เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด จัดงาน Shell Forum Energy Transition for Thailand’s Future โดย ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในหัวข้อ “Sustainable Energy Future: a Point of View” ว่า อนาคตพลังงานของประเทศไทยมีประเด็นจะต้องให้ความสำคัญสูงสุด 2 เรื่อง คือ 1. ความมั่นคงด้านพลังงาน 2. การพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน ภายใต้เป้าหมายราคาพลังงานที่ย่อมเยา จัดหาซื้อได้ และไม่เป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชน
ปัจจุบันไทยสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสำหรับความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงานของไทย แต่กำลังจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565 และ 2566 จึงต้องประมูลหาผู้ประกอบการให้ได้ก่อนสัญญาจะหมดลง เพื่อมาผลิตก๊าซธรรมชาติจากสองแหล่งนี้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดให้ยื่นซองประมูลภายในเดือนกันยายน 2561 คาดว่าจะสามารถสรุปตัดสินใจได้ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2561 และจะต้องทำสัญญาร่วมกันภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
“เป็นกำหนดการที่ให้ทุกท่านมั่นใจได้ว่าการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย บนพื้นฐานของการสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้จากแหล่งในประเทศในราคาที่ไม่แพง ระยะยาวอย่างน้อย 10 ปีข้างหน้านั้นมี และสามารถสร้างความมั่นใจได้ในระบบการประมูลซึ่งจะมีการเซ็นสัญญาภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า” ดร.ศิริกล่าว
นอกเหนือจากความมั่นคงด้านก๊าซธรรมชาติแล้ว ยังมีการสร้างความมั่นคงพลังงานของประเทศด้านอื่นๆ โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า ประเทศ
ไทยทำเอ็มโอยูซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว 9,000 เมกะวัตต์ เพราะระบบพลังงานของโลกในอนาคตจะมุ่งสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก ขณะที่บทบาทของน้ำมันและพลังงานชนิดอื่นจะมีสัดส่วนน้อยลงไป ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาแบบจำลอง Sky Scenario ของ ดร.โชว คง Chief Analyst จาก Royal Dutch Shell ผู้เชี่ยวชาญด้านการจำลองสถานการณ์อนาคตของบริษัทเชลล์ ซึ่งได้เปิดเผยข้อมูลทางเลือกพลังงานในแบบจำลอง Sky Scenario ภายในงาน
นอกจากนี้ยังมีในส่วนของโรงไฟฟ้าอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล โซลาร์ ลม เข้ามารวมด้วย รวมทั้งเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะทำให้มีระดับไฟฟ้าสำรองที่เชื่อถือได้ในปริมาณที่เพียงพอไปอีกระยะหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ยังมีการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (power development plan: PDP) ไปข้างหน้า 20 ปี โดยพิจารณาการใช้ไฟฟ้าเป็นรายภาค รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ให้สามารถเชื่อมโยงพึ่งพากันได้ทั่วทั้งประเทศ โดยจะมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ให้เป็นโรงไฟฟ้าที่มีความสำคัญอย่างมากในระบบพลังงานและระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ จะสร้างความแข็งแกร่งให้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือและพระนครใต้ โดยมีระบบป้อนก๊าซธรรมชาติโดยตรงไปสู่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือและพระนครใต้ ผ่านโครงการ FSRU (floating storage and regasification unit) ของ กฟผ. ที่จะนำเข้า LNG เพื่อเป็น supply channel ให้กับโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและพระนครใต้ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญมากสำหรับระบบความมั่นคงประเทศ
อย่างไรก็ดี ทิศทางการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยหลังจากนี้จะมาจากพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ในสัดสูงถึง 50% หรืออาจมากกว่านั้น ดังนั้น การออกแบบความมั่นคงของระบบพลังงานที่มีแหล่งไฟฟ้าที่แตกต่างจากเดิมที่คุ้นเคย จะต้องมีแนวคิดและวิธีการแบบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม เพราะระบบเดิมไม่น่าจะตอบโจทย์ได้อีกต่อไป
