ThaiPublica > เกาะกระแส > ถอดบทเรียนจากกรณีเหมืองชิลี สู่การฟื้นฟูร่างกายจิตใจ 13 หมูป่าและการรับมือกับชื่อเสียงหลังจากนี้

ถอดบทเรียนจากกรณีเหมืองชิลี สู่การฟื้นฟูร่างกายจิตใจ 13 หมูป่าและการรับมือกับชื่อเสียงหลังจากนี้

12 กรกฎาคม 2018


ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/ThaiSEAL/photos/rpp.1393136284143100/1647692415354151/?type=3&theater

ขณะที่ทั่วโลกพากันยินดีกับไทยที่ประสบความสำเร็จในการช่วยชีวิตนักฟุตบอลเยาวชนทีม “หมูป่าอะคาเดมี” 12 คน และโค้ชอีก 1 คนออกจากถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้ทั้งหมดในวันอังคารที่ 10 กรกฎาคม 2561 หลังจากที่ติดอยู่ในถ้ำตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2561 รวม 18 วัน ยังมีหลายฝ่ายออกมาเตือนว่าแม้ภารกิจการช่วยชีวิตเสร็จสิ้น แต่การฟื้นฟูร่างกายและจิตใจเพิ่งเริ่มต้น

ทั้ง 13 คนอยู่ภายใต้การดูแลของคณะแพทย์ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งได้เปิดการแถลงข่าวถึงความคืบหน้าของการดูแลเมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 11 กรกฎาคม 2561 ว่า ทุกคนปลอดภัยและสบายดี

ระวังปัญหาสุขภาพจิต

ก่อนที่ทีมกู้ภัยจะนำตัวหมูป่าชุดแรกออกมาจากถ้ำ แม้มีการพบตัว มีการนำอาหารกับน้ำเข้าไปให้พร้อมกับมีแพทย์คอยดูแล และขณะนั้นยังคาดการณ์กันว่าคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะนำตัวทั้ง 13 คนออกมาได้ สำนักข่าวบีบีซี ได้นำเสนอรายงานข่าวในวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 ถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับเด็กหลังจากที่ติดอยู่ในถ้ำเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ ด้วยการสัมภาษณ์ ดร.แอนเดรีย ดาเนส ที่ปรึกษาด้านเด็กจาก King’s Collage และนักจิตวิทยาวัยรุ่นจาก National and Specialist CAMHS Trauma and Anxiety Clinic ในลอนดอน

ดร.แอนเดรียกล่าวว่า ในระยะสั้น เด็กหลายคนที่ประสบกับอุบัติภัยที่มีผลต่อจิตใจอาจจะเกิดการกลัว ต้องการอยู่ใกล้กับคน มีอาการสั่น หรืออารมณ์เสียง่าย อย่างไรก็ตามเด็กซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน กลุ่มคน ดังเช่นทีมฟุตบอล จะช่วยป้องกันผลกระทบทางด้านจิตใจได้

ศาตราจารย์ โดเนลสัน อาร์. ฟอร์ไซท์ จากมหาวิทยาลัยริชมอนด์ ในรัฐเวอร์จิเนีย มีความเห็นที่ไม่แตกต่างโดยกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นก่อนหน้าชี้ให้เห็นว่า การเป็นกลุ่มจะดึงให้รวมตัวกัน มีการจัดการทรัพยากรที่มีร่วมกันเพื่อความอยู่รอด เพื่อที่ว่ามีใครสักคนที่รอดพ้นจากอันรายนั้นได้ ด้วยความเป็นกลุ่ม และเป็นกลุ่มที่มีการจัดการ

รายงานข่าวระบุว่า เด็กๆ ควรได้รับการสนับสนุนให้พูดถึงความรู้สึกของตัวเองและไม่ควรปิดกั้นอารมณ์ ความรู้สึก นอกจากนี้ การติดต่อกับครอบครัวจะช่วยปลุกปลอบขวัญและกำลังใจให้กับเด็ก ขณะเดียวกันระหว่างที่อยู่ในถ้ำหลังจากทีมกู้ภัยพบเจอก็ยังมีคนอยู่เป็นเพื่อนกับเด็ก

ศาตราจารย์ รัสเซลล์ ฟอสเตอร์ ประธานสถาบัน Circadian Neuroscience แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดให้ความเห็นว่า ความท้าทายหลักของกลุ่ม คือ การปรับตัวในถ้ำในความมืด เนื่องจากการที่มีแสงไม่เพียงพอจึงยากที่จะบอกว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน นาฬิการ่างกายหรือนาฬิกาชีวิต 24 ชั่วโมงจะรวนไปหมด ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อการนอนหลับ แต่ยังมีผลต่อระบบการทำงานอื่นๆ ในร่างกาย เช่น กระบวนการเมตาบอลิซึม การสร้างเซลล์ใหม่ อารมณ์ และระบบภูมิคุ้มกัน

ผลต่อร่างกายจากการติดถ้ำนาน 10 วัน ที่มาภาพ:
https://www.bbc.com/news/world-asia-44701043

แต่ศาตราจารย์ฟอสเตอร์เชื่อว่า ทีมกู้ภัยคงมีการเพิ่มแสงภายในถ้ำเพื่อให้เด็กแยกรอบกลางวันกลางคืนได้ เช่นเดียวกับวิธีการที่เคยทำในการช่วยเหลือคนงานที่ติดอยู่ภายใต้เหมืองที่ชิลี

ดร.แอนเดรียกล่าวว่านอกเหนือจากการป้องกันอาการเจ็ทแล็ก (Jet lag) ที่เกิดขึ้นเมื่อกลับขึ้นมานอกถ้ำ ระยะเวลาของการได้รับแสงจะช่วยให้กลุ่มเด็กๆ ปรับตัวให้เข้าชีวิตประจำวันได้เท่าๆ กับความเป็นไปได้ที่จะทำให้พฤติกรรมยุ่งเหยิง แต่ก็ทำให้เกิดการรับรู้ของภาวะปกติ

ส่วนประสบการณ์ในถ้ำจะมีผลต่อเด็กไปอีกนานหลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือให้ออกมาแล้ว โดยศาตราจารย์ซานโดร กาลีอา คณบดี และศาสตราจารย์โรเบิร์ต เอ น็อกซ์ จากภาควิชาสาธารณสุข มหาวิทยาลัยบอสตัน ให้ความเห็นว่า การที่เด็กประสบกับภาวะที่ผลต่อจิตใจค่อนข้างมากแบบนี้ จะมีความเสี่ยงต่อการมีอารมณ์แปรปรวนในระยะปานกลางและระยะยาว เช่น มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล และมีอาการเครียดและเจ็บป่วยหลังจากเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง (PTSD)

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนจะมีอารมณ์แปรปรวน แต่คาดว่าประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งกลุ่มอาจจะมีปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งในบรรดาเด็กเหล่านี้ สัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 อาจจะมีปัญหาระยะยาว ซึ่งต้องมีการเยียวยา รวมไปถึงการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy : CBT) และการใช้ยา

ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ระหว่างกันของแต่ละสมาชิกในกลุ่มและกับสังคมภายนอกกลุ่ม ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูระยะยาว ต้องฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ

ทางด้านสำนักข่าว CBC รายงานในวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 ว่าหลังจากได้รับการช่วยเหลือให้ออกจากถ้ำ เด็กๆ ต้องได้รับการฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องผ่านให้ได้

ดร.ปีเตอร์ ลิน ให้ความเห็นกับ CBC News ว่า การขาดสารอาหารและภาวะการสูญเสียน้ำหมายถึงการมีปัญหาทางด้านร่างกายอย่างเฉียบพลันทันทีที่ออกจากถ้ำ

ดร.ลินกล่าวว่า เมื่อใครคนใดคนหนึ่งได้รับการช่วยเหลือ ก็จะเป็นลมหมดสติ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะมาจากการที่อะดรีนาลีนหลั่งมากเกินไป ซึ่งจะมีผลให้ความดันโลหิตสูงและหัวใจเต้นเร็วเพื่อเตรียมพร้อมให้ร่างกายตื่นตัวมากกว่าปกติ มีพละกำลังมากขึ้น รับกับภาวะอันตรายหรือพร้อมต่อสู้ และเมื่อปลอดภัยแล้ว ระบบร่างกายก็จะปิดตัว

ทีมหมูป่าอาศัยน้ำดื่มที่มีและน้ำในถ้ำเพื่อการดำรงชีวิต ต่อมาได้รับโปรตีนเหลวหลังจากที่ทีมกู้ภัยพบตัวในวันที่ 2 กรกฎาคม แต่ร่างกายอ่อนแอไปแล้ว ซึ่ง ดร.ลินกล่าวว่า ภาวะนี้เหมือนกับการที่ตั้งใจอดอาหาร ร่างกายของเราจะดึงโปรตีนและสารอาหารที่สะสมไว้ออกมาใช้ รวมทั้งชั้นไขมันที่สะสม ทะลุไปยังกล้ามเนื้อ เพื่อสร้างน้ำตาลให้ระบบร่างกายทำงานได้ตามปกติ นอกจากนี้ระบบการนอนหลับอาจจะผิดปกติเพราะตกอยู่ในความมืดมาสองสัปดาห์

ปฏิบัติการที่โลกต้องจดจำThe operation the world never forgets.18 วัน ที่ผู้คนทั้งโลกรวมใจมาอยู่ด้วยกัน รวมพลังช่วยกันพานักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี 12 คนและโค้ช กลับบ้านและเราจะจดจำความเสียสละ ความงดงามในจิตใจของเรือโทสมาน กุนัน ตลอดไป“ภารกิจไม่สำเร็จ ไม่พบเราไม่เลิก”Hooyah Hooyah Hooyah

Posted by Thai NavySEAL on Wednesday, July 11, 2018

ที่มา : https://www.facebook.com/ThaiSEAL/

หวั่นผลกระทบเหมือนชาวเหมืองชิลี

ตามกระบวนการดูแลของแพทย์นั้น เมื่อเด็กออกจากถ้ำ ต้องมีการตรวจและประเมินการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย เช่น ไต ตับ เนื่องจากขาดโปรตีน ที่อาจจะมีผลลงไปถึงเซลล์ และก่อนหน้านี้ทีมแพทย์ได้แสดงความกังวลต่ออุณหภูมิของร่างกายและปอดที่อาจจะติดเชื้อได้จากค้างคาวและขี้นภายในถ้ำ

ดร.ลินกล่าวว่า ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจนกว่าเด็กที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์จะถือว่าปลอดภัยอย่างแท้จริง เพราะยังมีอีกความกังวลหนึ่งคือ การที่ร่างกายจะย่อยอาหารได้ตามปกตินั้นจะต้องได้รับน้ำที่เพียงพอและอวัยวะทำงานปกติ และตับอ่อนจะต้องกระตุ้นให้เอนไซม์ทำงานเพื่อย่อยอาหาร แต่เอนไซม์นั้นสร้างมาจากโปรตีน และโปรตีนนั้นมาจากโปรตีนที่กินเข้าไป

เด็กไม่ได้รับโปรตีนเพียงพอมาตลอด 10 วัน และร่างกายดึงโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้เพื่อความอยู่รอด จึงเป็นสาเหตุว่าระบบภายในร่างกายยังทำงานได้ไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม การที่ยังเป็นเด็กอายุน้อย ก็หวังว่าร่างกายจะฟื้นตัวได้เร็ว

นอกจากการฟื้นฟูทางร่างกายแล้ว ดร.ลินกล่าวว่า เหตุการณ์อาจจะมีผลกระทบทางด้านจิตใจเต็มๆ รวมทั้งมีผลต่อ PTSD เนื่องจากสมองสร้างวงจรการจำเหตุการณ์อันตรายนั้นไว้ ทั้งความมืด ความเย็น การหดตัวอยู่ในที่แคบ ดังนั้น สมองก็จะสั่งการว่า ฉันจะประสาทเสีย (panic) และต้องออกไปจากสถานการณ์นี้ เช่น การขึ้นลิฟต์ เพราะเป็นพื้นที่ปิด ประสาทเสีย หรือความมืด ทันใดนั้นก็จะประสาทเสีย และอาจจะฝันร้ายด้วยก็ได้

