ThaiPublica > เกาะกระแส > ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 (ตอน 6): อนาคตของแรงงานเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 (ตอน 6): อนาคตของแรงงานเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

11 สิงหาคม 2020


ตลอดเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานและศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-ColLaR) ได้จัดกิจกรรมการสัมมนาระดมความคิดเห็นทางระบบออนไลน์ เรื่อง “ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19: ผลกระทบ แนวโน้มและทางออก” เพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัย ความรู้ในเชิงนโยบาย ความร่วมมือเชิงวิชาการ การพัฒนาฐานข้อมูล และสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับแรงงานและทุกคนในสังคม โดยมีผู้แทนจากนายจ้าง ลูกจ้าง นักวิชาการ ภาครัฐ ภาคประชาชน มาร่วมหารือว่าจะร่วมกันจับมือก้าวข้ามวิกฤติินี้ไปได้อย่างไร

ต่อจากตอนที่ 5

ในตอนนี้จะกล่าวถึงแรงงานข้ามชาติ ทั้งแรงงานที่เข้ามาทำงานในไทยและแรงงานไทยที่ออกไปทำงานในต่างประเทศว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง แล้วอนาคตรูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ภาพรวมแรงงานข้ามชาติและแนวทางการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ประกันสังคม

ผศ. ดร.นฤมล ทับจุมพล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยในขณะนี้ว่า ก่อนที่จะมีโควิด-19 มีแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น ลาว พม่ากัมพูชา และเวียดนาม ประมาณ 2,800,000 คน เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้วพบว่ามีจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้นมากถึง 1 ล้านคน ซึ่งกระจายตัวอยู่ตามจังหวัดต่างๆ แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกิจการด้านก่อสร้าง กิจการในด้านของประมง รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ก็มีการประกาศล็อกดาวน์ มีการประกาศเคอร์ฟิวและปิด ดังนั้นก็จะมีสถานการณ์จำนวนมากที่แรงงานข้ามชาติจะต้องกลับประเทศต้นทาง หรือบางส่วนก็ไม่ได้กลับเพราะมีการปิดด่าน

นายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ ผู้ประสานงานโครงการสิทธิแรงงาน มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวถึงประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติว่า จากวิกฤติโควิด-19 ทำให้เห็นชัดว่า แรงงานข้ามชาติ มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่แรงงานกลุ่มนี้ไม่ค่อยได้รับการปฏิบัติหรือการคุ้มครองหรือการดูแลตามกฎหมายมากนัก เมื่อได้รับผลกระทบจากทั้งเรื่องของการถูกพักงาน ถูกเลิกจ้าง หรือว่าสถานประกอบการไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อไปได้จากนโยบายของรัฐบาลที่สั่งให้มีการปิดกิจการต่างๆ เป็นการชั่วคราว ผลกระทบของแรงงานส่วนใหญ่จึงมาจากการไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ มีปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ เรื่องการเช่าห้องพัก เรื่องอาหาร แต่ในขณะเดียวกันไม่มีมาตรการใดๆ จากรัฐในการเข้าไปเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นเฉพาะหน้าที่เราเห็นอยู่ เรื่องการกินอยู่ หรือในอนาคตที่ระยะยาวไปว่าเขาจะอยู่แบบไหนอย่างไร การทำงานจะเป็นอย่างไร ซึ่งยังไม่เห็นถึงมาตรการในการช่วยเหลือที่ชัดเจน สิ่งหนึ่งที่เห็นก็คือแรงงานข้ามชาติยังถูกละเมิดอยู่เป็นเรื่องปกติ บางโรงงานอาศัยสถานการณ์โควิด-19 ในการปิดโรงงานไม่จ่ายค่าชดเชย เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้แรงงานจะไปร้องทุกข์ไม่ได้เช่นกัน เนื่องจากสถานที่ราชการปิด ถ้าหากจะแจ้งผ่านทางระบบออนไลน์ก็ทราบกันดีว่าแรงงานเหล่านี้เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี อีกทั้งมีปัญหาเรื่องของภาษาด้วย

