ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “13 หมูป่าออกจากถ้ำ แพทย์ดูแลใกล้ชิด สุขภาพดีไม่มีอันตราย” และ “ศาลสหรัฐสั่ง จอนห์สันฯ จ่ายกลุ่มหญิงป่วยมะเร็ง 1.5 ล้านล้านบาท”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “13 หมูป่าออกจากถ้ำ แพทย์ดูแลใกล้ชิด สุขภาพดีไม่มีอันตราย” และ “ศาลสหรัฐสั่ง จอนห์สันฯ จ่ายกลุ่มหญิงป่วยมะเร็ง 1.5 ล้านล้านบาท”

14 กรกฎาคม 2018


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 7-13 ก.ค. 2561

  • 13 หมูป่าออกจากถ้ำแล้ว แพทย์เฝ้าดูแลใกล้ชิด สุขภาพโดยรวมดี
  • กสม. เสนอ สปสช. ให้ “เพศกำกวม” ใช้สิทธิบัตรทองแปลงเพศได้
  • ครม. ไฟเขียว “ภาษีลาภลอย” เก็บ 5% ที่ดิน-ห้องชุดเชิงพาณิชย์รอบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม
  • บอร์ดการบินไทยอนุมัติแผนซื้อเครื่องบิน 28 ลำ มุ่งยึดยุโรปตะวันออก
  • ศาลสหรัฐฯ สั่ง จอนห์สัน แอนด์ จอห์นสัน จ่ายชดเชยกลุ่มหญิงป่วยมะเร็ง 1.5 ล้านล้านบาท
  • 13 หมูป่าออกจากถ้ำแล้ว แพทย์เฝ้าดูแลใกล้ชิด สุขภาพโดยรวมดีไม่มีอันตราย

    ที่มาภาพ : เว็บไซต์ข่าวสด

    หลังจากนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ชของทีมหมูป่าอะคาเดมีรวม 13 ชีวิตหายตัวไปในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 2561 และทีมกู้ภัยพบตัวในวันที่ 2 ก.ค. 2561 ในที่สุด เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2561 ทีมกู้ภัยก็ได้ทยอยลำเลียงทั้ง 13 ชีวิตออกจากถ้ำด้วยการพาดำน้ำออกมาทีละคนโดยมีทีมกู้ภัยสองคนดำน้ำประกบ และไม่มีการเปิดเผยลำดับในการนำตัวผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำออกมา ซึ่งในวันที่ 8-9 ก.ค. 2561 สามารถนำตัวเด็กออกมาได้วันละ 4 คน และวันที่ 10 ก.ค. 2561 สามารถนำตัวเด็ก 4 คนสุดท้ายและโค้ช รวม 5 คนออกมาได้เป็นผลสำเร็จ และเป็นอันจบปฏิบัติการกู้ภัยที่กินเวลาเกินกว่าสองอาทิตย์ในครั้งนี้

    อนึ่ง แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่าทีมกู้ภัยพาสมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมีดำน้ำออกมาในลักษณะไหน แต่จากคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ช่วงเวลาที่นำสมาชิกบางรายของทีมออกมาจากถ้ำ เว็บไซต์ South China Morning Post ได้แสดงภาพวาดให้ดูว่าเป็นการให้ยาสลบหรือให้ยาที่ทำให้สงบเพื่อป้องกันภาวะตื่นตระหนกขณะดำน้ำ จากนั้นจึงให้สวมใส่หน้ากากออกซิเจนแล้วใส่แคร่นำตัวออกมา

    ที่มาภาพ : เว็บไซต์ South China Morning Post https://multimedia.scmp.com/news/world/article/2154457/thai-cave-rescue/index.html

    ทั้งนี้ เมื่อนำสมาชิกทีมหมูป่าอะคาเมีแต่ละคนออกมาจากถ้ำแล้วก็ได้มีการนำตัวส่งไปรังโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ตามแผนที่ซักซ้อมไว้ในทันที ส่วนรายละเอียดด้านสุขภาพของทั้ง 13 คนนั้น เว็บไซต์ไทยพีบีเอสรายงานไว้ดังนี้

    ผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 จำนวน 4 คน เข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. 2561 อาการทั่วไปปกติ สัญญาณชีพปกติ ไม่มีไข้ รับประทานอาหารปกติได้ ขับถ่ายปกติ สำหรับ 2 รายที่มีปัญหาปอดติดเชื้ออาการดีขึ้น ทุกรายรอให้ยาปฏิชีวนะจนครบ 7 วัน

