ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > แหล่งรายได้ที่ถูกทำร้าย “เกาะพีพี” ช้ำขยะ 30 ตัน/วัน น้ำเสีย 1,800 ลบ.ม./วัน – เมื่อผู้ประกอบการแลกค่าปรับแทนดูแลสิ่งแวดล้อม

แหล่งรายได้ที่ถูกทำร้าย “เกาะพีพี” ช้ำขยะ 30 ตัน/วัน น้ำเสีย 1,800 ลบ.ม./วัน – เมื่อผู้ประกอบการแลกค่าปรับแทนดูแลสิ่งแวดล้อม

21 มีนาคม 2017


เกาะพีพี

ปัญหาขยะทะเลที่เป็นกระแสอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิด ข้อมูลจากกรีนพีซพบว่า ทุกปีมนุษย์ผลิตพลาสติกใช้มากถึง 300 ล้านตัน เทียบเท่าน้ำหนักช้าง 55 ล้านตัว และจะมีพลาสติกประมาณ 10 ล้านตัน เล็ดลอดสู่ท้องทะเลและมหาสมุทรทั่วโลก

ข้อมูลขยะทะเลของไทย ปี 2558 พบว่า 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลมีปริมาณขยะถึง 10 ล้านตัน และมีขยะมากถึง 5 ล้านตันที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง จนมีโอกาสถูกพัดพาลงทะเล กลายเป็นขยะทะเล ซึ่งแต่ละปีจะมีขยะพลาสติกลงทะเลมากถึง 5 หมื่นตัน หรือประมาณ 750 ล้านชิ้น จำนวนนี้เป็นถุงพลาสติกมากที่สุดถึง 13% ดังนั้น แพขยะยาวประมาณ 20 กิโลเมตร ที่ จ.ชุมพร ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ เพราะขณะเดียวกันพื้นที่เกาะพีพี ต้องเผชิญปัญหาดังกล่าวเป็นประจำทุกฤดูมรสุม

“พีพี” ช้ำ ขยะ 30 ตัน/วัน น้ำเสียอีก 1,800 ลบ.ม./วัน

“แพขยะที่เกาะพีพีมีมาตั้งแต่ผมจำความได้ ตอนนี้ผมอายุ 61 ปีแล้ว ปริมาณที่เห็นก็มีมากขึ้นทุกปี มันมาตามธรรมชาติของกระแสน้ำในฤดูมรสุม พัดเอาขยะจากเกาะต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้ จากบกที่ จ.ภูเก็ต จ.กระบี่ หรือขยะที่ลอยอยู่ตามท้องทะเลมานาน (ขยะที่มีเพรียงเกาะ) มารวมที่เกาะพีพี ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าจะจัดการแพขยะทั้งหมดได้ และบางครั้งก็ต้องใช้เวลาร่วมเดือน” นายประเสริฐ วงศ์นา รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง กล่าว

เนื่องด้วยอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของไทยและมีชื่อเสียงระดับโลก มีนักท่องเที่ยวมาเยื่อนที่แห่งนี้เพิ่มขึ้นทุกปี ปี 2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 1,260,000 คน ปี 2559 เพิ่มจำนวนเป็น 1,739,571 คน และในปี 2560 ยอดสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ มีนักท่องเที่ยวแล้ว 682,839 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมากว่า 2 หมื่นคน ซึ่งสามารถทำรายได้ให้ จ.กระบี่นับหมื่นล้านบาทต่อปี

ที่มาภาพ: เทสโก้ โลตัส
นักท่องเที่ยว

ขณะที่จำนวนประชากรบนเกาะพีพีมี 1,649 คน 215 ครัวเรือน ประชากรแฝงราว 3,000 คน มีโรงแรมจำนวน 79 แห่ง สถานประกอบการทัวร์ 15 แห่ง ร้านอาหาร/ภัตตาคาร 46 แห่ง ร้านดำน้ำ 6 แห่ง ร้านนวด 22 แห่ง ธนาคาร 3 แห่ง ตลาดสด 1 แห่ง พลาซ่า 1 แห่ง มินิมาร์ท 12 แห่ง โรงไฟฟ้า 1 แห่ง โรงพยาบาล/คลินิก 4 แห่ง

ดั้งนั้น นอกจากปัญหาแพขยะ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจท่องเที่ยวทำให้ปริมาณขยะบนเกาะเพิ่มขึ้น และการจัดการที่ก้าวไม่ทันการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจทำให้เกิดอีกหนึ่งปัญหาตามมา คือ น้ำเสีย

ในช่วงฤดูท่องเที่ยวปริมาณขยะบนเกาะพีพีมีสูงถึง 25-30 ตันต่อวัน ส่วนในช่วงปกติจะมีปริมาณขยะเฉลี่ย 20-25 ตันต่อวัน ซึ่งการท่องเที่ยวแบบวันเดย์ทริปก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้ปริมาณขยะทะเลเพิ่มขึ้น เนื่องจากสิ่งของที่นักท่องเที่ยวซื้อจากเกาะพีพี บ้างก็ถูกทิ้งลงทะเลระหว่างทาง หรือทิ้งไว้ในจุดท่องเที่ยวอื่นๆ ใกล้เคียง ส่งผลต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม

รองนายก อบต.อ่าวนางระบุว่า ปัญหาขยะบนเกาะ อบต. ยังรับมือไหว แต่สิ่งที่ตนกังวลกว่าคือปัญหาน้ำเสียที่ราชการไม่สามารถตรวจสอบได้ตลอด เพราะผู้ประกอบการอาจไม่ได้ปล่อยน้ำเสียโดยตรงแต่อาจทำโดยการเจาะบ่อซึม ทำให้น้ำเสียค่อยๆ ซึมผ่านทรายลงทะเล การควบคุมผู้ประกอบการนั้น อบต. ทำได้แค่เพียงปรับเมื่อพบการทำผิด การจะควบคุมผู้ประกอบการต้องอาศัยการบูรณาการร่วมจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะที่บังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมจะมีอำนาจลงโทษผู้ประกอบการที่หนักกว่า อบต.

ทั้งนี้ในช่วงเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา วิกฤติน้ำเสียบนเกาะพีพีกลายเป็นข่าวดัง เนื่องจากน้ำเสียได้เอ่อล้นจากบึงประดิษฐ์ที่ต้องรองรับน้ำเสียจากสถานประกอบการบนเกาะพีพีดอนปริมาณ 1,800 ลบ.ม. ต่อวัน ซึ่งหลังเหตุการณ์สึนามิในปี 2548 บ่อบำบัดสามารถบำบัดได้วันละ 300 ลบ.ม. เท่านั้น หรือเพียง 17% ของปริมาณน้ำเสียทั้งหมด ทำให้แต่ละวันมีน้ำเสียประมาณ 1,500 ลบ.ม. ไหลลงทะเล ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังรอบเกาะ

แหล่งท่องเที่ยวที่ถูกทำร้าย เมื่อผู้ประกอบการยอมถูกปรับ

นายประเสริฐ วงศ์นา รองนายก อบต.อ่าวนาง จ.กระบี่

จากปริมาณขยะจำนวนมาก อบต. จึงเป็นผู้เข้ามารับผิดชอบจัดการขยะทั้งหมดบนเกาะ โดยได้จัดสรรงบประมาณไว้จำนวน 10 ล้านบาท สำหรับว่าจ้างคนเก็บขยะโดยจะเริ่มเก็บขยะในช่วงเวลา 21.00-05.00 น. มีการกำหนดเวลาจัดเก็บเป็นโซนให้ผู้ประกอบการทราบ จากนั้นนำขึ้นเรือรับจ้างขนขยะเพื่อขนไปคัดแยกบนฝั่ง และฝังกลบโดยว่าจ้างให้เทศบาลกระบี่เป็นผู้ดำเนินการ

นายประเสริฐระบุว่า เนื่องจากเกาะพีพีอยู่ไกลจากฝั่ง การจะให้ผู้ประกอบจัดการกับขยะที่เกิดขึ้นเองก็ยาก  ในอดีตรัฐบาลเคยมอบเตาเผาขยะให้แต่ในวันที่เผาขยะไม่หมดก็กลายเป็นมลภาวะทางกลิ่นรบกวนคนทั้งเกาะ และพื้นที่บนเกาะก็เต็มหมดแล้วจะสร้างเตาเผาเพิ่มจึงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่ทำได้และเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดตอนนี้คือการนำขยะทั้งหมดขึ้นไปกำจัดบนฝั่ง ร่วมกับการรณรงค์ไม่ใช้กล่องโฟม

ด้านนายจิรศักดิ์ พุทธวรรณ จากกลุ่มพิทักษ์พีพี กล่าวว่า กลุ่มได้จัดกิจกรรมเก็บขยะบนหาดเดือนละ 3 วัน และจะมีการเก็บขยะรอบเกาะในทุกๆ วันสำคัญต่างๆ เช่น วันที่ 15 ตุลาคมวันรักษ์พีพี วันแม่ วันพ่อ หรือวันครบรอบเหตุการณ์สึนามิ บางครั้งก็มีอาสาสมัครจากกรุงเทพฯ มาเก็บขยะใต้น้ำ ซึ่งแต่ละครั้งที่เก็บได้มีปริมาณไม่ต่ำกว่า 4 ตัน เป็นขยะจำพวกพลาสติก อุปกรณ์ก่อสร้าง อวนหาปลา ฯลฯ และแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอด

“ในทุกๆ วันทางกลุ่มมีผู้ที่จัดทัวร์ให้นักท่องเที่ยวดำน้ำ ก็จะคอยสังเกตปริมาณขยะบริเวณที่ไป หากพบว่ามีปริมาณมากเกินกว่าจะจัดการได้เองก็จะวิทยุเรียกกำลังเสริม ทั้งจากคนของกลุ่ม และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ให้เข้ามาช่วยเก็บขยะทะเลเหล่านั้น” นายจิรศักดิ์กล่าว

การจัดการขยะ

สำหรับปัญหาน้ำเสีย นายประเสริฐกล่าวว่า เป็นปัญหาที่ค่อนข้างยากในการตรวจสอบ และเมื่อพบผู้ประกอบการบางรายก็ยินดีจ่ายค่าปรับ เพราะอัตราปรับที่ อบต. มีอำนาจดำเนินการไม่สูงมาก อยู่ที่ 500-2,000 บาทเท่านั้น หากเทียบกับรายได้ที่ผู้ประกอบการได้แต่ละเดือน จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยเฉพาะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เขามีอำนาจสั่งปิดสถานประกอบการได้หากพบว่าทำผิดซ้ำซาก ซึ่งปัจจุบัน อบต.อ่าวนางได้ร่วมมือกับหน่วยงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ (ทส.จ.) หน่วยงานสาธารณสุขจังหวัด อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราฯ และกองทัพเรือภาคที่ 3 ในการลงตรวจสถานประกอบการทั่วทั้งเกาะ ก็คิดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในอนาคต

“เคยมีการคุยกับผู้ประกอบการเรื่องปิดเกาะ แต่เพราะเขายึดพีพีเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้ ซึ่งผู้ประกอบการบนเกาะพีพีปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาซื้อที่ดินจากคนท้องถิ่น ประกอบกับผู้ประกอบการจาก จ.ภูเก็ตที่นำทัวร์มาลง ทำให้ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก ชาวบ้านเองก็เคยทำเรื่องร้องทุกข์ไปยังส่วนกลางแต่เรื่องก็นิ่ง ซึ่งหากสามารถควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวได้บ้าง และผู้ประกอบการไม่ละเลยที่จะใช้บ่อดักไขมัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายๆ อย่างก็จะทุเลาลง เพราะหากไม่ช่วยกันดูแลรักษาต่อไปก็จะไม่มีแหล่งรายได้ให้พวกเขา” นายประเสริฐกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา นายพันคำ กิตติธรกุล นายก อบต.อ่าวนาง ได้รับแจ้งจาก จ.กระบี่ ว่าได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 11 ล้านบาท เพื่อออกแบบการแก้ไขปัญหาน้ำเสียที่ยืดเยื้อมากว่า 10 ปี ซึ่งการออกแบบครั้งนี้ยังต้องหางบประมาณพิเศษมาช่วยสมทบ เนื่องจากทาง จ.กระบี่เคยประมาณการค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการออกแบบและก่อสร้างจุดบำบัดน้ำเสียอยู่ที่ราว 100 ล้านบาท

เทสโก้ฯ ร่วม “ปันเป๋า”- รัฐเล็งเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจโมเดิร์นเทรดรายใหญ่อย่างเทสโก้ โลตัส ได้มีความพยายามลดการใช้ถุงพลาสติก โดย นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการ แผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน เทสโก้ โลตัส ระบุว่า เทสโก้ฯ เป็นองค์กรที่ใช้ถุงพลาสติกในการดำเนินธุรกิจด้วย ฉะนั้น เทสโก้ฯ จึงมีหน้าที่และมีอำนาจในการลดการใช้มันโดยตรง โดยเริ่มจับหลักเพื่อทำโครงการลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างชัดเจนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

“ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมและความเคยชินของประชาชน ซึ่งในช่วงแรกที่เริ่มโครงการลูกค้าแสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนเมื่อพนักงานถามว่าต้องการถุงพลาสติกหรือไม่ แต่ในปัจจุบันลูกค้าเริ่มเข้าใจ ทุกวันนี้คนไทยกำลังเดินจากจุดการรณรงค์ไปสู่จุดของการมีข้อบังคับเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก เชื่อว่าถ้าประชาชนหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการใช้ถุงพลาสติก ปฏิเสธการรับถุงพลาสติกจากร้านค้าต่างๆ เพียงคนละ 1 ใบต่อวัน  ปริมาณขยะจากถุงพลาสติกก็จะลดได้หลายล้านใบ ทำให้ต้นทางของขยะที่จะไหลลงไปทำร้ายทะเลก็จะลดลง”

ในปี 2560 เทสโก้ โลตัส พยายามสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้านำถุงผ้ามาใช้ใส่สินค้าในทุกสาขา โดยเลือกพื้นที่เกาะพีพีนำร่องโครงการปันเป๋า นำถุงผ้าจำนวน 1,000 ใบ สร้างสังคมยืมคืนมุ่งปลูกฝังพฤติกรรมลดใช้ถุงอย่างจริงจัง ด้วยความร่วมมือจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กลุ่มพิทักษ์พีพี อบต.อ่าวนาง อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราฯ และกรีนพีซ ประเทศไทย พร้อมร่วมพูดคุยถึงวิฤติการใช้ถุงพลาสติกที่กำลังส่อเค้ารุนแรง

ถุงผ้าจากโครงการ “ปันเป๋า”

“เราลองรีเสิร์ชจากลูกค้าที่ใช้บริการ พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไปจาก 5 ปีที่แล้ว ลูกค้าพยายามใช้ถุงผ้า และพยายามเลี่ยงที่จะใช้ถุงพลาสติกมากขึ้น แต่หลายคนประสบปัญหา คือ การลืมนำถุงผ้ามา เราจึงทดลองทำโครงการปันเป๋า นำถุงผ้าไปตั้งไว้ในทุกสาขาให้ลูกค้าได้หยิบใช้ เป็นระบบ ยืม-คืน ขอให้ผู้ยืมนำถุงกลับมาคืนเพื่อเป็นประโยชน์กับลูกค้าท่านอื่นๆ ต่อไป ทำให้เกิดสังคมแห่งการแบ่งปันและรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ซึ่งเคยทดลองกับสาขาที่อยู่บริเวณชุมชนพบว่ามีการนำมาคืน แต่แม้ไม่นำมาคืนก็เชื่อว่าถุงผ้าดังกล่าวจะนำไปใช้ทดแทนถุงพลาสติกกรณีอื่นๆ ได้ เช่น นำไปใช้กับเทสโก้ฯ สาขาอื่นได้” นายชาคริตกล่าว

และปัจจุบันเทสโก้ฯ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิกระจกเงาในการปันอาหารที่เหลือจากเชลฟ์ เช่น ผัก ผลไม้ ในแต่ละวันให้แก่ผู้ยากไร้และคนไร้บ้าน เพื่อลดปริมาณขยะอินทรีย์ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละวัน

อนึ่ง ทางกลุ่มเทสโก้ที่เป็นบริษัทแม่ได้มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมมากว่า 10 ปีแล้ว ทั้งการจูงใจลูกค้าโดยการให้กรีนพอยต์ การลดการใช้ถุงพลาสติก ฯลฯ จนในปัจจุบันในประเทศอังกฤษได้มีการออกกฎหมายให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินหากต้องการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่เทสโก้ โลตัส นำมาปรับใช้

ด้านนายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่เข้มงวดเรื่องกฎระเบียบ มีการทำโครงการประเทศไทยไร้ขยะ ผลักดันให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องลดขยะในจังหวัดของตนให้ได้อย่างน้อย 5% ที่ผ่านสิ่งที่ภาครัฐทำส่วนใหญ่คือการรณรงค์ แต่ในอนาคตจะปรับให้เข้มข้นขึ้น

“อาจต้องมีค่าธรรมเนียม หรือกฎเกณฑ์ ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเคยได้กล่าวไว้ว่า ต้องหาทิศทางว่าจะทำอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้น ขณะเดียวกันก็ต้องให้ประชาชนยอมรับได้ด้วย ซึ่งการนำกฎเกณฑ์เช่นนี้มาใช้จะค่อยๆ ขยับตามพฤติกรรมและความร่วมมือ ความรับได้ของประชาชน เพราะการปลูกฝังแค่จิตสำนึกอาจช่วยได้ไม่มาก แต่การที่จะต้องจ่ายเงินซื้อจะช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้อย่างเห็นผลขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการคู่กันระหว่างกฎเกณฑ์และการสร้างจิตสำนึก” นายสากลกล่าว