ThaiPublica > เกาะกระแส > Brexit หรือ Break It? : โค้งสุดท้ายสุดสะบักสบอมของ Brexit (3)

Brexit หรือ Break It? : โค้งสุดท้ายสุดสะบักสบอมของ Brexit (3)

16 กันยายน 2018


รายงานโดย สมชัย สุวรรณบรรณ-ลอนดอน

ที่มาภาพ : https://nationalinterest.org/feature/brexit-we-asked-18-worlds-leading-experts-what-happens-next-31217

ต่อจากตอนที่ 2

เมื่อครั้งที่ (อดีต) นายกรัฐมนตรี เดวิด แคเมอรอน แห่งสหราชอาณาจักร จัดประชามติให้ประชาชนตัดสินว่าจะยังเป็นสมาชิก หรือออกจากสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 2016 ผลปรากฏออกมาว่าผู้มีสิทธิออกเสียงสรุปรวมทั่วทั้งสหราชอาณาจักรประมาณ 51.9% ต้องการให้ถอนตัวออกจากอียู นั่นคือตัวเลขทั่วประเทศ แต่คะแนนเสียงในแคว้นไอร์แลนด์เหนือประมาณ 56% ต้องการให้คงอยู่กับอียูต่อไป เสียงส่วนน้อย 44% ต้องการให้ถอนตัวออก ตัวเลขนี้มีความหมายในเวลาต่อมา

หากชาวต่างชาติเช่ารถเที่ยวตระเวนเมื่องต่างๆ ในไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งของสหราชอาณาจักร แล้วขับรถข้ามพรมแดนลงใต้ไปเที่ยวสาธารณะรัฐไอร์แลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกอียูด้วยกัน จะไม่รู้เลยว่าเส้นแบ่งแดนอยู่ตรงไหน ไม่มีเส้นแบ่ง ไม่มีป้าย ไม่มีธง ไม่มีป้อมยาม ไม่มีด่านตรวจคนเข้าเมืองหรือศุลกากร หรือแม้กระทั่งโทรทัศน์วงจรปิด ซึ่งเมื่อก่อนถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการรักษาความมั่นคงระหว่างสองประเทศ สิ่งเดียวที่ทำให้รู้สึกว่าขับรถข้ามแดนเข้าอีกประเทศหนึ่งแล้วคือไอร์แลนด์ใช้เงินสกุลยูโร ไม่ใช้เงินปอนด์ ประชากรของทั้งสองประเทศเรียกได้ว่าผูกพันกันโดยสายเลือด ไปมาหาสู่กันเหมือนอยู่ในประเทศเดียวกัน

แต่ Brexit ทำให้การแบ่งเส้นเขตแดนไอร์แลนด์เหนือและสาธารณะรัฐไอร์แลนด์กลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมา ทั้งที่เงื่อนปมนี้ไม่เคยได้รับการสนใจมากนักระหว่างการรณรงค์ประชามติ

แม้ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีจอห์น เมเจอร์ และโทนี แบลร์ อดีตคู่ต่อสู้ทางการเมืองในอดีตหันมาจับมือกันออกโรงช่วยรณรงค์ให้กับฝ่ายที่ต้องการอยู่กับอียูต่อไป เพื่อรักษาสภาพเสมือนไร้พรมแดนของเกาะไอร์แลนด์ไว้ภายใต้ข้อตกลงสันติภาพ ยุติการสู้รบด้วยอาวุธของกลุ่มไออาร์เอและเสียเลือดเนื้อกันทั้งสองฝ่าย ที่เรียกกันว่า Good Friday Agreement ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1999 แต่เวลานั้น ก็ไม่ได้รับความสนใจจากผู้มีสิทธิออกเสียงส่วนใหญ่บนเกาะอังกฤษ ที่กำลังถูกปลุกเร้าอารมณ์แบบชาตินิยมระแวงคนต่างชาติ ที่รณรงค์กันว่าคนต่างชาติเข้าเมืองมาแย่งงาน แย่งสวัสดิการสังคมคนพื้นเมืองผิวขาวอังกฤษ เพราะการรวมตัวกันเป็นอียูที่ผ่านมา ต้องเปิดพรมแดนค้าขายโยกย้ายแรงงานได้อย่างเสรี

