ThaiPublica > เกาะกระแส > ฟุตบอลโลก “เจ้าภาพ-FIFA” ใครได้? ใครเสีย? ประเทศกำลังพัฒนาลงทุนมากแต่ได้น้อย

ฟุตบอลโลก “เจ้าภาพ-FIFA” ใครได้? ใครเสีย? ประเทศกำลังพัฒนาลงทุนมากแต่ได้น้อย

15 มิถุนายน 2018


ที่มาภาพ : https://www.fifa.com

ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพเริ่มไปแล้วเมื่อ 14 มิถุนายน และมีไปจนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม นับเป็น Mega Event สำคัญของโลกทุกๆ 4 ปี ที่จะมีการแข่งขันไม่ต่ำกว่า 64 นัดจาก 32 ทีมชาติ ดึงความสนใจจากคนทั่วโลก

มหกรรมกีฬาฟุตบอลระดับโลกนี้มีสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Fédération Internationale de Football Association: FIFA) ซึ่งมีสำนักงานที่เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทำหน้าที่กำกับดูแลรวมทั้งเป็นผู้จัดการแข่งขัน

ฟุตบอลโลกแต่ละรอบมีจำนวนเงินที่เกี่ยวข้องมหาศาล ตั้งแต่เงินที่ประเทศเจ้าภาพต้องจ่ายในการชนะประมูลให้แก่ FIFA เงินที่ประเทศเจ้าภาพต้องใช้ในการลงทุนก่อสร้างสนามแข่งขัน โครงสร้างพื้นฐาน

การจัดแข่งขันฟุตบอลนอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเจ้าภาพที่ใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันแล้ว ยังเป็นที่คาดหวังว่าจะมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นนั้นการแข่งขันจะเป็นปัจจัยหลักที่จะกระตุ้นให้มีกิจกรรมการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในช่วง 1 เดือนของการแข่งขัน ประเทศจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวและการบริการ นอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายในการก่อสร้างและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก่อนการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศเจ้าภาพทำเงินได้จำนวนมาก คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายให้กับ FIFA จากการชนะการประมูลเพื่อเป็นเจ้าภาพ

ที่มาภาพ : https://www.fifa.com/worldcup/organisation/ticketing/purchase.html

สำหรับผลระยะยาว การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ยังเป็นโอกาสแสดงโลกเห็นว่าประเทศเจ้าภาพและเมืองที่มีสนามแข่งขันเป็นสถานที่ที่เหมาะสมกับการลงทุน

รัสเซียเจ้าภาพการแข่งขันปี 2018 นี้คาดว่าผลทางเศรษฐกิจจะสูงถึง 30.8 พันล้านดอลลาร์ไปจนถึงปี 2023 เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายราว 11.6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่า 15 พันล้านดอลลาร์ที่บราซิลจ่ายในการเป็นเจ้าภาพในปี 2014

FIFA ทำเงินเท่าไร

นอกจากประเทศเจ้าภาพที่หวังว่าจะได้ผลดีด้านเศรษฐกิจแล้ว FIFA ก็คาดการณ์รายได้ที่จะเพิ่มขึ้นด้วย โดยแม้การแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 เพิ่งเริ่มขึ้น แต่ FIFA ก็คาดการณ์ว่าจะทำรายได้ 6.56 พันล้านดอลลาร์ มีค่าใช้จ่าย 6.46 พันล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2019-2022 ของการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบต่อไปในปี 2022 ที่กาตาร์ชนะประมูลเป็นเจ้าภาพสถานที่สำหรับการแข่งขัน

สำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2026 สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ชนะการประมูลด้วยตัวเลขที่เสนอต่อ FIFA จำนวน 11 พันล้านดอลลาร์

นิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า FIFA จะทำเงิน 6.1 พันล้านดอลลาร์จากการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย ซึ่งสูงกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ 10% และสูงกว่าการแข่งขันรอบที่แล้วในปี 2024 ที่บราซิลเป็นเจ้าภาพจำนวน 1.3 พันล้านดอลลาร์

รายงานอ้างอิงเอกสารทางการเงินของ FIFA ว่า รายได้จากการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางทีวี (TV rights) สูงขึ้น 2% จาก 3 พันล้านดอลลาร์ที่ตั้งเป้าไว้ ส่วนการขายโฆษณา (sponsorship) สูงขึ้น 200 ล้านดอลลาร์จากเป้าหมาย 1.45 พันล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากบริษัทจีน เพราะ 7 ใน 20 บริษัทที่ซื้อโฆษณาเป็นบริษัทจีน เพิ่มขึ้นมากจากที่มีเพียง 1 รายในการแข่งขันครั้งก่อน

