เทสโก้ โลตัส เปิดสาขาลำดับที่ 2,000 อย่างเป็นทางการ ไปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ที่สาขา บางกรวย -ไทรน้อย ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี และถือเป็นการเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในรอบ 4 ปี ของเทสโก้ โลตัส ที่มีขนาดใหญ่กว่า 24,000 ตารางเมตร โดยพื้นที่จำหน่ายสินค้าในไฮเปอร์มาร์ทแห่งนี้มีพื้นที่เทียบเท่าได้กับสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิค 4 สระ
ขนาดไม่ใช่ประเด็นเดียวที่พิเศษของสาขาใหม่ ในการก้าวสู่ 24 ปี ของการเข้ามาลงทุนของเทสโก้ ในประเทศไทย สาขาที่ 2,000 ยังเป็นก้าวสำคัญของ “เปลี่ยนผ่าน” เพื่อรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ หรือที่ เทสโก้ โลตัส เรียกว่า “ลูกค้ายุค 4.0” ที่ต้องการประสบการณ์ในการช็อปปิ้งแบบใหม่ และความตระหนักเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม
นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหารเทสโก้ โลตัส กล่าวว่า แนวคิดของไฮเปอร์มาร์เก็ตแห่งใหม่นี้มีความพิเศษหลายอย่าง เราต้องการดึงลูกค้าเข้าสู่ยุค 4.0 ลูกค้าจะได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความแตกต่างของสินค้า และการชำระเงิน โดย การออกแบบเทสโก้ โลตัส สาขาบางกรวยไทรน้อย จึงเป็นความพิเศษในการตอบโจทย์ลูกค้ายุค 4.0 มีเทคโนโลยีและบริการใหม่ๆหลายอย่างที่มีการนำมาใช้ที่สาขานี้เป็นแห่งแรกเพื่อให้การช็อปปิ้งสนุกขึ้น
ช็อปปิ้ง 4.0

สำหรับเทคโนโลยีและการให้บริการใหม่ๆ ที่นำมาในการให้บริการที่เชื่อว่าจะตอบสนองลูกค้ายุค 4.0 ได้แก่
1) การนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจากอังกฤษ Scan As Your Shop มาใช้ในการช็อปปิ้ง ให้ลูกค้าสามารถใช้เครื่องมือ handheld สแกนสินค้า ในขณะที่เลือกสินค้าลงตระกร้าโดยเครื่องจะทำการคำนวณราคาของสินค้าทั้งหมดในตระกร้า เมื่อเสร็จสิ้นการเลือกซื้อ ลูกค้าสามารถชำระเงินได้ที่ช่องพิเศษสำหรับผู้ใช้ Scan As You ช่วยประหยัดเวลาในการต่อคิว โดยเริ่มใช้เทคโนโลยีนี้เป็นครั้งแรก ก่อนที่จะนำไปใช้ในสาขาพระราม 3
2) การพัฒนาช่องทางรับมือกับสังคมไร้เงินสดโดยใช้ QR Code ในทุกช่องทางในการชำระเงิน 100% โดยถือเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกที่รับชำระได้ในทุกช่องทางของการชำระเงิน
3) Green Lane ช่องทางการชำระค่าบริการแบบด่วนพิเศษสำหรับลูกค้าที่ไม่รับถุงพลาสติค ทำให้การชำระค่าบริการสินค้ารวดเร็วเป็นพิเศษและลูกค้าจะยังได้รับคะแนนสะสมเพิ่ม
ขณะที่การรองรับลูกค้าที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เทสโก้ โลตัส สาขาใหม่มีศูนย์รีไซเคิล ให้ลูกค้าสามารถรีไซเคิลขยะประเภทต่างๆ อาทิ กล่องยูเอชที ซองผลตภัณฑ์ กระดาษ และขยะอิเลคทรอนิกส์ บริเวณภายนอกอาคาร และมีการติดตั้ง Recycle vending machine เครื่องรีไซเคิลขสดพลาสติค กระป๋องและน้ำอัดลม ที่จะมอบคะแนนให้สมาชิกสำหรับขวดหรือกระป๋อง 1 ใบ
“นี่ไม่ใช่แค่ต้นแบบแต่บริการเหล่านี้เป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงในหลายสาขาทั่วประเทศในอนาคตอันใกล้ เราเริ่มต้นที่นี่ เป็นการเตรียมพร้อม เช่น สังคมไร้เงินสด เพราะแม้ตอนนี้ลูกค้าไทยจะยังไม่ได้เป็น cashless จริงๆแต่นี่เป็นเทรนด์ และไม่ได้เป็นเทรนด์เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั้งโลก เพราะฉะนั้นไม่ว่าช้าหรือเร็วมันก็ต้องมาและหน้าที่ของเราคือการเตรียมพร้อมรับความต้องการที่เปลี่ยนไปในอนาคต ” นายสมพงษ์กล่าว
แพลตฟอร์มดิจิตอลของธุรกิจค้าปลีกในอนาคต