เงื่อนปมไอร์แลนด์เหนือ

ความขัดแย้งไอร์แลนด์เหนือมีมานานกว่าสามร้อยปี ชาวไอริชส่วนใหญ่ถือว่าแผ่นดินทั้งเกาะไอร์แลนด์เป็นของชาวไอริชซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก แต่อังกฤษในยุคล่าอาณานิคมได้สนับสนุนให้ผู้คนที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ เข้าไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ไอร์แลนด์ภาคเหนือเพื่อเข้าครอบครองแผ่นดิน กลายเป็นความขัดแย้งในหมู่ชุมชน ถึงขั้นจับอาวุธต่อสู้กันยาวนาน มีการตั้งหน่วยสู้รบด้วยอาวุธที่เรียกว่าไออาร์เอ Irish Republican Army (IRA) ใช้ความรุนแรงขับไล่ฝ่ายโปรเตสแตนต์ และเรียกร้องรวมประเทศไอร์แลนด์เป็นหนึ่งเดียว

รัฐบาลสหราชอาณาจักรหลายยุคสมัย ทั้งฝ่ายคอนเซอร์เวทีฟและเลเบอร์ พยายามหาข้อยุติด้วยการขอสนับสนุนจากหลายประเทศในสหประชาชาติ อียู และสหรัฐอเมริกา เล่นทั้งไม้แข็งไม้อ่อน จนสรุปข้อตกลงหยุดยิงและวางอาวุธเป็นข้อตกลงที่เรียกว่า Good Friday Agreement

  • ลงนามกันวันที่ 10 เมษายน 1998
  • ลงประชามติวันที่ 22 พฤษภาคม 1998 โดยฝ่ายสนับสนุนได้คะแนนเสียงสูงถืง 71% ฝ่ายคัดค้าน 28% มีผู้ใช้สิทธิทั่วแคว้นไอร์แลนด์เหนือ 81%
  • ข้อตกลงมีผลบังคับใช้ 2 ธันวาคม 1999
  • ในเวลาต่อมารัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ออกกฎหมายกระจายอำนาจการปกครองส่วนภูมิภาค มีการเลือกตั้งสภาบริหารไอร์แลนด์เหนือ ที่มีสมาชิกจากทางฝ่ายคาทอลิกและโปรเตสแตนต์แบ่งปันอำนาจบริหารแคว้นไอร์แลนด์เหนือร่วมกัน

    ผู้คนที่ไปลงประชามติถอนตัวจากอียู เพราะส่วนใหญ่เกิดความหวาดระแวงคนต่างชาติที่เข้ามาทำมาหากินในประเทศของตน แต่ไม่ตระหนักเลยว่าขณะนี้มีเพื่อนร่วมชาติของตนเข้าไปอยู่อาศัย ทำมาหากินในประเทศอียูกันนับล้านคน

    เมื่อกลางเดือนที่แล้วมีชาวอังกฤษที่อาศัยอย่างถาวรในฝรั่งเศส สเปน อิตาลี จำนวนหนึ่ง รวมตัวกันระดมเงินทุนเพื่อต่อสู้ทางกฎหมายฟ้องร้องต่อศาลขอให้การลงประชามติในเดือนมิถุนายน 2016 นั้นเป็นโมฆะ โดยอ้างคำตัดสินของคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง กกต. ของสหราชอาณาจักร ที่พบว่าหน่วยงานรณรงค์หาเสียงสนับสนุนโหวตให้ถอนตัวออก Leave Campaign หน่วยหนึ่ง ใช้เงินงบประมาณรณรงค์เกินกว่ากฎหมายกำหนด จึงมีคำสั่งปรับ และส่งเรื่องให้ตำรวจดำเนินคดี พวกเขาสรุปว่าการลงประชามติครั้งนั้นไม่ฟรี ไม่แฟร์ และผิดกฎหมาย ขอให้ศาลพิจารณาสั่งเป็นโมฆะ แล้วให้จัดลงประชามติใหม่ ขณะนี้ศาลก็ยังพิจารณาประเด็นการฟ้องร้องอยู่ ถ้าศาลรับไต่สวนแล้วตัดสินในผู้ร้องเรียนกลุ่มนี้เป็นฝ่ายชนะ ก็จะกลายเป็นการพลิกเกม Brexit แบบถล่มทลาย