FIFA ยังมีรายได้จากค่าสิทธิต่อเนื่องรายปี (Royalties) เพิ่มขึ้น 233% จาก EA Sports ผู้ผลิตเกมยักษ์ใหญ่ที่จ่ายให้ FIFA ซึ่งในปีก่อนได้จ่ายเงินไป 160 ล้านดอลลาร์

ธุรกิจจีนหันมาสนใจการแข่งขันฟุตบอลโลกอีกครั้ง หลังจากที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เรียกร้องในปี 2015 ให้รวมกันผลักดันจีนให้เป็น Sport Economy โดยมุ่งไปที่ฟุตบอลเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ธุรกิจในประเทศฝั่งตะวันตกชะลอการทำธุรกิจกับ FIFA มากขึ้น หลังจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ สอบสวนกรณีทุจริตฟอกเงินใน FIFA ปี 2015 นอกจากนี้ FIFA ไม่ได้มีการเซ็นสัญญาใหม่กับประเทศตะวันตกมาตั้งแต่ปี 2011

FIFA ตั้งใจที่จะเผยแพร่ตัวเลขการเงินให้กับสมาชิกในวันพุธที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีกำไร 100 ล้านดอลลาร์ในรอบ 4 ปีหลังจากจบการแข่งขัน เพราะในช่วง 3 ปีแรกขาดทุน 997 ล้านดอลลาร์ แต่ในปีสุดท้ายมีกำไร 1.1 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้คาดว่า FIFA จะมีเงินสดและสินทรัพย์จำนวน 1.7 พันล้านดอลลาร์ ในสิ้นปี 2018

FIFA ให้ข้อมูลว่า ทุกๆ ปีจะมีการจัดทำรายงานทางการเงินที่ได้มาตรฐานทางบัญชี IFRS ที่ผ่านการตรวจสอบของผู้สอบบัญชี รวมทั้งต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการการเงิน สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA Council) และสภาคองเกรส FIFA (FIFA Congress)

รอบการดำเนินงานของ FIFA มีระยะเวลา 4 ปี โดยรายได้หลัก 95% มาจากการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางทีวี การตลาด (marketing) แพ็กเกจการให้บริการ (hospitality) และการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (licensing rights) ส่วนค่าใช้จ่ายหลักคือการพัฒนาฟุตบอลทั่วโลก โดยรายได้รวมในรอบปี 2015-2018 ตั้งเป้าไว้ที่ 5,656 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ FIFA คาดว่าในรอบ 4 ปีของการแข่งขันปี 2022 ที่กาตาร์จะมีรายได้ 6.56 พันล้านดอลลาร์ แม้รายได้จากการขายตั๋วและการขายแพ็กเกจบริการมีจำนวนเพียง 500 ล้านดอลลาร์ น้อยกว่ารอบการแข่งขันปี 2013-2018 ราว 75 ล้านดอลลาร์ เพราะสนามมีขนาดเล็กกว่า แต่ประมาณการณ์ว่ารายได้จากการถ่ายทอดสดและการตลาดจะเพิ่มขึ้นอย่างละ 400 ล้านดอลลาร์จากที่ทำเงินในการแข่งขันปี 2018 ที่รัสเซีย โดยขณะนี้ได้ทำสัญญาไปแล้ว 86%

ทางด้านค่าใช้จ่ายในรอบปี 2019-2022 ตั้งเป้าไว้ที่ 6.46 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะมีเงินทุนสำรองสิ้นปี 2022 จำนวน 1.9 พันล้านดอลลาร์

การแข่งขันฟุตบอลโลกคือแหล่งรายได้หลักของ FIFA ส่งผลให้รายได้รอบ 4 ปีของการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2002 นั้น FIFA มีผลการดำเนินงานเป็นบวกจำนวน 129 ล้านดอลลาร์ และเพิ่มเป็น 339 ล้านดอลลาร์ในรอบ 4 ปีต่อมาคือรอบการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 และเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในการแข่งขันปี 2010 ด้วยจำนวน 705 ล้านดอลลาร์

