ThaiPublica > เกาะกระแส > Brexit หรือ Break It? -โค้งสุดท้ายสุดสะบักสบอมของเบรกซิต (1 )

Brexit หรือ Break It? -โค้งสุดท้ายสุดสะบักสบอมของเบรกซิต (1 )

7 กันยายน 2018


รายงานโดย สมชัย สุวรรณบรรณ – ลอนดอน

ที่มาภาพ:
https://theconversation.com/brexit-here-are-the-barriers-to-a-referendum-on-the-final-deal-100109

ยุโรปสัปดาห์ต้นเดือนนี้สิ้นสุดฤดูร้อนแล้ว อากาศเริ่มหนาวเย็นลงตามลำดับ ใบไม้เปลี่ยนเป็นสีทองเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง แต่อุณหภูมิทางการเมืองกลับทวีความร้อนแรงมากขึ้น หลังจากบรรดานักการเมืองทยอยกันกลับสู่ลอนดอนเพื่อเข้าประชุมสมัยสามัญของสภาสามัญชน (สภาผู้แทนฯ) ที่เวสต์มินสเตอร์ และมีเค้าว่าอุณหภูมิการเมืองของสหราชอาณาจักรจะทวีความร้อนแรงมากขึ้นไปจนถึงปลายปี เนื่องจากมีการปล่อยข่าวลือกันว่าอาจจะมีการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรครัฐบาลก่อนสิ้นปีนี้

กระบวนการเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักร (UK) และสหภาพยุโรป (EU) ที่จะแยกตัวออกจากกัน ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า Brexit ก็มาถึงโค้งสุดท้าย ตามกำหนดเวลาที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรต้องยื่นร่างข้อเสนอโครงกรอบความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย แต่การเมืองภายในพรรครัฐบาลเอง และพลวัตของการเมืองภาพรวมในประเทศ กำลังชี้ให้เห็นความยุ่งเหยิง ที่อาจจะกระเทือนไปถึงการขอแยกประเทศของไอร์แลนด์เหนือ เพราะปัญหาการตั้งพรมแดนแบบ Hard Border ระหว่างสาธารณรัฐไอร์แลนด์ กับสหราชอาณาจักรหลังการแยกตัวจากอียูโดยสมบูรณ์

กำหนดวันสำคัญ

  • 20 กันยายน ประชุมสุดยอดผู้นำอียู ที่เมืองซาลซ์บูร์ก ออสเตรีย นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ยื่นร่างข้อเสนอ Brexit
  • 30 กันยายน ประชุมใหญ่พรรคคอนเซอร์เวทีฟ (จับตาความขัดแย้งภายในพรรค)
  • 18 ตุลาคม ผู้นำอียูประชุมภายใน ทบทวนร่างข้อเสนอ Brexit จากสหราชอาณาจักร
  • 31 ตุลาคม กำหนดสรุปผลการเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียู เพื่อทำเป็นข้อตกลงให้ผู้นำรัฐบาลอียู 27 ประเทศลงนามสนับสนุน แล้วให้สภาของแต่ละประเทศให้สัตยาบัน
  • 29 มีนาคม 2019 สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสมาชิกภาพของอียู อย่างเป็นทางการ และเริ่มเข้าสู่ห้วงเวลาการเปลี่ยนผ่าน จนถึง 31 ธันวาคม 2020
  • 1 มกราคม 2021 สหราชอาณาจักรหมดสมาชิกภาพอียูโดยสมบูรณ์

ความยุ่งยากกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของนายกรัฐมนตรีเมย์ก็คือ ส.ส. พรรครัฐบาลแตกเป็นสองเสี่ยง และดูเหมือนฝ่ายเหยี่ยวที่เรียกกันว่า Hard Brexiteers ซึ่งต้องการถอนรากถอนโคนออกจากอียู กำลังเล่นแรง ขนาดปล่อยข่าวออกมาว่าอาจจะเปิดตัว Leadership Contest ขอให้มีการเปลี่ยนตัวผู้นำพรรค (คือตัวนายกรัฐมนตรี) ในที่ประชุมใหญ่ประจำปีพรรครัฐบาลปลายเดือนกันยายน หากไม่มีการปรับแก้ กรอบการเจรจาที่เรียกว่า Chequers Proposal ในกลุ่มนี้มีนายบอริส จอห์นสัน ผู้ที่ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นหัวหอกในการเขย่าเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ในกลุ่มนี้ยังมี นายเดวิด เดวีย์ ที่ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีหัวหน้าคณะเจรจา Brexit รวมอยู่ด้วย ทั้งสองไม่พอใจมติคณะรัฐมนตรีจากการประชุมที่บ้านพักตากอากาศประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เรียกว่าบ้าน Chequers กลุ่มนี้อ้างว่ารวบรวมเสียง ส.ส. ได้มากกว่า 60 เสียงร่วมกับฝ่ายค้านจะคว่ำร่างกฎหมายของรัฐบาล