    ประเด็นพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือและสาธารณะรัฐไอร์แลนด์ ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นหนามแหลมคมที่อาจจะทิ่มตำทำให้การเจรจากรอบรองรับความสัมพันธ์ Brexit ล้มทลายลง และอาจจะกลายเป็นเปลือกกล้วยที่ทำให้นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ สะดุดหลุดจากเก้าอี้ เพราะรัฐบาลมีเสียงหมิ่นเหม่บอบบางมาก พรรครัฐบาลมี ส.ส. ในสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่ง แต่ตั้งรัฐบาลได้ก็เพราะพรรคการเมืองขนาดเล็กของแคว้นไอร์แลนด์เหนือ Democratic Unionist Party (DUP) ซึ่งมี 11 เสียง มาร่วมเป็นรัฐบาลผสมแบบหลวมๆ ค้ำเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอยู่ และนักการเมืองส่วนใหญ่ในสภาปกครองไอร์แลนด์เหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Sinn Fein ที่เคยใกล้ชิดกับไออาร์เอ ยังไม่ลดละความตั้งใจที่จะรวมประเทศไอร์แลนด์ พวกเขาไม่ต้องการให้มีการตั้งพรมแดนแบบเข้มงวด Hard Border ระหว่างสองประเทศ

    พลันที่สหราชอาณาจักรจะแยกตัวออกจากระบบการค้าเสรีภายในอียู สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการตั้งพรมแดนภาษีระหว่างกัน และไอร์แลนด์เหนือเป็นดินแดนเดียวของสหราชอาณาจักรที่มีพรมแดนทางบกติดต่อกับประเทศในกลุ่มอียู คือสาธารณรัฐไอร์แลนด์

    นักการเมืองในไอร์แลนด์เหนือตระหนักดีว่า ถ้ามีการตั้งพรมแดนแบบเข้มงวดขึ้นมาเมื่อใด ประชาชนทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้จะไม่พอใจ คะแนนเสียงของพวกเขาจะตกลงเพราะมีการเสียเลือดเนื้อกันมากในความขัดแย้งที่ยาวนานนับร้อยปี ต่อมาเมื่อมีข้อตกลงสันติภาพ เศรษฐกิจการค้าเติบโต ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นมากภายในร่มเงาของอียู หากถอนตัวจากอียู แล้วมีด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร แบ่งพรมแดนกัน ทำให้การทำมาหากินฝืดเคือง ความขัดแย้งและความรุนแรงก็อาจจะประทุขึ้นมาอีก กระแสของฝ่ายชาตินิยมที่ต้องการรวมประเทศไอร์แลนด์ ก็อาจจะกลับมาหลอกหลอนรัฐบาลที่ลอนดอนอีก

    มองไปข้างหน้าก็จะเกิดคำถามว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ทำไม Brexit นำไปสู่ Break It ดังนั้น ประเด็นการตั้งพรมแดนภาษีระหว่างไอร์แลนด์เหนือและสาธารณะรัฐไอร์แลนด์จึงเป็นหนามที่แหลมคม และเป็นอุปสรรคสำคัญของทีมงานนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์

    ร่างข้อเสนอ Chequers Proposal มีแนวทางแก้ปัญหาการค้าขายผ่านแดนไอร์แลนด์เหนืออยู่บ้าง แต่ก็ออกจะซับซ้อน ทางด้านฝ่ายเหยี่ยวภายในพรรครัฐบาลที่ตั้งป้อมจะคว่ำข้อเสนอนี้ก็ไม่คิดจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องพรมแดนไอร์แลนด์เหนือ ยืนยันหัวชนฝาจะถอนตัวออกจากกรอบความร่วมมือทุกรูปแบบถ้ายังคงเปิดพรมแดนเสรีให้มีการโยกย้ายแรงงาน

    ทางฝ่ายอียูก็ถือว่าเป็นหลักการที่ยอมไม่ใด้ หากนางเทเรซา เมย์ ยังอยากได้ประโยชน์จากการค้าเสรีตลาดร่วมยุโรป ก็ต้องยอมให้แรงงานหมุนเวียนเข้าออกได้เสรีเช่นกัน