ในรอบปี 1999-2002 รายงานการเงินปี 2002 มีข้อมูลรายได้รวมมีจำนวน 2,685 ล้านฟรังก์สวิส รายจ่าย 2,570 ล้านฟรังก์สวิส หรือทำเงินได้ 115 ล้านฟรังก์สวิส คำนวณที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยดอลลาร์ต่อฟรังก์สวิสที่ 1.56 ของปี 2002 แล้ว FIFA มีรายได้รวมประมาณ 1,721 ล้านดอลลาร์ รายจ่าย 1,647 ล้านดอลลาร์ และมีผลการดำเนินงาน 73 ล้านดอลลาร์

รายได้ปี 1999-2002 ที่มาภาพ: https://resources.fifa.com/mm/document/affederation/administration/01/39/20/45/web_fifa_fr2010_eng[1].pdf

รายงานการเงินประจำปี 2006 ของ FIFA มีข้อมูลว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม 2003-31 ธันวาคม 2006 มีรายได้รวม 3,238 ล้านฟรังก์สวิส มีรายจ่าย 2,422 ล้านฟรังก์สวิส ส่งผลให้รอบ 4 ปีมีผลการดำเนินงานรวม 816 ล้านฟรังก์สวิส ซึ่งหากคำนวณที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยดอลลาร์ต่อฟรังก์สวิสที่ 1.25 ของปี 2006 แล้ว FIFA มีรายได้รวม 2,590.4 ล้านดอลลาร์ รายจ่าย 1,937.6 ล้านดอลลาร์ และมีผลการดำเนินงาน 652.8 ล้านดอลลาร์

รายงานการเงินปี 2010 รอบปี 2007-2010 รายได้รวม 4,189 ล้านดอลลาร์ รายจ่าย 3,558 ล้านดอลลาร์ มีผลการดำเนินงาน 631 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นการดำเนินงานที่ดีเพราะเป็นช่วงที่โลกประสบวิกฤติเศรษฐกิจการเงินสหรัฐในปี 2008 รายได้ส่วนใหญ่มาจากการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2010 ที่จัดขึ้นที่แอฟริกาใต้ ซึ่งการขายลิขสิทธ์การถ่ายทอดทำเงินได้ 2,408 ล้านดอลลาร์ และด้านมาร์เก็ตติ้งมีรายได้ 1,072 ล้านดอลลาร์ ส่วนรายได้จากแพ็กเกจบริการมีจำนวน 120 ล้านดอลลาร์ และจาก licensing rights อีก 71 ล้านดอลลาร์

รายได้รวมรอบปี 2011-2014 จาก รายงานการเงินปี 2014 มีจำนวน 5,718 ล้านดอลลาร์ รายจ่าย 5,380 ล้านดอลลาร์ รวมผลการดำเนินงาน 338 ล้านดอลลาร์มาจากการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2014 ที่บราซิล และส่งผลให้เงินสำรองเพิ่มขึ้นเป็น 1,523 ล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2014

เฉพาะรายได้จากการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2014 ที่บราซิล แบ่งเป็น 2,428 ล้านดอลลาร์มาจากการขายลิขสิทธ์การถ่ายทอดสดการแข่งขัน รองลงมาคือรายได้มาร์เก็ตติ้ง 1,580 ล้านดอลลาร์

กำไรจากบราซิล 2.6 พันล้านดอลลาร์

CNNMoney และ Business Insider รายงานตรงกันว่า FIFA ทำกำไรจากการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่บราซิลปี 2014 ถึง 2.6 พันล้านดอลลาร์ โดยอ้างอิงจากรายงานการเงินปี 2014 เฉพาะปี 2014 ทำรายได้ถึง 2 พันล้านดอลลาร์ และฟุตบอลโลกปี 2014 ทำรายได้ให้ FIFA ถึง 85% ช่วงปี 2011-2014

CNNMoney ระบุว่าการแข่งขันฟุตบอลโลกที่แอฟริกาใต้ปี 2010 มีผู้ชมทั่วโลก 3.2 พันล้านคน ขณะที่การแข่งขันที่บราซิลดึงคนดูได้มากกว่านั้น โดยเฉพาะรอบที่เยอรมนีแข่งกับอาร์เจนตินามีคนดู 1 พันล้านคน รายได้จากการแข่งขันรอบ 4 ปีไปจนถึงปี 2014 มีจำนวน 5.7 พันล้านดอลลาร์ โดยมีรายได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดจำนวน 2.4 พันล้านดอลลาร์ จากมาร์เก็ตติ้งอีก 2 พันล้านดอลลาร์ รวมเป็น 4 พันล้านดอลลาร์ รายได้จากการขายบัตรเข้าชม 527 ล้านดอลลาร์ รายได้ค่าโฆษณา 1.6 พันล้านดอลลาร์