ดร.ลินกล่าวว่า อาการเหล่านี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วกับชาวเหมืองชิลี และคาดว่าจะเกิดขึ้นกับเด็กทีมหมูป่าเช่นกัน เพราะเมื่อมีการสอบถามกลับไปหลังจากเหตุการณ์ที่ชิลีผ่านไป 5 ปีก็ยังพบว่ายังคงมีปัญหาทางจิตใจ ทางจิตวิทยา

ในปี 2010 ชาวชิลี 33 คนต้องติดอยู่ใต้ดินที่ติดอยู่ใต้ดินนาน 69 วัน จากเหตุการณ์เหมืองถล่ม

ดร.ชอง โรแมกโนลี ที่ได้ช่วยเหลือชาวชิลีทั้ง 33 คนที่ติดอยู่ใต้ดินในปีนี้กล่าวว่า กรณีของไทยกับชิลีมีประเด็นหลักที่แตกต่างกันคือ ชาวเหมืองที่ได้ช่วยเหลือมานั้นมีความคุ้นเคยกับพื้นที่แคบๆ ขณะที่เด็กและโค้ชไทยนั้นไม่มีประสบการณ์กับที่แคบๆ มาก่อน

กระบวนการฟื้นฟูเพิ่งเริ่มต้น อย่าดันเป็นคนดังชั่วข้ามคืน

สำนักข่าว ABC News เผยแพร่บทความเรื่อง How the cave ordeal could affect the Thai soccer team’s mental health. โดย ดร. ไมเคิล แมคอินไทร์ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561

โดยมีใจความว่า เด็กๆ ได้ออกจากมาจากพื้นที่อันตรายเรียบร้อยแล้ว แต่กระบวนการฟื้นฟูเพิ่งเริ่มต้น และการดูแลร่างกายต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก แต่แพทย์ยังคงกังวลต่อผลด้านจิตวิทยาที่เกิดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและผลโดยรวมต่อจิตใจ ซึ่งดร.สตีเวน เบอร์โกวิทซ์ ประธานร่วมของคณะกรรมการด้านก่อการร้ายและภัยพิบัติ แห่ง American Academy of Child and Adolescent Psychiatry ให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่เด็กๆ จะมีอาการที่แสดงให้เห็น เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่น่ากลัว เขย่าขวัญ

บทความระบุว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่น่ากลัวขึ้น คนทั่วไปจะมีอาการซึมเศร้าแต่จะหายไปเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตาม ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังคงทนทุกข์กับอาการแบบนี้นานหลายปี

Department of Veterans’ Affairs National Center for PTSD ของสหรัฐฯ ขยายการศึกษาถึงผลที่เกิดขึ้นในกองทัพสหรัฐฯ พบว่าการที่จะเกิดผลต่อจิตใจต้องผ่าน 4 ขั้นตอนด้วยกัน ระยะแรก คือ ผลกระทบ ระยะที่สอง การช่วยเหลือ ระยะที่สาม การฟื้นฟู และระยะสุดท้าย การเสริมสร้างระยะ ซึ่งแต่ละระยะ คนจะมีปฏิกิริยาตอบสนองที่แตกต่างกันและการแทรกแซงเพื่อการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตสามารถทำได้ตลอดกระบวนการ

บทความยังบอกว่า ยากที่จะบอกได้ว่า เด็กๆ จะเกิด PTSD หรือไม่ เพราะการตอบสนองเบื้องต้นต่อเหตุร้ายไม่สามารถนำมาคาดการณ์ผลระยะยาวได้ แต่การที่เด็กติดอยู่ในถ้ำเป็นเวลานานก็อาจจะมีเริ่มมีอาการ ปัจจัยเสี่ยงที่ผลต่อสุขภาพจิต ได้แก่ การอยู่ใกล้กับเหตุการณ์ ซึ่งรวมทั้งทีมกู้ภัย ครอบครัว ดังนั้น ชุมชน แรงกดดันด้านจิตใจเดิม ครอบครัว และอาการที่มีอยู่เดิม ก็อาจจะมีผลต่อการตอบสนองต่ออาการที่จะเกิดขึ้นใหม่ได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีชาวเหมืองชิลี 33 คน ที่ติดอยู่ใต้ดินปี 2010 เมื่อรอดชีวิตกลับมา บริษัทอนุญาตให้ลาป่วยจากอาการ PTSD ได้ถึง 6 ครั้งต่อปี

ความแข็งแกร่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว โดยทั่วไปแล้วเด็กกับวัยรุ่นมักจะแข็งแกร่งหลังจากประสบเหตุร้าย และกลับมาเหมือนเดิมได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน แต่ภายใต้เงื่อนไขว่าเป็นเพียงเหตุการณ์เดียว และต้องได้รับการสนับสนุนจากชุมชน ครอบครัว ครู โค้ช เพื่อนร่วมโรงเรียน

สำหรับเด็กไทยทั้ง 12 คนนั้น บทความระบุว่า ดูเหมือนกับว่าได้รับการสนับสนุนอย่างมาก อีกทั้งกลไกหรือวัฒนธรรมด้านการเยียวยาของไทยอาจจะแตกต่างจากที่อื่น แต่ที่สำคัญอย่าผลักดันให้เด็กกลายเป็นคนดังหรือมีชื่อเสียงขึ้นภายในเร็ววัน เพราะจะกระทบต่อการฟื้นฟูแบบธรรมชาติที่ค่อยเป็นค่อยไป จากการที่ทำให้เขากลายเป็นคนพิเศษและผลักดันให้เขาทำอะไรที่ไม่ใช่วิธีปกติ

นอกจากนี้ ควรมีการระวังในการใช้คำพูดกับเด็กๆ มีบางอย่างที่พูดได้ บางอย่างก็ไม่ควรพูด และควรหลีกเลี่ยงคำที่ว่า “ลืมๆ ไปเถอะ มันผ่านไปแล้ว หรือมันจบแล้ว” เพราะเป็นคำพูดที่ทำให้คนรู้สึกผิดและไม่ทำให้ก้าวผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้ง่าย

คำพูดที่ควรพูดควรจะเป็นคือ “เด็กๆ พวกเธอจะผ่านไปได้และฉันจะอยู่กับเธอในช่วงที่เธอกำลังจะก้าวผ่าน” และไม่จำเป็นที่ต้องพูดตลอดเวลาว่า “ปลอดภัยแล้วและเหตุการณ์นั้นจบลงแล้ว” แต่สิ่งที่เด็กควรได้ยิน คือ “พวกเธอเข้มแข็งมาก เธอเอาชีวิตรอดมาได้” และจะมีช่วงหนึ่งของเวลาที่พวกเด็กจะได้เรียนรู้ว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นก็มีผลดีต่อสุขภาพ และยังได้เรียนรู้ถึงจิตวิญญานความเป็นมนุษย์และความเชื่อมโยงคือสิ่งที่เข้ามาในชีวิต

สำหรับเด็กที่มีอาการ PTSD หลังจากที่หายช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว โดยทั่วไปการดูแลเยียวยาจะใช้วิธีการพบกับผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัด PTSD

ถอดบทเรียนจากชิลี

นายมาริโอ เซปูลเวดา หนึ่งในคนงานเหมือง 33 คนที่ติดอยู่ในเหมืองแร่ทองแดงแห่งหนึ่งในทะเลทรายอาตากามา ประเทศชิลี ในระดับความลึก 700 เมตรใต้ดินเป็นเวลา 69 วัน เมื่อปี 2010 ได้ติดตามการช่วยเหลือทีมหมูป่ามาตั้งแต่ต้น และระหว่างการค้นหาได้ส่งกำลังใจมาให้ผ่านคลิปวิดีโอความยาว 40 วินาที ที่ส่งถึงสำนักข่าวเอเอฟพี

นายมาริโอ เซปูลเวดา เมื่อได้รับการช่วยเหลือจากใต้เหมืองเป็นคนที่สอง ที่มาภาพ : https://www.cbc.ca/news/world/chilean-miner-cave-thai-soccer-team-1.4741524

นายเซปูลเวดาได้รับฉายาว่า ซูเปอร์มาริโอ้ เพราะความมุ่งมั่นที่จะปลุกกำลังใจของเพื่อนๆ ระหว่างที่ติดเหมืองให้มีชีวิตอยู่ต่อไป

เมื่อปฏิบัติการช่วยหมูป่าออกจากถ้ำครบทุกคนประสบความสำเร็จ นายเซปูลเวดาได้กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 ว่า “ไชโย ผมรู้สึกตื้นตันมาก ผมไม่รู้จะพูดว่าอะไรดี ผมหวังว่าเด็กๆ เหล่านี้จะตื่นเต้น” เขากล่าวชื่นชมทีมกู้ภัยยกย่องผู้เสียสละกับเอเอฟพี

นายเซปูลเวดายังให้สัมภาษณ์ สำนักข่าว CBC โดยยอมรับว่า แม้การติดอยู่ใต้เหมืองในปี 2010 จะผ่านไปแล้ว 8 ปี แต่ผลของเหตุการณ์ยังมีอยู่ โดยเขายังทรมานกับความบอบช้ำ และรู้สึกวิตกกังวลและเจ็บปวด

“ผมยังทุกข์กับผลกระทบด้านจิตใจ มันไม่ผ่านไปง่ายๆ เลย” นายเซปูลเวดายอมรับ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวการมอง ต้องใส่แว่นกันแดดตลอด และนอนหลับไม่สนิท

“เมื่อเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เช่นที่ประเทศไทยที่มีเด็กติดอยู่ในถ้ำ ทำให้ผมเกิดความเครียด วิตกกังวลและเจ็บปวด และนำผมกลับไปยังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวผมเอง ผมติดตามข่าวตั้งวันแรกจนถึงวันสุดท้าย ผมให้ความสนใจกับเรื่องนี้มาก” นายเซปูลเวดากล่าว

อย่างไรก็ตาม นายเซปูลเวดากล่าวว่า เชื่อมั่นว่าทีมหมูป่าจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้ดี เพราะหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เข้ามาดูแลและเตรียมความพร้อมสำหรับสิ่งที่จะต้องเจอในระยะต่อไป และเป็นการดูแลที่ดีกว่าที่พวกชาวเหมืองได้รับเสียอีก

กรณีการติดอยู่ในเหมืองของนายเซปูลเวดากับเพื่อนตั้งแต่วันที่ 5 เดือนสิงหาคม 2010 จากเหมืองถล่มได้รับความสนใจจากทั่วโลกเช่นเดียวกับกรณีเด็กไทยทั้ง 12 คนและโค้ช และแม้ว่าระยะเวลาที่เด็กติดอยู่ในถ้ำสั้นกว่าเวลาของกรณีที่ชาวเหมืองชิลี แต่นักจิตวิทยาประเมินว่า เด็กอาจจะมีอาการ PTSD ในระยาว

นายหลุยส์ เออร์ซัว หัวหน้าคนงานหรือโฟร์แมน ซึ่งเป็นคนสุดท้ายที่ขึ้นมาจากเหมือง กล่าวว่า การพูดคุยเกี่ยวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เขาสามาถรับมือกับความรู้สึกได้ ต่างจากเพื่อนๆ

“ในบรรดาเพื่อนของผม มีหลายคนที่ไม่สามารถพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อพูดขึ้นมา พวกเขาจะช็อก แต่ก็มีเพื่อนที่ปล่อยวางกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและปล่อยวางกับ 70 วันที่ติดอยู่ใต้ดิน” นายเออร์ซัวกล่าว

หลุยส์ เออร์ซัว คนสุดท้ายที่ขึ้นจากเหมืองชิลี ที่มาภาพ :
https://www.cbc.ca/news/world/chilean-miner-cave-thai-soccer-team-1.4741524

นายเออร์ซัวได้รับการยกย่องเพราะได้แสดงความเป็นผู้นำระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ ด้วยการช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่ติดอยู่ด้วยกันในช่วง 17 วันแรก ระหว่างที่ยังไม่สามารถติดต่อกับด้านบนได้