นายปภพ เสียมหาญ นักกฎหมายอิสระ ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องของนโยบายประกันสังคมเอาไว้ว่า ในช่วงโควิด-19 ประกันสังคมที่พยายามจะจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับผู้ที่เป็นแรงงานที่ได้รับผลกระทบนั้น ซึ่งแรงงานหลายคนที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ของตนเองผ่านช่องทางนี้ แต่แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งหมายความว่าแรงงานเหล่านี้จะไม่มีทางเข้าถึงกระบวนการชดเชยเยียวยาของภาครัฐที่ควรจะได้ ซึ่งประเด็นนี้มองว่าเป็นปัญหามาตั้งในช่วงก่อนโควิด-19 ที่รัฐไม่ได้มีความจริงจังในเรื่องการรณรงค์ให้ผู้ที่เป็นผู้ประกอบการ นายจ้าง และแรงงานเห็นประโยชน์ของประกันสังคม ซึ่งเมื่อเกิดผลกระทบเหล่านี้ขึ้นมา แรงงานเหล่านี้เมื่อไม่ได้รับสิทธิ์ก็จะเป็นปัญหาลูกโซ่ไป ไม่ใช่เฉพาะตัวแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการหรือนายจ้างเองก็ยังได้รับผลกระทบด้วย เนื่องจากว่าเมื่อไม่มีมาตรการชดเชยเยียวยา นายจ้างเองบางครั้งก็อาจจะถูกเรียกร้องจากแรงงานให้มีการจ่ายชดเชยเยียวยาต่างๆ

กลุ่มแรงงานข้ามชาติและแนวโน้มการจ้างงานในอนาคต

นายวิวัฒน์ อัศวศิริเลิศ กรรมการสายแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแนวโน้มในการจ้างงานของกลุ่มแรงงานข้ามชาติในอนาคตว่า สาเหตุหนึ่งที่มีจำนวนแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้นเป็นเพราะอัตราการเกิดของประชากรไทยน้อยลง แรงงานไทยเลือกงาน เพราะฉะนั้นแรงงานข้ามชาติจึงเข้ามา ประกอบกับค่าตอบแทนในประเทศไทยสูงกว่าประเทศตนเองหลายเท่าตัว สวัสดิการต่างๆ เทียบกับประเทศเขาแล้วจะพบว่าของไทยเองดีกว่ามาก

แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานเป็นหลัก เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้ล้วนเข้ามาเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาห กรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ เป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น แรงงานข้ามชาติยังมีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทย ไม่สามารถหาแรงงานอื่นมาทดแทนได้ ไม่ว่าจะหลังโควิดไปอีกหลายปีก็ยังต้องใช้อยู่และยังจำเป็นต้องใช้ด้วย แต่มีโอกาสที่จะนำเทคโนโลยีมาทดแทน ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องมาเปรียบเทียบน้ำหนักว่าถ้ายังใช้แรงงานอยู่เหมือนเดิมกับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี ทั้งการการลงทุน การบำรุงรักษา จะมีบุคลากรเพียงพอหรือไม่ ระหว่างการใช้เทคโนโลยีกับใช้แรงงานที่มีอยู่แบบไหนจะดีกว่ากัน

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือ เรื่องเปิดรับแรงงาน เนื่องจากประเทศไทยมีอัตราการเกิดของประชากรต่ำ ประชากรของประเทศเข้าสู่วัยสูงอายุ คนของเราจะเข้าสู่ฐานระบบการเสียภาษีน้อยลงเรื่อยๆ ใครจะเสียภาษีให้กับรัฐเพื่อเอาไปใช้จ่ายให้กับผู้สงอายุ หากไม่หาคนเข้ามาเพิ่ม ถ้ามาตรการภาครัฐสามารถเอื้อว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทยอาจจะตั้งแต่ 5 ปี หรือ 10 ปี อาจจะให้ลูกหลานของคนกลุ่มนี้สามารถถือสัญชาติไทยได้ เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนแรงงานและประชากร จากมติชนที่สำรวจเมื่อปี 2562 พบว่าลูกหลานของแรงงานเหล่านี้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณห้าแสนคน

แนวทางบริหารแรงงานข้ามชาติและการให้การคุ้มครองในยุคโควิด-19

นายเชิดศักดิ์ วิสุทธิกุล รองอธิบดี กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พูดถึงมาตรการเฉพาะหน้าที่ทางกระทรวงแรงงาน โดยกรมจัดหางานได้ดำเนินการช่วยเหลืออยู่ในขณะนี้ว่า กลุ่มแรงงานที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยหรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมีอยู่หลักๆ 3 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรก คือ เป็นกลุ่มคนไทยหรือแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย แต่เดิมสถิติของการว่างงานของกลุ่มคนไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 เท่านั้นเอง คือประมาณ 3.8 แสนคน ไม่เกิน 4 แสนคน แต่ตัวเลขที่ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ระบุไว้เมื่อไม่นานมานี้บอกว่ามีมากถึง 8,400,000 คน เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงสถานการณ์โควิดถึง 8 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่มากจะต้องรีบดำเนินการ กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ มีประมาณ 340,000 คน เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบ คนที่จะเดินทางไปทำงานใหม่ก็ไม่ได้เดินทาง คนที่จะเดินทางกลับมาก็มีเหตุผลกระทบจากการต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของโรคโควิด และกลุ่มที่สาม แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย

นโยบายช่วยเหลือแรงงานงานข้ามชาติในประเทศไทยในช่วงแรก คือ ในช่วงสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้คือการขยายเวลาให้แรงงานกลุ่มนี้สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ และอยู่โดยที่ไม่มีความผิด โดยแบ่งนโยบายความช่วยเหลือเป็นกลุ่ม

แรงงานกลุ่มแรกคือแรงงานที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว มีมติคณะรัฐมนตรีให้มีการจดทะเบียนโดยการต่ออายุใบอนุญาตมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ตัวเลขเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา กรมจัดหางานได้อนุมัติบัญชีรายชื่อแรงงานเหล่านี้ไปแล้วกว่า 1,260,000 คน และก็ได้มีการออกใบอนุญาตทำงานแล้วประมาณ 760,000 คน ขณะนี้ยังเหลืออยู่ราว 555,000 คน ที่ยังดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จทุกขั้นตอน เพราะมีสถานการณ์โควิดเข้ามาจึงต้องปฏิบัติการให้สอดคล้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของรัฐบาล ทั้งนี้ทางกระทรวงแรงงานได้มีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าคือเสนอแนวทางให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและก็ผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานได้ต่อไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งหมายความว่าแรงงานกลุ่มนี้จะได้รับการผ่อนผันในอยู่ในประเทศไทยเพื่อดำเนินการกระบวนการให้แล้วเสร็จในการต่ออายุอนุญาตให้ทำงาน

กลุ่มที่สองกลุ่ม แรงงานข้ามชาติที่นำเข้าโดยระบบ MOU หรือว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศ กลุ่มนี้มีสัญญาการจ้างงาน 4 ปี เมื่อครบแล้วจะต้องเดินทางกลับ ซึ่ง 4 ปีที่ครบสัญญาก็อยู่ในช่วงระหว่างที่สถานการณ์โควิดเข้ามา ทำให้คนกลุ่มนี้เดินทางออกนอกประเทศไม่ได้เนื่องจากทางการปิดด่าน กระทรวงแรงงานจึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในการผ่อนปรนให้สามารถอยู่และสามารถทำงานต่อไปได้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 เพื่อผ่อนปรนให้อยู่ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แรงงานอีกกลุ่มหนึ่งคือแรงงานที่ทำงานตามแนวชายแดน ที่เข้ามาทำงานตามกฎหมายที่อนุญาตให้เข้ามาโดยหนังสือบัตรผ่านด่าน ที่อนุญาตแค่ครั้งละ 3 เดือน กลุ่มนี้ก็ตกค้างอยู่ที่ชายแดนที่ออกไปไม่ได้ ซึ่งมีมาตรการในการผ่อนปรนเช่นเดียวกัน โดยเลื่อนเวลากำหนดให้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563

นโยบายช่วยเหลือแรงงานงานข้ามชาติในประเทศไทยในช่วงที่ 2 สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ขณะนี้มีมาตรการการชะลอหรือไม่อนุมัติให้นำเข้าแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อป้องกันสกัดกั้นการนำเชื้อเข้ามาในประเทศบังคับใช้อยู่ กระทรวงแรงงานจึงต้องยึดตามมาตรการของทางรัฐบาล และกรณีที่คนไทยตกงานเพิ่มถึง 8 ล้านคน เพราะฉะนั้นนโยบายที่จะต้องเห็นแก่โอกาสและการมีงานทำของคนไทยจำนวน 8 ล้านคนเป็นอันดับแรก ต่อมาคือ จัดระบบแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศอยู่แล้ว หรืออาจจะไม่สามารถหานายจ้างใหม่ได้ มีการเปลี่ยนนายจ้าง ตกหล่นจากการขึ้นทะเบียน ไม่ได้แจ้งบัญชีรายชื่อ เพื่อให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย และเพื่อป้องกันไม่ให้มีแรงงานต่างด้าวจำนวนหนึ่งที่เข้ามาใหม่และเพิ่มจำนวนมาแย่งอาชีพกับแรงงานไทย

เพราะฉะนั้นระยะที่ 2 ก็ต้องไปดูแรงงานต่างด้าวที่ยังอยู่ในประเทศไทยก่อน ส่วนกรณีแรงงานต่างด้าวที่จะนำเข้ามาใหม่นั้น ก็คงเป็นช่วงที่หลังจากพ้นวิกฤติไปแล้ว สถานการณ์ดีขึ้น และก็เข้ามาไม่กระทบต่อการจ้างคนงานไทย ก็คงจะเปิดช่องตรงนั้น ซึ่งก็ต้องควบคู่ไปกับการเปิดด่านด้วย นอกจากนั้นในระยะยาวเลยทีเดียว ก็คงไม่ปิดโอกาสในการจะให้มีการนำแรงงานต่างชาติเข้ามา เพราะถือว่ากฎหมายก็ยังเปิดช่องให้สามารถทำได้ ในช่วงสถานการณ์เฉพาะหน้าขณะนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริหารจัดการ ช่วยคนไทยที่ประสบกับภาวะว่างงานจำนวนมาก รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยแล้วเข้าไปบริหารจัดการให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยวางระบบที่ถูกต้องและให้ได้รับการดูแลที่ดี

ทั้งนี้ นายเชิดศักดิ์ได้เพิ่มเติมในประเด็นเรื่องการเยียวยาช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติจากผลกระทบของโควิด-19 จากรัฐไว้ว่า ถ้าแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างแน่นอน ทั้งนี้หน่วยงานของภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องร่วมบูรณาการข้อมูลกัน ทำให้การจดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติง่ายที่สุด ไม่ว่าจะเข้าหรือออกจากงาน เพื่อแรงงานจะเข้ามาสู่ระบบง่ายขึ้น

แรงงานไทยในต่างประเทศ/คืนถิ่น แนวโน้มและความเปลี่ยนแปลง

นายสมาน เหล่าดำรงชัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ CU-ColLaR ได้กล่าวถึงภาพรวมของแรงงานไทยในต่างประเทศว่า จำนวนแรงงานไทยเดินทางไปต่างประเทศอย่างถูกต้องในปีที่แล้ว 2562 พบว่าประเทศที่คนไทยนิยมเดินทางไปทำงานมากที่สุดก็คือไต้หวัน รองลงมาเป็นญี่ปุ่น สวีเดน อิสราเอล เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ บังกลาเทศ ลาว รัสเซีย นิวซีแลนด์ และมาเลเซีย ทั้งหมด 11 ประเทศ ในจำนวนนี้ก็จะมีทั้งตลาดแรงงานเดิมและตลาดแรงงานที่ผุดขึ้นมาใหม่ในปีนี้คือ บังกลาเทศ รัสเซีย นิวซีแลนด์ ในอนาคตก็ต้องดูว่าตลาดแรงงานเหล่านี้ยังรับแรงงานไทยเพิ่มขึ้นหรือไม่ และแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ ส่วนใหญ่เพศชายยังมากกว่าเพศหญิง แต่ก็ยังมีบางประเทศที่มีเพศหญิงไปทำงานมากกว่าก็คือเกาหลีใต้ ซึ่งเกาหลีใต้เป็นประเทศที่แรงงานหญิงส่วนใหญ่จะไปทำงานนวดสปาจำนวนมาก

ในส่วนของผลกระทบของโควิด-19 กับแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะแรงงานที่ไปอย่างถูกกฎหมาย ไม่รวมแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศผิดกฎหมาย และผลกระทบจากโควิดต่อกลุ่มแรงงานไทย ประเด็นแรก คือ แรงงานไทยที่ทำงานและอาศัยในต่างประเทศ พบว่าจะได้รับผลกระทบจากการทำงาน การพักอาศัย เข้าถึงสาธารณสุขและการรักษาพยาบาล และการคุ้มครองแรงงาน ส่วนประเด็นเรื่องของการคุ้มครองแรงงาน ถ้าเป็นประเด็นแรงงานที่ไปทำงานผิดกฎหมายก็จะยากลำบากที่จะได้รับการคุ้มครองแรงงาน

ต่อมาในประเด็น แรงงานคืนถิ่น หรือแรงงานไทยที่กลับมาจากต่างประเทศ หลังโควิดก็พบว่ามีแรงงานไทยที่กลับมาจำนวนหนึ่งและเข้าสู่พื้นที่หลายจังหวัด พบว่าแรงงานส่วนใหญ่เหล่านี้ก็จะต้องปรับตัวและก็หางานทำในประเทศในช่วงโควิด ซึ่งคิดว่าถ้ากลับไปทำงานต่างประเทศก็คงต้องรอเวลาหลายประเทศที่ปลดล็อก ยังมีหลายประเทศมากที่ยังไม่สามารถที่จะรับแรงงานเข้าไปทำเช่นเดิม

นายสมานได้กล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงว่า แรงงานไทยในต่างประเทศส่วนใหญ่ยังคงอาศัยและทำงานอยู่ในต่างประเทศเพื่อรอให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วทำงานต่อ และการเคลื่อนย้ายของแรงงานกลับไทยหลังโควิด-19 อาจบรรเทาลง แต่อาจจะไม่มากเพราะยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้แรงงานไทยไม่อยากกลับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้ ค่าจ้าง ฯลฯ และที่สำคัญคือ เรื่องของหนี้สิน เพราะจะมีหนี้สินค้างอยู่ ถ้ากลับมาแล้วหางานทำไม่ได้ก็จะมีปัญหาการคืนหนี้สิน ในส่วนประเด็นหลังโควิด-19 คือ การกลับคืนสู่ตลาดแรงงานในต่างประเทศ คาดว่าแรงงานไทยจะมุ่งสู่ต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการเข้าไปประเทศต่างๆที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูประเทศหรือการเข้าไปเนื่องจากขาดแคลนแรงงานในหลายประเทศ

แรงงานไทยในไต้หวันกับสิ่งที่เผชิญและการตัดสินใจระยะยาว

บาทหลวงยอแซฟ ยุทธนา วิทยานุลักษณ์ ศูนย์ Hope Worker Center ที่เมืองจงลี่ กล่าวถึงประเด็นปัญหาที่แรงงานไทยในประเทศไต้หวันพบว่าปัญหาใหญ่คือเอเย่นต์ แรงงานที่จะมาทำงานในไต้หวันได้ต้องผ่านทางเอเย่นต์ โดนเอารัดเอาเปรียบ หลายๆ อย่างอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรม และเนื่องจากปัญหาข้อจำกัดด้านภาษา แรงงานไทยที่มาทำงานไต้หวันอาจจะพูดภาษาจีนไม่ได้ ไม่ค่อยเข้าใจภาษาจีน ประกอบกับไม่รู้กฎหมาย ทุกอย่างจึงต้องฟังจากเอเย่นต์เท่านั้น

ในการขอความช่วยเหลือในเบื้องต้นในกรณีถ้าเกิดอะไรที่ไม่เป็นธรรม อย่างเช่น นายจ้างไม่ได้จ่ายค่าจ้างอย่างเป็นธรรมหรือว่าเกิดการเอาเปรียบ เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ หรือว่าใดๆ ก็ตาม ก็จะต้องติดต่อผ่านเอเย่นต์ ซึ่งเอเย่นต์ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าข้างแรงงานไทย แต่จะเข้าข้างนายจ้างมากกว่า เพราะคอยรับเงินจาก 2 ทาง ก็คือทางนายจ้างด้วยและทางคนงานด้วย แรงงานจะต้องถูกหักเงินเดือนจ่ายค่าเอเย่นต์ทุกเดือนในปีแรกเดือนละ 1,800 บาท ปีที่ 2 เดือนละ 1,700 บาท และปีที่ 3 เดือนละ 1,500 บาท เพราะฉะนั้นเขารู้สึกว่าเขาต้องถูกหักเงินเดือนจ่ายให้กับล่ามกับเอเย่นต์ทุกเดือน แต่เมื่อแรงงานเกิดปัญหาและต้องการความช่วยเหลือทางเอเย่นต์กับล่ามกลับเข้าข้างนายจ้างมากกว่า นี่เป็นสิ่งที่แรงงานไทยกำลังเผชิญอยู่ในไต้หวัน และก็ไม่ว่าจะเป็นแรงงานชาติใดก็ตาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ต่างก็เผชิญปัญหาแบบเดียวกัน ดังนั้นสิ่งที่ศูนย์ Hope Worker Center กำลังพยายามจะทำก็คือ ต้องการให้ไต้หวันเปลี่ยนระบบการจ้างงานเป็นแบบรัฐต่อรัฐ ไม่ผ่านระบบเอเย่นต์หรือนายหน้าจัดหางานอีกต่อไป

ในประเด็นโควิด-19 ที่ไต้หวันมีจัดการค่อนข้างดีมาก แรงงานสามารถเข้าถึงหน้ากากอนามัย หรือสินค้าเพื่อสุขภาพต่างๆ ได้เพราะว่าแรงงานทุกคนจะมีบัตรประกันสุขภาพ และสามารถใช้บัตรประกันสุขภาพไปซื้อที่ร้านขายยาเหมือนกับที่คนไต้หวันเขาทำได้โดยเหมือนกัน หลังโควิด-19 แนวโน้มการที่ไต้หวันจะต้องการแรงงานไทยยังคงมีอย่างต่อเนื่อง คนไทยถือว่าเป็นแรงงานฝีมือและก็ค่อนข้างที่ติดอันดับต้นๆ