แม้กระทั่งผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลที่ภาคใต้ให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจและความมั่นคง โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรูปแบบให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วม เป็นผู้จัดหาเศษไม้หรือปีกไม้มาป้อนเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งก็คาดหวังว่าจะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ และยังช่วยลดปัญหาความแตกแยกให้น้อยลง
“เราไม่ได้บอกว่าทำทุกอย่างเพื่อความมั่นคงของระบบพลังงาน แต่เราจะใช้ระบบพลังงาน โดยเฉพาะในกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เหมาะสมกับท้องถิ่นและสร้างความมั่นคงให้ประเทศ โดยหวังว่าระบบพลังงานจากการมีส่วนร่วมของชุมชนจะเป็นส่วนช่วยสร้างความมั่นคง สร้างความกินดีอยู่ดีของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสร้างความมั่นคงของประเทศ โดยมีพื้นฐานการผลิตหลักมาจากชีวมวล เป็น renewable energy systems จริงๆ ที่จะเกิดขึ้น” ดร.ศิริกล่าว
มากไปกว่านั้น กระทรวงพลังงานยังได้พยายามใช้พลังงานช่วยดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การสร้างระบบปั๊มน้ำจากบ่อบาดาลในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่ชาวสวนมีแหล่งน้ำใช้ทั้งปีในทุกปี สามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรขายได้ในราคาดี และจะช่วยทำให้ประชาชนวางแผนชีวิตครอบครัวให้ดีขึ้นได้ โดยปัจจุบันกระทรวงพลังงานทำไปแล้ว 1,000 หน่วย หน่วยละ 7-10 ครอบครัว จำนวนกว่า 3 หมื่นคน และในอนาคตจะทำเพิ่มอีก 5,000 หน่วยทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในการประกาศใช้นโยบายพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ก็คือ จะต้องขยับจาก MOU หรือนโยบาย มาสู่แผนงานที่ชัดเจนเป็น “MO Do” (เอ็มโอดู) โดยความร่วมมือของทุกคน และเคลื่อนไปสู่ “MO Done” (เอ็มโอดัน) การทำให้เกิดผลสำเร็จ
“การประกาศใช้นโยบายพลังงานหมุนเวียนต่างๆ เปรียบเสมือนเป็นเอ็มโอยูที่เราตกลงจะทำ แต่เมื่อแปลงเป็นแผนงานก็จะเริ่มเป็นเอ็มโอดู ต้องมาทำกัน แต่เอ็มโอดูเฉยๆ ผมคิดว่ายังไม่เพียงพอ แต่เราต้องนำไปสู่เอ็มโอดันทำให้สำเร็จ”
“แต่การทำ sustainable ให้สำเร็จก็กลับมาที่บริบทความยั่งยืนตามหลักของสหประชาชาติ โดยเติมคำว่า affordable เพราะความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่ถ้าราคาไม่ย่อมเยา ไม่มีคนอยากซื้อ ไม่มีใครอยากได้ ผมก็ไม่คิดว่ายั่งยืน ดังนั้นทิศทางมันอยู่ตรงนี้ เรามาร่วมมือกันช่วยกันเดินไปสู่ฝันของ ดร.โชว คง ใช้พลังงานทดแทน โดย 50% มาจากพลังงานหมุนเวียน มาจากโซลาร์ ร่วมกันในกระแสพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ต้องจ่ายในราคาแพง” ดร.ศิริกล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเพิ่มเติมโดยย้ำว่า มีความเห็นสอดคล้องกับ Dr.Cho Khong ว่าระบบพลังงานไฟฟ้าจะเป็นพลังงานที่มีความสำคัญสูงสุดของประเทศไทยในอนาคต คาดว่าจะมีการใช้มากถึง 70-80% และมีสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ renewable Energy โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์เป็นสัดส่วนที่สูงมากถึง 40-50% ขึ้นไป
ขณะที่ในภูมิภาคอาเซียนจะมีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับผลิตไฟฟ้าสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆทั่วโลกถึง 20-30% ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้สูงขึ้นจาก 14% ในปัจจุบัน เป็น 30% ในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยน่าจะเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ในการผลักดันให้เกิดขึ้น
เช่นเดียวกับเป้าหมายของสหประชาชาติต่อระบบพลังงานของโลกในอนาคตที่ยั่งยืน โดยมีราคาพลังงานที่ย่อมเยา ไม่แพง หรือ affordable ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่เป็นภาระกับค่าครองชีพ ซึ่งก็เป็นเป้าหมายเดียวกับการผลักดันนโยบายพลังงานของรัฐบาลเช่นกัน
“ราคาพลังงานในอนาคตจะต้องไม่แพง ไม่ว่าจะเป็นพลังงานหลัก พลังงานหมุนเวียน พลังงานจากก๊าซ จากถ่านหิน น้ำ หรือโซลาร์ ยกเว้นราคาค่าไฟจากขยะ ที่มีค่าเก็บขยะถูก แต่มีความจำเป็นจะต้องบำบัดและกำจัดอย่างเร่งด่วน ซึ่งอาจจะทำให้ค่าการผลิตไฟฟ้าจากขยะมีราคาสูงอยู่บ้าง แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งกระทรวงมหาดไทยกำลังศึกษาวิเคราะห์เรื่องนี้อยู่ และจะมีคำตอบให้ในไม่ช้า” ดร.ศิริกล่าว