ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “นักดำน้ำอังกฤษเล่าขั้นตอนพาหมูป่าออกจากถ้ำ-13 หมูป่าเปิดเรื่องเล่าในความมืด” และ “อีลอน มันสก์ ขอโทษนักสำรวจถ้ำอังกฤษ ปมโดนกล่าวหาช่วยหมูป่าแค่ทำการตลาด”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “นักดำน้ำอังกฤษเล่าขั้นตอนพาหมูป่าออกจากถ้ำ-13 หมูป่าเปิดเรื่องเล่าในความมืด” และ “อีลอน มันสก์ ขอโทษนักสำรวจถ้ำอังกฤษ ปมโดนกล่าวหาช่วยหมูป่าแค่ทำการตลาด”

21 กรกฎาคม 2018


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 14-20 ก.ค. 2561

  • นักดำน้ำอังกฤษเล่าขั้นตอนพาหมูป่าออกจากถ้ำ-13 หมูป่าเปิดเรื่องเล่าในความมืด
  • กลุ่มครูรวมตัว ร้อง “ออมสิน” พักหนี้ ช.พ.ค.
  • อย. แจง เรื่อง สธ. ประกาศ ยกเลิกไขมันทรานส์ มีผล ม.ค. 62
  • เปิดโผทหาร 61 “บิ๊กแดง” คุม ทบ.
  • อีลอน มันสก์ ขอโทษนักสำรวจถ้ำอังกฤษ ปมโดนกล่าวหาช่วยหมูป่าแค่ทำการตลาด
  • นักดำน้ำอังกฤษเล่าขั้นตอนพาหมูป่าออกจากถ้ำ-13 หมูป่าเปิดเรื่องเล่าในความมืด

    ที่มาภาพ : เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (https://www.matichon.co.th/region/news_1048720)

    หลังจากช่วยนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี รวม 13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนได้เป็นเวลากว่าหนึ่งอาทิตย์ ในที่สุด เรื่องราวต่างๆ ที่ค้างคาใจผู้คนก็เริ่มมีคำตอบออกมา ทั้งจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในการกู้ภัย และจากปากคำของ 13 หมูป่า ที่ในที่สุดก็สามารถออกจากโรงพยาบาลได้แล้วทุกคน

    ในส่วนของการเจอและนำตัวทั้ง 13 คนออกมาจากถ้ำนั้น จอห์น โวลันเทน นักดำน้ำชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในสองดำน้ำที่พบกับเหล่าหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำเป็นพวกแรกเปิดเผยว่า การพบกับทั้ง 13 ชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องของความโชคดีดังที่มีการนำเสนอกันไปก่อนหน้านี้ แต่เกิดจากการทำงานอย่างหนัก โดยพวกเขาจะขึ้นเหนือน้ำในทุกที่ที่มีที่ว่าง โวลันเทนบอกว่าพวกเขาไม่เพียงตะโกนเรียกแต่ยังใช้วิธีตามหาด้วยการดมกลิ่นด้วย และพวกเขาได้กลิ่นของทั้ง 13 คนก่อนจะเจอตัวหรือได้ยินเสียงเสียอีก

    สำหรับการพาตัวนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีออกมาจากถ้ำนั้น โวลันเทนบอกว่ากลุ่มผู้ประสบภัยจะสวมหน้ากากดำน้ำแบบเต็มหน้าเพื่อให้หายใจสะดวกกว่าอุปกรณ์ช่วยหายใจแบบสวมไว้ที่ปาก ทุกคนจะสวมเสื้อที่เป็นทุ่นลอยโดยให้ถังออกซิเจนอยู่ที่หน้าอก มีการทำที่จับติดไว้ที่ส่วนหลังของเสื้อเพื่อง่ายต่อการพาแต่ละคนออกมา (โวลันเทนบอกว่าเหมือนหิ้วถุงช็อปปิ้ง) และผู้ที่ได้รับการพาตัวออกมาจะถูกผูกเชือกโยงไว้กับตัวผู้ที่นำออกมาด้วย

    ในด้านของนักฟุตบอลและโค้ชของทีมหมูป่าอะคาเดมีที่ได้รับการช่วยเหลือออกมาและรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์นั้น ล่าสุด วันที่ 18 ก.ค. 2561 ก็ได้มีการพาตัวไปแถลงข่าวก่อนส่งตัวกลับบ้าน ณ ห้องประชุมคชสาร องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย โดยคณะแพทย์ที่ดูแลได้ให้คำยืนยันว่าทั้ง 13 คนมีความพร้อมทั้งกายและใจที่จะกลับไปใช้ชีวิตตามปรกติ ส่วนเนื้อหาของการแถลงข่าวนั้น สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

    • สาเหตุที่เข้าไปในถ้ำเป็นการเข้าไปเพราะมีสมาชิกในทีมหลายคนยังไม่เคยไป ไม่ใช่เข้าไปเพื่อจัดงานวันเกิดกันแต่อย่างใด และกำหนดกันว่าจะเข้าไปเพียงหนึ่งชั่วโมง โดยจะต้องออกกันมาก่อนเวลาห้าโมงเย็น เพราะมีสมาชิกในทีมที่ต้องออกมาฉลองวันเกิดกับครอบครัว แต่สุดท้ายก็เจอน้ำขึ้นปิดทางจนไม่สามารถออกมาได้
    • ทุกคนเข้าไปโดยไม่ได้มีอาหารหรือเครื่องดื่มใดๆ ติดตัวไป การเอาชีวิตรอดในช่วงที่ติดอยู่ในถ้ำนั้นทำโดยการดื่มน้ำจากหินย้อยภายในบริเวณที่ทุกคนติดอยู่ และพยายามอยู่นิ่งๆ
    • มีความคิดที่จะมุดไปออกปลายถ้ำที่อยู่ไกลออกไป โดยความเสี่ยงคือหากมุดไปแล้วไม่เจอทางออกก็จะถูกปิดตายสองชั้น แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำเพราะน้ำขึ้นสูงมาก และมีความพยายามขุดผนังถ้ำเพื่อหาทางออก
    • ทุกคนเสียใจเรื่อง น.ต. สมาน กุนัน หรือจ่าแซม ที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ในการพาทั้ง 13 คนออกมา และมีความตั้งใจจะบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้
    • ลำดับการออกมาจากถ้ำนั้นเลือกเอาคนบ้านไกลออกก่อน โดยเหล่าสมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมีเลือกกันเองโดยสมัครใจ

    เรียบเรียงจาก
    เว็บไซต์บีบีซีไทย : คำต่อคำ ‘จอห์น โวลันเธน’ เปิดใจกับ ‘บีบีซี’ ครั้งแรกหลังจบภารกิจกู้ 13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวง
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ : ‘ติดถ้ำ’ บทเรียนชีวิต 13 หมูป่าเปิดใจ-กลับบ้าน
    เว็บไซต์ไทยพีบีเอส : “ฝันเป็นนักฟุตบอล-หน่วยซีล” ทีมหมูป่า เปิดใจครั้งแรก
    เว็บไซต์มติชนออนไลน์ : ฉบับเต็ม! เปิดใจ 13 หมูป่า ในรายการเดินหน้าประเทศไทย ตอน “ส่งทีมหมูป่ากลับบ้าน”

    กลุ่มครูรวมตัว ร้อง “ออมสิน” พักหนี้ ช.พ.ค.


    ที่มา : ยูทูบ เรื่องเล่าเช้านี้ บีอีซี-เทโร (https://www.youtube.com/watch?v=KNLge0TZsYE)

    ยูทูบ เรื่องเล่าเช้านี้ บีอีซี-เทโร รายงานว่า วันที่ 14 ก.ค. 2561 ในการประชุมผู้นำเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุมเธียเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม นายธีร์สุริยนต์ สุวรรณวงศ์ ประธานชมรมครูภาคกลาง ได้เป็นผู้นำกลุ่มผู้มีอาชีพครูจำนวนหนึ่งกล่าว “ปฏิญญามหาสารคาม” ซึ่งมีใจความดังนี้

    1. ขอให้รัฐบาลและธนาคารออมสินพักหนี้โครงการสวัสดิการเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ทุกโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป
    2. ลูกหนี้ ช.พ.ค. จำนวน 450,000 คน จะดำเนินการยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสินตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป

    จากกรณีดังกล่าว ดร.อวยชัย วะทา ประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนเองเป็นคนแถลงต่อที่ประชุมดังกล่าวว่า เมื่อปี 2552 สกสค. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา) ได้ทำข้อตกลงกับธนาคารออมสิน เพื่อให้สมาชิก ช.พ.ค. และ ช.พ.ส. กู้เงินจากธนาคารออมสินรายละไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยมีกำหนดผ่อนชำระ 30 ปี หรือ 360 งวด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

    1. ใช้หนี้สถาบันการเงินและหนี้นอกระบบ
    2. เพื่อซื้อบ้านหรือสร้างที่อยู่อาศัย
    3. เพื่อซื้อรถยนต์หรือยานพาหนะ
    4. เพื่อซื้อหุ้นหรือลงทุนทำธุรกิจ
    5. เพื่อใช้จ่ายในการศึกษาหรือธุรกรรมที่จำเป็นอื่นๆ

    โดยมีข้าราชการครู คณาจารย์และบุคลากรสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมโครงการประมาณ 450,000 คน วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท

    ในการดำเนินการช่วยเพื่อนครูตามโครงการดังกล่าว กลับไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้เพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องเดือดร้อน แบกรับภาระหนี้สินเป็นจำนวนมาก ในการคิดดอกเบี้ยของธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับเพื่อนครู คิดอัตราดอกเบี้ยเหมือนธนาคารพาณิชย์ และปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ

    มีการหักเงินจากผู้กู้ในแต่ละเดือนเป็นค่าดอกเบี้ยแทบทั้งหมด จนกว่าจะได้ดอกเบี้ยครบก่อน แล้วจึงหักเงินต้น ทำให้ผู้กู้ต้องเสียค่าดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 เท่าของเงินต้น ในระยะเวลานานถึง 30 ปี ยกตัวอย่างเคสของตนเอง กู้เงินมาจำนวน 1.2 ล้านบาท หักเงินเดือนละกว่า 7,000 บาท ซึ่งส่งเงินมาแล้วระยะเวลา 7 ปี เงินต้นลดลงเพียง 100,000 บาท ยอดหนี้ยังอยู่ที่ 1.1 ล้านบาท

    นอกจากนี้ยังบังคับให้ทำประกันชีวิตอ้างว่า เพื่อประกันความเสี่ยงของธนาคารออมสิน โดยบังคับหักเงินค่าประกัน 10 ปี งวดเดียว 80,000-200,000 บาท รวมแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท โดยผู้กู้ไม่ได้รับประโยชน์หรือดอกผลจากเงินจำนวนดังกล่าวเลย แต่ผู้ได้รับประโยชน์มหาศาลคือ บริษัทประกัน ธนาคารออมสิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    นอกจากนี้ สกสค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีโครงการระดมทุน หรือโครงการร่วมทุนจากผู้กู้ ครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเพิ่มพูนรายได้หรือหาทางปลดเปลื้องหนี้สินและเพิ่มพูนรายได้อย่างเป็นระบบ นอกจากโครงการขายบ้าน ขายรถ ขายประกัน และโครงการส่งเสริมการเป็นหนี้อื่นๆ ซึ่งยิ่งแต่จะสร้างภาระหนี้สินทับซ้อนขึ้นไปยิ่งกว่าเดิมอีก

    โดยในวันดังกล่าว มีนายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เดินทางมารับหนังข้อเรียกร้องจากองค์กรครู โดยทางพี่น้องเครือข่ายครู ขอเรียกร้องให้ 1. ให้ดำเนินการพักหนี้ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการ ช.พ.ค. โดยเร่งด่วน 2. รัฐบาลประกาศพักหนี้ครูเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นให้ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1 เหมือนเกษตรกร 3. ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐบาล แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญและคณะกรรมการร่วมแก้ไขปัญหาหนี้สินครู พร้อมทั้งประกาศเป็นวาระแห่งชาติภายในเดือนตุลาคม 2561 นี้

    ต่อกรณีดังกล่าว เว็บไซต์ไทยพับลิก้ารายงานคำชี้แจงของนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ซึ่งระบุว่า “ปัจจุบันธนาคารออมสิน คิดอัตราดอกเบี้ยโครงการ ช.พ.ค. ต่ำมากเพียง 5-6% ต่อปี (ตามข้อตกลงใหม่) เมื่อเทียบกับสินเชื่อบุคคลทั่วไปในระบบสถาบันการเงินที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คิดอัตราดอกเบี้ย 15-28% ต่อปี อีกทั้งระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 30 ปี ซึ่งคิดดอกเบี้ยลดต้นลดดอกเช่นเดียวกับสินเชื่อเคหะที่มีเงินงวดผ่อนชำระต่ำ ทำให้สามารถกู้เงินในจำนวนที่สูงขึ้นได้ แล้วแต่ความจำเป็นของครู แต่ถ้าสามารถผ่อนชำระเงินกู้มากกว่าเงินงวดตามเงื่อนไข หรือนำเงินมาสมทบชำระหนี้ เพื่อให้ชำระหนี้หมดเร็วกว่าที่กำหนดไว้ จะทำให้จ่ายดอกเบี้ยลดลง” นายชาติชายกล่าว

    นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ ธนาคารออมสินได้มีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครูมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการผ่อนชำระ หรือ ชำระไม่ไหวด้วยการส่งหนังสือเชิญชวนให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้เงื่อนไขพิเศษ 3 แนวทาง คือ

      1. กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายมากกว่า 30% ของรายได้ สามารถพักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และชำระดอกเบี้ยปกติ 100%

      2. กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 15-30% ของรายได้ สามารถพักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และชำระดอกเบี้ยปกติไม่น้อยกว่า 50%

      3. กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 15% ของรายได้ สามารถพักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และชำระดอกเบี้ยปกติไม่น้อยกว่า 25% เพื่อให้ผู้กู้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขเดิมกลับมาเป็นหนี้ปกติที่ได้รับอัตราดอกเบี้ยต่ำตามเดิมได้ นับว่าเป็นมาตรการที่ยืดหยุ่นอย่างมาก เช่น วงเงินกู้ 1 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี ปกติผ่อนชำระต่อเดือน 6,200 บาท (เงินต้น+ดอกเบี้ย) หากผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย 25-100% เงินชำระต่อเดือนลดลง ดังนี้ (ปัจจุบันมีผู้กู้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 40,000 ราย)

    ส่วนกรณีการทำประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อ ซึ่งช่วยเหลือผู้กู้ที่จำเป็นต้องกู้วงเงินสูง แต่ไม่สามารถหาหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือบุคคลค้ำประกันได้ตามเงื่อนไข โดยผู้กู้ต้องสมัครใจโดยที่ธนาคารฯ ไม่ได้บังคับ และปรากฏว่ามีครูผู้กู้เลือกทำประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อ คิดเป็นสัดส่วนถึง 85% ของจำนวนผู้กู้ทั้งหมด โดยในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา มีครูเสียชีวิตประมาณ 15,900 คน มีจำนวนครูที่ทำประกันประมาณ 10,800 คน รวมทุนประกันประมาณ 13,000 ล้านบาท ซึ่งครูจะมีหนี้ประมาณ 1 ล้านบาทต่อราย เมื่อเสียชีวิตจะนำเงิน ช.พ.ค. จำนวน 7 แสน บาทต่อรายมาชำระหนี้ปิดบัญชี และจะมีเงินเหลือคืนทายาทรวมประมาณ 9,000 ล้านบาท และนี่คือประโยชน์ของการทำประกันอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้ทายาทและผู้ค้ำประกันไม่เดือดร้อน

    อย. แจง เรื่อง สธ. ประกาศ ยกเลิกไขมันทรานส์ มีผล ม.ค. 62

    ที่มาภาพ : เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (https://www.thairath.co.th/content/1335735)

    วันที่ 16 ก.ค. 2561 เว็บไซต์​ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนหรือไขมันทรานส์ และอาหารที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยมีผลบังคับใช้ใน 180 วัน ว่า ไขมันทรานส์เป็นไขมันประเภทไม่อิ่มตัว มักใช้กับอาหารกลุ่มของทอด เช่น โดนัท พัฟฟ์ พาย เป็นต้น โดยมีการเอามาใช้ในทางอุตสาหกรรม เพราะทำให้กลิ่นหืนหายไป และเก็บอาหารได้นานขึ้น แต่ภายหลังมีข้อมูลว่า เมื่อรับประทานไปนานๆ จะเกิดการสะสมและเพิ่มความเสี่ยงเรื่องโรคหัวใจ ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีการยกเลิกไม่ใช้ไขมันทรานส์ไปแล้ว

    ส่วนในประเทศไทยที่ผ่านมา อย. ได้หารือร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์ด้านโภชนาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากไขมันทรานส์ เพื่อวางแผนยกเลิกการใช้ไขมันทรานส์ในกระบวนการผลิตอาหารมา 2-3 ปีแล้ว หลังจากที่มีการหารือกับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมการผลิตอาหารจนลงตัว โดยทางผู้ผลิตขอเวลาประมาณ 6 เดือนในการปรับตัวเพื่อยกเลิกการผลิตที่มีการใช้ไขมันทรานส์นั้น จึงได้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2561 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วันที่ประกาศ หรือ 6 เดือน โดยจะเริ่มได้ในช่วงปีหน้า เดือนมกราคม 2562 ประเทศไทยจะไม่มีการการใช้ไขมันทรานส์ในการผลิตอาหารอีก เพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพประชาชน และน่าจะลดเรื่องโรคหัวใจในคนไทยลงไปได้จำนวนมาก

    ทั้งนี้เชื่อว่าผู้ประกอบการบางส่วนมีการเตรียมตัวมานานแล้ว บางรายอาจใช้เวลา 3-4 เดือน สามารถเปลี่ยนการผลิตโดยไม่ใช้ไขมันทรานส์ได้ ส่วนระหว่างนี้ขอให้ประชาชนเลี่ยงอาหาร เช่น พวกโดนัท พัฟฟ์ พาย ต่างๆ หรืออาหารหวานมาก มันมาก เค็มมาก เพื่อหลีกเลี่ยงการรับไขมันทรานส์ ส่วนตั้งแต่มกราคม 2562 เป็นต้นไป ไม่จำเป็นต้องมาดูฉลากว่ามีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบหรือไม่ เพราะเราห้ามทั้งหมดทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า ต้องไม่มีการใช้ไขมันทราส์เป็นส่วนประกอบอีกต่อไป

    เปิดโผทหาร 61 “บิ๊กแดง” คุม ทบ.

    ที่มาภาพ : เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (https://www.thairath.co.th/content/1337519)

    วันที่ 19 ก.ค. 2561 เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ในวันที่ 25 ก.ค. 2561 นี้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นประธานการประชุมสภากลาโหม ซึ่งก่อนการประชุมได้เชิญ ผบ.เหล่าทัพ มาร่วมหารือบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารประจำปี 2561 ในเบื้องต้นเพื่อให้ ผบ.เหล่าทัพ ส่งรายชื่อรอบแรกตามวาระปกติ ก่อนที่จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล ในช่วงโค้งสุดท้ายอีกครั้ง ก่อนที่จะมีการประกาศรายชื่อนายทหารประจำปี 2561 ซึ่งในปีนี้จะมีนายทหารระดับสูงเกษียณอายุราชการ เช่น “บิ๊กเข้” พล.อ. เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม, “บิ๊กต๊อก” พล.อ. ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผบ.ทหารสูงสุด, “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ. เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ., “บิ๊กนุ้ย” พล.ร.อ. นริส ประทุมสุวรรณ ผบ.ทร., “บิ๊กจอม” พล.อ.อ. จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. ที่จะเกษียณกันหมดยกแผง

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเบื้องต้น ปรากฏว่า “บิ๊กณัฐ” พล.อ. ณัฐ อินทรเจริญ รองปลัดกระทรวงกลาโหม (ตท.20) ขยับขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม, “บิ๊กกบ” พล.อ. พรพิพัฒน์ เบญญศรี เสนาธิการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด (ตท.18) ขยับขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด, กองทัพเรือ “บิ๊กลือ” พล.ร.อ. ลือชัย รุดดิษฐ์ รอง ผบ.ทร. (ตท.18) ขยับขึ้นเป็น ผบ.ทร., “บิ๊กต่าย” พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผู้ช่วย ผบ.ทอ. (ตท.18) ขยับขึ้นเป็น ผบ.ทอ.

    ส่วนกองทัพบกในเบื้องต้น รายชื่อนายทหารระดับ 5 เสือกองทัพบกเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดย “บิ๊กแดง” พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ.(ตท.20) ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ตามคาด, โดยขยับเอา “บิ๊กเล็ก” พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เสนาธิการทหารบก (ตท.20) ขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก, ทั้งนี้ โยกเอา “แม่ทัพตู่” พล.ท. กู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพภาคที่ 1 (ตท.20) และ “บิ๊กตี๋” พล.ท. วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 (ตท.18) ขึ้นมาเป็น ผู้ช่วย ผบ.ทบ.ด้วยกันทั้งคู่, ขยับ “บิ๊กเป้ง” พล.ท. ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ รองเสนาธิการทหารบก (ตท.19) ขึ้นเป็น เสนาธิการทหารบก

    สำหรับเก้าอี้แม่ทัพภาคต่างๆ ที่ว่างลง ปรากฏว่า “บิ๊กบี้” พล.ท. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ รองแม่ทัพภาคที่ 1 (ตท.22) ขยับขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1, โดย “บิ๊กหนุ่ย” พล.ท. ธรรมนูญ วิถี ยังคงรักษาเก้าอี้แม่ทัพน้อยที่ 1 ตามเดิม, “บิ๊กแบล็ก” พล.ท. ธนากร ธรรมวินทร แม่ทัพภาคที่ 2 (ตท.18) ยังรักษาเก้าอี้อย่างเหนียวแน่นไม่ขยับ คงเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 อยู่อีกปี, “บิ๊กป๋อ” พล.ต. ฉลองชัย ชัยยะคำ รองแม่ทัพภาคที่ 3 (ตท.20) ที่มีผลงานในการช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 คน ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ได้ขยับขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 3, “บิ๊กเดฟ” พล.ท. พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพน้อยที่ 4 (ตท.20) ขยับขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 แทน พล.ท. ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย. นี้

    อีลอน มันสก์ ขอโทษนักสำรวจถ้ำอังกฤษ ปมโดนกล่าวหาช่วยหมูป่าแค่ทำการตลาด

    ที่มาภาพ : เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (https://www.thairath.co.th/content/1336879)

    อีลอน มัสก์ ออกมาขอโทษคำพูดที่รุนแรงเกินไป เมื่อเขาประกาศว่าจะสาธิตเรือดำน้ำจิ๋วเข้าถ้ำหลวง

    ทวีตของเขาอธิบายเหตุผลที่ไม่พอใจว่า เวิร์น อันสเวิร์ท เองก็พูดไม่ดีก่อน ในระดับที่พูดให้เขาใช้เรือดำน้ำจิ๋วในเรื่องทางเพศ (ดูในวิดีโอของ CNN) แม้ว่าเขาจะไปช่วยด้วยเจตนาดีและสร้างเรือดำน้ำตามสเปคที่ได้รับมาแล้วก็ตาม

    คำอธิบายของมัสก์เป็นการตอบบทความใน Quora ที่อธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับการที่มัสก์เข้ามาช่วยเหลือครั้งนี้

    มัสก์นั้นเรียกอันสเวิร์ทว่าเป็น pedo ซึ่งย่อมาจากคำว่า pedophile หรือหมายถึงคนที่มีรสนิยมทางเพศกับเด็ก ทางด้านอันสเวิร์ทระบุกับรอยเตอร์สว่า เขารู้สึกเสียใจที่การโต้เถียงระหว่างเขากับมัสก์ทำให้คนหันความสนใจออกจากความสำเร็จในการกู้ภัยครั้งนี้

    ทวีตของมัสก์ที่เรียอันสเวิร์ทว่าเป็นพวกรักเด็ก
    ที่มาภาพ : เว็บไซต์บล็อกนัน (https://www.blognone.com/node/103852)

    อันสเวิร์ทเป็นนักสำรวจถ้ำแต่ไม่ใช่นักดำน้ำในถ้ำ เขาเป็นผู้ชี้จุดว่าทีมฟุตบอลน่าจะติดอยู่จุดใด แต่ก็บอกกับรอยเตอร์สว่าเขาไม่ทราบว่าสภาพการดำน้ำเข้าไปเป็นอย่างไร