แรงงานไทยกลับมาแล้วเผชิญกับอะไร

นายมงคล ไพเราะ กรรมการสหภาพช่วยเหลือคนทำงานต่างประเทศ อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี กล่าวเกี่ยวกับแรงงานไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ในช่วงเดือนมีนาคม ของอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ว่า แรงงานไทยที่เดินทางกลับมาต้องกักตัว 14 วัน หลังจากกัก 14 วัน ก็กลับไปอยู่บ้านกับครอบครัว แรงงานที่เดินทางกลับในเขตพื้นที่ของอำเภอหนองหานจึงไม่ค่อยจะมีปัญหา เพราะว่าเป็นอาชีพดั้งเดิมของครอบครัวอยู่แล้วในการเกษตร บางคนก็ทำไร่ทำนา เป็นการทำในระยะสั้นเพื่อรอการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ

แรงงานไทยในอำเภอหนองหานที่เคยไปทำงานที่ต่างประเทศ บอกถึงสาเหตุที่อยากกลับไปทำงานที่ต่างประเทศอีกว่า การทำงานอยู่ที่เมืองไทยมีรายได้ไม่แน่นอน ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย รายได้ไม่พอจะเก็บ จากการสอบถามพบว่า แรงงานแถวอำเภอหนองหานหรือจังหวัดอุดรธานีอยากเดินทางไปทำงานประเทศเกาหลีใต้มากที่สุด แรงงานถูกกฎหมายที่ไปกับกรมการจัดหางานอย่างเร็ว 5-6 เดือนจึงจะได้เดินทางไปประเทศเกาหลี หรือบางรายอาจจะต้องรอเป็นปีหรือ 2 ปีและบางรายก็ไม่ได้ไปเลย กรณีที่แรงงานที่เดินทางไปไม่ถูกต้องหรือที่เรียกว่าผีน้อย ไปสมัครกับบริษัททัวร์แค่ 1 อาทิตย์ได้เดินทางและก็ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปกับบริษัททัวร์อยู่ที่ประมาณ 25,000 ถึง 30,000 เท่านั้น นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แรงงานในเขตพื้นที่จังหวัดอุดรธานีหรืออำเภอหนองหาน เดินทางไปแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น

นายมงคลกล่าวเพิ่มเติมว่า เดือนกรกฎาคมประเทศเกาหลีใต้จะเปิดประเทศรับแรงงานไทยในภาคการเกษตรและภาคงานก่อสร้าง แรงงานหลายๆรายในพื้นที่เตรียมตัวที่จะสมัครกับกรมการจัดหางาน และหลายรายบอกว่าจะเดินทางไปแบบไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่กังวลว่าถ้าเป็นอย่างนี้หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายหรือว่าหลังจากที่เดินทางได้สะดวก แรงงานผีน้อยอาจจะเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเป็น 2-3 เท่า

แรงงานไทยในต่างประเทศ: ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ

รศ. ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลว่า จากสถิติข้อมูลจากกรมจัดหางาน ประเทศไทยส่งแรงงานออกอย่างถูกกฎหมายจำนวนถึง 133,000 กว่าคน มีทั้งหมด 118 ประเทศทั่วโลก โดยแรงงานส่วนใหญ่อยู่ที่ภูมิภาคเอเชียมากที่สุด มีกระจายอยู่ตามภูมิภาคทางตะวันออกกลางอีก 14 ประเทศ และภูมิภาคยุโรป เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และฮังการี ส่วนตะวันออกกลางประกอบด้วยประเทศอิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต และอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ในแอฟริกา

จากข้อมูลจากสำนักปลัดกระทรวงแรงงาน ข้อมูล ณ เดือนกันยายน ปี 2562 พบว่า จำนวนแรงงานรวมทั้งหมดมีประมาณเกือบ 5 แสนคน แรงงานไทยที่อยู่ต่างประเทศอย่างถูกกฎหมายประมาณ 2 แสนคน ทำงานอยู่ที่ไต้หวันมากที่สุด ส่วนแรงงานที่ผิดกฎหมายอีกประมาณ 260,000 คน เป็นผีน้อยที่ประเทศเกาหลีและที่มาเลเซีย เพราะนั้นภาพสถิติเหล่านี้ก็จะเป็นข้อมูลสำคัญที่กระทรวงแรงงานหรือภาครัฐจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

