ThaiPublica > เกาะกระแส > งานวิจัย “ชีวิตติดร่างแห” ชี้สวัสดิการแรงงานประมงดีขึ้น แนะดึงเข้าระบบประกันสังคม

งานวิจัย “ชีวิตติดร่างแห” ชี้สวัสดิการแรงงานประมงดีขึ้น แนะดึงเข้าระบบประกันสังคม

9 กรกฎาคม 2020


เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน ซึ่งติดตามสถานการณ์สิทธิของแรงงานประมงข้ามชาติอย่างใกล้ชิด ด้วยการศึกษาและสำรวจสิทธิแรงงานรอบด้าน โดยเผยแพร่ไปแล้วครั้งแรกในปี 2561 ได้มาอัปเดตสถานการณ์ของปี 2562 อีกครั้งในรายงาน “ชีวิตติดร่างแห” ดำเนินรายการโดยฐปณีย์ เอียดศรีไชย

  • “อ็อกแฟม” ชี้ผลกระทบโควิด-19 ต่อแรงงาน ผู้ผลิตรายย่อยในห่วงโซ่อาหารทะเล
  • เปิดรายงานปีที่ 2 สวัสดิการดีขึ้นในหลายด้าน

    นางสาวนาตยา เพชรรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวว่าสำหรับงานวิจัยชีวิตติดร่างแหปีที่ 2 จะเป็นการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในปี 2562 จาก ก.ค.-พ.ย. แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดจึงทำให้เผยแพร่งานวิจัยได้ล่าช้า โดยข้อค้นพบสำคัญมีทั้งส่วนที่มีความก้าวหน้าและส่วนที่มีช่องว่างต้องปรับปรุงในการดำเนินงานให้ดีขึ้นได้

    ในส่วนที่คืบหน้าไปมีอยู่ 3 ประเด็น ประเด็นแรกคือการจ่ายค่าจ้างที่ความถี่มากขึ้น โดยสอดคล้องกับมาตรการของภาครัฐที่ดำเนินการจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วย โดยมากกว่า 93% เป็นรายเดือนมากกว่า 9,000 บาท ซึ่งไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและดีขึ้นจากปีที่แล้ว ส่วนวิธีการจ่ายค่าจ้างมีทั้งเป็นรายเดือนหรือเป็นรายสัปดาห์

    ประเด็นที่สองคือมีสิทธิการเจรจาต่อรองของแรงงานประมงบนเรือได้มากขึ้น และสุดท้ายคือเรื่องสิทธิของการลาป่วยที่ดีขึ้น ซึ่งเคยเป็นปัญหาหลักในปีที่แล้วที่แรงงานมักไม่มีความมั่นใจจะไปต่อรอง แต่ในปีที่นี้เพิ่มขึ้นเป็น 10% ของตัวอย่างที่แรงงานเริ่มเจรจาต่อรองกับนายจ้าง และนายจ้างก็เปิดโอกาสให้ลูกจ้างเจรจาด้วย แต่จะทำอย่างไรให้กลุ่มที่ไม่เคยเจรจากล้าเจรจามากขึ้น

    สุดท้ายคือสิทธิการลาที่มากขึ้น โดย 58% สามารถลาและได้รับค่าจ้าง แต่มีอีก 12% ที่ลาหยุดไม่ได้ และที่เหลือสามารถลาได้แต่ไม่ได้รับค่าจ้าง เทียบกับปีแรกมีสิทธิการลาและได้รับค่าจ้างเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สิทธินี้ถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว ดังนั้นตัวเลขที่ดีขึ้นยังต้องดำเนินการปรับปรุงต่อไป

    ในส่วนที่ต้องปรับปรุงหรือเป็นช่องว่างอยู่ มีทั้งหมด 8 ประการ ประการแรกคือการเข้าถึงสัญญาจ้างและเอกสารประจำตัว โดยมีการอธิบายเนื้อหาก่อนเริ่มทำงานลดลงจาก 58% เป็น 46% เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของการทำงานที่ลูกจ้างต้องได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับงาน ขณะที่โอกาสในการอ่านสัญญาจ้างลดลงจาก 31% เหลือเพียง 22% เท่านั้น สุดท้ายการเก็บสัญญาจ้างมีแรงงานเพียง 15% ที่เก็บสัญญาจ้างได้ ขณะที่ 65% นายจ้างเป็นผู้เก็บให้ ที่เหลือเป็นลูกเรือที่ตำแหน่งสูงกว่าหรือเป็นผู้จัดการบริษัท

