินมีการตอบสนองอย่างเหมาะสม

[2] การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะยาว

[3] การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย หากท่านผู้อ่านสนใจเนื้อหาเพิ่มเติมสามารถอ่านได้จากบทความ FAQ บนเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง จับชีพจรเงินเฟ้อไทย: ผลกระทบจากปัจจัยเชิงวัฏจักรและปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป