ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ทีเอ็มบีจับมือ IFC ลุย Green Financing ออก Green Bond ขับเคลื่อนธุรกิจบนกรอบความยั่งยืน

ทีเอ็มบีจับมือ IFC ลุย Green Financing ออก Green Bond ขับเคลื่อนธุรกิจบนกรอบความยั่งยืน

13 มิถุนายน 2018


นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี และนายวิเวก พาทัค ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก IFC ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือออกกรีนบอนด์

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า ทีเอ็มบี ออกพันธบัตรสีเขียว (green bond) มูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,850 ล้านบาท อายุ 7 ปี โดยมีบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มธนาคารโลกเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด เพื่อนำเงินไปสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ (climate-smart project) และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

โดยทีเอ็มบีเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่ออกพันธบัตรสีเขียว โดยมี IFC เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้ ทีเอ็มบีให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน และได้กำหนดกรอบการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนไว้แล้ว

“การออกกรีน บอนด์ ถือว่าเป็นครั้งแรกของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทีเอ็มบีในการขับเคลื่อนธุรกิจโดยดำเนินการตามกรอบการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของธนาคาร ทั้งในด้านองค์กร ภาคธุรกิจธนาคาร สิ่งแวดล้อม และด้านสังคม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดปัญหาโลกร้อน และจะส่งผลดีทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจโดยรวม”

ทีเอ็มบีและ IFC มีความร่วมมือที่ใกล้ชิด โดยมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยร่วมกันให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเมื่อปี 2555 และได้ร่วมมือกันในด้านการกระจายความเสี่ยงเพื่อสนับสนุนทีเอ็มบีในการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในปี 2557

นายปิติกล่าวว่า green lending ทีเอ็มบีได้ดำเนินการมาแล้ว แต่ด้วยความร่วมมือจาก IFC ก็จะช่วยให้สามารถมีเงินทุนต้นทุนที่ราคาสามารถแข่งขันเพื่อสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ามากขึ้น สิ่งที่ทีเอ็มบีทำ คือ พลังงานทางเลือกโครงการโซลาร์ 12 โครงการ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 80,000 ตัน เทียบเท่าการปลูกป่า 5,000 ไร่ เพื่อที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับเดียวกัน

นอกจากนี้ มีโครงการผลิตก๊าซชีวมวล (bio-gas) ส่วนการอนุรักษ์ได้มีการปล่อยกู้ให้กับบริษัทที่ทำการรีไซเคิลเพื่อนำมาผลิตพลังงาน ปล่อยสินเชื่ออนุรักษ์พลังงานในธุรกิจ SME รวมการปล่อยสินเชื่อไปแล้วประมาณ 8,500 ล้านบาท

ตัวอย่างลูกค้าด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ คือ Yeh Group ธุรกิจเสื้อผ้าสิ่งทอที่ใช้การย้อมผ้าโดยไม่ใช้น้ำ และเป็นผ้าที่นำมาผลิตเสื้อในโครงการ Park Run ของธนาคารมาหลายปี Yeh Group ได้ร่วมกับบริษัทในยุโรปหาวิธีย้อมผ้าโดยไม่ใช้น้ำ (drydyed) เพราะแต่ละปีอุตสาหกรรมผ้าใช้น้ำเท่ากับทะเลเมดิเตอร์เรนียน 1 ทะเล ถ้าน้ำไม่ได้รับการบำบัดให้สะอาด และปล่อยกลับลงไปก็เท่ากับ 1 ทะเลที่ได้ผลกระทบ ทีเอ็มบีจึงได้ให้สินเชื่อแก่บริษัทเพื่อพัฒนาการย้อมผ้าโดยไม่ใช้น้ำ Yeh Group ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้จัดส่งผ้าในโครงการวิ่งมาราธอนใหญ่ของโลก เช่น Yokohama Marathon การใช้ผ้าย้อมแบบไม่ใช้น้ำประหยัดน้ำได้หลายแสนลิตรแต่ละปี

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี

ตั้งเป้าพอร์ต 15,000 ล้านบาท 5 ปี

นายปิติกล่าวว่า การออกกรีนบอนด์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก IFC ก็จะช่วยเป็นทรัพยากรทางเงินที่ทำให้ ทีเอ็มบีสามารถทำเรื่อง green financing ต่อไป เพราะมีต้นทุนในระดับที่สามารถแข่งขันได้และถูกกว่าการออกบอนด์ทั่วไปเล็กน้อย เนื่องจากต้องการที่จะส่งต่อต้นทุนที่ถูกไปให้ลูกค้าเพื่อให้แรงจูงใจให้พัฒนาโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้

“ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อสีเขียวของธนาคารมีมูลค่า 9,000 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทำงานร่วมกับไอเอฟซี ซึ่งเป็นผู้นำของโลกในด้านสินเชื่อสีเขียว นับว่าสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามกรอบที่ทีเอ็มบีได้วางไว้ ยิ่งไปกว่านั้น ความร่วมมือดังกล่าวยังได้ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของตลาดการลงทุนในกรีนบอนด์อีกด้วย”

นอกจากนี้ ทีเอ็มบียังมีแผนการที่จะออกกรีนบอนด์เพื่อนำเสนอต่อนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มเติมอีกในอนาคต เพื่อสนับสนุนการลงทุน ส่งผลดีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ โครงการที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ (climate-smart project) ที่จะได้รับการสนับสนุนตามวัตถุประสงค์ของกรีนบอนด์ที่ออกในครั้งนี้ ได้แก่ โครงการพลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับแผนการขยายสินเชื่อสีเขียวของทีเอ็มบี นอกจากนี้ การบุกเบิกตลาดกรีนบอนด์ยังก่อให้เกิดทางเลือกใหม่ของแหล่งเงินทุนสีเขียวระยะยาวในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 20% ภายในปี 2573 และยังช่วยลดปัญหาการขาดเงินทุนเพื่อสนับสนุนด้านภูมิอากาศ (climate-change finance) ของประเทศไทยซึ่งมีการประเมินไว้ที่กว่า 31,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จนถึงปี 2573 อีกด้วย

IFC เดินหน้าชวนธนาคารอื่น

นายวิเวก พาทัค ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ไอเอฟซี กล่าวว่า กรีนบอนด์ของธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรก ซึ่งออกโดยทีเอ็มบีนี้ นับได้ว่าเป็นกรีนบอนด์ชุดที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่ IFC ลงทุน และจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเร่งพัฒนาตลาดกรีนบอนด์ที่เพิ่งเริ่มตั้งตัวในประเทศไทย ซึ่งหวังว่า ผู้ระดมทุนรายอื่นๆ จะให้ความสนใจและหันมาออกกรีนบอนด์เพื่อสนับสนุนโครงการที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้นต่อไป

“การออกกรีนบอนด์นี้แม้เป็นก้าวเล็กๆ แต่เป็นก้าวที่แรกสำคัญสำหรับประเทศไทย เพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบมหาศาล ดังจะเห็นจากภัยน้ำท่วมในปี 2554 ที่สร้างความเสียหายอย่างมากต่อเศรษฐกิจ จึงมีคำถามว่าจะทำอย่างได้บ้าง ที่จะสร้างโลกที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับคนรุ่นต่อไป รวมทั้งจะบริหารจัดการเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร”

ปัจจุบันกรีนบอนด์ทั่วโลกมีมูลค่า 157 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นปี 2017 โดยผู้ที่ออกส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป ส่วนในเอเชียผู้ออกรายใหญ่ คือ จีนและอินเดีย ในอาเซียนยังมีการออกกรีนบอนด์น้อยมาก ในไทยมีทีเอ็มบีเป็นรายแรก เมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา IFC ได้ร่วมกับธนาคารในฟิลิปปินส์ออกกรีนบอนด์เพื่อปล่อยสินเชื่อสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังน้อย และยังรองรับการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่กำลังเพิ่มขึ้นมากในด้านเกษตร พลังงานทางเลือก การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น รถไฟฟ้า หรือการลงทุนประหยัดพลังงานได้ไม่มากนัก

“เราถือว่าเป็นหน้าที่ของเราในการชักชวนให้ธนาคารสถาบันการเงินหันมาปล่อยสินเชื่อสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยขณะนี้ได้มีการเจรจากับหลายธนาคารพร้อมชี้ให้เห็นว่า เป็นโอกาสทางธุรกิจอีกด้านหนึ่ง รวมทั้งได้หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เชื่อว่าในหลายตลาดได้เริ่มบ้างแล้วแม้จะคืบหน้าไม่มากนัก และหวังว่าในประเทศไทยที่มีทีเอ็มบีนำร่องก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”

กรีนบอนด์เกี่ยวข้องกับผู้ออก ผู้ลงทุน และธุรกิจที่กู้เงินต่อจากธนาคาร แต่องค์ประกอบที่สำคัญคือเงินทุนที่ได้จากการกรีนบอนด์นั้นนำไปสนับสนุนโครงการลงทุนในภาคธุรกิจที่ผ่านการพิจารณาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการให้สินเชื่อเดิมที่มุ่งการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือจะเป็นการสนับสนุนโครงการลงทุนใหม่ที่รักษาสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เช่น การบำบัดน้ำเสีย การรักษาแหล่งน้ำ การเกษตร การประหยัดพลังงาน ทุกอย่างที่มีผลต่อการลดก๊าซเรือนกระจก

นายวิเวก พาทัค ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ไอเอฟซี

โครงการที่จะรับเงินทุนจากกรีนบอนด์ได้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติที่ผ่านการพิจารณา (certify) แล้วว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งในด้านนี้ IFC ได้ทำงานร่วมกับ ทีเอ็มบี กำหนดกรอบคุณสมบัติ โดยยึดหลักตามเกณฑ์มาตรฐานสากลที่เรียกว่า Green Bond Principle (GBP) ซึ่งมาพร้อมกับเครื่องมือที่จะช่วยให้สามารถติดตามผลการให้สินเชื่อตามเป้าหมายเป็นระยะๆ โดยองค์ประกอบของ GBP มี 4 ด้าน ได้แก่ หนึ่ง การใช้เงินทุน สอง กระบวนการประเมินและเลือกโครงการ สาม การบริหารเงินทุน หรือกระบวนการจัดสรรเงินทุน และสี่ การรายงานผล

นอกจากความร่วมมือในการออกกรีนด์บอนด์แล้ว ทีเอ็มบีมีแผนที่จะออกพันธบัตรอีกชุดหนึ่ง ในวงเงิน 90 ล้านเหรียญสหรัฐ กับไอเอฟซี เพื่อสนับสนุนและสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สูงขึ้น เพราะเอสเอ็มอีเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

IFC ออกกรีนบอนด์ครั้งแรกในปี 2010 เพื่อกระตุ้นตลาดและเปิดโอกาสให้กับเอกชนที่ลงทุนในโครงการพลังงานทางเลือก การประหยัดพลังงาน ขณะนี้ยอดคงค้างการออกกรีนบอนด์มีมูลค่าราว 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ใน 12 สกุลเงิน

ในเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา IFC ได้ร่วมกับ Amundi บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมรายใหญ่สุดของโลกออกกองทุนกรีนบอนด์ (green-bond fund) มูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำเสนอแก่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่โดยเฉพาะ ให้เอกชนสามารถลงทุนในโครงการเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม

IFC เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ของโลกที่ให้แก่ climate-smart projects ในประเทศกำลังพัฒนาตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งเป็นปีที่ IFC เริ่มติดตามหลายปัจจัยที่จะช่วยให้เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อการลงมทุนและการเป็นที่ปรึกษา โดย IFC ได้สนับสนุนเงินทุนระยะยาวจากเงินขององค์กรโดยตรงไปแล้ว 18.3 พันล้านเหรียญ และระดมทุนอีก 11 พันล้านเหรียญสหรัฐร่วมกับนักลงทุนเพื่อลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม

นายวิตทอริโอ ดิ เบลโล หัวหน้าฝ่ายธุรกิจอุตสาหกรรมภูมิภาคเอเชีย กลุ่มสถาบันการเงิน ของไอเอฟซี กล่าวเสริมว่า กรีนบอนด์จะส่งผลดีต่อเป้าหมายของรัฐบาลไทยในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เอื้อต่อการเติบโตของโครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกัน เอสเอ็มอีบอนด์ซึ่งทีเอ็มบีจะออกในเวลาต่อไป จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนซึ่งเป็นข้อจำกัดที่สำคัญ รวมทั้งช่วยในการพัฒนาโซลูชันส์ทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีกด้วย

กรอบความยั่งยืนของ”ทีเอ็มบี”

นายปิติกล่าวว่า ความเชื่อของทีเอ็มบีคือ องค์กรจะยั่งยืนได้ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง การที่ธนาคารซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องมี licence ก็มักจะนึกถึง licence หรือใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่ได้รับจากธนาคารแห่งประเทศ แต่อันที่จริง licence to operate หรือใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่สำคัญคือ licence จากสังคม เพราะว่าต่อให้ได้ licence จาก ธปท. แต่สังคมบอกว่าไม่ให้ licence กับธนาคารในการประกอบธุรกิจแล้ว ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้ licence to operate จากสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ทีเอ็มบีเชื่อว่า จะได้ licence จากสังคมต่อเมื่อทำในสิ่งที่ถูกต้องตามกรอบการดำเนินเพื่อความยั่งยืนของธนาคารที่ครอบคลุม 4 แกนหลัก ได้แก่ แกนด้านองค์กร (organization) ด้านภาคธุรกิจการธนาคาร (industry) ด้านสิ่งแวดล้อม (environment) และด้านสังคม (social)

ด้านแรก สำคัญมาก ต้องเป็นองค์กรที่ทำสิ่งที่ถูกต้องต่อลูกค้า ทีเอ็มบีเชื่อว่าสินค้าและบริการของธนาคารต้องจริงใจ โปร่งใส การนำเสนอต้องจริงใจโปร่งใส เห็นได้จากการนำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนรวมในรูปแบบ open architecture การนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบไม่มีดอกจัน หรือเงื่อนไข ธนาคารต้องการให้สินค้านั้นเข้าใจง่าย ลูกค้ารู้ว่าคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร ซื้อสินค้าด้วยความเข้าใจ เพราะหากถึงจุดหนึ่งที่ลูกค้ารู้สึกว่าธนาคารไม่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ก็จะเลิกให้ licence to operate ลูกค้าไปใช้ fintech หรือ non-bank เพราะไม่เชื่อมั่นธนาคารอีกต่อไป สิ่งสำคัญี่สุดคือต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องให้กับลูกค้า

ด้านที่สอง ทำในสิ่งที่ถูกต้องกับอุตสาหกรรม ดังจะเห็นว่าเมืองไทยมีปัญหาเรื่องหนี้มาก คนไทยยังขาดความรู้เรื่องการเงิน หนี้ครัวเรือนสูงมาก หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาสูงมาก และไม่มีการคืน ปัญหาอื่นที่เกี่ยวกับหนี้มีมาก เพราะคนไม่มีความรู้เรื่องการออมการลงทุน ปัญหานี้เป็นปัญหาของอุตสาหกรรมธนาคาร ว่าธนาคารได้ทำหน้าที่เรื่องนี้ดีพอหรือยัง

นี่คือเหตุผลที่ทีเอ็มบีร่วมกับสมาคมธนาคารไทยทำเรื่องความรู้ความเข้าใจทางการเงิน (financial literacy) ซึ่งทีเอ็มบีได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้เงินทุนต้นทุนต่ำไปพัฒนาประสิทธิภาพ รวมทั้งยังได้พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่าย จนได้รับรางวัลจากสมาคมผู้พิการทางสายตาว่าเป็น mobile application ที่ใช้ง่ายที่สุดในประเทศไทย

“เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ในการทำให้คนเข้าถึงการเงิน ภาคการธนาคารได้มากขึ้น ทำให้คนเข้าใจการออม การใช้ การจ่ายได้มากขึ้น เป็นหน้าที่ของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์”

ด้านที่สาม สิ่งแวดล้อม องค์กรได้ใช้สิ่งต่างๆ มากมายเพื่อให้ประกอบธุรกิจได้ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการประหยัดการใช้พลังงาน ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ แต่สิ่งที่ได้ผลมากกว่าคือต้องมีแนวทางการสนับสนุนธุรกิจให้สามารถทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เงินทุนจึงเป็นเรื่องสำคัญ กลุ่มแรกทีเอ็มบีได้นำมาใช้ แต่กลุ่มที่สองเป็นการช่วยให้อุตสาหกรรมมีแหล่เงินทุนเพื่อไปดำเนินโครงการต่างๆ ที่ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

ด้านที่สี่ ต้องมีความรับผิดชอบและทำในสิ่งที่ถูกต้องกับสังคม ทีเอ็มบีเน้น 2 กลุ่ม คือ เด็กและชุมชน เพราะเชื่อว่าเด็กมีข้อจำกัดที่จะช่วยตัวเองได้ดังนั้นเป็นกลุ่มแรกที่ทีเอ็มบี เช่น โครงการไฟฟ้าที่ช่วยเด็กได้เรียน สามารถใช้ชีวิตเหมือนเด็กธรรมดา รวมทั้งโครงการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาหัวใจตั้งแต่เกิด