ThaiPublica > เกาะกระแส > Brexit หรือ Break It? :โค้งสุดท้ายสุดสะบักสบอมของ Brexit (ตอน2)

Brexit หรือ Break It? :โค้งสุดท้ายสุดสะบักสบอมของ Brexit (ตอน2)

13 กันยายน 2018


รายงานโดย สมชัย สุวรรณบรรณ – ลอนดอน

ที่มาภาพ : https://www.huffingtonpost.co.uk

  • ต่อจากตอนที่1:Brexit หรือ Break It? -โค้งสุดท้ายสุดสะบักสบอมของเบรกซิต (1)
  • กระบวนการเจรจาวางกรอบความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและประชาคมยุโรป (อียู) ที่เรียกสั้นๆ ว่า การเจรจากรอบ Brexit มาถึงโค้งสุดท้ายอย่างทุกข์ทรมานทั้งสองฝ่าย และยิ่งเวลางวดเข้าเหลือเพียงไม่กี่เดือน ก่อนที่จะต้องตัดสินใจลงมติกัน ความยุ่งยากยิ่งทวีความขัดแย้ง และดูเหมือนจะบานปลายแตกออกไปหลายมุม

    ที่ปะทะกันรุนแรงมากเห็นจะได้แก่การเปิดตัวออกสื่อระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ภายในพรรครัฐบาล ที่ออกมาถล่มกันเรื่องปมความขัดแย้งในเนื้อหาโครงร่างการจัดความสัมพันธ์หลังแยกตัวที่เรียกว่า Chequers Proposal รัฐมนตรีสองคนที่แพ้โหวตมติคณะรัฐมนตรีข้อเสนอนี้ประกาศลาออกทันทีและตั้งป้อมขัดขวางทุกเม็ด แต่ดูเหมือนนางเทเรซา เมย์ จะเอาศักดิ์ศรีนายกรัฐมตรีเป็นเดิมพัน สั่งให้ทีมงานที่ทำเนียบออกมาปะทะตอบโต้อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ บอริส จอห์นสัน ที่ประธานาธิปดีทรัมป์เคยมายกก้นว่าน่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่เก่งกาจสามารถมากกว่าเทเรซา เมย์

    แต่ยังมีมุมที่หลายฝ่ายแม้ผู้คนในประเทศที่ไปออกเสียงโหวตให้ออกจากอียูก็คาดไม่ถึง คือ ปัญหาชายแดนสหราชอาณาจักร ที่ภูมิภาคไอร์แลนด์เหนือกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ด้านใต้ที่เป็นสมาชิกที่เหนียวแน่นของอียู ในคราวที่ลงประชามติ เสียงของผู้ที่ต้องการอยู่กับอียูในไอร์แลนด์เหนือมีมากกว่าเสียงของฝ่ายที่ต้องการถอนตัวออก เนื่องจากความสัมพันธ์ที่โยงใยใกล้ชิดของประชาชนไอริช

    แต่มุมที่กำลังจะเปิดแผลภายในอียู ก็คือความคิดเห็นที่เริ่มมีรอยปริแตกในหมูแกนนำอียู เรื่องจะรับมือกับข้อเสนอ Chequers Proposal อย่างไรดี สายเหยี่ยวมองว่าข้อเสนอนี้อาจจะเป็นตัวอย่างไม่ดี ทำให้สมาชิกบางประเทศเอาเยี่ยงอย่าง ขอถอนตัวออกบ้างและใช้โมเดลนี้เพื่อรักษาส่วนที่ตัวได้ประโยชน์ไว้ ทิ้งเงื่อนใขที่ตัวเองไม่ได้ประโยชน์ไป ถ้าสมาชิกหลายๆ ประเทศเอาเยี่ยงอย่างแบบนี้ ท้ายที่สุดสมาชิกก็ค่อยๆ ทยอยกันถอนตัวกันหมด ทำให้อียูแตกสลาย

    นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ประเมินแล้วว่าสายเหยี่ยวในอียูคงไม่ยอมรับ Chequers Proposal แน่นอน ดังนั้น เมื่อตอนต้นเดือนที่แล้ว นางจึงนัดคุยตัวต่อตัวกับประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ที่ฝรั่งเศส เพราะเป็นผู้นำคนเดียวของอียู ที่มีสายสัมพันธ์ที่หวานชื่นกันมากกว่าคนอื่นๆ นางเทเรซา เมย์ ตระหนักดีว่า แองเจลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมันมีท่าทีแข็งกร้าวมาตลอด คงมีแต่นายมาครงที่น่าจะหว่านล้อมได้ง่ายกว่า

    ทั้งนี้ ต้องมองย้อนกลับไประหว่างหาเสียงเลือกตั้งในฝรั่งเศส นายมาครงเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวที่ขอมาพบขอคำแนะนำจากนางเทเรซา เมย์ ที่ลอนดอน เวลานั้นไม่มีใครเชี่อว่านักการเมืองหนุ่มหน้าใหม่ไม่มีใครรู้จักคนนี้จะสร้างความแปลกใจไปทั่วโลก เมื่อเขาชนะเลือกตั้งขึ้นเป็นผู้นำฝรั่งเศสได้ในเวลาต่อมา และนำลูกพรรคชนะการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาได้อย่างล้นหลาม ทำให้บารมีของประธานาธิปดีมาครงแน่นหนามากขึ้น เพราะเขาวางตัวจะเป็นผู้นำยุโรป ต่อจากนางแมร์เคิลที่กำลังโรยรา

    Chequers Proposal

    ข้อเสนอที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีของนางเทเรซา เมย์ เพื่อเป็นกรอบในการเจรจาต่อรองของฝ่ายสหราชอาณาจักร หากเจรจากันได้ข้อสรุป ก็จะเป็นพื้นฐานที่จะนำไปทำข้อตกลงถาวรแล้วนำไปให้ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศรับรองลงสัตยาบันภายในสองเดือนข้างหน้านี้ แต่ข้อเสนอนี้ไม่ถูกใจแกนนำพรรครัฐบาลหลายคนที่ตั้งป้อมจะคว่ำ กล่าวหาว่ายอมอ่อนข้อให้ฝ่ายอียูมากเกินไป

    • สหราชอาณาจักรจะกำหนดระเบียบค้าขาย และมาตรฐานของสินค้า ให้สอดคล้องกับระเบียบ มาตรฐานของอียู รวมทั้งสินค้าเกษตร
    • จะมีการทำสนธิสัญญาผูกพันสหราชอาณาจักรให้สร้างความเชื่อมโยงสอดคล้องกับระเบียบการค้าและมาตรฐานสินค้า ที่อียูจะกำหนดออกมาภายหลัง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องทางด้านการค้า หลีกเลี่ยงอุปสรรค ที่จะสร้างความชักช้าในการขนส่งสินค้าผ่านแดน รวมทั้งพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์
    • รัฐสภาของสหราชอาณาจักรจะกำกับดูแลนโยบายทางด้านการค้า และอาจจะขอคัดเลือกไม่รับรองกฎระเบียบบางข้อบางประเด็นของอียูได้ แม้ว่าจะมีผลกระทบติดตามมา
    • จะมีการวางกรอบความร่วมมือกัน ระหว่างหน่วยงานป้องกันการผูกขาดของสหราชอาณาจักรและอียู
    • สหราชอาณาจักรจะวางแนวทางใหม่สำหรับธุรกิจภาคบริการ หากว่ามีความจำเป็นต้องยืดหยุ่นในการกำกับดูแลธุรกิจภาคนี้ เพื่อประโยชน์ของประเทศ
    • จะมีการจัดตั้งสถาบันทางกฎหมายร่วมกัน เพื่อตีความข้อกฎหมายของทั้งสองฝ่าย
    • พรมแดนระหว่างสหราชอาณาจักรกับ อียู จะถือว่าเป็น -พรมแดนร่วม- สหราชอาณาจักรจะเรียกเก็บภาษีศุลกากร UK Tariffs สำหรับสินค้าที่ส่งเข้าขายปลายทางที่สหราชอาณาจักร แต่เรียกเก็บภาษี EU Tariffs สำหรับสินค้าที่ลูกค้าปลายทางอยู่ในอียู
    • สหราชอาณาจักรจะกำหนดอัตราภาษีศุลกากร ค้าขายกับประเทศทั่วโลกได้เอง โดยไม่ต้องใช้อัตราของอียู อีกต่อไป
    • สหราชอาณาจักรจะได้อำนาจคืนจากอียูในการกำหนดระเบียบควบคุมคนเข้าเมือง แต่จะมีการวางกรอบกำหนดเงื่อนใขให้ประชากรของทั้งสองฝ่าย เคลื่อนย้ายผ่านแดนกันได้ เพื่อศึกษาเล่าเรียนและทำงาน

