ThaiPublica > คนในข่าว > ชัยชนะของ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ผู้นำที่เป็น “บุคคลแห่งประวัติศาสตร์”

ชัยชนะของ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ผู้นำที่เป็น “บุคคลแห่งประวัติศาสตร์”

14 พฤษภาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.todayonline.com/malaysian-ge/dr-mahathir-be-sworn-prime-minister-later-date

การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซีย เมื่อวันพุธที่ 9 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ที่มีอายุ 92 ปี สามารถนำพากลุ่มพันธมิตรพรรคฝ่ายค้าน Pakatan Harapan (PH) ชนะการเลือกตั้ง โดยกลุ่ม PH ได้รับเลือกมาทั้งหมด 122 ที่นั่ง จากทั้งหมด 222 ที่นั่ง

ส่วนกลุ่มพันธมิตรพรรครัฐบาล Barisan Nasional (BN) ที่มีอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก เป็นหัวหน้า ได้รับเลือกเข้ามา 79 ที่นั่ง ในการเลือกทั่วไปเมื่อปี 2013 กลุ่ม BN ได้รับเลือก 133 ที่นั่ง ส่วน กลุ่ม PH ได้รับเลือก 89 ที่นั่ง

ชัยชนะของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้าน PH นับเป็นเหตุการณ์ “สึนามิทางการเมือง” ที่สั่นสะเทือนมาเลเซียทั้งประเทศ และทั่วโลกก็ตกตะลึง เพราะนับจากที่มาเลเซียได้รับเอกราชในปี 1957 เป็นครั้งแรกที่กลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายค้านได้เสียงข้ามมากในรัฐสภา ทำให้มหาธีร์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากพรรค UMNO และก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มการเมือง BN

ในช่วง 61 ปีที่ผ่านมา กลุ่มพันธมิตรการเมือง Barisan Nasional หรือ “แนวร่วมแห่งชาติ” ครองอำนาจมาตลอด แต่กลุ่มแนวร่วม BN ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1973 โดยมาแทนที่กลุ่มพันธมิตรการเมืองเดิมที่เคยประกอบด้วย 3 พรรค ได้แก่ พรรค United Malays National Organization (UMNO), Malaysian Chinese Association (MCA) และ Malaysian Indian Congress (MIC) ปัจจุบันนี้ กลุ่มแนวร่วม BN ประกอบด้วยกลุ่มการเมืองใหญ่ทั้งหมด 10 กลุ่ม

เข้าสู่การเมืองครั้งแรก

ที่มาภาพ : https://mustsharenews.com/mahathir-prime-minister/

มหาธีร์ โมฮัมหมัด เป็นนักการเมืองมาเลเซียที่มีบทบาททางการเมืองมานานกว่าครึ่งศตวรรษ และเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในช่วงปี ค.ศ. 1981-2003 การดำรงตำแหน่งมานาน 22 ปี ทำให้ได้รับสมญานามหลายอย่าง เช่น ผู้นำที่สร้างความทันสมัยให้มาเลเซีย ผู้นำของประเทศกำลังพัฒนา ที่กล้าวิจารณ์ต่อการครอบงำทางเศรษฐกิจของประเทศตะวันตก และจากชัยชนะในการเลือกตั้งล่าสุด ทำให้มหาธีร์กลายเป็นผู้นำที่สามารถฆ่ากลุ่มยักษ์ใหญ่ทางการเมืองอย่างกลุ่มแนวร่วม BN

มหาธีร์ (ชื่อเป็นภาษาอังกฤษ Mahathir อ่านออกเสียงว่า ma-HAA-teer) เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 1925 เมืองอลอร์สตาร์ รัฐเกดะห์ ที่มีชายแดนติดกับจังหวัดสงขลา เขาสำเร็จการศึกษาโรงเรียนมัธยม หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง และได้ไปศึกษาต่อด้านการแพทย์ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์ในสิงคโปร์ ปัจจุบัน วิทยาลัยแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ National University of Singapore การมาศึกษาที่สิงคโปร์ ทำให้ได้เห็นโลกที่ทันสมัย มหาธีร์เคยกล่าวถึงชีวิตในครั้งนั้นว่า “พวกเขาเจริญก้าวหน้ากว่าเรามาก เป็นชุมชนเมืองที่ใหญ่โต ผู้คนมีความช่ำชอง และมั่งคั่ง ส่วนผมมาจากอลอร์สตาร์ ที่คนมาเลย์ยังยากจนมาก”

ในหนังสือชีวประวัติของมหาธีร์ชื่อ Malaysian Maverick นักหนังสือพิมพ์ชาวออสเตรเลียชื่อ Barry Wain เขียนไว้ว่า บิดาของมหาธีร์เป็นชาวอินเดีย มีอาชีพเป็นครูใหญ่โรงเรียนมัธยม ส่วนมารดาเป็นชาวมาเลย์ หลังจากที่เกษียณจากการเมืองแล้วในปี 2003 มหาธีร์เคยให้สัมภาษณ์ว่า “สิ่งที่ผมไม่พอใจมากสุดคือเรื่องที่ว่า อะไรที่เป็นความสำเร็จของผม คนจะบอกว่ามีต้นกำเนิดจากอินเดีย ส่วนอะไรที่เป็นความล้มเหลวของผม คนก็จะบอกว่าต้องมีต้นกำเนิดจากมาเลย์”

ที่มาภาพ : https://www.amazon.com/Malaysian-Maverick-Mahathir-
Turbulent-Asia-Pacific/dp/0230238734

แต่มาเลเซียเป็นประเทศที่ไม่มีปัญหาเรื่องที่มาของผู้นำการเมืองว่าบิดาหรือมารดาจะมีเชื้อชาติอะไร หรือมีเชื้อชาติผสม นายกรัฐมนตรีคนแรกคือ ตนกู อับดุลราห์มัน ก็มีมารดาเป็นคนไทย ครอบครัวของอดีตนายกรัฐมนตรี อับดุล ราซัก ก็มาจากอินโดนีเซีย ที่สำคัญรัฐธรรมนูญของมาเลเซียระบุว่า “คนมาเลย์” คือคนมุสลิม พูดภาษามาเลย์ และยึดถือธรรมเนียมมาเลย์

หากไม่ได้เป็นคนท้องถิ่นมาเลย์ คนเชื้อชาติอื่นๆ ก็คิดว่าตัวเองเป็น “คนมาเลเซีย” ล่าสุด เมื่อมหาธีร์ได้แต่งตั้งนายลิม กวนเอง (Lim Guan Eng) เป็นรัฐมนตรีคลังคนใหม่ ก่อนหน้านี้ เขาเป็นมุขมนตรีของเมืองปีนัง เคยสร้างผลงานทำให้ปีนังเป็นเมืองท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม เมื่อนักข่าวถามว่า รู้สึกอย่างไรที่เป็นรัฐมนตรีคลังคนแรกที่เป็นคนเชื้อสายจีน ลิม กวนเอง ตอบว่า “ขอโทษ ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนจีน ผมเป็นคนมาเลเซีย”

หลังจากจบการศึกษาด้านแพทย์ศาสตร์ มหาธีร์ทำงานกับโรงพยาบาลรัฐที่ปีนังและเกดะห์อยู่ 4 ปี ก่อนจะออกมาเปิดคลีนิกส่วนตัวในเมืองอลอร์สตาร์ ใช้ชื่อว่า “มหาคลีนิก” (Maha Clinic) โดยเป็นชื่อที่นำมาจากตัวแรกของชื่อเขาเอง Mahathir และชื่อของภรรยา Hasmah ต่อมาเมื่อเข้าสู่การเมือง พรรคพวกมักจะเรียกว่า “คลินิกอัมโน” และเรียกมหาธีร์ว่า “ดร.อัมโน” ส่วนภรรยาที่พบกันเมื่อครั้งศึกษาอยู่ที่สิงคโปร์ ทำงานเป็นแพทย์ให้กับโรงพยาบาลรัฐนาน 25 ปี

มหาธีร์ได้รับเลือกตั้งจากรัฐเกดะห์เป็นครั้งแรกในปี 1964 แต่ก็แพ้การเลือกตั้งในปี 1969 แต่สมัยแรกของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนของมหาธีร์เป็นช่วงเวลาที่การเมืองเกิดความปั่นป่วน ในปี 1963 ประเทศมาลายู เปลี่ยนชื่อเป็นมาเลเซีย โดยประกอบด้วยดินแดนมลายู สิงคโปร์ และซาบาห์กับซาราวัก

