ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. เปิดผลวิจัย “ความเชื่อมโยง” ระบบการเงินไทย ซับซ้อนพร้อมส่งผ่านวิกฤติการเงิน – แนะเตรียมเครื่องมือรองรับ

ธปท. เปิดผลวิจัย “ความเชื่อมโยง” ระบบการเงินไทย ซับซ้อนพร้อมส่งผ่านวิกฤติการเงิน – แนะเตรียมเครื่องมือรองรับ

28 กันยายน 2018


เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานสัมมนาประจำปี 2561 ในหัวข้อ “สู่ยุคใหม่ของระบบการเงินและธนาคารกลาง” หรือ “BOT Symposium 2018: The Future of Money, Finance, and Central Banking” โดยช่วงเช้า ผศ. ดร.ไทยศิริ เวทไว อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายบดินทร์ ศิวิลัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กลุ่มงานด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. ได้นำเสนอผลงานวิจัย “ความเชื่อมโยงและการส่งผ่านความเสี่ยงในระบบการเงินไทยผ่านข้อมูลงบดุล

นายบดินทร์ ศิวิลัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กลุ่มงานด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท.

นายบดินทร์กล่าวว่า งานศึกษานี้จะใช้ข้อมูลความเชื่อมโยงและการส่งผ่านความเสี่ยงของงบดุลของผู้เล่นในระบบการเงิน ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือน ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ตัวอย่างเช่น ถ้าเราให้เพื่อนยืมเงิน เรียกว่ามีความสัมพันธ์โดยตรง หรือถือหุ้นตัวเดียวกัน ถ้าหุ้นตกเราก็จนลงพร้อมกัน เรียกความมีความสัมพันธ์กันทางอ้อม ซึ่งในเวลาที่ระบบการเงินหรือผู้เล่นบางรายมีปัญหา ความเชื่อมโยงเหล่านี้จะกลายเป็นช่องทางในการส่งผ่านความเสี่ยงได้ เนื่องจากระบบการเงิน

“ในปัจจุบันระบบการเงินของเราพัฒนามาไกลมา ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครเอาเงินฝากธนาคารอย่างเดียว เรามีทางเลือกมากมายที่ให้ผลตอบเทนสูงกว่า แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะนำมาซึ่งความเสี่ยงทางที่ต่างๆ ประเด็นที่ดูไกลตัวอย่างสงครามการค้าของสหรัฐฯ กับจีน หรือปัญหาในภาคการเงินในประเทศที่ห่างออกไปอย่างตรุกี ก็ส่งผลมาถึงเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้น ทุกวันนี้ทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันหมด การส่งผ่านความเสี่ยงต่างๆ เกิดเร็วขึ้น การดูแลเสถียรภาพและความเสี่ยงเชิงระบบก็ต้องคิดเยอะขึ้นด้วยเช่นกัน ในระบบการเงินเราแต่ละคนเหมือนชิ้นส่วนเล็กๆ ที่ทำงานในแผงวงจรที่ซับซ้อน งานชิ้นนี้จะมาขยายให้เห็นภาพรวมของระบบการเงินทั้งหมด โดยมีกุญแจสำคัญคือความเชื่อมโยงและการส่งผ่านความเสี่ยง”

นายบดินทร์กล่าวย้อนกลับมาถึงแก่นของระบบการเงินว่า แท้ที่จริงหน้าที่ของระบบการเงินคือส่งเงินจากเจ้าของเงินหรือภาคครัวเรือนไปหาผู้ที่กู้เงิน ซึ่งอาจจะเป็นภาคครัวเรือนหรือภาคธุรกิจ และการส่งผ่านเงินอาจจะเป็นทั้งโดยตรงหรือตัวกลาง เช่น ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นๆ หรือบริษัทประกันภัย โดยงบดุลเป็นเหมือนภาพที่บอกว่าสถาบันแต่ละแห่งมีสินทรัพย์หรือหนี้สินอยู่กับใครบ้าง และการติดตามสินทรัพย์และหนี้สินในงบดุลที่เกิดขึ้นระหว่างทางจากผู้ให้กู้ไปยังผู้กู้จะช่วยให้เราติดตามความสัมพันธ์ในระบบการเงินได้