    กลุ่มที่ 2 จำนวน 4 คน เข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 2561 อาการทั่วไปปกติ มีไข้ต่ำๆ 2 คน สัญญาณชีพอื่นๆ ปกติ รับประทานอาหารปกติได้ดี ไม่มีอาการผิดปกติอื่น รอให้ยาปฏิชีวนะจนครบ 7 วัน

    กลุ่มที่ 3 จำนวน 5 คน เข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. 2561 อาการทั่วไปปกติ รับประทานอาหารปกติได้ดี มีไข้ 3 คน แนวโน้มไข้ลดลง สัญญาณชีพอื่นๆ ปกติ สำหรับ 3 รายที่มีอาการปวดหูร่วมกับหูอื้อ ตรวจร่างกายเพิ่มเติมพบมีภาวะติดเชื้อที่บริเวณหูชั้นกลางได้ให้ยารักษาอาการ และรอให้ยาปฏิชีวนะครบ 7 วัน

    สำหรับด้านจิตใจของผู้ป่วยและญาติ ทีมจิตแพทย์ของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้ให้การดูแลจิตใจญาติที่จุดบริการบริเวณหน้าถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ตั้งแต่เริ่มค้นหา และเริ่มให้การดูแลจิตใจผู้ป่วยทันทีที่ออกจากถ้ำ และดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาล ทุกคนไม่มีความเครียด นอนหลับได้ดี

    กสม. เสนอ สปสช. ให้ “เพศกำกวม” ใช้สิทธิบัตรทองแปลงเพศได้

    วันที่ 13 ก.ค. 2561 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2561 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) มีมติเห็นชอบการดำเนินงานของหน่วยงานตามมาตรการหรือแนวทางของ กสม. ตามรายงานผลการตรวจสอบที่ 211/2560 เรื่อง สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิและสถานะบุคคล กรณีขอให้มีการตรวจสอบและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนสำหรับบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวม สืบเนื่องจาก เมื่อเดือน ก.พ. 2559 มีผู้ร้องเรียนต่อ กสม. ขอให้ตรวจสอบกรณีกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องเป็นบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวม มีความประสงค์ที่จะเข้ารับการตรวจพิสูจน์ว่าตนเองมีภาวะเพศกำกวมหรือไม่ เพื่อยื่นเรื่องขอเปลี่ยนคำนำหน้านาม แต่ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากแพทย์ยังไม่สามารถวินิจฉัยเพื่อยืนยันภาวะเพศกำกวมได้ ทำให้ผู้ร้องไม่มีหลักฐานประกอบการพิจารณาขอเปลี่ยนคำนำหน้านาม

    กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเทศไทยมีการออกกฎหมาย ระเบียบ และแนวปฏิบัติในการให้สิทธิบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวมสามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามให้ถูกต้องและสอดคล้องกับเพศสภาพในปัจจุบันของบุคคลดังกล่าวได้ อีกทั้งยังให้สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและสิทธิในการเข้าถึงยาประเภทต่างๆ ที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษาภาวะเพศกำกวมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวมให้ได้รับการยอมรับจากสังคม รวมทั้งใช้สิทธิต่างๆ ได้เช่นเดียวกับบุคลทั่วไป

    อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ผู้ร้องยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในภาวะเพศกำกวมในอันที่จะได้รับสิทธิในการบริการสาธารณสุขและการเปลี่ยนแปลงแก้ไขทะเบียนบุคคล ดังนั้น เพื่อสิทธิประโยชน์ที่ผู้ร้องพึงมีพึงได้ กสม. จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 (5) ส่งเรื่องให้องค์กรอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาดำเนินการ และมีผลการดำเนินงานตามแนวทางของ กสม. ดังนี้

    1. กสม. ขอให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ผู้ร้องรับการวินิจฉัยอยู่แล้ว พิจารณาตรวจวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวมหรือไม่ ตามวิธีการทางการแพทย์ตามสภาพความเป็นจริง
    2. กสม. ขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณากรณีกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ซึ่งเข้าข่ายเป็นบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวม หรือ มีเพศสรีระมากกว่าหนึ่งเพศ (Intersex) ตามที่แพทย์ให้การรับรองแล้ว สามารถดำเนินการผ่าตัดแปลงเพศของตนตามคำรับรองของแพทย์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตามสิทธิหลักประกันสุขภาพที่บุคคลดังกล่าวพึงมีตามกฎหมาย และเพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศ หรือคนข้ามเพศ (Transgender) ในระยะยาว อาจให้ได้รับสิทธิในการผ่าตัดเพื่อปรับเปลี่ยนร่างกายตามความรู้สึกของตนเองให้ตรงตามเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ โดยอาศัยสิทธิตามหลักประกันสุขภาพ

    ส่วนกรณีที่บุคคลซึ่งผ่านการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว หรือคนข้ามเพศ (Transgender) นั้น สปสช. จะรวบรวมข้อมูลนำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อพิจารณาประกาศกำหนดให้เป็นประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ต่อไป

    ดังนั้น กสม. จึงเห็นควรยุติการติดตามผลการดำเนินการกรณีดังกล่าว ตามระเบียบ กสม. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2561 ข้อ 60 (1) กรณีที่บุคคลหรือหน่วยงานได้ดำเนินการตามมาตรการหรือแนวทางของ กสม.

    ครม. ไฟเขียว “ภาษีลาภลอย” เก็บ 5% ที่ดิน-ห้องชุดเชิงพาณิชย์รอบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม

    นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐตรี

    วันที่ 10 ก.ค. 2561 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. .… หรือ “ภาษีลาภลอย” ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งจุดประสงค์ของการจัดทำกฎหมายฉบับนี้เนื่องจากที่ผ่านมามีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม แต่ผู้ที่มีที่ดินอยู่ดีดีมีโครงการรถไฟฟ้าผ่าน ทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น อยู่ดีดีได้รับประโยชน์จากการไม่ลงทุนอะไรเลย แต่รัฐไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดิน ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ. นี้ต้องการสร้างความเป็นธรรมระหว่างผู้ได้รับประโยชน์กับรัฐที่ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และรายได้จากภาษีตรงนี้ทำให้รัฐสามารถนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมได้

    ส่วนสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. โครงการที่อยู่ในข่ายจัดเก็บภาษี เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟทางคู่ สนามบิน ท่าเรือ ทางด่วน และโครงการที่กำหนดในกฎกระทรวง ส่วนผู้ที่ต้องเสียภาษีคือบุคคลคนธรรมดาและนิติบุคคลที่ครอบครองที่ดิน มีห้องชุดมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท แบ่งช่วงเวลาเก็บภาษี 2 ช่วง คือ 1. วันที่รัฐเริ่มโครงการจนแล้วเสร็จ จะเก็บภาษีตามรัศมี 5 กม. รอบโครงการ 2. เมื่อโครงการเสร็จจะเก็บจากที่มูลค่าที่ห้องชุดมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ ส่วนที่ดินที่เป็นที่พักอาศัยและเกษตรกรรมจะได้รับการยกเว้น รวมถึงอาคารชุดที่ยังไม่ได้จำหน่าย ทั้งนี้ หากเป็นช่วงที่โครงการยังไม่เสร็จกรมที่ดินจะเป็นผู้เก็บภาษี เมื่อโครงการเสร็จแล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะเป็นผู้ทำหน้าที่เก็บแล้วส่งรายได้ให้กับแผ่นดิน

    ส่วนการกำหนดเพดานการจัดเก็บจะไม่เกิน 5% ของฐานภาษี หรือส่วนต่างของมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นนับจากวันที่รัฐเริ่มก่อสร้างหรือนับจากวันที่ พ.ร.บ. บังคับใช้ จากการประเมินราคาของโดยกรมธนารักษ์ ส่วนขั้นตอนของกฎหมายหลัง ครม. ให้ความเห็นชอบจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจรายละเอียด และส่งเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป โดยยังไม่สามารถระบุได้ว่ากฎหมายจะออกมาบังคับใช้ได้เมื่อใด

    บอร์ดการบินไทยอนุมัติแผนซื้อเครื่องบิน 28 ลำ มุ่งยึดยุโรปตะวันออก

    ที่มาภาพ : เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (https://www.thairath.co.th/content/1003957)

    วันที่ 14 ก.ค. 2561 เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าhttps://www.thairath.co.th/content/1003957 บอร์ดการบินไทยอนุมัติจัดหาเครื่องบินใหม่ 28 ลำ เปิดจุดบินใหม่กรุงเทพฯ-เวียนนา เพิ่มความถี่เส้นทางบินยุโรป หวังยึดหัวหาดแทนเส้นสหรัฐฯ ที่ไม่รู้ชะตากรรม จ่อร่อนบิลเก็บค่าเสียหายเครื่องยนต์โบอิ้ง 787 มีปัญหา ส่งผลกระทบจนต้องหยุดบริการบางสายในช่วงที่ผ่านมา

    ร.อ. มนตรี จำเนียร รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยหลังการประชุมบอร์ดการบินไทยว่า ที่ประชุมอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ในช่วง 5 ปี (ระหว่างปี 60-64) ตามที่ฝ่ายบริหารเสนอ ด้วยการให้จัดหาเครื่องบินใหม่แทนเครื่องบินเก่าจำนวน 28 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินของการบินไทย 19 ลำ ส่วนที่เหลืออีก 9 ลำเป็นของไทยสมายล์ โดยให้ไปศึกษารายละเอียด ข้อเสนอผู้ผลิตและผู้ใช้เช่าเครื่องบินที่ดีที่สุด รวมทั้งแผนการเงินที่การบินไทยมีอยู่ในปัจจุบันและอีก 5 ปีข้างหน้าว่ารองรับได้มั้ย คาดว่าในเดือน ส.ค.นี้จะเสนอแบบเครื่องบิน ราคาเครื่องบิน รวมถึงแผนรายได้และผลดีผลเสียการจัดซื้อและเช่าให้บอร์ดพิจารณาอนุมัติ

    ทั้งนี้ หากมีการเห็นชอบจะเสนอเรื่องไปที่กระทรวงคมนาคม คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 เดือน กว่าจะเข้า ครม.อนุมัติ หรือในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งหลัง ครม.อนุมัติ การเจรจาต่อรองกับเอกชนถึงจะเกิดขึ้น หลังจากทำสัญญาบริษัทฯ จะรับมอบเครื่องบินลำแรกภายใน 18 เดือน หรือประมาณปลายปี 62 อย่างเร็วที่สุด ส่วนแผนจัดหาเครื่องบินในช่วง 5 ปีหลัง (ปี2565-2569) จำนวน 22 ลำ ยังไม่อนุมัติ เพราะการสร้างรายได้ยังไม่แน่นอน”

    ร.อ. มนตรี กล่าวต่อว่า ส่วนเครื่องบินโบอิ้ง 787 จำนวน 6 ลำที่มีปัญหาเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์นั้น ซ่อมเสร็จไปแล้ว 1 ลำ และในเดือน ก.ค.นี้จะจอดเครื่องพร้อมกัน 3 ลำ และในเดือน ส.ค.นี้จะจอดเครื่องบิน 2 ลำในบางช่วงเวลา และนำเครื่องยนต์ดีติดแทนในช่วงระหว่างการนำอะไหล่ส่งซ่อมที่สิงคโปร์ และเดือน ก.ย.ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนค่าใช้จ่ายและผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งในส่วนที่เป็นเงินสดและไม่ใช่เงินสด ในเดือน ก.ย.จะรวบรวมแจงบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ได้ทั้งหมด โดยการบินไทยได้รับผลกระทบตั้งแต่เดือน มิ.ย. โดยเดือน ก.ค.หนักสุด เส้นทางบินที่หยุดบริการคือเส้นทางกรุงเทพฯ-นาโกยา 1 เที่ยวบิน กรุงเทพฯ-สิงคโปร์ 4 เที่ยวบิน จากปกติที่ให้บริการ 10 เที่ยวบินต่อวัน ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ให้ไทยสมายล์ทำการบินแทน และในเดือน ส.ค.นี้ไทยสมายล์ยังต้องให้บริการบินแทนเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-กระบี่ และกรุงเทพฯ-ภูเก็ต

    ที่ประชุมอนุมัติยังเปิดเส้นทางบินใหม่คือ กรุงเทพฯ-เวียนนา 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพราะจากการศึกษาข้อมูลเชื่อว่าจะเป็นทางที่มีศักยภาพ รวมทั้ง จะเป็นจุดเครือข่ายด้านการบินของการบินไทยในยุโรปตะวันออก และเพิ่มความถี่ในเส้นทางกรุงเทพฯ-บรัสเซลส์ กรุงเทพฯ-โรม มิลาน กรุงเทพฯ-มอสโก และกรุงเทพฯ-สแกนดิเนเวีย จาก 4-5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบิน โดยที่ผ่านมาเครือข่ายการบินระหว่างทวีป มียุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ แต่ขณะนี้เหลือเพียง 2 ทวีป และไม่รู้เส้นทางสหรัฐฯ จะกลับมาเมื่อไหร่ จำเป็นต้องทำที่มีอยู่ให้แข็งแกร่ง โดยผู้โดยสารนอกจากจะไปเวียนนาแล้วยังไปตะวันออกกลาง เพื่อไปช็อปปิ้ง ท่องเที่ยว ขณะที่อนาคตมองไปที่แอฟริกาเหนือ แต่กลุ่มเป้าหมายสัดส่วน 40% อยู่ในภูมิภาคนี้และอินโดจีน ที่เหลือลูกค้าจากยุโรปตะวันออก 60%

    นางวรางคณา ลือโรจน์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายครัวการบิน บริษัทการบินไทย กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดอนุมัติขยายครัวการบินใช้งบลงทุน 95 ล้านบาท เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหาร และขยายฐานลูกค้าในต่างประเทศ เช่น จีน เพื่อต่อยอดธุรกิจ โดยคาดว่าจะผลิตอาหารเพิ่มได้อีก 3,500-5,000 ชุดต่อวัน จากปกติที่ผลิตได้ 10,000 ชุดต่อวัน คาดว่าจะทำให้มีรายได้เพิ่มเป็น 250 ล้านบาท จากปัจจุบันมีรายได้ 150 ล้านบาท โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 7,600 ล้านบาท และในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีรายได้ประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท

    ศาลสหรัฐฯ สั่ง จอนห์สัน แอนด์ จอห์นสัน จ่ายกลุ่มหญิงป่วยมะเร็ง 1.5 ล้านล้านบาท

    วันที่ 13 ก.ค. 2561 เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า ศาลสหรัฐฯ มีคำสั่งให้ บริษัทเวชภัณฑ์จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จ่ายเงินชดเชยมูลค่า 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.56 ล้านล้านบาท) แก่ผู้หญิง 22 คน ที่ยื่นฟ้องว่าผลิตภัณฑ์แป้งเด็กของบริษัทฯ ทำให้พวกเธอป่วยเป็นโรคมะเร็งรังไข่

    คณะลูกขุนที่ศาลรัฐมิสซูรี ของสหรัฐฯ มีคำตัดสินให้บริษัทฯ จ่ายเงินเป็นค่าชดเชยจำนวน 550 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 1.8 หมื่นล้านบาท) และอีก 4.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 1.36 ล้านล้านบาท) เป็นค่าเสียหายเชิงลงโทษ

    จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ยังคงต่อสู้ทางกฎหมายในอีกกว่า 9,000 คดี ที่เกี่ยวข้องกับแป้งเด็กแบรนด์ดัง

    บริษัทเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ กล่าวว่า “ผิดหวังอย่างมาก” กับคำตัดสินของศาลในครั้งนี้ และวางแผนจะอุทธรณ์ต่อไป

    ระหว่างการพิจารณาคดีที่ใช้เวลานานถึง 6 สัปดาห์ ผู้หญิงหลายคนและสมาชิกในครอบครัว กล่าวว่า พวกเธอป่วยเป็นโรคมะเร็งรังไข่หลังจากใช้แป้งเด็กและผลิตภัณฑ์ที่มีสารทัลค์ (Talc) เป็นเวลาหลายสิบปี

    ผู้หญิง 6 คน จากทั้งหมด 22 คนที่ศาลตัดสินให้ได้รับการชดเชยค่าเสียหาย ได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ ด้วยโรคมะเร็งรังไข่

    ทนายของพวกเธอกล่าวหาว่า จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน รู้ว่าสารทัลค์ที่ใช้ในแป้งทาตัวของบริษัทนั้นปนเปื้อนด้วยสารแอสเบสโทส ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง มาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 แต่ไม่ได้เตือนให้ผู้บริโภครับทราบถึงความเสี่ยง