ธุรกิจค้าปลีกกำลังเผชิญความท้าทายจากพฤติกรรมผู้คนที่เปลี่ยนไป แม้ในเวลาที่ผ่านมานอกจากแพลตฟอร์มดิจิตอล 2 ช่องทางหลัก คือ เทสโก้ โลตัส ช้อปออนไลน์ และการจำหน่ายสินค้าบนมาร์เก็ตเพลสชั้นนำ แต่เทสโก้ โลตัส ในประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการขยายสาขา โดยการเปิดสาขาที่ 2,000 ของไฮเปอร์มาร์เก็ตพื้นที่ขนาด 24,000 ตารางเมตรในปีนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายสาขา บนเป้าหมาย 55,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นถึง 40% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยในแง่มุมการลงทุนสิ่งที่เปลี่ยนไปนอกจากการรุกขยายไปในอำเภอรองๆ ในแต่ละจังหวัด อนาคตสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคือรูปแบบของขนาดสาขาที่จะขยายไป จะไม่ใช่ขนาดใหญ่มากๆเช่นในอดีต โดยถ้าดูจากตัวเลขของสาขาที่เปิดไปแล้ว 45 สาขาในปีนี้ ได้แก่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต 6 สาขา ดีพาร์ทเมนสโตร์ 1 สาขา เทสโก้ โลตัส ตลาด 1 สาขาและเทสโก้ เอ็กซ์เพลส 37 สาขา
สำหรับการขยายสาขาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเทสโก้ โลตัส ขยายสาขาระหว่าง 30,000 – 50,000 ตารางเมตรต่อปี และเปลี่ยนจากการขยายสาขาใหญ่ในพื้นที่หลักสู่สาขาเล็กในพื้นที่รองมากขึ้น อย่างไรก็ตามในเชิงกลยุทธ์ มุมมองการขยายธุรกิจในยุค4.0 นั้นแตกต่างออกไป โดยขยายขอบเขตกว่าการมองเพียงจำนวนในการขยายสาขา
นายสมพงษ์ กล่าวเรื่องนี้ว่า สิ่งที่เทสโก้ โลตัสมองไม่ใช่จำนวนอีกต่อไปแต่การจะตอบสนองลูกค้ายุคใหม่ โดยมองเรื่องการออมนิชาแนล ทำอย่างไรจึงจะสามารถให้บริการลูกค้าในเวลาที่เขาอยากได้ แปลว่าต้อง ต้องสามารถเชื่อมโยงระหว่างสาขาเล็ก สาขาใหญ่ และดูว่าจะมีวิธีบริการลูกค้าได้อย่างไรมากกว่า
“บางพื้นที่ที่ไม่มีสโตร์ก็ไม่ได้แปลว่าจะให้บริการไม่ได้ แต่ต้องดูว่าจะมีวิธีการจะเข้าไปบริการได้ในรูปแบบต่างๆ อย่างที่สาขาใหม่ถ้าลูกค้าไม่สะดวกมาซื้อเขาก็ใช้บริการ Grab ได้ เป็นการบริการที่เรียกว่าอยู่ที่ไหน ตอนไหน เวลาไหนก็ซื้อได้ สำคัญคือการสร้างเครือข่ายที่ชัดเจน”
“จริงๆอาจจะอยู่เหมือนว่าการขายผ่านออนไลน์ไม่ต้องมีร้านจริงๆ แต่จริงๆเราต้องมีเครือข่ายเพราะต่อให้ลูกค้าสั่งผ่านออรนไลน์ เราก็ต้องมีร้านที่ใกล้ที่สุดที่จะเข้าไปมให้บริการกับลูกค้าได้ ไม่อย่างนั้นของที่มาส่วนกลางหมด จะมีต้นทุนขนส่งที่สูง ฉะนั้นมันเป็นการสร้างเครือข่ายที่ชัดเจนที่จะเข้าไปได้”
ปัจจัยและความท้าทายในตลาดค้าปลีกไทย
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มเทสโก้รองจากสหราชอาณาจักรให้บริการลูกค้ากว่า 15 ล้านคนต่อสัปดาห์ และดูเหมือนว่าไม่ว่าจะทั้งในระยะสั้นเมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคล่าสุดและปัจจัยบวกในปี 2562 จากการเลือกตั้งและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งทำให้เชื่อว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคจะดีขึ้น ในระยะยาวกลุ่มเทสโก้ก็ยังมองว่า และยังเชื่อว่าในทางศักยภาพไทยยังเป็นประเทศที่น่าลงทุน และยังมีปัจจัยบวกสำหรับการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกจากการขยายตัวของสังคมเพิ่มและรายได้ต่อหัวของประชากรที่มีอัตราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าสาขาที่ 2,000 จะเป็นหมุดหมายสำคัญ ของการลงทุนในประเทศไทย แต่ท่ามกลางคลื่นแห่งการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ยังต้องพัฒนา คงจะเหมือนกับที่ ประธานกรรมการบริหารเทสโก้ โลตัส กล่าวไว้ตอนหนึ่งในการเปิดตัวสาขาล่าสุดว่า “เราไม่ได้บอกว่าที่นี่คือดีที่สุด แต่มีหลายอย่างที่เราเพิ่มเข้ามา และเราพยายามทำเพื่อก้าวต่อไปในอนาคต”
บนเส้นทางธุรกิจค้าปลีกที่ไม่มีวันเหมือนเดิม