ทั้งนี้ งานวิจัยจะแบ่งสถาบันทางเศรษฐกิจออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ ธนาคารกลาง (CB) รัฐบาลกลาง (GG) สถาบันการเงินที่รับฝากเงิน (ODC) สถาบันการเงินอื่น (OFC) ธุรกิจนอกภาคการเงิน (NFC) ครัวเรือน (HH) และต่างประเทศ (ROW) และแบ่งประเภทตราสารออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ เงินสด (CUR) เงินรับฝาก (DEP) สินเชื่อ (LOAN) ตราสารหนี้ (DBSC) ตราสารทุน (EQTY) หน่วยลงทุน (IFS) อื่นๆ (OTHER) และสุดท้ายก็แบ่งช่วงระยะเวลาลงทุนของตราสารอีก 3 ช่วงอายุ ได้แก่ ระยะสั้น (ST) ระยะยาว (LT) และไม่ระบุ (UN)

“ถ้าเราเอางบดุลของทั้งหมดมาประกอบกัน เราพบว่าสินทรัพย์ของระบบทั้งหมดเท่ากับหนี้สินของระบบการเงินพอดี แสดงว่าเป็นข้อมูลสอดคล้องกันและเชื่อถือได้ หลังจากนั้นหากดูจากขนาดจะพบว่าหนี้สินเท่ากับสินทรัพย์เท่ากับ 132.8 ล้านล้านบาท โดย 3 ภาคเศรษฐกิจที่เป็นเสาหลักคือครัวเรือน ธนาคาร และภาคธุรกิจ มีขนาด 3 ใน 4 ของระบบ และสำหรับภาคครัวเรือนยังสะท้อนว่ามีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน ดังนั้น บทบาทในระบบการเงินคือการปล่อยกู้ให้คนอื่น กลับกันในภาคธุรกิจมีหนี้สินมากกว่าและเป็นผู้กู้ยืมของระบบการเงิน ขณะที่ภาคอื่นๆ ค่อนข้างสมดุล” นายบดินทร์กล่าว

นายบดินทร์กล่าวต่อไปถึงขนาดของสินทรัพย์และหนี้สินรวมกันและความเชื่อมโยงกันของแต่ภาคเศรษฐกิจ พบว่าใน 3 ภาคเศรษฐกิจหลักนั้นเงินส่วนใหญ่ไหลจากครัวเรือนไปยังธนาคาร และจากธนาคารกลับมายังครัวเรือน สะท้อนว่าข้อต่อระหว่างครัวเรือนและธนาคารมีความสำคัญที่สุดในระบบ และมีลักษณะหมุนเวียนกันค่อนข้างสูง ทำให้ปัญหาในภาคเศรษฐกิจหนึ่งอาจจะส่งผลต่ออีกภาคเศรษฐกิจหนึ่งอย่างมาก

หากหันมาดูตัวกลางทางเศรษฐกิจระหว่างภาคธนาคารและสถาบันการเงินอื่น พบว่ามีความแตกต่างกัน โดยธนาคารยังพึ่งพาเงินสดและเงินฝากระยะสั้นจากครัวเรือนไปปล่อยกู้สินเชื่อระยะยาว ขณะที่สถาบันการเงินอื่นจะระดมเงินทุนเหมือนกันโดยระดมทุนผ่านตราสารทุน หน่วยลงทุน จากทุกภาคเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เป็นครัวเรือน และไปซื้อตราสารหลากหลายประเภท แต่ส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ และไปซื้อตราสายในหลากหลายภาคเศรษฐกิจ