ทางด้านบราซิลมีภาระค่าใช้จ่ายราว 15 พันล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากงบประมาณภาครัฐ โดยได้ใช้งบ 3.6 ล้านดอลลาร์ในการสร้างและปรับปรุง 12 สนามแข่ง ซึ่งหลังจบการแข่งขันได้ใช้ประโยชน์น้อยมาก เช่น สนามอเมโซเนียที่มีมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ ใช้จัดงานเพียง 11 ครั้งในช่วง 5 เดือนหลังจากการแข่งขัน

ประเทศเจ้าภาพกับคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

แม้การแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 กำลังเริ่มขึ้น แต่การแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2026 ได้ประเทศเจ้าภาพเรียบร้อยแล้ว คือ 3 ชาติจากอเมริกาเหนือ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก

ในช่วงต้นปี 2018 Boston Consulting Group (BCG) บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกเผยผลการวิจัยว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกของอเมริกาเหนือจะมีผลให้เกิดกิจการทางเศรษฐกิจระยะสั้นในมูลค่ามากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งครอบคลุมถึงการสร้างงาน 40,000 ตำแหน่ง และแรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 1 พันล้านบาททั่วภูมิภาค โดยรวมทั้งภูมิภาคจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 3-4 พันล้านดอลลาร์

รายงาน BCG ยังคาดว่า เมืองที่ใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันจะมีมูลค่ากิจกรรมเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นราว 160-620 ล้านดอลลาร์หรือราว 90-480 ล้านดอลลาร์ต่อเมือง

รัสเซียประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 คาดว่า การแข่งขันจะเพิ่ม จีดีพีได้ถึง 1.92 ล้านล้านรูเบิลหรือ 31 พันล้านดอลลาร์ ตลอด 10 ปีตั้งแต่ปี 2013-2023 โดยมาจากการท่องเที่ยว การใช้จ่ายและการก่อสร้างโครงการและผลต่อเนื่องจากการลงทุนของภาครัฐ ตลอดจนได้สร้างงานไปแล้ว 220,000 ตำแหน่ง รัสเซียได้ใช้เงินไป 683 พันล้านรูเบิลสำหรับการแข่งขันซึ่งกินเวลา 1 เดือน แต่ไม่รวมค่าใช้จ่ายก่อสร้างสนามแข่งขัน โครงสร้างพื้นฐาน

รายงานในปี 2014 เปิดข้อมูลสำคัญที่สะท้อนมูลค่าของการแข่งขันฟุตบอลโลก ตั้งแต่ถ้วยรางวัลที่มีราคา 50,000 ดอลลาร์ในปี 1971 แต่ปี 2014 ราคาสูงขึ้นเป็น 10 ล้านดอลลาร์

ที่มาภาพ:
https://theconversation.com/hard-evidence-what-is-the-world-cup-worth-27401

ผลที่คาดว่าจะมีต่อเศรษฐกิจเป็นวิธีหนึ่งที่แต่ละประเทศแข่งขันกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในการแข่งขัน 3 ครั้งก่อนหน้านี้ ได้มีการอ้างถึงการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ร่วมเป็นเจ้าภาพปี 2002 มีผลด้านเศรษฐกิจ 9 พันล้านดอลลาร์ ส่วนเยอรมนีเจ้าภาพปี 2006 ได้รับผลบวกทางเศรษฐกิจ 12 พันล้านดอลลาร์และ แอฟริกาใต้ 5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2010

ส่วนที่บราซิลเจ้าภาพปี 2014 มีการคาดกันว่าจะผลบวกต่อเศรษฐกิจราว 3-14 พันล้านดอลลาร์ โดยจะเพิ่มจีดีพีระหว่างปี 2010-2014 ได้ 30 พันล้านดอลลาร์ สร้างงาน 3.63 ล้านตำแหน่งต่อปี เก็บภาษีได้มากขึ้นถึง 8 พันล้านดอลลาร์ มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ 3.7 ล้านคน แต่ละคนใช้จ่ายเฉลี่ย 2,488 ดอลลาร์

ที่มาภาพ:
https://www.weforum.org/agenda/2018/06/world-cup-football-smart-investment-russia-host/

นอกจากนี้ยังมีผลบวกต่อ FIFA ที่กำหนดการแข่งขัน เพราะการแข่งขันฟุตบอลคือแหล่งรายได้หลัก โดยในช่วง 4 ปีของการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2002 นั้น FIFA รายงานผลการดำเนินงานที่เป็นบวก (รายงานไม่ได้ใช้คำว่ากำไร) จำนวน 129 ล้านดอลลาร์ อีก 4 ปีต่อมามีผลการดำเนินงานที่เป็นบวก 339 ล้านดอลลาร์ และจากการแข่งขันปี 2010 ผลการดำเนินงานที่เป็นบวกของ FIFA เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเป็น 705 ล้านดอลลาร์