    “แล้วถ้าเก็บสัญญาไว้กับคนอื่น ในอุตสาหกรรมประมงก็มองว่าถ้าเก็บไว้กับลูกจ้างอาจจะสูญหายได้ง่าย ก็มีส่วนจริง แต่ประเด็นสำคัญคือลูกจ้างสามารถเข้าถึงได้หรือไม่มากกว่า ตรงส่วนนี้ผลวิจัยพบว่า 31% ระบุว่าไม่รู้ว่าจะเข้าถึงได้อย่างไรอาจจะไม่เคยขอดูก็ได้ อีก 10% บอกว่าเข้าถึงไม่ได้ อีก 8% ที่ขอดูได้แต่เอาออกมาไม่ได้ และสุดท้าย 37% ขอเอาออกมาใช้ได้ ส่วนที่เหลือคือเก็บไว้กับตัวเอง ดังนั้นตรงนี้กลไกรัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือให้แรงงานเข้าถึงสัญญาจ้างของตัวเองได้”

    ประการที่สองคือการจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจ่ายตรงเข้าบัญชีและมีบัตรเอทีเอ็มกดเงินได้ โดยมีปีนี้มีเพียง 20% ที่รับเงินผ่านการโอนเข้าบัญชีธนาคาร อีก 65% เป็นเงินสด และอื่นๆ อีก 15% ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลอื่นรับให้หรือกดเงินให้ นอกจากนี้ เรื่องของการเก็บบัตรกดเงินหรือบัญชีธนาคารมีแรงงานที่เก็บไว้กับตัวเองเพียง 23% ส่วนใหญ่เป็นายจ้างเก็บไว้ให้ 53% และอีก 10% ระบุว่าไม่แน่ใจว่าเข้าถึงได้หรือไม่

    “ดังนั้นตรงนี้เรื่องของการเข้าถึงเงินของตัวเองยังเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่ รวมไปถึงสัญญาจ้างเป็นสิ่งที่แรงงานต้องมีไว้กับตัวเองหรือสามารถเข้าถึงได้ทันทีที่ต้องการ ภาครัฐต้องมีกลไกเข้าไปดูแลว่าจะสามารถเข้าถึงหรืออยู่ที่ใครได้”

    ประการที่สามคือการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของแรงงาน เริ่มจากอุปกรณ์ความปลอดภัย 87% ระบุว่ามีบนเรือและเข้าถึงได้ อีก 14% มีการเตรียมมาเองเนื่องจากอาจจะมีโรคประจำตัวบางอย่างด้วย มีอีก 9% ที่ไม่มีเลยหรือมีแต่เข้าถึงไม่ได้ อีกประเด็นที่เป็นสัญญาณที่ดีคือการฝึกสอนการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ 27% ระบุว่าได้รับก่อนทำงานและอีก 46% ได้รับขณะที่ทำงานบนเรือ อีก 27% ได้รับจากเรือลำอื่นก่อนแล้ว และที่เหลือคือยังไม่เคยได้รับจากเรือลำนี้หรือเรือลำอื่น

    ประการที่สี่คือเรื่องชั่วโมงการทำงานตามกฎหมายที่ต้องไม่เกิน 14 ชั่วโมงและพัก 10 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานที่ทำงานน้อยกว่า 14 ชั่วโมงเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วจาก 45% เป็น 68% ขณะที่ในกรณีที่ทำงานเกิน 14 ชั่วโมงมีความถี่ในการทำงาน 1 ครั้งต่อเที่ยวประมาณ 24% และอีกครึ่งหนึ่งไม่ได้ทำงานอะไร ที่เหลือต้องทำงานมากกว่า 1 ครั้งต่อเที่ยว

    “ตรงนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพและความปลอดภัยของแรงงาน เพราะการทำประมงเกี่ยวข้องกับเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ มีความอันตราย นอกจากนี้ แรงงานที่มีโอกาสเจอเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาตรวจสอบยังไม่ได้แตกต่างจากปีที่แล้ว โดยมี 3% ที่เคยมาถามแต่ไม่เข้าใจว่าเรื่องอะไร อีก 28% เคยมาถามแต่ไม่เคยมีปัญหา และส่วนใหญ่ 58% ไม่เคยมาถามแต่ตรวจเอกสาร”

    นางสาวซัลวานี ด่อล๊ะ (บนกลาง), นางสาวนาตยา เพชรรัตน์ (ล่างขวา), นายปภพ เสียมหาญ (ล่างซ้าย), นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล (บนขวา)

    สัญญาณดีแรงงานเริ่มตระหนักสิทธิตัวเอง

    นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล  ผู้ประสานงานโครงการ เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า เรื่องทิศทางของแรงงานประมงในปีที่ผ่านมาในฐานะที่เป็นองค์กรที่ทำงานภาคสนามตั้งแต่เรือประมงจนถึงอาหารแปรรูป มีความเห็นสอดคล้องกับงานวิจัยว่าหลายประเด็นปรับปรุงดีขึ้น ตัวอย่างเช่นสวัสดิการบนเรืออย่างอาหารหรือห้องน้ำ แต่หลายลำก็ยังไม่มีโอกาสได้รับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำได้อยู่ ขณะที่เรื่องค่าจ้างค่าแรงพบว่าเริ่มดีขึ้นเช่นกัน โดยบางแห่งได้ถึง 10,000-15,000 บาทต่อเดือนด้วย

    อีกประเด็นที่เห็นชัดเจนขึ้นคือว่าแรงงานเริ่มเจรจาต่อรองทั้งเชิงเดี่ยวและแบบรวมกลุ่ม ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของคณะทำงานที่อยากเห็นว่าได้มีโอกาสนำเสนอแสดงออกความคิดเห็นด้วย

    “อีกมุมสิ่งที่เป็นห่วงคือการเจรจาเชิงเดี่ยว เพราะเราเป็นห่วงความปลอดภัยของแรงงาน หลายครั้งก็มีเรื่องความรุนแรงด้วย ไม่ใช่ว่าไปทวงเงิน 500 บาทแล้วจะถูกทำร้าย แต่ในคณะทำงานที่ลงไปก็พยายามบอกว่าให้รวมตัวกันไว้ก่อน แต่ความเปลี่ยนแปลงที่แรงงานเจรจาเชิง
    เดี่ยวมากขึ้นก็เป็นสัญญาณที่ดีขึ้น”

    ขณะที่ผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ไม่สามารถรวมตัวกันได้ อาจจะทำให้แรงงานสะดุดในสิ่งที่บอกกล่าวกับนายจ้างมาตลอด หลายคนคิดว่าเรือไม่ได้รับผลกระทบ แต่แท้ที่จริงต้องเจาะลึกลงไปกว่านั้น เช่น ถ้าต้องขึ้นบกมาหรือกลับลงเรือไปจะดูแลความปลอดภัยหรือจะมีมาตรการอะไรหรือไม่ มีการแจกหน้ากากหรือไม่ ซึ่งหลายครั้งเป็นองค์กรเอกชนที่ลงไปแจกแทน

    แรงงานบางส่วนเข้าไม่ถึงการรักษา

    นางสาวซัลวานี ด่อล๊ะ เจ้าหน้าที่โครงการ มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า ผลกระทบของโควิด-19 ตั้งแต่มีรายงานผู้ติดเชื้อช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันที่ไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศแล้ว โดยมีประมาณ 82 แรงงานในอุตสาหกรรมประมงที่ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีรายงานว่าแรงงานเมียนมากลับมาติดเชื้อหลังจากกลับจากประเทศไทยอีกครั้ง