“ในมุมนี้ธนาคารเหมือนเอาอัฐยายซื้อขนมยาย คือเอาเงินภาคครัวเรือนวนกลับไปให้ภาคครัวเรือนกู้อีกทีหนึ่ง แต่สถาบันการเงินอื่นเหมือนหลานเอาเงินไปแจกเพื่อนที่โรงเรียนหลายๆ คน ก็มีนัยต่อการส่งผ่านผลกระทบด้วย คือถ้าสมมติภาคครัวเรือนเกิดวิตกขึ้นมาและไปไถ่ถอนหน่วยลงทุนในสถาบันการเงินอื่นๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือสถาบันการเงินอื่นๆ อาจจะต้องขายสินทรัพย์ออกมา แต่เนื่องจากสินทรัยพ์ของเขาไปอยู่ในทุกภาคเศรษฐกิจ ก็อาจจะกระทบกับสภาพคล่องในทุกภาคเศรษฐกิจที่ต้องมาซื้อคืนพร้อมๆ กัน” นายบดินทร์กล่าว

ในมิติของเวลา แม้ว่าธนาคารยังเป็นเสาหลักอยู่ แต่ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินอื่นๆ มีบทบาทเพิ่มขึ้น โดยธนาคารมีสัดส่วนลดลงจาก 50.6% ในปี 2554 เหลือ 45.6% ในปี 2560 (แม้ว่าจะยังเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.3%) ขณะที่สถาบันการเงินอื่นๆ เช่น บริษัทประกันชีวิตและกองทุนรวม เติบโตขึ้น 12.2% และ 14.4% ต่อปี และทำให้สัดส่วนเพิ่มขึ้นมาทดแทน

นายบดินทร์กล่าวต่อไปว่า ในระดับย่อยลงไปอีก โดยแบ่งภาคธุรกิจออกเป็น 8 อุตสาหกรรม, แบ่งภาคธนาคารออกเป็นรายแห่งอีก 36 แห่ง ก่อนจะรวมกลุ่มเป็นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 5 แห่ง (D-SiBs) ธนาคารอื่นๆ 10 แห่ง บริษัทลูกของธนาคารและสาขาธนาคารต่างประเทศ 15 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอีก 6 แห่ง และสุดท้ายแบ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 23 แห่ง ออกเป็น 5 นโยบายการลงทุน (รวมทั้งสิ้น 1,342 กองทุน) ได้แก่ กองทุนตราสารหนี้ กองหุ้น กองผสม กองสินทรัพย์ทางเลือก และกองอื่นๆ อีกด้านได้แบ่งในแง่ของความเป็นเจ้าของ ได้แก่ บริษัทลูกของธนาคาร 12 แห่ง บริษัทลูกต่างประเทศ 4 แห่ง บริษัทลูกของบริษัทหลักทรัพย์ 4 แห่ง และอื่นๆ 3 แห่ง

ผลการศึกษาที่เจาะลงไปในกลุ่มธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในฐานะตัวกลางสำคัญ พบว่าสินทรัพย์ของธนาคารทั้งหมด 24.1 ล้านล้านบาท แต่เกือบครึ่งอยู่ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เพียง 5 แห่ง โดยขนาดใหญ่สุดมีขนาด 3 ล้านล้านบาทและขนาดเล็กสุดคือ 2 ล้านล้านบาท ขณะที่กองทุนรวมส่วนใหญ่เกือบครั้งเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ รองลงมาคือตราสารหุ้น กองทุนผสม ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากดูความเป็นเจ้าของพบว่าธนาคารยังคงเป็นเจ้าของกองทุนรวมเหล่านี้สูงถึง 87.5% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิทั้งอุตสาหกรรม ส่วนนี้สะท้อนว่าตัวกลางในระบบการเงินของไทยมีความกระจุกตัวสูง