อีกด้านหนึ่งรัฐบาลมีนโยบายมาเตรียมพร้อมจะส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศหลังโควิด-19 คลี่คลาย เป้าหมายอยู่ที่ประมาณ 1 แสนคน คาดว่ารายได้จะเข้าประเทศประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ภาครัฐไทยซึ่งเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไทยไม่ดีสืบเนื่องมาจากโควิดและการจ้างงานก็น้อยลง เพราะนั้นจึงมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ

แต่สถานการณ์โควิด-19 แรงงานไทยคืนถิ่นเหล่านี้เดินทางกลับมามีหลากหลายประเภทและก็หลากหลายอาชีพ เป็นแรงงานที่ถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่าของประเทศ บางคนเป็นแรงงานที่มีทักษะ มีฝีมือ จึงควรดูว่าแรงงานเหล่านี้เคยประกอบอาชีพอะไร เพื่อที่จะได้สามารถวางแผนการทำงานให้แก่แรงงานกลุ่มนี้ อย่างน้อยในช่วงที่กลับมาอยู่ชั่วคราวก่อนที่จะเดินทางกลับไปยังประเทศต่างๆ ต่อไป และกลุ่มเปราะบางที่คิดว่าเป็นกลุ่มที่ภาครัฐให้ความสนใจก็คือ กลุ่มที่มีวุฒิการศึกษาน้อยแต่กลุ่มแรงงานเหล่านี้ใช้ชีวิตทำงานต่างประเทศอยู่หลายปี เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วคนเหล่านี้มีทักษะ มีประสบการณ์ทำงานหลายปี แต่หากเขากลับมาเมืองไทยแล้วค่าตอบแทนต่างๆ ก็จะไม่ได้ตามประสบการณ์ที่มี เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่ภาครัฐจะต้องดูแล รัฐบาลไทยเองอาจจะต้องวางแผนว่าแรงงานเหล่านี้ควรจะทำอะไรได้บ้าง หรือว่าสามารถที่จะกลับมาแล้วนำความรู้เหล่านี้มาเป็นครูมาสอนแรงงานไทยในเมืองไทยได้เพื่อจะได้มีทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่า

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก วิกฤติครั้งนี้กระทบกับทุกประเทศ เพราะฉะนั้นแนวโน้มที่จะทำงานในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว แรงงานที่ต้องการจะไปทำงานที่ต่างประเทศอาจจะต้องคำนึงว่าอาจจะไม่มีค่าโอทีแล้ว โอทีถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการที่ต้องคำนึงถึงว่าคุ้มค่าที่จะเดินทางไปทำงานหรือไม่ ทั้งนี้ประเทศต่างๆ ก็อาจจะมีแนวโน้มการลดการจ้างการใช้แรงงานต่างชาติลง เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว เช่น สิงคโปร์ กระทรวงการคลังประกาศออกมาว่าจะมีแนวโน้มที่ใช้แรงงานข้ามชาติน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามภาคเอกชนเองก็เรียกร้องต้องการแรงงานต่างชาติ เพราะกังวลว่าจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการจ้างงานหลังโควิด-19 ตลาดอาจจะไม่ได้เปิดกว้างเท่าเดิมแล้ว มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อที่จะลดการพึ่งพิงแรงงาน แรงงานอาจจะต้องถูกคาดหวังให้ทำงานหลายหน้าที่มากขึ้น ความมั่นคงแรงงานก็อาจจะน้อยลง อาจจะมีการจ้างงานที่เป็นรายชั่โมงมากขึ้น และจ้างงานโดยบริษัทเอาต์ซอร์ซมากขึ้น เอกชนเองพยายามที่จะปรับตัวให้มันมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตามมาอาจจะเป็นตลาดแรงงานที่เปลี่ยนรูปแบบหน้าตาไป ไม่ว่าจะเป็นเมืองไทยหรือในต่างประเทศเอง