    ที่มาภาพ : https://www.sfgate.com/world/article/Port-operators-dread-chaos-if-Brexit-talks-fail-13218480.php

    ความสับสนวุ่นวายที่บานปลายมาถึงวันนี้ เกิดขึ้นเพราะการประเมินกระแสการเมืองผิดพลาดทับซ้อนกันสองครั้ง เริ่มจากนายเดวิด แคเมอรอน ประกาศจัดลงประชามติว่าสหราชอาณาจักรจะถอนตัวออกจากอียูหรือไม่ โดยยังไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด เพียงแต่หลงตัวเองว่าคะแนนเสียงกำลังดี เพราะเพิ่งชนะเลือกตั้งทั่วไปมาปีกว่าและสามารถนำพรรคชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ได้ ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งตั้งรัฐบาลพรรคเดียว แต่ผิดคาดโดยสิ้นเชิง เมื่อแพ้ประชามติ Brexit ต้องพิจารณาตัวเองขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเวลาต่อมาลาออกจาก ส.ส. ด้วย

    เช่นกันกับนางเทเรซา เมย์ เมื่อได้ตำแหน่งหัวหน้าพรรคขึ้นมาแทนนายแคเมอรอน ผ่านระบบการสรรหาภายในพรรคด้วยคะแนนเสียงที่เด็ดขาด บริหารประเทศได้ปีกว่า ก็ประกาศยุบสภากลางสมัย เพราะมีการจัดทำโพลที่ระบุว่าคะแนนเสียงพรรครัฐบาลกำลังดี และพรรคเลเบอร์กำลังตบตีโค่นล้มกันเองภายในพรรค นางเทเรซา เมย์ คาดหวังจะชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย แต่ปรากฏว่าโพลพลิกอีก พรรคคอนเซอร์เวทีฟได้จำนวน ส.ส. น้อยกว่าเดิมไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ต้องบากหน้าไปขอพรรคเล็กๆ มาช่วยตั้งเป็นรัฐบาลผสม และนี่ก็เป็นจุดอ่อนในประเด็นปัญหาความเป็นผู้นำของหัวพรรครัฐบาล ที่ทำให้มี ส.ส. ชื่อดังบางคนอยากลองของ

    เมื่อใดก็ตามที่มีข่าวเรื่องการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ นายบอริส จอห์นสัน (ศิษย์เก่า อีตัน-ออกซ์ฟอร์ด รุ่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมตนรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ก็จะโผล่ขึ้นมาทันที เมื่อตอนที่ประธานาธิปดีโดนัล ทรัมป์ มาเยือนสหราชอาณาจักรต้นปีนี้ ก็เผลอพูดกับนักข่าวอังกฤษว่า นายบอริสจะเป็นนายกฯ ของสหราชอาณาจักรที่เข้มแข็งโดดเด่นกว่านางเทเรซา เมย์ ทำให้เจ้าภาพต้อนรับการเยือนอย่างเฝื่อนๆ

    ด้วยลีลาโวหารที่จัดจ้านได้ใจมวลชนรากหญ้าฝ่ายขวา มีสีสันทั้งทางการเมืองและพฤติกรรมในชีวิตส่วนตัว ปล่อยมุกเฮฮาได้ตลอด เรียกความสนใจจากสื่อมวลชนได้อยู่เสมอ เพราะมีประสบการณ์ในอดีตเคยเป็นนักข่าวนักวิเคราะห์การเมืองในหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ ก่อนสมัคร ส.ส. และเคยชนะเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการลอนดอนถึงสองสมัย แล้วกลับมาลงสนามการเมืองในสภาสามัญชนที่เวสต์มินสเตอร์อีกครั้ง จนได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลเทเรซา เมย์ แต่ต่อมาประกาศลาออกเพื่อประท้วง Chequers Proposal แล้วตั้งป้อมเขย่าเก้าอี้หัวหน้าพรรค

    ทำให้อุณหภูมิการเมืองที่ลอนดอนร้อนแรงขึ้นมาทันที