ในแง่ของความเชื่อมโยงจาก Network Topology พบว่าภาคเศรษฐกิจหลักมีความเชื่อมโยงกันอย่างหนาแน่น ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือน ธุรกิจนอกภาคการเงิน ธนาคารขนาดใหญ่และกลาง กองทุนหุ้นที่ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารขนาดใหญ่ นอกจากนี้ หากแยกออกเป็นประเภทของตราสารจะพบว่า ในกลุ่มเงินสด เงินฝาก และสินเชื่อ มีลักษณะเชื่อมโยงกันทางเดียวระหว่างตัวกลางกับภาคธุรกิจและครัวเรือน ขณะที่ในตลาดทุนกลับพบความเชื่อมโยงกันทั้งระหว่างตัวกลางกับภาคธุรกิจและครัวเรือน และความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจกับธุรกิจด้วยกันเอง ซึ่งสะท้อนว่าความเชื่อมโยงของตลาดทุนสามารถแพร่กระจายไปได้เร็วกว่า


“ความเชื่อมโยง” ส่งผ่านกระทบ “ธนาคาร” มากที่สุด

ผศ. ดร.ไทยศิริ กล่าวว่า ในส่วนที่ 2 ของงานวิจัยคือการสร้างแบบจำลองเพื่อทดสอบความเข้มแข็งของระบบการเงินไทยผ่านเครือข่ายงบดุลจากผลกระทบ 2 ประเภท คือผลกระทบหรือวิกฤติที่เริ่มต้นในภาคธุรกิจ 1 ใน 7 ภาคธุรกิจ (ไม่รวมภาคธุรกิจอื่นๆ) และผลกระทบด้านชื่อเสียงจากการขาดความเชื่อมั่นในภาคธนาคารและกองทุนรวม โดยแบ่งช่องทางการส่งผ่านความเสี่ยงและผลกระทบ 3 ช่องทางหลัก ได้แก่

1) ด้านหนี้สินและความเป็นเจ้าของ (Liability and Ownership Channel) เกิดขึ้นเมื่อภาคเศรษฐกิจบางแห่งได้รับผลกระทบที่ทำให้สินทรัพย์มีมูลค่าลดลงและอาจส่งผ่านความเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระคืนแก่เจ้าของเงินได้ เช่น ธนาคาร โดยเฉพาะในกรณีที่ถึงขั้นล้มละลาย

2) ด้านความเสี่ยง หรือสภาพคล่องย้อนกลับ (Reverse Liquidity Channel) เกิดจากการที่ภาคเศรษฐกิจต้องหาสภาพคล่องมาคืนแก่เจ้าของเงิน ตัวอย่างเช่นการถอนเงินหรือการไม่ต่ออายุสัญญาของหุ้นกู้ระยะสั้น และทำให้ภาคเศรษฐกิจต้องขายสินทรัพย์บางประเภทออกไปแทน

3) ด้านสภาพคล่องของตลาด (Market Liquidity Channel) เกิดขึ้นเมื่อภาคเศรษฐกิจถือสินทรัพย์บางประเภทด้วยกันและรับความเสี่ยงลักษณะเดียวกัน เมื่อมีผลกระทบบางภาคเศรษฐกิจและกดดันให้ขายสินทรัพย์ออกมา ถ้าหากประเทศมีสภาพคล่องไม่เพียงพอที่จะรองรับ ก็จะทำให้ต้องยอมขายในราคาที่ตกต่ำลง หรือ Fire Sell และกระทบกับภาคเศรษฐกิจอื่นที่ถือสินทรัพย์ประเภทเดียวกันไว้

นอกจากนี้ ยังมีช่องทางการส่งผ่านอีก 2 ช่องทางที่ซ้ำเติมผลกระทบให้รุนแรงขึ้น ได้แก่ 1) การเทขายด้วยความตื่นตระหนก (Panic Sells) ที่ทำให้ราคาของสินทรัพย์ลดลงมากกว่าเดิมและกระทบกับมูลค่าของสินทรัพย์ที่ภาคเศรษฐกิจโดยรวมมีอยู่ 2) การปรับโครงสร้างเงินทุนของธนาคาร (Bank Deleveraging) เช่น การปรับอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์

