รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ในหนังสือชื่อ 21 Lessons for the 21st Century ผู้เขียน Yuval Noah Harari ที่โด่งดังจากหนังสือ Sapiens กล่าวว่า เราคาดคิดไม่ออกว่า ในปี 2050 สภาพการทำงานจะมีหน้าตาอย่างไร แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เครื่องจักรกลที่สามารถเรียนรู้ และหุ่นยนต์ จะเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานทุกประเภท ตั้งแต่การทำโยเกิร์ต ไปจนถึงการสอนการเล่นโยคะ
แต่ก็มีความเห็นที่ต่างกันเรื่องลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นเร็วขนาดไหน บางคนเชื่อว่า ภายใน 1-2 ทศวรรษนี้ การงานที่คนนับพันล้านคนกำลังทำอยู่อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป แต่มีคนอีกส่วนหนึ่งก็เห็นว่า ในระยะยาว ระบบอัตโนมัติจะสร้างงานแบบใหม่ขึ้นมา และจะนำความรุ่งเรืองมาสู่คนเราทุกคน อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องมีเหตุมีผลที่จะคาดการณ์ว่า พัฒนาการที่กำลังเกิดขึ้นในครั้งนี้ จะแตกต่างจากอดีต การที่เครื่องจักรกลมีความสามารถในการเรียนรู้จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง
สภาพงานที่เปลี่ยนไป

รายงานประจำปีของธนาคารโลก World Development Report ปี 2019 ที่จะพิมพ์ขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ ก็เป็นเรื่อง “สภาพที่เปลี่ยนไปของการทำงาน” (The Changing Nature of Working) รายงานกล่าวว่า สังคมมนุษย์วิตกกังวลมาตลอด ที่นวัตกรรมใหม่ๆ จะนำไปสู่การว่างงานอย่างกว้างขวาง ในประเทศมั่งคั่งและรายได้ปานกลาง งานด้านอุตสาหกรรมที่อาศัยแรงงานคน ได้ถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติ
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีลักษณะที่มีความสำคัญบางอย่าง เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้องค์กรธุรกิจสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว บริษัทธุรกิจแบบแพลตฟอร์มสามารถยกระดับจากธุรกิจสตาร์ทอัปในท้องถิ่นขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลก โดยมีพนักงานและสินทรัพย์ไม่มาก ธุรกิจแพลตฟอร์มสามารถขยายตลาดและเข้าถึงลูกค้าอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้เกิดลู่ทางโอกาสแก่ผู้ประกอบการจำนวนมากมาย แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้อยู่ในประเทศอุตสาหกรรม หรืออยู่ในพื้นที่การผลิตอุตสาหกรรม
เมื่อเทียบกับธุรกิจดั้งเดิม ธุรกิจแบบแพลตฟอร์มขยายตัวได้รวดเร็วและมีต้นทุนต่ำ บริษัท IKEA ของสวีเดนตั้งขึ้นในปี 1943 ใช้เวลา 30 ปีก่อนจะขยายธุรกิจไปทั่วยุโรป และใช้เวลา 70 ปีก่อนที่จะมียอดขาย 42 พันล้านดอลลาร์ แต่บริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง Alibaba ของจีน สามารถเข้าถึงลูกค้า 1 ล้านคน ภายใน 2 ปีแรก มีบริษัทผู้ผลิตสินค้าในเครือ 9 ล้านราย และมีรายได้ 700 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 15 ปี
สภาพที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ทำให้รัฐ บริษัทธุรกิจ และคนงาน ต้องหันมาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันแบบใหม่ เช่น บริษัทเดนมาร์กหันมาใช้เทคโนโลยี 3D เพื่อความได้เปรียบในการผลิตอุปกรณ์การฟัง รัฐบาลอินเดียลงทุนมากในสถาบันเทคโนโลยีทั่วประเทศ ทำให้อินเดียเป็นผู้นำด้านธุรกิจไฮเทค ส่วนเวียดนามกลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของโลก ทำให้คนงานเวียดนามมีโอกาสพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ
แม้จะสร้างโอกาสใหม่ๆ แต่เทคโนโลยีดิจิทัลก็ทำให้การดำเนินธุรกิจที่เป็นอยู่เกิดการชะงักงัน (disruption) ราคาเครื่องจักรกลที่ถูกลงทำให้เกิดความเสี่ยงที่ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาทำงานแทนคนงานที่ทักษะต่ำและเป็นงานแบบจำเจ การว่างงานที่เกิดจากเทคโนโลยีจึงสร้างความกังวลมาตลอดนับจากอดีต
World Development Report 2019 รายงานว่า ในช่วงการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ คนงานบางส่วนจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ บริษัท Foxconn Technology Group ในจีน สามารถลดคนงานลง 30% หลังจากนำหุ่นยนต์มาใช้ เมื่อหุ่นยนต์มีราคาถูกลง ผู้ผลิตจะเริ่มย้ายการผลิตมาอยู่ใกล้ตลาดมากขึ้น ปี 2017 บริษัท Adidas ย้ายโรงงานผลิตรองเท้า กลับมาเยอรมันและสหรัฐฯ โดยอาศัยเทคโนโลยี 3D Printing ทำให้โรงงานในเวียดนาม ลดคนงานได้กว่าหนึ่งพันคน
งานด้านบริการก็เสี่ยงต่อระบบอัตโนมัติ บริษัท Baidu ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน กำลังดำเนินการกับ King Long Motor Group เพื่อสร้างรถยนต์ไร้คนขับ ให้บริการในเขตนิคมอุตสาหกรรม นักวิเคราะห์การเงินก็กำลังประสบปัญหาการเลิกจ้าง Sberbank ธนาคารใหญ่สุดของรัสเซีย อาศัยปัญญาประดิษฐ์มาทำงานการอนุมัติเงินกู้ได้ถึง 35% และจะเพิ่มเป็น 70% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ฝ่ายกฎหมายของ Sberbank อาศัย “ทนายหุ่นยนต์” เข้ามาทำงานแทนนักกฎหมาย 3,000 คน ส่วนพนักงานประจำสำนักงาน จะลดจาก 59,000 คนในปี 2011 เหลือ 1,000 คนในปี 2021

สภาพธุรกิจที่เปลี่ยนไป
ในอดีต ธุรกิจดำเนินงานภายในกรอบพรมแดนของประเทศใดหนึ่ง และทำการผลิตทุกอย่างด้วยตัวเอง แต่ปัจจุบัน พรมแดนธุรกิจกว้างขวางมากขึ้น ข้อตกลงการค้าเสรีและต้นทุนของการค้าข้ามพรมแดนที่ลดลง ทำให้ธุรกิจหันไปซื้อชิ้นส่วนการผลิตจากแหล่งอื่นที่ต้นทุนถูกกว่า บริษัทฟอร์ดมอเตอร์เคยมีสวนยางพาราอยู่ในอเมริกาใต้ เพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานยางรถยนต์ของตัวเอง ทุกวันนี้ IKEA จัดหาผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ผ่านการประมูลออนไลน์ ผู้ผลิตทั่วโลก กลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกของ IKEA
ที่ผ่านมา ธุรกิจยักษ์ใหญ่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การเติบโตของประเทศกำลังพัฒนามาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ เพราะเป็นภาคธุรกิจที่รองรับแรงงานที่ออกจากภาคเกษตร บริษัทยักษ์ใหญ่เป็นคนบุกเบิกการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถทำการผลิตที่เกิดความประหยัดต่อหน่วย ทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากสินค้าราคาถูกลง การจ้างงานที่เป็นแบบทางการล้วนมาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งสิ้น
แต่ World Development Report 2019 กล่าวว่า ธุรกิจแพลตฟอร์มทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การค้าขายออนไลน์กำลังมาแทนที่บรรดาร้านค้าที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า เป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงลูกค้ากับธุรกิจแบรนด์เนมต่างๆ ทำให้แบรนด์เนมเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งสร้างรายได้แก่เจ้าของธุรกิจแพลตฟอร์ม บริษัท JD Finance ของจีน นำข้อมูลที่ได้จากการซื้อขายผ่าน platform มาสร้างโมเดลเพื่อประเมินการปล่อยเงินกู้
ธุรกิจแพลตฟอร์มเกิดขึ้นทุกประเทศในโลก และขยายตัวอย่างรวดเร็ว บริษัทการศึกษาของจีนชื่อ VIPKID ตั้งขึ้นในปี 2013 สามารถทำให้นักเรียนจีน 200,000 คน สามารถเรียนภาษาอังกฤษแบบตัวต่อตัวกับครูภาษาชาวอเมริกัน 30,000 คน บริษัทฟินเทค Ant Financial ในเครือของกลุ่ม Alibaba ใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้า ทำให้สามารถอนุมัติเงินกู้แก่ลูกค้าได้ใน 1 วินาทีนับจากที่ลูกค้าได้ยื่นเรื่องขอกู้เงิน โมเดลเงินกู้นี้เรียกว่า “3-1-0” คือ การยื่นเรื่อง 3 นาที การดำเนินงาน 1 วินาที และปิดเรื่อง 0 วินาที นับจากปี 2014 ผู้ประกอบการรายย่อยจีนได้รับเงินกู้ไปแล้ว 4 ล้านกว่าราย
ธุรกิจแพลตฟอร์มยังสร้างโอกาสธุรกิจทันทีทันใดให้กับผู้ประกอบการ นับจากปี 2009 บรรดาผู้ค้าปลีกออนไลน์รายย่อยของจีน ได้ไปเปิดร้านอยู่บน Taobao.com เกิดเป็นหมู่บ้านเรียกว่า Taobao Village พ่อค้าหมู่บ้านนี้จะผลิตสินค้าบริโภค สินค้าเกษตร และหัตถกรรม ที่ตัวเองมีความได้เปรียบ สร้างงานขึ้นมากกว่า 1.3 ล้านงาน และยังสามารถดึงคนหนุ่มสาวกลับมาบ้านเกิด เพื่อมาเริ่มต้นธุรกิจออนไลน

ทักษะที่อนาคตต้องการ
World Development Report 2019 รายงานว่า ธุรกรรมการผลิตแบบอัตโนมัติ ทำให้สภาพงานเปลี่ยนไป รวมทั้งทักษะที่งานในอนาคตมีความต้องการ ความต้องการทักษะที่เป็นความสามารถในการเรียนรู้ (cognitive skills) และทักษะด้านพฤติกรรมสังคม (socio-behavioral skills) จะมีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ความต้องการทักษะงานเฉพาะด้านที่แคบๆ จะลดน้อยลง ทักษะเรื่องความสามารถในการปรับตัวในการทำงานจะมีเพิ่มมากขึ้น งานในทุกด้านจะต้องการทักษะในการคิดวิเคราะห์กับการแก้ปัญหา และทักษะในการสร้างสรรค์และความตระตือรือร้น
ระบบอัตโนมัติจะทำให้งานบางอย่างล้าสมัยไป ในเวลาเดียวกัน นวัตกรรมก็ทำให้เกิดงานประเภทใหม่ขึ้นมา หนังสือ 21 Lessons for the 21st Century ยกตัวอย่างว่า อากาศยานไร้คนขับทำให้ไม่ต้องการนักบินอีกต่อไป แต่ปฏิบัติการของอากาศยานไร้คนขับ 1 ลำ เหนือน่านฟ้าประเทศซีเรีย กองทัพอากาศสหรัฐฯ ต้องอาศัยคนทำงาน 30 คน และอีก 80 คนเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล ในอินเดีย มีคนทำงานเป็นนักพัฒนาแอปพลิเคชัน 4 ล้านคน เมื่อ 30 ปีที่แล้วยังไม่มีงานประเภทนี้
ในอนาคต ทักษะของแรงงานแบบไหนที่ตลาดจะมีความต้องการน้อยลง ตัวอย่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วแสดงให้เห็นถึงการแบ่งขั้วของงาน งานที่ขยายตัวมากขึ้นคืองานที่ต้องการทักษะสูงและทักษะต่ำ ส่วนงานที่อาศัยทักษะระดับกลาง ความต้องการของตลาดจะลดน้อยลง ความต้องการแรงงานที่มีทักษะการเรียนรู้จะมีมากขึ้น เช่น การวิจัยระดับสูง หรือพนักงานเตรียมอาหาร ที่ระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่ได้ยาก ส่วนความต้องการงานปกติที่ทำตามขั้นตอน ใช้ทักษะระดับกลาง เช่น การป้อนข้อมูล จะลดลง เพราะหันไปใช้ระบบอัตโนมัติ
World Development Report 2019 กล่าวว่า การมีพื้นฐานทางทักษะถือเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาต่อยอดการสร้างทักษะด้านการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ และการปรับตัว สำหรับเด็กนักเรียน พื้นฐานทักษะดังกล่าวก่อรูปขึ้นมาในช่วงการเรียนระดับประถมและมัธยม แต่การสร้างพื้นฐานของทักษะดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในบรรดาโรงเรียนของประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง
นอกเหนือจากนี้ การทำให้แรงงานมีการปรับตัวด้านทักษะ ยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายนอกระบบการศึกษา และระบบการจ้างงานเป็นทางการ การพัฒนาทักษะให้กับแรงงาน ในสภาพที่งานเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้างทักษะใหม่ให้กับแรงงาน จึงเกี่ยวพันโดยตรงกับประเทศกำลังพัฒนา ที่ประชากรสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น
เอกสารประกอบ
World Development Report 2019, World Bank
21 Lessons for the 21st Century, Yuval Noah Harari, Vintage, 2018.