    ร่างข้อเสนอ Chequers Proposal นี้เรียกว่าเป็นชัยชนะของฝ่าย Soft Brexit ในทีมรัฐมนตรีของเทเรซา เมย์ เพราะคิดว่าเป็นทางออกที่จะกระทบกระเทือนต่อระบบเศรษฐกิจน้อยที่สุด แต่กลายเป็นการเปิดแผลภายในพรรครัฐบาลด้วยกัน และมีการอ้างคำพูดของนายมิเชล บาร์นีเอร์ หัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายอียูว่า ข้อตกลงนี้เป็น -เป็ดตายกลางน้ำ- ไปแล้ว เพราะในความรู้สึกของฝ่ายคู่เจรจาในอียูมองท่าทีของรัฐบาลอังกฤษดูเหมือนจะเอาแต่ที่ตัวเองได้ประโยชน์ ส่วนใดที่ไม่ได้ประโยชน์หรือทำให้เสียคะแนนเสียงทางการเมืองก็จะโยนทิ้งไป ทั้งนี้เป็นที่ยอมรับกันมานานแล้วว่า การรวมตัวเป็นประชาคมยุโรปประเทศสมาชิกจะมีได้ มีเสีย ต้องยอมรับกันทั้งแพ็กเกจ จะเลือกจิ้มเอาเฉพาะที่ได้ประโยชน์ไม่ได้ ถ้าสมาชิกทุกคนทำแบบนี้ประชาคมก็ล่มสลายแน่นอน

    ดูเหมือนว่าทั้งสองฝ่ายกำลังเล่นหมากรุกกัน และต่างก็ปล่อยข่าวบลัฟกันมาตลอด แม้ว่าโดยแท้แล้วไม่มีใครต้องการให้เกิดสภาพ No Deal เมื่อถึงกำหนดแยกตัวเดือนมีนาคมปีหน้า จะเสียหายยับเยินกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายเหยี่ยวของอียูก็คงไม่ปล่อยให้สหราชอาณาจักรถอนตัวออกไปแบบลอยนวลโดยไม่มีบาดแผลติดตัวไป เพราะจะเป็นเยี่ยงอย่างให้สมาชิกบางประเทศเอาอย่างกลายเป็นจุดล่มสลายของอียู อย่างที่นายมิเชล บาร์นีเอร์ วาดสถานการณ์ไว้

    ทางฝ่ายรัฐมนตรีบางคนที่กรุงลอนดอนก็เลยออกมาพูดดักคอไว้ว่า ถ้าบรัสเซลล์เล่นไม้แข็งไม่ประนีประนอมจนเกิดสถานการณ์ No Deal ก็เท่ากับเป็นการละเมิดสนธิสัญญาลิสบอน ที่มาตรา 8 ระบุว่า –อียูจะต้องพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีจุดมุ่งหมายยกระดับให้เป็นภูมิภาคที่มีความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจและเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน บนพื้นฐานของค่านิยมของสหภาพยุโรป มีความใกล้ชิดร่วมมือกันสร้างสันติภาพร่วมกัน–

    นางเทเรซา เมย์ มีความร้อนใจมากขึ้นตามลำดับ เมื่อลูกพรรคเปิดศึกฟาดปากออกสื่อกัน และฝ่ายคู่เจรจาก็ดูแข็งกร้าวไม่ค่อยเป็นมิตร เมื่อต้นเดือนที่แล้วก็เลยส่งคนสนิทออกไปตระเวนหัวเมืองหลายประเทศอียู วิ่งล็อบบี้ขอแรงสนับสนุนหลักการในแผน Chequers Proposal ของเธอ ส่วนตัวเองก็ขอนัดเจอประธานาธิบดีมาครงแบบสองต่อสอง ที่บ้านพักฤดูร้อนของผู้นำฝรั่งเศส

    เหมือนอัศวินขี่ม้าขาวข้ามช่องแคบมา เมื่อปลายเดือนสิงหาคมก็มีข่าวคึกโครมในสื่ออังกฤษ พาดหัวว่านายมาครงเรียกร้องให้ผู้นำอียูประนีประนอมทำข้อตกลงรัฐบาลสหราชอาณาจักร แม้ในข่าวไม่ได้ระบุชัดว่านายมาครงสนับสนุนกรอบ Chequers Proposal ในประเด็นใดบ้าง แต่ก็เรียกได้ว่าได้โยนห่วงยางชูชีพมาให้เทเรชา เมย์ แล้ว

    แหล่งข่าวที่ทำเนียบอลิเซต์ในปารีส ให้ข่าวกับสื่อดังของอังกฤษว่า นายมาครงจะใช้โอกาสการประชุมสุดยอดผู้นำอียูปลายเดือนนี้ที่เมืองซาลซ์บูร์ก ออสเตรีย เปิดเผยเค้าโครงการกระชับความสัมพันธ์ที่สร้างความเข้มแข็งแห่งทวีปยุโรป และเสถียรภาพของเงินยูโร จะมีการจัดแบ่งยุโรปเป็นวงแหวน วงในได้แก่ประเทศสมาชิกอียู ส่วนวงนอกเป็นประเทศเพื่อนบ้านในยุโรป ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอียูโดยสมบูรณ์ แต่จะมีการกำหนดความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงในระดับใกล้ชิดลดหลั่นกันไป

    แหล่งข่าวอ้างคำพูดของผู้นำฝรั่งเศสด้วยว่า การทำข้อตกลง Brexit ในรูปแบบใดก็ตาม จะต้องไม่เป็นการสร้างรอยปริร้าวในหมู่สมาชิกที่ยังเหนียวแน่นกันอยู่ และเขารู้สึกเป็นห่วงว่า หากทำข้อตกลงกันไม่ได้ก็จะเกิดเหตุการณ์ที่เรียกกว่า No Deal Brexit ซึ่งมีผลกระเทือนต่อความสามัคคีในประเทศยุโรปทั้งมวลในช่วงเวลาที่ยุโรปจะต้องสามัคคีกันมากขึ้น เพื่อสู้กับภัยคุกคามด้านความมั่นคง-ผู้ก่อการร้าย การแผ่อิทธิพลของรัสเซีย การแผ่บารมีทางเศรษฐกิจของจีน และอาการผีเข้าผีออกของผู้นำสหรัฐฯ เวลานี้จึงเป็นเวลาที่ยุโรปจะต้องเหนียวแน่นมากกว่าเดิม

    ที่มาภาพ : http://uk.businessinsider.com/brexit-could-break-up-the-united-kingdom-scottish-independence-northern-ireland-new-poll-2018-9

    ย้อนกลับไปเดือนเดืยวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว นายมาครง ได้ไปปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยซอร์บอร์น ระบุว่ายุโรปทุกวันนี้อ่อนปวกเปียก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผู้อพยพเข้าเมือง ความปลอดภัยสาธารณะและความมั่นคง เทคโนโลยีดิจิทัลป่วนโลก ซึ่งเห็นได้ว่ายุโรปล้มเหลวในการรับมือกับสิ่งท้าทายของโลกสมัยใหม่ สถาบันทางการเมืองและสังคมในยุโรปก็ไม่ได้รับแรงหนุนจากกระแสประชานิยมให้รับมือกับการท้าทายใหม่ๆ นายมาครงก็เลยเสนอแนวคิดในการจัดระเบียบความสัมพันธ์กันใหม่ และขับเคลื่อนยุโรปไปข้างหน้าในระดับความเร็วที่ลดหลั่นกัน ทำให้พอมองเห็นว่า ยุโรปที่มีวงแหวนชั้นในกับชั้นนอกที่เขาจะนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดที่ซาลซ์บูร์กปลายเดือนนี้ ก็คงมีฐานความคิดมาจากปาฐกถาคราวนั้น นายมาครงคิดว่าไม่ควรสร้างความแปลกแยกกับอังกฤษ เมื่อถอนตัวออกไปก็จะอยู่ในวงแหวนรอบนอก เพราะอังกฤษยังเป็นประเทศที่มีพลังอำนาจสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจ ธุรกิจการเงินการธนาคาร งานข่าวกรองและกลาโหม

    นักการเมืองฝ่ายที่สนับสนุนนางเทเรซา เมย์ ก็คงมีกำลังใจขึ้นบ้างที่มีอัศวินขี่ม้าขาวมาในยามที่กำลังจนมุม ถ้าเขาสามารถปรับท่าทีผู้นำอียูคนอื่นๆ ให้มีความยืดหยุ่น จัดระดับความสัมพันธ์ที่หลากหลายผ่อนปรนมากขื้นได้ ก็เป็นสิ่งที่สหราชอาณาจักรต้องการในยามนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าลู่ทางข้างหน้าจะแจ่มใส เพราะนายมาครงเองก็ยังคงยืนกรานอย่างแข็งขันว่า กลไกตลาดร่วมยุโรป (European Single Market) เป็นสิ่งที่แบ่งแยกไม่ได้ หากสหราชอาณาจักรยังต้องการค้าขายเสรีในตลาดยุโรปแบบเดิมก็ต้องยอมรับเงื่อนไขให้เคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรี อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ฝายลงประชามติขอถอนตัวจากอียูยอมไม่ได้ และแม้ว่านายมาครงจะแสดงท่าทียืดหยุ่นมากขึ้น แกนนำอียูอีกประเทศหนึ่งคือเยอรมันกลับมีท่าทีเย็นชาต่อแนวคิดปฏิรูปสหภาพยุโรปของเขา

    ณ เวลานี้ นักการเมืองที่ลอนดอนและยุโรปกำลังจับตาบรรยากาศการประชุมสุดยอด ที่เมืองซาลซ์บูร์ก วันที่ 20 เดือนนี้ นางเทเรซา เมย์ ก็คงตั้งความหวังว่าผู้นำอียูอาจจะมีท่าทีผ่อนปรนหลังจากนายมาครงขว้างหินถามทางมาในเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างอียู และการปรับลำดับความสัมพันธ์กับสหราชอาณาจักรหลังจากการถอนตัว เพราะหลายประเทศในยุโรปก็ยังคงหวังที่จะมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดอดีตมหาอำนาจทางทหาร ที่ยังมีเขี้ยวเล็บทั้งอานุภาพของกองทัพ เทคโนโลยีกลาโหม และโครงข่ายงานจารกรรมและข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพสูงของสหราชอาณาจักร

    โค้งสุดท้ายสุดสะบักสะบอมของ Brexit ตอนต่อไป จะพิจารณาว่าศึกภายในพรรครัฐบาลจะร้อนรุ่มแค่ไหน และทำไมพรมแดนที่มองไม่เห็นระหว่างไอร์แลนด์เหนือและใต้ อาจจะกลายเป็นเปลือกกล้วยทำให้ Brexit กลายเป็น Break It