ThaiPublica > คอลัมน์ > ความท้าทายของการศึกษาเรื่องเมืองจีน

ความท้าทายของการศึกษาเรื่องเมืองจีน

4 มิถุนายน 2018


อาร์ม ตั้งนิรันดร

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/b/b7/Chinesische-mauer.jpg/1200px-Chinesische-mauer.jpg

จีนเป็น “ประเทศขีดสุด” คือ มีประชากรมากที่สุด มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วที่สุด มีกองทัพขนาดใหญ่ที่สุด มีชนชั้นกลางและพลเมืองเน็ตจำนวนมากที่สุด มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานที่สุด

ในขณะเดียวกัน จีนก็เป็นประเทศที่แปลกและแตกต่างจากประเทศอื่นที่เราคุ้นเคยทั่วไป จีนไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ใช่เผด็จการทหาร จีนไม่ใช่คอมมิวนิสต์แบบที่เคยเรียนกันในตำราทั่วไป แต่ก็ไม่ใช่ทุนนิยมเสรีอีกเช่นกัน เราสามารถใช้สร้อยคำว่า “อันมีเอกลักษณ์แบบจีน” ต่อท้ายได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่สังคมนิยม (และทุนนิยม) อันมีเอกลักษณ์แบบจีน การค้าอันมีเอกลักษณ์แบบจีน นิติรัฐอันมีเอกลักษณ์แบบจีน เรื่อยมาจนถึงวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์แบบจีน

ทุกคนตระหนักดีว่า ถึงยุคต้องรู้เท่าทันจีน เพราะจีนได้ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและโลก จีนและไทยยังเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดและมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่น่าเสียดายว่า คนไทยหลายคนคุ้นเคยกับตะวันตก หลายคนคุ้นเคยกับจีนสมัยโบราณ แต่หลายคนยังไม่รู้จักและเข้าใจจีนสมัยใหม่ดีพอ

แถมจีนสมัยใหม่ ก็ไม่ใช่อะไรที่เข้าใจง่ายด้วยครับ บทความนี้จะชวนคิดเรื่องปัญหาความท้าทายของการศึกษาเรื่องประเทศจีน ดังนี้ครับ

1. จะถ่ายทอดความยอกย้อนและซับซ้อนของจีนสมัยใหม่ได้อย่างไร?

อาจารย์ผมท่านหนึ่งชอบพูดทีเล่นทีจริงว่า พูดเรื่องเมืองจีน พูดยังไงก็ถูก เช่น พูดว่า “เมืองจีนปกครองแบบรวมศูนย์” ก็ถูกต้อง เพราะรัฐบาลกลางเป็นคนแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและมีอำนาจสั่งการเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แต่จะพูดว่า “เมืองจีนปกครองแบบกระจายอำนาจ” ก็ถูกอีกเช่นกัน เพราะจีนเป็นประเทศที่มีการกระจายอำนาจด้านการคลังมากที่สุดในโลก รายจ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นคิดเป็นสัดส่วน 85% ของรายจ่ายภาครัฐ

หรือพูดว่า “เศรษฐกิจจีนนำโดยรัฐวิสาหกิจ” ก็ถูกต้อง เพราะบริษัทขนาดใหญ่ส่วนมากในจีนเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งรัฐวิสาหกิจยังยึดครองอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเข้มข้นเกือบทั้งหมดในจีน แต่จะพูดว่า “เศรษฐกิจจีนนำโดยเอกชน” ก็ถูกอีกเช่นกัน เพราะภาคเอกชนจีนมีผลผลิตสูง คิดเป็น 65% ของ GDP และมีการจ้างงานสูงกว่าภาครัฐวิสาหกิจ

James Fallows คอลัมนิสต์ชื่อดังของนิตยสาร The Atlantic เคยเขียนไว้อย่างน่าคิดว่า “ในเวลาเดียวกัน จีนนั้นทั้งร่ำรวยและยากจน ทั้งเจริญและล้าหลัง ทั้งก้าวไปข้างหน้าและถอยหลังลงคลอง ทั้งสร้างนวัตกรรมเองและเป็นจอมเลียนแบบ ทั้งเปิดเสรีและปิดกั้นต่างชาติ ทั้งหยิ่งผยองและขาดความมั่นใจ ทั้งเดินตามและเดินสวนกับแนวทางทุนนิยมตะวันตก”

ยังไม่รวมข้อเท็จจริงว่าเมืองจีนกว้างใหญ่และหลากหลาย แต่ละมณฑลมีขนาดและจำนวนประชากรเท่าประเทศประเทศหนึ่ง แต่ละพื้นที่ต่างก็มีสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมแตกต่างกัน นอกจากนั้น ด้วยหลักคิดเน้นปฏิบัตินิยมของเติ้งเสี่ยวผิง “ไม่ว่าจะเป็นแมวขาวหรือแมวดำ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ” จีนสมัยใหม่จึงไม่สนใจความสอดคล้องทางทฤษฎีหรือความสอดคล้องต้องกันทั้งประเทศ แต่สนใจที่การแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในแต่ละพื้นที่

การศึกษาเรื่องเมืองจีน จึงต้องระวังเข้าทำนองตาบอดคลำช้าง คือ มองเห็นด้านเดียวแล้วเข้าใจว่าจีนสมัยใหม่เป็นเช่นนั้นทั้งหมด

นักท่องเที่ยวชาวจีน บริเวณหน้าพระบรมมหาราชวัง

2. จะอาศัยข่าวและข้อมูลเรื่องเมืองจีนจากแหล่งใด?

คนที่ศึกษาเรื่องเมืองจีน หากอาศัยข่าวจากเมืองจีนเป็นหลัก ก็อาจพบปัญหาคือ ข่าวทางการของจีนมักเป็นข่าวเชิงประชาสัมพันธ์ผลงาน ยุทธศาสตร์ และนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะเน้นด้านดี ภาพสวย แต่อาจขาดการนำเสนอข้อมูลรอบด้านหรือข้อมูลเชิงวิพากษ์

ส่วนคนที่ศึกษาเรื่องเมืองจีนจากข่าวตะวันตก ก็อาจพบปัญหาจากช่องว่างในเรื่องข้อมูลและวัฒนธรรม คนต่างชาติอาจขาดความเข้าใจบริบทและปัญหาเฉพาะของสังคมจีน รวมทั้งมุมมองความรู้สึกของคนจีนจริงๆ

เพราะฉะนั้น การศึกษาเรื่องจีนจึงต้องพยายามอาศัยข้อมูลจากทั้งสองแหล่ง อ่านทั้งจากแหล่งจีนและแหล่งตะวันตกอย่างมีวิจารณญาณ

อ่านข่าวจีน ยังต้องฝึกอ่านระหว่างบรรทัดด้วย เคยมีนักวิชาการฝรั่งแนะนำว่า การอ่าน “ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีน” สามารถอ่านได้หลากหลายแบบ เช่น

    1. อ่านยุทธศาสตร์จีน เพื่อมองสะท้อนพลังอำนาจของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในจีน กลุ่มใดชนะ กลุ่มใดแพ้ มีการประสานประโยชน์ หรือพยายามเอาใจทุกฝ่ายอย่างไร
    2. อ่านยุทธศาสตร์จีน เพื่อเข้าใจว่ารัฐบาลจีนต้องการให้ประชาชนคิดเกี่ยวกับทิศทางประเทศอย่างไร เลือกปัญหาใด เฟรมปัญหาอย่างไร กลบหรือปิดปัญหาใด (เพราะเมื่อรัฐบาลจีนประกาศยุทธศาสตร์แล้ว ข่าวในจีนก็จะเต็มไปด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์เหล่านั้น จนกลายเป็นกระแสความคิดหลักในสังคม)
    3. อ่านยุทธศาสตร์จีน เพื่อหารหัสและความหมายที่ซ่อนอยู่ (เช่น การเปลี่ยนจากคำว่า ใช้กลไกตลาดเป็นปัจจัย “สำคัญ” มาเป็น ใช้กลไกตลาดเป็นปัจจัย “ตัดสิน” อาจสะท้อนนัยสำคัญบางอย่าง)
    4. อ่านยุทธศาสตร์จีนตามตัวอักษร เพื่อสะท้อนทิศทาง แม้ยุทธศาสตร์จะไม่ลงรายละเอียดชัดเจน แต่ก็ให้ทิศทางว่าจีนอยากเดินไปทางไหน

การอ่านทั้ง 4 แบบ ล้วนมีคุณค่า และควรใช้ประกอบกันเพื่อให้ได้มุมมองครบถ้วน

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/e/ef/China_Senate_House.jpg/1200px-China_Senate_House.jpg

3. จะตามทันการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของจีนได้อย่างไร?

ในช่วง 40 ปี ที่ผ่านมา จีนเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนหลายคนตามไม่ทัน ผมเคยเปรียบเทียบว่า เวลา 1 ปี ในจีน เท่ากับเวลาหลายปีในประเทศอื่น ดังที่รายงานของ McKinsey Global Institute เคยคำนวณว่า อังกฤษใช้เวลา 150 ปี กว่าที่ GDP ต่อหัว (PPP) จะเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวจาก 1,300 ดอลลาร์ เป็น 2,600 ดอลลาร์, ขณะที่เยอรมันใช้เวลา 65 ปี, สหรัฐฯ ใช้เวลา 53 ปี, ญี่ปุ่นใช้ 33 ปี, ส่วนจีนใช้เวลาเพียง 12 ปี

คนจีนเองก็รู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินภายในเวลา 1 ชั่วคน เมื่อตอนสี จิ้นผิง เป็นวัยรุ่น ยังเป็นยุคปฏิวัติวัฒนธรรมที่จีนยังยากจน ล้าหลัง และวุ่นวาย แต่ตอนนี้สี จิ้นผิง กลายมาเป็นผู้นำประเทศยักษ์ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก, เมื่อ 40 ปีที่แล้ว นักธุรกิจเป็นอาชีพต้องห้าม แต่ในวันนี้ รัฐบาลจีนประกาศว่าเป็นยุค “ทุกคนสร้างตัว ทุกหมู่สร้างสรรค์”

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ส่งผลให้คนจีนโดยทั่วไปมีทัศนคติที่เปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เราจะไม่ค่อยเห็นแนวคิดอนุรักษ์นิยมเท่าไร แต่จะเป็นลักษณะกล้าลุยกล้าบุกกล้าเดิมพัน พร้อมเรียนรู้ความผิดพลาดและนำมาปรับปรุงแก้ไข จนทำให้บริษัทเทคโนโลยีในจีนในปัจจุบันพัฒนาโมเดลธุรกิจของตนจากการกล้าทดลองและปรับตัวอย่างรวดเร็ว

ตอนที่ผมเรียนหนังสือที่เมืองจีน เป็นที่รู้กันว่า หนังสือเล่มไหนถ้าไม่ได้ปรับปรุงและพิมพ์ใหม่ในปีล่าสุด ต้องถือว่าเนื้อหาล้าสมัยใช้ไม่ได้แล้ว แตกต่างจากในบางประเทศที่ตำรารุ่นพ่อผมกับรุ่นผมก็ยังใช้เล่มเดียวกันอยู่

ถ้าใครศึกษาเรื่องเมืองจีนจากตำราหรือหนังสือที่พิมพ์ปีที่แล้ว ต้องไม่ลืมอัปเดตด้วยว่า ข้อมูลส่วนไหนล้าสมัยไปแล้วบ้าง

4. จะเชื่อมโยงแต่ละมิติที่หลากหลายของจีนได้อย่างไร?

