ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > Human of Seafood : ความท้าทายของผู้คนบนเส้นทางอาหารทะเลไทย ” ไม่ขูดรีด ปลอดภัย ยั่งยืน “

Human of Seafood : ความท้าทายของผู้คนบนเส้นทางอาหารทะเลไทย ” ไม่ขูดรีด ปลอดภัย ยั่งยืน “

28 มิถุนายน 2018


เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา อ็อกแฟมประเทศไทย ร่วมกับหลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศและศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาฯ จัดงานเสวนา “Human of Seafood: ทางออกและความท้าทายของผู้คนบนเส้นทางอาหารทะเล”

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา อ็อกแฟมประเทศไทย ร่วมกับหลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศและศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาฯ จัดเสวนา “Human of Seafood : ทางออกและความท้าทายของผู้คนบนเส้นทางอาหารทะเล” เพื่อแลกเปลี่ยนความคืบหน้าการปฏิบัติงานด้านนโยบายและแนวทางการส่งเสริมสิทธิแรงงานประมง ลดการละเมิดสิทธิมนุษยชน สร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย โดยมีตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมพูดคุยถึงปัญหา อุปสรรค และความก้าวหน้า ไปจนถึงแนวทางปรับปรุงและพัฒนาร่วมกันในอนาคต

นายปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมกลไกคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน (คกส.) ตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่กำหนดไว้ในมาตรา 96 ให้นายจ้างของสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปต้องจัดให้มี คกส. โดยมีระบบการสรรหาตัวแทนแรงงานที่เป็นประชาธิปไตย สอดคล้องกับมาตรฐานในกฎหมายไทยและอนุสัญญาระหว่างประเทศ โดยปีนี้จะขยายเพิ่มอีก 4 โรงงานจากหนึ่งโรงงานที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559

นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานองค์กรสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) กล่าวว่า ในอนาคตการจัดตั้ง คกส. ควรจะขยายไปมากกว่าในปัจจุบันและสามารถทำงานได้จริง โดย คกส. ควรมีการประชุมอย่างสม่ำเสมอและมีผู้มีอำนาจตัดสินใจเข้าร่วมประชุม รวมทั้งผู้แทนตามสัดส่วนแรงงานที่มีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่และสิทธิตามกลไกนี้

นอกจากนี้ ยังมีกรณีแรงงานที่ไม่รู้สิทธิพื้นฐานและเงื่อนไขการจ้างงานของตนเอง ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญ  โดยก่อนหน้านี้งานวิจัยเรื่อง “ชีวิตติดร่างแห” ของภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืนพบว่า มีแรงงานประมง 42% บอกว่าไม่มีใครอธิบายเงื่อนไขการทำงานให้ฟัง และ 95% ระบุว่าพวกเขาไม่ได้รับหนังสือสัญญาจ้าง แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดว่านายจ้างต้องมีให้ก็ตาม

นางสาวมนัสนันท์ พรหมกิตติโชติ ผู้จัดการส่วนสรรหาบุคลากรและแรงงานสัมพันธ์ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นโรงงานผลิตและส่งออกกุ้งแช่แข็งที่มีแรงงานกว่า 3,000 คน ซึ่งใช้วิธีการจัดข้อมูลต่างๆ ให้แรงงานในประเทศต้นทางทราบก่อนที่จะตัดสินใจให้สมัครเข้ามาทำงาน เช่น เรื่องชั่วโมงการทำงาน ประเภทของงาน เงื่อนไขการทำงาน ภาษาที่แรงงานเข้าใจ ฯลฯ ทั้งนี้นอกจากจะช่วยลดปัญหาต่างๆ ไปได้พอสมควรแล้ว ยังส่งผลดีในเชิงธุรกิจต่อตัวนายจ้างอีกด้วย

“นายจ้างเองก็ได้ประโยชน์จากสิ่งนี้เหมือนกัน เพราะถ้าเราได้คนที่ใช่มาทำงาน ก็จะส่งผลให้เขาทำงานได้ดี อยู่กับเราแล้วเขารู้สึกปลอดภัย  มั่นใจ ไม่รู้สึกผิดหวังเหมือนคาดหวังมาอีกอย่างหนึ่งแล้วผิดหวัง เพราะฉะนั้น ถ้ากระบวนการสรรหาถูกต้องตั้งแต่ต้น ก็จะส่งผลดีมาก และทำให้อัตราการลาออกของพนักงานลดลงด้วย บริษัทเองก็ประหยัดค่าใช้จ่ายในการสรรหาพนักงานเพิ่มเติมหรือการพัฒนาทักษะพนักงานใหม่” นางสาวมนัสนันท์กล่าว