ผศ. ดร.ไทยศิริ เวทไว อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผลการศึกษาพบว่า หากเกิดผลกระทบหรือวิกฤติในภาคธุรกิจ ซึ่งวัดจากการสูญเสียสินทรัยพ์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ทางการเงินในภาคธุรกิจนั้นๆ ตั้งแต่ 10-50% ของสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัยพ์ทางการเงินที่ภาคธุรกิจนั้นมีอยู่ทั้งหมด ในช่วงแรกที่มีผลกระทบประมาณ 10-20% ความเสียหายจะยังไม่แพร่กระจายไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างไรก็ตาม หากผลกระทบเกิดขึ้นมากไปกว่านั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะแพร่กระจายไปในทุกภาคเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจโดยรวมอื่นๆ ทั้งหมด ภาคธนาคาร และภาคอุตสาหกรรมกองทุนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 ภาคเศรษฐกิจหลัง ผลกระทบอาจจะส่งผ่านความเสียหายไปยังสินทรัพย์ทั้งหมดได้ ขณะที่ภาคธุรกิจโดยรวมจะเสียหายสูงสุดประมาณ 40% ของภาคธุรกิจโดยรวมเท่านั้น นอกจากนี้ ในภาคธุรกิจกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและเทคโนโลยีถือว่าเป็นกลุ่มที่แทบจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ

สำหรับช่องทางการส่งผ่านความเสียหายพบว่าในภาคธุรกิจโดยรวม หากผลกระทบมีไม่มาก การส่งผ่านจะเกิดจากช่องทางหนี้สินและความเป็นเจ้าของที่ไม่สามารถชำระคืนได้ ขณะที่หากผลกระทบมีมากกว่านั้น ช่องทางสภาพคล่องของตลาดจะขยายตัวขึ้นมาเป็นช่องทางหลักในการส่งผ่านความเสียหาย และมีเพียงในภาคเกษตรกรรมที่หากผลกระทบในภาคธุรกิจนี้มากขึ้น การส่งผ่านจะเกิดจากการเทขายด้วยความตื่นตระหนกร่วมด้วยและในช่วงที่ผลกระทบในภาคเกษตรมีมากกว่า 40% การส่งผ่านจะเกิดจากช่องทางหนี้สินและความเป็นเจ้าของแทนช่องทางสภาพคล่องของตลาด

ขณะที่ผลกระทบของภาคธุรกิจต่อภาคธนาคาร พบว่ามีความคล้ายคลึงกับการส่งผ่านจากภาคธุรกิจไปยังภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม จะเห็นความแตกต่างในแง่ขนาดของความเสียหายที่สูงกว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากผลกระทบจากภาคธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งมีมากกว่า 40% จะส่งผ่านไปทำให้ภาคธนาคารเสียหายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึง 100% หรือทั้งหมดของภาคธนาคาร ซึ่งอาจจะสะท้อนจากการเป็นตัวกลางในระบบเศรษฐกิจของธนาคาร เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมกองทุนรวมที่ได้รับความเสียหายอย่างรวดเร็วเหมือนกับภาคธนาคาร แต่ในกรณีของอุตสาหกรรมกองทุนรวมจะมีการส่งผ่านความเสียหายจากช่องทางเทขายด้วยความตื่นตระหนกรวมด้วย

สำหรับผลกระทบประเภทที่ 2 ซึ่งวัดจากสัดส่วนการถอนเงินฝากหรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนออกจากภาคธนาคารและกองทุนรวมจากเงินฝากหรือหน่วยลงทุนทั้งหมด พบว่าโดยรวมได้รับความเสียหายน้อยกว่าความเสียที่เกิดขึ้นกรณีเกิดผลกระทบในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเสียหายต่อภาคธุรกิจโดยรวมที่แทบจะไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ภาคธนาคารจะได้รับความเสียหายสูงสุดเกือบ 5% อย่างไรก็ตาม ในภาคอุตสาหกรรมกองทุนรวมกับได้รับเสียหายอย่างสูงจากช่องทางการเทขายด้วยความตื่นตระหนก โดยสัดส่วนความเสียหายค่อนข้างคงที่ไม่ว่าผลกระทบจะมากหรือน้อย