พันธมิตรทางธุรกิจของ FIFA ก็ได้ประโยชน์ โดยในปี 2010 อาดิดาสจำหน่ายเสื้อฟุตบอลได้ถึง 6 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านตัวที่จำหน่ายได้ในปี 2006 ที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพ

อย่างไรก็ตาม การประเมินผลทางเศรษฐกิจทั้งหมดนี้เป็นการมองด้านเดียว รัฐบาลจ้างที่ปรึกษาให้ประเมินเฉพาะผลบวก ไม่มีนักการมืองรายใดจ้างที่ปรึกษาให้ประเมินผลในด้านลบ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ บราซิล ที่ประเมินผลได้ทางเศรษฐกิจไว้ที่ 3 พันล้านดอลลาร์ขึ้นไป แต่มองข้ามต้นทุนของประเทศที่มีจำนวนถึง 11.5 พันล้านดอลลาร์ เฉพาะค่าก่อสร้างสนามแข่งก็เพิ่มขึ้น 3 เท่าเป็น 3.68 พันล้านดอลลาร์

Maracana Stadiuam ที่มาภาพ: https://www.npr.org/sections/thetwo-way/2017/01/12/509465686/maracan-jewel-of-rios-olympics-now-languishes-in-disrepair

ในประเด็นการก่อสร้างสนามแข่งขันนี้ ได้มีผลการวิจัยทางวิชาการที่เผยแพร่ผ่าน PIT Journal ว่า มีผลดีต่อประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาต้องใช้เงินจำนวนมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วในการก่อสร้างสนามแข่ง เพราะประเทศพัฒนาแล้วมีสนามแข่งขันที่พร้อมใช้งานรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลกจำนวนมาก และใช้เงินไม่มากนักที่จะปรับปรุงหรือสร้างเพิ่ม

นอกจากการใช้งานสนามแข่งหลังจากจบการแข่งขันมีน้อยมาก หลายแห่งไม่มีการใช้เลย ที่แอฟริกาใต้ซึ่งมีการใช้สนามแข่งบ้างมีคนเข้าชมเพียง 7,500 คนเท่านั้น ไม่สามารถทำรายได้จากการขายตั๋วได้ อีกทั้งสนามแข่งยังกระจายไปหลายเมือง ซึ่งต่างจากหมู่บ้านนักกีฬาที่ดัดแปลงไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นที่ทำเงินให้ได้ แต่สนามแข่งประยุกต์ใช้ด้านอื่นได้ยาก

ดังนั้น ประเทศพัฒนาแล้วลงทุนไม่มากกับสนามแข่งแต่ได้ประโยชน์มาก ส่วนประเทศกำลังพัฒนาใช้เงินเยอะแต่ได้ประโยชน์น้อย สนามแข่งจึงมีประโยชน์กับประเทศพัฒนาแล้วมากกว่า เนื่องจากว่าประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้มองว่าการก่อสร้างสนามเป็นค่าใช้จ่าย แต่มองว่าเป็นการลงทุน เพราะหวังที่จะทำรายได้จากขายตั๋ว แต่การจัดการแข่งขันกีฬาอาจมีน้อยมาก ต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น เยอรมนีและฝรั่งเศส ที่สนามแข่งใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันของลีกสโมสรต่างๆ ได้เป็นประจำ

FIFA กำหนดให้ประเทศเจ้าภาพต้องมีสนามแข่งขัน 12 แห่ง ต้องเป็นสนามที่ทันสมัย สนามหลักต้องรองรับคนดูได้ 80,000 คน ส่วนสนามรองต้องจุคนได้ 40,000 คน และกระจายออกไปในหลายเมือง

World Economic Forum วิเคราะห์ว่า การลงทุนกับการแข่งขันฟุตบอลโลกของประเทศเจ้าภาพอาจจะไม่คุ้มค่ากับผลที่ได้กับเศรษฐกิจ โดยมีเหตุผลดังนี้

  • มีต้นทุนค่าเสียโอกาส

  • การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมีต้นทุนค่าเสียโอกาส เพราะเงินที่ใช้ในการก่อสร้างหรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสามารถนำไปใช้กับการลงทุนระยะยาวด้านอื่นที่มีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าได้ แน่นอนว่าการก่อสร้างขนาดใหญ่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานมีผลต่อสังคมในระยะยาว

    แต่โครงสร้างพื้นฐานด้านกีฬามีต้นทุนการก่อสร้างและบริหารจัดการที่สูง รวมทั้งต้องใช้พื้นที่ก่อสร้างที่มีราคาสูงและมีจำกัด และมีการใช้งานไม่มากพอที่จะหาเงินมาสำหรับการบำรุงรักษา สนามแข่งไม่มีความจำเป็นต่อความเป็นอยู่ของแรงงานทั่วไป หากจะใช้การแข่งขันเป็นเหตุผลในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ก็ควรที่จะกระจายผลประโยชน์ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ก็ควรที่จะตัดการก่อสร้างสนามแข่งออกไป

    รายงานยังชี้ให้เห็นตัวอย่างจากแอฟริกาใต้และบราซิลที่สนามแข่งหลายที่ไม่ได้มีการใช้งานหลังจบการแข่งขัน ในแอฟริกาใต้ก่อนปี 2010 มีกลุ่มรายได้น้อยที่อาศัยในพื้นที่ใกล้สนามแข่ง ได้พยายามที่จะปรับปรุงภาพลักษณ์ประเทศด้วยการตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ใช้เงินไปในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตชุมชนให้ดีขึ้นแทน

    ส่วนสนามแข่งขันในบราซิลได้กลายเป็นที่จอดรถ จากที่ได้ใช้เงินไปราว 11-14 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งศาลผู้ตรวจสอบบัญชีแห่งชาติ (National Court of Auditors) ได้มีข้อสรุปว่าเงินจำนวนนี้มากพอที่จะใช้ในกับให้สวัสดิการประชาชนแต่ละปีได้มากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับผลที่เศรษฐกิจได้ในจำนวน 3-13 พันล้านดอลลาร์

  • เปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยว
  • การแข่งขันกีฬาระดับยักษ์ทั่วไปจะดึงแฟนให้เข้าชมได้จำนวนมาก แต่ก็มีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวทั่วไปและอาจมีผลให้ไม่เดินทางไปสถานที่ที่ได้รับความนิยมหรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ รวมทั้งแฟนกีฬาเหล่านี้ไม่ได้หนุนการท่องเที่ยวตามที่คาด ดังเห็นจากกรุงปักกิ่งและลอนดอนที่เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 2008 และ 2012 จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากปีก่อนหน้า พิพิธภัณฑ์ที่ปกติมีนักท่องเที่ยวเข้าชมจำนวนมากกลับมีนักท่องเที่ยวลดลง 22% ในช่วงเดือนที่มีการแข่งขัน ซึ่งรัฐบาลอังกฤษยอมรับว่านักท่องเที่ยวทั่วไปหายไปเพราะไม่ชอบความแออัด รวมทั้งราคาที่ปรับขึ้น

    ที่มาภาพ:
    https://www.fifa.com/worldcup/news/bafana-beat-bleus-both-bow-out-1254219

    นอกจากนี้ ที่แอฟริกาใต้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียง 2 ใน 3 ของประมาณการณ์ 450,000 คน และมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียง 1 ใน 4 จากระดับที่เคยจ่าย ขณะที่รัฐบาลต้องใช้เงินเพื่อดึงนักท่องเที่ยวคิดเป็น 13,000 ดอลลาร์ต่อหัว ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำไปจ่ายค่าจ้างให้แรงงานในทุกระดับอายุได้นานถึง 1 สัปดาห์

  • รายได้ที่เพิ่มขึ้นแบ่งให้ผู้จัดการแข่งขัน
  • ประเทศที่พัฒนาแล้วมีข้อได้เปรียบในการทำเงินจากการแข่งขัน เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการกีฬา การบริการ และการขนส่งอยู่แล้ว เพียงปรับปรุงอีกเล็กน้อยเท่านั้น กีฬาโอลิมปิกที่สหรัฐฯ ปี 1984 เป็นตัวอย่างที่ดีที่ประสบความสำเร็จและทำกำไร ส่วนกีฬาโอลิมปิกที่ลอนดอนทำรายได้ถึง 5.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้นมีหลายด้าน แต่รายได้หลักมาจากการถ่ายทอดสดทางทีวี ผู้จัดการแข่งขันมีส่วนแบ่งมาก ทำให้ประเทศเจ้าภาพเองไม่ได้เงินมากนัก

    รายงานชี้ว่า คณะกรรมการโอลิมปิกสากลปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากการถ่ายทอดสด 70% เพิ่มขึ้นจาก 4% ในปี 1960 และ 1980 ขณะที่ FIFA ผู้จัดการแข่งขันมีรายได้ถึง 5 พันล้านดอลลาร์ จากการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2014 ซึ่งครึ่งหนึ่งมาจากการถ่ายทอดสดทางทีวี

    อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าการเป็นประเทศเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกจะไม่มีประโยชน์เลย เพราะกีฬาเป็นเครื่องมือมี่มีพลังในการลดความแตกแยกของสังคม เห็นได้จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่นักกีฬาเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือเดินเข้าสู่สนามใต้ธงผืนเดียวกัน

    การแข่งขันยังเป็นปัจจัยที่สร้างความรู้สึกที่ดีให้เกิดขึ้น สร้างตัวอย่างที่ดีให้กับเยาวชน ส่งเสริมให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่หันมาสนใจกีฬามากขึ้น อีกทั้งบทวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ปี 2014 ยังระบุว่า ตลาดหุ้นของประเทศเจ้าภาพและประเทศที่ชนะเลิศมักจะปรับตัวขึ้นในระยะสั้น

    นอกจากนี้ การจัดการแข่งขันยังเป็นช่องทางให้ประเทศเจ้าภาพส่งสัญญานบางอย่างต่อชาวโลก เช่น จีน ที่ไม่วิตกต่อต้นทุนที่ใช้ไปกับการจัดกีฬาโอลิมปิก เพราะนอกจากจะพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาแล้วยังเป็นการขยายนโยบายด้านการเมืองอีกด้วย เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่หลากหลายมากขึ้นทำให้มีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งยังจัดการแข่งขันต่อเนื่อง โดยในปี 2022 จะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว

    บราซิลบทเรียนตัวอย่าง

    ก่อนหน้านี้ในปี 2014 World Finance ได้สำรวจผลของการแข่งขันฟุตบอลโลกต่อเศรษฐกิจทั้งด้านบวกและด้านลบในช่วงปี 1994-2020 ที่มีการแข่งขันรวม 8 ครั้ง โดยระบุว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 1 เดือนเป็นโอกาสที่ประเทศเจ้าภาพจะได้อวดโฉมต่อสายตาชาวโลก มีโอกาสทำรายได้จากการถ่ายทอดสดการแข่งขัน การท่องเที่ยว การขายตั๋ว แต่ก็มีบางประเทศที่ได้รับบทเรียนเช่นกัน เพราะเศรษฐกิจไม่ได้รับผลดีอย่างที่คาด เช่น บราซิล

    ปี 1994 สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพที่เปิดมุมมองใหม่ด้านการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ เพราะมีการจัดการแข่งขันในหลายเมือง ได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์รายใหญ่ โดยที่ลอสแอนเจลิสเมืองเดียวทำเงินได้ถึง 620 ล้านดอลลาร์จากการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งสูงกว่าการแข่งขันซูเปอร์โบวล์ถึง 440 ล้านดอลลาร์ในปีเดียวกัน ส่วนผลกำไรโดยรวมมีจำนวนประมาณ 1.45 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่มีค่าใช้จ่าย 5.6 พันล้านดอลลาร์ และยังมีผลบวกระยะยาวต่อสหรัฐฯ เพราะสามารถตั้ง Major League Soccer ได้สำเร็จ

    ปี 1998 การแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 16 จัดขึ้นที่ฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก และเป็นครั้งแรกที่มีทีมแข่งขันเพิ่มขึ้นเป็น 32 ทีมจาก 24 ทีม ซึ่งรองชิงชนะเลิศจัดที่กรุงปารีส และเจ้าภาพคาดว่าจะดึงนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นถึง 500,000 คนแต่ปรากฏว่าปีนี้มีนักท่องเที่ยวน้อยกว่าปกติ อย่างไรก็ตามฝรั่งเศสได้แชมป์

    ปี 2002 เป็นการจัดการแข่งขันด้วยการมีเจ้าภาพร่วม คือ ญี่ปุ่นและเกาหลี เป็นครั้งแรกที่จัดการแข่งขันในเอเชีย ซึ่ง FIFA ให้เงินสนับสนุนประเทศละ 110 ล้านดอลลาร์ และให้เก็บเงินจากการขายตั๋วเข้าชมได้เอง และจากการขายตั๋วได้จากผู้เข้าชมกว่า 3 ล้านคน ประเทศเจ้าภาพจึงแบ่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น 1.2 พันล้านดอลลาร์

    ปี 2006 เยอรมนีเป็นเจ้าภาพ ถือเป็นจุดเปลี่ยนของ FIFA เพราะประสบความสำเร็จเชิงธุรกิจอย่างมาก โดยดึงคนได้ถึง 15 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้ ขณะที่สปอนเซอร์ทำเงินจากการขายสินค้าได้มากถึง 3 พันล้านดอลลาร์ รวมทั้งยังทำเงินเข้าลีก (German Football League) ได้มากถึง 56.6 ล้านยูโรและรอบชิงชนะเลิศมีคนดู 715 ล้านคนทั่วโลก

    ปี 2010 ที่แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพ FIFA เป็นผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงเพราะทำเงินได้ 3.36 พันล้านดอลลาร์ แต่ประเทศเจ้าภาพที่ลงทุน 3.9 พันล้านดอลลาร์ซึ่งรวม 1.3 พันล้านดอลลาร์ในการก่อสร้างสนามแข่ง รถไฟ สนามบิน และทางด่วน กลับไม่ได้ประโยชน์เท่าที่คาด นักท่องเที่ยวไม่เข้าเป้า เศรษฐกิจชะลอตัวจาก 4.6% มาอยู่ที่ 2.6%ในช่วงที่มีการแข่งขัน

    ปี 2014 บราซิลดูเหมือนจะมีปัญหาหลายด้าน เช่น สนามแข่งสร้างเสร็จนาทีสุดท้ายก่อนการแข่งขัน มีการคอร์รัปชันในหลายโครงการ มีการยกเลิกการก่อสร้างด้านขนส่ง ซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักของการประมูล เช่น รถไฟรางเบา และการขนส่งอื่นๆ รวมทั้งยังมีการประท้วงจากประชาชนเพราะเห็นว่างบประมาณ 14 พันล้านดอลลาร์มีประโยชนเฉพาะคนบางกลุ่ม

    ปี 2018 รัสเซียตั้งงบประมาณไว้ที่ 2.1 พันล้านดอลลาร์ แต่จากการจัดกีฬาโอลิปิกฤดูหนาวในปี 2014 คาดว่าน่าจะไม่พอ อย่างไรก็ตาม Fox Sports ได้จ่ายเงิน 400-600 ล้านดอลลาร์สำหรับการถ่ายทอดภาษาอังกฤษ

    แต่มีรายงานจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่า การจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ประเทศเจ้าภาพเท่าที่คาด ผู้ที่ได้ประโยชน์แท้จริง คือ FIFA เนื่องจากมีข้อกำหนดหลายด้านให้ประเทศเจ้าภาพต้องปฏิบัติตาม ขณะที่ FIFA ไม่ได้ให้การสนับสนุนใดๆ ดังจะเห็นตัวอย่างจากการเป็นเจ้าภาพของแอฟริกาใต้ปี 2010

    ปี 2010 นั้น FIFA ทำเงิน 3.5 พันล้านดอลลาร์จากการถ่ายทอดสดทางทีวีและลิขสิทธิ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน แต่แอฟริกาใต้มีภาระค่าใช้จ่ายถึง 4.1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างสนามแข่ง โรงแรม ถนนรวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการรองรับการมาเยือนของชาวโลก การก่อสร้างสนามแข่งและอื่นๆ ได้ทำให้มีการจ้างงาน 22,000 ตำแหน่ง ส่วนโครงสร้างพื้นฐานนั้นหลังการแข่งขันได้ใช้งานต่อเนื่อง แต่โรงแรมถูกทิ้งร้างบางแห่ง เนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวมากเท่ากับช่วงการแข่งขัน ส่วนสนามแข่งกลับไม่มีการใช้งานเลยเพราะรายได้จากขายตั๋วไม่มากพอที่จะนำมาบำรุงซ่อมแซมแต่ละปี

    ทางด้านบราซิลเจ้าภาพจัดการแข่งขันปี 2014 ที่งบประมาณปรับปรุงสนามแข่ง 12 แห่งบานปลาย เช่น สนามมาราคานาที่ใช้เงิน 600 ล้านดอลลาร์ปรับปรุง สนามบินแต่ละเมืองที่จัดการแข่งขัน รวมทั้งโรงแรมก็ไม่มีการใช้

    ที่มาภาพ:
    https://theconversation.com/hard-evidence-what-is-the-world-cup-worth-27401

    เรียบเรียงจาก
    ESPN, U.S. Soccer, NBC Sports, USA Today, The National, The Boston Globe, TASS