นายปภพ เสียมหาญ ตัวแทนมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) กล่าวเสริมว่า แรงงานควรรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับงานและสิทธิของตนเองก่อนเข้าทำงาน โดยนอกจากการให้ข้อมูลแรงงานก่อนรับเข้าทำงานแล้ว ควรจะต้องมีการประกันว่าสภาพการทำงานและเงื่อนไขต่างๆ เป็นไปตามสัญญาจริง ยิ่งไปกว่านั้นทั้งภาครัฐและเอกชนควรจัดให้มีช่องทางการร้องเรียนที่แรงงานสามารถเข้าถึงได้ด้วย

นาวาเอกดรณ์ ทิพนันท์ รองหัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผน ศูนย์การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กล่าวในฐานะตัวแทนภาครัฐว่า ภาครัฐให้ความสำคัญกับการปฏิรูปภาคประมง และมีพัฒนาการขึ้นจากปี 2558 ที่เปรียบเหมือนฝันร้ายของภาคประมงไทย

ปัจจุบัน มีการปฏิบัติงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า–ออกเรือประมง (PIPO) มีการสัมภาษณ์แรงงานว่าถูกละเมิดสิทธิหรือไม่ มีฐานข้อมูลแรงงานประมาณ 1 แสนคน ซึ่งจากการตรวจสอบไม่มีการรายงานการละเมิดสิทธิ เพราะมีระบบติดตามเรือและประเมินพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม นาวาเอกดรณ์ยอมรับว่า ความท้าทายของภาครัฐคือจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนเรือประมงที่เข้าออกปีละกว่า 2 แสนเที่ยว ทำให้การตรวจสอบยังทำได้ไม่ทั่วถึง ต้องใช้วิธีการเลือกตรวจสอบเรือที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษแทน ขณะที่แรงงานเองก็อาจจะเชื่อใจเจ้าหน้าที่รัฐน้อยกว่าภาคประชาสังคม ทำให้หลายครั้งกระบวนการตรวจสอบของภาครัฐไม่ได้ข้อมูลเท่ากับภาคประชาสังคม

ผศ. ดร.นฤมล ทับจุมพล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ความท้าทายสำคัญในเรื่องนี้คือ ทุกฝ่ายจะประสานความร่วมมือแบบมีธรรมาภิบาล (collaborative governance) ได้อย่างไร รวมทั้งพัฒนาพื้นที่สาธารณะ (common) สร้างการรับรู้ให้มากขึ้นกว่านี้ได้อย่างไรในอนาคต นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงความสำคัญของบทบาทผู้ซื้อต่างประเทศในการร่วมกันแก้ไขปัญหาประมงอย่างยั่งยืนเช่นกัน

“ปัจจุบันสถานการณ์ประมงจำนวนมากอยู่ในภาวะไล่ตามแก้ปัญหา แต่หากจะคิดในเรื่อง collaborative governance ผู้ซื้อจากต่างประเทศที่ซื้ออาหารทะเลไทยต้องไม่ใช่แค่เอาราคาถูกอย่างเดียว พอไม่ได้ก็กดดันไม่ซื้อ อยากจะกินของดี อยากกินของสะอาด อยากรักษ์โลก แต่ขณะเดียวกันขอราคาถูกๆ ก็คงไม่ใช่ ผู้ซื้อต่างประเทศอาจจะต้องมีมากกว่าแค่เรื่องซื้อหรือไม่ซื้อ”

“หรือองค์กรต่างๆ ในปัจจุบันใช้วิธีการกดดันว่าถ้าแก้ปัญหาประมงไม่ได้จะโดนลงโทษ แต่กลับไม่มีข้อเสนอว่าถ้าหากแก้ได้หรือมีการแก้ในระดับที่ดีขึ้นจะมีรางวัลอะไรบ้าง ดังนั้นจึงควรคิดรูปแบบนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น รูปแบบการชิงโชครางวัลว่าถ้าแก้ปัญหาแบบยั่งยืน  ปลอดภัย ไม่ขูดรีด อะไรคือรางวัลในแต่ละระดับ เพราะอาจจะทำให้มีกำลังใจในการแก้ไขปัญหา” ดร.นฤมลกล่าว