แต่ในเวลานั้น ประเด็นการเมืองที่ขัดแย้งกันมาก คือการโต้แย้งกันอย่างดุเดือดกับสิงคโปร์ โดยปัญหาสำคัญคือเรื่อง จะสร้างสังคมมาเลเซียแบบไหน ลี กวนยู จากพรรค People’s Action Party ของสิงคโปร์ เสนอให้ใช้แนวคิด “มาเลเซียสำหรับชาวมาเลเซีย” หมายความว่า เป็นชาติที่ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ ที่ทุกคนมีสิทธิทางการเมืองเท่าเทียมกัน แต่ในที่สุด สิงคโปร์ก็แยกตัวออกจากมาเลเซีย มหาธีร์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “คนจีนสิงคโปร์ก้าวร้าวเกินไป” โดยขาดความเข้าใจและความละเอียดอ่อน ในแบบที่คนจีนมาเลเซียมีอยู่

มุ่งสร้างชาติให้ทันสมัย

ในปี 1981 มหาธีร์ได้รับเลือกเป็นประธานพรรค UMNO และในปีเดียวกันนี้ ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยดำรงตำแหน่งนี้จนถึงปี 2003 ตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มหาธีร์ทำให้การเมืองของมาเลเซียมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เมื่อขึ้นเป็นผู้นำประเทศ มหาธีร์เร่งดำเนินการตามวิสัยทัศน์ที่จะเปลี่ยนแปลงมาเลเซีย ให้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ในต้นทศวรรษ 1990 มหาธีร์ประกาศเป้าหมายที่จะทำให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 30 ปี เรียกว่า Vision 2020 แต่การจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ในช่วงปี 1990-2020 เศรษฐกิจจะต้องเติบโตปีละ 7% มูลค่าของ GDP จึงจะเพิ่มเท่าตัวในทุก 10 ปี เมื่อถึงปี 2020 เศรษฐกิจมาเลเซียจะมีขนาดใหญ่ขึ้น 8 เท่าจากปี 1990

แต่ในช่วง 22 ปีที่มหาธีร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เศรษฐกิจมาเลเซียเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.1% แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจมาเลเซีย จากเดิมเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ มาเป็นผู้ผลิตด้านอุตสาหกรรม มาเลเซียกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบความสำเร็จมากสุดประเทศหนึ่ง เป็นแบบอย่างว่า ประเทศมุสลิมสามารถมีระบอบการเมืองประชาธิปไตยและการพัฒนาที่ทันสมัย

มรดกที่เคยสร้างไว้

Barry Wain เขียนไว้ในหนังสือ Malaysian Maverick ว่า การจะประเมินผลงานที่ผ่านมาของมหาธีร์ ต้องเข้าใจว่า เป็นเรื่องที่ครอบคลุมเวลาของผู้คนเป็นรุ่นๆ และมีผลงานทั้งที่เป็นความสำเร็จและความล้มเหลว แต่ที่แน่นอนก็คือ มหาธีร์เป็นผู้นำที่มุ่งการเปลี่ยนแปลงในระดับประวัติศาสตร์ แบบเดียวกับผู้นำการเมืองในอดีต ที่มหาธีร์ยกย่องนับถือ เช่น จักรพรรดิเมจิของญี่ปุ่น มุสตาฟา เคมาล ของตุรกี และเติ้ง เสี่ยวผิง ของจีน

มหาธีร์ทำให้มาเลเซียเป็นแบบอย่างการเปลี่ยนแปลงจากประเทศเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม มาเลเซียจะสามารถบรรลุเป้าหมาย Vision 2020 โดยกลายเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2020 หรือไม่นั้นไม่ใช่เรื่องที่สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ มาเลเซียกำลังเดินไปในเส้นทางที่จะไปสู่เป้าหมายนี้ มหาธีร์คือคนที่ให้เข็มทิศแก่ประเทศ โดยเขาเคยกล่าวว่า “หากไม่มีใครให้ทิศทาง แต่ละคนต่างก็จะเดินไปกันทุกแห่ง แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรกัน”

มหาธีร์ไม่มีมายาภาพว่าคนมาเลย์จะรำลึกชื่นชมต่อเขาตลอดไป เพราะเขาเห็นว่า เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนก็จะเปลี่ยนความคิดที่เคยมีต่อผู้นำ แม้แต่ลอว์เรนซ์แห่งอาระเบีย (Lawrence of Arabia) เวลาต่อมา คนก็มองว่าไม่ได้ดีอย่างที่เคยชื่นชม มหาธีร์กล่าวถึงตัวเองว่า “ในหลายๆ เรื่อง ผู้คนก็จะบอกว่าไม่ได้ดีอย่างที่เคยชื่นชม สิ่งนี้ก็จะเกิดกับตัวผมเช่นเดียวกัน”

เอกสารประกอบ
Malaysian Maverick: Mahathir Mohamad in Turbulent Times, Barry Wain, Palgrave Macmillan, 2009.