Brexit Jargon:

No Deal หมายถึงถอนตัวออกจากอียูแบบถอนรากถอนโคน ไม่มีข้อตกลงกรอบความสัมพันธ์ทางการค้าใดๆ รองรับหลังถอนตัว

Hard Brexit หมายถึงการถอนตัวออกจากอียูโดยมีข้อตกลงความสัมพันธ์หลงเหลืออยู่บ้าง แต่ละทิ้งกฎระเบียบหลักๆ ที่ให้ความสะดวกทางการค้า บริการ และโยกย้ายแรงงาน ทั้งหมดโดยเฉพาะอำนาจทางศาล

Soft Brexit หมายถึงการถอนตัวแค่เพียงบางส่วนแต่ยังใช้กฎระเบียบทางภาษีศุลกากรร่วมกัน ถือว่ายังเป็นสมาชิกของตลาดร่วมยุโรป และยังให้ประชากรอียูและสหราชอาณาจักรโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่กินประกอบอาชีพในประเทศสมาชิกได้

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นพวก Soft Brexiteers กลุ่มนี้สนับสนุนข้อเสนอ Chequers Proposal ที่ยังคงมีการรักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในหลายระดับกับอียูแม้ว่าจะถอนตัวออกมาแล้วก็ตาม ในกลุ่มนี้มี

ส.ส. บางคนที่เคยรณรงค์ประชามติให้อยู่กับอียูต่อไป และกำลังเคลื่อนไหวขอให้รัฐบาลจัดให้มีการลงประชามติอีกครั้งเนื่องจากข้อเท็จจริงและตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ทยอยกันออกมา พยากรณ์ว่าประชาชนในประเทศอาจจะยากจนลงโดยรวมอย่างน้อยก็ในระยะปานกลางเมื่อถอนตัวออกจากอียู ประเทศชาติจะไม่ไพบูลย์อย่างที่เคยเป็นมา เมื่อมีข้อมูลใหม่ออกมาก็ควรให้ประชาชนตัดสินใจกันใหม่ แต่นางเทเรซา เมย์ ประกาศแข็งขันเมื่อตอนต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่าการลงประชามติผ่านพ้นไปแล้ว มีการใช้สิทธิใช้เสียงตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว จะเป็นการทรยศต่อเสียงส่วนใหญ่ถ้าจัดให้โหวตกันใหม่

ส่วนทางด้านพรรคเลเบอร์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านนั้น ก็แตกแยกเป็นสองฝ่ายเช่นกัน มีทั้ง ส.ส. ที่อยากแยกตัวและไม่อยากแยกตัวจากอียู การแสดงท่าทีของพรรคเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ไม่ชัดเจนมากนัก ตัวหัวหน้าพรรคเอง นายเจเรมี คอร์บิน มีท่าทีว่าไม่ต้องการประชามติครั้งที่สองและสนับสนุน Soft Brexit แต่ ส.ส. ระดับหัวแถวหลายคนต้องการให้ลงประชามติกันใหม่ ในขณะที่การเมืองภายในพรรคเลเบอร์ ก็ร้อนแรงไม่น้อยเช่นกัน เพราะมีความพยายามที่จะเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคเช่นกัน ในประเด็นที่หัวหน้าพรรควางตัวเป็นปรปักษ์กับนโยบายของรัฐบาลอิสราเอลที่ปราบปรามปาเลสไตน์อย่างรุนแรง