“เราถอดบทเรียนอะไรบ้างจากงานศึกษานี้หลังเราได้ฉายภาพความเชื่อมโยงของทั้งระบบการเงิน อย่างแรกคือเรื่องขอบเขตของระบบการเงิน ปัจจุบันเสถียรภาพของระบบการเงินไม่ใช่เฉพาะเสถียรภาพของธนาคารอีกต่อไป ยังมีผู้เล่นอีกมากมายที่มีความสำคัญ ผู้กำกับจำเป็นต้องมองออกไปข้างนอกผู้เล่นที่ตัวเองกำกับดูแล การออกนโยบายต้องคำนึงผลข้างเคียงในภาคส่วนอื่นๆ ด้วย อย่างที่ 2 คือความร่วมมือของหน่วยงาน เราเห็นว่าช่วงที่ผลกระทบไม่มากการแยกกันกำกับอาจจะเอาอยู่ แต่พอมันใหญ่ขึ้น ความเสียหายจะเร่งตัวเร็วมากโดยส่งผ่านช่องทางความเชื่อมั่นเป็นสำคัญ ในเวลาวิกฤติแบบนั้นหน่วยงานจะสร้างความเชื่อมั่นได้ก็คงต้องร่วมมือเตรียมการกันมาก่อนแล้ว อย่างที่ 3 คือจากความเชื่อมโยงที่มีอยู่เราต้องป้องกันความแตกต่างของการกำกับระหว่างภาคเศรษฐกิจ เพราะเราก็เห็นว่าลูกแบงก์โตเร็วกว่าแบงก์แม่ 2-3 เท่า หรือสหกรณ์ที่ก็เติบโตเร็วแต่ยังไม่ได้ศึกษาในงานนี้ การกำกับที่แตกต่างก็อาจจะส่งผ่านความเสี่ยงได้ และสุดท้ายคือการประสานนโยบาย เพราะจะได้ส่งสัญญาณไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ทำให้สับสน และเอื้อให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพที่สุด” นายบดินทร์กล่าวสรุป

“ภากร” แนะตั้งหน่วยงานดูแลสภาพคล่องระบบการเงิน

ด้านนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าววิจารณ์และเสนอแนะถึงงานวิจัยดังกล่าวว่า แนวทางที่จะป้องกันผลกระทบที่มาจากการเชื่อมโยงของระบบการเงินทั้ง 3 ช่องทางได้นั้น หัวใจสำคัญคือการบริหารสภาพคล่องของระบบที่ต้องเพียงพอจะช่วยพยุงไม่ให้ผลกระทบส่งผ่านความเสียหายไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ ซึ่งปัจจุบันภาคธนาคารมี ธปท. เป็นคนดูแล แต่ในตลาดทุนยังขาดคนที่ทำหน้าที่นี้อยู่

“เราอาจจะต้องคิดถึงหน่วยงานกลาง ที่จะทำหน้าที่ให้สภาพคล่องฉุกเฉินให้กับตลาดทุน กรณีที่เกิดผลกระทบในตลาดทุน แล้วราคาสินทรัพย์หรือสภาพคล่องของภาคตลาดทุนปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หน่วยงานกลางนี้ก็จะต้องทำหน้าที่ในการเข้าไปช่วยเหลือ ดูแลในการให้สภาพคล่อง เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงด้านราคา และลดผลกระทบจากการไม่มีสภาพคล่องแล้วต้องไปขายสินทรัพย์ได้”