มีประโยคอีกแบบที่ผู้เชี่ยวชาญจีนชอบพูดกัน นั่นก็คือ “คุณจะไม่มีทางเข้าใจจีนเลยถ้าคุณไม่เข้าใจ …”

ตัวอย่างเช่น คุณจะไม่มีทางเข้าใจจีนเลย ถ้าคุณไม่เข้าใจขงจื๊อ, ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์จีน, ไม่เข้าใจพรรคคอมมิวนิสต์จีน, ไม่เข้าใจความคิดมาร์กซ์, ไม่เข้าใจแนวคิดเศรษฐกิจระบบตลาด, ไม่เข้าใจระบบกฎหมาย, ไม่เข้าใจระบบการค้าในโลกสมัยใหม่, ไม่เข้าใจภูมิทัศน์การเมืองโลก, ไม่เข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆ

ถ้าทุกประโยคข้างต้นล้วนมีส่วนจริง นั่นหมายความว่า การเข้าใจจีนต้องอาศัยหลายศาสตร์หลายมิติ ทั้งเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพราะมิติเหล่านี้ในจีนเชื่อมโยงกันและมีอิทธิพลต่อกันอย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง เช่น ความคิดขงจื๊ออาจช่วยให้เราเข้าใจการนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารช่วยเปลี่ยนภูมิทัศน์เศรษฐกิจจีนให้กลายเป็นโลกอีคอมเมิร์ซและสังคมไร้เงินสดได้ภายในเวลาไม่กี่ปี

ความท้าทายสำคัญของการศึกษาเรื่องจีน จึงได้แก่ การมองให้ทะลุความเชื่อมโยงของมิติต่างๆ เหล่านี้ในจีนยุคใหม่

รพไฟบรรทุกสินค้าเที่ยวแรก จากเมืองท่า Yiwu ไปลอนดอน มกราคม 2017 ที่มาภาพ : https://uk.news.yahoo.com/first-chinese-freight-train-arrives-205543814.html

สรุป

ประโยชน์โดยตรงของการศึกษาเรื่องเมืองจีน คือช่วยให้เข้าใจและรู้เท่าทันประเทศมหาอำนาจที่มีความสำคัญมากขึ้นทุกวันและยังเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงกับเรา แต่การศึกษาเรื่องเมืองจีนยังเป็นประโยชน์ในการสำรวจและท้าทายแนวคิดและสมมติฐานเดิมๆ ที่เราเคยมีในเรื่องต่างๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโมเดลการพัฒนาประเทศ การจัดการปกครองและระบบเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดตะวันตก โดยที่เราต้องไม่หลงนิยมบูชาจีนหรือมองจีนเป็นปีศาจ แต่ต้องมองจีนอย่างเที่ยงตรง ทั้งในด้านสว่างและด้านมืดของจีนสมัยใหม่

นอกจากนี้ ประโยชน์ของการศึกษาเรื่องเมืองจีนที่เราอาจได้เพิ่มมาโดยไม่รู้ตัวก็คือทำให้เราหันกลับมาเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น เรามีปัญหาคล้ายจีนอย่างไร ต่างจากจีนอย่างไร เราเลือกแก้ไขปัญหาในแนวทางที่เหมือนหรือต่างอย่างไร ยิ่งไทยเองเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาและมีความใกล้เคียงทางวัฒนธรรมกับจีน มีอุปสรรคและความท้าทายหลายอย่างที่ใกล้เคียงกัน แม้วงวิชาการเราจะเข้าใจแนวคิดทฤษฎีของตะวันตกดี แต่สภาพจริงของไทยแตกต่างจากตะวันตกอยู่มาก

ขั้นสุดของการศึกษาเมืองจีน จึงเป็นการมองจีน เสมือนเป็นคันฉ่องส่องตัวครับ