    ประเด็นสำคัญคือแรงงานข้ามชาติจะรับรู้และสามารถเข้าถึงการรักษาได้หรือไม่ โดยจะแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ การเข้าถึงข่าวสารต่างๆ และการเข้าถึงการรักษา เรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารพบว่าจากการสำรวจแรงงาน 71% ยังรับข้อมูลผ่านทางออนไลน์ได้ แต่เมื่อไปสำรวจกลับพบว่ายังรู้เกี่ยวกับโรคเพียงเล็กน้อยเท่านั้น รู้เพียงว่าต้องใส่หน้ากากต้องล้างมือ

    “มันสะท้อนให้เห็นว่าการปฏิบัติเกิดจากการถูกปรับมากกว่า ซึ่งอาจจะนำไปสู่การดูแลตัวเองที่ไม่ถูกวิธีได้ นอกจากนี้ หากเจาะลึกในแรงงานประมงจะพบว่ากลุ่มแม่บ้านของแรงงานประมงต่างหากที่เข้าไม่ถึงข้อมูล เพราะกลุ่มนี้มักจะเป็นแรงงานที่ขาดเอกสารที่จำเป็นในการมีมือถือ หรืออาจจะขาดเงินในการซื้อมือถือด้วย”

    ขณะที่การเข้าถึงการรักษาเนื่องจากมาตรการการคัดกรองที่เข้มงวดขึ้น กลับทำให้การเข้าถึงเป็นเรื่องยากขึ้น เนื่องจากขั้นตอนที่มากขึ้นและไม่มีการอธิบายในภาษาที่แรงงานเข้าใจ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ป่วยอีกหลายคนที่เลือกที่จะไม่ไปโรงพยาบาลเนื่องจากกลัวติดโควิด-19 ด้วย รวมไปถึงกลุ่มแรงงานที่ไม่มีเอกสารอยู่แล้ว ทางเลือกเดียวคือต้องไปคลีนิกเอกชนที่ราคาสูงขึ้นและต้องกู้ยืมเป็นหนี้สินมากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายตรวจโรคไม่เลือกสัญชาติก็ตาม แต่แรงงานหลายคนก็ยังไม่กล้าที่จะไปตรวจอาจจะทำให้เกิดการระบาดได้ง่ายขึ้น

    นอกจากนี้ ยังมีประเด็นทางกฎหมายร่วมด้วย เช่น แรงงานที่อยู่ในระหว่างดำเนินคดีหรือเรื่องสถานะทางกฎหมายของแรงงานที่จะอยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งสร้างความยากลำบากมากกว่าคนไทยอย่างมากจากการปิดให้บริการเหล่านี้ออกไป แม้ว่าจะมีระบบออนไลน์แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เอื้อให้แรงงานต่างชาติเข้ามาใช้งานได้ด้วย

    “อีกเรื่องคือรายได้ที่แรงงานได้รับผลกระทบมาก หลายคนถูกพักงานหรือเลิกจ้างเพียงแค่บอกว่าไม่ต้องทำงานพรุ่งนี้แล้ว โดยไม่ได้ชดเชยอะไร แรงงานก็มีข้อจำกัดที่จะประสานหรือดำเนินการทางกฎหมายต่างๆ ได้ และเมื่อขาดช่องทางการเข้าถึงกระบวนการทางกฎหมายก็ทำให้จากแรงงานที่ถูกกฎหมายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายไปด้วย ตรงนี้ยังไม่มีแนวทางการจัดการที่ชัดเจนว่าจะทำอย่าไร”

    แนะดึงแรงงานเข้าระบบประกันสังคม ลดต้นทุน

    นายปภพ เสียมหาญ นักกฎหมายด้านสิทธิแรงงาน กล่าวว่า ในแง่ของกฎหมายสิ่งที่สำคัญและสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของแรงงานได้คือใช้กลไกเรียกร้องของภาครัฐ ซึ่งในปัจจุบันแรงงานข้ามชาติที่เข้าถึงกระบวนการเหล่านี้ได้น้อย ส่วนหนึ่งเพราะกลไกของภาครัฐไทยเป็นเชิงรับมากกว่าเชิงรุก