นายภากรกล่าวต่อไปถึงช่องทางซ้ำเติมอีก 2 ปัจจัยว่า เรื่องความตื่นตระหนก สิ่งสำคัญคือการสื่อสารและทำความเข้าใจให้ประชาชนและตลาดให้เข้าใจได้ถูกต้อง เพราะปัจจุบันยอมรับว่าเมื่อผลกระทบเกิดขึ้น สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือการเทขายสินทรัพย์หลักทรัพย์อย่างรวดเร็ว ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ต่างๆ ปรับลดลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวซ้ำเติมที่ทำให้เกิดวิกฤติได้ ดังนั้น เพื่อให้ตลาดไม่ตื่นตระหนก จึงควรมีเครื่องมือนี้เข้ามาช่วย เพื่อป้องกันการไหลออกของสภาพคล่องอย่างรุนแรงจากความไม่รู้ของประชาชนและตลาดเงินได้ และสุดท้าย ในเรื่องความเสี่ยงด้านความเชื่อมั่นของธนาคาร มีโจทย์ว่าธนาคารจะเข้าถึงทุนได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ อย่างตลาดทุนก็จะมีเรื่องของทุนฉุกเฉินอยู่ ดังนั้น โจทย์คือจะทำอย่างไรให้ธนาคารมีทุนฉุกเฉินและระดมได้มาก จะได้ไม่ต้องขายสินทรัพย์อย่างรวดเร็ว เพื่อรักษาอัตราส่วนทางการเงินไว้ได้

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แนะศึกษาสหกรณ์ออมทรัพย์ เพิ่ม-เน้นศึกษา “ช่องทางการส่งผ่าน” หลายรูปแบบ

ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าววิจารณ์และเสนอแนะถึงงานวิจัยดังกล่าวว่า งานวิจัยควรจะขยายไปถึงสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์การเงิน เช่น อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะทำให้ศึกษาต่อไปได้ว่าปัจจุบันหากมีสินทรัพย์ประเภทนี้อยู่จะส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้หรืออุปสงค์ในสินทรัพย์ที่มีต่อระบบอย่างไร เนื่องจากสมมติฐานเรื่องสภาพคล่องในทางเศรษฐศาสตร์ที่ระบุว่าอุปสงค์ต่อสินทรัพย์ต่างๆ ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่ไม่ใช่การเงินและขึ้นอยู่กับหนี้ครัวเรือนขณะนั้น และว่าหากมีผลกระทบเกิดขึ้น ครัวเรือนมีพฤติกรรมอย่างไรในการจัดการกับผลกระทบเหล่านั้นจริงๆ

อีกประการคือเรื่องหนี้สินครัวเรือน ซึ่งแม้ว่างานวิจัยจะคำนึงถึงหนี้ครัวเรือน แต่ตามธรรมชาติหนี้เหล่านี้มักจะรายงานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เช่น ไม่ได้รวมหนี้นอกระบบหรือหนี้ในสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยเฉพาะในกรณีหลังที่ปัจจุบันมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก และคิดว่าสามารถนำมารวมในงานวิจัยได้ โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ในปัจจุบันมีถึง 1,400 แห่ง มีสมาชิกอีก 3 ล้านราย มีสินทรัพย์ 2.5 ล้านล้านบาท และมีความสัมพันธ์กันระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งยอดปัจจุบันมีกว่า 90,000 ล้านบาท เติบโตเกือบเท่าตัวเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ หากแยกแต่ละสหกรณ์รายแห่งก็จะเห็นการกระจายที่หลากหลายและมีหลายแห่งที่ไม่ได้เล็กเลย

ประเด็นที่ 3 คือเรื่องประเภทของครัวเรือน เพราะครัวเรือนที่รายได้แตกต่างกันย่อมมีพฤติกรรมที่จะรับมือผลกระทบแตกต่างกันไป เช่น การขายสินทรัพย์แต่ละประเภท ซึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัดของงานวิจัยจากข้อมูลของประเทศเอง นอกจากนี้ ประเภทของสินทรัพย์ในการทดสอบระบบการเงิน อาจจะยังไม่ได้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง เช่น เมื่อมีผลกระทบภาคเศรษฐกิจจะเลือกขายสินทรัพย์ระยะสั้นก่อนระยะยาว แต่ความเป็นจริงอาจจะเลือกที่จะสะสมสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงอย่างเงินสดหรือเงินฝากแทนที่จะลดลงเป็นลำดับแรก แต่อาจจะเลือกขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่การเงินก่อนก็ได้ ดังนั้น จึงควรจะลองทดสอบพฤติกรรมในหลายๆ รูปแบบ