ชาวเหมืองที่ติดอยู่ในชั้นใต้ดินบางคนยังทำงานกับเหมือง แต่ต้องทำงานหนัก เพราะอาจจะตกงานได้หากแสดงออกถึงความอ่อนแอ ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่ชาวเหมืองต้องเจอ เพราะหลายคนยังหางานทำไม่ได้ แม้จะผ่านไปแล้ว 8 ปี ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสุขภาพจิต

นายเออร์ซัวกล่าวว่า ทีมนักฟุตบอลหมูป่าต้องพึ่งพาเพื่อนและครอบครัวในการจัดการด้านจิตใจที่อาจจะตามมา

“ผมคิดว่าขณะนี้พวกเขาอาจจะมีความอ่อนแอทางใจ แต่พวกเขาอายุยังน้อยและจะผ่านความบอบช้ำนี้ไปได้ ณ จุดนี้ครอบครัวต้องอยู่ใกล้ชิดและต้องให้กำลังใจให้การสนับสนุนอย่างมาก ให้ความรัก และหน่วยงานรัฐของไทยให้การดูแลเด็กอย่างดี โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้เด็กพบกับสื่อมวลชน” นายเออร์ซัวกล่าว

“เมื่อเวลาที่เด็กพร้อม เด็กก็จะพูดหรือให้ความเห็นในสิ่งที่พวกเขาประสบด้วยตัวเอง แต่ขณะนี้พวกเขาเพิ่งออกจากถ้ำมาได้

ชาวเหมืองชิลีเตือนรับมือกับชื่อเสียง

นายเออร์ซัวยังได้เตือนเด็กๆ ให้ระวังการถูกเอาเปรียบจากประสบการณ์ เพราะเขาเองยังรู้สึกขมขื่นกับสิ่งที่หลายฝ่ายจัดทำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหนังสือ การสร้างภาพยนตร์ และเห็นว่าพวกเขาไม่ได้รับการชดเชยอย่างที่ควรจะเป็น

“เราไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร เราไม่มีแนวทาง ใครจะบอกเราได้บ้างว่าข้อเท็จจริงๆ แล้วคืออะไรและเราถูกเล่นลูกไม้ในภายหลัง และหากว่าเด็กๆ ต้องเล่าเรื่องราวของพวกเขา ก็ไม่ควรที่จะมอบเรื่องราวนั้นให้ใคร โดยเฉพาะคนที่ใส่สูทผูกไท”

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ขณะที่โลกกำลังเฝ้ามองการช่วยเหลือเด็ก 12 คนและโค้ชออกจากถ้ำ อีกซีกหนึ่งของโลกชาวเหมืองชิลีกลุ่มหนึ่งก็ติดตามเรื่องราวด้วยความกระวนกระวาย เพราะพวกเขาก็เคยเป็นจุดสนใจของโลกในปี 2010 จากที่ติดอยู่ใต้ดินจากเหมืองถล่ม

แม้พวกเขาได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติท่ามกลางกระแสสังคม หลายคนกลับเจอปัญหาด้านความสัมพันธ์ที่พังทะลาย ปัญหาสุขภาพจิต ขาดเงิน ไม่มีงานทำ

นายเออร์ซัวกล่าวเตือนเด็กๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือให้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวและหลีกเลี่ยงการรับข้อเสนอทางการเงิน โดยให้ดูจากกรณีของเขาเป็นตัวอย่าง ที่ถูกชักจูงมาให้อยู่ในสายตาสื่อ ขณะที่ทนายความจัดทำสัญญามานำเสนอ และนักการเมืองเองก็ต้องการจังหวะนี้ให้เป็นจุดสนใจ

“พวกเด็กๆ และครอบครัวพวกเขาไม่สามารถรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้ เราเองยังทำไม่ได้เลยแม้เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว” นายเออร์ซัวในวัย 62 ปีกล่าว

นายเออร์ซัวยังชื่นชมเจ้าหน้าที่รัฐที่จัดการเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ไม่มีการให้ชื่อเด็กๆ ที่อยู่ในวัย 11-16 ปี รวมทั้งการให้เหตุผลของการนำตัวเด็กมาไว้ที่โรงพยาบาลว่าเพื่อป้องกันการติดเชื้อ