    “ถ้าในอนาคตหลังโควิด-19 ควรปรับเปลี่ยนกลไกการร้องเรียน ถ้าแรงงานอยู่ห่างไกล การทำงานของภาครัฐต้องเข้าไปในพื้นที่ด้วยและรับเรื่องร้องเรียนขึ้นมาว่าเกิดอะไรขึ้นมา แน่นอนว่ามันมีการตรวจเรือเข้าออกอยู่ แต่มันไม่ใช่ว่าเป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเป็นหลัก ดังนั้นกลไกเชิงรุกจึงสำคัญมากๆ”

    อีกประเด็นคือการทำงานร่วมกับเอ็นจีโอมีความสำคัญมาก เพราะหลายครั้งแรงงานไม่กล้าไปหาเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะจากความกลัวเจ้าหน้าที่หรือความไม่พร้อมอะไรก็ตาม ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการทำงานกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ให้สามารถประสานงานกันได้มากขึ้น และเป็นช่องทางให้แรงงานร้องเรียนได้ง่ายขึ้นและมีความเชื่อมั่นง่ายขึ้น

    นอกจากนี้ เรื่องกฎหมายที่สอดคล้องกับแรงงานทุกคนเป็นประเด็นสำคัญ เพราะปัจจุบันแรงงานข้ามชาติเป็นแรงงานชั้นสองเสมอ แม้ว่ากฎหมายจะระบุต้องช่วยเหลือโดยไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้นคำถามคือจะทำอย่างไรให้ในทางปฏิบัติการช่วยเหลือตามกฎหมายสามารถเข้าถึงได้จริงๆ

    “อันนี้รวมไปถึงสิทธิที่แรงงานไทยได้แต่ต่างชาติไม่ได้ด้วย เช่น ถ้าไปสุดโต่งคือคนที่ได้เงิน 5,000 บาทจากผลกระทบโควิด-19 ผมมองว่าแรงงานข้ามชาติก็ควรได้ด้วย เพราะเขาเป็นประชากรที่อาศัยในไทยและสร้างรายได้ให้ประเทศไทยด้วย ดังนั้นสวัสดิการแบบนี้ควรเข้าถึงด้วย”

    อีกประเด็นคือว่ารัฐบาลต้องทำงานร่วมกับผู้ประกอบการด้วย แม้ว่าในช่วงนี้จะมีระบาดของโรค คือที่ผ่านมาสถานประกอบการไม่ใช่ว่าจะไม่เคยเรื่องมาตรการความปลอดภัย แต่ภาครัฐควรทำงานร่วมกันว่าจะต้องมีเกณฑ์ที่จริงจังมากขึ้นให้เรือมีมาตรฐานมากขึ้น การทำงานต่อไปจะต้องทำอย่างไร อุปกรณ์ป้องกันโรคควรจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่แจกครั้งเดียวแล้วจบ ต้องนำตัวชี้วัดต่างๆ ในปัจจุบันเข้ามาปรับใช้เพื่อให้แรงงานเหล่านี้ได้รับสวัสดิการที่เท่าเทียมกัน

    “เรื่องสุดท้ายที่ขอแตะไว้คือประกันสังคม ที่ปัจจุบันผู้ประกอบการยังเลือกได้ว่าจะเข้าหรือไม่ ตรงนี้ทำให้แรงงานประมงจะแตกต่างไปอย่างมาก ทั้งที่คงไม่มีระบบสวัสดิการอะไรในไทยที่ครอบคลุมเท่าประกันสังคมอีกแล้ว ดังนั้นกฎหมายควรเปลี่ยนแปลงและรณรงค์ให้เห็นว่าให้แรงงานเหล่านี้เข้ามาในระบบได้แล้ว เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรอีกในอนาคตมันจะไม่มีการรองรับได้เลย นายจ้างหลายคนก็ไม่สามารถรองรับสวัสดิการของแรงงานได้เลย แต่ระบบประสังคมก็ถือว่าดีและค่าใช้จ่ายน้อยกว่าอยู่แล้ว มันเป็นทางออกหนึ่งที่ทำให้แรงงานมีสวัสดิการที่ดีขึ้นได้มาก”