กระแสการเมืองที่เชี่ยวกรากและเวลาการเจรจาต่อรองที่งวดเข้าถึงโค้งสุดท้ายนี้ ทำให้เกิดภาวะความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ ลังคม หากว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรต้องถอนตัวออกจากอียูแบบตกลงอะไรกันไม่ได้ที่เรียกว่า No Deal Brexit คือการแยกออกมาแบบไม่มีกรอบความสัมพันธ์ใดๆ เลย ซึ่งถือว่าเป็นฝันร้ายของประชาชนทั้งในสหราชอาณาจักรและประชาคมยุโรป รัฐบาลของนางเทเรซา เมย์ ก็ไม่นิ่งนอนใจ เริ่มใช้ยุทธวิทีปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation) ตีพิมพ์ประกาศแนวทางเตือนประชาชนและภาคธุรกิจเอกชน หากสหราชอาณาจักรต้องถอนตัวออกจากอียูโดยเจรจาตกลงกันไม่ได้ ชีวิตความเป็นอยู่และการติดต่อทำธุรกิจใดๆ กับประเทศในอียูจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เพราะความเคยชินที่ต่อเนื่องกันมากว่าสี่สิบปี จะเปลี่ยนไปอย่างไม่ตั้งเนื้อตั้งตัว เรียกกันว่าเตรียมตัวรับมือกับ worst case scenario ยกตัวอย่างเช่น

  • การตั้งด่านตรวจคนเข้าเมือง จะต้องมีวีซ่าหรือไม่

  • การตั้งด่านตรวจศุลกากรการขนส่งสินค้าเรียกเก็บภาษีที่ขนส่งผ่านแดนทางบก ทางทะเล ทางอากาศ

  • ราคาสินค้าหลายอย่างจะเปลี่ยนไป มีแนวโน้มสูงขึ้น

  • เวชภัณฑ์บางอย่างที่ผลิตในอียูและต้องใช้ประจำ ควรจะต้องมีการสั่งสะสมสต็อกไว้

  • การใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งไม่เคยคิดค่าโรมมิ่งทั่วกลุ่มอียู บัดนี้ใครใช้ซิมมือถือจากสหราชอาณาจักรจะต้องถูกคิดค่าโรมมิ่ง

  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และการใช้บัตรเครดิต ที่ใช้ในอียู จะเรีมมีการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่ม

  • การรักษาพยายาบาลขั้นพื้นฐานที่ฟรีทั่วอียู จะไม่ฟรีอีกต่อไป

  • ธุรกิจอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนในสหราชอาณาจักร ควรหาช่องทางเปิดสำนักงานในประเทศอียู

  • ฯลฯ

ในขณะเดียวกัน สื่อมวลชนหลายแขนงก็เริ่มเผยแพร่ข้อมูลเปรียบเทียบออกมาเป็นระลอกๆ ปัญหาหลากหลายที่จะเกิดขึ้นหลังหย่าขาดออกจากกัน สื่อที่เลือกข้างก็ขยายผลข้อมูลต่างๆ ที่เปิดเผยออกมาจากโต๊ะเจรจาของผู้แทนทั้งสองฝ่าย มีข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้นกว่าตอนที่โฆษณาชวนเชี่อกันเมื่อตอนหาเสียงลงประชามติ เป็นข้อมูลที่ประชาชนชาวสหราชอาณาจักรจำนวนมากไม่เคยรู้มาก่อน สื่อสาธารณะแบบบีบีซีก็จัดรายการผลิตสารคดีออกเป็นชุดๆ กระจายตาม platforms ต่างๆ เพื่อบอกประชาชนว่า Brexit ไม่ใช่เรื่องของการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นวิถีชีวิตประจำวัน จะต้องให้ข้อมูลรอบด้านมากที่สุดเพื่อประชาชนจะได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ ไม่ว่าจะทำข้อตกลงกันได้หรือไม่ก็ตาม

ตลอดช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา โรงเรียนสถาบันการศึกษาหยุดเทอม นักธุรกิจ นักการเมืองส่วนใหญ่หยุดพักร้อน แต่นักการเมืองแถวหน้าของพรรครัฐบาลสหราชอาณาจักรและคู่เจรจาในอียูไม่ได้หยุดพักผ่อน ตัวนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ วิ่งเต้นเข้าพบนายเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ที่มีมิตรไมตรีมากกว่าผู้นำอียูคนอื่นๆ เพื่อล็อบบี้ขอแรงสนับสนุน และมีเค้าว่านายมาครงจะใจอ่อน ขณะเดียวกันก็เดินทางตระเวนหลายประเทศในแอฟริกา เพื่อปูทางทำข้อตกลงการค้าหลังถอนตัวจากอียู

โค้งสุดท้ายสุดสะบักสะบอมของ Brexit ตอนต่อไป จะพิจารณาว่าห่วงยางชูชีพที่นายมาครงโยนลงน้ำให้นางเทเรซา เมย์ ที่ลอยคออยู่ท่ามกลางฉลามร้าย จะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน