ThaiPublica > เกาะกระแส > “การบินไทย” บุกธุรกิจร้านอาหาร “อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบิน ก็ฟินได้” ชูบรรยากาศเสมือนนั่งบนเครื่อง

“การบินไทย” บุกธุรกิจร้านอาหาร “อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบิน ก็ฟินได้” ชูบรรยากาศเสมือนนั่งบนเครื่อง

10 กันยายน 2020


“การบินไทย” ยุคหลังโควิด-19 ลุยธุรกิจร้านอาหาร Royal Orchid Dining Experience สร้างประสบการณ์เสมือนบนเครื่องบิน ปลายปีวางแผนเปิดภัตตาคาร 3-4 แห่ง

สถานการณ์ของ “การบินไทย” หลังเผชิญกับโควิด-19 บีบให้บริษัทต้องเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง และหนึ่งในกลยุทธ์การปรับตัวของสายการบินคือการเพิ่มรายได้โดยอาศัย “ธุรกิจครัวการบิน” ซึ่งเป็นจุดแข็งและเป็นทุนของการบินไทยต้องมาใช้เพื่อหล่อเลี้ยงองค์กรในวันที่น่านฟ้ายังไม่เปิดเต็มรูปแบบ

วันที่ 9 กันยายน 2563 ฝ่ายครัวการบินเปิดตัว Royal Orchid Dining Experience ในรูปแบบกึ่งร้านอาหาร ที่เสิร์ฟเมนูสำหรับบริการในชั้น Business Class และ First Class เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสรสชาติอาหารเหมือนให้บริการบนเครื่องบิน รังสรรค์คุณภาพโดยทีมเชฟนานาชาติจากครัวการบินไทย และชูจุดเด่นมาตรฐานระดับสากล

ภายในงานเปิดตัวยังได้รับเกียรติจากพลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการบริษัท พร้อมด้วยนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และคณะผู้บริหารฝ่ายบริหาร

พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการบริษัท(นั่งขวา) พร้อมด้วยนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(นั่งซ้าย)

ถอดความสำเร็จสู่ “ร้านอาหาร”

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทยฯ กล่าวว่า การบินไทยมีจุดแข็งเรื่อง ‘อาหาร’ เพราะมีเชฟอย่างน้อย 6-7 สัญชาติ อีกทั้งจุดแข็งเรื่องภาพลักษณ์ (branding) ในฐานะสายการบินแห่งชาติไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลก ทำให้บริษัทเห็นโอกาสในการมาทำธุรกิจร้านอาหาร

การบินไทยเริ่มเห็นโอกาสทางธุรกิจจากการจัดกิจกรรม “อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบิน ก็ฟินได้” เมื่อเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2563 และได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้า ทำให้บริษัทต่อยอดมาเป็นโมเดลใหม่คือ ‘ธุรกิจร้านอาหาร’ ในชื่อ “Royal Orchid Dining Experience” โดยปรับปรุงศูนย์อาหารของพนักงานอาคาร 2 ณ สำนักงานใหญ่การบินไทยให้เป็นร้านอาหารภายใต้แนวคิดว่านั่งรับประทานอาหารอยู่บนเครื่องบิน

บริเวณชั้นล่างของ Royal Orchid Dining Experience ให้บริการในรูปแบบของ Self Service และ Set Menu ของอาหารจากกิจกรรม “อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบิน ก็ฟินได้”

บริเวณชั้นลอยของ Royal Orchid Dining Experience ได้จัดเตรียม Set Menu ที่เสิร์ฟในชั้นรอยัล เฟิร์ส คลาส ของการบินไทย พร้อมการบริการแบบ Full Service ไว้สำหรับลูกค้าที่มาเป็นหมู่คณะและต้องการความเป็นส่วนตัว

ส่วนโซนของ TG Market ฝ่ายครัวการบินจะนำผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยมที่ใช้ผลิตอาหารให้บริการผู้โดยสารบนเครื่องบิน ซึ่งผลิตในประเทศไทยและนำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายในราคาพิเศษ รวมทั้งจำหน่ายเครื่องดื่มต่างๆ ที่ให้บริการผู้โดยสารบนเครื่องบิน อาทิ น้ำผลไม้รวม ชามะขาม น้ำมะนาวอัญชัน น้ำแอปเปิ้ล เป็นต้น

ฝ่ายครัวการบินได้คัดเลือกรายการอาหารนานาชาติที่ขายดีในงาน “อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบิน ก็ฟินได้” มาจัดจำหน่าย ราคาเริ่มต้นที่ 65 บาท อาทิ พาสต้า ชาวาม่า ไก่ทิกก้า ยากิโซบะ ชีสเค้ก มาการอง สลัด เนื้อย่างจิ้มแจ่ว ขนมจีนน้ำพริก โดยทั้งหมดจัดทำจากฝีมือทีมเชฟนานาชาติ

อย่างไรก็ตาม Royal Orchid Dining Experience จะเปิดให้บริการตั้งแต่วันพุธที่ 9 กันยายน 2563 โดยให้บริการช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 07.00 น. จำหน่าย ชา กาแฟ เบเกอรี่ ส่วนอาหารนานาชาติจะเริ่มบริการ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 14.00 น.

“นี่คือโมเดลที่เราคิดว่าจะเป็น New Experience ให้กับผู้โดยสาร และลูกค้าการบินไทยที่ยังรักการบินไทย ยังให้ความหวังให้กำลังใจการบินไทยมาโดยตลอด” นายชาญศิลป์กล่าว

ปรับธุรกิจครัวการบิน สู่ครัวการบินพื้นเต็มรูปแบบ

นางวรางคณา ลือโรจน์วงศ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายครัวการบิน การบินไทยฯ ให้ข้อมูลว่า โดยปกติธุรกิจครัวการบินไทยมีรายได้ที่ 8,000 – 9,000 ล้านบาทต่อปี สัดส่วนรายได้มาจากสายการบิน 90% และภาคพื้นดิน 10% (ร้าน Puff and Pie)

แต่ในช่วงโควิด-19 รายได้ครัว 90% ของสายการบินหายไปมากกว่า 50% ทำให้การบินไทยต้องปรับกลยุทธ์อย่างหนัก

“หลังจากปิดจากโควิด-19 รายได้ก็ลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากเราไม่ได้บิน แต่เราพยายามหารายได้เสริมเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเรื่องธุรกิจภาคพื้น เดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น ออกอีเวนต์ต่างๆ จนได้รับการตอบรับที่ดี” นางวรางคณากล่าว

ฝ่ายครัวการบินจึงมีนโยบายในการต่อยอดความสำเร็จโดยการปรับปรุงห้องอาหารพนักงานเป็น Royal Orchid Dining Experience โดยได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ฝ่ายช่าง นักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ฝ่ายบริการอุปกรณ์ภาคพื้น รวมถึงพนักงานจิตอาสาจากฝ่ายต่างๆ โดยมีแนวคิดในการนำวัสดุ อุปกรณ์ และอะไหล่ของเครื่องบินที่หมดอายุการใช้งานแล้วมาตกแต่งสถานที่

จุดประสงค์หลักคือสร้างบรรยากาศให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในเครื่องบิน อาทิ การนำเก้าอี้นั่งในห้องโดยสารเครื่องบินมาปรับปรุงเพื่อเป็นที่นั่งสำหรับรับประทานอาหาร การนำอะไหล่เครื่องบินที่หมดอายุการใช้งานแล้ว เช่น แกนในและใบพัดของเครื่องยนต์ ทำเป็นขาของโต๊ะรับประทานอาหาร การนำยางล้อเครื่องบินมาทำเป็นโต๊ะนั่งเล่น การนำ Spinner Cone ซึ่งเป็นแกนกลางเครื่องยนต์มาจัดแสดง เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสอุปกรณ์และอะไหล่เครื่องบินของจริง เป็นต้น

ไฮไลท์สำคัญของการเข้ามาใช้บริการที่ Royal Orchid Dining Experience คือ การนำรถบันไดสำหรับขึ้นเครื่องบินมาทำเป็นทางขึ้น

แนวคิดเหล่านี้มาจากการที่สายการบินต้องหยุดชะงัก แต่การบินไทยเชื่อว่าคนยังต้องการความเป็นสายการบิน ทำให้ธุรกิจร้านอาหารเดินมาอย่างถูกทิศทาง

นางวรางคณา กล่าวอีกว่า ฝ่ายครัวการบินยังมีแผนจะเปิด Royal Orchid ในรูปแบบ Pop-Up Dining Experience ภายใต้แนวคิด “อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบิน ก็ฟินได้” ที่อาคารการบินไทย สำนักงานสีลมและสำนักงานหลานหลวง ภายในสิ้นปี 2563 และยังมีแผนขยายไปจังหวัดท่องเที่ยว โดยตั้งเป้ารายได้ธุรกิจร้านอาหารในช่วงเริ่มต้นที่ 3-4 ล้านบาทต่อเดือน และในอนาคตเชื่อว่าอาจทำรายได้ถึงหลักร้อยล้านบาท

นางวรางคณา เสริมอีกว่า โจทย์สำหรับทำร้านอาหารเครือการบินไทยคือคำนึงถึงพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าในแต่ละพื้นที่แตกต่าง ดูความต้องการซื้อของผู้บริโภค อีกทั้งปัจจัยสำคัญคือการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยให้สมกับชื่อการบินไทย

ขานแฟรนไชน์ธุรกิจครัวภาคพื้น

ร้าน Puff and Pie เป็นร้านอาหารเครือการบินไทย ทำรายได้ประมาณ 10% ของธุรกิจครัว แม้ในช่วงโควิด-19 รายได้ธุรกิจครัวภาคพื้นจะหายไปบางส่วน แต่ในเดือนกันยายน 2563 นางวรางคณาให้ข้อมูลว่าธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวแล้ว

นางวรางคณากล่าวอีกว่า เป้าหมายของร้าน Puff and Pie คือขยายสาขาให้ครบทุกจังหวัด โดยปัจจุบันยังขาดอีก 30-40 จังหวัด โดยใช้กลยุทธ์แบบ “แฟรนไชน์โมเดล” แต่ปัจจัยสำคัญคือความพร้อมของผู้ที่สนใจจะมาเป็นตัวแทนจำหน่าย

นอกจากนี้ นางวรางคณากล่าวอีกว่า ภายในปี 2563 บริษัทมีแผนจะเปิดภัตตาคารอีก 3-4 แห่ง โดยเริ่มต้นจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร และต่อยอดไปยังจังหวัดภูเก็ตและกระบี่ในเวลาต่อมา